หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/159
    ๕๐๙๙. สิงโต  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์เดียวกับเสือและแมวป่า ความยาวลำตัวของตัวผู้จากปลายปากถึงโคนหางยาว ๑.๗ - ๑.๙ เมตร โตเต็มที่หนัก ๑๒๐ - ๑๘๐ กก. สิงโตแบ่งออกเป็นชนิดย่อยได้คือ สิงโตอินเดีย สิงโตมาไช สิงโตเชเนกัล สิงโตแองโกลา หรือสิงโตโรดีเซียและสิงโตทรานสวาล
                        สิงโตอยู่รวมเป็นฝูง แต่ละฝูงประกอบด้วยสิงโตตัวผู้ ๒ - ๓ ตัว ตัวเมีย ๕ - ๑๐ ตัว และลูก ๆ สิงโตตัวเมียมักอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต ยกเว้นตัวเมียที่ยังสาวอาจแยกไปอยู่ฝูงใหม่ สิงโตตัวผู้จะแยกจากฝูงไปเมื่ออายุ ๒ - ๓ ปี และมีตัวผู้ตัวใหม่มาแทนที่ สิงโตตัวผู้ในวัยหนุ่มที่แยกออกจากฝูงและไปอยู่รวมกันในที่ใหม่เป็นกลุ่ม ๆ เมื่ออายุได้ ๓ - ๓ ๑/๒ ปี จะต่อสู้กับตัวผู้ที่คุมฝูงอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อแทนที่และกลายเป็นสมาชิกใหม่ที่ควบคุมฝูง ตัวผู้จะสู้เพื่อแย่งชิงเขตแดนกัน
                        ในการล่าเหยื่อ สิงโตตัวเมียเป็นตัวล่าเหยื่อ และตัวผู้จะร่วมกินเหยื่อด้วย สิงโตโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุสี่ปี ออกลูกครั้งละ ๒ - ๔ ตัว เริ่มหัดกินเนื้อเมื่ออายุหนึ่งเดือน เมื่อายุได้สามเดือนจะเริ่มออกล่าเหยื่อพร้อมแม่ อดนมเมื่ออายุ ๖ - ๗ เดือน รวมล่าเหยื่อกับแม่ประมาณสองปีเศษ เมื่อแม่สิงโตตกลูกครอกใหม่ก็จะแยกตัวจากลูกครอกก่อน สิงโตมีอายุ ๒๐ - ๒๕ ปี         ๒๘/๑๗๖๙๙
                ๕๑๐๐. สิงโตทะเล  มีรูปร่างลำตัวคล้ายกระสวย และมีรยางค์คล้ายครีบ  เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหว ลำตัวยาว ๑.๕ - ๓.๕ เมตร น้ำหนัก ๓๔ - ๑,๑๐๐ กก.  กระดูกของแขนและขาคล้ายกับสัตว์กินเนื้อที่อาศัยอยู่บนบก
                        สิงโตทะเล แตกต่างจากวาฬ โลมา และพยูน ตรงที่สิงโตทะเลขึ้นมาอยู่บนบกได้ สิงโตทะเลมีอายุ ๑๒ - ๓๐ ปี ในฤดูผสมพันธุ์ พวกมันจะมารวมกันอยู่ตามหมู่เกาะ หรือชายฝั่งเป็นจำนวนมาก ศัตรูของสิงโตทะเลคือ วาฬเพชฌฆาต  และหมีขั้วโลก        ๒๘/๑๗๗๐๒
                ๕๑๐๑. สิงห์บุรี  จังหวัดในภาคกลางตอนล่าง มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.นครสวรรค์ ทิศตะวันอออก ติดต่อกับ จ.ลพบุรี ทิศใต้ติดต่อกับ จ.อ่างทอง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับ จ.สุพรรณบุรี ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับ จ.ชัยนาท มีพื้นที่ ๘๒๒ ตร.กม.
