|
|
เที่ยวทั่วไทย-เมืองโอ่งมังกร (๒)
เมืองโอ่งมังกร (๒)
จังหวัดราชบุรีนั้น ได้ชื่อว่าผลิตโอ่งมังกรได้ลายสวยงาม ซึ่งโรงงานที่ดังนั้นคือ โรงงานเถ่าแซ่ไถ่ ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๙ ใกล้ร้อยปีเข้าไปทุกทีแล้ว ราชบุรีอำเภอขึ้นตรงจำนวน ๙ อำเภอ คือ อ.เมือง ราชบุรี อ.จอมบึง อ.สวนผึ้ง อ.ปากท่อ อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม อ.ดำเนินสะดวก อ.บางแพ อ.วัดเพลง และกิ่ง อ.บ้านคา มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน ๒ สายคือ แม่น้ำภาชี ที่ไม่สะดวกต่อการคมนาคม แต่สวยด้วยเกาะแก่งและแม่น้ำแม่กลอง ที่ไหลผ่านราชบุรีเป็นระยะทาง ๖๗ กม. และมาออกอ่าวไทยที่ราชบุรี
ผมพาไปเที่ยวเมืองโบราณคูบัวมาแล้ว คราวนี้มาเที่ยวในเมือง ไปกินข้าวต้มพุ้ยขนานแท้ ที่นับวันจะหากินยากเข้าทุกที เพราะมักจะมีแต่อาหารตามสั่ง ซึ่งแม้จะเป็นร้านข้าวต้มพุ้ย หรือกุ๊ยก็ตาม แต่ราชบุรียังมี หลายเจ้าด้วยแถมยังไปรวมกันในบริเวณที่ใกล้ ๆ กัน ห่างกันไม่เกิน ๓๐ เมตร ในบริเวณตลาดที่เคยเรียกว่า ตลาดสนามหญ้า แม้ว่าทุกวันนี้จะกลายเป็นพื้นปูนไปหมดแล้ว ก็ยังคงเรียกกันว่า ตลาดสนามหญ้า เหมือนเดิม
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้มาพำนักอยู่ที่ อ.เมือง ราชบุรี ได้สร้างตึกที่อยู่ริมถนนวรเดช สายเลียบลำน้ำแม่กลอง อยู่ห่างจากตลาดสนามหญ้า สัก ๒๐๐ เมตร อาคารหลังนี้ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๘ เป็นศาลาว่าการมณฑล และในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้ย้ายศาลากลางจังหวัดมารวมอยู่ด้วยกัน ในปัจจุบันอาคารที่เคยเป็นตึกที่อยู่ของ สมเด็จเจ้าพระยา ฯ เป็นอาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ยังได้สร้างวัด วัดในราชบุรีนั้น มีวัดที่เป็นพระอารามหลวง ทั้งมหานิกาย และธรรมยุติ รวม ๗ วัด คือ มหานิกาย ได้แก่ วัดมหาธาตุ วัดช่องลม วัดเขาวัง อยู่ใน อ.เมืองราชบุรี อีกวัดคือ วัดบัวงาม อ.ดำเนินสะดวก ส่วนธรรมยุตินิกาย ได้แก่ สัตตนารถปริวัตร "วัดศรีสุริยวงศ์" และวัดสุรชายาราม ล้วนอยู่ใน อ.เมืองราชบุรี และทุกวัดที่เป็นพระอารามหลวง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี วัดที่สมเด็จเจ้าพระยา ฯ ได้สร้างไว้คือ วัดศรีสุริยวงศ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตลาดสนามหญ้า ไปตามถนนอมรินทร์ ประมาณ ๑ กม. ถนนสายนี้ออกจากตลาดสนามหญ้า ขนานกับแม่น้ำ ถามชาวเมืองดูจะง่ายกว่า ให้ผมบอกทาง เพราะถนนที่มาผ่านตลาดสนามหญ้านั้น มี ๕ - ๖ สาย ส่วนมากเป็นสายสั้น ๆ ผมลืมบอกเส้นทางไปตลาดสนามหญ้า หากมาจากนครปฐม ตามถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ พอมาถึงราชบุรี ลงจากสะพานข้ามทางรถไฟแล้ว ให้เลี้ยวซ้ายทันที วิ่งเลียบทางรถไฟ มาข้ามสะพานข้ามแม่น้ำ ตรงมาถึงทางแยก เลี้ยวขวา ตรงมาตลาดสนามหญ้า จะอยู่ทางขวามือ มีหอนาฬิกาตั้งเด่นเป็นสง่า และมีวงเวียนตรงด้านนี้ หากตรงไปคือ ถนนอมรินทร์
วัดศรีสุริยวงศ์ วัดนี้เป็นวัดไทย แต่หากมองดูพระอุโบสถแล้ว จะนึกว่าเป็นวัดฝรั่งไป เพราะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก สมเด็จเจ้าพระยา ฯ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๔ ประตูทางเข้าวัดที่ค่อนข้างแคบ ทำเป็นรูปลวดลายปูนปั้นตุ๊กตาคิวปิด แบบฝรั่ง
พระอุโบสถ รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก มีเสากลมขนาดใหญ่ รองรับชายคาโดยรอบ ระหว่างเสาเชื่อมต่อด้วยรูปโค้ง ครึ่งวงกลมแบบ "อาร์กโค้ง" ลักษณะเดียวกับพระอุโบสถวัดสัมพันธวงศ์ ในกรุงเทพ ฯ ภายในอาคารด้านหลังพระประธาน มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาพของสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ประดับไว้ต่างระดับกัน พระอุโบสถเดิม ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา สร้างตามแบบพระราชนิยม ในสมัย ร.๓ มาเพิ่มช่อฟ้า ในภายหลัง
วัดช่องลม หากไปจากตลาดสนามหญ้า เลียบแม่น้ำไปผ่านพิพิธภัณฑแห่งชาติ ไปสัก ๒๐๐ เมตร คือ วัดช่องลม วัดช่องลม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ มีพระพุทธรูปสำคัญคือ หลวงพ่อแก่นจันทน์ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร จากพระเศียร ลงไปถึงพระอังสา ทำด้วยสำริด นอกนั้น ทำด้วยไม้แก่นจันทน์แดง สูง ๒.๒๖ เมตร ฝีมือช่างสมัยอยุธยา เล่ากันไว้ว่า หลวงพ่อแก่นจันทน์ ลอยตามลำน้ำแม่กลอง มาจากกาญจนบุรี ผู้พบเห็นได้อัญเชิญขึ้นที่วัดมหาธาตุ แล้วอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดช่องลม ในภายหลัง
วัดเขาเหลือ มีวิหารแกลบ ภายในมีพระพุทธรูป และภาพเขียนที่ควรชม เดินไปจากวัดช่องลม ก็ได้อยู่ไม่ไกลกัน วิหารแกลบ มีขนาดเล็ก ก่ออิฐทึบทุกด้าน มีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย เห็นได้จากฐานวิหารอ่อนโค้งตกท้องช้าง ฝาผนังเขียนรูปพุทธประวัติ และเทพชุมนุม ซึ่งวาดคนในภาพเป็นชาวต่างชาติ มีพระพุทธรูปหินทรายเก่าแก่
วัดมหาธาตุ เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นวัดที่เก่าแก่ และให้สังเกตว่าเมืองสำคัญ หรือเมืองที่เคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน มักจะมีวัดมหาธาตุ เช่น สุโขทัย กำแพงเพชร ลพบุรี นครศรีธรรมราช ราชบุรี เป็นต้น วัดพระมหาธาตุราชบุรี ดังน้อยไปนิด ทั้ง ๆ ที่เป็นวัดเก่าแก่ เส้นทางไปตามถนนวรเดช จากตลาดสนามหญ้า ก็ได้ หรือไปวัดศรีสุริยวงศ์ ออกจากวัดแล้วเลี้ยวซ้ายไป หรือจะมาจากถนนผ่านข้างโรงพยาบาลเมืองราช ก็ได้หลายเส้นทาง
หลังจากเมืองคูบัว เสื่อมถอยความสำคัญลง ชุมชนจึงเคลื่อนมาตั้งชุมชนใหม่ โดยมีบริเวณวัดมหาธาตุ เป็นศูนย์กลางเมือง เป็นประจักษ์พยานของความรุ่งเรืองสมัยหลัง พ.ศ.๑๗๐๐ ถนนจะผ่ากลางเข้ามาวัด ทางขวาคือ กำแพงแลง สร้างด้วยศิลาแลง ตัวกำแพงประดับด้วยหินทรายแดง จำหลักพระพุทธรูปภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว เป็นรูปแบบศิลปะบายน เมืองพระนคร แห่งกัมพูชา ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ผู้สร้างนครธม
วิหาร ตั้งอยู่นอกระเบียงคด ด้านหน้าองค์ปรางค์ประธาน เหลือแต่ฐานไม่มีฝาผนัง และได้บูรณะไว้บ้างแล้ว ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย สององค์ "หันหลังชนกัน" สร้างด้วยหินทรายแดง หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกคือ พระมงคลบุรี องค์ที่หันไปทางทิศตะวันตกคือ พระสัมฤทธิ์
พระปรางค์ อยู่ในวงรอบของระเบียงคด ไม่ปรากฎหลักฐานว่า สร้างเมื่อใด แต่ไม่ก่อนสมัยสุโขทัย เพราะตัวปรางค์ที่สูงจนถึงยอดนภศูล สูงประมาณ ๑๗ วา มีบันไดให้ขึ้นไปยังคูหาในองค์ปรางค์ได้ ในคูหานี้มีพระพุทธรูปหิน ปางนาคปรก พระพักตร์ขอมสมัยลพบุรี (ห้ามถ่ายภาพ) รอบพระปรางค์องค์ใหญ่ มีปรางค์บริวารอีกสามองค์ ทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และตะวันตก รอบองค์ปรางค์เป็นระเบียงคด ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น และพระพุทธรูปศิลาสมัยต่าง ๆ เช่น ทวารวดี ลพบุรี อยุธยา เป็นต้น กำลังซ่อมแซม สร้างใหม่ก็มี และด้านหน้าทางขึ้นสู่คูหาองค์พระปรางค์ มีห้องกระจก ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ แต่สร้างใหม่ ไม่ใช่สร้างมาในยุคโบราณ
พระอุโบสถ อยู่ทางฝั่งซ้ายของกำแพงแลง หลังคาซ่อมแซมแล้ว เป็นสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนฐานเป็นสมัยอยุธยาตอนปลาย
มณฑป ประดิษฐานพระพุทธบาทหินทราย ไม่ปรากฎหลักฐานว่า สร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง มีศิลปะสวยงาม ยอดมณฑปไม่มีแล้ว เพราะหักพังไป ส่วนพระอุโบสถก็มาบูรณะกันในสมัยรัชกาลที่ ๕
พระพุทธรูปสำคัญ มีสร้างด้วยหินเขียวขนาดเท่าตัวคน ๒ องค์ เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี มีพระพุทธรูปสร้างด้วยหินเขียวปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปแบบทวารวดี พระพุทธรูปหินทรายแดง ปางประทานพร สร้างสมัยลพบุรี ๑ องค์ พระพุทธรูปปางนาคปรก สมัยลพบุรี ๓ องค์ และพระพุทธรูปหินทรายแดง สมัยอยุธยา ปางมารวิชัย มีจำนวนหลายองค์ อยู่ในพระวิหารต่าง ๆ และพระอุโบสถ ได้รับการซ่อมแซมแล้ว
พระบรมสารีริกธาตุ บรรจุไวัในองค์พระพุทธปรางค์ และที่เก็บรักษาไว้ในพระอาราม เป็นพระบรมธาตุที่กรมศิลปากรขุดได้ ๓ องค์ พร้อมด้วยผอบทองคำ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๗ และมอบไว้ให้เป็นสมบัติของวัดมหาธาตุ
วัดนี้มีต้นไม้ร่มรื่นไปทั่วบริเวณวัด และเป็นไม้ที่หายากเช่น โพธิ์เงิน โพธิ์ทอง ทองกวาว ลำไยเถา การเวก โพธิ์หนาม ปีป หมัน มะค่าไก่ จัน ดีเหม็น ไทรนิโครธ ฯ
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งมหาราชวงศ์จักรี เคยรับราชการในตำแหน่ง "หลวงยกบัตรเมืองราชบุรี" ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ (พ.ศ.๒๓๐๑ - ๒๓๑๐) จากนั้นจึงมาถวายตัวเข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์อยู่ที่เชิงเขาแก่นจันทน์ ซึ่งเขาแก่นจันทน์เป็นเขาที่สูงของตัวเมืองราชบุรีคือ สูง ๑๔๑ เมตร อยู่ทางขวาของถนนเพชรเกษมก่อนจะพ้นจากตัวเมืองราชบุรี อยู่ในเมืองเห็นเขาลูกไหนสูงพ้นยอดตึกสูง ๆ คือเขาแก่นจันทน์
ทางขึ้นเขาแก่นจันทน์อยู่ทางซ้ายของพระบรมราชานุสาวรีย์ รถขับขึ้นไปบนลานยอดเขาได้อย่างสบาย บนลานยอดเขามีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคือ "พระพุทธนิโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ" ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สร้างไว้จำนวน ๔ องค์ ประดิษฐานอยู่สี่ทิศคือสระบุรีแทนทิศตะวันออก ลำปางแทนทิศเหนือ พัทลุงแทนทิศใต้ และราชบุรีแทนทิศตะวันตก เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง บนลานกว้างขวางมาก เป็นจุดมองเห็นทิวทัศน์ทั่วเมืองราชบุรี และยังเป็นลานที่ชาวเมืองขึ้นมาออกกำลังกันในตอนเย็น แถมยังมีฝูงไก่แจ้ คอยรับข้าวเปลือกที่น่าจะเป็นคนดูแลสถานที่ใส่ถุงวางไว้ขายถุงละ ๑๐ บาท ซื้อข้าวเปลือกโปรยให้แก่ได้บุญ
เขาวัง สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อพ้นจากหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ได้มาพำนักอยู่ที่ราชบุรี ได้สร้างอาคารที่พักอาศัย ซึ่งเป็นศาลากลางจังหวัด และศาลากลางมณฑลในเวลาต่อมา สร้างวัดศรีสุริยวงศ์ และสร้างพระราชวังถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่ประทับพักแรมเมื่อแปรพระราชฐาน รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จมาประทับเพียงครั้งเดียวในปี พ.ศ.๒๔๒๐ เพื่อออกรับราชทูตโปรตุเกส จนถึงในรัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้า ฯ อุทิศพระราชวังแห่งนี้ให้เป็นวัด ชาวราชบุรีจึงร่วมกันบริจาคเงินบูรณะซ่อมแซมตำหนักหลังต่าง ๆ ตลอดจนสร้างเพิ่มเติม ที่ประทับนั้นซ่อมแซมคงจะไม่ได้ จึงได้รื้อแล้วสร้างอุโบสถขึ้นแทนที่ ส่วนห้องโถงหรือท้องพระโรงยังอยู่ดี ผมไปโชคดีได้พบพระมหาองค์หนึ่ง ท่านเป็นแฟนหนังสือผม ท่านไปถามคณะพรรคที่ไปกับผมว่าเป็นทหารหรือเปล่า เพราะเห็นร่างกายใหญ่โต พอ ๆ กับผม พรรคพวกผมบอกว่าไม่ได้เป็น แล้วชี้มาทางผมที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มว่าคนนั้นเป็น ชื่อ... ท่านก็เลยเข้ามาพบและบอกว่าเป็นแฟนหนังสือมาหลายปีแล้ว เลยพาชมวัด เปิดห้องท้องพระโรงให้ชม เสียดายที่คณะผมมีเวลาน้อยไปเลยชมไม่ทั่ว รอบห้องโถงปลูกไม้กระถางประเภทชวนชมเอาไว้สวยงาม ที่ระเบียงติดกับศาลาการเปรียญ มองลงไปเห็นทิวทัศน์ของตัวเมืองราชบุรี ตอนจะกลับท่านมหาวีระ วิ่งไปเอาหนังสือมาให้เล่มหนึ่งเป็นหนังสือที่ดีอย่างยิ่ง เล่มโตทีเดียว ก็ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านไว้ตรงนี้ด้วย
เขางู หากออกจากนครปฐม ข้ามสะพานข้ามทางรถไฟ มายังถนนเพชรเกษมสายเลี่ยงเมือง พอถึงสี่แยกไฟสัญญาณ เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๓๐๘๗ เส้นทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือ ในเขตอำเภอจอมบึง และอำเภอสวนผึ้ง หรือจะเลยไปยังอำเภอโพธารามก็ได้ เลี้ยวขวาไปประมาณ ๖ กม.ถึงสี่แยกเจดีย์หัก เลี้ยวซ้ายจะไปยังจอมบึงและสวนผึ้ง เลี้ยวขวานิดเดียวจะมายังเขางู เลยต่อไปจะไปยังวัดหนองหอย และไปยังโพธาราม ไปวัดเขาช่องพราน ไปชมค้างคาวนับล้านตัวออกหากินในตอนเย็น บินกันเป็นสายเลยทีเดียว แล้วเช้าจึงบินกลับไม่ทราบว่าไปหากินไกลถึงไหน ไปลงสวนผลไม้ของใครเข้าคงหมดสวน
เขางูมีถ้ำหลายแห่ง บางแห่งพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี มีภาพปูนปั้นและภาพจำหลักบนผนังถ้ำ ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ไปเขางูตามเส้นทางที่บอก เลี้ยวขวาตรงสี่แยกเจดีย์หัก แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปตรงพระพุทธรูปที่เชิงเขา ประทับยืน รถยนต์ขึ้นได้สะดวก มีถ้ำหลายถ้ำคือ ถ้ำฤษี ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดีเรียกว่า "พระพุทธฉาย" เป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท ที่ผนังถ้ำด้านซ้ายมีพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์จำหลักบนศิลา ถ้ำจีน มีพระพุทธรูปสมัยทวารวดีเช่นกัน ถ้ำจาม มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยจำหลักที่ผนังถ้ำ และพระพุทธรูปปางไสยาสน์ศิลปะสมัยทวารวดี
วัดหนองหอย อยู่เลยทางเข้าเขางูไปหน่อย พบทางแยกแล้วเลี้ยวขวาไป ทางขวาของถนนคือตัววัดหนองหอยเรียกว่าสายหินยานคงจะได้ เพราะสร้างพระพุทธรูปใหญ่บนยอดเขา แต่ทางซ้ายมีวิหารเจ้าแม่กวนอิมประทับยืน มีโรงทานอาหารมังสะวิรัช มีวัตถุมงคลเกี่ยวกับเจ้าแม่กวนอิม น่าจะเรียกว่าฝ่ายมหายาน คนไปกันแน่นทางฝั่งนี้ มากกว่าไปไหว้พระพุทธรูปองค์ใหญ่บนเขาที่รถยนต์ขึ้นได้สะดวก
ตลาดสนามหญ้า ผมได้บอกเส้นทางไว้แล้ว หรือสงสัยถามชาวเมืองคนไหนก็ได้ เป็นชี้ทางถูกหมด พอตกเย็นก็จะแน่นขนัดไปด้วยร้านอาหารทั้งคาวและหวาน
เข้าร้านข้าวต้ม เข้าทางถนนที่อยู่ริมแม่น้ำ ไปก็จะถึงลานที่มานั่งกินอาหารกันแน่นเต็มลานหรือจะนั่งในร้านก็มีหลังคาคลุมหน่อยก็ได้ แผงอาหารสำเร็จรูปอยู่ด้านหน้า มีอาหารสำเร็จรูปหลายอย่างแบบข้าวต้มกุ๊ยแท้ และมีเมนูอาหารตามสั่ง ขนาดปลาจารเม็ดยังมีในเมนู เมื่อสั่งอาหารโดยไปชี้เอาในอ่างหรือสั่งจากเมนู คนจัดอาหารลงจานจะจัดตรงแผง แล้วส่งไปยังโรงครัวที่อยู่ใกล้ ๆ กัน อาหารจะมาเร็วมาก ผมไปกันหลายคน สั่งกันสนุก อาหารราคาถูก เริ่มต้นอย่าข้ามของงดีราชุบรีคือ "เต้าหู้พะโล้" เนื้อเต้าหู้อร่อยมาก เนื้อแน่นเรียกว่าหากรุ่งขึ้นกลับบ้าน ตอนเช้าต้องย้อนมาตลาดสดที่อยู่ติดกันกับตลาดสนามหญ้า มาซื้อเต้าหู้แคระที่ร้านเพ็กเอ็ง ๐๓๒ ๓๑๘ ๔๔๓ เข้าทางท่าเทียบเรือ กลับไปทำกินต่อที่บ้าน สั่งเต้าหู้พะโล้แล้ว ต้องสั่ง "ไส้หมูพะโล้" น้ำพะโล้เข้าเนื้อนุ่ม มีรสเปี่อยแต่ได้เคี้ยว แล้วให้ตามเสียด้วย "ขาหมูพะโล้" กินกันให้อ้วนเป็นพะโล้ไปเลย ๓ พะโล้แล้ว สั่งพวกผักบ้าง กุ่ยช่ายขาวผัดกับเต้าหู้
ชี้เอามาจากในอ่างจับฉ่าย อาหารหลักของข้าวต้มพุ้ยหรือตามด้วยพวกตุ๋นก็ไปชี้เอา
ซี่โครงหมูทอดกระเทียมพริกไทย ตามด้วยปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียมพริกไทย
หอยลายผัดน้ำพริกเผา ความร้อนในการผัดให้เก่งมาก หอยสุกแล้วอ้าปากเห็นเนื้อน่ากินนัก ต้องตักราดข้าว สูตรผม ข้าวสวย ๑ ถ้วย ตามด้วยข้าวต้มอีก ๑ ถ้วย
ร้านใกล้ ๆ กัน ชื่อร้านขนมหวาน ซื้อเอามาไว้ก่อนจะได้เอามาปิดท้ายข้าวต้ม
|
Update : 7/6/2554
|
|