การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
เรียนรู้จากชีวิตพระ
เมื่อเรามีชีวิตอยู่ก็จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับปัจจัย ๔ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน จะเห็นได้จากข้อปฏิบัติของพระ ที่เริ่มตั้งแต่การรู้จักบริโภคปัจจัย ๔ ซึ่งท่านถือเป็นศีลด้วย บางท่านอาจจะไม่ได้นึกว่าการบริโภคอาหารก็เป็นศีล
การฉันอาหารที่ว่าเป็นศีล หมายถึงการฉันหรือบริโภคโดยพิจารณาว่าบริโภคเพื่ออะไรเป็นต้น เรียกง่ายๆ ว่า บริโภคด้วยปัญญา ซึ่งจะทำให้เป็นการบริโภคที่พอดี ภาษาพระเรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณในการบริโภค)
อีกเรื่องหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก คือ อินทรียสังวร ได้แก่การรู้จักใช้อินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ให้ดู ฟัง เป็นต้น อย่างมีสติ จัดเป็นการศึกษาเบื้องต้น อยู่ในขั้นศีล และเป็นศีลเบื้องต้นยิ่งกว่าศีล ๕ อีก
เรามักจะมองกันแค่ศีล ๕ ที่จริง อินทรียสังวร และโภชเนมัตตัญญุตา ที่เป็นศีลเบื้องต้นนี่แหละ พระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก
พระเณรพอบวชเข้ามาก็เริ่มด้วยอินทรียสังวร ให้สำรวมอินทรีย์ว่า เวลารับรู้ ดู ฟัง เห็นอะไรต่างๆ ก็ให้เป็นไปโดยมีสติแล้วก็ตามมาด้วยปัญญา ให้ได้ความรู้ ไม่ให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ให้ได้แต่กุศล พูดง่ายๆ ว่ารับรู้ด้วยสติ มิให้อกุศลธรรมเข้ามาครอบงำจิตใจ แค่นี้ก็ใช้ได้
หลักอีกอย่างหนึ่งที่มาสนับสนุน ท่านเรียกว่า สันโดษ หมายถึงความพอใจในปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร ตามมีตามได้ มีฉันมีใช้พอให้อยู่ได้ พอให้สนองความต้องการของชีวิต เมื่อมีปัจจัย ๔ พอเป็นอยู่ได้แล้ว ไม่ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับการเสพบริโภค ก็เอาเวลา แรงงาน และความคิด ไปอุทิศให้แก่การศึกษาพัฒนาชีวิต การทำกิจหน้าที่ การงาน และการเพียรสร้างสรรค์กุศลธรรมหรือสิ่งที่ดีงามให้เต็มที่
การฝึกฝนพัฒนาตนเกี่ยวกับปัจจัยสี่นั้น มีสาระที่พึงปฏิบัติตามหลักอินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา และสันโดษ
การฝึกหรือศึกษาในหลักธรรมเหล่านี้ มิใช่เฉพาะพระภิกษุสามเณรเท่านั้นที่ควรปฏิบัติ แม้แต่คฤหัสถ์คือชาวบ้านทั้งหลาย ก็ควรนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ชีวิตและสังคมของเราเจริญงอกงามอย่างถูกต้อง
ดูเป็น ฟังเป็น ฯลฯ
เราอยู่ในโลก ชีวิตของเราที่เป็นอยู่ได้ต้องมีการสื่อสารกับโลกภายนอก สิ่งที่ช่วยสื่อสาร หรือเครื่องมือสื่อสาร ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ถ้าเราใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เป็น...ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ก็กลับเป็นทางมาของโทษความเสียหาย ทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
ที่ว่าใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เป็น ก็คือใช้ด้วยโมหะ ใช้ด้วยสักแต่ว่าความรู้สึก ดูก็ไม่เป็น ฟังก็ไม่เป็น ดูแล้วก็เกิดโทษเกิดปัญหาแก่ชีวิต โลภะ โทสะ โมหะยิ่งเฟื่องฟู ทำให้เกิดความลุ่มหลง เพลิดเพลินมัวเมา
เช่น อยากดูทีวีก็ดูไม่เป็น ดูแล้วแทนที่จะได้ความรู้ กลับได้แต่ความลุ่มหลง ความมัวเมา เสียสุขภาพกาย เสียงาน เสียการศึกษาเล่าเรียน แต่ถ้าดูเป็นก็จะได้ความรู้ คือรู้จักเลือกดูรายการที่ดีๆ มีประโยชน์ หรือว่าแม้รายการจะไม่ดี แต่รู้จักดูก็ได้ความรู้ ได้คติ เพราะรู้จักแยกแยะจับเอาประโยชน์มาใช้ได้
ถ้าดูเป็น การศึกษาก็เริ่มต้น เพราะการศึกษาเริ่มต้นที่ ตา หู จมูก ลิ้น กายของเรา ถ้าจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ก็แสดงว่าการศึกษาพลาด การศึกษาปัจจุบันนี้น่าจะพลาด เพราะไม่ได้เอาใจใส่เรื่องนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมาพูดกันในเรื่อง อินทรียสังวร คือ การสำรวมอินทรีย์ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา
การศึกษาพื้นฐานคือเรื่องการบริโภคปัจจัยสี่ กับเรื่องการใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ จะต้องให้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา ถ้าได้จุดนี้แล้วการศึกษาก็เริ่มเดินหน้า เพราะฉะนั้นหลักเบื้องต้นในการฝึกอบรมพระใหม่จึงเน้นที่นี่ แล้วต่อไปก็ต้องใช้ตลอด
ในเรื่องอินทรียสังวรนี้ เพื่อเป็นการฝึก โบราณได้จัดออกมาเป็นกิริยาอาการในการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น ตานี่โผล่ก่อนเขา เพื่อให้มีการฝึก ท่านก็เอารูปแบบมาช่วย คือให้พระฝึกเวลาเดินตาไม่สอดส่าย ไม่เที่ยวหันดูโน่นดูนี่ และให้ดูพอประมาณ ทอดสายตาในขนาดที่พอใช้กิจ คือพอให้การเดินของตัวไปได้ถูกต้อง อาการสำรวมอย่างนี้ก็เลยกลายเป็นความเป็นอยู่ของพระไป
การปฏิบัติอย่างที่ว่านั้น เป็นการเอารูปแบบมาช่วย คือเอาอาการกิริยามาช่วยในการฝึก แต่ต้องรู้ว่าสาระที่แท้จริงนั้นคือท่านต้องการให้เราฝึกที่สติ ต้องเอาสติมาคุมไม่ให้อกุศลธรรมเข้ามาครอบงำ ให้รับรู้ด้วยสติและเกิดปัญญาแล้วได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ คือดูแล้ว ฟังแล้ว ให้ได้ความรู้และความดี
บางคนดูอะไรแล้วได้แต่สนุกตื่นเต้นผ่านไปเปล่าๆ ไม่ได้อะไรเลย ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่าไม่มีการศึกษา ถ้าเข้าโรงเรียนแล้วไม่รู้จักใช้ ตา หู จมูก ลิ้น ก็คือไม่มีการศึกษา เพราะยังไม่ได้เริ่มการศึกษาเลย เพราะฉะนั้น ต้องถามตัวเองว่า
(๑) ดูแล้วได้ความรู้ไหม ได้ความรู้คือได้ปัญญา หรือเดินหน้าไปในการที่จะเข้าถึงความจริง เราต้องมีความรู้จึงจะสามารถดำเนินชีวิตและกิจการต่างๆ ได้สำเร็จ และจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นดูแล้วต้องรู้ คือก้าวไปหาความจริง
(๒) ดูแล้วได้ประโยชน์ไหม ได้ประโยชน์คือสามารถเอามาพัฒนาชีวิตและทำการสร้างสรรค์ต่างๆ คือดูแล้วได้ข้อมูล ได้แง่มุมความคิด ได้คติ ที่จะเอามาใช้ประโยชน์
ถ้าได้ ๒ อย่างนี้ ก็แสดงว่าได้ปัญญาทั้งคู่ คือปัญญาที่เอาความรู้ และปัญญาที่เอาประโยชน์ได้
ฟังก็เช่นเดียวกันนี้ ทั้งดูและฟังนี้ ต้องฝึกต้องหัดกันตั้งแต่เด็กๆ ว่า ดูทีวีเป็นไหม ฟังวิทยุเป็นไหม ได้ความรู้และได้ประโยชน์อะไรบ้างจากสิ่งเหล่านั้น อย่าเป็นเพียงนักเสพที่ได้แค่สนุกสนานเพลิดเพลินผ่านๆ ไป
เดี๋ยวนี้เราได้นักเสพมากกว่านักศึกษา ทั้งที่เป็นเพียงนักเสพ แต่เรียกตัวเป็นนักศึกษา ถ้าไม่ได้เป็นนักศึกษาจริงก็ควรบอกมาว่าฉันเป็นแค่นักเสพ เรื่องนี้ต้องแยกให้ดี มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายมาก ยุคนี้มีสภาพอย่างที่ว่านั้น การที่เรียกยุคของพวกเราว่าเป็นบริโภคนิยมก็ชัด คือ นิยมบริโภค หมายความว่าเห็นแก่กิน ก็คือเป็นนักเสพนั่นแหละ
เมื่อเป็นนักเสพแล้วจะไปเรียกเป็นนักศึกษาได้อย่างไร นักเสพกับนักศึกษานั้นคนละพวก ถ้าเป็นนักเสพก็เป็นนักศึกษาไม่ได้ ถ้าเป็นนักศึกษาก็ต้องใช้ตา หู จมูก ลิ้น อีกแบบหนึ่ง คือใช้หาปัญญาและหาทางสร้างสรรค์ประโยชน์
เวลานี้ ทั้งที่ใช้ตาหูเพียงแค่หาสิ่งบำรุงบำเรอ ก็เรียกกันไปว่านักศึกษา ปรากฏว่าได้สัมผัสเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ต่างๆ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น มากมาย แต่ไม่เคยศึกษาเลย ได้แต่เสพอย่างเดียว
ขอย้ำว่าเรื่องนี้สำคัญมาก อินทรียสังวรนี้เป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่จะทำให้เป็นนักศึกษา (นักเรียน ก็เช่นเดียวกัน) หมายความว่าใช้ตาดู หูฟัง เป็นต้น หรือเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทุกอย่าง ต้องได้ปัญญา ที่เกิดความรู้ และเอาประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้