|
|
ธรรมะอินเทรนด์
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการศึกษา มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการเป็นนักศึกษา กล่าวคือ สามารถฝึก หัด พัฒนา ให้มีพัฒนาการที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปจากปุถุชนจนเป็นกัลยาณชน และอารยชนในที่สุด ผู้ที่ศึกษาสำเร็จการศึกษาตามแนวทางของพุทธศาสนา นับว่าเป็น “พุทธะ” คือ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ที่ว่าเป็น ผู้รู้ หมายถึง รู้จักโลกและชีวิตตามความเป็นจริง เช่น รู้ว่า โลกและชีวิตเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ได้เป็นไปตามที่ใจเราต้องการ รู้ว่าใด ๆ ในโลกล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ไม่แน่ ไม่ได้ดั่งใจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ) รู้ว่า กายใจของเราเป็นเพียงองค์ประกอบของเหตุปัจจัยฝ่ายรูปธรรมและนามธรรมมารวมกันชั่วคราว ตัวตน (อัตตา) ที่แท้จริงของเรานั้นไม่มี ความรู้สึกว่าตัวฉัน (อหังการ) ของฉัน (มมังการ) นี่แหละตัวฉัน (เอโสหมสฺมิ) เป็นเพียงความหลงผิดที่เราคิดกันขึ้นมาเอง หรือความรู้ว่า ชีวิตของมนุษย์ทุกคนล้วนมีโอกาสเผชิญโลกธรรมทั้ง ๘ อันประกอบด้วยได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์
กล่าวอย่างถึงที่สุด ความรู้จักโลกและชีวิตตามความเป็นจริง คือ การรู้ว่าชีวิตเป็นทุกข์ (ทุกข์) และความทุกข์นั้นเกิดขึ้นมาจากสาเหตุคืออวิชชา (สมุทัย) แต่เมื่อความทุกข์มีอยู่ภาวะที่ปลอดทุกข์ก็มีอยู่เช่นกัน (นิโรธ) และทางดับทุกข์นั้น ก็มีอยู่แล้ว (มรรค) เป็นต้น
ที่ว่าเป็น ผู้ตื่น หมายถึง ตื่นจากการถูกครอบงำของกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ที่ว่าเป็น ผู้เบิกบาน หมายถึง หลุดพ้นจากพันธนาการของกิเลสอย่างสิ้นเชิง จึงมีจิตและปัญญาที่เป็นอิสระ สดชื่น เบิกบาน ผ่องใส เป็นสุข ดังหนึ่งดอกบัวที่พ้นจากน้ำในยามรัตติกาล ครั้นได้สัมผัสแสงแรกแห่งอาทิตย์อุทัยก็พลันเริงแรงแสงฉายอย่างงดงามในยามรุ่งอรุณ
มนุษย์ทุกคนก็เป็นเช่นดอกบัว คือ บัวทุกดอกมีศักยภาพที่จะผลิบานฉันใด มนุษย์ทุกคนก็มีศักยภาพที่จะเป็นพุทธะ คือ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ฉันนั้น บัวทุกดอกมีวิวัฒนาการสูงสุดอยู่ที่การได้ผลิบาน มนุษย์ทุกคนก็มีวิวัฒนาการสูงสุดอยู่ที่การได้ตื่นรู้สู่อิสรภาพ
มนุษย์มีศักยภาพที่จะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้ก็จริงอยู่ แต่ศักยภาพเช่นว่านั้นจะได้รับการพัฒนาขึ้นมาหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ๒ ประการ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเรียกว่า “บุพนิมิตแห่งมรรค” หรือ “รุ่งอรุณของชีวิตดีงาม”
บุพนิมิตแห่งมรรค (มรรคมีองค์ ๘ หรือ ระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพแห่งความเป็นพุทธ) หรือ “รุ่งอรุณของชีวิตดีงาม” ตามที่กล่าวมานี้มี ๒ ประการ
๑. โยนิโสมนสิการ ความรู้จักคิด
๒. กัลยาณมิตร ความมีมิตรดี
ทั้งความรู้จักคิด (analytical thinking) และความมีมิตรดี (having good friends) เป็นพุทธธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญไว้เป็นอันมากว่า เป็นปัจจัยสำคัญอันเป็นจุดเริ่มต้นของการมีชีวิตที่มีการศึกษา หรือเป็นจุดตั้งต้นของการดำเนินอยู่บนเส้นทางของการเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หรือการดำเนินอยู่บนอริยมรรค ใครก็ตามมีความรู้จักคิดและมีมิตรดี ก็เป็นอันว่า คน ๆ นั้น กำลังมีชีวิตที่มีหลักประกันว่า จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง มีแนวโน้ม มีอนาคตที่สดใส เชื่อมั่นได้ว่า จะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างสง่างาม รุ่งโรจน์โชตนา เหมือนดั่งเมื่อมีรัศมีอ่อน ๆ ของดวงอาทิตย์อุทัยไขแสงเรื่อเรืองขึ้นมาก่อน
