|
|
เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒/7
เหตุการณ์ภายหลังการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา
การดำเนินการของฝรั่งเศส
คำสั่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศส
เมื่อเกิดการสู้รบกันขึ้นที่ปากน้ำเจ้าพระยาในตอนเย็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม แล้ว ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสได้รายงานเหตุการณ์ไปยังกรุงปารีสโดยทันที และในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ม.เดอ แวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสได้โทรเลขมายัง ม.ปาวี มีความว่า
"ให้ท่านขอคำอธิบายจากเสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศโดยทันที ตามเหตุการณ์ที่บอกมาในโทรเลขเมื่อเย็นวานนี้ เราก็ได้แสดงความตั้งใจอย่างสงบของเราแก่รัฐบาลไทยแล้ว และก็ไม่ใช่ไม่รู้ว่าเราได้สั่งไปยังนายพลเรือ ฮูมานน์ นี้แล้ว ให้เรือของเราหยุดอยู่ที่สันดอน เรื่องนี้จะได้ทูลให้พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ทรงทราบเอง"
ในสภาพการณ์เช่นนี้ จึงเป็นกลอุบายแท้ จะหาเหตุผลมาพิสูจน์ไม่ได้
ให้ท่านคัดค้านให้เต็มที่ ยกความรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันนี้ ว่าเป็นการริเริ่มของรัฐบาลไทยดำเนินการขึ้น บรรดาเรือรบให้ทอดสมออยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อถูกโจมตีหรือถูกขู่เข็ญ ให้เริ่มลงมือยิงได้
ทางกรุงเทพ ฯ เหตุการณ์ตึงเครียดมาก ได้พยายามทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายมิให้เกิดการสู้รบกันขึ้นอีก ฝ่ายฝรั่งเศสคงยืนยัน และบีบบังคับให้ไทยตกลงยินยอมตามคำเรียกร้องของตนยิ่งขึ้น โดยมีเรือรบสามลำจอดอยู่ในกรุงเทพ ฯ และยังมีกองเรือในบังคับบัญชาของนายพลเรือ ฮูมานน์ เป็นกำลังคอยสนับสนุนอยู่ในทะเลอีกด้วย เป็นการแสดงกำลังเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการเจรจาทางการฑูตให้แก่ฝรั่งเศส
รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสแถลงในสภา
วันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสได้ประชุมที่รัฐสภาในกรุงปารีส ได้ถามรัฐบาลถึงเรื่องฝรั่งเศสกับไทย วิวาทบาดหมางกันหลายประการ ม.เดอแวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสได้ตอบมีความว่า
ตามที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ดำริเมื่อไม่นานมานี้ ทุกคนคงไม่ลืมมูลเหตุซึ่งทำให้เกิดการวิวาทกัน คำร้องทุกข์ของฝรั่งเศสที่กล่าวว่ารับบาลไทยทำการข่มเหงเราก่อน เหตุอันนี้ใช่แต่รัฐบาลไทยทำการหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมทำขวัญราษฎรของเรา ซึ่งได้รับความกดขี่ข่มเหงเท่านั้น รัฐบาลไทยยังบุกรุกล่วงเข้ามาชิงเอาดินแดนของเมืองเขมร และเมืองญวนซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเราไปด้วย ไม่อาจกล่าวได้ว่าไทยได้ตั้งต้นล่วงแดนเข้ามาแต่เมื่อใด เพราะเรานิ่งเฉยเสียช้านานมิได้คิดจัดการป้องกัน ประเทศไทยจึงกล้าหาญให้ทหารเข้ามาตั้งด่านอยู่ห่างกรุงเว้เมืองหลวงของญวน ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร และเข้ามาตั้งด่าน ณ ที่ตำบลอื่น ๆ อีกหลายแห่ง เพื่อจะตัดทางระหว่างตั้งเกี๋ยกับญวนให้ขาดจากกันเสีย รัฐบาลฝรั่งเศสจะนิ่งยอมให้ไทยข่มเหงล่วงแดนอย่างนี้ต่อไปอีกไม่ได้ อนึ่งได้เห็นอยู่เสมอว่า ดินแดนซึ่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายลำน้ำโขงนี้ ควรจะยกเอาเป็นอาณาเขตทางทิศตะวันตกของเมืองทั้งหลายของเรา และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ก่อนนี้ ม.เดอคาสเซ ปลัดกระทรวงประเทศราชก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ในที่ประชุมนี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็เห็นชอบด้วยทุกประการ จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ที่ควรจะต้องจัดการเอาตามอำนาจอันชอบธรรมของประเทศฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงได้ตั้งใจจะเอาดินแดนฝั่งซ้ายแห่งลำน้ำโขงกลับคืนมาให้จงได้
การจัดการเรื่องนี้ให้สำเร็จได้นั้นมีอยู่สองทาง เราต้องเลือกเอาทางหนึ่ง ทางหนึ่งย่อมเป็นเกียรติยศและสง่าแก่เรา คือให้กองทัพเรือยกไปกรุงเทพ ฯ แล้วยื่นคำขาดไปยังรัฐบาลไทย ขอให้เรียกทหารไทยทั้งหมดกลับมายังฝั่งขวาของลำน้ำโขง เมื่อทำดังนี้แล้วเห็นว่าการจะสำเร็จได้โดยเร็ว แต่เราไม่สามารถจะห้ามผลอันร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นจากสาเหตุนี้ได้ ด้วยกรุงเทพ ฯ มีประชากรอยู่ถึง ๓๕๐,๐๐๐ คนเศษ รวมคนชาติต่าง ๆ อยู่ในบังคับต่างประเทศด้วย เมื่อเกิดการสู้รบขึ้นในกรุงเทพ ฯ แล้วก็จะเกิดโจรผู้ร้ายปล้นสะดมภ์กันขึ้นวุ่นวายมาก และบางทีเราอาจต้องยึดเอาเมืองและเขตแดนบางแห่งไว้ด้วย ดังนั้น เราก็ต้องยกกองทัพเพิ่มเติมไปอีก รัฐบาลก็จะต้องปรึกษาหารือกับรัฐสภาเสียก่อน เพื่อจะขอทหารและเงิน และในระหว่างนั้น การโจรกรรมปล้นสะดมภ์กัน ก็อาจเป็นเหตุให้ประเทศอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในการป้องกันคนในบังคับของเขา อนึ่ง เมื่อต้องมีการรบกันขึ้นที่กรุงเทพ ฯ แล้วก็อาจเป็นเหตุทำลายความเป็นเอกราชของประเทศไทยเสียได้ แต่การนี้เรามิได้มุ่งหมายจะทำลายเสียเอง เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วนี้ รัฐบาลจึงมิได้ยกกองทัพเรือเข้าไปในกรุงเทพ ฯ
เราจึงได้เลือกเอาแนวทางอื่น คือรัฐบาลได้สั่งให้ผู้สำเร็จราชการเมืองญวน เขมร และตังเกี๋ย รวบรวมทหารญวนไว้ตามแต่จะได้ แล้วให้ยกจากเมืองไซ่ง่อนไปเมืองเว้ ไปยังลำน้ำโขง ให้ก้าวสกัดไล่ต้อนทหารไปให้หมด การนี้ก็น่าจะเร็วได้ดังประสงค์ ทหารไทยมิใคร่ได้ต่อสู้กับทหารของเรา เราจึงตีเอาเขตแดนกลับคืนมาได้โดยยาว ประมาณ ๓๐๐ ไมล์ ถึงกระนั้นก็ดี ก็ยังเกิดการสู้รบกันถึงสองครั้ง ด้วยทหารไทยที่ถอยไปจากดอนสาครนั้น กลับพยายามจะเข้าตีกลับคืน แล้วจับเอาร้อยเอกโทเรอซ์กับทหารไปได้ จึงได้มีคำสั่งให้ ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสให้แจ้งความต่อรัฐบาลไทยว่า ถ้าไทยไม่ปล่อยร้อยเอกโทเรอซ์แล้ว ก็ให้ ม.ปาวี ลาออกจากกรุงเทพ ฯ ให้เชิญราชฑูตไทยประจำกรุงปารีสมาพบ และแจ้งว่าถ้าไม่ปล่อยร้อยเอกโทเรอซ์แล้ว ตัวราชฑูตก็จะต้องออกจากกรุงปารีสเช่นกัน แล้วรัฐบาลก็ได้รับคำปฏิญาณจากรัฐบาลไทยว่า จะปล่อยตัวร้อยเอกโทเรอซ์ และก็ได้รับการปล่อยตัวมา ต่อมาอีกครั้ง ม.โกรสกูแรง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้รับคำสั่งให้พาข้าหลวงไทยคนหนึ่ง (พระยอดเมืองขวาง) ส่งกลับไปให้พ้นแดนเพื่อจะได้ป้องกันมิให้ราษฎร ซึ่งมีน้ำใจเจ็บแค้นทำอันตรายได้ตามทาง ข้าหลวงไทยผู้นั้นกลับลอบสั่งให้ทหารเข้าไปฆ่า ม.โกรสกูแรง ถึงในที่พัก...รัฐบาลไทยมิได้โต้แย้งว่าไม่ผิดเลย แต่ขอผลัดเวลาไต่สวน ถ้าได้ความจริงก็จะยอมทำขวัญตอบแทนให้ ในระหว่างนี้เราเห็นว่าควรจะต้องเจรจากันในปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนลำน้ำโขง และเรื่องอื่น ๆ ที่ยังค้างอยู่ให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน แต่ไม่เห็นควรที่จะเจรจาตกลงกันที่กรุงปารีส จึงตั้งให้ ม.เลอมีร์ เดอ วิเลร์ส เป็นอัครราชฑูตพิเศษเข้าไปกรุงเทพ ฯ ..... ได้ออกเดินทางจากกรุงปารีสเมื่อวันเสาร์ในสัปดาห์ก่อน จะได้ให้เรือรบไปรับที่เมืองสิงคโปร์ส่งไปกรุงเทพ ฯ
เราแน่ใจว่าการเจรจาปรึกษาปรองดองกันนี้ จะตกลงกันได้โดยเร็ว เผอิญมาเกิดเหตุร้ายเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม..... ในเรื่องนี้คนทั้งหลายพากันติว่าข้าพเจ้าได้แสดงความนบนอบอ่อนน้อมต่อรัฐบาลอังกฤษมากเกินไป..... มีผู้ถามว่าได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ต่อรัฐบาลอังกฤษอย่างไรบ้าง... รัฐบาลอังกฤษมิได้ขอคำมั่นสัญญาอะไร...เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ค.ศ.๑๘๙๒ ลอร์ดโรส เบอรี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษได้บอกแก่ ม.เวดดิงตอน เอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงลอนดอนว่า อัครราชฑูตไทยประจำกรุงลอนดอน ได้มาหาลอร์ดโรสเบอรีร้องว่า ฝรั่งเศสบุกรุกล่วงเข้ามาแย่งชิงเอาดินแดนลำน้ำโขง ลอร์ดโรสเบอรีจึงตอบว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเรื่องนี้ ต่อมาลอร์ดดัฟเฟอรีน เอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำกรุงปารีสแจ้งว่า การพิพาทระหว่างฝรั่งเศสกับไทยด้วยเรื่องเขตแดนนั้น อังกฤษจะไม่เข้ามาขัดขวาง..... ประเทศฝรั่งเศสไม่มีเจตนาจะคิดทำลายความเป็นเอกราชของไทย รัฐบาลฝรั่งเศสคิดแต่จะจัดการช่วยประชาชนทั้งหลายให้พ้นภัยอันตรายเท่านั้น ด้วยประเทศฝรั่งเศสได้เสียทหารและเงิน เพราะการช่วยคนเหล่านี้มามากแล้ว
ต่อมา บรรดาหนังสือพิมพ์พากันลงข่าวอันน่าตกใจ เป็นเหตุให้มหาชนในยุโรป พากันแตกตื่นมากมาย มีคนประเทศอังกฤษ และฮอลแลนด์เป็นต้น ลงข่าวว่ากองทัพเรือฝรั่งเศสได้ยกไปยังกรุงเทพ ฯ แล้ว และจะเข้ามายิงกรุงเทพ ฯ เมื่อเป็นดังนั้น จึงเห็นว่าเราควรจะต้องบอกให้รัฐบาลอังกฤษ และรัฐบาลฮอลแลนด์ทราบว่า เรามิได้มีความประสงค์จะมีคำสั่งให้ลงมือทำการเช่นนั้นเลย และถ้าหากเราจำต้องทำดังนั้น ก็จะต้องบอกให้รัฐบาลทั้งสองทราบล่วงหน้าก่อน ใช่แต่เท่านั้นรัฐบาลก็จะต้องขออนุญาตต่อที่ประชุมนี้เสียก่อนเหมือนกัน..... อนึ่ง อังกฤษก็ได้ให้เรือรบเข้าไปจอดอยู่ในกรุงเทพ ฯ ลำหนึ่งแล้ว และกำลังแล่นไปกลางทางอีกลำหนึ่ง และยังจะไปเพิ่มเติมอีกลำหนึ่ง รวมสามลำด้วยกัน ข้าพเจ้าได้มีโทรเลขไปยังผู้รักษาราชการแทนเอกอัครราชฑูตของเรา ในกรุงลอนดอนว่า เมื่อวานนี้ เซอร์ เอดเวิร์ด เกรย์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้พูดประกาศในรัฐสภาด้วยเรื่องไทยกับฝรั่งเศสนั้น เห็นว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องชี้แจงเรื่องพิพาทกับไทยต่อ ลอร์ดโรสเบอรีว่า ฝรั่งเศสจะต้องจัดการห้ามมิให้ไทยบุกรุกล่วงดินแดนเข้ามาอีกได้..... ขอให้รัฐบาลของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระราชินีอังกฤษพึงเข้าใจว่า เราจะนิ่งเฉยอยู่อีกไม่ได้แล้ว..... จำเป็นจะต้องลงมือโดยเรี่ยวแรง ที่จะให้รัฐบาลไทยยอมตามคำขอร้องอันยุติธรรมของเราให้จงได้
เมื่อประเทศไทยเห็นว่า กระทรวงต่างประเทศอังกฤษได้พูดประกาศในรัฐสภาว่าด้วยเรื่องที่จะให้เรือรบอังกฤษ เข้าไปกรุงเทพ ฯ นั้น ไทยก็คิดกล้าขึ้นในการสู้รบต่อไป..... เพราะ เซอร์ เอด เวิร์ด เกรย์ และ ลอร์ด ดัฟเฟอรี ได้กล่าวถ้อยคำไว้อย่างหนึ่ง ทำให้เราเชื่อว่ารัฐบาลของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระราชินีอังกฤษ จะนิ่งอยู่เป็นกลางไม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยการพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเลย
.....ลอร์ด โรส เบอรี ตอบว่า การที่อังกฤษให้เรือรบเข้าไปกรุงเทพ ฯ นั้น ไม่ได้คิดจะเข้าไปช่วยประเทศไทยเลย ไปเพื่อประสงค์จะให้เข้าไปป้องกันคนในบังคับอังกฤษ เมื่อมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นเท่านั้น ฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศสจึงเห็นว่าควรจะให้เรือรบฝรั่งเศสเพิ่มเติมเข้าไปในกรุงเทพ ฯ บ้างเหมือนกัน ครั้นวันที่ ๘ กรกฎาคม จึงมีคำสั่งทางโทรเลขไปยัง ม.ปาวี ราชฑูตของเราที่กรุงเทพ ฯ..... ขอให้แจ้งความแก่รัฐบาลไทยทราบว่า เรือรบฝรั่งเศสจะเข้ามารวมกับเรือลูแตงอีก..... อย่าให้เรือรบลงมือรบเป็นอันขาด เว้นไว้แต่ได้บอกมาให้รัฐบาลรู้เสียก่อนเท่านั้น แต่ถ้าฝ่ายศัตรูยิงเราก่อนจึงให้ยิงตอบโต้ป้องกันตัว ต่อมาอีกสองวันรัฐบาลไทยจึงแจ้งความว่า ไทยจะให้นานาประเทศส่งเรือรบเข้ามาในกรุงเทพ ฯ ประเทศละหนึ่งลำเท่านั้น.....
เมื่อเราต้องรักษาอำนาจอันชอบธรรมอันมีอยู่ตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีในปี ค.ศ.๑๘๕๖ นั้น จึงได้มีคำสั่งไปว่า อย่าเพิ่งให้เรือรบของเราแล่นล่วงสันดอนไปก่อนที่เราจะได้สั่งต่อไปภายหลัง แต่การบอกข่าวไปมาต่อประเทศไทยนั้น ย่อมชักช้าไม่เรียบร้อยเสมอได้ คำโทรเลขจึงมิได้ไปถึงทันเวลา เมื่อการเป็นดังนี้แล้วมีเหตุอันใดเกิดขึ้นเลย ป้อมไทยและเรือรบไทยก็ยิงเรือเรา คือเรือแองคองสตังต์และเรือโคแมต ฝ่ายพวกทหารเรือของเราก็กล้าหาญ สามารถแล่นเรือฝ่าตอร์ปิโดเข้าไป ข้ามสันดอนมิได้มีสิ่งใดขัดขวาง แล้วแล่นเลยไปจอดทอดสมออยู่ในกรุงเทพ ฯ ม.ปาวี และรัฐบาลไทยก็รู้ชัดอยู่แล้ว การที่เราให้เรือรบเข้าไปนั้น ก็มีความมุ่งหมายต่อทางพระราชไมตรีอย่างเดียวเท่านั้น ฝ่ายรัฐบาลไทยก็ยอมรับอยู่ว่า หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ปี ค.ศ.๑๘๕๖ ซึ่งยังมิได้เลิกถอนคงใช้อยู่เสมอ ถึงกระนั้นก็ดียังกลับมีคำสั่งให้ยิงเรือรบของเรา เหตุฉะนี้จึงขอประกาศว่า นายเรือของเรากลับต้องเป็นเหยื่อในการสู้รบ ซึ่งเป็นเหตุทำลายล้างอำนาจอันชอบธรรมของนานาประเทศ ครั้นรุ่งขึ้น พวกไทยในกรุงเทพ ฯ กลับจมเรือ ยี.เบ.เซย์ ซึ่งเป็นเรือค้าขายของคนฝ่ายเราเสีย แล้วกลับทำการข่มเหงพวกกลาสีต่าง ๆ อีก
ความจริงเกิดขึ้นดังนี้แล้ว บัดนี้เราจะต้องคิดทำการอย่างใดต่อไป การที่รัฐบาลไทยกระทำลงแล้วนั้น ไม่อาจที่จะทำให้เรานิ่งอยู่ต่อไปอีกได้ เราจะต้องรู้โดยทันทีว่า รัฐบาลไทยจะยอมให้สิ่งตอบแทนอันพอใจแก่เราหรือไม่ ในเหตุที่เกิดขึ้นแล้วในลำน้ำโขง การฆ่า ม.โกรสกูแรง และการทำลายหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ค.ศ.๑๘๕๖ นี่เป็นการขอเล็กน้อย ที่เป็นเกียรติยศของประเทศฝรั่งเศสและผลประโยชน์ของเมืองขึ้นของเราในทิศตะวันออกจะต้องร้องขอเอา เรามิได้มีความมุ่งหมายจะคิดทำลายล้างความเป็นเอกราชของประเทศไทย แต่เรามีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะต้องได้รับคำตอบที่พึงพอใจ ถ้ามิยอมให้แล้ว ก็จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องคิดการสืบไป พึงให้ความไว้วางใจในความคิดของรัฐบาล จงทุกท่าน
ฝรั่งเศสยื่นคำขาด
ภายหลังการประชุมหารือกันในรัฐสภาฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ รัฐสภาได้ลงมติมอบอำนาจให้รัฐบาลฝรั่งเศส จัดการให้รัฐบาลไทยรับรอง และเคารพสิทธิของฝรั่งเศส ตามคำแถลงของ ม.เดอแวลล์ ดังนั้นในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ม.เดอแวลล์ จึงได้โทรเลขถึง ม.ปาวี ให้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาลไทยมีความดังนี้
"ณ บัดนี้พอจะรู้ได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ร้ายแรงเพียงใด รัฐบาลไทยจะต้องรับผิดยิ่งขึ้น ไปอีกอย่างไรนอกจากที่เคยทำกับเรามาแล้ว เราควรคำนึงตามที่ชอบด้วยว่า หน้าที่รัฐบาลไทยจะต้องรีบคิดจัดการแก้ไขฐานะความเป็นไปนี้เสียโดยเร็ว แต่ตรงกันข้าม..... รัฐบาลไทยยังขืนทำโอ้เอ้ขัดต่อการที่เราเรียกร้องไป เราจะปล่อยให้เป็นไปดังนี้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว
ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ให้ไปเฝ้ากรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ ชี้ให้เห็นเป็นครั้งสุดท้ายถึงข้อร้ายแม้ตามความสัตย์จริง เรามิได้คิดจะขู่เข็ญความเป็นเอกราชของไทย ก็อาจทำให้ไทยหมิ่นอันตรายหากไม่ยอมทำตามที่เราเรียกร้องไปโดยทันที ให้นำข้อความนี้ไปแจ้งให้ทราบ
รัฐบาลฝรั่งเศสบังคับดังต่อไปนี้
(๑) ให้เคารพสิทธิของญวน และเขมร เหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายลำน้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำนี้
(๒) ให้ถอนทหารไทยที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน หนึ่งเดือน
(๓) ให้เสียค่าปรับไหมแก่ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน และทั้งในการที่ได้ทำอันตราย และความเสียหายแก่เรือและทหารประจำเรือฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา
(๔) ให้ลงโทษผู้กระทำผิดและเสียเงินค่าทำขวัญแก่ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต
(๕) ให้เสียเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ เป็นค่าปรับไหมในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดแก่ชนชาติฝรั่งเศส
(๖) ให้จ่ายเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ ชำระเป็นเงินเหรียญโดยทันที เป็นมัดจำการจะชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ และเงินค่าทำขวัญ หรือถ้าไม่สามารถก็ต้องยอมให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ
ให้รัฐบาลไทยตอบให้ทราบภายใน ๔๘ ชั่วโมง ว่าจะรับปฏิบัติตามนี้ได้หรือไม่
ในกรณีนี้ เมื่อมีการตกลงอย่างไร จงทำเป็นหนังสือสัญญาไว้
ถ้ารัฐบาลไทยไม่ตอบ หรือผัดเพี้ยนไม่ยินยอม เมื่อสิ้น ๔๘ ชั่วโมงแล้ว ให้ออกจากกรุงเทพ ฯ และไปขึ้นพักบนเรือฟอร์แฟต์ (ที่คอยอยู่นอกสันดอน) ไปพลางก่อน แล้วจึงทำการปิดอ่าวไทยโดยทันที
หากว่าในระหว่างที่ท่านโดยสารเรือออกจากกรุงเทพ ฯ มาสันดอน ฝ่ายไทยทำการรุกรบ ให้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่า เราจะต้องกระทำตอบทันที
เมื่อ ๔๘ ชั่วโมงไปแล้ว ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลไทยให้เป็นที่พอใจ ให้มอบหมายการปกปักรักษาผลประโยชน์ของชนชาติฝรั่งเศส ไว้แก่กงสุลเยเนอราลฮอลแลนด์ และการอันใดที่จะพึงปฏิบัติแก่รัฐบาลไทยสถานใดนั้น เห็นสมควรอย่างไรจงสั่งเสียให้ผู้ที่ร่วมงานในครั้งนี้ทราบโดยทั่วกัน
ให้ท่านกับเรือปืนสามลำไปรวมอยู่ที่เรือฟอร์แฟต์ และให้แจ้งไปให้พลเรือตรีฮูมานน์ทราบไว้ ส่วนพลเรือตรีฮูมานน์นั้นจะได้รับคำสั่งอันจำเป็นต่างหาก
มั่นใจว่าอาศัยความชำนิชำนาญ และความเสียสละให้แก่ชาติ จะเป็นปัจจัยช่วยให้ การปฏิบัติการตามหน้าที่จะสงวนประโยชน์ที่มีอยู่ในโอกาสเช่นนี้ไว้ได้ ด้วยความพินิจพิจารณาของท่าน"
|
Update : 28/5/2554
|
|