หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒/8
    ไทยตอบคำขาด

                ม.ปาวีได้รับคำตอบจากรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า
                "เพื่อตอบสนองหนังสือที่ได้ยื่นมาตามคำสั่งรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันพฤหัสบดี (๒๐ กรกฎาคม) เวลา ๑๘.๔๕ น. นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้แจ้งให้ทราบดังนี้
                    (๑)  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรู้สึกเสียพระทัยที่ยังไม่ได้รับคำอธิบายอย่างแจ่มแจ้งของประโยคที่ว่า  "สิทธิของญวน และเขมรเหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่าง ๆ" ในข้อนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยอยู่เหมือนกันว่า จะยอมโอนกรรมสิทธิดินแดนส่วนใด ๆ ให้ ถ้าหากฝรั่งเศสแสดงให้เห็นโดยเด่นชัดว่าญวนและเขมรมีสิทธิโดยชอบอยู่ อยู่เหนือดินแดนนั้นอย่างไร ทั้งนี้เป็นเวลา ๕ เดือนมาแล้วที่รัฐบาลไทยขอร้องให้นำกรณีพิพาทนี้ขึ้นสู่อนุญาโตตุลาการ
                อาศัยความจำเป็นในโอกาสนี้ และด้วยความมุ่งหมายที่จะให้สันติภาพเกิดแก่อาณาประชาราษฎร์ และให้เกิดความปลอดภัยแก่ผลประโยชน์ทางพาณิชยการที่ต่างประเทศได้กระทำอยู่ในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยอมรับว่า ในการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับญวน และเขมรนั้น บรรดาดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่อยู่ทางใต้เส้น แลต. ๑๘ น. รัฐบาลไทยยอมยกให้เป็นดินแดนส่วนแม่น้ำโขงตอนใต้แลต.๑๘ น. ลงมาจนถึงตอนที่ไหลเข้าไปในดินแดนเขมรนั้นให้ถือเป็นเส้นปันเขตแดน และที่อาศัยเกาะเหล่านี้เพื่อประโยชน์ในการเดินเรือควรให้ใช้ร่วมกันได้ทั้ง ๓ ประเทศ (ไทย ญวน เขมร )
                    (๒)  กองทหารไทยที่ตั้งอยู่ในดินแดนที่ระบุไว้ในข้อ (๑) จะได้ถอยกลับมาสิ้นภายใน ๑ เดือน
                    (๓)  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอแสดงความเสียพระทัย ในกรณีอันนำมาซึ่งความเสียหายร่วมกันแก่ฝ่ายไทยและฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน (แก่งเจ๊ก) และทั้งที่ได้เกิดกระทบกระทั่งกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาด้วย
                จะได้ปล่อยตัวบางเบียนไป และปฏิบัติตามคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศสอื่น ๆ ด้วย ถ้าเห็นว่าจำเป็น โดยอนุโลมตามลักษณะแห่งความยุติธรรม และตามความเป็นเอกราชของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสว่าจะเคารพนั้น
                    (๔)  บุคคลใดที่ต้องหาว่าได้ทำการย่ำยีชนชาติฝรั่งเศสเป็นการส่วนตัวในคดีใดก็ดี อันปรากฏว่าละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะลงโทษตามรูปคดีนั้น ๆ หรือหากว่าสมควรจะชดใช้เป็นค่าทำขวัญ ก็จะได้ชำระให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตนั้นให้เสร็จสิ้นไป
                    (๕)  รัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลไทยได้โต้แย้งกันมาเป็นเวลานานในเรื่องเกี่ยวกับชนชาติฝรั่งเศส ขอเรียกร้องให้ชำระเงินที่ตนต้องได้รับความเสียหาย เพราะข้าราชการไทยดำเนินการผิดนั้น ข้อนี้ในนามแห่งรัฐบาลไทยขอปฏิเสธว่า ไม่ใช่ความผิดของข้าราชนั้น ๆ
                บัดนี้เมื่อได้ยินยอมปรองดองไปตามที่ได้ชี้แจงไปแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าไม่ควรยึดหลักอันใดมาคัดค้าน จึงยอมชำระเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ ให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศสเท่าที่ได้เสียหายไปในกรณีที่ได้ระบุมาแต่ข้างต้นนั้น อนึ่ง รัฐบาลไทยมีความเห็นว่า ชอบที่จะจัดตั้งกรรมาธิการผสมพิจารณาเงินค่าทำขวัญในกรณีที่ได้อ้างมาในข้อ (๔) นั้น
                    (๖)  ที่จะให้จ่ายเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ เป็นเงินเหรียญโดยทันทีที่เพื่อมัดจำในการที่จะต้องชดใช้ค่าทำขวัญ และค่าปรับไหม ดังนั้น ถ้าได้พิจารณาให้ละเอียดเป็นราย ๆ ตามสมควรแก่การแล้ว รัฐบาลไทยเชื่อในความยุติธรรมของรัฐบาลฝรั่งเศสว่า จะได้รับเงินจำนวนที่เหลือคืนจากที่ได้จ่ายไปจริง เท่าที่ได้เรียกร้องในกรณีทั้งปวงโดยครบถ้วน
                เท่าที่ได้ยินยอมไปตามที่รัฐบาลฝรั่งเศสเรียกร้องมาตามคำแถลงข้างบนนี้ รัฐบาลไทยมั่นใจว่าคงจะพอเป็นเครื่องแสดงให้เห็นชัดว่า รัฐบาลไทยยังมีความปรารถนาที่จะอยู่ในความสามัคคีกับประเทศฝรั่งเศส และข้อพิพาทในระหว่างรัฐบาลทั้งสองที่คั่งค้างอยู่ สำเร็จเสร็จสิ้นไปโดยบริบูรณ์"
    ฝรั่งเศสตัดสัมพันธ์ทางการฑูต
                เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยได้รับหนังสือ ม.ปาวี ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม รวม ๓ ฉบับ มีใจความดังนี้
                ฉบับที่ ๑
                "ข้าพระพุทธเจ้าขอตอบรับคำตอบ ซึ่งฝ่าพระบาทในนามของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย ได้ตอบสนองแก่สาส์นที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายแก่ฝ่าพระบาท ในนามรัฐบาลฝรั่งเศส
                ข้าพระพุทธเจ้าขอรับทราบไว้ และพิจารณาเห็นว่า จะไม่ขอเจรจาในประเด็นข้อใด ๆ อีกเลย คำตอบสนองนี้ถือว่ายังขัดขืนไม่ยอมมอบดินแดนส่วนใหญ่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ "
                ฉบับที่ ๒
                "เนื่องจากหนังสือของข้าพระพุทธเจ้าลงวันนี้ ซึ่งได้รับทราบคำตอบสนองของรัฐบาลไทยแก่คำขอร้องของฝรั่งเศส เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลของฝรั่งเศส จึงขอทูลให้ทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้มอบหมายการปกปักรักษา และการคุ้มครองชนชาติฝรั่งเศส และคนในบังคับฝรั่งเศสไว้ให้แก่กงสุลเยเนอราลฮอลแลนด์ และตัวข้าพระพุทธเจ้าจะได้โดยสารเรือแองคองสตังต์ออกไปในวันที่ ๒๖ กรกฎาคมนี้"
                ฉบับที่ ๓
                "เนื่องจากเรือฝรั่งเศสสามลำจะออกไป ขอได้โปรดจัดการให้นำร่องสามคนไปรับใช้นาวาโท โบรี ในวันที่ ๒๕ เวลาเย็น"
                ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม กรมหลวงเทวะวงศ์ ได้ตอบหนังสือสามฉบับของ ม.ปาวี มีความว่า
                "ได้รับหนังสือของท่านที่ส่งมาซ้อน ๆ กัน รวม ๓ ฉบับ ลงวันที่เมื่อวานนี้ (วันที่ ๒) แล้ว
                ในหนังสือของท่าน ฉบับที่ ๑ ท่านกล่าวว่าจะไม่ขอเจรจาในประเด็นข้อใด ๆ อีกเลย เพราะคำตอบสนองนี้ยังขัดขืนไม่ยอมมอบดินแดนส่วนใหญ่ บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้แด่ท่านให้รัฐบาลของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคารพ (acknowlegement) สิทธิของญวนและเขมร บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และเกาะแก่งต่าง ๆ
                คำตอบของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นอันว่าไม่สามารถที่จะเคารพได้โดยแท้ เพราะไม่ได้ให้คำอธิบายชัดเจน ฉะนั้นคำตอบของเราในข้อหนึ่งจึงต้องยุติกันเพียงเท่านั้น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ไกลกว่านี้ โดยที่มิปรารถนาที่จะแสดงถึงเจตนาอันชอบโดยทันที และโดยน้ำใสใจจริงจึงได้แถลงว่า ยินดีให้ญวนและเขมรมีอธิปไตยเต็มที่เหนือดินแดนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แต่เพียงเท่าที่ตามบริเวณกองทหาร ซึ่งทหารไทยได้ตั้งมั่นยึดไว้ และได้เกิดพิพาทกันรายที่แล้ว ๆ มาก็หาไม่ ยังรวมยกเอาเมืองสตึงเตรง และเมืองโขง (สีทันดร) อันเป็นที่ไทยมีอธิปไตยอยู่โดยชอบธรรมแท้ ๆ ด้วย ถ้าหากว่าเท่านี้ยังไม่เป็นที่พอใจรัฐบาลของท่าน ข้าพเจ้าจำเป็นต้องฝืนให้ท่านอธิบายถึงลักษณะและเขตของสิ่งที่ท่านเรียกว่า "สิทธิของญวนและเขมรเหนือดินแดนบนฝั่งแม่น้ำโขง" นั้น
                ตามหนังสือของท่านฉบับที่ ๒ แจ้งให้ทราบว่า..... นั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าพเจ้าแสดงความเสียใจ และความประหลาดใจในการตกลงใจโดยปัจจุบันทันด่วนนี้ และข้าพเจ้าขอร่วมแสดงความเสียใจส่วนตัวมาด้วย ที่สัมพันธ์ฉันท์มิตรในระหว่างเราทั้งสองต้องขาดลง
                ตามหนังสือของท่านฉบับที่ ๓ ท่านขอร้องข้าพเจ้าว่า..... ข้าพเจ้าจะจัดการให้ตามประสงค์"
                วันที่ ๒๔ กรกฎาคม เวลา ๑๒.๐๐ น. ได้มีการชักธงชาติฮอลแลนด์ขึ้นที่สถานฑูตฝรั่งเศส ม.ปาวี พร้อมด้วยคณะฑูตลงเรือ แองคองสตังต์ เวลา ๑๖.๐๐ น. เรือแองคองสตังต์ เรือโคแมต และเรือลูแตง ออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ เวลา ๑๙.๐๐ น. เรือฝรั่งเศสทั้งสามลำ จอดทอดสมอที่ปากน้ำเจ้าพระยา
                วันที่ ๒๖ กรกฎาคม เวลาเช้า พระยาพิพัฒน์โกษา และข้าราชการไทยอีกคนหนึ่งมาที่เรือแองคองสตังต์ เพื่อติดต่อให้ความสะดวกในการที่ราชฑูต และเรือรบฝรั่งเศสจะไปจอดที่เกาะสีชัง เมื่อน้ำขึ้นแล้ว เรือรบฝรั่งเศสทั้งสามลำ ก็ออกเดินทางผ่านสันดอนและจะได้ปฏิบัติการในการปิดอ่าวต่อไป
    ฝรั่งเศสปิดอ่าวไทย

        การประกาศปิดอ่าวไทยครั้งที่ ๑
               วันที่ ๒๖ กรกฎาคม นาวาเอก เรอกุลุซ์ ผู้บังคับการเรือลาดตระเวนฟอร์แฟต์ ซึ่งออกจากไซ่ง่อนติดตามเรือแองคองสตังต์ และเรือโคแมตมา ได้จอดคุมเชิงอยู่ภายนอกสันดอน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กรกฎาคม และได้ส่งทหารหนึ่งหมวด ขึ้นยึดเกาะสีชังเมื่อตอนเช้า แล้วออกประกาศปิดอ่าวไทย มีความว่า
                "ข้าพเจ้านาวาเอก ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ เป็นผู้บังคับการกองเรือฝรั่งเศส ทำการอยู่ในอ่าวไทย ตามคำสั่งพลเรือตรี ผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกล ซึ่งอาศัยอำนาจที่มีอยู่ ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
                ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ค.ศ.๑๘๙๓ เวลา ๑๑.๐๐ น. บรรดาเมืองท่าตามทางเดินเรือเข้าออกชายฝั่งและเกาะต่าง ๆ ของประเทศไทยที่อยู่ระหว่างแหลมเจ้าลาย และแหลมกระบังขึ้นไปทางเหนือ (แหลมเจ้าลายอยู่ที่เส้นรุ้ง ๑๓ องศา ๐๒ ลิบดาเหนือ เส้นแวง ๙๗ องศา ๔๓ ลิบดา ตะวันออก เมอริเดียนปารีส และแหลมกระบังอยู่ที่เส้นรุ้ง ๑๓ องศา ๐๕ ลิลดาเหนือ และเส้นแวง ๙๘ องศา ๓๑ ลิบดา  ตะวันออก เมอริเดียน ปารีส)  จะเป็นเขตที่กองเรือในบังคับบัญชาของข้าพเจ้าทำการปิดอ่าวโดยแท้จริง บรรดาเรือของชาติที่เป็นไมตรีกันให้เวลาอีกสามวัน เพื่อถอยออกไปจากตำบลที่ปิดอ่าวนี้
                เรือใดที่พยายามฝ่าฝืน จะได้จัดการไปตามนัยแห่งกฎหมายระหว่างประเทศและสัญญาทางไมตรีที่ใช้อยู่กับประเทศเป็นกลาง ณ ปัจจุบันนี้"
    ประกาศปิดอ่าวไทยครั้งที่ ๒

                วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เมื่อพลเรือตรี ฮูมานน์ ผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกลมาถึงเกาะสีชัง ก็ได้ออกประกาศปิดอ่าวฉับบที่ ๒ แก้ไขประกาศปิดอ่าวฉบับที่ ๑ มีความว่า
                "ข้าพเจ้า พลเรือตรี ฮูมานน์  ผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกลผู้ลงนามข่างล่างนี้ เนื่องจากฐานะแห่งการตอบแทนกระทำแก่กัน และกันระหว่างฝรั่งเศสกับไทย และโดยอาศัยอำนาจที่มีอยู่ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
                ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ค.ศ.๑๘๙๓ ฝั่งและเมืองท่าประเทศไทยตั้งอยู่
                    (๑)  ในระหว่างแหลมเจ้าลาย เส้นรุ้ง ๑๓ องศา ๐๒ ลิบดาเหนือ เส้นแวง ๙๗ องศา ๔๓ ลิบดา ตะวันออก และแหลมกระบัง เส้นรุ้ง ๑๓ องศา ๐๕ ลิบดาเหนือ เส้นแวง ๙๘ องศา ๓๑ ลิบดา ตะวันออก
                    (๒)  ในระหว่างแหลมทิศใต้เกาะเสม็ด เส้นรุ้ง ๑๒ องศา ๓๑ ลิบดาเหนือ เส้นแวง ๙๙ องศา ๐๖ ลิบดา ตะวันออก และแหลมลิง เส้นรุ้ง ๑๒ องศา ๑๑ ลิบดาเหนือ เส้นแวง๙๙ องศา ๕๘ ลิบดา ตะวันออก
                จะเป็นเขตที่กองเรือในบังคับของข้าพเจ้าทำการปิดอ่าวโดยแท้จริง บรรดาเรือของชาติที่เป็นไมตรีหรือเป็นกลาง ให้เวลาอีกสามวัน เพื่อบรรทุกสินค้าให้เสร็จ และถอยออกไปนอกเขต เขตปิดอ่าวกำหนดไว้ดังนี้
                    (๑)  เขตที่ ๑ ปิดตั้งแต่เส้นขีดจากแหลมเจ้าลาย ถึงแหลมกระบัง
                    (๒)  เขตที่ ๒ ปิดตั้งแต่เส้นขีดจากเกาะเสม็ด ถึงแหลมลิง
                เรือใดที่พยายามฝ่าฝืนการปิดอ่าวนี้ จะได้จัดการไปตามนัยกฎหมายระหว่างประเทศ และสัญญาทางไมตรีที่ใช้อยู่กับประเทศที่เป็นกลาง ณ ปัจจุบัน"
    ให้ถุงเมล์ผ่านเข้ากรุงเทพฯ ได้
                ได้มีการผ่อนปรนให้ถุงเมล์ผ่านเข้าไปกรุงเทพฯได้ โดยให้ปล่อยเรือที่นำถุงเมล์มาจากยุโรปให้เข้าไปจนถึงท่าจอดเรือเกาะสีชัง ด้วยเหตุผลตามที่พลเรือตรี ฮูมานน์ มีหนังสือแจ้งไปยังกลสุลเยเนราลฮอลแลนด์ที่ว่า เพื่อให้เป็นที่พึงพอใจแก่คณะทูตและกงสุล กับเพื่อไปไม่ให้ขักขวางการติดต่อในทางการค้าของชาวยุโรปในกรุงเทพฯ บรรดาจดหมายและไปรษรีย์ภัณฑ์ดังกล่าวทาง ม.ปาวี จะเป็นผู้จักส่งไปให้โดยเร็วที่สุด
    ไทยยอมรับคำขาด
                วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ได้นำหนังสือยอมรับคำขาดไปยื่นแก่ ม.เดอแวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส มีความว่า
                "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย ทรงเสียพระไทยอย่างยิ่ง เมื่อได้ทรงวิจารณ์เห็นว่า คำตอบของรัฐบาลไทยต่อคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งได้ยื่นมา ณ  วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ที่แล้วมา และเงื่อนไขต่างๆ ที่ได้บังคับมานั้น ถือเสมือนว่ายังไม่ให้ความพอใจแก่รัฐบาลฝัร่งเศสเท่าที่เรียกร้องมา ข้าพเจ้าจึงได้รับคำสั่งจากรัฐบาลของข้าพเจ้าให้แจ้งแก่ท่านว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงคำนึงถึงการที่จะรักษาสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสให้ดียิ่งไว้ จึงทรงยอมรับคำเรียกร้องของฝรั่งเศสโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างไร
                ข้าพเจ้าขอเสนอสาส์นนี้มาเป็นหลักฐาน ตามข้อความที่ท่านให้โอกาสแก่ข้าพเจ้า ได้มาเจรจากับท่านเมื่อเช้านี้ และขอแสดงให้ท่านเห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุผลที่ยังให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยอมตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสนั้นอยู่ดังนี้
                    (๑)  เพื่อระงับและขจัดเหตุวุ่นวายที่นับวันจะมียิ่งขึ้นในหมู่ประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งอันตรายได้
                    (๒)  เพื่อความสอบและสันติสุขของพลเมือง
                    (๓)  เพื่อรักษาสันติภาพไว้
                    (๔) เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการพาณิชย์
                    (๕)  เพื่อผูกความสัมพันธ์ในระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ในทางการทูตที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องขาดสะบั้นลงอย่างสลดใจนั้น
                    (๖)  เพื่อให้สัมพันธ์ไมตรี และความสนิทชิดเชื่ออันมีมาแล้ว ฐานที่เป็นประเทศใกล้เคียง และให้ผลประโยชน์ของประเทศทั้งสองคงเป็นอยู่ดังเดิม
                ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้นำข้อความดังกล่าวแล้วมาเรียนท่าน และเพื่อที่จะให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศสสิ้นสุดลง ข้าพเจ้าหวังไว้ว่า ทางรัฐบาลฝรั่งเศสคงจะเปลี่ยนคำสั่งที่สมควร อันเกี่ยวกับที่กองเรือฝรั่งเศสทำการปิดอ่าวไทยอยู่ในเวลานี้"
    บันทึกคำขาดเพิ่มเติม
                ม.เดอแวลล์ ได้ยื่นบันทึกทำนองคำขาดเพิ่มเติมให้ไทยยอมรับ อีกฉบับหนึ่งมีความว่า
                "การที่รัฐบาลไทยชักช้าไม่ยอมรับคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่ยื่นไปเมื่อ ๒๐ กรกฎาคม นั้น สมควรที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องทวีข้อมัดจำยิ่งขึ้น
                โดยปรารถนาจะให้เป็นพยานแห่งความผ่อนปรน ซึ่งเป็นหลักดำเนินรัฐประศาสน์โนบายของรับบาลฝรั่งเศสเป็นนตย์มา และเห็นว่าจำเป็นที่จะให้รัฐบาลไทยปฎิบัติตามนัย แห่งข้อเรียกร้องทุกๆ ข้อให้ครบ รัฐบาลฝรั่งเศสจะยึดปากน้ำ และเมืองจันทบุรีไว้ จนกว่ากองทหารไทยที่ตั้งมั่นอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจะถอนไปสิ้น และเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นแล้ว
                อนึ่ง เพื่อประกับมิตรภาพอันเคยมีมาแล้วระหว่างประเทศทั้งสอง และเพ่มไม่ให้เกิดความยุ่งยากขึ้นในบริเวณทะเลสาบ รัฐบาลไทยจะต้องไม่รวมกำลังทหารใดๆ ไว้ที่เมืองพระตะบองและเสีบมราฐ รวมทั้งเขตที่ตั้งอยู่ในระยะรัศมี ๒๔ กิโลเมตร บนฝั่งขวาแม่น้ำโขงนับแต่ดินแดนเขมรขึ้นไป รัฐบาลไทยจะจัดให้มีกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไว้ได้เท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาความสงบโดยแท้จริงเท่านั้น กับห้ามไม่ให้รัฐบาลไทยใช้หรือให้เรือหรือพาหนะทางเรือใด ๆ ที่ติดอาวุธเดินไปมาในทะเลสาบเขมร และในลำน้ำโขง
                รัฐบาลฝรั่งเศส จะสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะตั้งกงสุลไว้ที่เมืองนครราชสีมา และเมืองน่าน
                เมื่อรัฐบาลไทยรับปฏิบัติตามนี้แล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสจะได้เลิกปิดอ่าวทันที
                วันที่ ๑ สิงหาคม พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีสได้ไปแจ้งแก่ ม.เดอแวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศว่า รัฐบาลไทยยอมรับคำขาด และบันทึกคำขาดเพิ่มเติมทุกประการ
    อังกฤษประท้วงฝรั่งเศสเรื่องคำขาดที่ฝรั่งเศสยื่นให้ไทย
                ลอร์ดโรสเบอรี รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอังกฤษ ได้มีคำสั่ง ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ให้ลอร์ด ดัฟเฟอริน เอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำกรุงปารีส เปิดการเจรจากับ ม.เดอแวลล์ เรื่องคำขาดที่ฝรั่งเศสยื่นให้ไทย ลอร์ด ดัฟเฟอริน ได้เจรจากับ ม.เดอแวลล์ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม และได้รายงานไปยังลอร์ด โรสเบอรี มีใจความว่า
                ได้เจรจาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตีความหมายของคำที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะกำหนดลงในข้อ (๑) แห่งคำขาด อาทิ ขอให้ไทยถือว่า "ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง" เป็นเขตแดนด้านตะวันตกของดินแดนในปกครองของฝรั่งเศสในอินโดจีน ได้ย้ำถึงนัยต่าง ๆ ถึงการใช้คำนี้ จะมิหมายจะเรียกร้องถือสิทธิเหนือดินแดนอันกว้างใหญ่ของไทย ซึ่งแผ่ไปทางทิศตะวันออกจนจดดินแดนญวนเอาเป็นของฝรั่งเศส และหมายไปถึงดินแดนภาคเหนือของแม่น้ำโขงตอนเหนือ และที่ประชิดกับดินแดนประเทศจีน รวมทั้งแคว้นอื่น ๆ อันอยู่ถัดขึ้นไป ซึ่งได้รวมเข้ากับอาณาจักรอินเดียของสมเด็จพระนางเจ้า (อังกฤษ) ภายหลังที่ได้ปราบปรามพม่าลงเรียบร้อยแล้ว
                ม.เดอ แวลล์ตอบว่า ฝรั่งเศสกำลังเกี่ยวข้องอยู่กับประเทศไทย ประเทศเดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับดินแดนอื่นนอกไปจากราชอาณาจักรไทย และรับรองว่าตามข่าวที่ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสประสงค์จะเข้าครองดินแดนไทย คือพระตะบอง และเสียมราฐ นั้น ไม่เป็นความจริงเลย
                ลอร์ด ดัฟเฟอริน ได้แสดงให้เห็นในแผนที่ว่า แม่น้ำโขงได้หักโค้งเต็มที ณ ที่เหนือเส้นรุ้งที่ ๑๘ โดยหักโค้งไปทางใต้ และทางตะวันออกต่อไปที่แนวเส้นรุ้งที่ ๒๐ ก็หักโค้งเช่นเดียวกันอีก จึงได้ถาม ม.เดอ แวลล์ว่า ดินแดนอันกว้างใหญ่ที่ตั้งอยู่ระหว่าง แม่น้ำโขงกับเส้นกั้นเขตแดนที่แท้จริงของฝรั่งเศส ดังที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ฝรั่งเศสเวลานี้รวมทั้งหลวงพระบาง และแคว้นอื่น ๆ ด้วยนั้น ฝรั่งเศสจะเรียกร้องเอาว่าตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงด้วยหรือไม่ ม.เดอ แวลล์ตอบว่าจะต้องนับรวมด้วย การที่เรียกร้องสิทธิเหนือหลวงพระบาง และแว้นแคว้นใกล้เคียง ก็เพราะถือว่าเป็นดินแดนแต่โบราณมา และตามประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่แก่ญวน ญวนยืนยันว่าอธิปไตยแห่งดินแดนของญวนนั้นแผ่ไปตลอดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
                ลอร์ด ดัฟเฟอรินได้ขอให้ ม.เดอ แวลล์ ระลึกถึงการเจรจาที่ ม.แวดดิงตอน (ออท.ฝรั่งเศสประจำกรุงลอนดอน) ที่ได้เจรจากับ ลอร์ด ซอลิสเบอรี (รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษคนก่อน) ม.แวดดิงตอน ได้ปฏิเสธอย่างชัดแจงว่า มิได้มีความประสงค์จะเรียกร้องกรรมสิทธิดังกล่าวนี้ในนามของรัฐบาลฝรั่งเศสแม้แต่ในส่วนใด ๆ เลย
                จากนั้นได้ย้อนไปถึงเรื่องที่ฝรั่งเศสตั้งใจจะรวมเอาหลวงพระบางกับแคว้นอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง อันมีพื้นที่รวมกันเพียง ๑๐๐,๐๐๐ ตารางไมล์ ซึ่งทั่วโลกได้รับรองกันมาหลายปีแล้วว่า เป็นดินแดนส่วนหนึ่งอันจะแบ่งแยกมิได้ของราชอาณาจักรไทย เอาเป็นของฝรั่งเศส..... การที่ฝรั่งเศสจะเข้าครองดินแดนอันกว้างใหญ่ส่วนหนึ่งแบ่งราชอาณาจักรไทย ซึ่ง ม.เดอแวลล์ กับรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้เคยรับรองไว้แล้วว่า แม้จะมีข้อทุ่มเถียงกับไทยในเรื่องแม่น้ำโขงตอนใต้ ก็จะไม่ยกเอามาเป็นสาเหตุย่ำยี บูรณะภาพและอิสระภาพของไทยเลย..... เหตุใดคำรับรองนี้..... จึงกลับกลายไปเป็นการเชือดเฉือนดินแดนของราชอาณาจักรนี้ไปเกือบหนึ่งในสาม
                ลอร์ด ดัฟเฟอริน ได้กล่าวถึงข้อตกลงของรัฐบาลทั้งสองแต่เดิม ที่คิดจะปกปักรักษาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีอิสระภาพสมบูรณ์ จะได้เป็นรัฐกันชน ระหว่างมหาประเทศทั้งสอง
                ลอร์ด ดัฟเฟอริน ได้กลับมากล่าวถึงเรื่องเดิมต่อไปว่า ฐานะเหตุการณ์จะน่าวิตกเพียงไร ถ้าหากฝรั่งเศสจะบังคับบีบคั้นไทยเกินกว่าที่ถูกที่ควร โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์อันชอบธรรมของประเทศอื่น ๆ ด้วย..... ฝรั่งเศสรู้ชัดอยู่แล้วว่า ฝรั่งเศสไม่มีสิทธิโดยชอบอย่างใด ๆ ในดินแดนนั้น ๆ และฝรั่งเศสจะเสี่ยงอันตรายในความยุ่งยาก ซึ่งอาจบังเกิดขึ้นโดยจะเลี่ยงเสียมิได้ ถ้าหากฝรั่งเศสจะเรียกร้องกรรมสิทธิเหนือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงโดยไม่มีความหมายที่จำกัด และด้วยคำเรียกร้องที่กินความกว้างนั้น ตามความในข้อ (๑) แห่งคำขาด มีข้อความโน้มไปในทางจะเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเขตแดนของเขมรและญวน..... ม.เดอ แวลล์ จะต้องเข้าใจว่า แม้หากว่าในเบื้องต้นแห่งการพิพาท รัฐบาลอังกฤษจักได้ถือว่าเป็นความเข้าใจผิด ระหว่างฝรั่งเศสกับไทย เกี่ยวกับปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดนทางแม่น้ำโขงตอนใต้ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากการที่รัฐบาลอังกฤษจะรู้เห็นด้วยก็จริง แต่บัดนี้เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปรไปอีกอย่างหนึ่ง เนื่องด้วยข้อเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นภัยกระทบต่อบูรณภาพของราชอาณาจักรไทย ทำให้ดินแดนฝรั่งเศสใกล้กรุงเทพ ฯ เข้าไปถึงกึ่งทาง และทำให้ฝรั่งเศสประชิดติดต่อกับเราเองด้านพม่า การเปลี่ยนรูปข้อเรียกร้องนี้...ยังให้เกิดความหวั่นไหวขึ้นภายในวงการบริหารของรัฐบาลแห่งสมเด็จพระนางเจ้า
                ม.เดอ แวลล์ กล่าวว่าความในข้อ (๑) แห่งคำขาดนั้น ได้พิมพ์ประกาศออกไปทั่วโลกแล้ว และประชาชนชาวฝรั่งเศสก็ทราบแล้ว ไม่อาจจะแก้ไขได้..... คนไทยได้ทำผิดหลายประการ ได้ทำการย่ำยีคนในบังคับฝรั่งเศส ยิงเรือรบฝรั่งเศส..... ถ้าเป็นอังกฤษหากประสงค์อย่างนี้ก็จะต้องดำเนินการอย่างเดียวกัน
                ม.เดอ แวลล์ พร้อมที่จะรับรองความเห็นในเรื่องรัฐกันชน (Buffer State ) ระหว่างดินแดนของอังกฤษ และของฝรั่งเศสในเอเซียเสมอ

    ฯลฯ
                ต่อคำถามที่ว่า ถ้าหากไทยไม่ยอมปฏิบัติตามคำขาดจะทำอย่างไร ม.เดอ แวลล์ ตอบว่า ในกรณีนี้คณะฑูตฝรั่งเศสจะลงโดยสารเรือของรัฐบาลลำใดลำหนึ่ง ซึ่งทอดสมออยู่ที่กรุงเทพ ฯ กองเรือรบฝรั่งเศสก็จะถอยออกมานอกปากน้ำเจ้าพระยา และคงจะคิดปิดอ่าว ในข้อนี้ลอร์ดดัฟเฟอรินได้คัดค้าน การปิดอ่าวในลักษณะนี้ เท่ากับขี่ม้าของผู้อื่นแล้วสับด้วยสเปอร์ของตน จะเป็นเหตุให้ผลประโยชน์ของเยอรมัน และอังกฤษเสียหายมาก.....
                ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ลอร์ด ดัฟเฟอริน ได้เจรจากับ ม.เดอ แวลล์อีก และได้รายงานให้ ลอร์ด โรสเมอรี มีความว่า
                ม.เดอ แวลล์ ได้กล่าวโทษไทยเรื่องตอบคำขาดของฝรั่งเศสอย่างก้าวร้าว จึงได้แย้งไปว่า คนไทยยังไม่สู้คุ้นเคยสันทัดต่อภาษาการฑูตชั้นสูง ๆ ของชาวยุโรป และความจริงไทยก็ได้ยินยอมตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสทุกประการแล้ว เว้นแต่ความในข้อ (๑) ของคำขาดเท่านั้น ม.เดอ แวลล์ได้โต้แย้งต่อไปอีกว่า ไทยยังยืนยันว่าถ้าหากเงินชดใช้ค่าเสียหายนั้น...ยังเหลืออยู่เท่าใดจะต้องส่งคืน..... ม.เดอ แวลล์ ยังคงยึดมั่นอยู่ในหลักสองประการของเขาคือ
                    ๑)  หลวงพระบางเป็นเมืองขึ้นของญวน และ
                    ๒)  ญวนได้ถือสิทธิถึงฝั่งแม่น้ำโขงนี้มาแต่ครั้งโบราณ
                ลอร์ดดัฟเฟอริน จึงแย้งว่า การที่จะอ้างตามประวัติศาสตร์ของญวนว่าหลวงพระบางเป็นเมืองขึ้นนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่ปลอดภัยนัก เพราะอังกฤษก็อาจจะอ้างเอาได้เหมือนกัน เพื่อให้ฝรั่งเศสคืนแคว้น นอร์มังดี (Noemandy) กาสโคนี (Cascony) และเกียน (Guiene) ให้แก่เรา ม.เดอ แวลล์ ก็ได้ทราบว่าในสมุดรายงานประจำปีของฝรั่งเศสทุก ๆ ฉบับ ก็ได้แสดงว่า ลงหลวงพระบางเป็นส่วนหนึ่งอันจะแบ่งแยกมิได้ของราชอาณาจักรไทย จนกระทั่งถึงเมื่อปีหนึ่งที่ล่วงมานี้..... จะได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแปลกประหลาดขึ้นในความคิดของนักภูมิศาสตร์ฝรั่งเศส..... เขตของแคว้นที่เป็นปัญหานี้ ได้เป็นส่วนที่แนบสนิทในดินแดนของประเทศไทยเกือบร้อยปี แล้วฝรั่งเศสจะยื้อแย่งเอาเป็นของฝรั่งเศส โดยไม่ละเมิดต่อคำสัญญาเดิมที่ให้ไว้ต่ออังกฤษ ในข้อที่ว่าจะไม่ทำการอันใดอันเป็นภัยต่อบูรณภาพของประเทศไทยนั้นไม่ได้ การที่ฝรั่งเศสอ้างประวัติศาสตร์โบราณเพื่อรุกรานดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงนั้น..... ยังจะผิดตรงกันข้ามกับอนุสัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ปี ค.ศ.๑๘๘๖ ด้วยอีกสถานหนึ่ง เพราะอนุสัญญาฉบับนั้น ฝรั่งเศสได้ขอสิทธิที่จะตั้งกงสุลไปประจำไว้ที่หลวงพระบาง นี่เป็นข้อพิสูจน์อยู่ในตัวแล้วว่า แคว้นนั้นเป็นดินแดนของไทย  ม.เดอ แวลล์ แก้ว่าคณะรัฐมนตรีฝรั่งเศส มิได้ยอมให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาฉบับนั้น.....
                ม.เดอ แวลล์ ได้พยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนคำโต้แย้งของเขาหลายประการ และยังพยายามพูดกลบเกลื่อนความคิดที่จะรวมเอาดินแดนตอนนี้ ในที่สุดก็ได้กล่าวว่า คำขาดได้ประกาศไปทั่วประเทศฝรั่งเศส และประเทศไทย ในขณะนี้มติมหาชนกำลังไหวตัวเป็นการสุดวิสัยที่รัฐบาลจะเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงได้
                ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ลอร์ด ดัฟเฟอริน ได้เจรจากับ ม.เดอ แวลล์อีก เริ่มด้วยการที่จะจัดตั้งรัฐกันชนขึ้นในระหว่างดินแดนของฝรั่งเศสและของอังกฤษ และคำขาดข้ออื่น ๆ และได้รายงานไปยังลอร์ด โรสเมอรี มีความว่า
                "ได้พูดถึงความในคำขาด ข้อ (๖) ที่ให้จ่ายเงินสามล้านฟรังค์ โดยทันทีเพื่อเป็นมัดจำประกันข้อเรียกร้องในข้อ (๔) และ (๕) จึงได้ขอคำอธิบายเพิ่มเติม เพราะเพิ่งได้อ่านพบความเห็นในหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่ง ม.เดอ ลา เนสซัง ผู้สำเร็จราชการแห่งอินโดจีนคนปัจจุบันเป็นผู้เขียน ม.เดอ ลา เนสซัง ได้เสนอขอให้เลิกสัญญาทางไมตรี ระหว่างฝรั่งเศสกับไทย เมื่อปี ค.ศ.๑๘๖๗ (สัญญาฉบับนี้ฝรั่งเศสยอมรับรองโดยเปิดเผยว่า ไทยมีกรรมสิทธิเหนือเมืองพระตะบองและเสียมราฐ ) และให้รวมเมืองทั้งสองเข้าไว้ในเขตแดนของฝรั่งเศส จึงได้กล่าวว่า อิสรภาพและบูรณภาพของประเทศไทย เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องสงวนไว้จนถึงวินาทีสุดท้าย..... แทนที่จะให้คำรับรองโดยตรง ม.เดอ แวลล์ กลับพลิกเรื่องไปยืดยาว...ยกเอาข้อความที่ไทยได้โต้ตอบคำขาดของฝรั่งเศสมาอ้างอีกอย่างแค้นเคืองมาก และอ้างว่าไทยคงจะประสงค์ให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น เพื่อพิจารณาคำเรียกร้องค่าทำขวัญแก่ชาวฝรั่งเศสผู้เสียชีวิต..... การที่ประเทศเล็กทำรีรอชักช้า และขอแก้ข้อความอย่างไม่เคารพต่อมหาประเทศเช่นฝรั่งเศสนี้ นับว่าเป็นภาวะที่สุดแสนจะให้เป็นไปได้ เป็นความชอบธรรมแท้ที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องใชกำลังทหาร หรือใช้วิธีใดวิธีหนึ่งบังคับเอาเท่าที่จะเห็นสมควร...... สังเกตเห็นว่า ม.เดอ แวลล์ กระหายที่มีสิทธิเต็มที่ในแคว้นพระตะบอง และเสียมราฐ..... ม.เดอ แวลล์ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า ถ้าไทยยอมปฏิบัติตามคำขาด รวมทั้งข้อ (๑) ด้วยโดยบริสุทธิใจและเรียบร้อยแล้ว คำขู่ที่จะใช้กำลังทหารต่อไปก็จะระงับเสีย"

    • Update : 28/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch