หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒/2
    เรือลูแตงเข้ามากรุงเทพ ฯ

                ฝรั่งเศสกล่าวหาว่าไทยไม่รักษาคำมั่นตามข้อตกลงเรื่องการรักษาสถานะเดิม คือการตกลงให้ต่างฝ่ายต่างคงอยู่ในเขตแดนเดิม
    และจะไม่รุกล้ำเข้าไปในแดนเขตของอีกฝ่ายหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไทยต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และให้ไทยปล่อยตัว ร้อยเอกโทเรอซ์ ที่ไทยจับตัวไว้ด้วย ในการนี้ฝรั่งเศสได้ดำเนินการต่อไปคือ
                ๑.    ให้กองเรือฝรั่งเศสเดินทางจากทะเลจีนมารวมกำลังกันที่ไซ่ง่อน
                ๒.    ส่งทหารต่างด้าว ๑ กองพันจากเมืองโบน ซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน ในเขตแอลจีเรียให้เดินทางมาไซ่ง่อน
                ๓.    ส่ง ม.เลอมีร์ เดอวิเลรส์ เป็นราชฑูตพิเศษมาเจรจากับรัฐบาลไทยที่กรุงเทพ ฯ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย และพิจารณาตกลงในปัญหาการพิพาทที่ยังค้างอยู่
                ฝ่ายไทยได้ดำเนินการติดต่อพวกการฑูตกับอังกฤษ และเตรียมการป้องกันทางปากน้ำเจ้าพระยา
                ฝรั่งเศสได้ส่งเรือลูแตง (Lutin) เข้ามาจอดอยู่หน้าสถานฑูตฝรั่งเศส โดยมีผู้บัญชาการสถานีทหารเรือเมืองไซ่ง่อนโดยสารเข้ามาสังเกตการณ์ในกรุงเทพ ฯ เรือลูแตงเดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๕ ในระหว่างนั้นราชฑูตฝรั่งเศสในกรุงเทพ ฯ ได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยยอมรับเขตแดนญวน ว่าจดถึงฝั่งซ้ายลำน้ำโขง แต่รัฐบาลไทยคัดค้าน และขอให้การปักปันเขตแดนถือเอาดินแดนที่ใครได้ปกครองอยู่ในเวลานี้เป็นเกณฑ์ แต่ถ้าทางฝรั่งเศสยืนยันได้ว่า ญวนมีสิทธิอันชอบอยู่เพียงไร เกณฑ์นี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ รัฐบาลไทยเต็มใจที่จะนำข้อที่เป็นปัญหากันอยู่ให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย และรัฐบาลไทยเห็นว่าควรจะเชิญสหรัฐอเมริกามาเป็นผู้ตัดสิน แต่ฝรั่งเศสปฏิเสธไม่ยอมรับ อนุญาโตตุลาการตามที่ไทยเสนอ และจะไม่ยอมถอนเรือรบออกไป ถ้าไทยไม่ยอมทำตามที่ร้องขอไป ต่อมาฝรั่งเศสได้เข้ายึดเกาะเสม็ด (นอก) เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖
    การเคลื่อนไหวของอังกฤษ
                วันที่ ๒๒ มีนาคม กัปตันโยนส์ (Captain Jone) ราชฑูตอังกฤษได้ส่งโทรเลขไปยัง ลอร์ดโรสเบอรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษมีสาระว่า
    "ในกรณีที่อาจเกิดสงครามยุ่งยากขึ้นเป็นการสมควรที่จะส่งเรือรบอังกฤษเข้ามาที่กรุงเทพ ฯ เพื่อคุ้มครองทรัพย์สมบัติของอังกฤษ และความสงบเรียบร้อย" หลังจากนั้นอังกฤษจึงได้ส่งเรือสวิฟท์ (Swiff ) เข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ และได้จอดอยู่หน้าสถานฑูตอังกฤษ (เก่า) ซึ่งอยู่บริเวณไปรษณีย์กลางบางรัก
                อังกฤษทราบว่าฝรั่งเศสได้สั่งเคลื่อนกำลังทางเรือให้มารวมกันอยู่ที่ไซ่ง่อน และมีเสียงเล่าลือว่าฝรั่งเศสจะส่งกองเรือเข้ามารุกรานไทย ในขณะที่ฝ่ายไทยก็ได้เตรียมการป้องกันปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้เอาเรือมาจมขวางไว้ที่ปากน้ำ เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลในวงการค้าทั่วไป
    อังกฤษจึงคิดจะส่งเรือรบเขามาในไทยอีกเพื่อคุมเชิงฝรั่งเศส และเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของชนชาติอังกฤษ ดังปรากฏข้อมูลในเอาสารเหล่านี้