ในยามรุ่งอรุณ ก็เป็นอันเชื่อมั่นได้ว่าไม่ช้าไม่นานต่อจากนั้น โลกทั้งโลกจะสว่างไสวไปด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์โดยสมบูรณ์ ความข้อนี้มีพุทธวัจนะตรัสไว้ดังต่อไปนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ก่อนอาทิตย์อุทัย ย่อมมีแสงอรุณเรื่อเรืองขึ้นมาให้เห็นเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความรู้จักคิด ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยมรรคมีองค์ ๘ แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
“ภิกษุทั้งหลาย ก่อนอาทิตย์อุทัย ย่อมมีแสงอรุณเรื่อเรืองขึ้นมาให้เห็นเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความมีกัลยาณมิตร ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยมรรคมีองค์ ๘ แก่ภิกษุ ฉันนั้น” (สํ.ม.๑๙/๕-๑๒๙/๒-๓๖)
โยนิโสมนสิการ หรือ ความรู้จักคิด เป็นศักยภาพที่สามารถฝึกหัดพัฒนาให้เกิดขึ้นมาได้ ทั้งยังถือว่าเป็นคุณธรรมแกนที่เมื่อมีขึ้นมาในบุคคลใดแล้ว แม้ไม่ต้องอาศัยกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก เช่น พระพุทธเจ้า พระอริยสาวก พระสาวกสาวิกา ปัญญาชน หรือบุคคลทั่วไปเลย บุคคลนั้น ๆ ก็สามารถพิจารณาเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน เรื่องราว หรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านพบให้ก่อเกิดเป็น “ปัญญา” ที่นำมาพัฒนาชีวิตได้ ซึ่งเมื่อมองในแง่นี้ จึงกล่าวได้ว่า สำหรับคนที่รู้จักคิด ย่อมมีกัลยาณมิตรอยู่ทุกแห่งหน แต่ในทางกลับกัน คนที่ไม่รู้จักคิด แม้จะมีกัลยาณมิตรอยู่รอบกาย ก็ไม่อาจได้รับประโยชน์โสตถิผล
อย่างที่ควรจะเป็น ดุจเดียวกับทัพพีที่อยู่กับหม้อแกง ทว่าไม่รู้รสแกง กบอยู่กับดอกบัว ทว่าไม่รู้รสเกสรบัว
ในอดีตกว่าพันปีมาแล้ว กาลิเลโอ กาลิเลอิ เคยสังเกตเห็นการแกว่งของโคมไฟในโบสถ์แห่งหนึ่ง ว่า มีระยะการแกว่งที่เท่ากันเสมอ จึงนำเอาเหตุการณ์เล็ก ๆ นี้มาพิจารณาก็ทำให้ค้นพบกฎการแกว่งของลูกตุ้ม ซึ่งเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่ยังคงใช้ได้มาจนถึงทุกวันนี้
วันหนึ่งขณะที่ไอแซค นิวตัน นั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล เขาสังเกตเห็นว่า ลูกแอปเปิ้ลที่หล่นลงมาแล้ว ต้องตกลงดินเสมอ จึงเกิดคำถามว่า ทำไมผลแอปเปิ้ลเมื่อหล่นจากขั้วแล้วจึงไม่ลอยขึ้นสู่นภากาศ ผลของการครุ่นคิดหาความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์คราวนี้ ทำให้เขาค้นพบกฎแห่งแรงดึงดูดหรือกฎแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งก็เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่ยังคงเป็นจริงอยู่มาจนถึงบัดนี้
ในสมัยพุทธกาล ขณะที่สามเณรน้อยรูปหนึ่งกำลังเดินบิณฑบาตอยู่ในหมู่บ้าน ระหว่างทางเธอสังเกตเห็นชาวนา กำลังไขน้ำเข้านา ช่างศร กำลังดัดลูกศร ช่างไม้ กำลังเกลาไม้ เธอเกิดคำถามเชิงวิจัยขึ้นมาว่า ชาวนายังสามารถไขน้ำให้เข้านาได้ตามประสงค์ ช่างศร ยังดัดลูกศรที่คดให้ตรงได้ตามประสงค์ ช่างไม้ยังเกลาไม้ที่ขรุขระให้กลมกลึงได้ตามประสงค์ แล้วทำไมเราจะฝึกตัวเองให้เป็นบัณฑิตไม่ได้ ด้วยความเป็นคนช่างคิด ช่างพิจารณาประสบการณ์ที่อยู่ตรงหน้าอย่างลึกซึ้ง สามเณรน้อยจึงถือเอาประสบการณ์ที่ได้ผ่านพบ มาเตือนตนให้รีบพัฒนาตนเองจนบรรลุอริยมรรคกระทั่งภายในไม่ทันข้ามวัน ก็สามารถบรรลุภาวะพระนิพพานอันเป็นผลที่หมายสูงสุดในทางพุทธศาสนาได้สมตามเจตนารมณ์
ตัวอย่างทั้งสามประการที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า สำหรับผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ คือ รู้จักคิด หรือคิดเป็นนั้น แม้ไม่มีกัลยาณมิตรที่เป็นบุคคลสำคัญหรือเป็นผู้ทรงภูมิธรรมภูมิปัญญาคอยแนะนำพร่ำสอนโดยตรงเขาก็สามารถค้นพบ “ทางเดิน” ที่รุ่งโรจน์ของตัวเองได้ แต่คนเช่นนี้ มีไม่มากนัก สำหรับคนทั่วไปแล้ว การที่จะ “รู้จักคิด” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัย “กัลยาณมิตร” คอยเกื้อกูล.
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
|
Update : 8/6/2554
|
|