หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เหตุการณ์ในแผ่นดินเมื่อปี พ.ศ. 2475/2
    แผนสายฟ้าแลบ
    loading picture
                แผนการรวบรวมกำลังกรมกองทหารต่าง ๆ เข้าที่ชุมพลที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ได้นั้นจัดเป็นแผนการฟ้าแลบ ทำการจู่โจมโดยกระทันหัน ไม่ให้มีเวลายับยั้งชั่งคิด ทั้งนี้โดยอาศัยกองพันรถรบกับทหารม้าเป็นทัพหน้า เคลื่อนกำลังโดยมีนายทหารยศนายพันตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเป็นหัวแรงที่สำคัญที่สุด และมีนายทหารยศนายร้อยอีก 3 นาย ซึ่งประจำหน่วยรถรบได้เตรียมซ้อมเครื่องยนต์คิดปืนกล และเติมน้ำมันไว้พร้อม พอเป่าแตรปลุก เป่าแตรเร่งเร็ว และเป็นเหตุสำคัญ ทหารที่ถูกปลุกก็ตาลีตาลานรีบแต่งกายมาเข้าประจำแถว มีนายทหารฝ่ายเสนาธิการ จำนวนมากเท่าที่บันทึกไว้ได้มี 5 คน ยศนายร้อยเอก และมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง  ทุกคนเข้ามาช่วยเร่งรัดให้ ทหารรีบขึ้นรถเข้าประจำที่ ส่วนนายทหารยศนายพันเอกเหล่าทหารปืนใหญ่ ได้สั่งให้เปิดคลังอาวุธ จ่ายกระสุนจริง บรรดาผู้บังคับบัญชาชั้นผู้บังคับหมวด และผู้บังคับกองร้อยต่างก็ยืนงง มองดูการปฏิบัติอันวิปริตซึ่งไม่เคยพบ แต่เมื่อเห็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นครูบาอาจารย์ เข้ามาสั่งการก็ยอมจำนน พลอยสมทบเข้าประจำหน่วยในบังคับบัญชาของตนด้วยความสงบ ส่วนนายพันโทพระปฏิยุทธอริยั่น ผู้บังคับการกรม ได้มีผู้ก่อการจำนวนหนึ่งที่มีอาวุธพร้อมควบคุมตัวมิให้ลงจากบ้าน
                ขบวนการปฏิบัตินำโดยกองพันรถถัง นำโดยนายทหารม้า ยศ นายพันตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง ติดตามด้วยกรมทหารปืนใหญ่ ในบังคับบัญชาของนายทหารปืนใหญ่ยศนายพันเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา แล้วมีกองพันทหารช่าง โดยมีนายทหารช่างยศ นายร้อยเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง ปิดท้ายกำกับมา

     การควบคุมกำลัง
                แผนการยึดอำนาจนั้น ไม่ได้มุ่งหวังใช้กำลังทหารเป็นพลังสู้รบ แต่มุ่งหมายเพื่อลวงให้หน่วยทหารต่าง ๆ ในพระนครมาชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นการรวมกำลังกันมาควบคุมไว้ในที่จำกัด แล้วเรียกประชุมนายทหารที่เป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยทหารนั้น ๆ มารวมกัน โดยมีคณะนายทหารผู้ร่วมคิดในการก่อการ ฯ พกอาวุธครบครันล้อมกรอบอยู่โดยไม่ทราบจำนวน และไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ครั้นเมื่อเข้ามาชุมนุมพร้อมเพรียงกันแล้ว นายทหารยศนายพันเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเป็นผู้อาวุโส เป็นหัวหน้านำการก่อการ ฯ โดย อ่านประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยเสียงอันดังหนักแน่นเด็ดขาด พอจบก็เปล่งเสียงไชโยดังกึกก้องสามครั้ง แล้วพาคณะนายทหารพร้อมด้วยกำลังหน่วยทหารทั้งสิ้น พังพระทวารประตูเข้ายึดพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นฐานทัพมีรถถังควบคุมกำกับ ตามมุมลานพระบรมรูปทรงม้าอย่างเข้มแข็ง กับมีหน่วยกองพันพาหนะของทหารเรือในบังคับบัญชา ของนายทหารเรือยศนายเรือโท ขยายแถวหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า จ่ายกระสุนจริงเตรียมพร้อม ที่จะปฏิบัติการได้ทันที นับว่าเป็นความสำเร็จในการก่อการ ฯ ในเบื้องต้น

    การจับกุมบุคคลสำคัญ
                ในขั้นต่อไป ได้ออกจับกุมบุคคลสำคัญที่มีอำนาจสั่งการต่อต้านเป็นหลายสาย ท่านที่มีความสำคัญที่สุดคือ จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ฯ ที่วังบางขุนพรหม โดยจัดรถถังและรถลำเลียงที่มีกำลังทหาร กำกับไปด้วย โดยมีนายทหารยศนายพันโท ยศนายพันตรี และยศนายนาวาตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงทั้ง 3 คน เป็นกำลังสำคัญเข้ายึดวังบางขุนพรหม รถคันหน้าได้เข้ายึดสถานีตำรวจ ที่หน้าวังบางขุนพรหม ปลดอาวุธและควบคุมตัวไว้ ส่วนรถถังและรถลำเลียงอีก 1 คัน ได้มุ่งเข้าวังบางขุนพรหม โดยมีนายทหารยศนายร้อยโท มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนเข้ากำกับกองรักษาการณ์ นายพลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจได้เข้ามาสกัดกั้นชักปืนพกออกจะยิง นายทหารผู้นำกำลังเข้ามา แต่ถูกนายทหารเรือยศนายนาวาตรี ที่กล่าวแล้วตบปืนกระเด็นไป แล้วเข้าควบคุมตัวไว้  จากนั้นนายทหารผู้นำกำลังเข้ามา  ก็มุ่งไปที่ตำหนักท่าน้ำ  ซึ่งจอมพลสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ ฯ  เตรียมเสด็จออกไปทางเรือ  พอดีเรือตอปิโดหาญทะเล  ซึ่งผู้ก่อการ ฯ ฝ่ายทหารเรือสั่งให้มา ลอยลำคอยควบคุมอยู่สั่งทหารเรือเตรียมยิง  ทำให้พระองค์ต้องยอมจำนน โดยนายทหารผู้นำกำลังเข้ามา ได้กราบทูลรับรองความปลอดภัย และเชิญเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยไม่ยอมให้เปลี่ยนฉลองพระองค์ก่อน  ขบวนรถที่พาเสด็จไปได้แวะไปจับนายพลโท พระยาสีหราชฤทธิไกร  ที่บ้านริมวัดโพธิ์  แล้วจึงไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคม
                สำหรับนายพลตรี พระยาเสนาสงคราม ( ม.ร.ว. อี๋ นพวงศ์ )  ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์  บ้านอยู่ถนนนครชัยศรี  ได้ถูกนายทหารยศนายร้อยโท  มีบรรดาศักดิ์เป็นขุน  ยิงบาดเจ็บ  ไม่สามารถจะออกจากบ้านมาบัญชาการได้  โทรศัพท์ถูกตัดขาดการติดต่อ
                ได้เชิญเสด็จ ฯ เจ้านางชั้นผู้ใหญ่ กักกันควบคุมตัวผู้บังคับการกรม  และบุคคลสำคัญในวงการทหารไว้  ที่กองรักษาการณ์ในพระที่นั่งอนันต์ ฯ

    การเก็บอาวุธ และยึดโทรศัพท์กลาง
    loading picture
                ได้สั่งให้เก็บอาวุธกระสุนตามหน่วยทหารต่าง ๆ  และเข้าควบคุมคลังแสง เกือบจะมีการสู้รบกัน โดยนายพันตรี หลวงไกรชิงฤทธิ์  ( พุด  วินิจฉัยกุล )  ผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็ก ที่สะพานมัฆวาน ซึ่งได้จัดทหารหนึ่งกองร้อยขยายแถวเตรียมยิงต่อสู้  แต่เมื่อเห็นว่าหมดทางต่อสู้ จึงได้ถอนกำลังกลับเข้าที่ตั้งไป
                การยึดสถานีโทรศัพท์กลางที่วัดเลียบ  ตอน  04.00 น.  เพื่อทำลายการติดต่อสื่อสาร  ผู้ก่อการ ฯ ฝ่ายพลเรือนจำนวน 6 คน เป็นผู้ปฏิบัติโดยมีกำลังฝ่ายทหารเรือให้ความคุ้มกัน  มีการวางแผนตรวจสอบสถานที่  และเตรียมการในรายละเอียดอย่างดี  ดังนั้นจึงใช้เวลาเพียง 15 นาทีก็สำเร็จเรียบร้อย  เมื่อทางตำรวจเข้ามาสอบถาม  ทางฝ่ายทหารเรือที่นำโดยนายทหารยศนายเรือเอกมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง  ก็ประกาศว่า ได้เกิดกบฏขึ้นในพระนคร  ทางราชการทหารเรือ ได้มีคำสั่งให้มารักษาการณ์  แล้วได้จับกุมตำรวจเอาไว้
                ในด้าน อาวุธ และกระสุนนั้น  มีเจ้าของร้านปืนทั้งสองพี่น้อง ได้เป็นกำลังจัดหาอาวุธให้ผู้ก่อการ ฯ  ฝ่ายพลเรือนและพลพรรค

    การดำเนินการฝ่ายบริหาร
    loading picture     ตั้งผู้รักษาการพระนคร        เมื่อคณะทหารได้ทำการยึดอำนาจ โดยใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นฐานทัพ  ก็ได้แต่งตั้งคณะบุคคลคณะหนึ่ง เป็นผู้รักษาพระนคร คือ
                นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา        นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช        นายพันเอกพระยาฤทธิ์อัครเนย์
                แล้วได้ส่งโทรเลขไปกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ  ณ  พระราชวังไกลกังวล หัวหิน  ในเรื่องการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง  เพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เป็นรากฐานในการปกครองประเทศ  โดยให้นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย  นำเรือรบหลวงไปเชิญเสด็จ ฯ กลับพระนคร
        ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง        ทางด้านการบริหารฝ่ายพลเรือน ได้เชิญเสด็จ ฯ เสนาบดี และเจ้ากระทรวงกับปลัดกระทรวงมาประชุมที่พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมีนายพันเอกพระยาพหลพยุหเสนา เป็นประธาน ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบถึงความมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งคณะผู้ก่อการ ฯ คงตั้งมั่นในความจงรักภักดี และเทิดทูนพระมหากษัตริย์ กับจะเคารพต่อสัญญาที่รัฐบาลเดิม ได้มีข้อผูกพันกับต่างประเทศโดยครบถ้วน ขอให้เจ้ากระทรวงดำเนินการบริหารราชการประจำไปตามปกติ จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ ขอให้ช่วยกันรักษาความสงบให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพปกติต่อไปด้วยดี กับได้เชิญหนังสือพิมพ์ทุกฉบับมาชี้แจงให้ดูและทราบเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากนี้ได้ทำหนังสือเวียนชี้แจงสถานการณ์ไปให้สถานทูตต่าง ๆ ทราบทั่วกัน นอกจากนี้คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ขอพระมหากรุณาให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพระนามในคำประกาศ ขอให้ข้าราชการประชาชนตั้งอยู่ด้วยความสงบ

    พระวิจารณ์ของพระราชวงศ์ผู้ใหญ่
                เมื่อพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ถูกเชิญเสด็จไปประทับอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระองค์ได้ตรัสถามผู้ก่อการ ฯ คนหนึ่งซึ่งพระองค์รู้จักดีว่า ที่ยึดอำนาจนี้ต้องการอะไร ประสงค์อะไร แล้วจะดีกว่าที่เป็นอยู่เดิมหรือก็ได้รับคำตอบว่า อารยประเทศทั่วโลกก็มีปาเลียเม้นต์ทั่วไป ยกเว้นแต่อบิสซิเนีย พระองค์ได้ตรัสถามต่อไปว่า พวกผู้ก่อการซึ่งส่วนใหญ่อายุยังน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยประมาณสามสิบปีเศษเหล่านี้รู้จักคนไทยดีแล้วหรือ เพราะเขาเหล่านี้จะต้องเผชิญปัญหาเรื่องคน พระราชวงศ์จักรีได้ปกครองเมืองมา ๑๕๐ ปีแล้ว รู้ดีว่าคนไทยนี้ปกครองกันอย่างไร คณะผู้ก่อการ ฯ จะเข็นครกขึ้นเขาไหวหรือ ก็ได้รับคำตอบว่าการดำเนินการจะให้ราบรื่นไปทีเดียวคงไม่ได้ คงต้องมีการยึดอำนาจกันต่อไปอีกหลายยุค เรื่องคอนสติติวชั่นและปาเลียเมนต์ ก็จะเริ่มต้นกันสักวันหนึ่ง
        ข้อความในในปลิว        ได้มีการออกใบปลิวของคณะผู้ก่อการ ฯ ซึ่งมีข้อความบางตอนที่รุนแรงอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวรรคสุดท้ายของประกาศยึดอำนาจมีความว่า
                "จะได้นำประชาชนไปสู่ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐสุด ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า 'ศรีอารยะ' นั้น ก็พึงบังเกิดแก่ราษฎรถ้วนหน้า"

    การนำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ
                ได้มีการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราวขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย  ณ  วังสุโขทัย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2475 ได้มีผู้เข้าเฝ้าเพื่อการนี้ 9 คน คือ นายพลเรือตรีพระยาศรยุทธเสนีย์ นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช  นายพันเอกพระยาฤทธิอัครเนย์  นายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ  นายพันตรีหลวงวีระโยธา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม  นายร้อยโทจรูญ  ณ  บางช้าง  นายสงวน  ตุลารักษ์  นายร้อยโทประยูร  ภมรมนตรี
                ได้โปรดเกล้า ฯ ให้หลวงประดิษฐ์ ฯ นำรัฐธรรมนูญขึ้นมาทูลเกล้า ฯ ถวายทรงรับสั่งถามว่า ได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก่อนแล้วหรือยัง ก็ได้รับคำตอบว่ายังมิได้อ่าน เพราะมิใช่หน้าที่โดยเฉพาะ และได้กราบทูลต่อไปว่า ทางพระยาทรงสุรเดชได้ประชุมกำชับไว้มั่นคงแล้วว่า ให้ร่างรัฐธรรมนูญตามแบบอังกฤษ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงทรงรับสั่งว่าถูกต้องแล้ว ต้องการจะให้เป็นเช่นนั้นแต่เรื่องอะไรจึงต้องใช้คำแทนเสนาบดีว่า "คณะกรรมการราษฎร" ซึ่งเป็นแบบรัสเซีย
                พระยาทรงสุรเดชได้กราบทูลขอพระราชทานสารภาพผิด และขอพระราชทานอภัยที่มิได้อ่านมาก่อน และขอถวายสัตย์ว่าจะไปร่างมาใหม่ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เป็นผู้นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธย  ณ  พระตำหนักจิตรลดา ฯ และในวันเดียวกันก็ได้มีประกาศวิทยุเป็นทางการทั่วประเทศ ที่ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย
                ต่อมาได้ประกาศตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้น 8 คน คือ
                            1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
                            2. พระยาเทพวิฑูรย์
                            3. พระยาศรีวิสารวาจา
                            4. นายพลเรือโทพระยาราชวังสัน
                            5. พระยาปรีดานฤเบศร์
                            6. พระยามานนวราชเสวี
                            7. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
                            8. นายพันตรีหลวงสินาดโยธารักษ์
                การร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลา 2 เดือน 15 วัน เมื่อรวมเวลาตรวจเรื่องอีก 1 เดือน รวมเป็น 3 เดือนเศษ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475

    พระราชกำหนดนิรโทษกรรม
                ในวันที่คณะผู้ก่อการ ฯ ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ได้ถือโอกาสทูลเกล้า ฯ ถวายพระราชกำหนดนิรโทษกรรม นับเป็นบทบัญญัติฉบับแรก ที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีข้อความดังนี้
                " การกระทำของคณะราษฎรในครั้งนี้ หากจะเป็นการละเมิดกฎหมายใด ๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย
                พระราชกำหนดนี้ได้ประกาศ  ณ  วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475

    สรุปการปฏิบัติในขั้นต้น
                การก่อการ ฯ ครั้งนี้สำเร็จลงได้ด้วยการรู้จักใช้โอกาส วางแผนรัดกุม ปกปิด ฉับพลันเด็ดขาด
                คณะผู้ก่อการ ฯ มีจุดหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศ
                คณะผู้ก่อการ ฯ มิได้ พิจารณากำหนดลัทธิเศรษฐกิจไว้แต่เริ่มแรกแต่ประการใด
                คณะผู้ก่อการ ฯ ไม่ได้ทราบเรื่องการจัดตั้งคณะราษฎรมาก่อน และไม่ทราบเรื่องการขนานนามเสนาบดี ผู้บริหารประเทศเป็นกรรมการราษฎร แบบประเทศโซเวียตรัสเซีย
                คณะผู้ก่อการ ฯ ได้เสนอให้นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้นำ ในฐานะที่เป็นผู้อาวุโส และได้จัดตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร รวม 3 คน คือ นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช และนายพันเอกพระยาฤทธิอัครเนย์

    สภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐบาล
                    คณะผู้ก่อการ ฯ ได้พิจารณาด้วยบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ได้มีการเสนอมหาอำมาตย์โทพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายเป็นประธานคณะราษฎร ซึ่งจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
                    ได้มีการเลือกสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง จำนวน 70 คน โดยได้แบ่งให้เป็นส่วนของผู้ก่อการ ฯ กึ่งจำนวน อีกกึ่งหนึ่งได้เลือกจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่บรรดาศักดิ์เจ้าพระยา 3 คน ชั้นพระยา 22 คน ส่วนมากเป็นผู้พิพากษา ทหารบก และทหารเรือ กองทัพละ 3 คน ที่เหลือเป็นผู้ร่วมการกบฏ ร.ศ. 130 จำนวน 4 คน นักหนังสือพิมพ์กับพ่อค้าอีกจำนวนหนึ่ง
                ได้เลือกมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นประธานสภา และนายพลตรีพระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภา
                การคัดเลือกผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง มีปัญหาพอสมควร เพราะคณะผู้ก่อการ ฯ มี 98 คน ได้รับเลือกเพียง 30 คน สำหรับฝ่ายทหารได้กำหนดผู้ที่จะเป็นได้ในระดับยศนายพันตรี และนายนาวาตรีขึ้นไป

    ความเห็นไม่ตรงกัน
                ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ก่อการ ฯ  บางคนมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องการปรับปรุงกองทัพ แต่ในที่สุดก็ประนีประนอมกันได้ ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ ก็เริ่มกลับไปดำเนินการตามแนวความคิดเดิมของตน โดยจะให้คงเหลือนายพลไว้ 2 นาย คือ ตำแหน่ง ปลัดทูลฉลอง (ปลัดกระทรวง)กลาโหม กับสมุหราชองครักษ์มีการตั้งกรรมการเลือกผู้บังคับบัญชา กับทั้งสั่งการโยกย้ายหน่วยทหารโดยฉับพลัน เกิดความวุ่นวายในกองทัพเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทั้งสองฝ่ายที่มีความเห็นไม่ตรงกันก็เป็นอริแก่กัน เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นพวก และได้แผ่ขยายไปสู่พวกพลเรือนด้วย