                        ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ โดยมีแม่น้ำสำคัญสองสาย ไหลผ่านเขตจังหวัดเกือบจะคู่ขนานกัน จากทิศตะวันตกเฉีงเหนือ ไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย และยังมีลำน้ำเล็ก ๆ อีกหลายสาย
                        ด้านประวัติศาสตร์ จ.สิงห์บุรี เดิมชื่อ เมืองสิงห์ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ทางลำน้ำจักรสีห์ ในเขต ต.จักรสีห์ อ.เมือง ฯ โดยมีเมืองเก่าปรากฎอยู่บริเวณใกล้วัดหน้าพระธาตุ เรียกว่า บ้านหน้าพระลาน เมื่อพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้กำหนดให้เมืองสิงห์ เมืองอินทร์ และเมืองพรหม เป็นเมืองชั้นใน ขึ้นอยู่กับเมืองหน้าด่าน ด้านทิศเหนือ คือ เมืองลพบุรี
                        ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปรากฎชื่อเมืองสิงห์บุรี เมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี อยู่ในรายชื่อหัวเมืองจัตวา ฝ่ายเหนือ ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้ยุบเมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี ลงเป็นอำเภอ และตั้งเมืองใหม่เรียกว่า อ.บางพุทรา จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสิงห์บุรี ส่วนเมืองสิงห์บุรีเก่า บนฝั่งแม่น้ำน้อย ซึ่งเดิมเรียกว่า อ.สิงห์ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางระจัน
                        โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านคู แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย ค่ายบางระจัน และวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร        ๒๘/๑๗๗๐๔
                ๕๑๐๒. สิทธัตถะ  เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง นับเป็นพระองค์ที่สิบหก ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้น ในโลกแล้วยี่สิบห้าพระองค์         ๒๘/๑๗๗๐๘
                ๕๑๐๓. สิทธิบัตร  มีคำนิยามว่า "หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครอง การประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตามที่กำหนดไว้ในหมวดสอง และหมวดสาม แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๒
                        คำว่า  สิทธิบัตร ยังมีความหมายอีกประการหนึ่งคือ สาระสำคัญแห่งการคุ้มครอง จากการที่มีเอกสารสิทธิบัตรให้การรับรองสิทธิไว้ อันได้แก่ สิทธิแต่ผู้เดียวในการแสวงหาประโยชน์ ตามที่กฎหมายสิทธิบัตรของแต่ละประเทศกำหนดไว้
                        คำว่า สิทธิบัตร มาจากคำว่า เอกสารสิทธิบัตร เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ.๑๘๗๔ ณ ประเทศอังกฤษ หมายถึง เอกสารที่ประทับตราของกษัตริย์ ในตอนท้ายของเอกสาร เพื่อเป็นหลักฐานในการอนุญาตให้ชาวต่างประเทศ หรือบุคคลใดมีสิทธิ ประกอบกิจการพาณิชย์บางประเภท
                        สำหรับประเทศไทย ก่อนปี พ.ศ.๒๕๒๒ ขึ้นไป ยังไม่เคยมีการให้ความคุ้มครองในเรื่องสิทธิบัตร เพราะเกรงว่า จะเป็นการเปิดช่องให้แก่ชาวต่างประเทศ ใช้สิทธิผูกขาดตามสิทธิบัตร อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่การพัฒนา และความมั่นคงของชาติ ได้มีความพยายามร่างกฎหมายสิทธิบัตร มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๐ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา แต่ประการใด จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๑ คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างกฎหมายสิทธิบัตร เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้ประกาศใช้กฎหมายเพื่อออกสิทธิบัตรแก่การประดิษฐ์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเรียกว่า " พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๓" ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.๒๕๓๕ และ ปี พ.ศ.๒๕๔๒ ตามการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการ และการพาณิชย์ระหว่างประเทศ         ๒๘/๑๗๗๑๐
                ๕๑๐๔. สิบสองจุไท  เป็นชื่อดินแดน ปัจจุบันตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของประเทศเวียดนาม มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับแคว้นตังเกี๋ย และภาคใต้ของประเทศจีน ทิศตะวันออกติดต่อกับแม่น้ำดำ ทิศตะวันตกติดต่อกับเขตหัวพัน (ซำเหนือ) ของประเทศลาว มีเมืองแถง (แถน) หรือเดียนเบียนฟู เป็นเมืองดั้งเดิมของดินแดนนี้ สิบสองจุไท หมายถึง สิบสองเขตแดนของไทย หรือสิบสองเจ้าไท
                        เดิมบริเวณที่เรียกว่า สิบสองจุไท ประกอบด้วยเมืองใหญ่น้อยรวมสิบหกเมือง เรียกชื่อว่า สิบหกเจ้าไท ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๗ - ๒๔๒๘ ประเทศฝรั่งเศส จีน และเวียดนาม ได้ลงนามในสนธิสัญญาเทียนสิน เพื่อกำหนดเขตแดนของประเทศเวียดนาม และประเทศจีนใหม่ ดินแดนสิบหกเจ้าไท จำนวนหกเมือง ได้ถูกรวมเข้ากับประเทศจีน จึงเหลืออยู่เพียงสิบเมือง ในเขตเวียดนาม ต่อมาฝรั่งเศสได้จัดการปกครองอีกครั้ง โดยยกฐานะอำเภอสองอำเภอขึ้นเป็นเมืองคือ เมืองมุน และเมืองควาย รวมเข้ากับเมืองที่มีอยู่เดิมสิบเมือง จึงเป็นสิบสองเมือง เรียกว่า สิบสองเจ้าไท หรือสิบสองจุไท
                        สิบสองจุไท มีพลเมืองหลายกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีคนไทยดำ หรือผู้ไท และไทขาว เป็นหลัก เมืองแต่ละเมืองมีเจ้าปกครองเป็นอิสระต่อกัน ประกอบด้วยเมืองไทขาว สี่เมือง ได้แก่ เมืองไล เมืองเจียน เมืองมุน เมืองบาง และเมืองของไทดำ แปดเมือง ได้แก่ เมืองแถง เมืองควาย เมืองดุง เมืองม่วย เมืองลา เมืองโมะ เมืองหวัด (วาด) และเมืองซาง
                        จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่าสิบสองจุไท มีร่อยรอยของคนที่อาศัยอยู่บริเวณเมืองแถง มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินเก่า เชื่อกันว่า เมืองแถง เป็นถิ่นฐานดั้งเดิม และศูนย์กลางของสิบสองจุไท มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของคนไทในสิบสองจุไท และในประเทศเวียดนาม คงจะเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สิบเอ็ด ในบรรดากลุ่มคนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสิบสองจุไท กลุ่มคนไทดำเป็นกลุ่มใหญ่ มีจำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น และเป็นกลุ่มคนไทที่รักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทไว้ ได้มากกว่ากลุ่มอื่น
                        ราวพุทธศตวรรษที่สิบเจ็ด พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ได้ขยายอำนาจและอาณาเขตมายึดสิบสองจุไท พวกผู้ไทจึงอยู่ภายใต้การปกครองของศรีสัตนาคนหุต จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ยี่สิบสอง อำนาจของกรุงศรีสัตนาคนหุตอ่อนแอลง จนถึงปี พ.ศ.๒๒๕๐ กรุงศรีสัตนาคนหุต ถูกแยกเป็นสองอาณาเขตคือ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ดินแดนสิบสองจุไท จึงถูกแบ่งแยกตามไปด้วย ฝ่ายตะวันตก มีเมืองพวน และเมืองเชียงขวาง อยู่ในการปกครองของเวียงจันทน์ ส่วนหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นไป เจ้านครหลวงพระบางแต่งขุนนางตำแหน่งหัวพัน ไปปกครองดินแดนนี้ จึงเรียกว่า เขตหัวพัน  ส่วนหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปคือ บริเวณสิบสองจุไท เจ้าเมืองหลวงพระบางให้เจ้าเมืองปกครองกันเอง ในทำนองประเทศราช
                        ต่อมาเมืองหลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ตกเป็นเมืองประเทศราชของสยาม สิบสองจุไทจึงนับอยู่ในอาณาเขตของสยามด้วย ต่อมาเมื่อเมื่อประเทศเวียดนาม และจีน ได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้ และตะวันตก จึงได้ส่งข้าหลวงมายึดครองดินแดนสิบสองจุไท เจ้าเมืองทั้งหมดยอมส่งบรรณาการให้จีน และเวียดนาม ขณะเดียวกันก็เป็นเมืองในปกครองของหลวงพระบางด้วย สิบสองจุไทจึงได้ชื่อ อีกชื่อหนึ่งว่า เมืองสองฝ่ายฟ้า และเมืองสามฝ่ายฟ้า มาแต่โบราณ
                        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พวกฮ่อจากประเทศจีน ยกกำลังมาตีหัวเมืองสิบสองจุไท และเมืองพวน และยึดได้ทั้งสองเมือง แล้วขยายอำนาจไปถึงเวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ จึงโปรดให้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ยกกองทัพไปปราบฮ่อหลายครั้ง ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๑๘ - ๒๔๓๓ สามารถปราบฮ่อได้เรียบร้อย แต่ฝรั่งเศสอ้างว่า สิบสองจุไท เป็นเมืองในปกครองของเวียดนาม และให้เจ้าเมืองไล ปกครองสิบสองจุไท ในฐานะเมืองหลวง สืบมาจนเวียดนามเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยโฮจิมินห์        ๒๘/๑๗๗๒๒
                ๕๑๐๕. สิบสองพันนา  เป็นดินแดนที่ปัจจุบันเป็นเขตปกครองตนเอง ของมณฑลหยุนหนาน ประเทศจีน มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับเมืองซือเหมา ทิศตะวันออกติดต่อกับเมืองอู่ใต้ เมืองอู่เหนือ และเมืองสิงห์ ประเทศลาว ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดต่อกับแขวงพงสาลี และแขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว ทิศใต้ติดต่อกับเขตหลวงพระบาง และจังหวัดน่าน ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตเชียงตุง ของประเทศพม่า ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับแม่น้ำโขง มีพื้นที่ประมาณ ๒๕,๐๐๐ ตร.กม.
                        ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา และที่สูงประมาณร้อยละ ๙๕ มีพื้นที่ราบ สำหรับการเพาะปลูกน้อย เพียงร้อยละ ๔ มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน ทำให้พื้นที่แบ่งออกเป็นสองฟาก ที่ราบลุ่มแม่น้ำระหว่างหุบเขา เป็นพื้นที่ทำการเพาะปลูก มีขนาดตั้งแต่ ๑ ตร.กม. ขึ้นไปเรียกว่า ทุ่งเมือง มีทั้งหมด ๔๙ ทุ่งเมือง
                        คำว่า สิบสองพันนา หมายถึง สิบสองเขตการปกครอง ในล้านนามีระบบปกครองที่เรียกว่า พันนา เช่นกัน โดยกำหนดตามพื้นที่นา ที่ได้รับน้ำจากเหมืองฝายเดียวกัน ซึ่งพันนา มาจากชื่อแม่น้ำ หรือชื่อเมือง ที่พันนา ตั้งอยู่ แต่ละพันนา ในล้านนามี เจ้าพันนา เป็นผู้ปกครอง เมืองบริวารของพันนา เรียกว่า ลูกพันนา ทุกพันนาขึ้นอยู่กับกษัตริย์เชียงใหม่
                        สิบสองพันนา ได้ชื่อมาจากชื่อเขตปกครอง ที่เรียกว่า พันนา จำนวนสิบสองเขต คำนี้เริ่มใช้ในสมัยเจ้าอินทรเมือง ปกครองระหว่างปี พ.ศ.๒๑๒๒ - ๒๑๒๖ ได้แบ่งเมืองทั้งหมดออกเป็นสิบสองกลุ่ม พันนาต่าง ๆ ประกอบด้วย เมืองหลายเมือง เมืองทั้งหมดในสิบสองพันนา มีสามสิบเมือง ที่สำคัญมีสิบสองเมือง
                        สิบสองพันนา แต่เดิมเรียกว่า เมืองเชียงรุ่ง  หรือ หอคำเชียงรุ่ง พญาเจื่องเป็นผู้สร้างเมืองนี้ เมื่อปี พ.ศ.๑๗๒๓ และทรงเป็นปฐมกษัตริย์ ก่อนหน้านี้เป็นที่อยู่ของพวกหนานฟันดำ อยู่ในเขตปกครองของอาณาจักรน่านเจ้า ถึงปี พ.ศ.๑๗๙๖ กุบไลข่าน (พ.ศ.๑๗๕๙ - ๑๘๓๗)  แห่งราชวงศ์หยวน ได้ยกกองทัพมาตีน่านเจ้าแตก และส่งกองทัพไปตีอันนัม (เวียดนาม)  กองทัพเดินทางผ่านเชียงรุ่ง จึงได้โจมตีเชียงรุ่ง ได้ผนวกเชียงรุ่งเข้ากับจีน และจัดตั้งสำนักปกครองทหารและพลเรือน ที่เชียงรุ่ง
                        ในปี พ.ศ.๑๘๓๙  พญามังรายแห่งเชียงใหม่ ได้แผ่อิทธิพลขึ้นไปทางเหนือถึงเชียงรุ่ง ราชวงศ์หยวน พยายามเกลี้ยกล่อม ในปี พ.ศ.๑๘๖๙ จึงตกเป็นรัฐบรรณาการของจีน ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๒๕ จีนสมัยราชวงศ์หมิงเข้ายึดครองเมืองเชียงรุ่ง ในปี พ.ศ.๑๙๒๗ จีนจัดระเบียบการปกครองของเมืองเชียงรุ่งใหม่ให้รวมกับหยุนหนาน เชียงรุ่งจึงมีฐานะเป็น แสนหวี   คำนี้มาจากภาษาจีน แปลว่า ปลอบโยน
                        เชียงรุ่งมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองสืบมาอีกหลายองค์ จนถึงปี พ.ศ.๒๑๑๑ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่ายกทัพไปตีเชียงรุ่ง และให้เชียงรุ่งส่งกองทัพไปตีเชียงใหม่ อยุธยา และเมืองอื่น ๆ ไว้ในอำนาจ
                        เมืองเชียงรุ่งตกเป็นเมืองประเทศราชของทั้งประเทศพม่า และประเทศจีน การแต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดิน ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองประเทศ จึงเรียกว่า เมืองสองฝ่ายฟ้า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๓ เมืองแซ่ ก่อการกบฎ จีนส่งกองทัพมาปราบปราม และตั้งค่ายถาวรเป็นฐานกำลังจีนที่เชียงรุ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ จีนตั้งกรมบริหารชายแดน และแบ่งสิบสองพันนาเป็นแปดเขต และต่อมาได้แบ่งเป็นแปดอำเภอ ในปี พ.ศ.๒๔๗๐  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๒ จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น ลัทธิคอมมิวนิสต์ จีนได้ยกเลิกตำแหน่ง เจ้าแผ่นดินเชียงรุ่งสิบสองพันนา
                        ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตรงกับสมัยพระเจ้ากาวิละของเชียงใหม่ พระองค์ได้ทำสงครามกับพม่า และยกกองทัพเข้าไปถึงดินแดนสิบสองพันนา ได้กวาดต้อนชาวไทลื้อจากเมืองต่าง ๆ ในสิบสองพันนา ลงมาเป็นจำนวนมาก มาตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปในล้านนา หรือภาคเหนือตอนบน เกือบทุกจังหวัด          ๒๘/๑๗๗๓๙
                ๕๑๐๖. สีสุก, ไผ่  เป็นไผ่ระบบเหง้ากอขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๐ - ๒๕ เมตร มีหนาม ลำเบียดอัดกันแน่นเป็นกอแน่น ลำต้นตรงปลายโค้งเล็กน้อย แตกกิ่งตลอดความยาวของลำ ตั้งแต่กลางลำขึ้นไปจะเป็นกิ่งที่มีใบ ใบจำนวนมากแผ่ออกในแนวระนาบ เนื้อลำหนา ช่อดอกเป็นช่อแยกแขนงขนาดใหญ่ ช่อดอกย่อยเป็นช่อดอกย่อยเทียม
                        หน่อไผ่สีสุก สามารถบริโภคได้ ลำหรือเนื้อไม้นิยมใช้ทำคานสำหรับหาบสิ่งของ และเนื่องจากเนื้อไม้หนา และมีแรงยืดหยุ่นดี เหนียวทนทาน จึงมักนำมาใช้ทำเครื่องจักสาน หรือใช้ทำเครื่องเรือน หรือใช้ในการทำนั่งร้าน การก่อสร้าง ใช้เป็นโครงปลูกกระต๊อบ นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ โดยปลูกไว้ตามริมคลอง หรือริมน้ำ เนื่องจากมีระบบรากสานกันแน่น ช่วยป้องกันตลิ่งพังได้อย่างดี และยังปลูกเป็นแนวรั้วตามบ้านเรือน กันลมได้ดี          ๒๘/๑๗๗๕๙
                ๕๑๐๗. สีเสียด, ต้น  เป็นไม้ต้นผลัดใบ ขนาดเล็ก ถึงขนาดกลาง สูง ๓ - ๑๕ เมตร ใบประกอบแบบขนนก สองชั้นเรียงสลับใบย่อยรูปขอบขนานแคบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด รูปทรงกระบอกออกเป็นคู่ ที่ซอกใบ ดอกสีเหลืองอ่อนถึงขาว ผลแห้งแตกเป็นฝักแบน รูปขอบขนานมี ๓ - ๑๐ เมล็ด
                        เนื้อไม้แข็งแรงทนทานต่อการทำลายของปลวก และเพรียง จึงนำมาใช้ทำเสาบ้าน เครื่องมือเกษตร วงล้อ แก่นของต้นมีสารประกอบทางเคมี ส่วนใหญ่เป็นสารแทนนิน นำมาใช้ประโยชน์ในการฟอกหนัง ใช้เป็นยาฝาดสมาน และแก้พิษของแอลคาลอยด์  และโลหะบางชนิดได้ คนโบราณใช้ผงสีเสียด ผสมกับปูน หรือกับเปลือกสีเสียด แล้วเคี้ยวกับหมาก และพลู เพื่อกันมิให้ปูนกัดปาก        ๒๘/๑๗๗๖๒
                ๕๑๐๘. สีเสียด, ปลา  เป็นชื่อปลากระดูกแข็ง น้ำเค็ม ลำตัวค่อนข้างยาวแบนข้างมากยาว ๓๐ - ๕๐ ซม.  อยู่ในสกุลเดียวกับปลาเฉลียบ และปลาสละ พบตามบริเวณชายฝั่งทะเล ในบริเวณอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน
                        ปลาสีเสียด ไม่นิยมบริโภคเป็นปลาสด มักทำเค็มตากแห้ง        ๒๘/๑๗๗๖๘
                ๕๑๐๙. สุขาภิบาล  เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแบบหนึ่งของประเทศไทย ตามหลักการกระจายอำนาจปกครอง โดยยกฐานะท้องถิ่นขึ้นเป็นองค์การบริหารท้องถิ่น มีสภาพเป็นนิติบุคคล แยกออกไปจากราชการบริหารส่วนกลาง และให้พลเมืองในท้องถิ่นนั้น เลือกผู้แทนของตนทั้งหมด หรือบางส่วน เข้าร่วมบริหารกิจการของท้องถิ่น ตามที่กฎหมายได้กำหนดอำนาจ และหน้าที่ไว้
                        เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ ได้มีการทดลองกระจายอำนาจปกครองครั้งแรก ในรูปแบบสุขาภิบาลแห่งแรกขึ้น ที่ตำบลบ้านตลาด ท่าฉลอม แขวงเมืองสมุทรสาคร
                        เมื่อได้จัดตั้งเทศบาลขึ้น โดยแปลงสภาพสุขาภิบาลที่จัดตั้งไว้แต่เดิม เริ่มแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๘ ได้ยกเลิก พ.ร.บ.จัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑)  และประกาศแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ต่อมาเมื่อได้ระงับการตั้งเทศบาล หลังจากที่ได้ตั้งขึ้น ๑๒๐ แห่ง เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารของเทศบาล และปัญหาเกี่ยวกับรายได้ของเทศบาล มีไม่เพียงพอที่จะพัฒนาท้องถิ่น จึงได้นำระบบสุขาภิบาลมาใช้อีกครั้งหนึ่ง โดย พ.ร.บ.สุขาภิบาล พ.ศ.๒๔๙๕ และได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้นใหม่ ในท้องถิ่นที่เห็นว่า ยังไม่สมควรยกฐานะเป็นเทศบาล
                        สุขาภิบาล ที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้วนั้น อาจเปลี่ยนฐานะเป็นเทศบาลได้ โดยตรา พ.ร.บ.ยกฐานะเป็นเทศบาล ตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ และ พ.ร.บ.สุขาภิบาล พ.ศ.๒๔๙๕ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทย กำหนด
                        พ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นผลให้สุขาภิบาล ต้องเลิกไป และเปลี่ยนสภาพเป็นเทศบาล        ๒๘/๑๗๗๗๐
                ๕๑๑๐. สุขาวดี  มีนิยามว่า " แดนอันมีความสุขตามความเชื่อของลัทธิมหายาน " เป็นชื่อสวรรค์ชั้นพิเศษ ไม่มีใน ฉกามาพจรสวรรค์ หกชั้นของพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท และไม่ใช่สวรรค์ของศาสนาฮินดู แต่เป็นสวรรค์ของพระพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน เรียกว่า พุทธเกษตร อยู่ทางทิศตะวันตก ผู้เข้าสู่พุทธเกษตรนี้แล้ว สามารถบรรลุนิพพานบนนี้ได้เลย พระพุทธเจ้าผู้ครองพุทธเกษตรสุขาวดีนี้ มีพระนามว่า อมิตาภะ แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้มีแสงสว่าง หาประมาณมิได้
                        มหายาน ถือว่า อมิตาภ พุทธะ เป็น ธยานิพุทธะ (พระพุทธเจ้าผู้ทรงฌาน) องค์หนึ่ง ในพระพุทธเจ้าห้าองค์ ซึ่งอุบัติขึ้นจากพระพุทธเจ้าองค์ปฐม ที่เรียกว่า อาทิพุทธะ
                        ความเป็นมาของคติความเชื่อเรื่องสุขาวดี และอมิตภพุทธ มีปรากฎอยู่ในคัมภีร์ฝ่ายมหายานที่สำคัญสามสูตรคือ คัมภีร์มหาสุขาวดีวยุหสูตร จุลสุขาวดีวยุหสูตร และอมิตายุรธยานสูตร ซึ่งเป็นบ่อเกิดนิกายสุขาวดี ฝ่ายมหายาน
                        เมื่อตรวจดูจากคัมภีร์ต่าง ๆ ของเถรวาทแล้ว จะพบว่า คติความเชื่อเรื่องสุขาวดี และอมิตภะ มีเค้ามาจากคัมภีร์ของเถรวาท ผสมผสานกับคติความเชื่อเรื่องพรหมัน ของฮินดู
                        สวรรค์สุขาวดี คล้ายกับสวรรค์ของศาสนาคริสต์ และศาสนาเปอร์เซียโบราณ แต่สุขาวดีหาใช่เป็นที่สิ้นสุด แห่งความปรารถนาของศาสนิกชน เหมือนศาสนาดังกล่าวไม่ เพราะสุขาวดีเป็นแดนสำหรับพัก เพื่อไปสู่นิพพานต่อไป เปรียบได้กับพรหมชั้นสุทธาวาส ตามคติความเชื่อของเถรวาท ที่ว่าเป็นแดนที่อยู่ของพรหม ผู้เป็นอริยบุคคลชั้นอนาคามี ซึ่งแปลว่า ผู้ไม่กลับ คือไม่กลับมาเกิดใดโลกมนุษย์อีก แต่จะบำเพ็ญธรรมอยู่ในชั้นสุทธาวาสนี้ต่อไป จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วนิพพานในที่นั้นเลย        ๒๘/๑๗๗๘๖
                ๕๑๑๑. สุโขทัย, กรุง  เป็นชื่อเมืองหลวง และชื่ออาณาจักรของไทย ระหว่างประมาณปี พ.ศ.๑๗๙๒ ถึงราว พ.ศ.๑๙๘๑ รวมเวลา ๑๘๙ ปี  หลังจากนั้น จึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา
                        สุโขทัย ในฐานะเป็นอาณาจักรตั้งอยู่ทางภาคกลางตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบัน  ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของลุ่มแม่น้ำยม และลุ่มแม่น้ำน่าน ประกอบด้วย เมืองสำคัญคือ เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสองแคว (พิษณุโลก)  เมืองชากังราว (กำแพงเพชร)  เมืองตาก และเมืองพระบาง (นครสวรรค์)  ในระยะแรกอาณาจักรของสุโขทัยกว้างขวาง ประกอบด้วยประเทศราช และดินแดนที่ผู้ปกครอง มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติ ของกษัตริย์สุโขทัย ที่ยอมรับอำนาจของพระองค์ เช่น เมืองเมาะตะมะ เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งต่อมาดินแดนเหล่านั้น ก็แยกตัวเป็นอิสระ
                        การก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยถือเอาเหตุการณ์ที่พ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนบางกลางหาว ร่วมกันกำจัดขอมสบาดโขลญลำพงที่ยึดครองกรุงสุโขทัยได้สำเร็จ จากนั้นพ่อขุนบางกลางหาวได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์สุโขทัย เฉลิมพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๙๒ เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ พระร่วง ในระยะแรกสุโขทัยขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวาง มีดินแดนมากที่สุดในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ หลังรัชสมัยของพระองค์ เมืองหลายแห่งแยกเป็นอิสระ ประกอบกับมีการสู้รบเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งที่เกิดจากการสู้รบ เพื่อชิงอำนาจภายในกันเอง และการสู้รบกับอาณาจักรรอบข้าง ที่พยายามเสริมสร้างอำนาจของตนเพิ่มขึ้น ทำให้สุโขทัยต้องเสียดินแดนหลายครั้ง
                        พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่คนสุโขทัยส่วนใหญ่นับถือ โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท มีอิทธิพลต่อความประพฤติ และการปฎิบัติตนของราษฎรทั้งปวง ความรู้พื้นฐานทุกประเภท รวมทั้งความรู้เรื่องหลักธรรม ของพระพุทธศาสนา ล้วนมาจากสำนักศึกษาที่พระสงฆ์ เป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น
                        จากหลักฐานที่เป็นโบราณสถาน และเป็นโบราณวัตถุพบว่า มีการสร้างวัด ศาสนสถานและพระพุทธรูป เป็นจำนวนมาก พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนทั่วไป ศิลปกรรม วรรณกรรม ประเพณี อย่างกว้างขวาง        ๒๘/๑๗๗๙๑
                ๕๑๑๒. สุโขทัย  จังหวัดในภาคกลางตอนบน มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.แพร่ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดต่อกับ จ.อุตรดิตถ์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดต่อกับ จ.พิษณุโลก ทิศใต้ ติดต่อกับ จ.กำแพงเพชร  ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับ จ.ตาก ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับ จ.ลำปาง มีพื้นที่ ๖,๕๙๖ ตร.กม.
                         ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ และที่ราบลอนลาด ที่ราบลุ่มแม่น้ำมีอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำยม ซึ่งไหลอยู่ในเขต จ.สุโขทัย ๑๙๐ กม. บริเวณที่อยู่ห่างจากฝั่งแม่น้ำยมออกไป พื้นที่มีลักษณะเป็นตะพักลำน้ำ และที่ราบลอนลาด และภูเขาเตี้ย ๆ ตั้งอยู่กระจัดกระจาย
                        ด้านประวัติศาสตร์  จ.สุโขทัย เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งมีอายุตั้งแต่ตอนปลายของพุทธศตวรรษที่ยี่สิบ รวมระยะเวลาประมาณ ๒๐๐ ปี ถือเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรือง และให้ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกทอด มาถึงคนไทยในรุ่นปัจจุบันนี้
                        ในพุทธศตวรรษที่สิบแปด ก่อนหน้าที่จะมีการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นนั้น ดินแดนในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง ยม และน่าน ในเขตภาคกลางตอนบนของประเทศไทย  ตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบัน มีชุมชนเมืองเกิดขึ้นแล้วหลายเมือง เมืองเหล่านี้อยู่ใต้อำนาจของขอม หรือเขมรโบราณ ซึ่งมีราชธานีอยู่ที่เมืองพระนคร (หรือ เมืองนครธม)  ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน และมีศูนย์ควบคุมอำนาจของไทย อยู่ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี)  ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง ชุมชนคนไทยจึงได้รวบรวมกำลังกัน ขับไล่ขอมและก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย โดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ พระร่วง หรือราชวงศ์สุโขทัย ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๒  เป็นระยะแรก อาณาจักรสุโขทัย ยังมีอาณาเขตไม่กว้างขวางนัก จนพ่อขุนรามคำแหง ฯ กษัตริย์องค์ที่สาม ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๒ อาณาจักรสุโขทัยจึงแผ่ขยายออกไปโดยรอบ พร้อมกับความเจริญในด้านต่าง ๆ ดังปรากฎในศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง
                        กษัตริย์ในราชวงศ์สุโขทัย ได้ปกครองสืบต่อกันมารวมทั้งหมด เก้ารัชกาล แต่ในสามรัชกาลสุดท้าย อาณาจักรสุโขทัยอ่อนแอลง ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรอยุธยา ซึ่งยกทัพมาตีอาณาจักรสุโขทัยเป็นประเทศราช ได้ในปี พ.ศ.๑๙๒๑ และเมื่อพระมหาธรรมราชาที่สี่ (บรมปาล)  กษัตริย์องค์สุดท้าย เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๑๙๘๑ ต่อมาอาณาจักรสุโขทัย ก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา
                        ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองบางเมือง ที่เคยเป็นเมืองสำคัญในสมัยสุโขทัยคือ เมืองสองแคว เปลี่ยนชื่อเป็น เมืองพิษณุโลก และเมืองศรีสัชนาลัย เปลี่ยนชื่อเป็น เมืองสวรรคโลก เมืองศรีสัชนาลัย นั้นเดิมคือ เมืองเชลียง เปลี่ยนชื่อเป็น ศรีสัชนาลัย ในสมัยสุโขทัย และมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง ของอาณาจักรสุโขทัย
                        ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเมืองสุโขทัยขึ้นใหม่ ที่บ้านธานี ริมฝั่งแม่น้ำยม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้ยกฐานะเมืองสวรรคโลกขึ้นเป็นจังหวัด และในปีต่อมาให้ยุบ จ.สุโขทัย ไปขึ้นกับ จ.สวรรคโลก พร้อมทั้งให้เปลี่ยนชื่อ อ.ธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของ จ.สุโขทัย เป็น อ.สุโขทัยธานี ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้ยกฐานะ อ.สุโขทัยธานี ขึ้นเป็น จ.สุโขทัย อีกครั้งหนึ่ง ส่วน จ.สวรรคโลก ให้ยุบลงเป็นอำเภอ ขึ้นกับ จ.สุโขทัย
                        แหล่งโบราณคดีใน จ.สุโขทัย มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองสุโขทัยเก่า  ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และในเขตเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก ทางด้านวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔
                         ๑.  อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  ตั้งอยู่ที่ ต.เมืองเก่า อ.เมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๗๐ ตร.กม. จัดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาอุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีอยู่ทั้งหมดสิบแห่งในประเทศไทยในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๗)  ครอบคลุมพื้นที่ทั้งภายใน และภายนอกกำแพงเมืองกรุงสุโขทัยในอดีต โดยกำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นกำแพงพูนดินสามชั้น กำแพงด้านทิศเหนือจดทิศใต้ยาว ๑,๔๐๐ เมตร ด้านทิศตะวันออก จดทิศตะวันตก ยาว ๑,๘๑๐ เมตร มีคลองแม่ลำพัน ไหลเลียบกำแพงเมืองด้านเหนือ นอกจากนี้ ยังมีตระพังสี่แห่ง โบราณสถานทั้งภายใน และภายนอกกำแพงเมืองมีมากกว่า ๒๐๐ แห่ง
                        ๒.  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  ตั้งอยู่ในเขต อ.ศรีสัชนาลัย มีพื้นที่ประมาณ ๔๕ ตรงกม. โบราณสถานมีทั้งภายในและภายนอกกำแพงเมือง รวมทั้งหมด ๒๑๕ แห่ง ตัวเมืองศรีสัชนาลัยตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขา ริมฝั่งแม่น้ำยม มีกำแพงล้อมรอบสามชั้น ยกเว้น ด้านที่ติดกับแม่น้ำยม มีกำแพงเมืองชั้นเดียว         ๒๘/๑๗๘๐๐
                ๕๑๑๓.  สุชาตะ  เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง นับเป็นพระองค์ที่สิบสอง ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ยี่สิบห้าพระองค์            ๒๘/๑๗๘๐๕
                ๕๑๑๔.  สุนทรภู่  เป็นกวีสมัยรัตนโกสินทร์ มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ สุนทรภู่ เป็นชื่อที่เรียกกันทั่ว ๆ ไป โดยนำชื่อเดิมว่า ภู่ รวมกับส่วนหน้าของนามบรรดาศักดิ์คือ สุนทรโวหาร ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น ขุนสุนทรโวหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับแต่งตั้งเป็น พระสุนทรโวหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ
                        สุนทรภู่ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ อยู่กับมารดาจนเจริญวัย เป็นผู้เฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง ในวิชาหนังสือ และเป็นครูสอนวิชาหนังสือ อยู่ที่วัดชีปะชาว และเคยมีอาชีพเป็นเสมียน ทำหน้าที่นายระวาง กรมพระคลังสวน  ต่อมาได้ไปเป็นมหาดเล็ก อยู่ในกรมพระราชวังหลัง
                        ประมาณต้นปี พ.ศ.๒๓๕๐ สุนทรภู่ได้เดินทงไปหาบิดา ที่บวชอยู่ที่วัดป่า ต.บ้านกร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง การเดินทางไปครั้งนี้ ท่านได้แต่งนิราศเมืองแกลง
                        ปลายปี พ.ศ.๒๓๕๐ สุนทรภู่ได้ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ เดินทางไปนมัสการพระพุทธบาท จ.สระบุรี และได้แต่งนิราศพระบาท
                        ในปี พ.ศ.๒๓๖๓ สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการอยู่ในกรมพระอาลักษณ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นกวี ที่ปรึกษาคนหนึ่ง มีตำแหน่งเป็นที่ ขุนสุนทรโวหาร ในปี พ.ศ.๒๓๖๔
                        ระหว่างที่สุนทรภู่ ติดคุกเนื่องจากไปทำร้ายญาติผู้ใหญ่ ก็ได้เริ่มแต่งเรื่องพระอภัยมณี ออกขายเลี้ยงตนเอง เมื่อพ้นโทษแล้ว ก็ได้เข้ารับราชการตามเดิม
                        ราวปี พ.ศ.๒๓๖๕ - ๒๓๖๗  สุนทรภู่ได้เป็นครูสอนหนังสือถวาย เจ้าฟ้าอาภรณ์ ได้แต่งกลอนชื่อสวัสดิรักษา และได้แต่งเรื่องสิงหไกรภพ และเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม
                        ในปี พ.ศ.๒๓๖๗  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ในปีนั้นเอง สุนทรภู่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิด ถูกถอดยศ และถูกให้ออกจากราชการ สุนทรภู่จึงออกบวชที่วัดราชบูรณะ แล้วไปจำพรรษาที่ จ.เพชรบุรี ได้แต่งกาพย์เรื่องพระไชยสุริยา เป็นนิทานเทียบสอนอ่านภาษาไทย ในปี พ.ศ.๒๓๖๘
                        ในปี พ.ศ.๒๓๗๓  ได้แต่ง เพลงยาวถวายโอวาท และได้เดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แต่งนิราศภูเขาทอง ไว้อีกเรื่องหนึ่ง
                        ในปีเดียวกัน ได้เดินทางไปทำธุระที่ จ.เพชรบุรี และได้แต่งนิราศเมืองเพชร
                        ในปี พ.ศ.๒๓๗๗  สุนทรภู่ได้พาเณรพัดและตาบ ผู้เป็นบุตรชายสองคน ไปแสวงหายาอายุวัฒนะ ที่วัดเจ้าฟ้าอากาศใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า เป็นคำของเณรพัด ต่อมาได้ลาสิกขา ในปี พ.ศ.๒๓๗๘ หลังจากสึกแล้ว ก็มีชีวิตลุ่ม ๆ ดอน ๆ ขัดสนไม่มีบ้านอยู่ ต้องลอยเรือเที่ยวจอดตามสวน หาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างแต่งบทกลอน และขายบทกลอนที่แต่งไว้เป็นนิทาน
                        ในปี พ.ศ.๒๓๘๓  ได้อุปสมบทอีก และไปอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ในปี พ.ศ.๒๓๘๔ ได้เดินทางไป จ.สุพรรณบุรี โดยมีจุดมุ่งหมายจะหาแร่มาทำทอง ได้แต่งโคลงนิราศสุพรรณ ในระหว่างจำพรรษาได้แต่งรำพันพิลาป เป็นทำนองความฝัน อันมีเนื้อความเล่าถึงความหลัง  ครั้นออกพรรษาแล้ว ก็ลาสิกขาในปี พ.ศ.๒๓๘๕ ต่อมาได้เดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ได้แต่งนิราศพระประธม
                        ในปี พ.ศ.๒๓๙๔  เจ้าฟ้ามงกุฎ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น พระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายบวรราชวัง
                        ผลงานกาพย์กลอนที่ท่านแต่งในช่วงนี้ ได้แก่ บทละครเรื่องอภัยนุราช เสภาพระราชพงศาวดาร บทเห่กล่อมพระบรรทมเรื่อง จับระบำ บทเห่กล่อมเรื่อง กากี บทเห่กล่อมเรื่อง พระอภัยมณี และบทเห่กล่อมเรื่อง โคบุตร
                        สุนทรภู่ จนถึงปี พ.ศ.๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๗๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศเกียรติคุณยกย่อง สุนทรภู่ เป็นบุคคลดีเด่นสำคัญของชาติไทย มีผลงานด้านวัฒนธรรมดีเด่น และเป็นกวีของประชาชน        ๒๘/๑๗๘๐๕

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch