|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/163
๕๑๘๓. หมาจิ้งจอก เป็นชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขนาดเล็ก ลำตัวยาว ๖๐ - ๗๕ ซม. น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มที่หนัก ๘ - ๑๐ กก. เป็นสัตว์กินเนื้อ ขนลำตัวสีเทา มีสีดำ และสีขาวแซม บริเวณไหลขนมีลักษณะยาวปลายสีดำ หางสั้นมีขนยาว เป็นพวง ปลายหางสีดำ
หมาจิ้งจอก ส่วนมากออกหากินในเวลากลางคืน ยกเว้นในฤดูหนาว หรือวันที่อากาศเย็น อาจเห็นออกมาหากินในเวลากลางวัน ในประเทศไทยมักพบหมาจิ้งจอกอยู่เดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ มักชอบเดินตามเสือโคร่ง เพื่อจะได้กินซากสัตว์ที่เสือโคร่งกินเหลือไว้ บางครั้งออกล่าสัตว์ เช่น เนื้อทราย กวางป่า ร่วมกับฝูงหมาไน
หมาจิ้งจอก โตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ ๒ - ๓ ปี การผสมพันธุ์มีได้ตลอดปี ตั้งท้องนานสองเดือน ตกลูกครั้งละ ๔ - ๕ ตัว โดยทั่วไป มักจะจับคู่กันแบบผัวเดียว เมียเดียว หมาจิ้งจอกอายุยืยประมาณ ๑๕ ปี ในประเทศไทย พบหมาจิ้งจอกในภาคเหนือและภาคตะวันตก ๒๘/๑๘๑๒๓
๕๑๘๔. หมาใน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีขนาดใหญ่กว่าหมาจิ้งจอก ความยาวลำตัว ๘๐ - ๙๐ ซม. น้ำหนักตัว ๑๐ - ๒๐ กก. ขนลำตัวสีน้ำตาลแดง ขอบหูมนไม่แหลม เหมือนหมาจิ้งจอก ขนหางเป็นพวงสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม ในฤดูหนาวขนจะขึ้นหนาแน่น
หมาใน ชอบอยู่ในป่าค่อนข้างทึบ หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับมนุษย์ ชอบออกหากินเป็นฝูงในตอนเช้าตรู่ และใกล้พลบค่ำ แต่ละฝูงจะมีจำนวน ๖ - ๒๐ ตัว
หมาใน สามารถผสมพันธุ์กันได้ตลอดปี ตั้งท้องนาน ๖๓ - ๖๕ วัน ตกลูกครั้งละ ๔ - ๖ ตัว และอาจมากถึง ๑๑ ตัว ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ค่อนข้างยาวนาน แม่จะทิ้งลูกก็ต่อเมื่อลูกแยกตัวออกไปหากินเองได้ ตัวโตที่อยู่ภายในฝูง จะนำอาหารมาเลี้ยงดูลูกในฝูง โดยไม่เลือกว่าเป็นลูกของตัวไหน โดยสำรอกเนื้อออกมาให้ลูกกิน ถ้าตัวเมียตกลูกพร้อมกัน มักจะออกลูกในถ้ำ หรือในโพรงเดียวกัน และจะมีแม่ตัวหนึ่ง คอยดูแลฝูงลูกหมาไว้ ขณะที่ตัวอื่น ๆ ออกไปล่าเหยื่อ แต่เมื่ออดอยาก หมาในจะกินลูกของมันเอง หมาในมีอายุ ๑๐ - ๑๕ ปี ๒๘/๑๘๑๒๔
๕๑๘๕. หมาป่า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่มีความสามารถในการวิ่งในระยะทางไกล ๆ ได้ดีกว่าสัตว์กินเนื้อชนิดอื่น ๆ ลำตัวยาว ๓๕ - ๑๓๕ ซม. น้ำหนักตัว ๑.๕ - ๗๕ กก. ลำตัวส่วนหน้าจะกว้าง และเรียวมายังท้าย กล้ามเนื้อบริเวณคอ อก และโคนขาแข็งแรง ขายาว อุ้งตีนเล็ก ใบหูมีฐานกว้าง และเรียวไปที่ปลายหู หูตั้งเป็นรูปสามเหลี่ยม หางมีขนคลุม มีลักษณะเป็นพวง
หมาป่าบางชนิด ออกหากินตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะในขณะที่อากาศร้อน บางชนิดชอบหากินใกล้พลบค่ำ หรือในระหว่างเวลากลางคืน มีความสามารถในการว่ายน้ำ หมาป่ามีระยะการตั้งท้อง ๔๙ - ๗๐ วัน ปีหนึ่งมีลูก ๑ - ๒ ครอก ช่วยกันเลี้ยงลูก แต่ละครอกมี ๒ - ๑๐ ตัว โตเต็มวัย เมื่ออายุ ๑ - ๒ ปี อายุยืน ๑๐ - ๒๒ ปี
หมาป่าชนิดที่มีขนาดใหญ่ จะอยู่รวมเป็นฝูง ฝูงหนึ่งอาจมีจำนวน ๖๐ - ๗๐ ตัว การกำหนดอาณาเขต จะใช้วิธีการปัสสาวะ โดยตัวผู้จะปัสสาวะให้ติดกับพื้นดิน เปลือกไม้ หรือใบไม้ ๒๘/๑๘๑๒๕
๕๑๘๖. หมาไม้ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีลำตัวยาวประมาณ ๕๐ ซม. น้ำหนักตัว ๑.๕ - ๓ กก. รูปร่างคล้ายอีเห็น แต่ขาสั้นกว่า ลำตัวยาวเรียว ใบหูกลมมน ขนยาว หยาบและลู่ไปตามลำตัวจดหาง ขนสีน้ำตาลแถบเหลือง
หมาไม้ ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบที่รกทึบ และเป็นป่าสูง ปรกติออกหากินตามลำพังตัวเดียว ในเวลากลางวัน นอกจากในฤดูผสมพันธุ์ จึงจะออกหากินเป็นคู่ บางครั้งอาจพบออกหากินเป็นฝูง ฝูงละ ๔ - ๕ ตัว โดยช่วยกันล่าเหยื่อ โตเต็มวัยเมื่ออายุ ๒ - ๓ ปี ตั้งท้องนาน ๒๐ - ๒๙ ๆ วัน ตกลูกครั้งละ ๑ - ๕ ตัว ทั้งตัวผู้ และตัวเมียอยู่ด้วยกัน จนตกลูก ลูกโตเร็วมาก อายุประมาณสามเดือน จะมีน้ำหนักเท่าพ่อแม่ อายุยืนประมาณ ๑๕ ปี ๒๘/๑๘๑๒๗
๕๑๘๗. หมาร่า เป็นแมลงหลายชนิด จำพวกต่อหรือแตน แต่ทำรังด้วยดินเหนียว รูปร่างต่างกัน ติดอยู่กิ่งไม้ หรือวัสดุอื่นภายนอกบ้านเรือน หรือตามขื่อ ฝ้า เพดาน ในบ้านเรือน ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดของหมาร่า
หมาร่า มีรูปร่างลักษณะโดยทั่วไป เหมือนตัวต่อ มีชีวิตแบบโดดเดี่ยว ไม่รวมกลุ่มกัน มีความยาวลำตัวประมาณ ๓ ซม. ๒๘/๑๘๑๒๘
๕๑๘๘. หมี เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ขนาดใหญ่ เป็นสัตว์กินเนื้อ อาศัยอยู่บนบก ขนาดใหญ่ที่สุดและมีพละกำลังมาก น้ำหนักตัว ๒๗ - ๗๘๐ กก. ขนบนลำตัวสีดำ น้ำตาล น้ำตาลแดง หรือขาว ตาและใบหู มีขนาดเล็ก ประสาทการเห็น และการได้ยินไม่ดีเท่าสุนัข ประสาทการดมกลิ่นดีมาก
หมี มีหลายชนิดในประเทศไทย มีสองชนิดได้แก่ หมีควาย และหมีหมา
๑. หมีควาย เป็นหมีที่ใหญ่ที่สุดของไทย ลำตัวยาว ๑.๒๐ - ๑.๕๐ เมตร น้ำหนัก ๘๐ - ๑๘๐ กก. บริเวณอกมีขนสีขาว เป็นรูปตัววี หัวใหญ่ ตาเล็กโปนสีดำ ปลายปากสีขาว จมูกสีดำ ใบหูขอบกลม มนสีดำ เล็บตีนมีห้านิ้ว เล็บใหญ่โค้งปลายแหลม ไม่หดกลับ
หมีควาย ชอบหากินเดี่ยว ๆ ยกเว้นเมื่อจับคู่กันในฤดูผสมพันธุ์ ชอบอาศัยในป่าทึบบนภูเขา มักออกหากินเวลากลางคืน ปีนต้นไม้เก่ง อาหารมีมากมายหลายชนิด ทั้งเนื้อสัตว์และพืช
หมีควาย ตั้งท้องนาน ๗ - ๘ เดือน ตกลูกครั้งละ ๑ - ๒ ตัว ลูกจะติดตามหากินไป พร้อมกับแม่จนอายุ ๒ - ๓ ปี จึงแยกกับแม่ หมีควายโตเต็มวัย พร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ ๓ ปี อายุยืน ๒๐ - ๒๕ ปี บางตัวอาจอายุยืนถึง ๓๕ ปี
๒. หมีหมา เป็นหมีขนาดเล็กของไทย และเล็กที่สุดในโลก ลำตัวยาว ๑.๐ - ๑.๕ เมตร น้ำหนักตัว ๒๗ - ๖๐ กก. ขนสั้นเกรียนสีดำ ปาก จมูก และริมฝีปากล่างสีขาว ปลายจมูกเป็นหนังสีดำ ตาเล็กโปน ใบหูเล็กขอบกลมมน ตรงหน้าอกมีรอยสีขาวเป็นรูปถ้วย หรือรูปดวงอาทิตย์ ออกหากินเวลากลางคืน มักอยู่ร่วมกันหรือหากินกันเป็นคู่ ๆ ชอบอยู่ในป่าทึบ ปีนต้นไม้ได้เก่งและคล่องแคล่ว ชอบกินทั้งพืชและสัตว์
หมีหมาผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ตั้งท้องนาน ๙๐ - ๙๖ วัน ตกลูกคราวละสองตัวอยู่กับแม่จนอายุ ๑ - ๒ ปี อายุยืนประมาณ ๒๐ ปี
๓. หมีขาว หรือหมีขั้วโลก น้ำหนักตัว ๔๑๐ กก. มีถิ่นกำเนิดในแถบขั้วโลก
๔. หมีสีน้ำตาล น้ำหนักตัว ๗๘๐ กก. มีถิ่นกำเนิดในยุโรป เอเซียตอนกลางและตอนเหนือ และอเมริกาเหนือ
๕. หมีกริซซลี น้ำหนักตัว ๓๒๕ กก. มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเหนือ ๒๘/๑๘๑๓๑
๕๑๘๙. หมูหริ่ง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในกลุ่มเดียวกับแผงพอน หมาไม้ และนาก รูปร่างอ้วนสั้น ขาล่ำสัน เล็บยาวโค้งปลายแหลม เหมะในการขุดดิน จมูกยื่นออกมาคล้ายจมูกหมู ลักษณะเป็นหนังหนาใช้ในการดุน ตาและหูเล็ก ปราสาทการเห็น และการได้ยินไม่ดี ลำตัวยาว ๖๕ - ๑๐๔ ซม. น้ำหนักตัว ๗ - ๑๕ กก. ลำตัวมีขนหยาบแข็ง ลำตัวสีเหลืองเทา หรือสีดำ อยู่กับฤดูกาล
หมูหริ่ง ออกหากินเวลากลางคืน ชอบกินรากพืช หัวพืชใต้ดิน หน่อพืชอ่อน ไส้เดือน แมลงและสัตว์เล็ก ๆ ใต้ดิน
หมูหริ่ง ออกลูกครั้งละ ๒ - ๓ ตัว อายุยืน ๗ - ๑๐ ปี ๒๘/๑๘๑๓๕
๕๑๙๐. หยก เป็นรัตนชาติที่มีราคาสูง โดยทั่วไปหมายถึง รัตนชาติหรืออัญมณี โปร่งแสงสีเขียว แต่ที่จัดว่าเป็นหยกจริง ๆ คือ หยกชนิดเจไดต์ บางทีเรียกว่า หยกพม่า มีหลายสี และหยกชนิดไฟรต์บางทีเรียก หยกจีน หรือหยกไต้หวัน ซึ่งมีราคาไม่แพง ชาวจีนรู้จักหยกและใช้กันมานานแล้ว นิยมนำมาแกะสลักเป็นงานปฎิมากรรมชิ้นใหญ่ และได้มีการค้นพบว่า หยกใช้เป็นเครื่องประดับตั้งแต่ยุคหินใหม่ มีอายุกว่า ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ทัศนคติเกี่ยวกับหยกของชนชาติต่าง ๆ มีตรงกันบ้างต่างกันบ้าง หยกมีหลายสี แต่ละสีมีสัญญลักษณ์แตกต่างกันออกไป สีที่นิยมกันมากคือ สีเขียวมักนำมาเจียระไน ขัดมันเป็นรูปโค้งหลังเต่า หลังเบี้ย รูปไข่ ลูกปัด เป็นต้น สำหรับทำเป็นเครื่องประดับ หรือนำมาแกะสลักเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ หยกแบ่งออกได้เป็นสี่ชนิด ตามชนิดของสี
๑. หยกสีเขียว มีราคาสูง คุณภาพดี และหายาก คือ หยกจักรพรรดิ์ มีสีเขียวเข้มคล้ายมรกต มีความโปร่งใสสูง หรือยอมให้แสงผ่านได้
๒. หยกสีม่วงอ่อน เป็นที่นิยมและมีราคาสูงเช่นกัน ราคาเปลี่ยนแปลงตามความโปร่งใสและสีที่เข้มขึ้น
๓. หยกสีขาว โดยทั่วไปมีราคาค่อนข้างต่ำ หยกที่มีความขาวใสบริสุทธิ์หรืออมเหลืองเล็กน้อย เนื้อละเอียดก็อาจมีราคาสูงได้ และอาจจะได้รับความนิยมรองลงมาจากหยกสีเขียว
หยกสีอื่น ๆ เช่น เหลือง ส้มแดง คราม เทา ดำ สีเหล่านี้มักเกิดในเนื้อหยก มากกว่าสองหรือสามสี สีเดียวก็มีแต่พบน้อย ราคาก็ขึ้นอยู่กับความสวยงามของสีที่ปรากฎ รสนิยม และความนิยมแต่ละยุคสมัย ๒๘/๑๘๑๓๖
๕๑๙๑. หยวน, ราชวงศ์ (พ.ศ.๑๘๒๒ - ๑๙๑๑) เป็นราชวงศ์ที่ชาวมองโกลตั้งขึ้นปกครองประเทศจีน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ์มองโกล ซึ่งครอบครองทวีปเอเซียจดทวีปยุโรป เจงกิสข่าน (๑๗๑๐ - ๑๗๗๐) เป็นผู้รวบรวมชนเผ่ามองโกล และชนเผ่าใกล้เคียงทั้งหลายได้ แล้วขยายอำนาจไปในที่ต่าง ๆ ในปี พ.ศ.๑๗๕๘ ได้เข้าครอบครองภาคเหนือของประเทศจีน โอรสของเจงกีสข่านคือ โอโกโด ก็ได้ล้มราชวงศ์ฉิน ซึ่งเคยครองจีนภาคเหนือ และจัดกองทหารไว้ปกครองดินแดนที่ชาวมองโกลตีได้ ต่อมาก็ล้มราชวงศ์ซ้องที่ปกครองจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๕๐๓ - ๑๘๒๒ กุบไลข่าน (พ.ศ.๑๗๕๗ - ๑๘๓๗) ซึ่งสีบทอดตำแหน่งข่าน ต่อมาก็ขยายอำนาจเข้าครอบครองสุดภาคใต้ทั้งประเทศ กุบไลข่านเริ่มใช้ชื่อ ราชวงศ์หยวน บางครั้งก็เรียกว่า ราชวงศ์มองโกล
ชาวมองโกลเคยปกครองดินแดนส่วนใหญ่ในส่วนอื่นของโลก เช่น เอเซียกลาง เคยยกทัพไปตีรัสเซียและโปแลนด์ในปีพ.ศ.๑๗๘๓ และยาตราทัพไปจนถึงโบฮิเมีย ฮังการี และลุ่มแม่น้ำดานูบ จึงเป็นที่เกรงขามของชาวยุโรปอยู่มาก ชาวมองโกลได้ครอบครองเส้นทางสายไหม อนุญาตให้พ่อค้านานาชาติใช้เส้นทางนี้ได้อย่างเสรี ยังผลให้การค้านานาชาติในประเทศจีนเจริญขึ้นมาก ได้เริ่มสร้างเส้นทางจากจีนไปเปอร์เซีย และรัสเซียผ่านเอเซียตะวันตก ในปี พ.ศ.๑๗๖๒ และตั้งศูนย์การทหาร คลังเสบียงอาหาร และพื้นที่เพาะปลูก ตลอดจนศูนย์การไปรษณีย์ขึ้นตามเส้นทางเป็นระยะ ๆ ทำให้สะดวกแก่นักเดินทางไปมาจากโรมถึงเอเซีย ชาวตะวันตกที่เดินทางมาจีน เช่น บาทหลวงนิกายฟรานซิสกับที่มาเผยแพร่ ศานาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ชาวยุโรปยุคกลางก็มายังราชสำนักกุบไลข่าน ในปี พ.ศ.๑๘๐๔ สันตะปาปาก็ได้ส่งสมณทูตมายังเมืองเฉินตู และมาร์โคโปโล ก็มารับราชการอยู่ ณ ราชสำนักปักกิ่ง ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๑๔ - ๑๘๓๕ เขาได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับจีน และเอเซียไว้ หนังสือเล่มนี้แปลออกเป็นหลายภาษาคือ หนังสือการเดินทางของมาร์โคโปโล ซึ่งให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับทวีปเอเซีย และประเทศจีนแก่ชาวโลกมาก
ด้วยความเชื่อว่าข่านมองโกลเป็นผู้ปกครองโลก และประเทศทั้งหลายต้องส่งบรรณาการให้จีน กุบไลข่าน จึงต้องส่งกองทัพออกนอกประเทศจีนหลายครั้ง เพื่อไปเรียกร้องบรรณาการ กองทัพมองโกลตีได้เกาหลี ระหว่างปี พ.ศ.๑๗๗๔ - ๑๗๗๕ และโจมตีญี่ปุ่นสองครั้ง ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๑๗ - ๑๘๒๔ แต่ไม่สำเร็จ รบชนะทิเบต และยูนนาน เข้ารุกรานพม่าภาคเหนือ เวียดนาม จามปา และยกทัพไปถึงชวา ถึงสองครั้งในปี พ.ศ.๑๘๒๔ - ๑๘๒๕
จากการค้าที่รุ่งเรือง และการเดินทางกว้างไกลขึ้น ชาวมองโกลจึงริเริ่มคิดทำธนบัตรขึ้นใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนั้น ยังประดิษฐ์ลูกคิดสำหรับใช้คิดเงินในปี พ.ศ.๑๘๑๗ อีกด้วย
จักรพรรดิ์ราชวงศ์หยวน สองเมืองคือ เมืองหลวงในฤดูหนาวอยู่ที่เมืองต้าตู และเมืองหลวงในฤดูร้อน คือ เมืองเฉินตู อยู่ในมองโกเลียใน เมื่อจักรพรรดิ์กุบไลข่าน ย้ายเมืองหลวงจากคอราคอรัม มายังเมืองต้าตู เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๓ ก็ได้ให้สร้าพระราชวังพร้อมอุทยาน ประกอบด้วยภูเขา และทะเลสาบ จำลองไว้งดงาม สร้างที่บูชาธรรมชาติที่หอเทียนดาน ทรงปฎิรูปการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมจีน ในหลาย ๆ ด้าน โปรดให้ขุดคลองสำคัญสองคลองคือ คลองฉีโฉว และคลองหวยถุง เชื่อมจากปักกิ่ง ลงสู่ตอนล่างของแม่น้ำแยงซี ในจีนภาคใต้ ได้จัดตั้งคอมมูน ซึ่งประกอบด้วย คน ๕๐ - ๑๐๐ ครอบครัว ร่วมมือช่วยเหลือกันในด้านการเพาะปลูก สวัสดิการต่าง ๆ สะสมเสบียงอาหารไว้ในยามขาดแคลน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ
กุบไลข่าน รับเอาพิธีการหลายอย่างตามประเพณีจีนโบราณมาใช้ ตลอดสมัยราชวงศ์หยวน ใช้ภาษามองโกเลียเป็นภาษาราชการ ให้มีล่ามแปลในหน่วยงานทุกระดับ
จักรพรรดิ์และชาวมองโกลส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายลามะ แบบทิเบต ผู้นับถือนิกายลามะ และชาวมองโกล ได้รับสิทธิพิเศษหลายประการ ในปี พ.ศ.๑๘๓๕ มีวัดในพระพุทธศาสนาถึง ๔๒,๓๑๘ วัด มีพระสงฆ์และแม่ชีกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน นอกจากนั้น ราชวงศ์หยวนก็สนับสนุนศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาคริสต์ นิกายเนสทอเรียน ศาสนาอิสลาม ศาสนายิว ขณะที่ศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อ ก็ยังคงอยู่ การแสดงงิ้ว จัดว่าเป็นศิลปะที่เด่นของจีนสมัยราชวงศ์หยวน และนิยมแพร่หลายทั่วไปถึงทุกวันนี้
ความเจริญที่เด่นในด้านวิทยาศาสตร์ของราชวงศ์หยวน มีอยู่เป็นอันมาก เช่น ประดิษฐ์ประทัดแบบแปลก ๆ ขึ้นใช้ ต่อมาเป็นต้นแบบดินปืนของยุโรป รู้จักประดิษฐ์เครื่องมือดาราศาสตร์ แบบอิสลามอีกหลายชนิด สร้างหอดูดาวที่เมืองต้าตู ในปี พ.ศ.๑๘๒๒ นำช่างตะวันออกกลางมาสร้างเขื่อนกันน้ำ ประดิษฐ์กระดาษขึ้นใช้
จักรพรรดิ์กุบไลข่าน สวรรคตในปี พ.ศ.๑๘๓๗ ราชวงศ์หยวนก็เริ่มเสื่อมลง การทหารก็เสื่อมลง ส่วนหนึ่งเพราะการสืบทอดตำแหน่งในตระกูล กองทัพมองโกลไม่อาจปราบกบฎพื้นเมือง เช่น กบฎดอกบัวขาว เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๔ ได้ ในช่วงปี พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๐๓ ได้เกิดกบฎต่อต้านชนชั้นสูงหลายครั้ง และลุกลามเป็นการขับไล่ชาวมองโกลออกไปจากจีน ในที่สุด ซื่อหงวนจัง หัวหน้ากบฎชาวนา ก็ล้มราชวงศ์หยวนได้เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๑ และตั้งราชวงศ์หมิงขึ้นแทน ๒๘/๑๘๑๔๖
๕๑๙๒. หยี, ต้น เป็นไม้ยืนต้น สูงถึง ๓๐ เมตร ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ มีใบย่อย ๕ - ๙ ใบ ออกสลับกันบนแกนใบ ดอกเล็ก ออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง และตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง สีขาว สมบูรณ์เพศ ผลรูปไข่มีขนคลุม ยาวประมาณ ๑๕ มม. มี ๑ - ๒ เมล็ด เมื่อสุกสีดำ เนื้อในผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน บริโภคได้
เนื้อไม้หยี แข็งเหนียวและทนทานมาก ใช้ทำเสา เพลาเกวียน เสากระโดงเรือ และงานก่อสร้างทั่วไป ๒๘/๑๘๑๕๒
๕๑๙๓. หรดาล เป็นชื่อแร่ชนิดหนึ่ง มีบทนิยามว่า "แร่ชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยธาตุสารหนู และกำมะถัน มีปรากฎในธรรมชาติสองชนิดคือ หรดาลแดง กับ หรดาลกลีบทอง" สำหรับหรดาลกลีบทอง เป็นวัสถุสำคัญในการนำมาย่อยให้ละเอียด แล้วผสมน้ำกาวเขียนลายรดน้ำ ซึ่งเป็นงานวิจิตรศิลป์อย่างหนึ่ง ในศิลปะไทย ส่วนหรดาลแดง นั้นนำไปใช้อย่างอื่น
ประโยชน์ของหรดาล หรือน้ำยาหรดาล คือ ใช้เขียนลายบนแผ่นที่มีพื้นเป็นรัก เพื่อทำการปิดทองรดน้ำต่อไป จึงเรียกกันว่า ลายรดน้ำ เป็นกรรมวิธีทางศิลปะของไทย ที่สืบเนื่องกันมาช้านานไม่ต่ำกว่าสมัยอยุธยาตอนต้น หรือมากกว่านั้น ๒๘/๑๘๑๕๓
๕๑๙๔. หรรษวรรธนะ เรียกสั้น ๆ ว่า หรรษะ เป็นจักรพรรดิ์อินเดีย ครองจักรวรรดิ์ในอินเดียภาคเหนือ ระหว่างปี พ.ศ.๑๑๔๙ - ๑๑๙๐ มีอาณาเขตกว้างใหญ่จากแคว้นกาธยาวาร ทางตะวันตกไปถึงแคว้นเบงกอลตะวันออก มีโครงสร้างแบบระบบฟิวดัล คือ พระองค์ทรงปล่อยให้ราชาที่ยอมอ่อนน้อมครองต่อไป พระองค์กุมอำนาจในจักรวรรดิ์ ด้วยการเสด็จประพาสตรวจตราดินแดนของพระองค์อยู่ตลอดเวลา การสดับตรับฟังทุกข์สุขของราษฎร และพระราชทานความช่วยเหลืออย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ทรงให้ความอุปถัมภ์ทั้งศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) และศาสนาพุทธ โปรดเรื่องปรัชญาและวรรณกรรม เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์โดยไม่มีรัชทายาท จักรวรรดิ์ของพระองค์ก็แตกออกเป็นรัฐเล็ก ๆ ๒๘/๑๘๑๕๕
๕๑๙๕. หริภุญชัย เป็นชื่อหนึ่งของเมืองลำพูน แผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุมบน กว้าง ๔๕๐ เมตร ยาว ๘๒๕ เมตร มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ด้านทิศตะวันออกของตัวเมือง ติดกับลำน้ำกวง เคยเป็นแคว้นอิสระ นับตั้งแต่ก่อสร้างเมืองจนสิ้นสุดอำนาจลง เมื่อพญามังราย แห่งแคว้นเชียงราย เข้ายึดครองเมืองปี พ.ศ.๑๘๓๕ แล้วถูกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ในเวลาต่อมา
ประวัติการก่อตั้งเมืองหริภุญชัย มีอธิบายในตำนานประเภทอธิบายเหตุ โดยใช้ศาสนาภูมิประเทศเป็นองค์ประกอบ คาดว่าเมืองแห่งนี้สร้างขึ้นตอนต้นพุทธศตวรรษที่สิบสี่ ตำนานสำคัญที่กล่าวถึงเมืองหริภุญชัย ได้แก่ จามเทวีวงศ์ ชินกาลบาลีปกรณ์ มูลศาสนาและศาสนวงศ์ แต่งเป็นภาษาบาลี
เมื่อสร้างเมืองแล้วได้ทูลเชิญ พระนางจามเทวี ธิดาเจ้าเมืองลพบุรี ซึ่งขณะนั้นเป็นชายาเจ้าเมืองรามปุระ และทรงครรภ์อยู่ด้วยมาเป็นเจ้าเมือง พระนางครองเมืองไม่นาน ก็ประสูติโอรสแฝดสององค์ คือ มหันตยดิ และอนันตยศ ต่อมาเกิดการสู้รบกับกลุ่มคนพื้นเมืองชาวลัวะ ชาวลัวะแพ้ต้องถอยหนีไป
ประมาณปี พ.ศ.๑๕๐๐ พวกมิลักขะ จากเมืองยศมาลา ยกทัพมาตีเมืองหริภุญชัย สามารถยึดครองเมืองได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ
ประมาณปี พ.ศ.๑๕๕๐ - ๑๕๐๐ พญาอัตราสตกราช กษัตริย์เมืองหริภุญชัย ยกทัพไปตีเมืองลพบุรี แต่กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ได้ยกมาเพื่อจะยึดเมืองลพบุรี กองทัพเมืองลพบุรี กับกองทัพเมืองหริภุญชับ ถอยหนีไปทางเหนือ กองทัพเมืองลพบุรี เข้ายึดเมืองหริภุญชัยได้ก่อน กองทัพเมืองหริภุญชัยต้องถอยลงมาทางใต้ เกิดเหตุการณ์ระหว่างเมืองหริภุญชัย กับลพบุรี และอื่น ๆ อีกหลายครั้ง ก่อนที่พญามังราย เจ้าเมืองเชียงราย ยึดครองและผนวกเข้ากับอาณาจักรล้านนา
ต่อมาในปี พ.ศ.๑๘๐๐ ไทยอำมาตย์จากเมืองลำปาง ยกทัพมายึดเมืองหริภุญชัยได้ ต่อมาเมืองหริภุญชัยกลับมายึดเมืองคืนได้ ในที่สุดพญามังราย ได้ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองหริภุญชัยได้ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๕ พญาญีบา เจ้าเมืองลำพูน องค์สุดท้าย ต้องหนีไปอยู่เมืองลำปาง เป็นการสิ้นสุดความเป็นอิสระของเมืองหริภุญชัย ในปีนั้น ๒๘/๑๘๑๕๙
๕๑๙๖. หริศจันทร์ เป็นพระราชาเชื้อสายราชวงศ์อิกษวากุ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ยึดมั่นในคำสัตย์สัญญา ๒๘/๑๘๑๖๔
๕๑๙๗. หลวิชัย เป็นชื่อลูกเสือ ที่ฤาษีชุบขึ้นมาเป็นคนเรื่องคาวี ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านโบราณ ปรากฎในรูปของวรรณคดี เรื่อง เสือโคคำฉันท์ สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยอยุธยาตอนต้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครนอก เรื่อง คาวี มีอยู่สี่ตอนคือ ตอนที่หนึ่ง ท้าวสันนุราช หานางผมหอม ตอนที่สอง ท้าวสันนุราชชุบตัว ตอนที่สาม นางคันธมาลีขึ้นเฝ้า ตอนที่สี่ คาวีรบกับไวยทัต ๒๘/๑๘๒๖๗
|
Update : 27/5/2554
|
|