    ร่างรัฐธรรมนูญ
                ในการนำร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร   ได้มีเรื่องโต้แย้งสำคัญอยู่หลายประการ   กล่าวคือ
                ประการแรก  เกี่ยวกับบทบัญญัติที่ระบุให้เจ้านาย  และบรมวงศานุวงศ์อยู่เหนือการเมือง  โดยมีเจตจำนงที่จะมิให้เจ้านายมาพัวพัน  ต้องถูกโจมตีให้เสียศักดิ์ศรี  จึงควรให้อยู่เหนือการเมือง  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ  ทรงเห็นชอบด้วย  แต่มีพระราชปรารภว่าไม่ควรจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  ให้เป็นการตัดสิทธิของเจ้านายที่เป็นพลเมืองไทยคนหนึ่ง  แต่จะทรงมีประกาศเป็นพระราชนิยม  ที่จะมิให้เจ้านายเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการเมือง
                ประการต่อมาคือ การใช้คำว่า  " กรรมการราษฎร "  แทนคำว่าเสนาบดี  ได้เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กัน  โดยเฉพาะผู้ที่เป็นแกนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ   ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง  คงยืนยันจะให้ใช้คำว่า  " กรรมการราษฎร "  ให้จงได้  มีผู้เสนอให้ใช้คำอื่นแทน เช่น   เลขาธิการว่าการกระทรวง เหมือนอย่างสหรัฐอเมริกา  บางท่านเสนอให้ใช้คำว่า  " ประศาสนกามาทย์   และมีท่านหนึ่งซึ่งเป็นนายทหารบก   เสนอให้ใช้คำว่า " รัฐมนตรี "  และมีผู้สนับสนุน  คำนี้เป็นคำโบราณที่แปลว่า ข้าราชการ  ผู้มีอำนาจในแผ่นดินซึ่งใช้กันทั่วไปในอินเดีย  มลายู  และชวา  และคำว่า  รัฐมนตรีนี้  เคยมีใช้กันมาในสมัย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ  ที่เรียกว่า  สภารัฐมนตรี  มีข้าราชการพลเรือนอีกคนหนึ่ง   มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงได้ต่อว่าผู้ที่กล่าวว่า  กรรมการราษฎร  เป็นคำที่ใช้อยู่เฉพาะ  เป็นรัสเซียคอมมิวนิสต์  และบอกว่าเป็นเรื่องของคำ ๆ เดียว   ไม่เกี่ยวกับลัทธิ  ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติให้ใช้คำว่า  " รัฐมนตรี   แทน " กรรมการราษฎร"  ด้วยคะแนนเสียง 28 ต่อ 7  งดออกเสียง 26

    พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
    loading picture
                ทางรัฐบาลได้กำหนดวันรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
                ในวันพระราชพิธีรับพระราชทานรัฐธรรมนูญ ได้จัดเป็นงานมโหฬาร ข้าราชการทั้งในและนอกราชการ ตลอดจนทูตานุทูต ได้เข้าเฝ้าประจำตำแหน่งอย่างครบครัน  สำหรับข้าราชการพลเรือน ได้ยกเลิกยศอำมาตย์ ดังนั้นเครื่องแบบที่เคยแต่งอย่างสง่างาม จึงเปลี่ยนมาเป็นเครื่องแบบชุดขาวติดแผงที่คอ
                เมื่อได้ฤกษ์ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ก็ได้นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย ในท่ามกลางมหาสมาคม  แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  มอบรัฐธรรมนูญให้แก่พระยามโนปกรณ์ ฯ< /FONT>

    งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรก
                งานพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ  ได้มีการหยุดราชการ 3 วัน  และจัดให้มีงานมหรสพที่ท้องสนามหลวง  และสวนลุมพินี  มีการประดับโคมไฟกันทั่วไปในพระนคร  ตลอดจนต่างจังหวัดด้วย
                ในโอกาสนี้ได้ประพันธ์บทเพลงชาติขึ้น  โดยความริเริ่มของนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช  เป็นการกระตุ้นเตือนให้คนไทย  สำนึกในชาติกำเนิดของตน
                ในงานฉลองรัฐธรรมนูญได้มีเรื่องที่เนื่องมาจากการปกครองแบบใหม่อยู่หลายเรื่องด้วยกันคือ    นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ  ได้หยุดเรียนมาชุมนุมประท้วงระเบียบการของโรงเรียน  จีนลากรถรับจ้างสไตร๊คหยุดงานประท้วงนายจ้างที่เอาเปรียบ  และไม่ปรับปรุงรถให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้   ลูกศิษย์วัดบางแห่งถือหลักสิทธิเสมอภาคกันไม่หุงข้าวให้พระฉัน  และมีเรื่องขบขันเกิดขึ้นในบางจังหวัด  เมื่อมีการฉลองรัฐธรรมนูญกันมโหฬาร  ก็เข้าใจว่าเป็นการสมโภชบุตรชายคนใหม่ของพระยาพหล  เป็นต้น

    • Update : 28/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch