หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/157
    ๕๐๗๓. สาธุการ, เพลง  เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงทำนองหนึ่ง เป็นเพลงแรกในชุดโหมโรง เพื่อแสดงความเคารพบูชาต่อพระรัตนตรัย เทพยดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่มาชุมนุมในพิธีมณฑลนั้น ถือว่าเป็นเพลงครูที่เปรียบเหมือน ธูปเทียนบูชาสิ่งที่เคารพ
                        เพลงสาธุการ แบ่งออกเป็น สาธุการธรรมดา สาธุการกลอง สาธุการคล้องเชือก สาธุการจีน สาธุการชั้นเดียว สาธุการเปิดโลก
                        ปัจจุบันเพลงสาธุการ ที่นิยมบรรเลงมีสองเพลงคือ เพลงสาธุการธรรมดา และเพลงสาธุการกลอง          ๒๗/๑๗๕๘๒
                ๕๐๗๔. สาบ, แมลง  นักกีฏวิทยา ถือว่าแมลงสาบ และแมลงแกลบ เป็นพวกเดียวกัน มีห้าวงศ์ รวมประมาณ ๓,๗๐๐ ชนิดด้วยกัน
                        วงจรชีวิตมีสามระยะคือ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน และระยะเต็มวัย            ๒๗/๑๗๗๘๔
                ๕๐๗๕. สามพระยา, เจ้า  ดู บรมราชาธิราช สมเด็จพระ  - ลำดับที่ ๒๙๙๔          ๒๗/๑๗๕๙๐
                ๕๐๗๖. สามเวท  เป็นพระเวทของพราหมณ์  ซึ่งมีสี่คัมภีร์ ได้แก่ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และ อถรรพเวท  สามเวท ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับการสวดในพิธีถวายน้ำโสม แก่อินทรเทพ และการขับกล่อมเทพเจ้าทั้งหลาย
                        สามเวท มีชื่อเต็มว่า สามเวทสังหิตา (การรวบรวมสามเวท)  กล่าวกันว่า ในต้นยุคพระเวทนั้น สามเวทมีสาขาอยู่ ๑,๐๐๐ สาขา แต่ต่อมาในสมัยหลัง ๆ เหลืออยู่เพียงสามสาขา ผู้ทำหน้าที่สวดสามเวท ในพิธีกรรมอย่างถวายน้ำโสมแก่อินทรเทพ เป็นต้น คือ พราหมณ์ ซึ่งเรียกกันว่า อุทคาดา
                        สามเวท เป็นเวทสำคัญสำหรับประวัติดนตรีอินเดีย โน้ตเพลงพื้นฐานของเพลงอินเดีย มีกำเนิดจากสามเวท
                ๕๐๗๗. สามเหลี่ยม, งู  เป็นงูพิษขนาดค่อนข้างใหญ่ ชนิดที่พบมาก จะมีสีสันหลังเป็นสันเหลี่ยม ทำให้เห็นลำตัวเป็นสามเหลี่ยม มีเขี้ยวพิษขนาดเล็ก ที่ด้านหน้าของขากรรไกรบน ขยับเขี้ยวไม่ได้ มีฤทธิ์ของน้ำพิษทางระบบประสาท เป็นงูออกหากินเวลากลางคืน          ๒๗/๑๗๕๙๒
                ๕๐๗๘.  สามัคคีเภทคำฉันท์  เป็นชื่อวรรณกรรมร้อยกรองประเภทคำฉันท์ ว่าด้วยโทษแห่งการแตกสามัคคีของพวกกษัตริย์ลิจฉวี ผู้ครองกรุงเวสาลี แคว้นวัชชี เป็นบทประพันธ์ของ นายชิต บุรทัต รัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอาศัยเค้าเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขาคิชกูฎ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ดังความปรากฎในตอนต้นของมหาปรินิพพานสูตร คัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐) และจบลงหลังพระพุทธปรินิพพาน แล้วสามปี
                        นายชิต บุรทัต ได้อ่านคำแปลอรรถกถา ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาคสอง ประกอบกับเคยอ่านหนังสือ อิลราชคำฉันท์ ของพระศรีสุนทรโวหาร ( ผัน สาลักษณ์)  มาก่อน จึงเกิดแรงบันดาลใจนำมาร้อยกรอง เป็นคำฉันท์ โดยเพิ่มอรรถรสทั้งด้านภาษา และเนื้อหาสาระ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เคยใช้เป็นแบบเรียนบังคับ ในการสอบไล่ชั้นมัธยมศึกษา บริบูรณ์ (ม.๘)
                        นายชิต บุรทัต  แต่งฉันท์เรื่องนี้เป็นฉันท์ ๔๑๓ บท ใช้ฉันท์ และกาพย์ ๒๐ ประเภท
                        สามัคคีเภทคำฉันท์ มีสองสำนวน สำนวนแรก แต่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ผู้ประพันธ์ระบุนาม และนามสกุลเดิมว่า ชิต ชวางกูร ต่อมานายชิต ได้มอบสามัคคีเภทคำฉันท์ สำนวนแรกนี้ให้เป็นสมบัติของหอพระสมุดวชิรญาณ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๒ กระทรวงธรรมการได้ประกาศให้สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นหนังสือแบบเรียนกวีนิพนธ์ บังคับเรียนสำหรับชั้นมัธยมบริบูรณ์ นายชิต บุรทัต จึงได้ตรวจแก้ไข ขัดเกลาคำฉันท์เรื่องนี้ ทำให้เป็นสำนวนใหม่ และใช้นามผู้ประพันธ์ว่า ชิต บุรทัต         ๒๗/๑๗๕๙๓
                ๕๐๗๙. สายน้ำผึ้ง, พระเจ้า  ดูที่ พนัญเชิง  - ลำดับที่  ๓๗๘๑         ๒๗/๑๗๕๐๐
                ๕๐๘๐. สายม่าน, งู  เป็นงูไม่มีพิษขนาดเล็ก ออกหากินเวลากลางวัน เป็นงูที่มีลวดลายและสีสวย งูที่คนไทยเรียกว่า งูสายม่าน เช่น งูสายม่านเล็ก งูสายม่านหลังทอง งูสายม่านเหลือง งูสายม่านแดง          ๒๗/๑๗๖๐๐
                ๕๐๘๑. สารส้ม  เป็นเกลือสองเชิง ที่เป็นไฮเดรต สารส้มที่ใช้กันทั่วไปคือ สารส้มโพแทช เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัย เล่นแร่แปรธาตุแล้ว
                        สารส้มโพแทช หรือสารส้มในธรรมชาติ เป็นแร่คาลิไนต์ และอะลูไนต์ พบสารส้มในที่หลายแห่งของโลก แต่ไม่มีที่ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันการผลิตสารส้ม ทำกันอย่างแพร่หลายทั่วไปในประเทศต่าง ๆ
                        สารส้ม มีประโยชน์มากทั้งในครัวเรือนและอุตสาหกรรม ใช้เป็นสารช่วยสีติด จึงใช้มากในอุตสาหกรรมการย้อม ในอุตสาหกรรมทำกระดาษ ใช้สารส้มเป็นสารยึดติด เพื่อประสานเส้นใยกระดาษเข้าด้วยกัน ในกระบวนการฟอกหนัง สารส้มช่วยทำให้หนังนุ่มขึ้น นอกจากนี้ สารส้มยังใช้เป็นยาระงับกลิ่นได้ด้วย
                        สารส้ม ทำให้น้ำใสได้ เพราะอะลูมิเนียมไอออน ในสารละลายแยกสลายด้วยน้ำ ให้ไอออนเชิงซ้อนที่มีประจุบวก และอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งดึงดูดสารแขวนลอย พวกอนุภาคดินที่มีประจุบลบ รวมเข้ามาเป็นกลุ่มก้อน แล้วตกตะกอน              ๒๗/๑๗๖๐๒
                ๕๐๘๒. สารหนู  ธาตุลำดับที่ ๓๓ สารหนูเป็นที่รู้จักกันดีในเปอร์เซียสมัยโบราณ นักปราชญ์ชาวเยอรมันเป็นคนแรก ที่ระบุว่าสารหนูเป็นธาตุ เมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๓
                        สารหนู ที่เป็นธาตุเสรีในธรรมชาติ มีอยู่เป็นจำนวนน้อย อาจพบได้ในสายแร่เงิน ส่วนใหญ่อยู่ในสารประกอบ เป็นแร่หลายชนิด กระจายอยู่ทั่วโลก
                        การเตรียมสารหนู ในเชิงพาณิชย์มักใช้แร่อาร์เซโนไรต์ ซึ่งเป็นแร่ธรรมดาสามัญของสารหนู นอกจากนั้น สารหนูยังเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการ ที่ปฎิบัติกับสินแร่ เงิน ตะกั่ว ทองแดง นิกเกิล และโคบอลต์  ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวีเดน และเม็กซิโก
                        ทั้งธาตุและสารประกอบของสารหนูมีพิษมาก เมื่อเข้าไปในร่างกาย ทั้งโดยการกิน และการหายใจ ทำลายระบบทางเดินอาหาร และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย และในที่สุดทำให้ถึงแก่ความตาย จึงใช้เป็นยาเบื่อหนู และแม้แต่ใช้ในการฆาตกรรม          ๒๗/๑๗๖๐๕
                ๕๐๘๓. สารีบุตร  เป็นชื่อพระมหาเถรรูปหนึ่ง ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า คู่กับพระโมคคัลลานะ ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ทั้งสองท่านต่างเกิดในตระกูลพราหมณ์ ที่มีฐานะเท่าเทียมกัน อยู่ในหมู่บ้านใกล้กัน และเป็นสหายกันมา ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพราะคนในตระกูลของท่านทั้งสอง มีความผูกพันฉันมิตรกันมา ถึงเจ็ดชั่วอายุคน
                        พระสารีบุตร เดิมมีชื่อว่า อุปติสสะ บิดาชื่อ วังคันตา มารดาชื่อ สารี บิดาของท่านมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน อุปติสสคาม (ชื่อที่รู้จักกันดีคือ นาลกคาม หรือนาลันทา)  อยู่ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์ ส่วนพระโมคคัลลานะ มีชื่อเดิมว่า โลโกลิตะ
                        ทั้งสองท่านไปเที่ยวดูมหรสพ ในกรุงราชคฤห์ เป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งสองสหายไปดูมหรสพเหมือนวันก่อน ๆ แต่ไม่เกิดความสนุกสนาน ร่าเริง เช่นที่เคย เพราะต่างพิจารณาเห็นตรงกันว่า ควรเลิกเที่ยวดูการเล่น ที่ไร้สาระนี้ ควรแสวงหาสิ่งที่มีสาระ มีประโยชน์แก่ชีวิตดีกว่า จึงพากันไปบวชในสำนักลัทธิปริพาชก ของสัญชัย ผู้ได้รับยกย่องเป็นครูคนหนึ่ง ในจำนวนครูหกคน
                        เมื่อบวชเป็นปริพาชกแล้ว ท่านทั้งสองได้ศึกษาจนจบความรู้อาจารย์ และได้รับมอบหมายให้ช่วยสอนศิษย์คนอื่น ๆ ในสำนักต่อไป แต่ท่านทั้งสองยังไม่พอใจ ในความรู้เพียงเท่านั้น จึงตกลงกันว่า จะออกแสวงหาโมกขธรรมต่อไป และนัดหมายกันว่า ใครได้พบโมกขธรรมก่อน ให้มาบอกกัน
                        ในช่วงเวลานั้น พระพุทธเจ้าเสด็จมาประกาศพระศาสนา ในกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน วันหนึ่ง พระอัสสชิเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในพระปัญจวัคคีย์ ออกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ อุปติสสะได้พบเห็นก็เกิดความเลื่อมใส ในจริยาวัตรของท่าน จึงเดินตามท่านไป หลังจากท่านฉันอาหารเสร็จแล้ว อุปติสสะจึงเข้าไปถามท่านว่า ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านบวชในสำนักของใคร ท่านชอบใจธรรมของใคร พระอัสสชิเถระตอบว่า พระสมณโคดม เป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจในธรรมของพระสมณโคดม อุปติสสะถามต่อไปว่า พระสมณโคดม สอนว่าอย่างไร
                        พระเถระตอบว่า ท่านบวชได้ไม่นานจึงไม่สามารถกล่าวถึงคำสอนของพระศาสดา ให้พิสดารได้ อุปติสสะได้ขอให้ท่านแสดง แต่ใจความเท่านั้น พระเถระจึงกล่าวเนื้อความโดยย่อว่า "ธรรมเหล่าใด เกิดจากเหตุ พระตถาคตได้แสดงเหตุเหล่านั้น และทรงแสดงความดับแห่งธรรมเหล่านั้นไว้ พระศาสดาทรงสอนอย่างนี้"
                        เมื่อพระเถระ กล่าวจบ อุปติสสะเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นว่า "สิ่งใดมีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งหมดย่อมมีการดับไป เป็นธรรมดา" อุปติสสะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุเป็นพระโสดาบัน
                        อุปติสสะ กราบลาพระเถระกลับไปหาโกลิตะ และเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง พร้อมทั้งแสดงธรรมที่พระเถระแสดงให้ฟัง โกลิตะก็ได้บรรลุเป็น พระโสดาบัน
                        อุปติสสะ และโกลิตะ พากันไปหาสัญชัย เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง มีใจความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อุบัติขึ้นแล้ว พวกตนจะไปบวชในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น และชวน สัญชัยไปบวชด้วยกัน แต่สัญชัยตอบปฎิเสธ และถามว่า ในโลกนี้ คนฉลาดกับคนโง่ อย่างไหนมีมากกว่ากัน เมื่อสองสหายตอบว่า คนโง่มีมากกว่า สัญชัยจึงกล่าวว่า ขอให้คนโง่มาอยู่กับเรา ขอให้คนฉลาดไปอยู่กับพระสมณโคดม เถิด
                        อุปติสสะ และโกลิตะ ก็อำลาสัญชัยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมเพื่อนปริพาชกห้าร้อยคน ขณะนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ เมื่อทอดพระเนตรเห็นสองสหาย นำบริวารมาแต่ไกล จึงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า คู่อัครสาวกของพระองค์กำลังมา
                        เมื่ออุปติสสะ และโกลิตะ พร้อมด้วยบริวารมาถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่งฟังพระธรรมเทศนา เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาจบ บริวารทั้งห้าร้อยคน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนอุปติสสะ และโกลิตะ ไม่ได้บรรลุธรรมสูงขึ้นกว่าเดิม ทั้งหมดทูลขอบวช พระพุทธองค์ก็ทรงบวชให้ด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา พระพุทธองค์ทรงเรียกอุปติสสะว่า สารีบุตร  และเรียกโกลิตะว่า โมคคัลลานะ ตามชื่อมารดา
                        หลังจากบวชแล้วเจ็ดวัน พระโมคคัลลานะ ที่บรรลุอรหัตผล ส่วนพระสารีบุตร หลังจากบวชได้สิบห้าวัน จึงบรรลุอรหัตผล
                        หลังจากได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ปรากฎว่าพระสารีบุตร เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศทั้งสอง ต่างเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เคียงข้างพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งให้พระสารีบุตร เป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย นอกจากนี้ พระสารีบุตรยังได้รับยกย่องเป็น ธรรมเสนาบดี คู่กับ พระบรมศาสดา ผู้เป็นพระธรรมราชา
                        ผลงานสำคัญที่สุด ที่เป็นต้นแบบของการทำสังคายนาพระธรรมวินัย ในสมัยต่อมาคือ การริเริ่มร้อยเรียงพระธรรม ที่พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้ ในที่ต่าง ๆ เข้าเป็นหมวดหมู่ ตามลำดับจำนวนตั้งแต่หมวดธรรมหนึ่งข้อ ไปจนถึงหมวดธรรมสิบข้อ หรือเกินสิบข้อ ดังปรากฎในสังคัติสูตร และทสุตตรสูตร  (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑)
                        พระสารีบุตร ได้พรรณาพระคุณของพระพุทธเจ้า ที่มีต่อท่านไว้อย่างละเอียดพิสดาร ดังปรากฎใน สัมปสาทนียสูตร  (ทิ ปา .แปล)
                        ก่อนที่พระสารีบุตร จะปรินิพพานเจ็ดวัน ท่านได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวัน แล้วทูลลาไปปรินิพพานที่บ้านเกิดคือ ที่เมืองนาลันทา ก่อนปรินิพพานท่านได้เทศน์โปรดมารดา ให้บรรลุพระโสดาบัน ได้สำเร็จ         ๒๗/๑๗๖๐๙
                ๕๐๘๔. สาละ, ต้น  เป็นไม้ต้น ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๓๕ เมตร เรือนยอดโปร่ง ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปขนานแกมรูปไข่ ดอกแบบช่อแยกแขนง แตกตามก้านใบ และปลายกิ่ง แตกแขนงไม่เป็นระเบียบ ดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีครีมขาว ผลแบบเปลือกแข็ง มีเมล็ดเดียว
                        สาละ เป็นไม้เนื้อแข็ง ใช้ในการก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรง และทนทาน เปลือกมีรสฝาดของแทนนิน มีผลในทางสมุนไพรรักษาแผล และอาการคัน จากการแพ้ นอกจากนี้ ต้นสาละยังมีชัน และน้ำมัน ปริมาณมาก ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม สารเคลือบมันชักเงาต่าง ๆ เช่นเดียวกับชัน จากต้นไม้ในสกุลยาง และสกุลเต็งรัง ชนิดอื่น ๆ
                        สาละ เป็นไม้สำคัญในพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับการประสูติ และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า             ๒๗/๑๗๖๑๖

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch