หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ทหารไทยในสงครามเกาหลี /6
    การปฏิบัติระหว่างเป็นกองหนุนของกองพลที่เมืองยอนชอน

                ในต้นเดือนตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้เคลื่อนย้ายกำลังจากค่ายเคซี ติดตามกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ไปตั้งอยู่ที่บริเวณพื้นที่ข้างหลังแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาโอลด์บอลดี ไม่มีการปฏิบัติการทางยุทธวิธี คงมีแต่การลาดตระเวณตรวจภูมิประเทศเป็นครั้งคราว ต่อมาได้กลับไปเป็นกองหนุนของกองพล กองพันทหารไทยจึงไปตั้งอยู่ที่เมืองยองชอน ส่วนกรมหทารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ตั้งต่อลงไปทางใต้ที่ตำบลทองดูซอน บริเวณค่ายเคซี
                วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งเตรียมให้เข้าประจำแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาพอร์คชอป ได้มีการไปตรวจภูมิประเทศก่อนขึ้นประจำแนว และในวันรุ่งขึ้น กองร้อยกำลังทดแทนของกองพัน ผลัดที่ ๓ ได้เดินทางมาถึง และกองร้อยกำลังทดแทนกองพันผลัดที่ ๒ เดินทางกลับปูซาน เพื่อเดินทางกลับประเทศไทยต่อไป
    การปฏิบัติการรบบนที่มั่นตั้งรับ แนวเจมส์ทาวน์ด้านเขาพอร์คชอป
                วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้ผลัดเปลี่ยนกับกองพันทหารสหรัฐฯ บนแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาพอร์คชอป มีเขตปฏิบัติการสำคัญคือ เขาพอร์คชอป (เขา ๒๕๕) กับเขาสนุ๊ค  (เขา ๑๘๗) ที่บังคับการกองพันอยู่ที่หมู่บ้านอันเยิง ส่วนกองร้อยกำลังทดแทน และคลังเก็บของอยู่ที่เมืองยอนชอน
                กองพันทหารไทยได้รับมอบภารกิจ ให้ยึดรักษาเขาพอร์คชอปไว้ให้ได้ โดยได้รับการยิงสนับสนุนด้วยอาวุธหนักจากกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ได้รับสนับสนุนรถถัง ๑ หมวด เครื่องยิงหนัก ๔.๒ นิ้ว ๑ หมวด และปืนต่อสู้อากาศยาน ๑ หมวด พื้นที่ปฏิบัติการที่กองพันทหารไทยได้รับมอบ มีความกว้างด้านหน้า ประมาณ ๓ กิโลเมตร จึงได้วางกำลัง ๓ กองร้อยในแนวหน้า จัดกองร้อยรักษาด่านรบที่หน้าแนว ๒ แห่งคือ ที่เขาพอร์คชอป มีกำลัง ๑ หมวดปืนเล็กเพิ่มเติมกำลัง และหมู่ตรวจการณ์หน้าปืนใหญ่ ๑ หมู่ ส่วนที่เขาสนู๊คมีกำลัง ๒ หมู่ปืนเล็ก

                พื้นที่ที่กองพันทหารไทยได้รับมอบอยู่บริเวณหน้าเขาทีโบน ภูมิประเทศสำคัญหน้าแนวคือ เขาพอร์คชอปกับเขาสนู๊ค เบื้องหน้าเขาพอร์คชอปเป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ที่ฝ่ายข้าศึกยึดอยู่ ๒ ลูกคือ เขาฮาร์คโกล และเขาโพลเค เขาพอร์คชอปตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองชอร์วอน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์เมืองหนึ่งของเกาหลี ลักษณะเป็นสันเขาโดดเดี่ยว ล้อมรอบด้วยหุบเขาสลับซับซ้อน สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๕๕ เมตร เป็นชัยภูมิที่ทั้งสองฝ่ายต้องการยึดเอาไว้เพื่อความได้เปรียบทางยุทธวิธี เพราะเป็นจุดคุมเส้นทางหลักที่จะเจาะเข้าถึงเมืองชอร์วอนทางทิศตะวันออก เมืองยอนชอนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่บริเวณเขาพอร์คชอปนี้ได้มีการแย่งยึดเปลี่ยนมือกันไปมา หลายครั้งของทั้งสองฝ่าย และครั้งสุดท้ายได้ตกเป็นของฝ่ายกองกำลังสหประชาชาติ
                หลังจากขึ้นประจำที่มั่น เมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยก็รีบดำเนินการปรับปรุงเส้นทางคมนาคม จากที่บังคับการกองพันไปยังที่มั่นบนเขาพอร์คชอป แต่ทำได้ไม่สดวก เพราะถูกข้าศึกยิงรบกวนตลอดเวลา จึงต้องใช้รถสายพานลำเลียงพล จากหน่วยเหนือมาใช้ พร้อมทั้งขอเครื่องทำควันขนาดใหญ่ มาใช้ปล่อยควันกำบังการตรวจการณ์ เพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ผ่านเส้นทางนี้เวลากลางวัน ดำเนินการปรับปรุงคูสนามเพลาะ และเครื่องกีดขวางประเภทลวดหนาม โดยเพิ่มแนวลวดหนามจากเดิม ๒ แนวเป็น ๔ แนว วางแผนการใช้ทุ่นระเบิด และหีบระเบิดนาปาล์มที่มีอานุภาพรุนแรงเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังได้จัดกำลังกองหนุนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน และจำเป็นโดยใช้กำลังจากกองร้อยกองบังคับการ และกำลังพลอืน ๆ ที่มิได้ติดพันการรบในขณะนั้น พร้อมกันนั้น ทางหน่วยเหนือก็ได้ออกคำแนะนำทางยุทธการ ให้หน่วยระดับกองพันจัดตั้ง ศูนย์ประสานการยิงช่วยขึ้น นับว่าเป็นการกระทำครั้งแรกในระดับกองพัน กองพันทหารไทยได้เตรียมการขอรับการสนับสนุนฉากการยิงคุ้มครอง เป็นวงแหวนรอบที่มั่นรักษาด่านรบเขาพอร์คชอป โดยขอให้ปืนใหญ่กองพลของกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ซึ่งมีอยู่ ๔ กองพัน วางฉากการยิงที่เรียกว่าวงแหวนเหล็กเอาไว้ เพื่อใช้ในกรณีที่ถูกข้าศึกเข้าตี ด้านการสื่อสารก็มีการวางข่ายการติดต่อสื่อสารให้แน่นแฟ้น ใช้การสื่อสารทางสายเป็นหลัก ได้จัดวางข่ายการสื่อสารไปยังจุดที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปยังเขาพอร์คชอปถึง ๗ ทางสาย โดยฝังสายลงใต้ดิน พาดไปบนพื้นดิน และขึงสายเหนือพื้นดิน
                นอกจากนี้ยังจัดกำลังออกลาดตระเวณหาข่าวประจำวัน ๆ ละ ๓ สาย มีการจัดหมวดรบพิเศษ (Ranger Platoon) ขึ้นเป็นครั้งแรก จากผู้อาสาสมัครซึ่งมีเป็นจำนวนมาก แต่คัดเลือกไว้ ๔๐ คน เพื่อใช้ในการลาดตระเวณรบลึกเข้าไปในแนวข้าศึก เพื่อจับเชลยตามคำแนะนำของหน่วยเหนือ
    การรบบนที่มั่นเขาพอร์คชอป ครั้งที่ ๑

                ในคืนวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๕ ฝ่ายข้าศึกประมาณ ๑ หมวด เคลื่อนที่เข้าจู่โจมที่ฟังการณ์สาย ๘ ทางมุมด้านทิศตะวันออกของเขาพอร์คชอป ศูนย์ประสานการยิงคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง จนข้าศึกต้องถอนตัวกลับไป ทิ้งศพผู้เสียชีวิตไว้เท่าที่ตรวจพบ ๑๐ ศพ ต่อมาเมื่อบ่ายวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ข้าศึกได้ยิงเตรียมมายังที่มั่นเขาพอร์คชอปด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงลูกระเบิด ฝ่ายเราได้รับความเสียหายมาก ตอนค่ำข้าศึกส่งกำลัง ๑ กองพัน เคลื่อนที่เข้าตี ๒ ทิศทาง ไปยังที่ฟังการณ์สาย ๔ และที่ฟังการณ์สาย ๘ ได้มีการต่อสู้กันในระยะประชิด จนต้องถอนตัวกลับเข้าที่มั่น ข้าศึกก็ได้เคลื่อนที่ติดตามมาอย่างกระชั้นชิด จนถึงบริเวณที่มั่นเขาพอร์คชอป จึงได้มีการยิงฉากวงแหวนทำลายข้าศึกที่เข้ามาถึงขอบที่มั่น จนข้าศึกต้องถอนตัวกลับไป การรบครั้งนี้ฝ่ายเราเสียชีวิต ๘ คน บาดเจ็บ ๑๗ คน ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิต ๕๐ คน พบร่องรอยการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักกว่า ๖๐๐ นัด ในบริเวณที่มั่นของฝ่ายเรา ในวันรุ่งขึ้นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้เดินทางมาเยี่ยมกองพันทหารไทย ได้แสดงความประทับใจอย่างมากที่ทหารไทยมีจิตใจห้าวหาญ แกร่งกล้า เป็นที่น่ายกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง และได้หนังสือชมเชยกองพันทหารไทยด้วย
                ต่อมากองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้ส่งทหารช่างพร้อมที่กำบังสำเร็จรูป (Prefabrication Sef) มาให้ ทำให้มีความมั่นคงแข็งแรงกว่าที่มีอยู่เดิม และปรับปรุงที่มั่นให้กลับสู่สภาพเดิม จากการเสียหายที่ข้าศึกเข้าตีในครั้งนี้
    การรบบนที่มั่นเขาพอร์คชอป ครั้งที่ ๒
                เมื่อ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. ฝ่ายข้าศึกได้ส่งหน่วยลาดตระเวณ ประมาณ ๑ หมวด เข้าโจมตีที่มั่นเขาพอร์คชอป โดยเข้าโจมที่ฟังการณ์หมายเลข สาย ๔ และสาย ๘ ได้ ข้าศึกได้ระดมยิงด้วยอาวุธประจำหน่วย และอาวุธประจำกายอย่างรุนแรง เพื่อพิสูจน์ทราบที่ตั้งฝ่ายเรา ทหารไทยในที่มั่นได้ยิงพลุส่องสว่างพร้อมกับขอการยิงสนับสนุนจาก หน่วยเครื่องยิงหนักของกองพัน ข้าศึกจึงถอนตัวกลับไป
                ต่อมา ระหว่าง ๐๑.๐๐ - ๐๒.๐๐ น.ฝ่ายข้าศึกทำการเข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอปอีกเป็น ๓ ระลอก ระลอกแรก ข้าศึกใช้กำลังประมาณ ๑ กองร้อย เข้าตีทางทิศตะวันตก ด้านที่ฟังการณ์ ๘ ระดมยิงด้วยอาวุธประจำกาย และประจำหน่วย พร้อมทั้งปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนัก ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที จึงหยุดการโจมตี แต่ยังคงระดมยิงด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักต่อไป ระลอกที่สอง เริ่มประมาณ ๐๑.๔๐ น. ข้าศึกใช้กำลังประมาณ ๑ กองร้อย เข้าตีทางทิศเหนือด้านที่ฟังการณ์ ๔ สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนัก และอาวุธนานาชนิด ฝ่ายเราต้านทานอย่างเหนียวแน่น จนข้าศึกต้องยุติการโจมตีเมื่อเวลา ๐๒.๑๕ น.และถอนตัวกลับไป ระลอกที่สาม เวลา ๐๒.๓๕ น. ข้าศึกใช้กำลังประมาณ ๒ หมวด เข้าตีทางด้านทิศตะวันตกด้านที่ฟังการณ์ ๘ อีกครั้งหนึ่ง ได้อาศัยความมืดคืบคลานเข้ามาใกล้ที่มั่นฝ่ายเรา จนถึงระยะใช้ระเบิดขว้างของทั้งสองฝ่าย ทหารไทยที่ประจำอยู่ ณ ที่ฟังการณ์ทั้งสามสาย ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวกลับเข้าที่มั่น ฝ่ายข้าศึกจำนวนมาก ได้ติดตามมาอย่างกระชั้นชิด จนมาถึงหน้าที่มั่นใหญ่ในพื้นที่การยิงฉาก ผู้บังคับที่มั่นจึงขอการยิงฉากวงแหวนเหล็ก ทำให้การเข้าตีของข้าศึกหยุดชะงัก และล่าถอยกลับไป ในการเข้าตีของข้าศึกครั้งนี้ ข้าศึกได้เปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ เพื่อหวังผลในการจู่โจม โดยไม่ใช้การยิงเตรียมเหมือนการเข้าโจมตีทั่วไป แต่ได้อาศัยความมืดเป็นเครื่องกำบัง หวังที่จะลอบเข้ามาใกล้ที่มั่น เพื่อหวังผลในการจู่โจม
                เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจการณ์ และเพื่อจำกัดเสรีในการเคลื่อนที่ของข้าศึก ฝ่ายเราได้ยิงพลุส่องแสงจากเครื่องยิงลูกระเบิด และจากปืนใหญ่แบบประสานส่องสว่างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ผลอย่างมากในการยับยั้งข้าศึก และยังเป็นการบำรุงขวัญฝ่ายเราได้เป็นอย่างดี
                การสูญเสียจากการที่ข้าศึกเข้าตีครั้งนี้ ฝ่ายเราเสียชีวิต ๕ คน บาดเจ็บ ๕ คน ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิต ๑๐ คน เท่าที่พบศพ และคาดว่าจะเสียชีวิตทั้งสิ้น ๕๐ คน บาดเจ็บประมาณ ๑๐๐ คน ฝ่ายเรายึดได้อาวุธยุทโธปกรณ์ของข้าศึกได้ จำนวนหนึ่ง
    การรบบนที่มั่นเขาพอร์คชอป ครั้งที่ ๓
                จากการเฝ้าตรวจการณ์ทางอากาศของหน่วยเหนือมีสิ่งบอกเหตุแสดงว่า ฝ่ายข้าศึกจะต้องเข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอปอีกครั้งอย่างแน่นอน ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าตีของข้าศึกสองครั้งที่ผ่านมา ได้มาปรับปรุงการตั้งรับของหน่วยให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะที่กำบังปิด ให้มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถต้านทานอาวุธหนักของข้าศึกได้ดีขึ้นกว่าเดิม และได้ปรับฉากการยิงวงแหวนเหล็กเสียใหม่ ให้สามารถทำลายข้าศึกที่เข้ามาหน้าที่มั่นระยะใกล้อย่างมีประสิทธผล
                ในการเข้าตีครั้งนี้ฝ่ายข้าศึกได้ยิงรบกวนด้วยอาวุธหนักชนิดต่าง ๆ ทั้งกลางวัน และกลางคืนเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน ในคืนที่สามคือ คืนวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ตอนค่ำ ข้าศึกได้ระดมยิงอย่างหนักด้วยเครื่องยิงหนักและปืนใหญ่ไปยังเขา อาร์เซนัล (Arsenal) และเขาเอียร์ (Eerie) ตรงปลายด้านใต้ของเขาทีโบน ซึ่งกองพันที่ ๑ สหรัฐฯ ยึดอยู่ แสดงที่ท่าว่าจะเข้าตีทางด้านนั้น แต่ไม่เข้าตี จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น. ได้ส่งกำลังส่วนหนึ่งเข้าตีทางด้านเขาโอลด์บอลดี ซึ่งกองพันทหารราบที่ ๓ ของสหรัฐฯยึดอยู่ และต่อมาได้ใช้กำลัง ๑ กองพัน พร้อมด้วยกองร้อยลาดตระเวณของกรม เคลื่อนที่เข้าสู่เขาพอร์คชอป ในการเข้าตีครั้งนี้ ข้าศึกได้ส่งกำลังเข้าตีถึง ๓ ระลอก ตลอดคืนคือ
                ระลอกแรก  เข้าตีเวลา ๒๓.๒๕ น. ใช้กำลัง ๒ กองร้อยเข้าตีทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ด้านที่ทำการสาย ๘ อย่างจู่โจม โดยไม่มีการยิงเตรียมด้วยปืนใหญ่ เมื่อกำลังจากที่ฟังการณ์ทั้งสามสายถอนตัวกลับที่มั่นแล้ว ได้มีการยิงอาวุธหนักทุกชนิดของฝ่ายเราเพื่อป้องกันที่มั่น พร้อมทั้งยิงพลุส่องสว่างทั้งจากกองร้อยอาวุธหนักของไทย และการทิ้งพลุส่องสว่างจากเครื่องบินฝ่ายเรา เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และทิ้งระเบิดทำลายเส้นทางรุกต่าง ๆ ของข้าศึก จนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ข้าศึกส่วนหน้าได้แทรกซึมถึงคูสนามเพลาะ ในเขตที่มั่นเขาพอร์คชอป เนื่องจากเครื่องกีดขวางที่กองพันทหารไทยทำไว้ถึง ๘ ชั้น ทำให้ข้าศึกไปติดอยู่แนวลวดหนาม และถูกยิงตาย ณ ที่นั้นเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีบางส่วนเข้าเล็ดลอดผ่านเข้าไปได้ จึงมีการต่อสู้กับทหารไทยถึงขั้นตะลุมบอนเป็นจุด ๆ ข้าศึกใช้ลูกระเบิดขว้างตามช่องที่กำบังปิด เช่นปล่องเตายิง ช่องยิง ช่องระบายอากาศ และประตูที่กำบังปิด รวมทั้งคูติดต่อที่ทหารไทยยึดอยู่ การต่อสู้ขั้นตะลุมบอนเป็นไปประมาณ ๒๐ นาที กองพันได้ส่งหมวดรบพิเศษเข้าไปเสริมกำลัง โดยเคลื่อนที่ฝ่าฉากการยิงของเครื่องยิงลูกระเบิด และปืนใหญ่เข้าไป จนเข้าไปถึงที่มั่นบนเขาพอร์คชอปได้เมื่อ เวลา ๐๐.๑๕ น. ขณะที่การสู้รบในระยะประชิดยังดำเนินต่อไป หลังจากการยิงกระสุนแตกอากาศของปืนใหญ่ฝ่ายเราเหนือที่มั่นสงบลงแล้ว หมวดรบพิเศษก็นำกำลังเข้าผลักดันข้าศึก ร่วมกับฝ่ายเราที่บนที่มั่นจนสามารถผลักดันให้ข้าศึก ถอยกลับไปด้วยความสูญเสียอย่างหนัก
                ระลอกที่สอง  เมื่อเวลา ๐๐.๒๐ น. ฝ่ายข้าศึกประมาณ ๑ กองพัน เข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอปอีกระลอก โดยเข้ามาถึงสามทิศทาง คือทางทิศเหนือตรงที่ฟังการณ์สาย ๔ ทางทิศตะวันออกตรงที่ฟังการณ์สาย ๒ และทางทิศตะวันตก ตรงที่ทำการสาย ๘ ฝ่ายเราได้ยิงพลุส่องสว่างจากกองร้อยอาวุธหนัก เพื่อช่วยในการตรวจการณ์อยู่ตลอดเวลา ฝ่ายเราได้ใช้เครื่องยิงลูกระเบิด และปืนใหญ่ระดมยิงช่วยอย่างรุนแรง จนเวลา ๐๑.๐๕ น.ข้าศึกจึงถอยกลับไป
                ระลอกที่สาม  เมื่อเวลา ๐๓.๒๒ น. ฝ่ายข้าศึกได้ส่งกำลังเข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอป ๒ ทิศทาง ด้วยกำลัง ๑ กองร้อยเพิ่มเติมกำลัง โดยเข้าตีทางทิศตะวันออก ด้านที่ฟังการณ์สาย ๒ กับอีก ๑ กองร้อยเพิ่มเติมกำลังทางทิศตะวันตก ด้านที่ทำการสาย ๘ หน่วยเหนือได้ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดสะกัดเส้นทางส่งกำลังหนุนของข้าศึก และทิ้งพลุส่องสว่างหน้าแนว ตามคำขอของกองพันทหารไทย เมื่อข้าศึกส่วนใหญ่เคลื่อนที่เข้ามาในพื้นที่การยิงฉากที่เตรียมไว้ ก็เริ่มยิงฉากวงแหวนทันที กองร้อยอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้ถูกระดมยิงจากข้าศึก หรือถูกยิงเพียงประปราย ต่างก็ระดมยิงช่วยหน่วยบนที่มั่นเขาพอร์คชอปอย่างเต็มที่ แต่ข้าศึกส่วนหนึ่ง สามารถเคลื่อนที่ถึงหน้าแนวที่มั่นเขาพอร์คชอปได้ เครื่องกีดขวางของฝ่ายเราถูกทำลายด้วยปืนใหญ่ และบังกาลอร์ตอร์ปิโด ที่ใช้ยิงเจาะช่องเข้าไป เกิดการต่อสู้กันในระยะประชิด ฝ่ายเรามีการปรับปรุงการตั้งรับให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม โดยกำหนดให้ปืนกลตั้งยิงในที่กำบังปิดทั้งหมด ส่วนพลปืนเล็กให้ต่อสู้อยู่ในคูยิงนอกที่กำบัง ทำให้ข้าศึกถูกยิงตายเป็นอันมาก ส่วนที่เล็ดลอดเข้ามาได้ก็ตกเป็นเป้ากระสุนของฝ่ายเราอย่างเต็มที่ เมื่อจวนใกล้สว่างข้าศึกจึงเริ่มหยุดการเข้าตี และถอนตัว คงเหลือกำลังประมาณ ๑ หมวด ยึดภูมิประเทศคุมเชิงอยู่ที่ลาดเขาพอร์คชอปทางด้านเหนือ และถอนตัวกลับไปเมื่อ ๐๗.๐๐ น. ฝ่ายเราได้ส่งหมู่ลาดตระเวณติดตามข้าศึก และสามารถจับเชลยศึกได้ ๔ คน
                ผลการเข้าตีครั้งนี้ ข้าศึกระดมยิงปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักต่อที่มั่นเขาพอร์คชอปเป็นจำนวนประมาณ ๒,๗๐๐ นัด ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๑๒ คน บาดเจ็บสาหัส ๓ คน บาดเจ็บเล็กน้อย ๕๔ คน ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิตนับศพได้ ๒๐๔ ศพ วันรุ่งขึ้นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยี่ยม เมื่อเห็นสภาพการสู้รบแล้วก็ได้กล่าวกับผู้บังคับกองพันทหารไทยว่า "ข้าพเจ้าไม่มีอะไรสงสัยในจิตใจแห่งการต่อสู้ของทหารไทยอีกแล้ว"
                เนื่องจากกองพันทหารไทยได้รับความบอบช้ำอย่างหนัก จากการถูกข้าศึกเข้าตีถึง ๓ ครั้ง ในห้วยระยะเวลาเพียง ๑๐ วัน แต่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาการผลัดเปลี่ยน จึงได้พิจารณาให้กองร้อยที่ ๑ ถอนตัวกลับไปพักผ่อน และให้กองพันที่ ๒ สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ทางปีกซ้ายขยายพื้นที่ความรับผิดชอบเข้ามาแทน

                ในการรบดังกล่าวกองพันทหารไทย และทหารไทย จึงได้รับ อิสริยาภรณ์ เหรียญตรา และเกียรติบัตรชมเชยในการประกอบวีรกรรมครั้งนี้ รวมทั้งสมญานาม Little Tiger (พยัคฆ์น้อย) จากพลเอก แวนฟลิค แม่ทัพที่ ๘ สหรัฐฯ สมญานามดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสมรภูมิเกาหลี
                ต่อมาเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีหนังสือชมเชยการปฏิบัติการรบของกองพันทหารไทยที่เขาพอร์คชอป และต่อมากองพันที่ ๘ สหรัฐฯ ได้มอบเกียรติบัตรของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อเชิดชูวีรกรรมอันดีเด่น และเป็นเกียรติประวัติแก่กำลังพล ในกองพันทหารไทยผลัดที่ ๓ จำนวน ๒๙ คน เป็นลิเยียนออฟเมอริต ดีกรีเลยอนแนร์ ๑ คน คือ พันโท เกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ เหรียญซิลเวอร์สตาร์ ๙ คน เหรียญบรอนซ์สตาร์ ประดับอักษรวี ๑๕ คน เหรียญบรอนซ์สตาร์ ๔ คน
    การปฏิบัติหน้าที่เป็นกองหนุน
                กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้ลงไปเป็นกองหนุน เมื่อ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ โดยไปตั้งอยู่ที่ตำบลมักโกลเมืองชอร์วอน ซึ่งอยู่บริเวณหลังแนวเจมส์ทาวน์
    การปฏิบัติการรบ ณ ที่มั่นตั้งรับแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเอกซ์เรย์ - (X-1)
                กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้ขึ้นประจำที่มั่นตั้งรับแนวเจมส์ทาวน์ด้านเอกซ์เรย์ - 1 เมื่อ ๓ ธันวาคม ๒๔๙๕ ในพื้นที่ตรงกลางของกรม ต่อมาเมื่อ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๕ ได้มีพิธีรับ - ส่งหน้าที่ ผู้บังคับกองพันทหารไทย ระหว่างพันโทเกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ ผู้บังคับกองพันผลัดที่ ๓ กับ พันตรี บุญ  รังคะรัตน์ ผู้บังคับกองพันผลัดที่ ๔
    พิธีฌาปนกิจศพทหารผลัดที่ ๓
                ได้มีพิธีฌาปนกิจศพทหารไทย จำนวน ๒๘ ศพ ตามประเพณีทางพุทธศาสนา ณ วัดชานเมืองปูซาน เมื่อ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๙๕ แล้วนำอัฐิไปประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลที่วัดนิธิฮงวันจี ที่กรุงโตเกียว โดยเชิญเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว พลเอก คลาร์ก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองบัญชาการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการทหารประเทศต่าง ๆ ร่วมพิธีครั้งนี้ด้วย จากนั้นจึงนำอัฐิกลับประเทศไทย


    • Update : 30/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch