|
|
สิ้น"พระเทพโพธิวิเทศ" ร่มโพธิ์วัดไทยพุทธคยา
"วัดไทยพุทธคยา" รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นวัดไทยแห่งแรกในแดนพุทธภูมิที่สร้างตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดียเมื่อครั้งกึ่งพุทธกาล
เวลาผ่านมาแล้วกว่า 50 ปี วัดไทยพุทธ คยาวันนี้ที่ปกครองโดย "พระเทพโพธิวิเทศ" หรือ "หลวงพ่อทองยอด ภูริปาโล"
บัดนี้ พระเทพโพธิวิเทศ เจ้าอาวาสและหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย มรณภาพด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 พฤษภาคม 2554 หลังเข้ารับการรักษาตัวที่ตึกวชิรญาณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร สิริอายุ 83 พรรษา 63
สร้างความเศร้าสลดใจแก่บรรดาคณะศิษย์เป็นอย่างยิ่ง
อัตโนประวัติ พระเทพโพธิวิเทศ ถือกำเนิดเกิดในสกุล บุณยเนตร เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2471 ณ บ้านหมู่ที่ 5 ต.พิตเพียน อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ในครอบครัวประกอบอาชีพชาวนา
จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 7 ที่โรงเรียน มหานาค
กระทั่งพออายุ 14 ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2486 ณ วัดกุฎีทอง อ.มหาราช มีพระครูประจักษ์สุตคุณ วัดอุโลม เป็นพระอุปัชฌาย์
คราแรกตั้งใจจะบวชเพียงแค่ 7 วัน ตามคำขอของมารดา ครั้นอยู่ครบ 7 วันเตรียมตัวจะขอลาสึก แต่มารดาขอให้บวชต่อไปอีก 3 เดือน เมื่อโยมแม่ขอจึงจำต้องอยู่ต่อในเพศบรรพชิต
จากนั้นมุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2489 สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ จากสำนักเรียนวัดกุฎีทอง ต.พิตเพียน อ.มหาราช สำนักเรียนคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ด้วยความที่เป็นคนหัวดี ความจำเป็น เลิศ พระอาจารย์เจ้าอาวาสวัดแนะนำให้ไปศึกษาเพิ่มเติมยังวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ
ครั้นมาอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ ต้องเรียนอย่างหนัก สามารถสอบได้เปรียญธรรม 3 ประ โยคสมความตั้งใจ
พออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2491 ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุฯ มี พระธรรมปัญญาบดี (สวัสดิ์ กิตติ สาโร) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระนิกรมมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปิฎกโกศล เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังอุปสมบทยังมุ่งมั่นเช่นเดิมที่จะศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ในที่สุดพ.ศ.2502 ก็สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค
วันหนึ่ง มีคณะชาวต่างชาติมาจากประเทศอินเดีย มาเยี่ยมวัดมหาธาตุฯ มีพระรุ่นพี่คอยต้อนรับ สนทนาภาษาอังกฤษอย่างฉาดฉาน ทำให้มีดำริอยากจะเรียนภาษาอังกฤษบ้าง หากอยู่ในเมืองไทย คงได้ผลน้อยจึงมีความปรารถนาแรงกล้าขอเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอินเดีย
หลวงพ่อทองยอด ถือเป็นพระธรรมทูตรุ่นบุกเบิกในประเทศอินเดีย
การเผยแผ่พระศาสนาในอินเดียแดนพุทธภูมิยุคนั้นต้องต่อสู้กับลัทธิความเชื่อมากมายและการกลั่นแกล้งสารพัดของคนต่างศาสนาที่บุกรุกแม้กระทั่งสังเวชนียสถาน หากท่านท้อแท้แต่เพลานั้น พระพุทธศาสนาคงไม่เจิดจรัสเฉกเช่นเพลานี้
หลวงพ่อทองยอดเป็นพระเยือกเย็น สุขุมคัมภีรภาพ พ.ศ.2526 สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยมคธ ประเทศอินเดีย และท่องไปทั่วทุกแดนที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จโปรดสรรพสัตว์
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2531 เป็นเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา พ.ศ.25432 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานครฯ และเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดีย
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระศรีสุธรรมมุนี พ.ศ.2539 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชโพธิวิเทศ
พ.ศ.2548 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพโพธิวิเทศ
นับแต่ท่านได้เป็นเสาหลักแดนพุทธภูมิได้ปักธงธรรมนำวิถีสังคมรอบสังเวชนียสถาน ให้วัดไทยกุสินาราเปิดคลินิก 5 บาทรักษาทุกโรค เพื่อช่วยเหลือคนอินเดียวรรณะต่ำ ด้วยเคล็ดรักษาทั้งพุทธวิธีและยาปัจจุบัน สอดแทรกข้อธรรมจนเกิดการยอมรับ
วัดไทยพุทธคยาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมนานาชาติ ทุกวันที่ 26 มกราคมจะมีชาวพุทธทั่วโลกเดินทางมากราบสังเวชนียสถาน ตัวท่านจะเป็นอาจารย์บอกกัมมัฏฐาน อีกทั้งกำหนดจัดตั้งโรงเรียนชุมชนชาวพุทธใหม่ เปิดสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 เมืองนาลันทา เพื่อให้เด็กอินเดียที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้เล่าเรียน
วัดไทยลุมพินีนั้นได้บวชชาวศากยะเนปาลปีละ 2 รุ่น ส่งเสริมให้ทุนทุกปี ช่วยเหลือพระนักศึกษาไทยที่ขาดแคลน
งานด้านสาธารณูปการ กล่าวกันว่าท่านเป็นช่างเอก สร้างวัดนาลันทา วัดจีน วัดกุสินารา และเป็นประธานดูแลการก่อสร้างวัดไทยลุมพินี ซึ่งทุนที่ได้มาทั้งจากผู้มีจิตศรัทธาเดินทางไปกราบสังเวชนียสถานและรัฐบาลไทย
ด้วยแรงอุตสาหะที่มุ่งจรรโลงศาสนา จึงสร้างสืบมาตามลำดับ หากนับได้ อาทิ สระน้ำ อุโบสถ กำแพง โรงครัว ศาลาเวฬุวันเมืองราชคฤห์ สำนักงานวัดไทยพุทธคยา เขียนภาพพระมหาชนกภายในพระอุโบสถ ติดกระจกช่อฟ้า ซึ่งอุปกรณ์ทุกอย่างหายากยิ่ง
งานด้านสาธารณสงเคราะห์ จัดแจกยาให้คนไข้อินเดียทุกวัน วันละประมาณ 100 คน แจกเสื้อผ้าแก่คนยากจน ข้าวสาร ถั่วดาล โดยอาศัยแรงบุญจากผู้จาริกแสวงบุญเป็นกฎเกณฑ์
ด้านการเผยแผ่ ท่านมักเป็นไกด์นำชมพุทธสังเวชนียสถาน อีกทั้งเป็นวิทยากรอบรมธรรมทูตอินเดีย โดยอาศัยแรงพระนักศึกษากว่า 500 รูปในเวลานี้ เป็นธรรมทูตรุ่นเยาว์ ทั้งเฝ้าให้กำลังใจแนะนำ
ความงดงามแห่งศีลาจารวัตร หลวงพ่อทองยอดยังยืนหยัดตามรอยธรรมแห่งพระพุทธองค์อย่างมั่นคง
นับเป็นความสูญเสียปูชนียบุคคลด้านพระธรรมทูตของคณะสงฆ์ไทยโดยแท้
|
Update : 5/6/2554
|
|