ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน ที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย มลพิษรอบตัวที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่สูงลิ่ว จิตใจคนก็ร้อนรนและเร่งรีบ บางคนอาจจะยังคงดำเนินชีวิตต่อไปตามที่เคยทำ โดยไม่แยแสกับความเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมไปของสิ่งรอบตัว แต่สำหรับพระปลัดสมบูรณ์ สุมังคโล อายุ ๕๓ ปี พรรษาที่ ๒๖ เจ้าอาวาสวัดป่าลานหินตัด สายตรี ๓ ต.ปราสาท อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ท่านไม่ได้ยอมจำนนต่อสภาพการณ์เหล่านี้เลย ภาพของหลวงพ่อนพพระ เณร ผู้ใหญ่ และเด็กปั่นจักรยาน ขบวนยาวเหยียดเป็นภาพที่คุ้นตากันดีสำหรับชาว อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ แต่อาจไม่คุ้นตาสำหรับคนในพื้นที่อื่นๆ และยังเป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับพระวินัยอีกด้วย
สำหรับเรื่องพระวินัยนี้ พระผู้ใหญ่หลายท่านได้ให้การรับรองแล้วว่าไม่ผิดแน่นอน โดยเฉพาะพระที่ผ่านการเรียนจากมหาวิทยาลัยในอินเดียทุกรูป ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปั่นจักรยานไปเรียนกันทุกรูป ที่สำคัญคือ การปั่นจักรยานของพระสงฆ์นั้น ก็ไม่เป็นการเสียหายต่อคณะสงฆ์หรือชาวบ้านใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่จะเป็นการดีทั้งต่อสุขภาพของพระเอง ดีต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อสังคม ดีในการประหยัดค่าน้ำมัน กรณีที่ปั่นจักรยานแทนการขับรถยนต์
นอกจากจะศึกษาปฏิบัติธรรมโดยส่วนตนแล้ว หลวงพ่อสมบูรณ์เป็นพระนักพัฒนาท่านยังอุทิศแรงกายแรงใจในงานปลูกจิตสำนึกสาธารณะให้แก่เด็กๆ ชาวบ้านใกล้ๆ วัด และประชาชนทั่วไปอีกด้วย
หลังจากพาเด็กๆ ไปเรียนรู้นอกสถานที่เสร็จแล้ว หลวงพ่อจะสอนธรรมะแก่เด็กๆ พานั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม และกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ใช้จินตนาการสร้างสรรค์งานศิลปะอีกด้วย
หลวงพ่อสมบูรณ์ บอกว่า เริ่มปั่นจักรยานครั้งแรกก็เมื่อต้องไปสอนหนังสือเด็กๆ ที่โรงเรียนซึ่งอยู่ห่างจากวัดไป ๓ กม. ครูทั้งโรงเรียนมีแต่ผู้หญิง ไม่มีใครขับรถมารับท่าน ท่านจึงต้องปั่นจักรยานไปสอน และนั่นเอง เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดดีๆ ที่หลวงพ่อนำมาใช้ดึงเด็กๆ เข้าวัดเข้าหาธรรมะ
ที่วัดป่าลานหินตัด โยมยายคนหนึ่ง อายุ ๗๒ ปี บ้านยายอยู่ห่างจากวัดประมาณ ๒ กม. ทุกวันก่อนนั้น ยายจะต้องรอให้ลูกหลานขับรถมาส่งยายที่วัดเพื่อทำบุญ ปัจจุบันโยมยายไม่ต้องง้อไม่ต้องรอลูกหลานเพื่อจะมาวัดอีกแล้ว เพราะหลวงพ่อได้ให้จักรยานยายมาหนึ่งคัน ยายปั่นจักรยานสีแดงคันนั้นมาวัดได้เองทุกเช้า เราจึงได้ความรู้ใหม่จากโยมยายด้วยว่า การปั่นจักรยาน ช่วยรักษาอาการปวดเข่าของยายได้ด้วย
หลวงพ่อสมบูรณ์ให้คติธรรมทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า “การปั่นจักรยานนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของความพอเพียง เป็นการพึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง เป็นการทำชีวิตให้ช้าลง ร่างกายจะแข็งแรง จิตใจจะเข้มแข็งและเบิกบาน เป็นการสร้างฉันทะด้วยจักรยาน สร้างสมาธิ และปัญญา ด้วยกิจกรรม ในสถานการณ์ภาวะโลกร้อนแบบนี้ การปั่นจักรยาน นอกจากจะเป็นการเจริญสติบนอานจักรยานเพื่อลดความเร่งร้อนในใจแล้ว ก็ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีเป็นที่สุดด้วย ความดีของการปั่นจักรยานที่มากมายถึงเพียงนี้ จักรยานจึงเป็นยานพาหนะที่เหมาะสมกับยุคนี้ที่น่าจะใช้ได้ทั้งพระทั้งโยม”
ทุกวันนี้ ที่วัดป่าลานหินตัดมีจักรยานประมาณ ๑๐๐ คัน ซึ่งเป็นจักรยานเก่าที่ญาติโยมบริจาคทำบุญ รวมทั้งหลวงพ่อซื้อมา ที่สำคัญคือ หลวงพ่อจะซ่อมเองทุกคัน
เพื่อความแข็งแรงและใช้งานได้จริง สิ่งที่ยังขาดอยู่ คือ จักรยานสำหรับเด็กๆ ที่มีอยู่กว่า ๑๐ คันเท่านั้น สำหรับญาติโยมท่านใดมีจักรยานเก่าที่ไม่ใช้แล้ว และอยากร่วมสานปณิธานบุญกับหลวงพ่อ สอบถามได้ที่ วัดป่าลานหินตัด โทร.๐๘-๕๖๖๘-๓๗๑๐ หรือ email : [email protected]
“จักรยาตรา”
“จักรยาตรา” คือ กิจกรรมเดินทางด้วยจักรยาน เพื่อการรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม และการพึ่งพาตนเอง พระปลัดสมบูรณ์ สุมังคโล วัดป่าลานหินตัด บ้านสายตรี ๓ บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ เป็นผู้ริเริ่ม และดำเนินการโครงการ "จักรยาตรา” และอีกหลากหลายกิจกรรมเพื่อชุมชน เพื่อสิ่งแวดล้อม
วัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกแห่งการพึ่งพาตนเองได้ สำนึกในปัญหาสิ่งแวดล้อม เรียนรู้และรักในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตนเอง ฝึกหัดความสามารถทางศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และพุทธธรรม ผ่านการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมตามแนวคิดการศึกษาทางเลือก
บนพื้นฐานความคิดของความพอเพียง การพึ่งพาตนเอง และการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม หลวงพ่อตั้ง "ชมรมจักรยานเด็กใจวิเศษ” ขึ้นเพื่อนำให้เด็กๆ ได้มีกิจกรรมทำร่วมกับวัดในวันหยุดเรียน
ทุกๆวันเสาร์ หลวงพ่อจะขี่จักรยาน พาเด็กๆ ไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น
-ปั่นจักรยานไปพบปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ โดยตรง จากผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น
-ปั่นจักรยานไปในสถานที่สาธารณะต่างๆ เพื่อเก็บขยะ และทำความสะอาดสถานที่
-เล่นเกมสร้างสรรค์และหัดสร้างงานศิลปะ
-ปั่นจักรยานไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ หรือวัด เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์วัฒณธรรม ท้องถิ่น และเรียนรู้ธรรมะ
-สร้างบ้านหรือกุฎีพระ ด้วยดิน
-เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบ "เศรษฐกิจพอเพียง” และเกษตรอินทรีย์ จากชาวชุมชนเมฆาอโศก
-เรียนรู้การจัดการกับขยะในโครงการธนาคารขยะ.
-ถวายเทียนและสังฆทานตามวัดต่างๆ ในช่วงเข้าพรรษา
ที่ผ่านมา จักรยาตรามีผู้ร่วมขบวนมากที่สุดกว่า ๑๐๐ คน เป็นพระเณรครึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นญาติโยม ส่วนระยะทางเคยขี่ไกลสุด คือ ๒๐๐ กิโลเมตร จาก อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ลัดเลาะตามตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา ไปสิ้นสุดที่ อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ระยะทางประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม หลังลอยกระทงปี ๒๕๕๔ นี้ หลวงพ่อสมบูรณ ตั้งใจว่าจะเดินทางด้วยจักรยาน ๒,๖๐๐ กิโลเมตร เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒,๖๐๐ ปี ในโครงการ “พุทธชยันตี” โดยมีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดที่วัด ผ่านไปหลายจังหวัด เช่น นครราชสีมา ลพบุรี สระบุรี อยุธยา อ่างทอง ถึงเชียงใหม่ แล้วลัดเลาะตามริมแม่น้ำโขง มาสิ้นสุดที่วัด ใช้เวลาประมาณ ๒ เดือน ระหว่างทางจะแวะสวดมนต์ นั่งสมาธิ และกิจกรรมทางธรรมต่างๆ รวมทั้งรณรงค์เรื่องปั่นจักยานและปลูกต้นไม้
"การปั่นจักรยาน นอกจากจะเป็นการเจริญสติบนอานจักรยาน เพื่อลดความเร่งร้อนในใจแล้ว ก็ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีเป็นที่สุดด้วย จักรยานจึงเป็นยานพาหนะที่เหมาะสมกับยุคนี้ที่น่าจะใช้ได้ทั้งพระทั้งโยม"