|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/158
เล่ม ๒๘ สาลี ข้าว - หวาย ต้น ลำดับที่ ๕๐๘๕ – ๕๒๐๕ ๒๘/ ๑๗๖๔๕ - ๑๘๒๒๓
๕๐๘๕. สาลี ข้าว เป็นชื่อไม้ล้มลุกใบเลี้ยงเดี่ยว มีอายุปีเดียว เจริญแตกเป็นกอที่โคน ๒ - ๕ แขนง บางพันธุ์อาจแตกกอได้ถึง ๔๐ แขนง ต้นตรงสูง ๔๐ - ๕๐ ซม. ลำต้นรูปทรงกระบอก เป็นข้อและปล้อง ปล้องกลาง ใบเรียงสลับสองข้างของลำต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ประกอบด้วยช่อดอกย่อย ที่ไม่มีก้านออกเดี่ยวเรียงสลับ ระนาบเดียว บนแกนกลาง ช่อดอกย่อยรูปไข่หรือรูปรี ผลแบบผลแห้ง เมล็ดติดสีน้ำตาล อมแดง หรือขาวนวล รูปรีหรือรูปไข่ ยาวประมาณ ๘ มม. นูนด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งแบน มีหนึ่งเมล็ด ผลมีกาบแข็งสองกาบ หุ้มอยู่หลวม ๆ
เมื่อนำผลข้าวสาลีไปนวด กาบจะหลุดออกง่าย เมล็ดข้าวที่ได้คือ ตัวผลแท้เรียก ข้าวกล้อง สาลีมีสีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีนวล
เมล็ดข้าวสาลี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นอาหารหลักของคนในเขตอบอุ่น ทำเป็นอาหารโดยตรง เช่น ต้ม หรือนึ่ง ส่วนใหญ่ใช้เป็นรูปของแป้ง คนไทยรู้จักข้าวสาลี ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เราเรียก แป้งหมี่ คือ แป้งที่ใช้ทำเส้นบะหมี่ นั่นเอง
ถิ่นกำเนิดของข้าวสาลี อยู่ในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีการปลูกกันมานานราว ๗,๕๐๐ - ๖๕,๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช ต่อมาได้แพร่เข้าไปในทวีปยุโรป จีนและโลกใหม่ ผู้ที่ผลิตข้าวสาลี รายใหญ่ของโลกคือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา รัสเซีย และจีน ๒๘/๑๗๖๔๕
๕๐๘๖. สาลี่ เป็นชื่อพืชเขตหนาวกลุ่มหนึ่ง มีทั้งประเภทไม้ยืนต้น และไม้พุ่ม เป็นได้ท้งไม้ผล และไม้ประดับ สาลี่มีทั้งหมด ๒๒ ชนิด แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ที่มีการปลูกเป็นการค้าคือ สาลี่ ยุโรป หรือสาลีตะวันตก และสาลี่เอเชีย
สาลี่ เป็นไม้ยืนต้น ที่มีรูปทรงสูงชะลูด เป็นทรงพีรามิด ที่มีขนาดเล็กถึงปานกลาง อาจสูงถึง ๑๐ เมตร โดยทั่วไปมีความสูงประมาณ ๓ - ๕ เมตร ใบมีหลายลักษณะเป็นรูปทรงกลม รูปไข่ หรือรูปรี ที่มีปลายมน ดอกมีลักษณะเป็นช่อดอก ที่มีด้านบนราบ หรือกลมเรียงแบบช่องเชิงหลั่น ดอกสีขาวบานจากด้านนอก ไปสู่ด้านใน ดอกเกิดจากตาแบบตาผสม สาลี่เอเชีย ลักษณะโดยทั่วไป คล้ายสาลี่ยุโรป ยกเว้นรูปร่างที่คล้ายแอปเปิลมากกว่า หรือค่อนข้างกลม สีมีตั้งแต่สีเขียว เหลือง อมเขียว เหลืองทอง น้ำตาลไปจนถึงสีแดง ๒๘/๑๗๖๔๘
๕๐๘๗. สาวัตถี เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่ แคว้นหนึ่งในสิบหกแคว้น ของอินเดียสมัยพุทธกาล แคว้นนี้ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาหิมาลัย กับแม่น้ำคงคา ตอนกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจดเทือกเขาหิมาลัย ในเขตประเทศเนปาล ในปัจจุบัน ทิศตะวันออกจดแคว้นกาสี ต่อกับแคว้นมคธ ทิศใต้และทิศตะวันตกจดแม่น้ำคงคา ในปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ตัวเมืองสาวัตถีตั้งอยู่บนลุ่มน้ำอจิรวดี ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำราปตี บริเวณที่ตั้งเมืองสาวัตถี ปัจจุบันเรียกว่า สะเหต มะเหต จากการขุดค้นพบว่า ที่บริเวณมะเหต เป็นซากเมืองสาวัตถี และที่บริเวณ สะเหต เป็นซากวัดเชตวัน
ในสมัยพุทธกาล เมืองสาวัตถีเจริญรุ่งเรืองมาก และมีวัดสำคัญสามวัดคือ
๑. พระเชตวันวิหาร อนาถบิณฑิกเศรษฐี สร้างถวายพระพุทธเจ้า
๒. บุพพาราม นางวิสาขา มหาอุบาสิกา สร้างถวายพระพุทธเจ้า
๓. ราชการาม หรือราชิการาม พระเจ้าปเสนทิโกศลสร้างถวายพระพุทธเจ้า (ภิกษุณีสงฆ์ ใช้เป็นที่จำพรรษา)
พระพุทธเจ้า ทรงจำพรรษาในเมืองสาวัตถีนานที่สุดคือ ยี่สิบห้าพรรษา โดยทรงจำพรรษาที่พระเชตวัน สิบเก้าพรรษา และที่บุพพาราม หกพรรษา พระพุทธเจ้าทรงใช้เมืองนี้เป็นศูนย์กลาง การปกครองคณะสงฆ์ และศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระถังซัมจั๋งได้พรรณาสภาพของเมืองสาวัตถี ระหว่างปี พ.ศ.๑๑๗๔ - ๑๑๘๘ เมื่อท่านไปสืบพระศาสนาที่อินเดีย ดังปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุตอนหนึ่งว่า "อาณาจักรแห่งมหานครสาวัตถี (แคว้นโกศล) ประมาณ ๖,๐๐๐ ลี้ ( ๑ ลี้ เท่ากับ ๕๐๐ เมตร ) เมืองใหญ่คือ เมืองสาวัตถีปรักหักพังไปหมดแล้ว จึงเป็นการยากที่จะกำหนดได้ว่า ตั้งแต่บริเวณไหนถึงแห่งใด เฉพาะซากกำแพงซึ่งเมืองเห็นเป็นกำแพงพระราชวัง ที่ประทับของพระราชากว้างยาวราวสิบลี้ แม้จะเหลือซากปรักหักพัง แต่ยังเห็นผู้มาอาศัยอยู่บ้าง มีกอไผ่อยู่หลายกอ ทุกอย่างงอกงามดี ดินฟ้าอากาศไม่ร้อนไป ไม่หนาวนัก คนทั้งหลายมีกิริยาวาจาสุภาพ ไม่นิยมทำบาป เอาใจใส่ต่อการศึกษา และศาสนาด้วยดี สังฆารามซึ่งเหลือแต่ซากมีหลายร้อยแห่ง" ๒๘/๑๗๖๕๒
๕๐๘๘. สาหร่าย เป็นพืชชั้นต่ำ พวกแอลจี และพืชชั้นสูง พวกพืชมีดอก
๑. พืชชั้นต่ำพวกแอลจี เป็นพืชที่ไม่มีราก ลำต้นและใบที่แท้จริง ประกอบด้วย เซลล์เดียว หรือหลายเซลล์ อยู่เป็นกลุ่ม เป็นสาย หรือเป็นคล้ายพืชชั้นสูง มักเรียกรวมกันว่า แทลลัส แยกได้เป็นกลุ่มแอลจีสีเขียว กลุ่มแอลจีสีน้ำตาล และกลุ่มแอลจีสีแดง แต่ละกลุ่มมีอยู่หลายชนิด เช่น
๑.๑ สาหร่ายไฟ มีอยู่หลายสกุล เจริญอยู่ใต้น้ำ ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย พบเป็นวัชพืชในแหล่งน้ำอื่น ๆ เช่น ในนาข้าว นาบัว
๑.๒ สาหร่ายทุ่น เจริญอยู่ในทะเลทั่วไป มีขนาดใหญ่เหมือนต้นไม้เล็ก ๆ พบได้ตามทะเลทั่วไป มักขาดลอยมาติดอยู่ตามชายหาด บริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณตอนใต้ของหมู่เกาะเบอร์มิวดา มีสาหร่ายทุ่นเจริญเติบโตแพร่กระจาย เป็นบริเวณกว้างถึง ๑,๖๐๐ กม. ยาว ๓,๒๐๐ กม. เรียกบริเวณนี้ว่า ซากาสโซซี
๑.๓ สาหร่ายวุ้น มีขนาดไม่ใหญ่นัก ลักษณะเป็นท่อกลม หรือแบนอวบน้ำ แตกกิ่งก้านสาขาออกไปรอบ ๆ เป็นกระจุก สาหร่ายวุ้น สามารถนำมาสกัดได้สารประกอบ ที่มีประโยชน์หลายอย่าง ซึ่งนำมาเป็นอาหาร หรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์หลายอย่าง
๒. พืชชั้นสูงพวกพืชมีดอก ชอบขึ้นอยู่ในที่แฉะ หรืออยู่ในน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำทะเล เช่น
๒.๑ สาหร่ายพุงชะโค เป็นพืชชั้นสูงพวกมีดอก มีอายุปีเดียว หรือหลายปี เมื่อต้นแก่ลอยเป็นอิสระอยู่ในน้ำ พบตามแหล่งน้ำนิ่งทั่วไป
๒.๒ สาหร่ายหางกระรอก เป็นพืชชั้นสูง พวกที่มีดอก อยู่ในน้ำมีอายุหลายปี พบได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป
๒.๓ สาหร่ายฉัตร เป็นพืชชั้นสูง พวกที่มีดอก อยู่ในน้ำ พบเป็นวัชพืชในนาข้าว และตามแหล่งน้ำนิ่ง นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดบ ในตู้ปลา ๒๘/๑๗๖๕๙
๒.๔ สาหร่าย เส้นด้าย เป็นพืชชั้นสูงพวกพืชมีดอก อยู่ในน้ำมีอายุข้ามปี ลำต้นเป็นสายตรง และแตกกิ่งก้านสาขา ต้นแก่ไม่มีราก ลอยตัวอิสระอยู่ใต้น้ำ เป็นวัชพืชในแหล่งน้ำจืดทั่วไป รวมทั้งในนาข้าว
๕๐๘๙. สาหร่าย ข้าวเหนียว เป็นไม้น้ำที่กินแมลงเป็นอาหาร ไม่มีรากแท้ มีแต่รากเทียม มีไหลคล้ายเส้นด้าย ยาวได้ถึง ๑ เมตร แยกแขนง ตามผิวของไหลมีตุ่มเล็ก ๆ ทั่วไป ต้นลอยในน้ำ ใบรูปคล้ายเส้นด้ายจำนวนมาก ถุงดักแมลงเกิดตามใบ ดอกสีเหลืองอ่อน มีลายสีน้ำตาลอมแดง ช่อดอกเป็นช่อกระจะ จะชูเหนือน้ำ ผลกลมแบบผลแห้งแตกตามขวาง มีเมล็ดมาก ๒๘/๑๗๖๖๖
๕๐๙๐. สำปะหลัง ดูมันสำปะหลัง ลำดับที่ ๔๓๔๑... ๒๘/๑๗๖๖๘
๕๐๙๑. สำปั้น เรือ เป็นชื่อเรือต่อชนิดหนึ่ง ใช้เป็นพาหนะสำหรับอาศัยไปมา หรือบรรทุกสิ่งของสินค้าขึ้นล่องทางน้ำ โดยการแจวหรือพาย
เรือสำปั้นของไทยในชั้นเดิมสันนิษฐานว่า ได้แบบอย่างจากเรือของจีน เป็นเรือต่อด้วยไม้กระดานแผ่นยาวพอประมาณ จำนวนสามแผ่นประกอบเข้าเป็นลำเรือ
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ได้คิดดัดแปลงเรือสำปั้นเรียกว่าเรือสำปั้นแปลง โดยเพิ่มกระดานที่นำมาต่อเรืออีกสองแผ่น รวมเป็นห้าแผ่น ลักษณะท้องเรือค่อนข้างมน กลางลำป่องเป็นกระพุ้ง หัวและท้ายเรือเพรียว ส่วนท้ายเรืองอนเชิดขึ้นสูงกว่าหัวเรือ ต่อมาได้คิดต่อให้ใหญ่และยาวขึ้นเป็น ๗ - ๘ วา และต่อมาได้ต่อได้ยาวถึง ๑๔ - ๑๕ วา ใช้กันแพร่หลายเป็นลำดับมา ในชั้นหลังใช้ไม้สักแทนไม้ฉำฉา
เรือสำปั้นขนาดย่อม ใช้กำลังคนพายท้ายเรือ และหัวเรือแห่งละคน ส่วนเรือสำปั้นขนาดใหญ่ และยาวมากมักใช้แจวแทนพาย อาจมีหนึ่งแจว หรือสองแจว แต่บางลำใช้หกหรือแปดแจวก็มี
ต่อมาได้มีการต่อเติม และดัดแปลงให้มีรูปลักษณะและสิ่งประกอบต่าง ๆ ตามความนิยม และประโยชน์ใช้สอย จึงมีเรือสำปั้นต่างชนิด และเรียกชื่อต่าง ๆ กันเช่น
เรือสำปั้นเพรียว หรือเรือเพรียว เป็นเรือสำปั้นขนาดเล็กและเพรียว นั่งได้เพียงคนเดียว มีผู้นำไปถวายวัดสำหรับพระภิกษุพายออกบิณฑบาต
เรือสำปั้นประทุน เป็นเรือขนาดกลาง ติดหลักแจวหนึ่งหรือสองหลัก ตอนกลางลำเรือทำประทุนรูปโค้งกั้นแดดกันฝนต่างหลังคา ใช้สำหรับเดินทางรอนแรมไปไกล ๆ
เรือสำปั้นเก๋ง เป็นเรือขนาดกลาง และขนาดใหญ่ อาจใช้แจวสี่ถึงแปดแจว กลางลำเรือตั้งเก๋งเครื่องกั้นแดดกันฝน
เรือสำปั้นสวน เป็นเรือขนาดกลาง ใช้บรรทุกผลิตผลจากสวน
เรือสำปั้นจ้าง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เรือจ้าง เป็นเรือขนาดกลางใช้คนแจวคนเดียว มีทั้งแบบตั้งเก๋งโถงและเรือเปล่า ใช้รับจ้างส่งคนข้ามฟากหรือไปในระยะไม่ไกลนัก
เรือสำปั้นเล็ก ยาวประมาณหนึ่งวาสองศอกถึงสองวา ใช้พายคนเดียว บางทีเรียกเรือคอน มักใช้เป็นเรือพายขายของกินต่าง ๆ
เรือสำปั้นแปลง มีขนาดทั้งเล็ก กลาง และใหญ่ ดัดแปลงขึ้นใหม่ให้เหมาะสม สำหรับขนส่งสิ่งของ โดยทำส่วนกราบเรือทั้งสองข้างสูงขึ้นกว่าปรกติ ๒๘/๑๗๖๖๘
๕๐๙๒. สำเภางาม เป็นชื่อกล้วยไม้ดินชนิดหนึ่ง พบขึ้นในประเทศไทยทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐ เมตรขึ้นไป ออกดอกในช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อน กล้วยไม้ชนิดนี้มีขนาดใหญ่ สวยงามมาก ขึ้นเป็นกอ ช่อดอกตรง ดอกโตสีขาวอมชมพู เรียงตัวเป็นช่อกระจะและบานทน ๒๘/๑๗๖๗๗
๕๐๙๓. สำมะโนครัว มีบทนิยามว่า "การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนราษฎรในแต่ละครัวเรือน"
คำนี้ได้นำมาใช้ในกฎหมายเป็นครั้งแรกโดย พ.ร.บ. สำหรับทำบัญชีคนในพระราชอาณาจักร ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) โดยกำหนดหลักการไว้สามข้อคือให้จัดทำบัญชีสำมะโนครัว บัญชีคนเกิดและคนตาย บัญชีคนเข้าและคนออก
นอกจากนั้นยังได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐)
พ.ร.บ.ดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียบสำมะโนครัว โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ที่จะจัดทำบัญชีสำมะโนครัวในหมู่บ้านของตน และคอยแก้ไขให้ถูกต้องอยู่เสมอ กำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของกำนันที่จะรักษาบัญชีสำมะโนครัว และทะเบียนบัญชีของรัฐบาลในตำบลนั้น และคอยแก้ไขให้ถูกต้องตรงกับบัญชีของผู้ใหญ่บ้าน และกำหนดให้นายอำเภอมีหน้าที่ที่จะทำบัญชีสำมะโนครัว และทะเบียนทุกอย่าง บรรดาที่ต้องการใช้ในราชการ
การจัดทำบัญชีสำมะโนครัวครั้งนั้น และในระยะต่อมาเป็นการสำรวจจำนวนคนในเขตท้องที่ต่าง ๆ และจัดทำบัญชีแสดงรายการของคนไว้เป็นหลักฐานเรียกว่าสำมะโนครัว ยังคงปรากฎเอกสารให้เห็น ในรูปของทะเบียนสำมะโนครัว ๒๘/๑๗๖๗๗
๕๐๙๔. สำโรง ต้น เป็นไม้ต้นสูงได้ถึง ๓๐ เมตร ผลัดใบ เรือนยอดแผ่กว้าง ลำต้นเปลาตรง ใบเป็นช่อรูปนิ้วมือ ส่วนมากจะมีใบย่อยรูปรีขอบขนานหรือรูปหอก ดอกแยกเพศแต่อยู่ในต้นและช่อเดียวกัน สีแสดหรือแดง กลิ่นเหม็น ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่งและง่ามใบ ใกล้ปลายกิ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ออกดอกพร้อมผลิใบใหม่ ผลแห้งแตกรูปไตออกรวมกันเป็นพวงห้อยย้อยลง การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ เนื้อไม้สีน้ำตาลปนเทาเนื้อหยาบแต่ค่อนข้างเหนียว แปรรูปได้ง่าย ใช้ทำไม้แบบหล่อคอนกรีต ทำลังใส่ของ เปลือกใช้ทำเชือกหยาบ ๆ น้ำมันจากเนื้อไม้ในเมล็ดใช้ปรุงอาหาร และใช้จุดไฟ ใบใช้เป็นยาระบาย ผลเป็นยาสมาน และบรรเทาโรคไต ๒๘/๑๗๖๗๙
๕๐๙๕. สำลี ต้น เป็นชื่อพันธุ์ไม้บางชนิดที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นเส้น ใบสีขาวนุ่ม และน้ำหนักเบา และมักผูกพันกับคำว่าฝ้าย เพราะมีการนำเอาปุ๋ยที่หุ้มเมล็ดฝ้ายมาฟอกให้ขาวขึ้นปราศจากไขมัน และสิ่งเจือปนอื่น ๆ มาใช้เรียกว่าสำลี พันธุ์ไม้ที่มีชื่อสำลี มีสามชนิดคือ
๑. สำลี ฝ้ายสำลี เป็นไม้พุ่มเตี้ย สูง ๑ - ๓ เมตร ใบเดี่ยวติดเรียงสลับ ทรงใบรูปใบปาล์มมี ๓ - ๕ แฉก ดอกเดี่ยวสีเหลืองอ่อนออกตามง่ามใบ บานในช่วงเช้า และหุบในช่วงบ่าย ปลายกลีบดอกมักออกสีชมพูเรื่อ ผลแห้งแตกรูปไข่ มีพูตามยาว ๓ - ๕ พู เมล็ดสีดำมีใบสีขาวคลุมแน่น เส้นใยนี้ใช้ทำด้ายทอผ้า ทำสำลีทางการแพทย์ การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ
๒. ไม้สำลี เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๓๐ เมตร ใบเดี่ยวติดเวียนกันตามปลายกิ่ง ทรงใบรูปไข่ หรือรูปหัวใจ ดอกโตสีขาวเป็นดอกเดี่ยวออกตามง่าม ใบใกล้ปลายกิ่ง ผลแห้งแตกรูปทรงกระบอก เมล็ดสีดำจำนวนมาก มีใบสีขาวคลุมแน่น ประโยชน์ใช้เนื้อไม้บุผนังกับความร้อนและเก็บเสียง ทำทุ่นลอยน้ำ เส้นใยใช้ทำด้ายทอผ้า การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ
๓. สำลีงา ดูที่สักขีย่าย สักขีย่าน สำมะงา สำลีงา ในคำสัก ไม้ ลำดับที่... ๒๘/๑๗๖๘๓
๕๐๙๖. สำลี ปลา เป็นปลากระดูกแข็งน้ำเค็ม วงศ์เดียวกับปลาสีกุน และปลาหางแข็ง มีลำตัวค่อนข้างยาว แบนข้างเล็กน้อย ชอบอาศัยตามบริเวณพื้นทะเลในทะเลเปิดทั่วไป และมักอยู่รวมกับปลาใหญ่เช่น ฉลาม กระเบน นับเป็นปลาเศรษฐกิจ มีราคาค่อนข้างแพง มีรสชาดดี ปรุงอาหารได้หลายแบบ ๒๘/๑๗๖๘๖
๕๐๙๗. สิขี เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง นับเป็นพระองค์ที่ยี่สิบในจำนวนพระพุทธเจ้า ที่ทรงอุบัติแล้วในโลกยี่สิบห้าองค์ (ดูวิปัสสี - ลำดับที่. ๔๘๙๒..) ๒๘/๑๗๖๘๙
๕๐๙๘. สิงคโปร์ เป็นประเทศในทวีปเอเซีย มีชื่อเรียกเป็นทางการว่าสาธารณรัฐสิงคโปร์ ตั้งอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ บนเกาะนอกชายฝั่งตอนใต้สุดของคาบสมุทรมลายู มีช่องแคบยะโฮร์และช่องแคบสิงคโปร์กั้นอยู่ระหว่างมาเลเซีย และอินโดนีเซียตามลำดับ มีพื้นที่ ๕๘๓ ตร.กม.จัดเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในภูมิภาค
ลักษณะภูมิประเทศ ประกอบด้วย เกาะขนาดใหญ่หนึ่งเกาะ และเกาะขนาดเล็กเกาะน้อยอีกห้าสิบเกาะ เกาะสิงคโปร์มีพื้นที่ ๕๔๑ ตร.กม.ใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตของไทยเล็กน้อย ตัวเกาะสิงคโปร์พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ชายฝั่งทะเลค่อนข้างเว้าแหว่ง จึงมีอ่าวจอดเรือที่ดีหลายแห่ง ทางตอนเหนือของเกาะมีถนน และทางรถไฟข้ามช่องแคบยะโฮร์ในประเทศมาเลเซีย
สิงคโปร์ เดิมเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ มีชื่อเรียกตามตำนานพื้นเมืองของมลายูว่า เตเมเส็ก ทำการค้ารุ่งเรืองขึ้นในพุทธศตวรรษที่สิบแปด ต่อมาในพุทธศตวรรษที่สิบเก้า ถูกอาณาจักรมัชปาหิตในเกาะชวา บุกรุกเข้าทำลายจนหมด กลายเป็นเพียงหมู่เกาะบ้านประมงเล็ก ๆ ในความดูแลของสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์ชื่อ สิงคโปร์คงจะเกิดขึ้นตอนนี้
ในปี พ.ศ.๒๓๖๒ ผู้แทนบริษัทบริติชอีสต์อินเดียได้เจรจาขอเช่าสิงคโปร์จากสุลต่านรัฐยะโฮร์ เพื่อสร้างสถานีการค้าและท่าเรือขึ้นบนเกาะนั้น ทำการค้าขายแข่งกับพ่อค้าชาวฮอลันดา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๗ อังกฤษกับฮอลันดาได้ทำความตกลงกันเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะสิงคโปร์ ส่งผลให้อังกฤษได้สิงคโปร์ไปเป็นอาณานิคมของตน และต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๙ ก็ได้รวมเมืองสามเมืองที่ตั้งอยู่ในบริเวณช่องแคบมะละกา ต่อเนื่องกับช่องแคบสิงคโปร์คือปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ จัดตั้งเป็นนิคมช่องแคบ ภายใต้ความดูแลของรัฐบาลอินเดียของอังกฤษ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๑๐ นิคมช่องแคบจึงเปลี่ยนสภาพเป็นอาณานิคมขึ้นตรงต่อรัฐบาลอังกฤษ
นอกจากจะสร้างความมั่นคงทางการค้าและความพร้อมในการให้บริการแก่เรือสินค้าต่าง ๆ แล้ว อังกฤษยังทำให้สิงคโปร์เป็นฐานทัพเรือที่สำคัญของตนด้วย
ในสงครามโลกครั้งที่สองกองทัพญี่ปุ่นยึดสิงคตโปร์ได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ จนสิ้นสงครามในปี พ.ศ.๒๔๘๘ จึงตกเป็นของอังกฤษอีกจนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๒ อังกฤษจึงได้สิทธิ์ปกครองตนเอง และได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้เข้าร่วมเป็นรัฐหนึ่งในสิบสี่รัฐของมาเลเซีย ซึ่งประกอบด้วยมาเลเซีย ซาบาร์ ซาราวัค และสิงคโปร์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๘ สิงคโปร์ได้ขอถอนตัวออกจากมาเลเซีย จัดตั้งเป็นประเทศสิงคโปร์ในปีเดียวกัน ความมั่นคงทางการเมืองภายในของสิงคโปร์ มีปัจจัยด้านความสมานฉันท์ของประชากร ภายในประเทศเป็นพลังสนับสนุนที่สำคัญ สิงคโปร์มีประชากรหลายเชื้อชาติรวมกัน ประกอบด้วยคนเชื้อสายจีนร้อยละ ๗๖ เชื้อสายมลายู ร้อยละ ๑๕ เชื้อสายอินเดีย ร้อยละ ๖ และอื่น ๆ ร้อยละ ๓ สิงคโปร์ไม่มีนโยบายกีดกันเชื้อชาติ กำหนดให้มีภาษาที่ใช้เป็นทางการถึงสี่ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษามาเลย์ และภาษาทมิฬ ๒๘/๑๗๖๙๑
|
Update : 27/5/2554
|
|