|
|
ทหารไทยในสงครามเกาหลี /1
กองกำลังทหารไทยในสงครามเกาหลี
เหตุการณ์ตอนต้นของสงครามเกาหลี
เมื่อเวลา ๐๔.๐๐ น. ของวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ กองทัพเกาหลีเหนือประกอบด้วย กำลังทหารราบในแนวหน้า ๗ กองพล กองหนุน ๓ กองพล มีกำลังประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน ได้เคลื่อนกำลังผ่านเส้นขนานที่ ๓๘ ลงมายังสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) อย่างจู่โจมโดยที่เกาหลีใต้ไม่ทันรู้ตัว และมีกำลังในแนวหน้าน้อยกว่าฝ่ายเกาหลีเหนืออยู่มาก จึงไม่สามารถยับยั้งการรุกรานดังกล่าวได้ ดังนั้นอีกสามวันต่อมา คือในวันที่ ๒๘ เดือนเดียวกัน ฝ่ายเกาหลีเหนือก็ยึดกรุงโซล นครหลวงของเกาหลีใต้ไว้ได้
คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ได้เปิดประชุมเป็นการฉุกเฉิน เมื่อ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๓ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่นครนิวยอร์ค ได้ประณามการกระทำของเกาหลีเหนือ ที่ยกกำลังทหารบุกรุกเกาหลีใต้ ว่าเป็นการทำลายสันติภาพ และได้ลงมติสองประการ คือ
๑. ให้ทั้งสองฝ่ายหยุดรบทันที
๒. ให้ฝ่ายเกาหลีเหนือ ถอนกำลังกลับไปอยู่เหนือเส้นขนานที่ ๓๘
คณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้ลงมติด้วยว่า ให้บรรดาประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ สนับสนุนมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ในเรื่องนี้ และมิให้ประเทศใดให้ความช่วยเหลือเกาหลีเหนือ มติคณะมนตรีความมั่นคงมีผู้ออกเสียงสนับสนุน ๙ ประเทศ ไม่มีประเทศใดคัดค้าน งดออกเสียง ๑ ประเทศ และสหภาพโซเวียตไม่เข้าร่วมประชุม
ประเทศที่สนับสนุนมติคณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้แก่ จีน คิวบา เอกวาดอร์ อียิปต์ ฝรั่งเศส อินเดีย นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) และสหรัฐอเมริกา ผู้แทนสหภาพโซเวียตไม่ได้เข้าประชุมในคณะมนตรีความมั่นคงฯ ตั้งแต่ ๑๐ มกราคม ๒๔๙๓ เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้ง จากญัตติที่สหภาพโซเวียตต้องการให้จีนบนผืนแผ่นดินใหญ่ เป็นผู้แทนจีนในสหประชาชาติ แต่สมาชิกส่วนใหญ่ของสหประชาชาติไม่เห็นด้วย ผู้แทนสหภาพโซเวียตจึงไม่ยอมเข้าร่วมประชุม คณะมนตรีความมั่นคงฯ
คณะมนตรีความมั่นคงได้ลงมติฉบับที่ ๒ เมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๙๓ ขอให้ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ส่งทหารไปช่วยเกาหลีใต้ต้านทานการรุกรานด้วยอาวุธของกองทัพเกาหลีเหนือ และผลักดันให้กองทัพเกาหลีเหนือออกจากดินแดนเกาหลีใต้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศในบริเวณนั้น นอกจากนั้น ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้สั่งการอนุมัติให้ พลเอก ดักลาส แมคอาร์เธอร์ (General of the Army Douglas Mac Arther) ในฐานะผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ภาคตะวันออกไกล ใช้กำลังทางอากาศ และกำลังทางเรือ เพื่อผลักดันข้าศึกใต้เส้นขนานที่ ๓๘
ต่อมาสหประชาชาติได้ร้องขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ จัดกองบัญชาการร่วม (Unified Command) และให้แต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย ประธานาธิบดี แฮรี เอส ทรูแมน (Harry S. Truman) ของสหรัฐฯ จึงได้แต่งตั้งพลเอก แมกอาเธอร์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสัมพันธมิตรในการยึดครองประเทศญี่ปุ่น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองกำลังสหประชาชาติในเกาหลี (Supreme Commander UN.Forces in Korea) เมื่อ ๗ กรกฎาคม ๒๔๙๓ กองบัญชาการกองกำลังสหประชาชาติ (UN. Command Headquarters) ตั้งอยู่ที่ตึกไดอิชิในกรุงโตเกียว >
การช่วยเหลือของไทย
เลขาธิการสหประชาชาติได้มีโทรเลขถึงรัฐบาลไทย ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ เมื่อ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๓ ต่อมาเมื่อ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๓ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้มีโทรเลขถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เตือนว่าตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ขอให้ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ ให้ความช่วยเหลือสาธารณรัฐเกาหลี ต้านทานการโจมตีด้วยอาวุธนั้น รัฐบาลไทยจะให้ความช่วยเหลือประการใด ขอให้แจ้งให้เลขาธิการสหประชาชาติทราบโดยเร็วว่า จะให้ความช่วยเหลือชนิดใด
คณะรัฐมนตรีมีมติว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม จึงตกลงให้ความช่วยเหลือทางด้านอาหาร เช่น ส่งข้าวไปช่วยเหลือเป็นต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจึงได้มีโทรเลขตอบเลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๓ มีใจความว่า รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เฝ้าดูการคลี่คลายของเหตุการณ์ในประเทศเกาหลี ด้วยความห่วงใยที่สุด และประณามการใช้กำลังรุกรานซึ่งได้กระทำต่อ สาธารณรัฐเกาหลีที่เกิดใหม่นี้ ด้วยการทำลายสันติภาพ ซึ่งมิได้นำพาต่อคำสั่งของคณะมนตรีความมั่นคงฯ และโดยละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ เช่นนี้ไม่เป็นสิ่งที่ควรจะผ่อนผันได้เลย ฉะนั้นรัฐบาลไทยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงสนับสนุนมติความมั่นคงฯ อย่างหนักแน่น และพร้อมที่จะสนับสนุนการกระทำใด ๆ ที่สหประชาชาติเห็นสมควร และพิจารณาให้ความช่วยเหลือเท่าที่สามารถกระทำได้ แก่สาธารณรัฐเกาหลี ในการนี้โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม จึงยินดีจะช่วยสาธารณรัฐเกาหลีในทางอาหาร เช่นข้าวเป็นต้น หากมีความต้องการ
เลขาธิการสหประชาชาติ ได้มีโทรเลขถึงกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๙๓ มีใจความว่า ขอแสดงความขอบคุณในการที่รัฐบาลไทย พร้อมที่จะสนับสนุนการปฏิบัติของสหประชาชาติ และการตกลงใจให้ความช่วยเหลือ เรื่องอาหารเช่น ข้าว และรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้อาณัติแห่งมติ ลง ๙ กรกฎาคม ๒๔๙๓ ได้มอบภาระความรับผิดชอบทั้งมวลแก่กองทัพสหประชาชาติ ฉะนั้นจึงขอแนะนำว่า ขอให้รัฐบาลไทยได้พิจารณาหาทางช่วยเหลือในเรื่องกำลังรบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังทางภาคพื้นดินเท่าที่อยู่ในวิสัยสามารถ การช่วยเหลือในกรณีนี้ ในหลักการทั่วไปขอให้ติดต่อไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย ให้ตกลงกับกองบัญชาการกองทัพสหประชาชาติต่อไป
นายกรัฐมนตรีได้บัญชาให้นำเรื่องนี้เสนอต่อ สถาบันป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งได้มีการประชุมปรึกษา เมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๙๓ มีมติเป็นเอกฉันท์ รับหลักการที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหาร เฉพาะกำลังทหารทางพื้นดินในกรณีสงครามเกาหลีด้วยกำลัง ๑ กรมผสม (๑ Combat Team) และสภาป้องกันราชอาณาจักร ได้เสนอเรื่องนี้ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินตกลงใจเป็นการด่วน คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา เมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๙๓ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามมติของสภาป้องกันราชอาณาจักร และโดยเหตุที่เรื่องนี้เกี่ยวกับปัญหาราชการแผ่นดินที่สำคัญ สมควรแจ้งให้รัฐสภาอันประกอบด้วยวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรทราบ ตามความในมาตรา ๑๓๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในครั้งนั้น
นายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องนี้เสนอรัฐสภาเมื่อ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๙๓ ได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนจากรัฐสภาด้วยดี ในการนี้ได้นำเสนอโทรเลขที่ได้รับ จากคณะมนตรีความมั่นคง ฉบับที่ ๓ ในการประชุม ครั้งที่ ๔๗๓ เมื่อ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๙๓ มีความว่า จากมติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๙๒ ซึ่งรับรองว่ารัฐบาลแห่ง สาธารณรัฐเกาหลี เป็นรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นถูกต้องตามกฎหมาย โดยที่ได้มีอำนาจควบคุม และอาณาเขตอย่างแท้จริงเหนือดินแดนส่วนของเกาหลี ที่คณะกรรมการชั่วคราวของสหประชาชาติว่าด้วยเกาหลี สามารถเข้าไปสังเกตการณ์ และปรึกษาหารือด้วยได้ และเป็นที่สำนักของประชาชนส่วนมากเกาหลี ฯลฯ และความห่วงใยว่าสถานการณ์ตามที่คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยเกาหลีได้พรรณามาในรายงาน จะคุกคามต่อความปลอดภัย และความผาสุกของสาธารณรัฐเกาหลี และอาจจะนำมาซึ่งการขัดกันทางทหารอย่างเปิดเผยขึ้น ณ ที่นั้น โดยที่ได้ทราบด้วยความห่วงใยอย่างยิ่งว่า ได้มีการโจมตีสาธารณรัฐเกาหลีด้วยกำลังอาวุธจากกองทัพของฝ่ายเกาหลีเหนือ เห็นว่าการกระทำนี้เป็นการทำลายสันติภาพ จึง
๑. เรียกร้องให้ยุติการศึกโดยทันที และให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเกาหลีเหนือถอนกำลังทหารกลับไปอยู่ ภายในเส้นขนานที่ ๓๘ โดยพลัน
๒. ขอให้คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเกาหลี
ก. ส่งข้อแนะนำที่ได้พิเคราะห์แล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วนกับสถานการณ์ ไปยังคณะมนตรีฯ โดยไม่ชักช้า
ข. สังเกตการณ์ถอนกำลังทัพของฝ่ายเกาหลีเหนือไปยังเส้นขนานที่ ๓๘ และ
ค. รายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ทราบถึงการปฏิบัติตามมตินี้
๓. ขอให้บรรดาประเทศสมาชิก อำนวยความช่วยเหลือทุกทางแก่สหประชาชาติ ในการปฏิบัติตามมตินี้ และละเว้นการให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายเกาหลีเหนือ
รัฐบาลได้นำความบังคมทูล เพื่อขอรับพระบรมราชานุวัติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งกำลังไปร่วมรบในประเทศเกาหลีตามคำร้องขอขององค์การสหประชาชาติ เมื่อ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๙๓ และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ส่งกำลังทหารภาคพื้นดินไปร่วมรบในสงครามเกาหลี เมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๔๙๓ ต่อมาเมื่อ ๒๙ กันยายน ๒๔๙๓ ได้มีพระบรมราชโองการให้ส่งกำลังทางเรือ และทางอากาศไปร่วมรบในสงครามเกาหลีด้วย
|
Update : 29/5/2554
|
|