|
|
ไทยกับสงครามมหาเอเซียบูรพา/2
การดำเนินการเจรจาทางการทูต |
ได้ดำเนินการส่งทูตพิเศษไปเยือนประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นเอเซีย ส่งฑูตพิเศษไปเจรจากับรัฐบาลเยอรมัน เพื่อส่งเสริมการเรียกร้องดินแดนคืน โดยให้ฝรั่งเศสยับยั้งการรุกราน ได้เจรจาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต กับประเทศโซเวียตรัสเซีย เพื่อเปิดการเดินทางสายไซบีเรีย ในกรณีที่เกิดสงครามในยุโรป
ทางด้านประเทศญี่ปุ่น ได้ตั้งความหวังว่ากองทัพไทย จะได้ร่วมเป็นสมรมิตรกับญี่ปุ่น ในสงครามมหาเอเซียบูรพา โดยที่ญี่ปุ่นต้องการให้ไทยซึ่งเป็นประเทศที่เป็นเอกราชมาช้านาน เช่นเดียวกับญี่ปุ่น และมีพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มี พระจักรพรรดิ์ ได้ช่วยกันขจัดอิทธิพลของชาวผิวขาว ที่มาครองอาณานิคมในอาเซียให้สิ้นสุดลง อย่างไรก็ตามทางญี่ปุ่นได้แสดงความไม่พอใจที่ไทยส่งคณะฑูตพิเศษ ไปติดต่อกับรัฐบาลรัสเซีย จึงต้องมีการชี้แจงเข้าใจว่า ไทยเพียงต้องการเปิดการคมนาคมทางรถไฟสายไซบีเรีย เพื่อให้คนไทยเดินทางไปมาระหว่างยุโรปกับตะวันออก ในระหว่างสงครามได้สะดวกเท่านั้น ไม่มีนโยบายอื่นได้อีก อนึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศเล็ก อยู่ห่างไกลจากรัสเซียมาก กับทั้งมีกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์อยู่ด้วย
ทางเอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำมอสโคว์ได้แจ้งเรื่องที่ญี่ปุ่นเตรียมทำสงคราม โดยจะบุกลงทางใต้ในเอเซียอาคเนย์ ตลอดทั้งไทย พม่า มลายู จึงขอให้ไทยได้เตรียมการต้านทานร่วมกันกับอังกฤษ
ทางรัฐบาลไทยได้เสนอแผนการสงครามของญี่ปุ่นไปให้เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา และ อังกฤษทราบ ได้มีการประชุมระหว่างฝ่ายเสนาธิการของไทย กับทูตทหารของสองประเทศดังกล่าว สำหรับสหรัฐอเมริกานั้นแจ้งว่า ประธานาธิบดีรูสเวลท์ กำลังเจรจาเพื่อบีบบังคับญี่ปุ่นอยู่ และเชื่อว่าญี่ปุ่นคงไม่กล้าเข้าจู่โจม ทางฝ่ายอังกฤษรู้สึกวิตกกังวลมาก แต่ก็หวังความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์ตามที่ไทยได้ร้องขอไปนั้น ทางสหรัฐอเมริกายินดีจะส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดมาให้จำนวนหนึ่ง โดยจะส่งผ่านมาทางฟิลิปปินส์ ส่วนการสนับสนุนจากอังกฤษนั้น ฝ่ายอังกฤษตอบปฎิเสธมาว่า ประเทศอังกฤษต้องรบติดพันอย่างหนักอยู่ในสมรภูมิยุโรป จึงไม่มีอาวุธจะส่งมาสนับสนุนให้ได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน จะมีก็เพียงปืนใหญ่สนาม และปืนสโตรกส์ ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก
นโยบายการต้านทาน และแผนการสงครามต่อญี่ปุ่นนั้น ทางสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ มีนโยบายไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือตอนที่ กองทัพญี่ปุ่นเริ่มเคลื่อนกำลัง นายกรัฐมนตรี เชอร์ชิลส์แห่งอังกฤษ ได้เสนอร่างโทรเลขให้ประธานาธิบดีรูสเวลท์ แห่งสหรัฐอเมริกา ลงนามยื่นคำขาดต่อรัฐบาลญี่ปุ่น ร่วมกับประเทศในเครือจักรภพของอังกฤษ ในวันที่ ๕ ธันวาคม 2484 แต่ประธานาธิบดีรูสเวลท์ยังลังเล จึงไม่ยอมลงนามเพราะเกรงว่าทางรัฐสภาสหรัฐ ฯ จะไม่รับรอง กับทั้งยังได้ขอร้องอังกฤษยับยั้งการส่งทหาร เข้ามายันกองทัพญี่ปุ่นในดินแดนไทย เพราะเกรงจะถูกประนามว่า เป็นฝ่ายรุกราน อย่างไรก็ตามประเทศทั้งสองก็ได้แสดงความสนใจ ( GAEAT CONGER) ต่อสถานการณ์นี้
