|
|
วิถีแห่งการปฏิบัติ พระอาจารย์ชา สุภัทโท
วิถีแห่งการปฏิบัติ พระอาจารย์ชา สุภัทโท
เสฐียร จันทิมาธร
พลันที่คำว่า จิตเดิมแท้ ปรากฏขึ้นในธรรมเทศนาของ พระอาจารย์ชา สุภัทโท ก็ก่อให้บังเกิดนัยประหวัดไปยัง เว่ยหล่าง
เป็น เว่ยหล่าง อัน พุทธทาสภิกขุ แปลและเรียบเรียงมาเป็นภาษาไทย
ขณะเดียวกัน ก็บังเกิดนัยประหวัดไปยังคำพื้นฐานที่ว่า จิตเป็นประภัสสร งดงามอย่างยิ่งเมื่อมีการเปรียบเทียบ
นั่นก็คือ จิตบริสุทธิ์ จิตงดงาม
แต่ที่จิตต้องมีมลทินแปดเปื้อน ก็เพราะจิตถูกครอบงำด้วย อารมณ์ อันเนื่องแต่สัมผัสเข้ากับอายตนะทั้ง 6
ตรงนี้เองคือความสัมพันธ์ระหว่าง วัตถุ กับ จิต
วัตถุจากภายนอกเมื่อกระทบเข้ากับอายตนะทั้ง 6 ไม่ว่าจะเป็น ตาได้เห็นรูป หูได้ยินเสียง ลิ้นได้รู้รส จมูกได้รับรู้กลิ่น อะไรที่มาต้องกับกายและอารมณ์ที่เกิดกับใจ
จะเรียกว่า วัตถุ กำหนด จิต ก็ย่อมได้
ขณะเดียวกัน หากภายในจิตนั้นมีจินตภาพที่แน่นอนเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในกาละอันเหมาะสมหนึ่งก็สามารถชี้นำความรู้สึกให้เป็นไปตามความคิดรวบยอดนั้นได้
บางครั้ง วัตถุ กำหนด จิต ให้เป็นไป
ขณะเดียวกัน ในบางครั้ง จิต ก็มีพลังอย่างเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางวัตถุได้
ขอให้ศึกษาจากธรรมเทศนา พระอาจารย์ชา สุภัทโท
เมื่อจิตเป็นอย่างนี้อารมณ์ทั้งหลายที่มาพัด อารมณ์ดีก็ดี อารมณ์ชั่วก็ดี อารมณ์ทั้งหลายมาพัดมาไตร่ตรองเข้าไปก็ดี จิตมีความรู้สึกอย่างนั้น
จิตอันนี้ไม่เป็นอะไร คือไม่ได้หวั่นไหว
เพราะอะไร เพราะจิตนั้นรู้ตัว จิตนั้นสร้างความเป็นอิสระไว้ในตัวของมัน มันถึงสภาพของมัน ถึงสภาพอันเดิมของมัน
ทำไมมันถึงสร้างสภาพอันเดิมไว้ได้
คือ ผู้รู้พิจารณาอย่างแยบคายแล้วว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันเป็นอาการทางธาตุอันหนึ่งไม่ได้มีใครทำอะไรใคร
เหมือนกับสุขทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้แหละ เกิดขึ้นมามันก็สักแต่ว่าสุข มันก็สักแต่ว่าทุกข์
ไม่มีใครเป็นเจ้า ของสุข จิตก็ไม่ได้เป็นเจ้าของทุกข์
จิตก็ไม่ได้เป็นเจ้าของ ดูเอานั่น มันไม่ใช่เรื่องของจิตจะเอา มันคนละเรื่องคนละอย่าง สุขก็สักแต่ว่าสุขเฉยๆ ทุกข์ก็สักแต่ว่า ทุกข์เฉยๆ
ท่านเป็นผู้รู้เท่านั้น
แต่ก่อนนี้ เมื่อโลภะ โทสะ โมหะ มีมูลแล้วนะ พอเห็นก็รับเลย
สุขก็เอา ทุกข์ก็เอา เข้าไปเสวย
เราเป็นสุข เราเป็นทุกข์ ไม่หยุดไม่หย่อน
นั่นจิตยังไม่ทันรู้ตัว ยังไม่สว่างไสว ไม่มีอิสระ จิตไปตามอารมณ์
จิตไปตามอารมณ์ คือจิตเป็นอนาถา ได้อารมณ์ดีก็ดีไปด้วย มันลืมเจ้าของ
เจ้าของเดิมนั้นเป็นของที่ไม่ดี ไม่ชั่ว นี่อันเดิมของมัน
ถ้าจิตดีก็ดีไปด้วย นั่นคือมันหลง ถ้าจิตไม่ดีก็ไม่ดีไปด้วย จิตทุกข์ก็ทุกข์ไปด้วย จิตสุขก็สุขไปด้วย
ทีนี้เลยเป็นโลก
อารมณ์มันเป็นโลก ติดไปกับโลก ให้เกิดสุข ให้เกิดทุกข์ ให้เกิดดี ให้เกิดชั่ว ให้เกิดทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเป็นไปในของไม่แน่นอน
ถ้าออกจากจิตอันเดิมแล้วก็ไม่แน่นอนเลย
มีแต่เกิด มีแต่ตาย มีแต่หวั่นไหว มีแต่ทุกข์ยาก ลำบาก ตลอดสิ้นกาลนาน ไม่มีทางสิ้นสุดจบลงสักที
มันเป็นตัววัฏฏะทั้งนั้น
คําว่า "สักแต่ว่า" อันมาจากธรรมเทศนา พระอาจารย์ชา สุภัทโท มาก ด้วยความละเอียดอ่อน
เป็นสักแต่ว่าก็จริง แต่มิได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถ "สักแต่ว่า" ได้เหมือนกับไม่มีความหมายอะไรเลยในทางความคิด ในทางความรู้สึก
ต้องผ่านกระบวนการทางการปฏิบัติมาอย่างลึกซึ้งจึงจะสามารถ "สักแต่ว่า" ได้
|
Update : 30/5/2554
|
|