ตามหลักการร่วมยุทธระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่ได้ลงนามร่วมกัน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2484
ได้กำหนดให้ต่างฝ่ายต่างทำการยุทธในด้านของตน ถ้ามีความจำเป็นกองทัพอากาศญี่ปุ่น จะเข้าปฏิบัติการร่วมรบกับกองทัพอากาศไทยด้วย
ในการปฏิบัติการสนับสนุนกองทัพพายัพ กองทัพอากาศได้จัดตั้งกองบินใหญ่ผสมภาคพายัพขึ้น
โดยให้ขึ้นตรงต่อกองทัพอากาศสนาม ใช้เป็นหน่วยสนับสนุนกองทัพพายัพทางยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีได้ปฏิบัติการบินลาดตระเวนตรวจการณ์ และโจมตีทิ้งระเบิดในดินแดนสหรัฐไทยเดิม และการทิ้งใบปลิง
สำหรับการสนับสนุนทั่วไป มีการปฏิบัติดังนี้
1. การบินสะกัดกั้น เพื่อสะกัดกั้นการบุกรุกของฝ่ายข้าศึก ได้มีการปฏิบัติการอย่างกล้าหาญหลายครั้ง
2. การบินรักษาเขต โดยได้ส่งกำลังทางอากาศผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปฏิบัติการบินรักษาเขต บริเวณพรมแดนไทยกับสหรัฐไทยเดิมทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณเชียงใหม่และเชียงราย เพื่อป้องกันการโจมตีจาก
เครื่องบินข้าศึกที่ล้ำพรมแดนไทยเข้ามา และเมื่อกองทัพพายัพเข้ายึดสหรัฐไทยเดิมได้
กองทัพอากาศสนามก็ได้ส่งกำลังทางอากาศปฏิบัติภารกิจบินลาดตระเวนและรักษาเขตสหรัฐไทยเดิม เพื่อป้องกันดินแดนภายใต้การปกครองของกองทัพพายัพมิให้ถูกโจมตีทางอากาศของฝ่ายข้าศึก ฝูงบินบางส่วนได้ย้ายไปประจำการที่สนามบินเชียงตุง เมื่อเดือนมิถุนายน 2485
3. การบินโจมตีทิ้งระเบิด ได้สนับสนุนการรุกเข้าสหรัฐไทยเดิมของกองทัพพายัพอย่างต่อเนื่อง
และแน่นแฟ้น ทำให้กองทัพพายัพสามารถปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบลุล่วงไปด้วยดีทุกประการ
4. การลำเลียงขนส่งทางอากาศ ได้ปฏิบัติการลำเลียงขนส่งยาและเวชภัณฑ์ไปส่งให้หน่วยต่าง ๆ ของกองทัพพายัพในแนวหน้าตามที่ได้รับการร้องขอ
สถานการณ์เมื่อใกล้สิ้นสุดสงคราม |
ในปลายปี พ.ศ. 2487 ถึงกลางปี พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นรู้ตัวดีว่าจะแพ้สงคราม
จึงได้เตรียมการเข้าปลดอาวุธกองทัพไทย หลังจากถอนตัวจากพม่าโดย จอมพล เคานต์ เทรา อุชิ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองกำลังญี่ปุ่นด้านทักษิณ ได้มอบอำนาจในการปลดอาวุธกองทัพไทยให้แก่ พลโท นากามูระ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นประจำประเทศไทยแต่ผู้เดียว
ในพระนครทหารไทยเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น ฝ่ายเสรีไทยกำลังเตรียมตัวที่จะเข้าต่อสู้กับ
ญี่ปุ่นโดยเปิดเผย และตำรวจสันติบาลได้เข้าคุมจุดสำคัญที่มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของญี่ปุ่นพักอาศัยอยู่
สำหรับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรด้านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในบังคับบัญชาของพลเรือเอก
ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน ได้แจ้งให้ฝ่ายไทยทราบว่า ในขั้นต้นฝ่ายสัมพันธมิตรจะช่วยเหลือได้เฉพาะแต่
กำลังทางอากาศคือ เครื่องบินและพลร่มเท่านั้น ส่วนกำลังทางพื้นดิน ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติการของกองทัพที่ 14
ของอังกฤษ ซึ่งกำลังรุกทางด้านพม่า และการยกพลขึ้นบกที่เกาะสิงคโปร์กับแหลมมลายูอีกด้านหนึ่ง ดังนั้น
ทัพไทยต้องช่วยตัวเองให้มาก
แผนการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวของไทยเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรรุกใหญ่นั้น ฝ่ายอังกฤษเห็นว่า
ควรไปตั้งทางด้านทิศตะวันตกของประเทศ เพื่อร่วมมือกับกองทัพที่ 14 ของอังกฤษ และต่อไปอาจย้ายไปตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย แต่ฝ่ายสหรัฐ ฯ เห็นว่าควรไปตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของประเทศ
การดำเนินการของฝ่ายไทยก่อนสงครามยุติ
การต่อต้านญี่ปุ่นของไทยได้เริ่มตั้งแต่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย แม้ว่าในระยะต่อมา
ไทยจำเป็นต้องจำยอมร่วมเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นเนื่องด้วยสถานะการณ์บีบบังคับ แต่ในขณะเดียวกันแนวความคิดในการต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตย ก็ได้ดำเนินการต่อมาในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินการในทางลับที่เรียกว่า ขบวนการใต้ดิน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม และขบวนการเสรีไทย
ได้มีการให้คณะนายทหารไทยจำนวนหนึ่งออกไปติดต่อกับกองพลที่ 93 ของจีน ครั้งแรกเมื่อวันที่
18 มกราคม 2487 หลังจากที่ได้มีการประสานงานเมื่อเดือนมีนาคม 2486 ซึ่งได้รับการตอบสนองจาก
จอมพล เจียงไคเช็ค จากจุงกิงว่า "ยินดีติดต่อด้วย ดีใจที่จะได้ทราบความจริง เพราะมัวหลงรบกันอยู่ 2 ปี
เสียผู้คนและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปมากมาย ขอให้ฝ่ายไทยเริ่มดำเนินการติดต่อได้ แต่บัดนี้" ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2487 คณะผู้ติดต่อของไทยก็ได้เข้าพบผู้บัญชาการกองพลที่ 93 พร้อมด้วยนายทหารจีนชั้นผู้ใหญ่ การพบปะเจรจาเป็นไปด้วยดี ฝ่ายจีนแจ้งว่า ฝ่ายจีนและสัมพันธมิตรเห็นใจไทยอยู่แล้ว และจะช่วยแจ้งให้ทางอังกฤษและสหรัฐ ฯ ทราบความจริงตามที่ฝ่ายไทยต้องการ
การพบกับฝ่ายจีนครั้งสำคัญเป็นการพบเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2487 คณะผู้แทนกองบัญชาการทหารสูงสุด ได้ไปพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ 93 มีการตกลงกันในด้านการทหาร โดยกำหนดเอาแนวแม่น้ำลำ - แม่น้ำโขง - ปางสัจจา และเส้นเขตแดนระหว่างแคว้นยูนนานของจีนกับประเทศพม่าเป็นเส้นปันแดนของแต่ละฝ่ายไม่ให้
ล่วงล้ำกัน นอกจากนี้ยังแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบว่า ทางฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังเตรียมการรุกใหญ่ กองทัพจีนได้จัดกำลังไว้ 10 กองพล สำหรับการรุกเข้าทางเหนือของประเทศพม่าทางด้านเมือง ลา เฉียว เพื่อสมทบกับกำลังของอังกฤษ ซึ่งจะทำการรุกจากพรมแดนประเทศอินเดีย
นอกจากนี้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังได้จัดตั้งกองทัพที่ 2 และกองพลที่ 7 ขึ้นตามแผนยุทธการที่ 7 เตรียมร่วมมือกับกองทัพจีน เพื่อขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากดินแดนไทย กับได้ดำริที่จะย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่การย้ายเมืองหลวงก็ล้มเลิกไป เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ้นจากอำนาจหน้าที่ในรัฐบาล การติดต่อระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพจีน ตามนโยบายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ต้องระงับไปโดยปริยาย
ทางด้านกองทัพรัฐบาลซึ่งมีนาย ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแปรสภาพเป็นกองทัพใหญ่ โดยแต่งตั้งให้ พลเอก พจน์ พหลโยธิน (พระยาพหลพลพยุหเสนา) ดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่
ทางด้านกองทัพพายัพ ได้มีการโยกย้ายนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย สำหรับการติดต่อกับกองทัพจีนนั้น แม่ทัพกองทัพพายัพได้มีคำสั่งถึงกองพลที่ 3 ว่า คงให้ทำต่อไปตามเดิม แต่รัฐบาลจะไม่รับรู้ และรับผิดชอบด้วย ให้ถือว่าเป็นการทำกันเอง ดังนั้น ผู้บัญชาการกองพลที่ 3 จึงสั่งให้ระงับการติดต่อกับกองทัพจีนไว้ก่อน
ในด้านการปฎิบัติต่อเสรีไทย ทั้งสายสหรัฐ และสายอังกฤษ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ให้การสับสนุนอย่างลับ ๆ ได้สั่งให้แต่ละฝ่ายช่วยเหลือสมาชิก ขบวนการเสรีไทยที่ลอบเข้ามาในประเทศ ให้ได้รับความสะดวกในการปฎิบัติการ และให้ได้รับความปลอดภัย
ในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไข
รัฐบาลได้รับดำเนินการประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 มีสาระสำคัญคือ การประกาศสงครามของไทยต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากประเทศไทยเคยมีนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็นกลาง และจะต่อสู้การรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง ซึ่งได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่ง ทหาร ตำรวจ และประชาชนพลเมือง ได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก การประกาศสงครามดังกล่าวเป็นการผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินใจที่จะให้กลับคืนสัมพันธไมตรีอันเคยมีมาก่อนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่กับสหประชาชาติ ในการสถาปนาเสถียรภาพในโลก บรรดาดินแดนที่ญี่ปุ่น ได้มอบให้ไทยครอบครอง ประเทศไทยพร้อมที่จะให้คืนกลับไป ส่วนบรรดากฎหมายอันมีผลเป็นปฎิปักษ์ต่อสหรัฐ ฯ บริเตนใหญ่ และเครือจักรวรรดิ์ ก็จะพิจารณายกเลิก บรรดาความเสียหาย จากกฎหมายเหล่านั้น ก็จะได้รับการชดใช้โดยธรรม
ท่าทีของสัมพันธมิตรต่อไทยหลังสงครามยุติ
เนื่องจากอังกฤษได้รับผลกระทบกระเทือนมากกว่า สัมพันธมิตรอื่นใด ในระหว่างสงคราม ดังนั้น เมื่อสงครามยุติลง อังกฤษจึงยังคงถือว่ามีสถานะสงครามกับไทย และมุ่งที่จะเรียกร้องคิดบัญชีกับประเทศไทย อย่างเต็มที่
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2488 อังกฤษได้ส่งกองพลที่ 7 (อินเดีย) เข้ามาปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่น ในประเทศไทยและพลเรือเอก ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน ก็ได้ยื่นร่างข้อตกลง (Preliminary Military Agreement) รวม 21 ข้อ ต่อคณะผู้แทนทางหารของไทย ที่เดินทางไปทำความตกลงกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมือง แคนดี้ ในเกาะลังกา ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเงื่อนไขการยอมแพ้ โดยรวมยิ่งกว่าเรื่องการทหารโดยตรง
ส่วนสหรัฐ ฯ ยังเห็นประเทศไทยในฐานะเป็นมิตรมากกว่าอังกฤษ ดังจะเห็นได้จากคำแถลงของนาย เบอร์นส์ (Byrnes) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ฯ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2488 ซึ่งกล่าวว่า ตลอดเวลา 4 ปีที่แล้วมา รัฐบาลสหรัฐ ฯ ถือว่าประเทศไทยมิใช่ศัตรู แต่เป็นประเทศที่จะต้องปลดปล่อยจากศัตรู เมื่อบัดนี้ ประเทศไทยได้รับการปลดปล่อยแล้ว รัฐบาลสหรัฐ ฯ เชื่อว่าประเทศไทยจะกลับเข้าสู่สถานะเดิม ในวงสังคมชาติอิสสระ มีอธิปไตย และเอกราช
ดังนั้น สหรัฐ ฯ จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือไทย ผ่อนหนักให้เป็นเบาจากการบีบคั้นของ อังกฤษและจีน โดยเฉพาะความกดดันด้านจีน มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของไทย โดยมุ่งหวังที่จะให้ไทยอยู่ในเขตอำนาจการปฎิบัติการของตน และเตรียมส่งกองทัพจีนเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงได้ตกลงใจปลดทหารไทย ซึ่งในขณะนั้นปฎิบัติการอยู่ เหนือเส้นขนานที่ 16 (ซึ่งตามการประชุมที่ปอตสดัม เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2488 จีนจะรับผิดชอบพื้นที่เหนือเส้นขนานที่ 16 ขึ้นไป) โดยรีบด่วนเพื่อป้องกันการปะทะกับทหารจีน
ปัญหาเรื่องเขตอำนาจของยุทธบริเวณของจีนด้านประเทศไทย สหรัฐ ฯ ได้ยื่นมือเข้ามาตัดสินปัญหาดังนี้
หากการปลดอาวุธของกองกำลังทหารญี่ปุ่น ถือตามการแบ่งเขตรับผิดชอบของกองบัญชาการทหารสูงสุด ฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว ประเทศไทยจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน อาจเกิดความปั่นป่วนไม่สงบขึ้นได้ ดังนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2488 ประธานาธิบดีทรูแมน แห่งสหรัฐ ฯ จึงได้ออกคำสั่งทั่วไปที่ 1 กำหนดให้กองกำลังญี่ปุ่นตลอดทั่วประเทศไทย ทำการยอมจำนนต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร ด้านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แต่ผู้เดียว