                พลเรือตรี เซอร์ อี ฟรีแมนเติล  ผู้บัญชาการกองเรืออังกฤษภาคทะเลจีน รายงานถึงกระทรวงทหารเรืออังกฤษ ลงวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า "ได้รับรายงานจากเรือสวิฟท์ที่กรุงเทพ ฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ในประเทศไทย ซึ่งมีความโกลาหลเป็นอันมาก เนื่องจากฝรั่งเศสยื่นคำเรียกร้องต่าง ๆ และได้เข้ายึดเมืองสตึงเตรงกับเมืองโขงทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง การที่เรือสวิฟท์เข้าไปจอดอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ได้ทำให้เป็นที่ไว้วางใจแก่ชนชาวยุโรป
    และทำให้ความหวาดเกรงว่าจะเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงเทพ ฯ นั้นสงบลงด้วย"
                มิสเตอร์ฟิปปส์ (Phipps)  อุปฑูตอังกฤษประจำปารีส ได้มีโทรเลขถึง ลอร์ตโรสเบอรี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า "ฝรั่งเศสได้ยึดดินแดนต่อไปอีก ในวันที่ ๑๗ และ ๑๘ มิถุนายน ได้ยึดเกาะรงกับเกาะรงสามเหลี่ยม (หน้าอ่าวกำปงโสม) ไว้ได้แล้ว เกาะทั้งสองนี้เป็นเกาะสำคัญมาก เพราะเป็นที่จอดเรือได้อย่างดีที่สุด เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน เรือปืนของไทยได้เข้ามาที่เกาะเสม็ด (นอก) มีทหารหมู่หนึ่งพยายามจะขึ้นบก โดยฝ่าฝืนคำห้ามปรามของกองรักษาด่านของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ยิงเอาและทหารไทยได้ถอยกลับไป"
                หนังสือของห้างวอลเลศบราเธอร์ (Wallace Brolher ) เอเย่นต์ของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา ถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ลงวันที่ ๒๒
    มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า " บัดนี้ความยุ่งยากภายในได้เกิดขึ้นแล้วทั้งที่กองเรือฝรั่งเศสยังไม่ทันเข้าไปถึงกรุงเทพ ฯ หากกองเรือฝรั่งเศสได้เข้าไปจริง ถึงจะไม่มีการรบพุ่งกันก็ตามเหตุการณ์ภายในเมืองคงร้ายแรงกว่านี้ การที่ฝรั่งเศสยึดเกาะเสม็ด ก็ยิ่งเพิ่มให้เกิดผลร้ายขึ้นอีก เป็นธรรมดาของรัฐบาลทางตะวันออก ที่ยังบกพร่องในวิธีดำเนินการปกครอง เมื่อได้ประสบความยุ่งยากที่สลับซับซ้อนโดยเร็วเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมได้รับความลำบากเป็นอย่างยิ่ง และถึงแม้จะเป็นรัฐบาลที่มั่นคงก็ตาม
    แต่ก่อนที่จะสามารถจัดการอะไรลงไปได้  ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอันมากก็ย่อยยับไปเสียก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ามีเรือรบอังกฤษหลาย ๆ ลำเข้าไปจอดอยู่ในกรุงเทพ ฯ และเตรียมพร้อมที่จะส่งทหารของเราขึ้นบกได้ทุกเมื่อที่จำเป็นแล้ว จะเป็นการช่วยระงับเหตุการณ์จลาจลในบ้านเมืองได้"
                กัปตันโยนส์ ราชฑูตอังกฤษประจำกรุงเทพ ฯ ได้มีโทรเลขไปถึง ลอร์ดโรสเบอรี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า "รัฐบาลไทยได้รับคำเตือนจากรัฐบาลฝรั่งเศสว่า บัดนี้รัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งให้กองเรือรบเดินทางมาไซ่ง่อนแล้ว และถ้าเหตุการณ์ถึงคราวจำเป็นรัฐบาลฝรั่งเศส จะส่งกองเรือรบนั้นเข้ามากรุงเทพ ฯ รัฐบาลไทยมีความตั่งใจจะปิดปากน้ำเจ้าพระยา และต่อสู้ป้องกันปากน้ำตามกำลังที่จะกระทำได้
                ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน กัปตัน โยนส์ ได้มีโทรเลขเพิ่มเติมมีความว่า "ในเวลานี้มีเรือรบอังกฤษประจำอยู่ที่กรุงเทพ ฯ เพียงลำเดียวเท่านั้น เพราะอีกลำหนึ่งได้ออกไปจากกรุงเทพ ฯ หลายวันแล้ว จึงคิดว่าเป็นการสมควรที่จะให้เรือรบของเราลำที่สองจอดอยู่ที่ปากน้ำเจ้าพระยา เผื่อมีความจำเป็นจะได้เรียกได้ อนึ่ง
    เห็นว่าควรขอร้องให้รัฐบาลอเมริกา ปอร์ตุเกส ฮอลแลนด์ โดยการฑูตของเขาในกรุงลอนดอนให้ส่งเรือรบไปที่กรุงเทพ ฯ เพื่อคุ้มครองป้องกันชาวต่างประเทศด้วย"
                ลอร์ด โรส เบอรี ได้มีโทรเลขตอบกัปตันโยนส์ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน มีความว่า "ได้ส่งสำเนาโทรเลของกัปตันโยนส์ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ไปให้กระทรวงทหารเรือทราบแล้ว กระทรวงทหารเรือได้มีคำสั่งไปถึง พลเรือตรี ฟรีแมนเติลแล้ว เพื่อให้จัดส่งเรือรบอีกลำหนึ่งไปยังกรุงเทพ ฯ และให้จัดเตรียมเรือรบลำที่สามไว้ให้พร้อมเผื่อเรียกได้ทันท่วงที"
                มิสเตอร์ฟิปปส์ มีโทรเลขถึง ลอร์ด โรส เบอรี ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน มีความว่า ม.เดอ แวลล์ ได้กล่าวถึงเรื่องที่ได้รับรายงานว่า ทหารเรืออังกฤษ ได้สอนให้พวกไทยหัดยิงตอร์ปิโด เขายังได้กล่าวอีกว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะไม่ทำการรุนแรงอย่างใดที่กรุงเทพ ฯ โดยไม่บอกกล่าวให้รัฐบาลอังกฤษทราบเสียก่อน และยังได้แสดงความพอใจที่ ลอร์ดโรสเบอรี ได้กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้ด้วย"
                ลอร์ดโรสเบอรี มีโทรเลขถึง มิสเตอร์ ฟิปปส์ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน มีความว่า "ได้สอบสวนเรื่อง ม.เดอแวลล์ กล่าวถึงว่าพวกไทยได้รับคำสั่งสอนจากทหารเรืออังกฤษ ในวิธียิงตอร์ปิโดร์นั้น ยังไม่ได้ข่าวถึงเรื่องเช่นนี้เลย แต่อาจจะมีชาวอังกฤษซึ่งรับราชการอยู่ในราชนาวีไทยบ้างก็เป็นได้"
                ในที่สุดทางการทหารเรืออังกฤษได้กำหนดว่าจะส่งเรือพาลลาส (Pallas) และเรือพิกมี (Pigmy) ซึ่งประจำอยู่ที่สิงคโปร์เข้าไปกรุงเทพ ฯ แต่เนื่องจากเรือพิกมีติดราชการอื่น จึงได้ส่งเรือพาลลาส ซึ่งเป็นเรือธงของผู้บังคับกองเรืออังกฤษ ประจำช่องมะละกามากรุงเทพ ฯ ก่อนและจะส่งเรือพลัฟเวอร์ (Pluver ) ซึ่งมาแทนเรือพิกมีตามมาภายหลัง เรือเรือพาลาสเดินทางมาถึงสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ต่อมาจึงส่งเรือลินเนต (Linnet) มาแทนเรือพิกมี
    มาถึงปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม
                ลอร์ดโรสเบอรี โทรเลขถึงมิสเตอร์ฟิปปส์ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ให้ยืนยันแก่ ม.เดอแวลล์ว่า เรือรบอังกฤษจะไม่ข้ามสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาเข้าไป และในวันเดียวกันก็ได้มีโทรเลขไปถึงกัปตันโยนส์มีความว่า "เรือพาลลาส จะข้ามสันดอนปากน้ำเข้าไปไม่ได้ ให้จัดการให้เรือพาลลาส และเรือพลัฟเวอร์ทั้งสองลำ จอดอยู่ทางเข้าแม่น้ำภายนอกสันดอน และให้เจรจากับรัฐบาลไทยให้แจ้งเรื่องนี้ให้ราชฑูตฝรั่งเศส (ที่กรุงเทพ ฯ) ทราบด้วย"
                มิสเตอร์ฟิปปส์ได้โทรเลขถึง ลอร์ดโรสเบอรี เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม แจ้งเนื้อความการเจรจากับ ม.เดอแวลล์มีความว่า "ม.เดอแวลล์แจ้งว่าเรือฝรั่งเศส ที่ส่งไปจะอยู่นอกสันดอน คงให้เรือลูแตงอยู่ในกรุงเทพ ฯ และแจ้งว่าตามข้อ ๑๕ แห่งหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ค.ศ.๑๘๕๖ ให้เรือฝรั่งเศสเข้าไปในลำแม่น้ำเจ้าพระยาได้จนถึงสมุทรปราการ และเมื่อแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบแล้วให้ล่วงเข้าไปถึงกรุงเทพ ฯ ได้ จากนั้นมิสเตอร์พิปปส์แจ้งว่า ความตั้งใจของรัฐบาลอังกฤษมีหลักอยู่ว่า มีความจำเป็นจะต้องคุ้มครองผลประโยชน์ของเราในกรุงเทพ ฯ ซึ่งอังกฤษมีส่วนในการค้าขายอยู่ถึงสามในสี่ส่วน
    และถ้าหากว่ามหาประเทศใดซึ่งมีปัญหา ระหว่างประเทศต้องพิพาทกับประเทศที่มีกำลังน้อย แล้วยกกำลังกองทัพเรือใหญ่โตมาขู่ขวัญภายในอาณาเขตเช่นนี้ ก็เหมือนกับว่าตัดสิทธิประเทศนั้นเสียในอันจะป้องกันตัวเอง ม.เดอแวลล์ตอบว่า ม.โกรสกูแรงถูกฆ่าตาย และได้มีการฆ่าฟันทหารญวนด้วย กับเรื่องการปล่อยตัวร้อยเอกโทเรอซ์
    ดังนั้นโดยเกียรติยศของฝรั่งเศส จะไม่ยอมให้ต่างประเทศเข้ามาแทรกแซง และจะต้องได้รับข้อเรียกร้องอันชอบธรรมนี้ ซึ่งถ้าไม่ได้รับแล้วก็จะต้องบังคับเอา "
    การดำเนินการของฝรั่งเศสขั้นต่อไป
                เมื่อฝรั่งเศสได้ทราบว่าอังกฤษได้จัดส่งเรือรบเข้ามาเพิ่มเติมในน่านน้ำไทยอีก และรู้สึกว่ามีทีท่าในทางส่งเสริมให้กำลังใจ ฝ่ายไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินการให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น ดังนั้นในวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้โทรเลขมายัง ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพ ฯ ให้แจ้งแก่รัฐบาลไทยมีความว่า "รัฐบาลอังกฤษมีดำริส่งเรือรบหลายลำเข้ามายังกรุงเทพ ฯ เพื่อป้องกันรักษาชนชาติอังกฤษ
    ฝ่ายเราเห็นสมควรจะต้องเพิ่มกำลังทางเรือของเราที่กรุงเทพ ฯ ให้แจ้งแก่รัฐบาลไทยเป็นการล่วงหน้าว่า จะมีเรือรบฝรั่งเศสไปรวมกำลังกับเรือลูแตง โดยใช้ให้เห็นชัดว่าการดำเนินการครั้งนี้อย่างเดียวกับประเทศอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ได้กระทำก่อนแล้ว ให้เป็นที่เข้าใจว่า จะไม่ทำการรุกรบอย่างใด ๆ โดยไม่แจ้งให้ทราบเสียก่อน เว้นไว้แต่ในกรณีที่เรือของฝรั่งเศสถูกโจมตี และถูกบังคับ จึงจะยิงโต้ตอบกับฝ่ายข้าศึกได้
                ม.ปาวีได้มีหนังสือทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม มีความว่า "
    รัฐบาลฝรั่งเศสขอให้แจ้งว่ารัฐบาลอังกฤษได้ดำริจะให้เรือรบหลายลำเข้ามาในกรุงเทพ ฯ อ้างว่ามีเหตุจำเป็นจะให้มาป้องกันรักษาคนในบังคับอังกฤษ ในสมัยที่เกิดการวุ่นวายกันนี้ เหตุฉะนี้รัฐบาลฝรั่งเศสจึงตั้งใจจะกระทำตามบ้าง เรือรบสองลำในกองทัพเรือฝรั่งเศส ได้รับคำสั่งให้เข้ามาอยู่ร่วมกับเรือลูแตงที่กรุงเทพ ฯ การที่เรือรบเข้ามาคราวนี้ ก็มีความประสงค์อย่างเดียวกันกับประเทศอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ที่ได้กระทำมาก่อน เรือรบสองลำที่ออกเดินทางมาแล้วนั้น ชื่อโคแมต
    (Comete) และแองดองสตังค์ (Inconstang ) จะเดินทางมาถึงสันดอนในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม จึงขอได้โปรดมีคำสั่งให้มีนำร่องคอยไว้สำหรับเรือรบสองลำนี้

                เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทย ได้มีหนังสือถึง ม.ปาวี ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๒ มีความว่า "จนถึงเวลานี้รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่ได้รับคำแจ้งความจากรัฐบาลอังกฤษเลยว่า อังกฤษจะให้เรือรบเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ หรือที่สมุทรปราการ หรือที่แห่งใดแห่งหนึ่งในลำน้ำเจ้าพระยา นอกจากเรือสวิฟท์ที่จอดอยู่ที่หน้าสถานฑูตอังกฤษ เหมือนกับเรือลูแตงที่จอดอยู่ที่หน้าสถานฑูตฝรั่งเศส และที่แจ้งว่าความประสงค์ที่จะให้เรือรบเข้ามานี้ ก็เหมือนกันกับความประสงค์ของประเทศอังกฤษ และประเทศอื่น ๆ จึงเห็นว่า ถ้าประเทศอื่นมิได้ให้เรือรบเข้ามาเกินกว่าลำหนึ่งตราบใดแล้ว ประเทศฝรั่งเศสก็จะไม่ขืนให้เรือรบเข้ามาอีก นอกจากเรือลูแตง อนึ่งเรือรบลำแรกที่ได้เข้ามายังกรุงเทพ ฯ ในบรรดาเรือที่จอดอยู่ที่นี้แล้วคือเรือลูแตง
    เมื่อเป็นเช่นนี้จะพูดว่าประเทศอื่นได้คิดจัดการเช่นว่านี้นำขึ้นก่อนนั้นหาถูกไม่ เรือลูแตงได้เข้ามาเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ และกำหนดว่าจะกลับออกไป เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ ครั้นถึงกำหนดจะกลับออกไปแล้วก็หาไปไม่ กลับได้รับคำสั่งให้รออยู่ไปก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งมาอีกภายหลัง จึงเห็นว่าถ้าเรือลูแตงกลับไปจากกรุงเทพ ฯ เรือรบลำอื่น ๆ ก็จะคงไม่อยู่ที่นี่ต่อไป และความยุ่งยากก็คงจะสงบเรียบร้อยเป็นปกติดังเดิม
                ตามที่แจ้งความมานั้น ตามเหตุที่กล่าวข้างต้น ท่านคงจะมีโทรเลขบอกไปยัง แอดมิราลแม่ทัพเรือ ชี้ให้เห็นว่าเหตุที่จะให้เรือรบเข้ามานั้นไม่มีเสียแล้ว
                ขอคัดค้านการแปลความในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีอันเป็นที่ทำให้เข้าใจว่า ประเทศใดประเทศหนึ่งมีอำนาจเด็ดขาดที่จะให้เรือรบเข้ามาในลำน้ำของไทย และถึงพระมหานครแห่งพระราชอาณาจักรนี้หลาย ๆ ลำ ตามอำเภอใจของประเทศนั้น ๆ มูลนิติของหนังสือสัญญา ฯ หาได้ตัดอำนาจโดยชอบธรรม ซึ่งประเทศไทยควรมีได้เหมือนประเทศอื่น ๆ สำหรับการป้องกันตัว และรัฐบาลฝรั่งเศสควรแก้ไขได้โดยง่ายว่า ตามสรรพเหตุการณ์อันมีอยู่บัดนี้
    ประเทศไทยจะยอมตามการแปลความหมายตามสัญญาดังกล่าวมาเช่นนี้ไม่ได้เลย เมื่อยอมเช่นนั้นแล้วก็เหมือนจะสละอำนาจที่เป็นประเทศเอกราชเสียเหมือนกัน

                ม.ปาวี ได้มีหนังสือทูลเสนาบดีการต่างประเทศของไทย ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๒ มีความว่า "ได้แจ้งข้อความไปยังรัฐบาลฝรั่งเศส และแอตมราลแม่ทัพเรือแล้วว่ารัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คัดค้านไม่ยอมให้เรือรบเข้ามาในลำแม่น้ำเจ้าพระยา และได้แจ้งไปด้วยว่า ตัว ม.ปาวี กับเสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยขัดขืน ยังไม่ยอมให้เรืออแองดองสตังค์เข้ามาก่อน ให้จอดอยู่ที่สมุทรปราการ ตามนัยแห่งหนังสือสัญญา ฯ รอคอยจนกว่าจะได้รับตำตอบมา และเพื่อมิให้มีความเข้าใจผิดกันได้ จึงขอโปรดให้เข้าเฝ้าในเวลาพรุ่งนี้ตามที่จะทรงกำหนด"
                เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทย มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ถึง ม.ปาวี มีความว่า "ยินดีจะพบ ม.ปาวีในวันพรุ่งนี้เวลาย่ำค่ำ และขอกล่าวโดยไม่รั้งรอว่า
    เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้ คำคัดค้านที่ไม่ยอมให้เรือแองดองสตังค์ ล่วงสันดอนเข้ามานั้น ย่อมเป็นข้อคัดค้านตลอดทั่วไปไม่ยอมให้เข้ามาจอดปากแม่น้ำ และแล่นเลยเข้ามากรุงเทพ ฯ แท้จริงไม่มีเรือรบอังกฤษลำใดนอกจากเรือสวิฟท์มาอยู่หรือมุ่งหมายว่าจะเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยาอีกเลย มูลเหตุที่ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศส ส่งเรือแองดองสตังค์ และเรือโกเมตเข้ามานั้น ย่อมเสียไป หาหลักมิได้อยู่เอง การแปลความหมายอันสมควรแก่หนังสือสัญญานี้ ต้องคำนึงถึงอำนาจอันชอบธรรมของประเทศไทย ในการรักษาความปลอดภัย และรักษาความเป็นเอกราชของตนเอง ซึ่งเกี่ยวด้วยน่านน้ำส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่อยู่ในราชอาณาจักรของไทย"
                เสนาบดีการต่างประเทศของไทย มีหนังสือ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ถึง ม.ปาวี มีความว่า "จากการสนทนากันวันนี้ ถึงแม้ว่าทาง ม.ปาวี คงจะยืนยันที่จะให้เรือแองดองสตังค์ และเรือโดเมต เข้ามาจอดอยู่เพียงปากน้ำก็ดี ถือว่าเป็นหน้าที่จะต้องคัดค้านไม่ยอมเลยเป็นอันขาด ดังที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือฉบับก่อนที่ไม่ยอมให้เรือรบเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยา รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่สามารถยอมให้ประเทศใด ๆ นำเรือรบเข้ามาจอดอยู่ในลำน้ำนี้มากกว่าหนึ่งลำขึ้นไป จึงได้มีคำสั่งต่อกรมทหารบก กรมทหารเรือ ให้จัดการตามนี้โดยกวดขัน อนึ่ง เวลาเช้าพรุ่งนี้กรมทหารเรือ จะให้เรือกลไฟลำหนึ่งมาที่สถานฑูตฝรั่งเศส สำหรับท่านใช้มาที่เรือแองคองสตังค์ และเพื่อท่านจะได้ส่งข่าวไปตามที่ท่านจะดำริเห็นควร "
                เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของไทยมีโทรเลขลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ถึงพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส มีความว่า
                "ได้รับโทรเลขฉบับที่ ๓๕ แล้ว ราชฑูตฝรั่งเศสได้มาหาเย็นวานนี้ และมีหนังสือมาถึงหลายฉบับ มีความว่า ประเทศอังกฤษได้ให้เรือรบเข้ามาป้องกันคนในบังคับอังกฤษ เหตุนี้ประเทศฝรั่งเศสก็จะทำตามบ้าง จะให้เรือรบเข้ามา อีกสองลำในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ราชฑูตฝรั่งเศส มีหนังสือขอให้มีคนน้ำร่อง เรือรบสองลำนี้ และขออนุญาตเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ฝ่ายเราอนุญาตไม่ได้
    ด้วยเรือรบอังกฤษจอดอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยาเพียงลำเดียว และต้องบอกกล่าวไม่ยอมแปลความในหนังสือสัญญษทางพระราชไมตรี
    ว่าเป็นการยอมให้เรือรบเข้ามาในกรุงได้ ทำให้เสียความเป็นเอกราชของไทย ฝ่ายเรามีอำนาจอันชอบธรรม ที่จะไม่ยอมให้เรือรบเข้ามาในลำน้ำ อันอยู่ในพระราชอาณาจักรของเรา เพื่อประสงค์จะแสดงความขู่เข็ญ ให้อัคราชฑูตไทยนำความไปแจ้งแก่เสนาบดีฝรั่งเศส ผู้ว่าการต่างประเทศ และพูดจากว่ากล่าวให้ได้การดีที่สุด แล้วโทรเลขตรงมาให้ทราบ"
                โทรเลขของอัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ถึงเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศของไทย มีความว่า  "ได้แจ้งต่อเสนาบดีฝรั่งเศสผู้ว่าการต่างประเทศแล้ว เสนาบดี ฯ บอกว่าฝรั่งเศสไม่ได้มุ่งหมายจะให้เรือรบเข้าไปในกรุงเทพ ฯ เพื่อขู่ไทยเลย
    แต่มีความประสงค์อย่างเดียวกันกับรัฐบาลอังกฤษเท่านั้น และจะมีโทรเลขมาถอนคำสั่งเดิมเรื่องเรือรบนี้เสีย กับขอแจ้งให้พึงรู้แน่ว่า ฝรั่งเศสมิได้มีความมุ่งหมายจะให้ส่งทหารเข้ามาต่อตีรบพุ่งประเทศไทยเลย รัฐบาลฝรั่งเศสมีความปรารถนาจะส่งผู้ใดผู้หนึ่งเข้ามากรุงเทพ ฯ โดยเร็วเพื่อจะได้จัดการให้ตกลงกันฉันมิตร
    สัญญาทางพระราชไมตรี พ.ศ.๒๓๙๙ ข้อ ๑๕
                หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีการค้าขายและการเดินเรือ ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๙๙  ในข้อ ๑๕ มีข้อความดังนี้
                "เรือรบฝรั่งเศสจะเข้ามาจอดอยู่ได้เพียงหน้าด่านเมืองสมุทรปราการ ถ้าจะขึ้นมาถึงกรุงเทพ ฯ ให้บอกท่านเสนาบดีฝ่ายไทยให้รู้ก่อน ท่านเสนาบดีฝ่ายไทย ยอมให้ขึ้นมาจอดอยู่ที่ไหนก็ขึ้นมาจอดได้"



    ม.เลอ มีร์ เดอวิเลรส์ ( M.Le Myre de Vilers) เข้ามาเจรจา
                ม.เลอ มีร์ เดอ วิเลรล์ เคยเป็นผู้ว่าการโคชินไชนาถึงสองคราว คราวแรกตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๒๒-๒๔๒๓ และคราวหลังเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔ - ๒๔๒๕ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศส จึงมอบหน้าที่ให้เป็นอัครราชฑูต ผู้มีอำนาจเต็มเข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทย
                ม.เลอ มีร์ เดอ วิเลรส์ออกเดินทางจากเมืองมาร์เซยส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ พร้อมกับกองทหารต่างด้าวที่ส่งจากเมืองโบน และตูลองไปเพิ่มกำลังที่ไซ่ง่อน แต่ไทยกับฝรั่งเศสได้เกิดรบพุ่งกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่มีลักษณะเป็นอย่างอื่นผิดไปจากเดิม รัฐบาลฝรั่งเศสจึงถือโอกาสมอบหน้าที่ให้เป็นผู้ทำสัญญาสงบศึก
                คำสั่งที่ ม.เดอ แวลส์มอบหมายให้แก่ ม. มีร์ เดอ วิเลรส์ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม มีข้อความดังนี้
                "เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง และอาการกิริยาที่ประเทศไทยได้แสดงต่อเรานั้น รัฐบาลฝรั่งเศสคิดว่า จะถือโอกาสในการที่ท่านจะเดินทางไปไซ่ง่อน มอบให้ท่านเอาธุระรับหน้าที่เจรจาปัญหาที่ยังคาราคาซังกันอยู่ในเสร็จสิ้นไปถ้าสามารถทำได้
                เพราะได้ปรึกษาหารือกับท่านแล้ว เหตุนี้จึงส่งท่านไปกรุงเทพ ฯ เพื่อการนี้เป็นราชการพิเศษ ในจดหมายฉบับนี้ได้สอดหนังสือสำคัญให้อำนาจแก่ท่านอย่างกว้างขวาง เพื่อแสดงต่อพระเจ้าแผ่นดินไทย จะได้สั่งเรือรบลำหนึ่งมาคอยรับท่านที่สิงคโปร์ และนำท่านไปส่งยังกรุงเทพ ฯ ทันที
                การเรียกร้องของเราต่อประเทศไทยในครั้งนี้มีอยู่สองข้อ คือ
                    ๑)    เราได้ให้ประเทศไทยถอนกองทหารที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เพราะเป็นการเหยียบย่ำสิทธิของญวนและเขมร
                    ๒)    เราได้เรียกค่าปรับไหมในการที่ไทยสบประมาทธงฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ ในการขับไล่บุคคลที่ร่วมชาติของเราสองคน ให้ได้รับทุกข์ที่ท่าอุเทน เมื่อปีกลาย ในการข่มขี่ชาวฝรั่งเศสชื่อ บาโรตอง ในการจับกุมนายร้อยเอกโทเรอรซ์โดยไม่รู้ตัว และในการที่ข้าหลวงไทยประจำคำม่วน ทำการฆาตกรรมผู้ตรวจการโกรสกูแรง
                ในปัญหาเหล่านี้ ผู้แทนของเราที่กรุงเทพ ฯ ได้เรียกร้องไปแล้วแต่ไร้ผล เราได้รับคำตอบชนิดชักความยาวสาวความยืด จากรัฐบาลไทย
                ฉะนั้น ที่จะให้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย มีหัวข้อดังนี้
                    ๑)    ให้รัฐบาลไทยรับรองข้อเรียกร้องดินแดนของเราบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
                    ๒)    ให้ใช้ค่าเสียหายตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น กับให้เสียค่าปรับไหมด้วย
                ในกรณีที่รัฐบาลไทยไม่ยอมให้ความยุติธรรมเท่าที่เรียกร้องไปตามหัวข้อต่าง ๆ นี้แล้ว ถ้าถึงเวลาที่จะต้องกำหนดให้ ให้นำธงฝรั่งเศสออกจากกรุงเทพ ฯ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ในสถานกงสุลเยเนราล และบรรดาเรือรบฝรั่งเศสที่จอดอยู่ ณ ที่นั้น แล้วให้แจ้งแก่ผู้บัญชาการกองเรือให้ประกาศปิดอ่าวอย่าได้ช้า
                รัฐบาลฝรั่งเศสหวังอยู่ว่า ควรจะไม่จำเป็นถึงกับต้องใช้อำนาจบังคับข่มขี่ และเชื่อมั่นในไหวพริบ และความหนักแน่น ในอันที่จะโน้มรัฐบาลไทย ให้ยอมทำตามความพอใจของเราที่จะได้เรียกร้องโดยชอบธรรม
                เราไม่ได้ตั้งปรารถนาที่จะกระทบกระทั่งย่ำยีต่ออิสระภาพของไทย ถ้าเห็นว่าควรก็ให้อธิบายความข้อนี้ให้ราชสำนักกรุงเทพ ฯ ทราบโดยชัดแจ้ง และให้พยายามขจัดความหวาดเกรง อันจะพึงมีแก่รัฐบาลไทย อีกประการหนึ่งให้รู้ระลึกถึงประโยชน์อันเราจะได้รับในการเจรจากันที่กรุงเทพ ฯ จะต้องแสดงให้ชัดออกไปว่า
    เราไม่ยอมเจรจากับบุคคลทั้งหลายอื่น นอกจากพระเจ้าแผ่นดินและคณะเสนาบดี ให้พยายามเสือกไสพวกที่ปรึกษาชาวต่างประเทศอย่าให้มาเกี่ยวข้องในวงการด้วย
                ให้แจ้งเหตุการณ์อันแน่ชัดในการเจรจาที่ดำเนินการกันครั้งนี้โดยทางโทรเลข
    ฝรั่งเศสถอนคำสั่ง
                ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยได้มีโทรเลขไปยังอัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส แจ้งเรื่องเรีอรบฝรั่งเศส ที่จะเข้ามาแสดงความขู่เข็ญไทย ให้นำความไปร้องเรียนต่อ ม.เดอ แวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศส
                ม.เดอ แวลล์ตอบว่า ฝรั่งเศสไม่ได้มุ่งหมายจะให้เรือรบเข้าไปในกรุงเทพ ฯ  เพื่อขู่ไทย ฝรั่งเศสมีความประสงค์อย่างเดียวกับรัฐบาลอังกฤษ แล้ว ม.เดอ แวลล์ รับรองว่าจะถอนคำสั่งเดิมเสีย
                ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ม.เดอแวลล์ ได้มีโทรเลขไปยัง ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพ ฯ มีความว่า
                "ราชฑูตไทยได้แจ้งความว่าให้รัฐบาลฝรั่งเศสทราบด้วยว่า ได้วางลูกตอปิโดไว้ในร่องน้ำ จึงขอให้ทูลกรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ
    ว่าเราไม่ยอมให้ประเทศไทยคัดค้านอย่างดี และเราสงวนไว้ซึ่งสิทธิอันชอบธรรมของเราที่มีอยู่ตามข้อ ๑๕ แห่งสัญญาทางพระราชไมตรี ค.ศ.๑๘๕๖ ให้บอกแก่กองเรือฝรั่งเศสทราบว่า รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงจะยับยั้งไม่ให้เรือลำใด ข้ามสันดอนเข้าไปก่อนเวลานี้ ถ้าแม้ว่าประเทศหนึ่ง ๆ มีเรือรบเกินหนึ่งลำในลำน้ำแล้ว เราก็จะไม่เปลี่ยนแผนความคิด
                ให้บอกไปยังนายพลฮูมานน์ว่า ฝ่ายเรายังสงวนสิทธิที่เรามีอยู่ตามข้อ ๑๕ แห่งสัญญาทางพระราชไมตรี ค.ศ.๑๘๕๖ ที่ทำไว้กับรัฐบาลไทยอย่างเด็ดขาด"
                (โทรเลขฉบับนี้มาถึง ม.อา.ปาวี เวลาเช้าของวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ )

    • Update : 28/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch