|
|
ปัญหาภิกษุณี : บททดสอบสังคมไทย /1
จากอุบาสก–อุบาสิกา มาถึงปัญหาภิกษุณี
ธรรมกถา แก่ชาวธรรมะร่วมสมัย ผู้เดินทางไปทำบุญที่วัดญาณเวศกวัน
ในโอกาสเข้าพรรษาใหม่ๆ ณ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔
..........................................................
เข้าพรรษา คือถึงฤดูแห่งการศึกษา
วันเข้าพรรษานี้ ทราบกันดีว่าเป็นเวลาที่พระสงฆ์อยู่ประจำที่ โดยเฉพาะเมื่อพระเก่าอยู่กับวัด ก็เป็นโอกาสให้มีผู้เข้ามาบวชเป็นพระใหม่
เมื่อพระใหม่กับพระเก่ามาอยู่ร่วมกัน พระเก่าก็จะได้เป็นกัลยาณมิตร ที่จะนำความรู้พระธรรมวินัย และประสบการณ์ในการปฏิบัติเป็นต้น มาถ่ายทอดแนะนำสั่งสอนให้แก่ผู้ใหม่ เราจึงได้มีประเพณีนิยมบวชในระยะเข้าพรรษา
ตัวอย่างเช่นที่วัดนี้ ปีนี้ มีพระทั้งหมดทั้งเก่าและใหม่ ๑๘ รูปด้วยกัน เป็นพระเก่าครึ่งหนึ่ง คือ ๙ รูป และพระใหม่อีกครึ่งหนึ่ง คือ ๙ รูปเหมือนกัน
การบวชเรียนนี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาตามประเพณี เป็นเรื่องของวัฒนธรรมไทยที่ตั้งอยู่บนฐานของพระพุทธศาสนา คือเรานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว จึงได้มีประเพณีนี้เกิดขึ้น การที่เราปฏิบัติในสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ และทำต่อกันมานานเข้าก็กลายเป็นประเพณี
ประเพณีนี้เราเรียกว่า “ประเพณีบวชเรียน” ซึ่งนิยมปฏิบัติกันมาในช่วงเข้าพรรษา ตลอดฤดูฝน ถ้าทำได้ตามนี้ก็ถือว่าสมบูรณ์ตามประเพณี
แต่ปัจจุบันผู้ที่จะปฏิบัติได้ครบอย่างนี้มีน้อยลง มักบวชกันไม่ค่อยเกินหนึ่งเดือน บางทีสั้นกว่านั้นอีก เหลือแค่ครึ่งเดือน บางแห่งเจ็ดวันก็มี สั้นกว่านั้นก็มี จนกระทั่งมีคำล้อกันว่า บวชยังครองผ้าไม่เป็น ก็สึกไปแล้ว
การบวชที่แท้นั้นเป็น การบวชเรียน คือการบวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และให้เรียนรู้ภาคปฏิบัติในชีวิตจริง คือเรียนด้วยชีวิตของตน เป็นไตรสิกขา ได้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา
เวลานี้ผู้ที่บวชอยู่จำตลอดพรรษามีน้อยลง เพราะฉะนั้น ที่วัดนี้จึงวางหลักว่า ถ้าเป็นไปได้ ขอให้บวชอย่างน้อยสักเดือนหนึ่ง ถ้าบวชได้เต็มที่ครบสามเดือนก็ดี สำหรับพรรษานี้มีท่านที่อยู่ได้หลายรูป
การบวชอยู่ได้สั้นลงนี้ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเราจะไปว่าใครได้ยาก จะทำได้ก็เพียงว่า ทำอย่างไรจะให้ความเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดเป็นประโยชน์เท่าที่จะเป็นไปได้
เมื่อพระจำพรรษาอยู่ด้วยกัน มีผู้ใหม่กับผู้เก่า นอกจากพระใหม่จะได้เล่าเรียนศึกษาแล้ว ก็ยังมีญาติโยม ซึ่งเมื่อพระอยู่ประจำที่ ก็เป็นโอกาสที่จะมาพบปะ มาทำบุญ มาปรึกษาสนทนาธรรมได้มากขึ้น บางท่านจึงได้ถือเหมือนกับเป็นวัตร คือเป็นข้อปฏิบัติประจำ ที่จะมาวัดวาอาราม แล้วก็มาทำบุญ มารักษาศีลเจริญภาวนา
ญาติโยมชาวธรรมะร่วมสมัยที่นัดหมายกันมาในวันนี้ ก็จัดเข้าเป็นการปฏิบัติตามคติแห่งประเพณีนี้เหมือนกัน
ถ้าชาวพุทธมีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา
สังคมไทยจะพ้นปัญหาแน่นอน
ชาวพุทธเรานั้น เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินตามหลักที่เรียกว่า องค์คุณของอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งตามมาตรฐานทั่วไป มีอยู่ ๕ ข้อ คือ
๑. มีศรัทธา เป็นเบื้องต้น คือมีความเชื่อ มีความมั่นใจในพระรัตนตรัย ความเชื่อของเรานี้ต้องเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ศรัทธางมงาย เพราะฉะนั้นจะเชื่อหรือมีศรัทธา ก็ควรจะเข้าใจความหมายของสิ่งที่ตนเชื่อด้วย
เมื่อศรัทธาในพระรัตนตรัย เราต้องรู้เข้าใจว่า พระรัตนตรัยคืออะไร มีความหมายอย่างไรการที่ศรัทธาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ยึดเอาเป็นที่พึ่งนั้น คือปฏิบัติอย่างไร
๒. มีศีล อย่างน้อยตั้งตนอยู่ในศีล ๕ ซึ่งจะทำให้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นฐานสำหรับตนเองที่จะก้าวไปสู่การปฏิบัติเบื้องสูง พร้อมกันนั้นก็เป็นเครื่องช่วยเกื้อกูลสังคม เพราะว่าผู้ถือศีล ๕ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่ดำรงชีวิตที่สุจริต ใครตั้งอยู่ในศีล ๕ ก็ทำให้ที่นั้นมีความปลอดภัย
ถ้าทุกคนรักษาศีล ๕ ได้ สังคมของเราก็จะร่มเย็นเป็นสุข มีความมั่นคงอย่างแน่นอน เป็นหลักประกันสันติสุขของสังคมที่มั่นใจได้ เวลานี้ที่เป็นปัญหามากก็คือ สังคมนี้ขาดศีล ๕ เป็นอย่างยิ่ง
๓. อโกตูหลมังคลิกะ แปลกันว่า ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือไม่มัวหวังผลจากความเชื่อถือนอกหลักพระพุทธศาสนา ที่เป็นความงมงาย ได้แต่หวังผลจากการดลบันดาลต่างๆ แต่ให้เชื่อกรรม คือเชื่อการกระทำที่เป็นไปตามเหตุผล ให้หวังผลจากการกระทำด้วย ความเพียรพยายามของตน คุณสมบัติข้อนี้จะต้องให้เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทยของเรา
เวลานี้คุณสมบัติเพียงข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ นี้ ถ้าเราเอามาตั้งเป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์วัดละก็ คงจะเหลืออุบาสกอุบาสิกาน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้นสังคมของเราจึงเห็นได้ชัดว่า มีความเสื่อมโทรม แปรปรวนไปต่างๆ มากมาย
เวลานี้ที่มีปัญหาออกมาเป็นข่าวต่างๆ มากมาย จะเห็นว่าเป็นเพราะสังคมของเราเสื่อมลงไปจากพระพุทธศาสนา กลายเป็นสังคมที่ไม่มีหลัก แค่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ นี่ก็แย่แล้ว ถ้าขาดข้อ ๒ คือเสื่อมศีล ก็ทำให้สังคมระส่ำระสาย พอขาดข้อ ๓ คือไม่หวังผลจากการเพียรทำ สังคมก็อ่อนแอ
เมื่อพลเมืองไม่เข้มแข็ง ขาดคุณภาพ ไม่รู้จักเพียรพยายามทำการต่างๆ ให้บรรลุผลด้วยเรี่ยวแรงกำลังของตนเอง ได้แต่มัวหวังพึ่งนอนรอคอยอะไรต่างๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ สังคมจะเจริญได้อย่างไร
ถ้ามีองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกาถึงข้อ ๓ นี้เท่านั้น สังคมของเราก็เจริญมั่นคงได้แน่นอน
๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา สังคมไทยเวลานี้แปรปรวนในเรื่องนี้มาก ซึ่งก็สืบเนื่องจากข้อ ๓ นั่นเอง เมื่อถือมงคลตื่นข่าว ไปเชื่อเรื่องไม่เข้าเรื่อง แล้วเขตบุญก็ย้ายออกจากพระพุทธศาสนาไปหาเขตบุญภายนอก ก็ยิ่งไปส่งเสริมให้ความเชื่อผิดปฏิบัติผิดแพร่หลายยิ่งขึ้น และแหล่งคำสอนที่ถูกต้องคนก็ไม่เอาใจใส่ คนก็ยิ่งห่างจากหลักศาสนาออกไป ไม่รู้และไม่เอาใจใส่ในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
๕. กระทำบุพการในพระศาสนานี้ หมายความว่าทำการขวนขวาย ทะนุบำรุงอุปถัมภ์พระสงฆ์ และกิจการพระพุทธศาสนาที่จะทำให้พระธรรมวินัยเจริญมั่นคง นำกันช่วยกันดำเนินกิจการและทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นกุศลแท้จริง ที่เป็นเรื่องถูกทำนองคลองธรรม ที่จะทำให้ศีลธรรมเจริญงอกงาม
ถ้าเราเอาใจใส่ในหลักองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกา ๕ ประการนี้ เพียงเท่านี้พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ด้วยดี สังคมไทยก็เจริญมั่งคงก้าวหน้า มีความเข้มแข็งแกร่งกล้ายิ่งขึ้นไป แต่เวลานี้มีปัญหา คนไทยขาดคุณสมบัติเหล่านี้กันมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นเราต้องมาช่วยกันแก้ไข
วันนี้ขออนุโมทนาญาติโยมชาวธรรมะร่วมสมัยที่ได้ขวนขวายในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จึงชวนกันมาที่นี่ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการมาครั้งที่ ๒ และหวังว่าทุกท่านคงจะได้ปฏิบัติให้ครบตามหลักองค์คุณของอุบาสกอุบาสิกาทั้ง ๕ ข้อนี้ด้วย
ถ้าท่านผู้ใดปฏิบัติได้ครบ ๕ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็น อุบาสกรัตนะ และอุบาสิการัตนะ คือเป็นอุบาสกแก้ว เป็นอุบาสิกาแก้ว
แก้วในที่นี้ หมายความว่า มีคุณค่าสูง ดีงาม ประเสริฐ ไม่ใช่อย่างที่เอาไปล้อกันว่า อุบาสกก็ดื่มแก้วหนึ่ง แล้วอุบาสิกาก็อีกแก้วหนึ่ง เลยไปคนละทิศละทาง
เวลานี้คำทางพระคนเอาไปใช้ล้อกันมาก เช่นพูดว่าวันนี้ถูกเทศน์มา กลายเป็นเรื่องเสียหาย ถูกสวดก็ไม่ดีอีก แสดงถึงความคลาดเคลื่อนของสังคมของเรา จึงได้เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่นี้ ฉะนั้นเราต้องตั้งใจว่าจะทำให้เกิดความถูกต้องกันอย่างจริงจัง
วันนี้อาตมาภาพคิดว่าจะไม่พูดอะไรมาก เพียงว่าจะอนุโมทนาที่ทุกท่านมีน้ำใจได้มาทำบุญอุปถัมภ์บำรุง และพระสงฆ์ก็มีน้ำใจตอบแทน คือมีเมตตาธรรม และมุทิตาธรรม เป็นต้น
เรื่องภิกษุณี พูดกันดีๆ ไม่ต้องมีปัญหา
ตั้งจิตเมตตาก่อนว่า จะหาทางทำให้ดีที่สุด
เมื่อกี้นี้พันเอกทองขาว ผู้ดำเนินรายการธรรมะร่วมสมัย ได้ถามเกี่ยวกับเรื่องการบวชเป็นภิกษุณี คือว่าวันนี้จะไม่ค่อยมีกำลังพูด คือเวลาพูดน่ะพูดได้ แต่ต่อจากนี้ไปจะทรุด พูดครั้งหนึ่งทรุดไปเป็นสิบวัน แต่ก็จะพูดเล็กน้อย
หลายท่านคงได้อ่านหนังสือที่อาตมภาพได้ให้สัมภาษณ์แก่คณะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พิมพ์ออกมาชื่อว่า “ทัศนะของพระพุทธศาสนาต่อสตรี และการบวชเป็นภิกษุณี”
หนังสือเล่มนี้พอดีออกมาตรงกับเหตุการณ์ที่กำลังพูดกันในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณี แต่ความจริงเป็นเรื่องเก่า คือมีผู้สัมภาษณ์ตั้ง ๓ ปีแล้ว (พ.ศ. ๒๕๔๑)
ต่อมาทางคณะผู้สัมภาษณ์ลอกเทปส่งมาให้ตรวจ และเขียนกำกับมาว่า มีผู้ศรัทธาที่มาในคณะสัมภาษณ์นั้นลอกเทปให้และขณะนี้กำลังป่วยมาก เพราะฉะนั้นอยากจะให้ผู้ที่ป่วยได้โอกาสชื่นใจในสิ่งที่ตนได้ทำด้วยศรัทธา จึงรีบตรวจให้
หนังสือก็ออกมาพอดีเกิดเหตุการณ์นี้ ตรงกันโดยบังเอิญ บางท่านเข้าใจผิดไปว่าเป็นเรื่องที่พูดตอนเหตุการณ์นี้ ความจริงไม่เกี่ยวกันเลย เพียงตรงเวลากัน แต่ก็อาจเป็นประโยชน์
ในตอนที่เกิดเหตุการณ์ถกเถียงเรื่องภิกษุณีกันนี้จริงๆ พอดีเป็นช่วงใกล้วิสาขบูชา อาตมาคิดไว้ว่า วันวิสาขบูชาที่แล้วมานี้ เมื่อมีพิธีทำบุญเวียนเทียน ก็จะพูดเรื่องภิกษุณี แต่พอดีว่าตั้งแต่สงกรานต์จนกระทั่งเลยวิสาขบูชา สายเสียงอักเสบ เกือบไม่มีเสียงพูด ลงมาไม่ได้ เป็นอันว่าต้องงด จึงยังไม่ได้พูดจนบัดนี้ เฉพาะวันนี้ขอเล่าทัศนะทั่วๆ ไปโดยสรุป คือจะไม่พูดยาว เพราะในหนังสือเล่มนั้นอธิบายไว้หลายแง่แล้ว
เรื่องที่คิดว่าน่าจะพูดมี ๓ ประเด็น
ข้อที่ ๑ เราต้องเริ่มต้นด้วยการตั้งจิตเมตตา คือมีความปรารถนาดี เพราะว่าผู้หญิง ถ้านับถือพุทธศาสนา ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง เริ่มแรกก็เป็นอุบาสิกา
ถ้าพูดกว้างออกไป ทั้งหญิงและชายก็เป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะปฏิบัติแล้วบรรลุธรรมได้ ในเมื่อทั้งหญิงและชายมีความสามารถนี้ แต่เวลานี้ผู้หญิงมีโอกาสภายนอกเกื้อหนุนน้อยลง เราก็มีความปรารถนาดี คืออยากให้ผู้หญิงมีโอกาสมากขึ้นที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุผล อย่างที่เรียกว่าให้เต็มตามศักยภาพของตน
เวลานี้มีผู้หญิงที่อยากจะบวชเป็นภิกษุณี แต่พอดีว่าในประเทศไทยเราไม่มีภิกษุณี ถ้าพูดกว้างออกไป ภิกษุณีสายเถรวาทเวลานี้หมดไปแล้ว ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น จึงเป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไร เฉพาะขั้นที่หนึ่งเราทำได้ก่อน คือ ตั้งจิตปรารถนาดีว่าจะทำอย่างไรให้ผู้หญิงมีโอกาสมากที่สุดที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม
ตั้งหลักไว้ : ให้ผู้หญิงก็ได้ และธรรมวินัยก็ไม่เสีย
ข้อที่ ๒ ความปรารถนาดีและความต้องการของเรานี้จะได้แค่ไหน ก็ต้องขึ้นต่อหลักการ เราต้องดูว่าหลักการเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธบัญญัติไว้อย่างไรในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณี เมื่อหลักการเป็นอย่างนี้ ทำได้เท่าไหนก็เท่านั้น
การปฏิบัติในเรื่องการบวชเป็นภิกษุณีนี้ ถึงจะมีรายละเอียดมาก แต่ถ้าว่าโดยหลักการกว้างๆ เราทราบกันแล้วว่า การที่จะบวชเป็นภิกษุณีนั้นต้องมีอุปัชฌาย์เป็นภิกษุณี แต่ข้อนี้ยังไม่สำคัญเท่าไร เพราะว่าอุปัชฌาย์นั้นยังไม่ทำให้สำเร็จความเป็นภิกษุณีได้
การบวชเป็นภิกษุณีหรือภิกษุก็ตาม สำเร็จด้วยสงฆ์ ตรงนี้เป็นข้อสำคัญ และเป็นตัวตัดสิน คือต้องมีภิกษุณีสงฆ์ ทำอย่างไรจะให้มีภิกษุณีสงฆ์มาบวชให้ ในเมื่อภิกษุณีสงฆ์ขาดตอนไปแล้ว
ในเรื่องนี้ ไม่ว่าภิกษุหรือภิกษุณีก็เหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะภิกษุณี ภิกษุถ้าไม่มีภิกษุสงฆ์ก็บวชไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเกิดเหตุการณ์อย่างในประวัติศาสตร์ของลังกา ภิกษุสงฆ์หมดไปตั้ง ๒ ครั้ง ซึ่งทำให้ในลังกากุลบุตรบวชเป็นภิกษุไม่ได้
แต่พอดีว่าในประเทศไทยและพม่า ซึ่งเป็นประเทศเถรวาทเหมือนกัน ยังมีภิกษุสงฆ์อยู่ ทางศรีลังกาจึงได้ส่งทูตมาขอพระภิกษุสงฆ์ ไปบวชกุลบุตรชาวลังกา เกิดมีพระภิกษุขึ้นใหม่ ต่อมาภิกษุสงฆ์หมดอีก ก็ขอใหม่อีก ก็เป็นอย่างนี้ ถ้าภิกษุสงฆ์ในประเทศอื่นไม่มี ภิกษุก็บวชใหม่ไม่ได้ ก็จบสิ้นเหมือนกัน
ทีนี้ภิกษุณีสงฆ์ในสายเถรวาทขาดตอนไปหมดแล้ว เราเลยบอกว่า ไม่รู้จะเอาภิกษุณีสงฆ์ที่ไหนมาบวชผู้หญิงให้เป็นภิกษุณี ถึงแม้ภิกษุสงฆ์จะมีอยู่ ก็บวชให้ไม่ได้ เพราะการที่จะบวชภิกษุณีได้นั้น ความสำคัญอยู่ที่ภิกษุณีสงฆ์ มีภิกษุสงฆ์อย่างเดียวบวชให้เป็นภิกษุณีไม่ได้ องค์ประกอบสำคัญก็คือภิกษุณีสงฆ์นี่แหละ
ตอนนี้มีคำถามว่า ที่ประเทศมหายานเช่นไต้หวันนั้นมีภิกษุณีสงฆ์ เพราะฉะนั้น ก็บวชภิกษุณีได้ใช่ไหม ก็ตอบง่ายๆ ชัดเจนว่าบวชได้ คือบวชเป็นภิกษุณีมหายาน เพราะเมื่อบวชโดยภิกษุณีสงฆ์มหายานและภิกษุสงฆ์มหายาน ก็ต้องเป็นภิกษุณีมหายาน เป็นเรื่องธรรมดา บวชอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
ถ้าบอกว่าภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันนั้นเป็นภิกษุณีสงฆ์เถรวาท เพราะสืบต่อมาจากสายเถรวาท ก็ต้องไปสืบประวัติกันให้ชัดออกมา คือตรงไปตรงมา ให้ชัดลงไปว่าเป็นมาอย่างไร เกิดขึ้นเมื่อไร
นอกจากนี้ ยังจะมีปัญหาอีกขั้นหนึ่งว่า ถ้าภิกษุณีสงฆ์ในไต้หวันเริ่มต้นโดยเกิดจากภิกษุณีสงฆ์เถรวาทจริง แต่ต่อจากนั้นมา เวลาบวชภิกษุณีก็กลายเป็นว่า สงฆ์ ๒ ฝ่ายที่บวชให้นั้น ภิกษุณีสงฆ์เป็นเถรวาท ภิกษุสงฆ์เป็นมหายาน ภิกษุณีที่บวชใหม่ก็จะกลายเป็นลูกครึ่ง คือเป็นภิกษุณีที่เป็นกึ่งเถรวาทกึ่งมหายาน
ที่ว่ามานี้เป็นข้อที่จะต้องยกมาพิจารณาตามหลักการ ซึ่งต้องว่ากันเป็นขั้นเป็นตอน เป็นการยกตัวอย่างให้ฟังว่า การจะทำอะไรก็ต้องรู้ก่อนว่า ถ้าปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักจะต้องทำอย่างไร
แต่ขั้นที่หนึ่ง เรามีความรู้สึกที่ดี มีเจตนาที่ดี ปรารถนาดี ต่อจากนั้นก็หาทางว่าจะทำได้เท่าไร คือความต้องการต้องถูกจำกัดด้วยหลักการ หลักการเปิดให้เท่าไรเราก็พยายามหาทางทำให้เต็มที่เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะปิดกั้น
เจตนาไม่ได้อยู่ที่จะปิดกั้น แต่เจตนาจะหาทางให้ แต่หาทางให้เท่าที่หลักการจะเปิดให้ แล้วก็มาช่วยกันพิจารณา ถ้าตั้งจิตอย่างนี้ และทำตามหลักแล้ว คงจะไม่ต้องมามัวเถียงกันมาก เป็นการยกตัวอย่างหัวข้อที่จะพิจารณาก็แล้วกัน ในเมื่อจะไม่พูดยืดยาวนัก
อาจจะสรุปอย่างสั้นที่สุดว่า เราควรทำโดยวิธีที่ว่า “ผู้หญิงก็ได้ ธรรมวินัยก็ไม่เสีย”
การจะทำได้อย่างนี้ ก็ต้องมีความรู้เข้าใจเรื่องที่จะทำ โดยเฉพาะหลักธรรมวินัยเกี่ยวกับการบวชภิกษุณี ถึงแม้จะคิดแก้ไข จะไม่ทำตามหลักการ ก็ต้องรู้เข้าใจหลักที่มีอยู่ก่อนแล้วนั้นให้ดี แล้วก็ต้องตั้งตัวให้ดี ไม่ใช่ว่าหลักการอะไร จะใช้ได้หรือไม่ก็อยู่ที่ว่า ฉันชอบใจหรือไม่ชอบใจ
|
Update : 10/6/2554
|
|