หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ทหารไทยในสงครามเกาหลี /11

    การปฏิบัติการของเรือหลวงประแส

    การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑ - ๖  (๑๑ มกราคม - ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๙๕)
    ปฏิบัติการคุ้มกันขบวนเรือลำเลียงที่เดินทางไปยังอ่าววอนชาน และซองจิน
    การผลัดเปลี่ยนกำลังพล
                ทหารประจำเรือรุ่นที่ ๔ ชุดที่ ๑ จำนวน ๑๖๓ คน เดินทางมาถึงฐานทัพเรือซาเซโบ เมื่อ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๙๕ หลังจากที่ได้ดำเนินกรรมวิธีต่าง ๆ แล้วได้ลงประจำเรือ เมื่อ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๙๕
    การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๗ - ๘ (๕ มิถุนายน - ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๕)
                ปฏิบัติการคุ้มกันขบวนเรือลำเลียงที่บริเวณเกาะอูลลัง อ่าววอนชาน และซองจิน
    การผลัดเปลี่ยนกำลังพล
                กำลังพลรุ่นที่ ๒ ชุดที่ ๒ จำนวน ๗๐ คน โดยสารรถไฟจากเมืองโยโกฮามา
    การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๙ - ๑๒  (๑๔ พฤษภาคม - ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๕)
                ปฏิบัติการคุ้มกันเรือลำเลียงเดินทางไปอ่าววอนชาน และซองจิน ระดมยิงฝั่งที่หมายรถไฟ ลาดตระเวณ รักษาการณ์ในอ่าววอนชานเหนือเกาะชิน ด้านใต้บริเวณตะวันออกของแหลมกัลมากัก ลาดตระเวณเหนือเกาะอัง เกาะโย เมืองฮุงนำ คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์
    การเข้าอู่ซ่อมที่ฐานทัพเรือโยโกสุกะ
                ใช้เวลาซ่อม ๑๐ สัปดาห์ ค่าซ่อม ๔๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ
    การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๓ - ๑๔  (๒๗ กุมภาพันธ์ - ๘ มีนาคม ๒๔๙๖)
                การปฏิบัติการคุ้มกันขบวนเรือลำเลียงไปยังอ่าววอนชาน และคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน
    การผลัดเปลี่ยนกำลังพล
                ผู้บังคับการเรือหลวงประแสคนใหม่ พร้อมด้วยกำลังพล รุ่นที่ ๕ ชุดที่ ๑ จำนวน ๒๐๕ คน เดินทางมาผลัดเปลี่ยน แล้วลงประจำเรือ เมื่อ ๑๔ มีนาคม ๒๔๙๖ และรุ่นที่ ๕ ชุดที่ ๒ จำนวน ๒๑๔ คน เดินทางมาถึง เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๔๙๖
    การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๕ - ๒๒  (๒๗ มีนาคม - ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๖)
                ปฏิบัติการคุ้มกันเรือลำเลียงไปส่งยุทธสัมภาระให้กับเรือรบในพื้นที่ปฏิบัติการ ทางฝั่งทะเลด้านตะวันออกของเกาหลีเหนือ คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันเดินทางไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้ หมู่เรือพิฆาต และเรือลาดตระเวณที่กำลังปฏิบัติการอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือ คุ้มกันขบวนเรือลำเลียงไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิง สรรพาวุธ และพัสดุให้กับกองเรือเฉพาะกิจที่ ๗๗ คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ
    การเดินทางกลับมาผลัดเปลี่ยนกำลังพลในไทยครั้งแรก
                ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ เรือหลวงประแสออกเดินทางจากฐานทัพเรือซาเซโบ ถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ๙ ธันวาคม ๒๔๙๖ หลังจากผลัดเปลี่ยนกำลังพลประจำเรือส่วนหนึ่งแล้วก็เดินทางกลับไปเกาหลี ถึงฐานทัพเรือซาเซโบเมื่อ ๓ มกราคม ๒๔๙๗
    การปฏบัติการ ครั้งที่ ๒๓ - ๒๙  (๙ มกราคม - ๒๐ เมษายน ๒๔๙๗)
                การปฏิบัติการคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน และเรือลำเลียงไปปฏิบัติการในน่านน้ำเกาหลีเหนือ คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้กองเรือเฉพาะกิจที่ ๗๗ คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้เรือรบในพื้นที่ปฏิบัติการ
    การเดินทางกลับมาผลัดเปลี่ยนกำลังพลในประเทศไทยครั้งที่ ๒
                เรือหลวงประแสออกเดินทาง เมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๙๗ ถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ๕ กรกฎาคม ๒๔๙๗ ผู้บังคับการเรือคนใหม่เข้ารับหน้าที่ ทหารประจำเรือรุ่นที่ ๖ ชุดที่ ๒ ผลัดเปลี่ยนรับ - ส่งหน้าที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๙๗ ออกเดินทางจากประเทศไทย ถึงฐานทัพเรือซาเซโบ เมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๗
    การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๓๐ - ๓๒  (๗ สิงหาคม - ๓๐ กันยายน ๒๔๙๗)
                ปฏิบัติการคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ให้แก่เรือในพื้นที่ปฏิบัติการ คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้เรือพิฆาตสหรัฐฯ ในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
    การเดินทางกลับประเทศไทย
                เนื่องจากการเจรจาสงบศึกเป็นที่ตกลงกันได้แล้ว และได้มีการลงนามร่วมกันในความตกลงสงบศึก เมื่อ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๗ สถานการณ์รบในเกาหลีสงบลงมากแล้ว ชาติพันธมิตรหลายชาติที่ไปร่วมรบในสงครามเกาหลี เริ่มถอนกำลังกลับ ประกอบกับในปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๗ สถานการณ์ในอินโดจีนฝรั่งเศสตึงเครียดหนัก มีการสู้รบระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดมินห์ และมีทีท่าว่าภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ อาจลุกลามถึงประเทศไทยได้ รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายถอนกำลังทหารกลับ โดยได้ปรึกษาหารือกับกองบัญชาการสหประชาชาติ เมื่อได้รับคำยืนยันว่าไม่ขัดข้องแล้ว กระทรวงกลาโหมจึงได้มีคำสั่ง เมื่อ ๖ มกราคม ๒๔๙๘ ให้ถอนทหารบางส่วนกลับประเทศไทย
                สำหรับกำลังทางเรือกำหนดให้ ถอนกำลัง มส.พร้อมด้วยเรือหลวงท่าจีน เรือหลวงประแส และให้เรือหลวงทั้งสองลำ ทำหน้าที่คุ้มกันเรือลำเลียงทหารบกในระหว่างเดินทางกลับด้วย
                วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๙๘ เรือหลวงทั้งสองลำได้อำลากองเรือสหประชาชาติ ออกเดินทางจากฐานทัพเรือซาเซโบ ไปยังเมืองท่าปูซานเพื่อรับเรือสินค้าอิโกะ ซึ่งลำเลียงกำลังพลทหารไทยผลัดที่ ๖ (หย่อน ๑ กองร้อย) แล้วทำการคุ้มกันระหว่างเดินทางกลับประเทศไทย ถึงท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๘ จากนั้นกำลังพลได้เดินทางไปร่วมพิธีสวนสนาม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานในพิธี
                หมู่เรือปฏิบัติการร่วมกับสหประชาชาติ (มส.) สิ้นสุดภารกิจ รวมระยะเวลาที่ไปปฏิบัติการ ๔ ปี ๓ เดือน ๑๘ วัน

    การปฏิบัติการของทหารอากาศ

                ในขั้นต้น กองทัพอากาศได้พิจารณาที่จะจัดส่งฝูงบินสื่อสาร ไปร่วมปฏิบัติการกับกองบัญชาการสหประชาชาติ แต่ได้ยกเลิกไปและได้ส่งกำลังไปร่วมปฏิบัติการรวม ๒ หน่วย คือ หน่วยพยาบาลทางอากาศ และหน่วยบินลำเลียง


    หน่วยพยาบาลทางอากาศ

                กองบัญชาการสหประชาชาติ ได้กำหนดนโยบายการส่งกลับทหารบาดเจ็บ และป่วยไข้ในสงครามเกาหลีไว้ว่า จะได้รับการรักษาพยาบาลขั้นต้น ที่โรงพยาบาลสนามในเกาหลีก่อน ต่อจากนั้นจะส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลทหารต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ในระยะเวลา ๑๒๐ วัน ให้นำกลับไปรักษาต่อที่ประเทศของตน
                ทางการไทยได้รับคำแนะนำจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ภาคตะวันออกไกล (Fae Eastern Air Force:FEAF) ให้จัดชุดพยาบาลส่งกลับทางอากาศ (Medica Air Evacuation Team) สำหรับดูแลรักษาผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ในระหว่างการเดินทาง จากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย
                ชุดพยาบาลส่งกลับทางอากาศจัดไว้ ๓ ชุด ๆ ละ ๒ คน โดยส่งไปประจำอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ๒ ชุด อีก ๑ ชุดสำรองอยู่ที่ประเทศไทย ในการนี้กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ใช้เครื่องบินของหน่วยบริการขนส่งทางอากาศสหรัฐฯ (MATS) ในสายที่เรียกว่า Embassy Flight  ซึ่งบินในเส้นทางระหว่าง โตเกียว - โอกินาวา - มะนิลา -ไซ่ง่อน - กรุงเทพฯ - พม่า - กัลกัตตา - นิวเดลี - ไคโร  สำหรับการส่งกลับผู้ป่วยเจ็บได้เดือนละ ๒ เที่ยวบิน ๆ ละไม่เกิน ๖ คน พร้อมด้วยชุดพยาบาลทางอากาศ ๑ ชุด โดยให้เริ่มตั้งแต่เดือน ธันวาคม ๒๔๙๓ เป็นต้นไป
                การปฏิบัติงานมิได้จำกัดต่อทหารไทยเท่านั้น แต่ยังต้องปฏิบัติงานร่วมกับแพทย์และพยาบาลสหรัฐฯ ในการรักษาพยาบาลทหารกองกำลังสหประชาชาติ ระหว่างเดินทางจากเกาหลีใต้ไปยังโรงพยาบาลทหารสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นด้วย ต้องช่วยปฏิบัติงานในหน่วยคัด แยกเพื่อส่งกลับทางอากาศ (Medical Air Evacuation Separation) โดยจัดพยาบาลไปประจำที่สนามบินเพื่อช่วยคัดแยก ผู้ป่วยเจ็บที่มาจากเกาหลีใต้เข้าตามโรงพยาบาลต่าง ๆ
                ชุดพยาบาลทางอากาศ รุ่นที่ ๑ ชุดที่ ๑ และ ๒ ออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๙๓ โดยเครื่องบินของหน่วยบริการขนส่งทางอากาศสหรัฐฯ ไปยังกรุงโตเกียว ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๔ หน่วยนี้ได้ใช้สำนักงานร่วมกับสำนักงานนายทหารติดต่อ ประจำกองบัญชาการสหประชาชาติ ในกรุงโตเกียว และตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ - ๒๕๑๙ สำนักงานกับที่พักแพทย์พยาบาลทั้งหมดได้ย้ายไปอยู่ในฐานบินตาชิกาวา
    การจัดชุดพยาบาลทางอากาศ และการผลัดเปลี่ยน

                ชุดพยาบาลทางอากาศไปปฏิบัติราชการในสงครามเกาหลี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๕๑๙ รวม ๒๙ รุ่น ในห้วงปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๘ ซึ่งมีสถานการณ์รบ และยังคงมีกองกำลังของประเทศพันธมิตรอยู่นั้น หน่วยพยาบาลทางอากาศรุ่นที่ ๑ - ๖ จำนวนเจ้าหน้าที่รุ่นละ ๗ คน แบ่งเป็น ๓ ชุด ๆ ละ ๒ คน ประกอบด้วยแพทย์ ๑ คน พยาบาล ๑ คน และมีแพทย์เป็นหัวหน้าชุดอีก ๑ คน
                หลังจากที่ได้มีการลงนามในความตกลงสงบศึก เมื่อ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๖ สถานการณ์รบในเกาหลีสงบลง บรรดาชาติพันธมิตร เริ่มถอนกำลังกลับประเทศตน กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งเมื่อ ๖ มกราคม ๒๔๙๘ ให้ถอนทหารบางส่วนกลับประเทศไทย โดยให้กองทัพอากาศ ถอนเจ้าหน้าที่หน่วยพยาบาลทางอากาศกลับ ให้เหลือกำลังไว้เพียง ๑ ชุด (๓ คน) เพื่อช่วยเหลือทหารบกไทยที่คงอยู่อีก ๑ กองร้อย กับหน่วยบินลำเลียง ดังนั้นการจัดชุดพยาบาลทางอากาศ จึงเป็นดังนี้
                รุ่นที่ ๗ - ๑๕ (พ.ศ. ๒๔๙๘ - ๒๕๐๕) ประกอบด้วย แพทย์ ๒ คน และพยาบาล ๑ คน โดยมีแพทย์คนหนึ่งเป็นหัวหน้าชุดพยาบาลทางอากาศ
                รุ่นที่ ๑๖ - ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๕ - ๒๕๑๖) ประกอบด้วยแพทย์ ๑ คน พยาบาล ๑ คน
                รุ่นที่ ๒๗ - ๒๙ (พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๙) คงเหลือแพทย์ ๑ คน เนื่องจากประเทศไทยได้ถอนกำลังทางบก ๑ กองร้อยกลับ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ คงเหลือกำลัง ๑ หมู่เกียรติยศ และหน่วยบินลำเลียงประจำอยู่ที่ญี่ปุ่นเท่านั้น
                กองทัพอากาศได้กำหนดให้หน่วยพยาบาลทางอากาศรุ่นที่ ๑ - ๓ ปฏิบัติงานในสงครามเกาหลีเป็นเวลา ๑ ปี และตั้งแต่รุ่นที่ ๔ - ๑๓ ได้ลดระยะเวลาลงเหลือ ๖ เดือน รุ่นที่ ๑๔ - ๒๙ เห็นว่าไม่มีสถานการณ์รบ จึงได้กลับมาเป็น ๑ ปีตามเดิม
    การปฏิบัติงานของชุดพยาบาลทางอากาศ
                รุ่นที่ ๑ เริ่มปฏิบัติงานครั้งแรกเมื่อ ๑๑ มกราคม ๒๔๙๔ โดยดูแลทหารไทยที่ป่วยเป็นโรคหิมะกัด ๖ คน เดินทางกลับประเทศไทย
               ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - กลางปี พ.ศ. ๒๔๙๖ สถานการณ์ในเกาหลีใต้ยังรุนแรงอยู่ จำนวนทหารบาดเจ็บค่อนข้างสูง การส่งกลับจึงมีบ่อยครั้ง ในรุ่นที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๙๔ ส่งกลับ ๒๕ ครั้ง จำนวน ๘๘ คน รุ่นที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๕ ส่งกลับ ๒๐ ครั้ง จำนวน ๑๑๐ คน และได้ลดลงมาตามลำดับจนไม่มีเลย ในรุ่นหลัง ๆ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๒ - ๒๕๑๙
                ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้ถอนกำลังหน่วยบินลำเลียงกลับ รุ่นที่ ๒๙ เป็นชุดสุดท้าย ได้เดินทางกลับพร้อมหน่วยบินลำเลียง เมื่อ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๙ รวมหน่วยพยาบาลทางอากาศที่ส่งไปปฏิบัติการทั้งสิ้น ๒๙ รุ่น เป็นแพทย์และพยาบาล ๙๔ คน ปฏิบัติงานในประเทศญี่ปุ่น ๒๕ ปี ๘ เดือน ๕ วัน การปฏิบัติงานได้ผลดีมาก ได้รับคำชมเชยจากหน่วยงานด้านเสนารักษ์ของกองทัพสหรัฐฯ มาโดยตลอด


    หน่วยบินลำเลียง

                กองทัพอากาศได้จัดเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๔๗ จำนวน ๓ เครื่อง พร้อมด้วยกำลังพล ๑๗ คน ประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยซึ่งเป็นนักบิน ๑ คน นักบิน ๘ คน ช่างอากาศ ๔ คน และเจ้าหน้าที่สื่อสาร ๔ คน ตามที่ได้รับคำแนะนำจากคณะที่ปรึกษา และช่วยเหลือทางทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ต่อมาได้พิจารณาเพิ่มอีก ๒ คน รวมเป็น ๑๙ คน คือนายทหารฝ่ายการเงิน ๑ คน และเสมียน ๑ คน
                กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่ง เมื่อ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๙๔ ให้กองทัพอากาศส่งหน่วยบินลำเลียงกับหน่วยพยาบาลทางอากาศไปปฏิบัติการร่วมกับ
    กองบัญชาการสหประชาชาติ ตั้งแต่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๙๔ เครื่องบินทั้งสามลำบินตามเส้นทาง กรุงเทพฯ - ตูราน - ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ คลาร์ก (Clark Field) กรุงไทเป - เกาะโอกินาวา - กรุงโตเกียว ถึงกรุงโตเกียว เมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๙๔ ณ ฐานบินตาชิกาวา
        ภารกิจที่ได้รับมอบ มี ๖ ประการด้วยกันคือ
                ๑  การขนส่งทางอากาศ ได้แก่การส่งกลับทหารบาดเจ็บและป่วยไข้ การลำเลียงทหารและพลเรือนระหว่างสนามบินต่าง ๆ ในเกาหลีใต้ และระหว่างสนามบินทหารในญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ การลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ การขนส่งสัมภาระทางอากาศ ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้
                ๒  การบินขนส่งไปรษณีย์สำหรับกองกำลังสหประชาชาติ เป็นประจำทุกสัปดาห์ จัดเที่ยวบินเป็น ๓ สาย
                       สายที่ ๑ เส้นทาง ฐานบินตาชิกาวา - อิตาสุะเกะ - ปูซาน
                       สายที่ ๒ เส้นทาง ฐานบินตาชิกาวา - อิตาสุะเกะ - ฐานบินเช็กชาโดบนเกาะคิวชิว
                       สายที่ ๓ เส้นทาง ฐานบินตาชิกาวา - โอกินาวา - ไทเป - ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ คลาร์ก
                ๓  การบินสนับสนุนการฝึกพลร่มของทหารสหรัฐฯ
                ๔  การขนส่งทหารบกไทย ที่ปฏิบัติการอยู่ในเกาหลีใต้เดินทางไป - กลับ กรุงโตเกียว ตามโครงการพักผ่อน และฟื้นฟูของสหประชาชาติ (R&R)
                ๕  การสนับสนุนนักบินต้นหน และช่างเครื่องไปร่วมปฏิบัติงานกับ เจ้าหน้าที่ในหน่วยบินลำเลียงสหรัฐฯตามที่ได้รับคำสั่ง
                ๖  การบินขนส่งบรรเทาสาธารณภัยให้แก่ทางการญี่ปุ่น เมื่อเกิดภัยธรรมชาติตามที่ได้รับการร้องขอ
    การปฏิบัติการของหน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๑
                หน่วยบินลำเลียงของไทยขึ้นการบังคับบัญชาอยู่ในฝูงบินลำเลียงที่ ๒๑ ( ๒๑ st Troop Carrier SQuadron) สังกัดกองบินใหญ่ลำเลียงที่ ๓๗๔ กองบินที่ ๓๑๕ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นฝูงบินลำเลียงเดียวที่ใช้ เครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๔๗ ในสงครามเกาหลี
                ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๙๔ หน่วยบินลำเลียงของไทย ได้เคลื่อนย้ายไปประจำที่ฐานบิน อาชิยา (Ashiya Air Base) เมืองฟูกุโอกะ บนเกาะคิวชิว ห่างจากคาบสมุทรเกาหลีเป็นระยะเวลาบิน ๔๕ นาที
                ๑๘ ตุลาคม ๒๔๙๔ หน่วยบินลำเลียงของไทยย้ายกลับมาประจำอยู่ที่ฐานบินตาชิกาวา เนื่องจากหน่วยเหนือย้ายไปเพื่อให้ปฏิบัติการลำเลียงให้กับหน่วยรับการสนับสนุนในยุทธบริเวณอย่างใกล้ชิด และได้รับภารกิจเพิ่มเติม ๓ ประการคือ
                ๑ การลำเลียงกระสุน และวัตถุระเบิดไปส่งให้ตามฐานบินต่าง ๆ ในเกาหลีใต้
                ๒ การลำเลียงขนส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ จากที่ทำการไปรษณีย์ทหาร จากฐานบินตาชิกาวา ไปส่งตามสนามบินฐานบิน และฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในเกาหลีใต้
                ๓ การตรวจสอบสภาพสนามบินในญี่ปุ่น และสมรภูมิเกาหลี เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
                ๒ พฤษภาคม ๒๔๙๕ กำลังพลชุดที่ ๒ ได้เดินทางไปผลัดเปลี่ยน โดยทำการผลัดเปลี่ยนเป็น ๒ รุ่น การผลัดเปลี่ยน รุ่นที่ ๒ เสร็จในกลางเดือนมิถุนายน ๒๔๙๕
                สถิติการปฏิบัติงานของ ชุดที่ ๑ ตั้งแต่ สิงหาคม ๒๔๙๔ ถึงกลางเดือนมิถุนายน ๒๔๙๕ มีการปฏิบัติการ ๔๐๐ เที่ยวบิน ผู้โดยสาร ๑,๐๔๓ คน ผู้ป่วย ๓๖๐ คน น้ำหนักบรรทุก ๑,๕๗๕,๐๐๐ ปอนด์


    • Update : 1/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch