|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/156
๕๐๕๙. สัญชาติ คำว่า สัญชาติ ไม่ปรากฎคำนิยามในบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ในความเห็นตามที่ศาลยุติธรรม ระหว่างประเทศได้กล่าวไว้ในคดีหนึ่งว่า "สัญชาติ ได้แก่ สิ่งผูกพันทางกฎหมาย โดยมีพื้นฐานมาจากความผูกพันทางสังคม อันเกี่ยวข้องกับในด้านถิ่นที่อยู่แท้จิรง ผลประโยชน์และจิตใจของผู้ได้รับสัญชาติ ตลอดรวมทั้งสิทธิและหน้าที่ ที่บุคคลและรัฐผู้ให้สัญชาติมีต่อกัน และเอกชนผู้รับสัญชาติ มีการติดต่อกับบุคคลอื่น ซึ่งได้รับสัญชาติจากรัฐ" พจนานุกรมกฎหมายของออสบอร์น ให้ความหมายของคำนี้ไว้ว่า "สัญชาติ หมายความว่า ฐานะ หรือสถานะ อันเกิดขึ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของชาติ หรือรัฐใดโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งกำหนดสถานภาพ และความจงรักภักดี ทางการเมืองของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และสัญชาตินี้ อาจถูกกำหนดขึ้น โดยการเกิดการสืบสายโลหิต การแปลงสัญชาติ การยึดหรือเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือโดยเหตุแห่งการสมรส" ด้วยเหตุนี้ สัญชาติอันเป็นนามธรรม ซึ่งใช้เป็นสิ่งระบุสถานะ ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นคนในบังคับรัฐใดนั้น ย่อมก่อให้เกิดความผูกพันทางจิตใจ ระหว่างบุคคลนั้นกับรัฐ ที่ตนสังกัดอยู่ ทั้งทางด้านสังคมและการเมือง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์บางอย่าง อาจได้รับการกำหนดสัญชาติ เพื่อแสดงสถานะของความเป็นเจ้าของ หรือสังกัดของประเทศ ในสังหาริมทรัพย์นั้น ด้วยวัตถุประสงค์ในการให้ความคุ้มครอง หรือขจัดปัญหาเรื่องดินแดน ต่อการกระทำใด ๆ ภายในอาณาบริเวณแห่งสังหาริมทรัพย์นั้น เช่น การกำหนดให้สัญชาติแก่เรือ และเครื่องบิน ด้วยการจดทะเบียนสัญชาติ
สัญชาติ นอกจากเป็นสิ่งผูกพันระหว่างบุคคลกับรัฐแล้ว ยังเป็นที่มาของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อกำหนดสิทธิและหน้าที่ ระหว่างบุคคลกับรัฐ ซึ่งอยู่ในสังกัด ๒๗/๑๗๕๐๒
๕๐๖๐. สัญญา คำว่า สัญญา ไม่ปรากฎคำนิยามในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่อ่าน บทนิยามของคำว่า นิตกรรม แล้วอาจจะสรุปได้ว่า สัญญา คือ นิติกรรมหลายฝ่าย ซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคล ตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป แต่ละฝ่ายอาจเป็นบุคคลเดียว หรือหลายคนรวมกันเป็นฝ่ายเดียวกันก็ได้ ที่ได้ตกลงยินยอมในการก่อให้เกิดหนี้ขึ้น ซึ่งอาจเป็นหนี้ให้กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการใด ๆ
สัญญา จะต้องมีคู่สัญญาอย่างน้อยสองฝ่ายขึ้นไป โดยมีการแสดงเจตนาอันเป็นคำเสนอ คำสนองของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย ที่ตรงกันอันทำให้เกิดสัญญา และมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมาย
สัญญาต้องมีองค์ประกอบอันเป็นสาระสำคัญ สามประการ ได้แก่
- ประการที่หนึ่ง สัญญาต้องมีบุคคลผู้เป็นฝ่ายในสัญญา อย่างน้อยตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป เป็นหลักที่ไม่มีข้อยกเว้น
- ประการที่สอง ต้องมีการแสดงเจตนาตรงกัน
- ประการที่สาม ต้องมีวัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ ต้องไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัย หรือไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิฉะนั้น สัญญานั้นต้องตกเป็นโมฆะ ๒๗/๑๗๕๑๔
๕๐๖๑. สัตยาบัน คำ สัตยาบัน นี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายสองเรื่อง เรื่องแรก เกี่ยวกับหลักกฎหมายว่าด้วย นิติกรรมที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนเรื่องที่สอง เกี่ยวกับการทำสนธิสัญญา ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
สัตยาบัน ที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง การที่องค์การภายในของรัฐใด ซึ่งมีอำนาจทำให้รัฐนั้น ต้องถูกผูกพันตามสนธิสัญญา ได้ให้ความเห็นชอบในการทำสนธิสัญญานั้นเป็นการยืนยันว่าสนธิสัญญานี้ถูกต้องสมบูรณ์นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ การให้สัตยาบันสนธิสัญญาจึงจัดเป็นระเบียบวิธีการขั้นตอนหนึ่ง ในจำนวนสามขั้นตอนของหลักการทำสนธิสัญญาเต็มรูปแบบ ขั้นตอนที่หนึ่งคือการเจรจาข้อตกลงในสนธิสัญญา ขั้นตอนที่สองคือการลงนามสนธิสัญญา และขั้นตอนที่สามคือการให้สัตยาบันเพื่อยืนยันให้สนธิสัญญาสมบูรณ์ มีผลตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามในสนธิสัญญาบางเรื่องก็อาจไม่จำเป็นต้องมีการให้สัตยาบัน หากเป็นสนธิสัญญาที่มิได้ทำไป โดยเกินขอบเขตอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งรัฐนั้น หรือเป็นกรณีที่คณะผู้แทนเจรจาของรัฐใด ได้รับมอบอำนาจเด็ดขาดชัดแจ้ง ให้มีการตกลงได้โดยเร่งด่วน และไม่ต้องให้สัตยาบัน
หลักเกณฑ์การให้สัตยาบันโมฆียะกรรม และการให้สัตยาบันสนธิสัญญา
๑. การให้สัตยาบันโมฆียะกรรม หมายถึงการทำให้นิติกรรมกลับสมบูรณ์ สามารถกระทำได้กับนิติกรรมสมบูรณ์ สามารถกระทำได้กับนิติกรรมอันตกเป็นโมฆียะด้วยสาเหตุต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น
๒. การให้สัตยาบันสนธิสัญญา ความหมายของสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๖๙ ได้บัญญัติไว้ว่า สนธิสัญญาหมายถึง ความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งได้กระทำขึ้นระหว่างรัฐเป็นลายลักษณ์อักษร และอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ไม่ว่าจะปรากฎในตราสารฉบับเดียว หรือสองฉบับหรือตราสารที่เกี่ยวข้องกันมากกว่านั้นขึ้นไป และจะมีชื่อเรียกเฉพาะว่าอย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุนี้สนธิสัญญาตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างรัฐผู้มีอำนาจอธิปไตย เพื่อให้มีผลตามกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นความตกลงสองฝ่าย หรือหลายฝ่ายก็ได้เช่นสนธิสัญญา อนุสัญญา กฎบัตร ปฎิญญา และความตกลง
ตามความหมายอย่างกว้างของสนธิสัญญา ความตกลงระหว่างรัฐดังกล่าวมีผลบางประการได้ โดยไม่มีการจำกัดว่าความตกลงนี้ จะต้องผ่านแบบพิธีการให้สัตยาบันเลย อันทำให้ความตกลงมีผลตามกาฎหมายทันทีที่มีการลงนามหรือที่เรียกว่า "ความตกลงชนิดทำแบบย่อ"
โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศถือว่าการให้สัตยาบันสนธิสัญญาเป็นนิติกรรมอิสระ ที่กระทำด้วยใจสมัคร ด้วยเหตุนี้รัฐซึ่งเป็นคู่สัญญา จึงเป็นผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจ ซึ่งก่อให้เกิดผลที่ว่ารัฐคู่กรณีสัญญาอาจให้สัตยาบัน ตามระยะเวลาที่รัฐนั้นเห็นว่าเหมาะสมก็ได้ หรืออาจปฏิเสธการให้สัตยาบัน ตามข้ออ้างบางประการดังเช่น ผู้ได้รับมอบอำนาจทำสนธิสัญญาทำเกินขอบเขตที่ให้ไว้ก็ได้ หรืออาจให้สัตยาบัน โดยมีเงื่อนไขต่อสนธิสัญญาก็ได้
นอกจากนี้คำว่าการให้สัตยาบัน การยอมรับ การให้ความเห็นชอบ และภาคยานุวัติ โดยทั่วไปมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน อันหมายถึงการกระทำในทางกฎหมายระหว่างประเทศอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐได้ให้ความยินยอมเพื่อผูกพันตามสนธิสัญญา แต่การนำคำว่าการยอมรับ หรือการให้ความเห็นชอบมาใช้แทนคำว่าการให้สัตยาบัน ก็มีสาเหตุมาจากการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารของรัฐ หลีกเลี่ยงการบังคับใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติต้องให้ความยินยอม โดยการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญา
สนธิสัญญาจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันให้สัตยาบันแล้ว หากรัฐใดปฏิเสธการให้สัตยาบัน ก็ย่อมทำให้สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นอันไร้ผล แต่ในระหว่างที่สนธิสัญญายังไม่ได้ให้สัตยาบันหรือถูกปฎิเสธนั้น สนธิสัญญาดังกล่าวก็คงมีอยู่ เพียงแต่ไม่มีผลบังคับกันระหว่างรัฐผู้เป็นคู่สัญญา ๒๗/๑๗๕๒๔
๕๐๖๒. สันตะปาปา ดูโป๊ป - ลำดับที่ ๓๖๓๓
๕๐๖๓. สันสกฤต, ภาษา เป็นภาษาตระกูลอินโดยูโรเปียน (อินโดอารยัน) ซึ่งชนเผ่าอารยันนำมาใช้ในอินเดีย ภาษาในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู เป็นภาษาสันสกฤตที่เก่าที่สุด เรียกว่าไวทิกสันสกฤต ต่อมาสันสกฤตได้วิวัฒนาการสู่รูปแบบที่พบในมหากาพย์ คัมภีร์ธรรมศาสตร์ คัมภีร์ปุราณะ และวรรณคดีสมัยจักรวรรดิ์คุปตะ ภาษาสันสกฤตใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ในราชการ ในวรรณกรรม และตำราที่ทรงคุณค่ามาจนถึงสมัยที่มุสลิมเข้ามารุกราน และครอบครองดินแดนอินเดียส่วนหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาภาษาสันสกฤตก็ใช้กันมาน้อยลง แต่ปัจจุบันมีการรื้อฟื้นภาษาสันสกฤตซึ่งมีการสอนการใช้ในสถาบันการศึกษาชั้นสูง
สาเหตุที่ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่ไม่ตายก็เพราะมีความสำคัญต่อความเชื่อทางศาสนา ผู้ที่ศึกษาพระเวทจะต้องรอบรู้เวทางคศาสตร์หกวิชา วิชาดังกล่าวช่วยให้ภาษาสันสกฤตมีกฎเกณฑ์ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๑๐๐ ปาณินีได้สร้างตำราไวยากรณ์มาใช้กับภาษานี้ ซึ่งปาณินีเริ่มเรียกว่า สันสกฤต หมายความว่า ประกอบขึ้นอย่างประณีต ถูกต้อง และสมบูรณ์ เพื่อให้ต่างจากภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน ซิ่งมิได้อิงไวยากรณ์มากนัก และออกเสียงต่างกันไป ปาณินีเรียกภาษาชนิดนี้ว่า ปรากฤต หมายความว่าเป็นไปตามธรรมชาติ ภาษาปรากฤตนี้ต่อมาก็ได้วิวัฒนาการเป็นภาษาของแคว้นหรือภูมิภาคต่าง ๆ เช่นภาษาฮินดีใช้กันมากในภาคเหนือของอินเดีย ภาษาเบงกาลีหรือบังคลาในรัฐเบงกอลและบังคลาเทศ
ภาษาสันสกฤต เข้ามามีอิทธิพลต่องภาษาไทยควบคู่กับภาษาบาลี ภาษาไทยจึงมีศัพท์บาลีสันสกฤตปนอยู่จำนวนไม่น้อยแม้ในปัจจุบัน ตัวอักษรไทยมีพื้นฐานมาจากตัวอักษรเทวนาครีที่ใช้กับภาษาบาลีและสันสกฤต เราสามารถใช้ตัวอักษรไทยปัจจุบันเขียนคำบาลีสันสกฤตได้อย่างถูกต้องตรงตามอักษรเทวนาครี แต่มักออกเสียงไม่ตรงกับภาษาเดิม ๒๗/๑๗๕๔๐
๕๐๖๔. สันหลังอักเสบ, ไข้ ดู โปลิโอ - ลำดับที่ ๓๖๔๒ ๒๗/๑๗๕๔๗
๕๐๖๕. สับปะรด เป็นชื่อไม้ล้มลุก ชื่ออื่น ๆ ได้แก่ ยานัด หมากขะนัด
สับปะรด จัดเป็นพืชถาวรเป็นไม้เนื้ออ่อน ใบเลี้ยงเดี่ยว มีลำต้นรวม พุ่มใบสูง ใบแคบรูปร่างคล้ายดาบ ขอบใบอาจเรียบ หรือมีหนามปลายใบแหลม เนื้อใบเหนียว มีเส้นใยมาก ลำต้นเป็นแบบต่อเนื่อง แบบเกลียววน จากโคนลำต้นสู่ยอด ช่อดอกเกิดที่ส่วนยอดของลำต้น ประกอบด้วย ดอกย่อยจำนวนนับร้อยดอก กลีบดอกสีม่วงอมแดง หรือสีน้ำเงินอมม่วง ผลจัดเป็นผลรวมเกิดจากการเชื่อมตัว ของรังไข่ของผลย่อยที่อยู่ติดกัน ผลรวมนี้จะมีจุกติดอยู่ที่บริเวณยอด เกิดจากใบที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ หลังจากผลอ่อนพัฒนาขึ้นได้ระยะหนึ่ง เนื้อสับปะรดภายในผลมีสีขาวอมเหลือง สีครีม สีเหลืองเข้ม
สับปะรด ในประเทศไทยได้มีผู้นำเข้ามาจากต่างประเทศ ในรัชสมัยพระนารายณ์ ฯ มีปลูกกันแล้ว ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ และอเมริกากลาง ๒๗/๑๗๕๔๗
๕๐๖๖. สัปปุริสธรรม คือ ธรรมของสัตบุรุษ หรือคุณสมบัติของคนดี พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค และเล่มที่ ๒๓ อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต แสดงสัปปุริสธรรมเจ็ดประการ ดังต่อไปนี้
๑. ความรู้จักเหตุ (ธัมมัญญุตา) คือ รู้ว่าเมื่อทำเหตุเช่นนี้แล้ว ผลจะออกมาอย่างไร
๒. ความรู้จักผล (อัตตถัญญุตา) คือ รู้ว่าผลเช่นนี้เกิดขึ้นจากเหตุเช่นไร ผลกับเหตุจะไม่ขัดแย้งกัน เปรียบเหมือนรวงข้าว ก็จะเกิดกับต้นข้าวเท่านั้น
๓. ความรู้จักตน (อัตตัญญุตา) คือ รู้ว่าตน มีฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความสามารถ คุณธรรม เป็นต้น เป็นอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็ประพฤติให้เหมาะสม และพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงด้วย
๔. ความรู้จักประมาณ (มัตตัญญุตา ) คือ รู้จักความพอดี พอเหมาะ พอควร
๕. ความรู้จักกาล (กาลัญญุตา) คือ รู้เวลาไหน ควรทำอะไร รู้จักเลือกใช้เวลาให้เหมาะ ให้ควรกับเหตุการณ์ เป็นต้น
๖. ความรู้จักบริษัท (ปริสัญญุตา) คือ รู้จักชุมชน รู้จักที่ประชม ตลอดจนกิริยาอาการ ที่จะแสดงออกต่อชุมชนนั้น ๆ
๗. ความรู้จักบุคคล (ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา) คือ รู้ว่าบุคคลมีอัธยาศัย ความสามารถ คุณธรรม เป็นต้น อย่างไร เมื่อรู้ก็ปฎิบัติตามสมควร
ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ แสดงสัปปุริสธรรม อีกลักษณะหนึ่งว่ามีแปดประการคือ
๑. ประกอบด้วยสัทธรรม เจ็ดประการคือ
๑.๑ มีความศรัทธา (ความเชื่อ)
๑.๒ มีหิริ (ความละอายต่อบาป)
๑.๓ มีโอตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป)
๑.๔ เป็นพหูสูต (ได้ยินได้ฟังมามาก)
๑.๕ มีความเพียรอันปรารภแล้ว (มุ่งมั่นทำความเพียร)
๑.๖ มีสติตั้งมั่น
๑.๗ มีปัญญา
๒. คบสัตบุรุษ คือ คบหาสมาคมกับผู้ที่ประกอบด้วยสัทธรรมเจ็ดประการ ข้างต้น
๓. คิดอย่างสัตบุรุษ คือ จะคิดอะไร คิดสิ่งใด ไม่คิดเพื่อที่จะเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น
๔. ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ คือ ไม่ปรึกษา เพื่อจะเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น
๕. พูดอย่างสัตบุรุษ คือ พูดแต่คำพูดที่ถูกตามวจีสุจริต
๖. ทำอย่างสัตบุรุษ คือ ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องตามกายสุจริต
๗. มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือ มีสัมมาทิฎฐิ
๘. ให้ทานอย่างสัตบุรุษ ๒๗/๑๗๕๕๕
๕๐๖๗. สัมปทาน คือ ข้อตกลงระหว่างรัฐกับเอกชน อาจแบ่งออกได้เป็นสามรูปแบบคือ สัมปทานบริการสาธารณ สัมปทานโยธาสาธารณ และสัมปทานการจัดทำประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติ ๒๗/๑๗๕๕๘
๕๐๖๘. สัมหิตา เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า รวม รวบรม หรือประมวล ใช้เป็นชื่อหนังสือรวบรวม มันตระ หรือบทสวด ที่เรียกกันว่า พระเวทของศาสนาพราหมณ์ เพื่อสะดวกในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ มีสี่สัมหิตา ได้แก่ ฤคสัมหิตา ยชุรสัมหิตา สามสัมหิตา และ อถรรพสัมหิตา แต่โดยทั่วไปมักเรียกว่า ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และ อถรรพเวท ๒๗/๑๗๕๖๓
๕๐๖๙. สาเก เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๒๐ เมตร เรือนยอดแผ่กว้างเป็นพุ่มทึบ ทุกส่วนที่สด จะมียางเหนียวสีขาว ใบเดี่ยวชนิดเรียงเวียน ค่อนข้างชิดกันบริเวณใกล้ปลายกิ่ง ทรงใบรูปรีถึงรูปไข่ ดอกแยกเพศต่างช่อ แต่อยู่ในต้นเดียวกัน ช่อดอกเป็นช่อแบบกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ผลเป็นแบบผลรวมที่เกิดจากผลย่อย เล็ก ๆ มาเรียงอัดเป็นเนื้อเดียวกัน ผลรวมทรงรูปค่อนข้างกลม หรือรี ผิวผลเป็นปุ่มปมสีเขียว อมเหลือง
เนื้อของผลสาเกอ่อน นิยมนำมาเชื่อมน้ำตาลเป็นของหวาน เปลือกลำต้น ใช้เป็นยาในการคลอดบุตร และมีฤทธิ์กระตุ้นความกำหนัด นำมาต้มใช้ชะแผล ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง ยางใช้เป็นยาแก้บิด เปลือกจากรากใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง และโรคบิด ขี้เถ้าจากใบผสมกับน้ำมันมะพร้าว และข่า ใช้ทาแก้โรคผิวหนังแก้โรคเริม ดอกนำมาเผาใช้ถูเหงือก แก้ปวดฟัน เนื้อผลแก้ไอ เมล็ดเป็นยาแก้โรคไทฟอย์ด และแก้ไข้ ๒๗/๑๗๕๖๕
๕๐๗๐. สาคู, ต้น เป็นชื่อเรียกพวกหมาก หรือปาล์มบางชนิดที่ขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ พบขึ้นตามธรรมชาติทางภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อใช้แป้งจากลำต้นเป็นอาหารของคน และสัตว์เลี้ยง แต่เดิมใช้กันอย่างแพร่หลาย ต่อมาใช้น้อยลง จนกลายเป็นพืชปลูกประดับ และปลูกเพื่อกันตลิ่งพัง เท่านั้น
สาคู เป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่งในวงศ์ปาล์ม ลำต้นเกิดจากเหง้าขนาดใหญ่ ใต้ผิวดินแทงยอดจากตาเหง้า ออกทางด้านข้างของต้นแม่ต่อ ๆ กัน ทำให้เกิดเป็นกลุ่มใหญ่ ต้นที่เจริญเต็มที่สูงได้ถึง ๑๕ เมตร ก้านช่อใบ หรือทางใบคล้ายก้านช่อใบของมะพร้าว แต่ใหญ่และยาวกว่า มีใบย่อยรูปรี ติดเรียงเป็นแถวไม่น้อยกว่าข้างละ ๖๐ ใบ ช่อดอกจะแทงช่อขึ้นที่ปลายสุดของลำต้น ช่อขนาดใหญ่ตั้งตรงขึ้นเหนือกลุ่มใบ ประกอบด้วยช่อแขนงแยกออกทางด้านข้างใบ แนวที่เกือบตั้งฉากกับแกนช่อใหญ่ และช่อแขนงยังแยกเป็นช่อย่อย ผลออกรวมเป็นช่อ ที่เรียกว่า ทะลาย มีผลรูปร่างค่อนข้างกลม ผิวผลเป็นเกล็ดเล็ก ๆ เป็นมัน หุ้มประสาน เมื่อแก่จัดออกสีเหลืองแกมเขียว
นอกจาก สาคูจะให้แป้ง เพื่อการบริโภคแล้ว เปลือกของลำต้นที่แข็งพอสมควร ใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง ภายในร่มได้ ใบใช้มุงหลังคาแทนใบจาก ๒๗/๑๗๕๖๙
๕๐๗๑. สางขยะ ชื่อปรัชญาอินเดีย สำนักหนึ่งในหกสำนัก ที่เรียกว่า ษัฑทรรศนะ ปรัชญาสำนักนี้ ฤาษีกปิละ เป็นผู้ก่อตั้งและเจริญควบคู่มากับสำนักปรัชญาโยคะของปตัญชลี สางขยะ เน้นหนักทางด้านอภิปรัชญา ส่วนโยคะเน้นทางด้านจริยศาสตร์ โดยเฉพาะการปฎิบัติโยคะ เพื่อให้เข้าถึงโมกษะ (การหลุดพ้น) สางขยะ ยอมรับวิธีการด้านปฎิบัติของโยคะ ส่วนโยคะยอมรับหลักการทางอภิปรัชญาของสางขยะ
สางขยะ เป็นปรัชญาทวินิยม ที่เชื่อว่าสัจภาพ หรือสิ่งแท้จริงสูงสุด มีสองอย่างคือ ประกฤติ และปุรุษะ โดยอธิบายว่า ประกฤติ เป็นธาตุมูลฐานแห่งสิ่งทั้งปวงที่เป็นวัตถุ ส่วนปุรุษะ เป็นตัวตนที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิตที่มีจิตทุกชนิด เนื้อทิ้งแท้จริงสูงสุด สองอย่างนี้มารวมกัน จะทำให้เกิดวิวัฒนาการของสิ่งต่าง ๆ
ประกฤติ เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ และดำรงอยู่ชั่วนิรันดร ส่วนสิ่งที่เกิดจากประกฤติ เป็นสิ่งไม่เที่ยง ประกฤติ มีการเปลี่ยนแปรสองอย่างอยู่ตลอดเวลาคือ การเปลี่ยนแปลงเชิงวิวัฒน์ และการเปลี่ยนแปรเชิงประลัย
ปุรุษะ มีจำนวนนับไม่ถ้วน เป็นวิญญาณบริสุทธิเทียบได้กับ ชีวาตมัน ของปรัชญาฮินดู สำนักอื่น ๆ หรือกับ ชีวะ ของศาสนาเชน ปุระษะเป็นสิ่งมีสัมปชัญญะ หรือเป็นตัวผู้รู้ และเป็นพื้นฐานแห่งความรู้ทั้งปวง แต่เป็นสิ่งปราศจากกัมมันตภาพ ส่วนประกฤติ เป็นสิ่งมีกัมมันตภาพ แต่ปราศจากสัมปชัญญะ ทั้งสองสิ่งจำเป็นต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
จุดมุ่งหมายสูงสุดของสางขยะ ก็คือ การเข้าถึงโมกษะ เช่นเดียวกับปรัชญาฮินดูสำนักอื่น ๆ สางขยะถือว่า ปุรุษะ ไม่เคยติดข้อง เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องหลุดพ้น การติดข้องและหลุดพ้น เป็นเรื่องของประกฤติ ในรูปแบบต่าง ๆ เท่านั้น ๒๗/๑๗๕๗๑
๕๐๗๒. สาธารณสุข, กระทรวง มีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน ควบคุม และประสานกิจกรรมทุกประเภท ที่เกี่ยวกับสุขภาพกายและจิต ตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชน และการจัดให้มีบริการสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข เดิมชื่อ กรมพยาบาล ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ เพื่อให้ควบคุมดูแลกิจการศิริราชพยาบาล สืบแทนคณะกรรมการสร้างโรงพยาบาลวังหน้า กรมพยาบาล มีหน้าที่จัดการศึกษาวิชาแพทย์ ควบคุมโรงพยาบาลอื่นๆ และจัดการปลูกฝี ให้แก่ประชาชน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๒ กรมพยาบาลก็ย้ายมาสังกัด ในกระทรวงธรรมการ เริ่มมีแพทย์ประจำเมืองขึ้นในบางแห่ง มีการนำยาตำราหลวงออกจำหน่าย และตั้งกองแพทย์ไปป้องกันโรคระบาด
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๘ ได้ยุบกรมพยาบาล และให้โรงพยาบาลอื่น ที่สังกัดกรมพยาบาล ไปขึ้นกระทรวงนครบาล ปี พ.ศ.๒๔๕๕ กระทรวงมหาดไทย ขอตั้งกรมพยาบาลขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น กรมประชาภิบาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ และรวมงานสุขาภิบาลเข้าไว้ด้วย ปี พ.ศ.๒๔๖๑ เปลี่ยนชื่อเป็น กรมสาธารณสุข ปี พ.ศ.๒๔๘๕ ได้สถาปนากระทรวงสาธารณสุข ขึ้น ๒๗/๑๗๕๗๖
|
Update : 27/5/2554
|
|