ทูตทหารบกของเยอรมัน ได้เสนอบันทึกลับต่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้เร่งรัดปรับปรุงกองทัพโดยเร่งด่วน เพื่อรับสถานการณ์สงครามขนาดใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นในเอเซีย เพื่อใช้เป็นอำนาจในการรบ และการเจรจาทางการเมืองให้เป็นผลสำเร็จ กับทั้งมีความเห็นว่าควรจะหลีกเลี่ยงการสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่น เพราะจะทำให้เกิดความสูญเสียอย่างหนัก และประเทศไทยจะหวังพึ่งชาติอื่นไม่ได้เลย ก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นจะบุกอาเซียอาคเนย์ 2 เดือน ทูตทหารเยอรมันประจำประเทศไทย ได้แจ้งให้ทราบเป็นการลับเฉพาะว่า ญี่ปุ่นจะบุกอินโดจีนผ่านประเทศไทยทางด้านอรัญญประเทศ เพื่อมุ่งไปโจมตรีพม่า และจะมีกำลังหนึ่งกองพลตรึงอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ส่วนอีกสี่กองทัพใหญ่ จะกระจายขึ้นตามฝั่งทะเลภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ไปถึงโกตาบารู ซึ่งเป็นแผนการที่แน่นอน และย่ำว่าอย่าได้แจ้งรัฐบาลประเทศใดทราบว่า กระแสข่าวนี้มาจากทูตทหาร
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เชิญทูตทหารบก และทูตทหารเรือญี่ปุ่น มาสอบถามก็ไม่ได้ความกระจ่าง โดยตอบว่าไม่ทราบเรื่อง แต่ได้ให้ความเห็นว่า ถ้ากองทัพญี่ปุ่นจะโจมตีสิงคโปร์จริง ก็น่าจะกระจายกำลังขึ้นตามฝั่งทะเลดังกล่าว
เมื่อได้แจ้งเรื่องนี้ให้ทูตทหารสหรัฐอเมริกา และอังกฤษทราบเป็นการด่วน ทั้งสองประเทศถือว่า เป็นข่าวสำคัญและเริ่มไหวตัว
การปฎิบัติของสหรัฐและอังกฤษ |
ประธานาธิบดีรูสเวลท์ ได้มีสารส่วนตัวถวายสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ญี่ปุ่น โดยให้ทรงยับยั้งแผนการบุกประเทศในอาเซียอาคเนย์ แต่มิไช่การยื่นคำขาด เพราะสหรัฐ ฯ เองก็ไม่ต้องการทำสงครามกับญี่ปุ่น ในย่านมหาสมุทรแปซิฟิค เพราะต้องเตรียมจะประกาศสงครามกับเยอรมัน ซึ่งจะต้องใช้กำลังมหาศาลในภาคพื้นยุโรป ส่วนทางด้านประเทศไทย ฝ่ายทหารของสหรัฐ ฯ เห็นว่า ถ้ากองทัพญี่ปุ่นยกกำลังเข้าบุก กองทัพไทยก็ไม่มีกำลังพอที่ต้านทานได้ และคงจะต้องยอมจำนนในเร็ววัน เพราะฉะนั้นจึงได้สั่งระงับการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด จำนวนหนึ่ง ซึ่งจอดรอคอยการรับมอบกันที่
ฟิลิปปินส์ให้กับกองทัพอากาศไทยนั้นเสีย
ส่วนอังกฤษได้เสริมกำลังในมลายูและขอให้ไทยเป็นกองระวังหลัง โดยอังกฤษได้เตรียมกำลังจากอินเดีย ซึ่งมีกรมรถรบและรถยนต์ กับได้ส่งทหารสองกรม และกำลังทหารจากออสเตรเลีย จำนวนสองกองพลน้อย ซึ่งเมื่อรวมกับกำลังของมลายู และของอังกฤษแล้วจะมีกำลังกว่า 80 กองพัน ในการประชุมกับทูตทหารอังกฤษ และฝ่ายเสนาธิการของไทย อังกฤษได้ขอร้องให้ไทยเป็นกองระวังหลัง เพื่อให้อังกฤษสามารถถอนกำลังออกจากมลายู ในกรณีที่ต้านทานกำลังญี่ปุ่นไว้ไม่ได้ และอังกฤษมิได้ให้ความช่วยเหลือในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แต่อย่างใด
การเตรียมการต่อสู้ภายในประเทศ |
ทางรัฐบาลไทยได้ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยการประกาศสู้ตาย และเผาผลาญทำลายบ้านเมือง ไม่ให้ข้าศึกได้ใช้ประโยชน์ได้ ในกรณีที่รุกรานแล้วสู้ไม่ได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2484 ทูตทหารเยอรมันได้เข้าพบ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อแจ้งให้ทราบว่า กองทัพญี่ปุ่นได้เคลื่อนกำลังมุ่งสู่ทะเลใต้ ด้วยขบวนเรือลำเลียงกว่า 80 ลำ มีเรือรบคุ้มกันเป็นจำนวนมาก ผ่านทะเลจีนมุ่งสู่อ่าวไทย และตรงไปยังชายฝั่งจังหวัดทางภาคใต้ของไทย ตามจุดต่าง ๆ และกำลังทางบก ส่วนใหญ่มายันอยุ่ในเขตแดนเขมรกับประเทศไทย พร้อมที่จะเคลื่อนกำลังเข้าสู่ดินแดนไทย ตามคำสั่งแม่ทัพใหญ่ของญี่ปุ่น การดำเนินการทุกอย่าง เป็นไปตามที่ได้เคยรายงานไว้ เมื่อสองเดือนก่อนทุกประการ
จอมพล ป.พิบูลสงครามได้ทราบเรื่องแล้ว จึงได้รีบออกเดินทางไปอรัญประเทศ พร้อมด้วย พลโท จิระ วิชิตสงคราม เสนาธิการทหารบก และพลตรี จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ โดยมิได้มอบหมายสั่งการ และแจ้งให้ทราบ ว่าจะไปที่ใด กลับเมื่อใด กับทั้งมิได้มีเครื่องมือสื่อสารติดต่อกันได้กับกองบัญชาการทหารสูงสุด และทางคณะรัฐมนตรี
ในตอนบ่ายของวันที่ 6 ธันวาคม 2484 นักบินตรวจการณ์ของกองทัพออสเตรเลีย ได้บินตรวจอ่าวไทย พบเรือลำเลียงทหารของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งมีเรือรบคุ้มกันมาสองขบวน จึงได้รายงานไปยัง กองบัญชาการทหารสูงสุดที่สิงคโปร์ นายพลเพอร์ซิวัล ผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่สิงคโปร์ ได้สั่งให้กำลังกองทัพเรือพร้อมทั้งเครื่องบิน ออกโจมตีทำลายการเคลื่อนที่ของกองทัพญี่ปุ่นในท้องทะเลหลวง แต่จอมพล เซอร์ โรเบิร์ท บรุค ป๊อปแฮม ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพอังกฤษภาคพื้นเอเซีย พิจารณาเห็นว่า ขบวนเรือของกองทัพญี่ปุ่นดังกล่าว มุ่งเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง จึงไม่ใช่ธุระของอักฤษ ดังนั้นจึงเพียงแต่สั่งการเตรียมพร้อมอันดับหนึ่งไว้เท่านั้น
การดำเนินการของรัฐบาลไทย เมื่อญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านไทย
ในระหว่างวันที่ 6-7 ธันวาคม 2484 วงการทูตในประเทศไทย ได้มีการติดต่อกันทางโทรเลข และโทรศัพย์กันวุ่นวาย จากรายงานข่าวที่มีขบวนเรือลำเลียง และเรือรบของกองทัพญี่ปุ่น จำนวนประมาณ 80 ลำ ได้แล่นผ่านอ่าวคัมรานของญวนมุ่งหน้ามาที่อ่าวไทย
ตอนบ่ายวันที่ 7 เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ขอเข้าพบ นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยแจ้งว่ามีเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องปรึกษาโดยด่วน เกี่ยวกับเรื่องที่กองทัพญี่ปุ่น จะต้องขอผ่านประเทศไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงว่า ไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะต้องรอนายกรัฐมนตรีซึ่งไปตรวจราชการต่างจังหวัดอยู่
ในคืนวันเดียวกัน พลตำรวจเอกหลวงอดุลย์ เดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น ซึ่งแยกประเด็นได้ ๔ ประการคือ
1. ขอให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศไทย โดยจะเคารพอธิปไตยของไทย
2. ให้ประเทศไทย ทำสัญญาเป็นพันธมิตรร่วมกับญี่ปุ่น
๓. ให้ประเทศไทยเป็นภาคีประเทศอักษะ
๔. ไม่ตกลงอะไรเลยก็ได้
คณะรัฐมนตรีตกลงอะไรไม่ได้ จำเป็นต้องรอนายกรัฐมนตรี เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น พร้อมด้วยทูตทหารบก - เรือ กับนายทหารติดตามอีก 6 - 7 นาย ได้มานั่งคอยคำตอบอยู่ที่ตึกชั้นล่าง ของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่เมื่อยังไม่ได้รับคำตอบก็ต้องกลับไปก่อน และแจ้งว่าเวลา ๕ นาฬิกา จะกลับมาใหม่ เพื่อขอรับคำตอบโดยทันที หาไม่จะดำเนินการตามแผนการ
เช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เดินทางมาถึงที่ประชุม คณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยพลอากาศตรี พระเวชยันต์ รังสฤษดิ์ แม่ทัพอากาศ พลโท จิระ วิชิตสงคราม เสนาธิการทหาร และพลตรี จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ รัฐมนตรี เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นพร้อมทั้งคณะฑูตทหาร ได้ตรงเข้ามาห้อมล้อม และขอคำตอบโดยทันที แต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม แจ้งเรื่องนี้เป็นเรื่องความเป็นความตาย ต้องปรึกษาและขออนุมัติคณะรัฐมนตรี และต้องเป็นคำตอบของรัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัว ในที่สุดเอกอัครราชทูตก็ตงลงให้เวลา 30 นาที สำหรับคำตอบ
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ขอให้ แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ และแม่ทัพอากาศ ชี้แจงให้ทราบว่า กองทัพไทยจะสู้รบต้านทานกับกองทัพญี่ปุ่นได้เพียงใด ก็ได้รับคำตอบจากแม่ทัพบกและแม่ทัพอากาศ (แม่ทัพเรือ เข้ามาที่หลัง) แถลงว่าไม่มีทางที่จะต่อต้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา และอังกฤษไม่ได้ช่วยเหลือไทยแต่ประการใด ฝ่ายสหรัฐได้สั่งงดไม่ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด จำนวนหนึ่งตามที่ตกลงไว้เดิม ฝ่ายอังกฤษมีกำลังกองทัพบก กองทัพเรือ และนาวิกโยธิน อยู่เป็นจำนวนมากที่พอจะรับมือกับกองทัพญี่ปุ่นได้ แต่กลับขอให้ไทยซึ่งมีกำลังอยู่ในภาคใต้เพียงไม่กี่กองพัน เป็นกองระวังหลังยับยั้งการรุกรานของญี่ปุ่น เพื่อให้โอกาสกองทัพอังกฤษถอยทัพจากสหรัฐมลายูไปอินเดียได้
สถานการณ์ทางทหารและการเมือง |
ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ กลางคืนวันที่ 7 ธันวาคม 2484 ก็ได้มีรายงานมาตามลำดับ ถึงสถานการณ์ทางทหารที่เกิดขึ้นคือ
- กำลังทหารของญี่ปุ่น ได้ยกพลขึ้นบกที่สงขลา ปัตตานี และได้มีการปะทะกับกำลังฝ่ายไทย
- ได้มีชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในกรุงเทพ ฯ นำรถยนต์จำนวน 14 - 15 คัน ไปทางจังหวัดสมุทรปราการ นัยว่า เพื่อไปรับกองกำลังญี่ปุ่นที่จะมาขึ้นบกที่ปากน้ำ นายพลตำรวจตรีหลวงอดุลเดชจรัส จึงได้สั่งการให้ปิดถนนสาย สมุทรปราการ - กรุงเทพ ฯ เมื่อเวลา 03.00 น.
- กองทัพญี่ปุ่นได้ส่งเรือรบมา ๓ ขบวน ขบวนหนึ่งมีจำนวนเรือ 15 ลำ มุ่งตรงไปสงขลา อีกขบวนหนึ่งตรงมาอ่าวไทยทางทิศตะวันออก บริเวณเกาะสมุย และอีกขบวนหนึ่งตรงมาที่ปากน้ำสมุทรปราการ โดยที่ทางกองทัพเรือของไทยได้ไปรวมกำลังอยู่ที่เกาะสีชัง
- มีวิทยุโทรเลขจากสิงคโปร์ ปรากฎว่าทหารญี่ปุ่นขึ้นที่กลันตัน ในเขตอังกฤษห่างจากแดนไทย ประมาณ 18 ไมล์
- ที่พระตะบอง กองทัพกำลังเคลื่อนเข้าหากัน
- ทางสิงคโปร์ ได้ออกแถลงการณ์ว่า ญี่ปุ่นพยายามยกพลขึ้นบก เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 พร้อมทั้งโจมตีทิ้งระเบิดฐานทัพต่าง ๆ ของสหรัฐมลายู ทหารญี่ปุ่นขึ้นบกสำเร็จ ณ บริเวณชายหาดแห่งหนึ่งในสหรัฐมลายู เรือบรรทุกเครื่องบินของอังกฤษลำหนึ่งถูกยิง ประมาณว่ากองกำลังทางอากาศของญี่ปุ่น ได้ครอบครองน่านน้ำเขตเช่านานาชาติไว้แล้ว
- ในเวลาต่อมาก็ได้รับโทรเลขจากเชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีความว่า "ข้าพเจ้ามีความเห็นอกเห็นใจประเทศไทยที่ถูกญี่ปุ่นบุก ขอให้ประเทศไทยช่วยตัวเองเถิด รัฐบาลอังกฤษย่อมมีความสนใจในความเป็นเอกราชของประเทศไทยอยู่เสมอ"
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสั่งการ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อได้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดแล้วก็ไม่ได้มีความเห็นอะไรอีก จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงกล่าวสรุปว่า เมื่อเราไม่มีทางสู้ดังปรากฎชัดแจ้งแล้วนั้น ก็มีอยู่ทางเดียวคือ ให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไปได้ และเมื่อไม่มีผู้ใดมีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือเป็นมติของคณะรัฐมนตรีว่า ในข้อเสนอของญี่ปุ่น ๔ ประการนั้น คณะรัฐมนตรีตกลงรับข้อแรก คือให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปได้
ที่ประชุมตกลง เวลา 07.30 น. เห็นพ้องด้วยในการที่จะสั่งให้ฝ่ายเราหยุดยิง
จากนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการไป ๓ เรื่องคือ
1. ให้กองบัญชาการทหารสูงสุด สั่งการให้หน่วยทหารที่ทำการสู้รบทั่วประเทศได้ทราบว่ารัฐบาลไทย ได้เจรจาตกลงให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไปได้ จึงให้ระงับการต่อสู้และหยุดยิงตั้งแต่บัดนี้ และให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งเป็นวิทยุด่วนไปทุกจังหวัด ปล่อยให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไปได้ และไม่ถือว่าเป็นการปราชัย
2. แต่งตั้งให้พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรี นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และนายวณิช ปานะนนท์ รัฐมนตรี ไปเจรจาร่างสัญญากับญี่ปุ่น ในเรื่องการให้กองทัพผ่านไปได้โดยรีบด่วน
๓. ตั้งคณะประสานงานกับญี่ปุ่น ในเรื่องกำหนดเขตเรื่องที่พัก และปัญหาที่เกี่ยวกับการทหารโดยรีบด่วน
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกไปเจรจากับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น กับคณะที่ได้ให้ตามมาพบ เมื่อเวลา 7.45 น. ในการนี้มีเรื่องเสริมว่าทูตทหารบกญี่ปุ่น ได้แจ้งให้ทราบว่า ต้องเอาผ้าขาวไปปูตามยาวที่สนามราชตฤณมัย (นางเลิ้ง) เพื่อเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลไทยตกลงยินยอมให้กองทหารญี่ปุ่นฝ่านไปได้ก่อนเวลา 8.00 น. เพราะนายพลเอกยามาชิตะแม่ทัพญี่ปุ่นในภาคพื้นนี้ได้กำหนดเวลา 8.00 น. เป็นชั่วโมงศูนย์ ถ้าพ้นกำหนดนี้ แล้วยังไม่ได้รับสัญญาณดังกล่าวก็จะให้กองทัพญี่ปุ่นทุกหน่วยถือประเทศไทยเป็นศัตรู และให้บุกทันที มีเครื่องบินญี่ปุ่น 700 เครื่องที่ไซ่ง่อน คอยรอคำสั่งอยู่ ทั้งนี้เพื่อมิให้เสียแผนการบุกสหรัฐมลายู และพม่า
ข้อตกลงระหว่างผู้แทนฝ่ายไทยและญี่ปุ่น
ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องแล้วจากรัฐบาลของตน ตกลงกันดังนี้
1. เพื่อจะจัดการกับสถานการณ์เร่งด่วนในเอเชียตะวันออก ประเทศไทยจะอนุญาตให้กองทหารญี่ปุ่นผ่านดินแดนของประเทศไทยไปได้ และจะให้ความสะดวกทุกอย่างเท่าที่จำเป็น เพื่อการผ่านดังกล่าว ตลอดจนดำเนินการต่าง ๆ โดยทันที เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันทุกอย่าง อันอาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างกองกำลังทหารญี่ปุ่น กับกองกำลังทหารไทย
2. รายละเอียดเพื่อการปฏิบัติตามวรรคแรก จะต้องตกลงกันระหว่าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของประเทศทั้งสอง
๓. ประเทศญี่ปุ่นให้ประกันว่าเอกราชอธิปไตย และเกียรติยศของประเทศไทย จะได้รับการเคารพ
คำแถลงการณ์ของรัฐบาลไทย
"ด้วยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00 น. กองทหารญี่ปุ่นได้เข้าสู่ประเทศไทย โดยทางทะเล ในเขตจังหวัดสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี (บ้านดอน) และบางปู ส่วนทางบกได้เข้ามาทางจังหวัดพระตะบอง และพิบูลสงคราม เกือบทุกแห่ง ทหาร ตำรวจและยุวชนทหารไทย ได้ทำการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง
อนึ่ง ในเวลาเดียวกันก็ได้มีข่าวจากต่างประเทศว่า กองทัพเรือญี่ปุ่นได้เข้าโจมตีเกาะฮาวาย และฟิลิปปินส์ของสหรัฐอเมริกา ได้ส่งทหารขึ้นบกที่โกตาบารู ในเขตมลายูของอังกฤษ และได้เข้าโจมตีสิงคโปร์ ด้วยเครื่องบินอย่างหนักด้วย
ในเรื่องนี้เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ได้มาที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 ธันวาคม 2484 เวลา 22.30 น. ได้ชี้แจงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา แล้วแต่มิได้ถือว่าไทยเป็นศัตรู หากแต่มีความจำเป็นต้องของทางเดินผ่านอาณาเขตไทย
รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พิจารณาปรึกษากันโดยรอบคอบแล้ว เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ แม้ประเทศไทยได้พยายามจนสุดกำลัง ก็ไม่สามารถจะหนีเหตุการณ์นี้ได้พ้น และเนื่องจากสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การที่จะต่อสู้กันไป ก็จะเป็นการเสียเลือดเนื้อชาวไทย โดยไม่สำเร็จประโยชน์ จึงจำเป็นต้องพิจารณาตามข้อเสนอของรัฐบาลญี่ปุ่น และผ่อนผันให้ทางเดินแก่กองทัพญี่ปุ่น โดยได้รัยคำมั่นจากรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะเคารพเอกราช อธิปไตย และเกียรติศักดิ์ของไทย ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้ตกลงให้ทางเดินทัพแก่ญี่ปุ่น และการต่อสู้ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นก็ได้หยุดลง
ขอให้ประชาชนชาวไทยจงระงับความตื่นเต้น และพยายามประกอบกิจการงานต่อไปตามเดิม รัฐบาลจะทำความพยายามอย่างสูงสุด ในอันที่จะให้เหตุการณ์ทั้งหลายผ่อนจากหนักเป็นเบา ให้มากที่สุดที่จะทำได้ ขอให้ประชาชนชาวไทยจงรักษาความสงบ และฟังคำสั่งคำตักเตือนของรัฐบาลทุกประการ
เหตุการณ์ขั้นต่อมา และข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น
เมื่อรัฐบาลไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยได้ คณะกรรมการประสานงานกับญี่ปุ่น ก็ได้เริ่มประชุมครั้งแรกกับคณะทูตทหารญี่ปุ่น ที่กระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 พิจารณากำหนดเขตที่พักของทหารญี่ปุ่นในพระนคร โดยใช้ทางรถไฟสายเหนือเป็นเขต ทหารญี่ปุ่นจะเข้าพักได้เฉพาะฝั่งตะวันออกของทางรถไฟระหว่างสถานีรถไฟหัวลำโพงถึงสถานีรถไฟบางซื่อ ห้ามล้ำเข้ามาทางฝั่งตะวันตก เว้นแต่กรณีจำเป็น เป็นครั้งคราว กับทั้งงดเว้นการล่วงเกินเข้าไปในเขตพระราชวัง วัดวาอาราม และสถานศึกษา แต่ต่อมาเกิดปัญหาน้ำท่วมพระนคร จึงจำเป็นต้องผ่อนผันให้ทหารญี่ปุ่น เข้าพักอาศัยตามโรงเรียนและสถานที่ราชการบางแห่ง ไปพลางก่อนเป็นการชั่วคราว โดยปิดพักการเรียน และโยกย้ายกันมากมาย ทหารญี่ปุ่นได้เข้าไปอยู่ในบริเวณสวนลุมพินี ยึดสปอร์ตคลับ โรงเรียนเตรียมอุดม และโรงเรียนช่างกล ตกกลางคืนมีการพรางไฟ และได้มีการสร้างเครื่องกีดขวาง ขึงลวดหนามตั้งด่านตรวจ เป็นต้น
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองพลที่ ๕ ซึ่งเป็นทหารรักษาพระองค์ ชื่อเรียกว่ากองพลโกโนเย่ ได้เคลื่อนกำลังเข้ามาโดยทางรถไฟสายอรัญญประเทศ ขบวนรถถังและปืนใหญ่ ได้สวมล้อขึ้นแล่นบนรางรถไฟ เป็นขบวนยาวเหยียด หน่วยจักรยานยนต์ก็เคลื่อนที่ผ่านปราจีณบุรี เข้าสู่ชานพระนคร ส่วนทางด้านสมุทรปราการ กองทหารญี่ปุ่นได้ลำเลียงขึ้นบกที่บางปู โดยมีคนญี่ปุ่นเป็นแนวที่ห้าอยู่ในพระนคร แต่งเครื่องแบบทหารเข้าประจำการ นำกำลังขึ้นบุกแล้วเคลื่อนที่มาทางด้านพระโขนง ตามแนวถนนสุขุมวิทปัจจุบัน
เมื่อกองกำลังทหารญี่ปุ่นเข้ามาตรึงพระนคร การเจรจาของคณะประสานงานฝ่ายกองทัพญี่ปุ่น ก็เปลี่ยนเสียงและมีท่าทีไม่เป็นมิตร พูดก้าวร้าวและยื่นเงื่อนไขหนัก ๆ ในลักษณะประเทศที่อยู่ในความยึดครอง ได้มีการเรียกร้องมากขึ้นตามลำดับ กล่าวคือ
ในประการแรก ให้หน่วยทหารของไทยอยู่ประจำที่ ห้ามเครื่องบินทั่วไปขึ้นลงสนามบิน ห้ามเรือรบ หรือเรือเดินสมุทรออกจากท่าเรือก่อนแจ้งให้ทางญี่ปุ่นทราบก่อน ห้ามการส่งวิทยุและโทรเลขเป็นรหัส และต้องส่งสำเนาให้ญี่ปุ่นทราบ
ประการต่อมาได้เข้าควบคุมสถานีรถไฟ และเตรียมการเดินขบวนรถเสียเอง โดยให้ระดมเรียกรถจักร และรถบรรทุกสินค้ามารวมไว้ในพระนคร เพื่อการลำเลียงทหารญี่ปุ่นต่อไป กับให้รวมรถบรรทุกไว้ตามท้องที่อำเภอต่าง ๆ ซึ่งญี่ปุ่นจะนำวิทยุคลื่นยาวมาแลกเปลี่ยน ห้ามยวดยานพาหนะเดินในเวลากลางค่ำคืน นอกจากจะมีใบอนุญาตพิเศษ ห้ามการโฆษณาใด ๆ เป็นภาษาอังกฤษ ห้ามฉายภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ และในที่สุดให้โรงเรียนต่าง ๆ เลิกสอนภาษาอังกฤษ
ประการต่อมา ชนชาติที่ญี่ปุ่นถือว่าเป็นศัตรู ได้แก่ อังกฤษ อเมริกา และฮอลันดา ให้รัฐบาลไทยจัดการควบคุมเข้าค่ายกักกัน และทำบัญชีรายชื่อส่งให้ญี่ปุ่น เพื่อจะได้รับมอบเป็นเชลยศึกของกองทัพญี่ปุ่นต่อไป ให้ทำบัญชีแสดงทรัพย์สินของชนชาติดังกล่าว รวมทั้งสัมปทานป่าไม้ แร่ ยาง และทรัพย์สมบัติของบริษัทห้างร้านมอบให้แก่ญี่ปุ่น เพื่อนำไปใช้จ่ายในการสงครามต่อไป
นอกจากนั้นหน่วยประสานงานญี่ปุ่นได้เรียกร้อง เข้ายึคสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ มาใช้เป็นกองบัญชาการของกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย ในข้อนี้รัฐบาลไทยได้โต้แย้งอย่างรุนแรง และได้ส่งกำลังตำรวจเข้ารักษาพื้นที่ รัฐมนตรีต่างประเทศต้องโทรเลขประท้วงไปยังรัฐบาลญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียว เรื่องจึงเป็นอันระงับไป
การร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่น |
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งพิเศษ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2484 ได้มีการพิจารณาเรื่อง การทำกติกาสัญญาทางทหารระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าทางญี่ปุ่นเห็นว่า กิจการทหารของเขาได้คืบหน้าไปมาก แต่ทางไทยยังไม่มีอะไรผูกพันกับเขาเลย เหมือนมีรากฐานอยู่บนทราย ดังนั้นทางญี่ปุ่นจึงขอให้ไทย เลือกเอาทาง military co - operation คือการร่วมมือทางทหารของญี่ปุ่น ขอทราบผลการตกลงในเวลา 11.00 น. ของวันนี้
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยได้ประมวลสถานการณ์ ที่ได้พัฒนาไปตามลำดับ กล่าวคือ คาดว่าอังกฤษจะประกาศสงครามกับไทยไม่เกิน 2 อาทิตย์ เวลานี้เครื่องบินอังกฤษได้มาทิ้งระเบิดที่หาดใหญ่เสียหายมาก และทหารอังกฤษสองพันคน ได้เข้ามาที่แม่สอด กำลังเผชิญหน้ากับตำรวจอยู่ ในที่สุดที่ประชุมได้ตกลงใจ ให้ดำเนินการทหารรวมกันกับญี่ปุ่น จากนั้นนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกจากที่ประชุม เพื่อพบทูตญี่ปุ่นซึ่งมาที่ทำเนียบวังสวนกุหลาบ และได้ลงนามใน กติกาสัญญาทางทหารระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยลงนามร่วมกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ลงนามใน หลักการร่วมยุทธระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยมี นายพลโท อีดา แม่ทัพกองทัพที่ 15 ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกญี่ปุ่นในประเทศไทย และนายพลเรือตรี ชาดอง ทูตทหารเรือญี่ปุ่นประจำกรุงเทพ ฯ ในฐานะผู้แทนจักรพรรดินาวีญี่ปุ่น ลงนามในฐานะผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น
หลักการร่วมยุทธระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีดังนี้
1. กองทัพญี่ปุ่น ณ ประเทศไทย และกองทัพไทยจะทำการร่วมยุทธต่อกองทัพข้าศึกในพม่า
2. ก่อนอื่น กองทัพไทยจะยึดชายแดนไทยพม่าให้มั่นคง พร้อมกับทำการรักษาฝั่งทะเล ทิศตะวันตกของประเทศทางภาคใต้ เพื่อป้องกันการชุมพลของกองทัพไทย - ญี่ปุ่น ในระหว่างนี้ กองทัพไทยจะช่วยถนนสายระแหง - แม่สอด - มิยาวดี (เมียวดี) และสายกาญจนบุรี - บ้องตี้ ทั้งนี้กองทัพญี่ปุ่นจะเข้าร่วมด้วย
๓. กองทัพญี่ปุ่น ณ ประเทศไทย มีความหมายสำคัญที่จะทำการยุทธในภูมิภาคทางทิศใต้ ของแนวระแหง - แม่สอด - มิยวดี (รัฐฉานของพม่า) แนวนี้อยู่ในเขตด้านตรงไปย่างกุ้ง กองทัพไทยนั้นมีความมุ่งหมายสำคัญที่จะทำการยุทธในภูมิภาค ทางทิศเหนือของแนวที่กล่าวแล้ว มุ่งตรงไปเชียงตุงและมัณฑเลย์
๔. กองทัพอากาศไทย และญี่ปุ่น ต่างฝ่ายต่างทำการยุทธในด้านของตน ถ้ามีความจำเป็น กองทัพอากาศญี่ปุ่น จะเข้าร่วมกำลังกับกองทัพอากาศของไทยด้วย
๕. ราชนาวีแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ครองน่านน้ำไทย ประมาณตั้งแต่เหนือแนวสัตหีบ - หัวหิน ขึ้นไป
ต่อมาอีก 10 วันคือ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2484 ได้มีการลงนามใน กติกาสัญญาไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น มีอยู่ ๕ ข้อด้วยกัน ดังนี้
1. ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย สถาปนาสัมพันธไมตรีต่อกันและกัน ตามมูลฐานที่ต่างฝ่ายต่างเคารพเอกราชและอธิปไตยแห่งกันและกัน
2. ในกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศไทย อยู่ในการขัดกันทางอาวุธกับประเทศภายนอก จะเป็นประเทศเดียวหรือหลายประเทศก็ตาม ประเทศไทยหรือประเทศญี่ปุ่น จะเข้าข้างภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ในฐานที่เป็นพันธมิตรทันที และจะให้ความช่วยเหลือแก่ภาคีนั้นด้วยบรรดาปัจจัยของตน การเศรษฐกิจ และทหาร
๓. รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อ 2 จะได้กำหนดด้วยความตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแห่งประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย
๔. ในกรณีสงครามซึ่งกระทำร่วมกัน ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยรับรองว่าจะไม่ทำสัญญาสงบศึก หรือสันติภาพ นอกจากจะได้ทำความตกลงร่วมกันโดยบริบูรณ์
๕. กติกาสัญญานี้จะได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันลงนามเป็นต้นไป กติกาสัญญาจะมีกำหนดอายุสิบปี ภาคีทั้งสองฝ่ายจะได้ปรึกษาหารือกัน ในเรื่องการต่ออายุกติกาสัญญานี้ในเวลาอันควร ก่อนสิ้นกำหนดอายุสัญญาดังกล่าวแล้ว
ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ มกราคม 2485 ได้มีการลงนามร่วมกันใน ข้อตกลงในกิจที่เกี่ยวกับการยุทธร่วมกัน ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ระหว่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กับ พลโท อีดา แม่ทัพกองทัพที่ 15 ญี่ปุ่น ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกญี่ปุ่นในประเทศไทย และพลเรือตรี ชาคอง ทูตทหารเรือญี่ปุ่น ในฐานะผู้แทนจักรพรรดินาวีญี่ปุ่น
|
Update : 27/5/2554
|
|