หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/155
    ๕๐๔๖. สังข์ หอย  เป็นชื่อหอยทะเลกาบเดี่ยวหลายชนิด หลายสกุล มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ที่รู้จักกันทั่วไปได้แก่
                        ๑. สังข์อินเดีย หรือสังข์รดน้ำ เมื่อโตเต็มที่จัดเป็นหอยขนาดใหญ่ เปลือกหนา รูปเปลือกค่อนข้างป้อม วงเกลียวตัวกลม ส่วนปลายมีร่องยาวปานกลาง ส่วนยอดเตี้ย ช่องเปลือกรูปรี เปลือกชั้นรองลงไปเป็นส่วนที่มีความหนาและแข็งค่อนข้างเรียบ สีขาวนวลหรือสีขาวอมชมพู หอยชนิดนี้อาศัยอยู่ตามท้องทะเล ที่พื้นเป็นทราย
                       เปลือกหอยทะเลโดยทั่วไปมีลักษณะเวียนขวา แต่มีหอยบางตัวที่สร้างเปลือกแบบเวียนซ้าย สำหรับสังข์อินเดียที่มีลักษณะเวียนซ้ายพบน้อยและหายาก ชาวฮินดูถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคล        ๒๗/๑๗๔๒๓
                        ๒. สังข์แตร เป็นหอยขนาดใหญ่ เปลือกค่อนข้างหนา รูปเปลือกยาวรี ตอนกลางซึ่งเป็นวงเกลียวตัวใหญ่สุด ส่วนยอดเป็นทรงเจดีย์ปลายแหลม ร่องเปลือกกว้างเป็นรูปวงรี มีผิวนอกของเปลือกเป็นมัน มีลายรูปพระจันทร์เสี้ยวพื้นเป็นสีนวล
                        ๓. สังข์กริช หรือสังข์บิด เป็นหอยขนาดกลาง เปลือกหนา รูปเปลือกค่อนข้างยาว ส่วนปลายมีร่องและบิดงอคล้ายกริช        ๒๗/๑๗๔๑๕
                ๕๐๔๗. สังข์ทอง  เรื่องที่ปรากฎอยู่ในปัญญาสชาดกเรียกว่าสุวัณสังข์ชาดก ในสมัยอยุธยาได้มีผู้นำเรื่องสังข์ทองมาแต่งเป็นบทละคร มีฉบับตกทอดมาถึงปัจจุบันเพียงเล่มเดียวคือเล่มสาม ดำเนินเรื่องตั้งแต่ท้าวสามนต์มีรับสั่งใช้ให้นางมณฑาออกไปที่กระท่อมปลายนา อ้อนวอนให้เจ้าเงาะไปตีคลีกับพระอินทร์ได้ชัยชนะ ท้าวสามลมอบราชสมบัติให้จนถึงท้าวยศวิมลสั่งให้ประหารชีวิตนางจันทา และผู้ร่วมคิดกลอุบายขับไล่พระมเหสีไปจากเมือง แล้วเสด็จไปรับพระมเหสีคือ นางจันท์เทวีกลับเข้าเมือง จากนั้นทั้งสององค์ก็เสด็จไปยังเมืองของท้าวสามนต์ ในขณะที่พระสังข์ทรงกำลังเสด็จเลียบเมือง        ๒๗/๑๗๔๒๕
                ๕๐๔๘. สังข์ศิลป์ชัย  เป็นนิทานที่เล่ากันสืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีเนื้อเรื่องยีดยาว  โดยมีสังข์ศิลป์ชัย เป็นตัวเอกของเรื่อง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ขณะดำรงพระอิสริยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ ได้ทรงพระนิพนธ์บทละครนอกเรื่องสังข์ศิลปชัยรวมเป็นหนังสือสองเล่มสมุดไทย ดำเนินเรื่องเป็นสองตอนคือตอนสังข์ศิลปชัยตกเหว และตอนท้าวเสนากุฎเข้าเมือง        ๒๗/๑๗๔๓๑
               ๕๐๔๙. สังคมศาสตร์  เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์และสังคม โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ศึกษาเฉพาะปรากฎการณ์ที่ประจักษ์ได้ รู้ได้แน่นอนด้วยประสาทสัมผัส หรือผ่านเครื่องมือที่สามารถทดลอง หรือเก็บข้อมูลได้ ทำให้สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสภาพความเป็นจริง มีการวิเคราะห์ และแปลความหมายของข้อมูล มีการวางนัยทั่วไป คือสรุปความรู้เป็นแนวคิด ทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์ พร้อมที่จะให้พิสูจน์ยืนยันว่าตรงกับความเป็นจริงได้
                        สังคมศาสตร์เริ่มมีการศึกษากันอย่างจริงจังในยุโรปหรือการปฏิวัติในฝรั่งเศสและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในต้นคริสต์วรรษที่สิบเก้า คำว่าสังคมศาสตร์มาจากภาษาลาตินหมายถึงการรวมกันหรือการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
                        สาขาที่จัดว่าอยู่ในหมวดสังคมศาสตร์ดังเดิมคือ
                        ๑. สังคมวิทยา  เป็นสาขาที่มีลักษณะทั่วไปมากที่สุดคือศึกษาสังคม ทั้งระบบเพื่อดูโครงสร้าง กลไก การทำงานทุกส่วนของสังคมโดยละเอียด
                        ๒. รัฐศาสตร์  เป็นสาขาที่ครอบคลุมทั้งด้านการเมือง การปกครอง แและการบริหารเน้นความรู้เกี่ยวกับรูปแบบต่าง ๆ ของรัฐและรัฐบาล ลัทธิการเมืองที่เป็นแม่บทของระบอบการปกครอง
                        ๓. เศรษฐศาสตร์  เป็นสาขาที่ศึกษามนุษย์ในแง่การต่อสู้ทางวัตถุ เพื่อการดำรงอยู่ และถือว่าปัจจัยต่าง ๆ ทางสังคม ทางวัฒนธรรม ทางจิตวิทยา สังคม และทางการเมือง อยู่นอกขอบเขตการวิเคราะห์ของตน เพราะเศรษฐศาสตร์มุ่งเน้นที่จะศึกษา เกี่ยวกับการผลิต การซื้อขายแลกเปลี่ยน การเงิน การธนาคาร การคลัง การกระจายทรัพย์สิน และรายได้ในสังคม
                        ๔. จิตวิทยา  เป็นสาขาที่ศึกษาพฤติกรรมของบุคคล มุ่งความสนใจไปที่กระบวนการต่าง ๆ ภายในจิตใจของบุคคลเกี่ยวข้องกับการรับรู้ ความเชื่อ จิตสำนึก จิตใต้สำนึก แรงจูงใจ ความต้องการของมนุษย์ ความกดดัน ความคับข้องใจ อารมณ์ บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยอันมีผลต่อพฤติกรรม โดยเฉพาะจิตวิทยาสังคม ซึ่งเป็นสาขาทางจิตวิทยา ที่เน้นศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชน สมาชิกกลุ่ม การเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม อิทธิพลของกลุ่มต่อพฤติกรรมของบุคคล การรวมกลุ่ม การปลุกระดม การโฆษณาชวนเชื่อ ทัศนคติ อคติ ของบุคคลที่มีความสัมพันธ์ต่อปัจจัยทางสังคม และผู้นำ เป็นต้น
                        ๕. มนุษยวิทยาสังคม หรือมานุษยวิทยาวัฒนธรรม  เป็นสาขาที่ศึกษาลักษณะต่าง ๆ ทางร่างกายของมนุษย์ เพื่อแบ่งประเภทเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ มีส่วนสัมพันธ์ใกล้เคยงกับสังคมวิทยา
                        สาขาต่าง ๆ ของสังคมศาสตร์ได้ขยายกว้างออกไป ครอบคลุมศาสตร์สาขาต่าง ๆ เช่น ภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ นิติศาสตร์  การศึกษา สังคมศาสตร์ประยุกต์ต่าง ๆ
                ๕๐๕๐. สังคโลก, เครื่อง  เป็นคำเรียกเครื่องถ้วย เฉพาะที่ผลิตที่ จ.สุโขทัย ในระหว่างพระพุทธศตวรรษที่สิบแปด ถึงต้นพระพุทธศตวรรษที่ยี่สิบสอง เป็นที่เลือนมาจากชื่อ เมืองสวรรคโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งใน จ.สุโขทัย แหล่งเตาเผาเครื่องสังคโลกที่สำคัญ เช่น เตาที่เมืองสุโขทัยเก่า เตาศรีสัชนาลัย เตาบ้านชีปะขาวหาย เตาวัดพระปรางค์ บ้านชันสูตร
                        ลักษณะของเตาเผา เครื่องสังคโลกเป็นเตากูบ ก่อสร้างด้วยอิฐบ้าง ด้วยดินบ้าง บางเตาก็เสริมความแข็งแกร่งด้วย การใช้กี๋ท่อ อัดก่อเข้าไปด้วย เตากูบนี่แบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ด้านหน้าที่เป็นที่ใส่ไฟ ตอนกลางเป็นที่ตั้งภาชนะเข้าเผา ตอนท้ายเป็นส่วนของปล่องไฟ ใช้ระบายความร้อนและควัน
                        วัสดุที่ใช้ประกอบการเผาเครื่องสังคโลก ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน และตกแต่งลวดลายเสร็จแล้ว พร้อมที่จะนำไปเผานั้น จะวางซ้อนอยู่ยนกี๋ท่อ ซึ่งต้องฝังแน่นอยู่บนพื้นเตา
                        เครื่องสังคโลก มีหลายรูปแบบต่างกันไปตามจุดประสงค์ของการนำมาใช้ เช่น
                            ๑. วัตถุที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มีการสร้างเป็นพระพุทธรูป พระสาวก สถูปเจดีย์จำลอง ฯลฯ
                            ๒. เครื่องประดับตกแต่ง สถาปัตยกรรม เช่น ทวารบาล กระเบื้องมุงหลังคา ช่อฟ้า หางหงส์ บราลี ลูกกรง ราวบันได ที่ครอบอกไก่ กระเบื้อง เชิงชาย และเครื่องประดับส่วนอื่น ๆ
                            ๓. ภาชนะใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น จาน ชาม ถ้วย ขวด โถ คนโท คนที หม้อน้ำ ตลัด ตะเกียง ฐานเชิง กระปุก
                            ๔. ตุ๊กตาของเล่น หรือของใช้ในพิธีกรรมในหลายรูปแบบ
                         เนื้อดินปั้นของเครื่องสังคโลก เป็นประเภทเนื้อแกร่ง หรือเครื่องถ้วยหิน       ๒๗/๑๗๔๔๕
                ๕๐๕๑. สังคหวัตถุ  เป็นชื่อหลักธรรมหมวดหนึ่งของพระพุทธศาสนา หมายถึง หลักการสงเคราะห์คือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของกันและกัน ทำให้ปัจเจกบุคคลเกิดความรัก ความผูกพัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทำให้สังคมเกาะกุมประสานกัน ดำเนินไปด้วยดีเหมือนลิ่มสลักเกาะยึด เครื่องรถที่กำลังแล่นไปให้คงเป็นรถ แล่นไปได้ด้วยดี
                        สังคหวัตถุ  มีสี่อย่าง ได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา
                            ๑. ทาน  แปลว่า การให้ คือ ให้ของ ของเราแก่ผู้อื่น รวมถึงการให้อภัย ที่เรียกว่า อภัยทาน และให้คำแนะนำ สั่งสอน ที่เรียกว่า ธรรมทาน
                            ๒. ปิยวาจา  แปลว่า วาจาที่น่ารัก คือ คำสุภาพอ่อนหวาน ไพเราะน่าฟัง ทำให้ผู้ฟัง ฟังแล้วพอใจ ชอบใจ เกิดความรัก ความประทับใจ ในผู้พูด
                            ๓. อัตถจริยา  แปลว่า การประพฤติประโยชน์ คือ ทำตนให้เป็นคนมีประโยชน์ และทำสิ่งที่มีประโยชน์ มีความมุ่งหมายเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น
                            ๔. สมานัตตตา  แปลว่า ความเป็นผู้มีตนเสมอ คือ วางตนเสมอต้น เสมอปลาย วางตนให้เหมาะสมกับสถานภาพ มีฐานะอย่างไรก็วางตนให้เหมาะสมกับฐานะนั้น       ๒๗/๑๗๔๕๐
                ๕๐๕๒. สังคายนา  มีบทนิยามว่า "การซักซ้อม"  การสวดพร้อมกัน และเป็นแบบเดียวกัน การประชุมชำระพระไตรปิฎก ให้เป็นแบบเดียวกัน " การสังคายนา ในพระพุทธศาสนา มีความมุ่งหมายเพื่อรักษาพระธรรมวินัย ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เหมือนเดิม เพราะพระธรรมวินัยเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ตราบใดที่พระธรรมวินัยยังคงอยู่ ตราบนั้น พระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่
                        การสังคายนา เกิดขึ้นตามพระดำรัสของพระพุทธเจ้า ที่คณะสงฆ์ได้รับมาปฎิบัติสืบทอดกันมา เมื่อเกิดเหตุการณ์จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะฝ่ายเถรวาท สามารถรักษาความบริสุทธิ์บริบูรณ์ไว้ได้
                        พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักการและหลักธรรม ที่ควรสังคายนาไว้ใน ปาสาทิกสูตร คัมภีร์ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑) ดังนี้
                            ๑.  พร้อมเพรียงกันประชุม
                            ๒.  สอบทานอรรถกับอรรถ
                            ๓.  สอบทานพยัญชนะกับพยัญชนะ
                            ๔.   อย่าทะเลาะวิวาทกัน
                            ๕.  ถ้าภิกษุใด ทรงจำอรรถและพยัญชนะมาผิด หรือถูก อย่าเพิ่งชื่นชม อย่าเพิ่งยอมรับหรือคัดค้าน แต่ควรร่วมกันพิจารณาตรวจสอบให้ดีก่อน
                        หลักธรรมที่ควรสังคายนา ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม (ธรรมที่เป็นฝ่ายแห่งความตรัสรู้)  สามสิบเจ็ดประการ ประกอบด้วย สติปัฎฐานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด และอริยมรรค มีองค์แปด
                        ต้นแบบการสังคายนาพระธรรมวินัย พระสารีบุตรได้แสดงวิธีการสังคายนา ปรากฎอยู่ในสังคีติสูตร คัมภีร์ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค ซึ่งได้รวบรวมพระธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในที่ต่าง ๆ มาจัดเป็นหมวด ๆ ตั้งแต่หมวดละหนึ่งข้อ จนถึงหมวดละสิบข้อ นับเป็นแบบของการสังคายนา พระธรรมวินัยในสมัยต่อมา
                       การสังคายนาครั้งที่หนึ่ง  หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้สามเดือน ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระอรหันต์เข้าร่วมประชุมห้าร้อยรูป โดยมีพระมหากัสสปเถระ ผู้มีพรรษาสูงสุด ในขณะนั้น เป็นประธาน และทำหน้าที่เป็นผู้ถาม มีพระเจ้าอชาติศัตรู เป็นศาสนูปถัมภก พระอุบาลีเถระ ผู้ชำนาญพระวินัย เป็นผู้วิสัชนา (ตอบ)  พระวินัย เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน พระสงฆ์ทั้งปวงจึงสวดสิกขาบทนั้น ขึ้นพร้อม ๆ กัน เมื่อสังคายนาพระวินัยจบแล้ว  พระอานนท์ ผู้เป็นพระพุทธอุปัฎฐาก และเป็นพหูสูตรทรงจำพระธรรมวินัยได้มาก เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม
                        การสังคายนาครั้งที่หนึ่ง ทำอยู่เจ็ดเดือน เมื่อเสร็จแล้ว พระอรหันต์ห้าร้อยรูป ผู้ร่วมสังคายนาได้มีมติ มอบหมายการรับผิดชอบ เพื่อธำรงรักษา และสืบทอด ดังนี้ พระวินัยปิฎก มอบให้พระอุบาลี รับไป พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มอบให้พระอานนท์ รับไป พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มอบให้ศิษย์ทั้งหลายของพระสารีบุตร รับไป พระสุตตันตกปิฎก สังยุตนิกาย มอบให้พระมหากัสสปะ รับไป พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย มอบให้พระอนุรทธะ รับไป พระสุตตันตปิฎก ขุทกนิกาย ส่วนที่เป็นพระพุทธวงศ์ และจริยปิฎก มอบให้ศิษย์ทั้งหลายของพระสารีบุตร รับไป นอกจากนั้น มอบให้พระอานนท์ รับไป
                       การสังคายนาครั้งที่สอง  ปรารภพวกภิกษุ วัชชีบุตร แสดงวัตถุสิบประการ นอกธรรม นอกวินัย พระยศถากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวน ได้พระอรหันต์เจ็ดร้อยรูป พระเรวตะ เป็นผู้ถาม พระสัพพกามี เป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี เมื่อปี พ.ศ.๑๐๐ โดยพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก อยู่แปดเดือน จึงเสร็จ
                       การสังคายนาครั้งที่สาม ปรารถเดียรถีย์มากมาย ปลอมบวชในพระศาสนา เพราะมีลาภสักการเกิดขึ้น พระอรหันต์หนึ่งพันรูป มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน ประชุมทำที่อโศการาม เมืองปาฎลีบุตร เมื่อประมาณปี พ.ศ.๓๐๐ โดยมีพระเจ้าอโศก ฯ เป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่เก้าเดือนจึงเสร็จ การสังคายนาครั้งนี้ได้จัดแบ่งหมวดหมู่ พระธรรมวินัยออกเป็นสามปิฎก โดยมีพระอภิธรรมปิฎกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จึงครบไตรปิฎก
                       การสังคายนาครั้งที่สี่  ทำในประเทศศรีลังกา ปรารภในพระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป มีพระมหินทเถระ เป็นประธาน และเป็นผู้ถาม พระอริฎฐะ เป็นผู้วิสัชนา กระทำที่ ถูปวราม เมืองอนุราธบุรี เมื่อปี พ.ศ.๓๐๓ โดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่สิบเดือน จึงเสร็จ
                       การสังคายนาครั้งที่ห้า  ทำในประเทศศรีลังกา ปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็นสองพวก และคำนึงว่า พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระสาวกทั้งหลายได้ทรงจำสืบต่อ ด้วยวิธีมุขปาฐะ (ท่องจำกันมา ด้วยปากเปล่า)  ไม่ได้เรียนไว้สืบไป ภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญา ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พระอรหันต์ห้าร้อยรูป จึงประชุมกันสวดซ้อม แล้วจารึกพระพุทธพจน์ ลงในใบลาน ณ อาโลก เลณสถาน ในมลยชนบท เมื่อปี พ.ศ.๔๕๐ โดยพระเจ้าวัฎฎคามมุณีอภัย เป็นศาสนูปถัมภก
                        หลังจากการสังคายนาครั้งที่ห้า ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา แบบเถรวาท ก็ได้ไปรับคัมภีร์ที่จารึกพระไตรปิฎก จากศรีลังกามายังประเทศของตน แล้วคัดลอกจารึกสืบต่อกันมา เป็นเวลายาวนานนับพันปี พระไตรปิฎกฉบับที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงแพร่หลายไปยังนานาประเทศ ที่นับถือพระพุทธศาสนา ต่อมาพุทธศาสนิกชนแต่ละประเทศ ได้แปลพระไตรปิฎกภาษาบาลี สู่ภาษาของตน
                       การสังคายนาในประเทศไทย  มีหลักฐานยืนยันว่า พระสงฆ์ในล้านนาได้ไปรับพระไตรปิฎก อักษรเขียนพร้อมทั้งวิธีเขียนจากลังกา ได้คัดลอกจารึกลงใบลานสืบต่อมา ต่อมาเมื่อพบว่ามีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน เกิดจากการคัดลอกต่อๆ กัน จึงได้ทำสังคายนาสอบทานเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๐ ที่เชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงได้มีการทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ ทำอยู่ห้าเดือนเสร็จ ได้จารึกด้วยอักษรขอม ลงในใบลานปิดทองทับ เรียกพระไตรปิฎกฉบับนี้ว่า ฉบับทอง ใช้เป็นต้นฉบับเก็บไว้ในหอมณเทียระรรม และได้คัดลอกไปถวายวัดต่าง ๆ เพื่อใช้ศึกษากันต่อมา จนได้จัดพิมพ์ด้วยอักษรไทยเป็นเล่มหนังสือ
                        การจัดพิมพ์พระไตรปิฎก เผยแผ่เป็นเล่มหนังสือ ในประเทศไทยนั้น ดำเนินมาโดยลำดับคือ จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ ครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ ครั้งที่สาม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ ฉบับบาลีชุดนี้เรียกว่า ฉบับสยามรัฐ
                        ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ คณะสงฆ์ได้จัดให้การแปลพระไตรปิฎก เป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการ ต่อมาได้จัดพิมพ์อีกสี่ครั้ง ในปี พ..ศ.๒๕๑๔, ๒๕๒๑, ๒๕๒๕ และ พ.ศ.๒๕๓๐       ๒๗/๑๗๔๕๒
                ๕๐๕๓. สังฆทาน  คือ ทานเพื่อสงฆ์ การถวายของแก่สงฆ์โดยไม่จำเพาะเจาะจง พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ตามหลักพระพุทธศาสนา การถวายแบบนี้มีผลานิสงศ์ มากกว่าการถวายแบบจำเพาะเจาะจง
                        องค์ประกอบที่ทำให้ทาน มีผลานิสงส์มากมีสามอย่าง ได้แก่
                            ๑. วัตถุสิ่งของที่ให้ต้องบริสุทธิ์ คือ เป็นของดีมีคุณค่า มีประโยชน์แก่ผู้รับ และได้มาด้วยความชอบธรรม
                            ๒. ผู้ให้ ให้ด้วยความบริสุทธิ์ในสามกาลคือ ก่อนให้มีจิตใจยินดี ขณะให้มีจิตใจเลื่อมใส และหลังให้ก็มีจิตใจเบิกบาน ไม่นึกเสียดาย สิ่งที่ให้ไปแล้ว
                            ๓. ผู้รับ ในกรณีที่เป็นปาฎิกบุคคลิกทาน เป็นผู้บริสุทธิ์คือ เป็นผู้มีศีลธรรม เป็นสัมมาทิฐิบุคคล ผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ ในกรณีสังฆทาน ให้ถือว่า ผู้รับเป็นผู้แทนของสงฆ์ ในอุดมคติคือ พระอริยสงฆ์         ๒๗/๑๗๔๖๑
                ๕๐๕๔. สังฆราช  เป็นชื่อตำแหน่ง พระมหาเถระ ผู้ปกครองคณะสงฆ์ที่พระมหากษัตริย์ ทรงสถาปนาขึ้น มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่มีความหมายแตกต่างกับที่ใช้ในปัจจุบันคือ ในสมัยสุโขทัย หมายถึง ตำแหน่งพระมหาเถระ ผู้เป็นสังฆนายก คือ ผู้เป็นเจ้าคณะใหญ่ของแต่ละคณะ ซึ่งมีมากกว่าองค์เดียว ในสมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน คำว่า สังฆราช มีความหมายตรงกับบทนิยามที่ว่า " ตำแหน่งพระมหาเถระ ผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑล " ที่เรียกว่า สังฆปรินายก หรือ สกลมหาสังฆปรินายก คือ ประมุขของสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร และเริ่มใช้ สมเด็จ นำหน้าเป็น สมเด็จพระสังฆราช มาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่สอง (ราวปี พ.ศ.๑๙๑๑ - ๑๙๔๒) แห่งกรุงสุโขทัย        ๒๗/๑๗๔๖๕
                ๕๐๕๕. สังยุคนิกาย  เป็นชื่อนิกายที่สามแห่งพระสุตตันตปิฎก ซึ่งมีห้านิกาย นิกาย แปลว่า หมวด หมายถึง หมวดพระสูตร ที่จัดรวมเข้าด้วยกัน เพื่อสะดวกในการศึกษา ได้แก่  ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย และขุทกนิกาย
    โดยเรียกชื่อตามลักษณะพระสูตร ที่รวมไว้ด้วยกันคือ ทีฆนิกาย เป็นหมวดที่รวมพระสูตรขนาดยาว มัชฌิมนิกาย เป็นหมวดที่รวมพระสูตรขนาดปานกลาง สังยุตนิกาย เป็นหมวดที่รวมพระสูตรประมวลเรื่อง อังคุตรนิกาย เป็นหมวดที่รวมพระสูตรขนาดเล็ก รวมถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เหลือจากสี่นิกายแรก
                        สังฆยุตนิกาย แปลว่า หมวดพระสูตรประมวลเรื่อง คือ นำพระสูตรที่มีเนื้อหาเดียวกัน ประเภทเดียวกัน หรือเกี่ยวข้องรวมเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน เรียกว่า สังยุต (ประมวลเรื่อง)  มีทั้งหมด ๕๖ สังยุต นำสังยุตต่างๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ประเภทเดียวกัน หรือเกี่ยวข้องกันรวมเข้าเป็นตอน ๆ เรียกว่า วรรค มีทั้งหมด ห้าวรรค พระสูตรทั้งหมดในสังยุตนิกาย ที่อรรถกถาพระวินัยปิฎก ระบุไว้จำนวน ๗,๗๖๒ สูตร แต่ที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน มีเพียง ๒,๗๕๒ สูตร
                        การจัดแบ่งหมวดหมู่พระสูตร ในสังยุตนิกาย มีดังนี้
                            ๑. สควถวรรค  มี ๑๑ สังยุต ๒๗๑ สูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ (ชุด ๔๕ เล่ม)  เนื้อหาเป็นคาถาประพันธ์ หรือร้อยกรอง มีเทวตาสังยุต เทวปุตสังยุต โกสลสังยุต มารสังยุต ภิกขุนีสังยุต พรหมสังยุต พราหมณ์สังยุต วังคีสสังยุต วนสังยุต และ ยักขสักกสังยุต
                            ๒. นิทานวรรค  มี ๑๐ สังยุต ๓๓๗ สูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ เนื้อหาเกี่ยวกับธรรมที่เป็นต้นเหตุ ให้เกิดทุกข์และดับทุกข์ มีนิทานสังยุต อภิสมยสังยุต ธาตุสังยุติ อนมตัคคสังยุต กัสสปสังยุต ลาภสักการสังยุต ราหุลสังยุต ลักขณสังยุต โอปัมมสังยุต และ ภิกขุสังยุต
                            ๓. ขันธวารวรรค  มี ๑๓ สังยุต ๗๑๖ สูตร  อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ เนื้อหาเกี่ยวกับขันธ์ห้าในบริบทต่าง ๆ มีเรื่อง สมาธิ และทิฎฐิ ต่าง ๆ รวมอยู่ด้วย มี ขันธสังยุต ราธสังยุต ทิฎฐิสังยุต โอกกันตสังยุต อุปปาทสังยุต กิเลสสังยุต สารีปุตตสังยุต นาคสังยุต สุปัณณสังยุต  คันธัพพกายสังยุต
                            ๔. สฬายตนวรรค  มี ๑๐ สังยุต ๔๒๐ สูตร  อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ เนื้อหาเกี่ยวกับอายตนะหก มี สฬายตนสังยุต เวทนาสังยุต มาตุคามสังยุต ชัมพูวาทกสังยุต สามัณฑกสังยุต โมคคัลลานสังยุต จิตตสังยุต คามณิสังยุต อสังขตสังยุต อัพยากตสังยุต
                            ๕. มหาวรรค  มี ๑๒ สังยุต ๑,๐๐๘ สูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ เนื้อหาเกี่ยวกับโพธิปักขิยธรรม สามสิบเจ็ด ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด โพชฌงค์เจ็ด สติปัฎฐานสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่ รวมทั้งเรื่อง นิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจสี่ ฌาน ตลอดจนคุณสมบัติของพระโสดาบัน เป็นต้น มี มัคคสังยุต โพชฌงคสังยุต สติปัฎฐานสี่ อินทรียสังยุต สัมมัปปธานสังยุต พลสังยุต อิทธิปาทสังยุต อนุรุทธสังยุต ฌานสังยุต อาณาปานสังยุต โสตาปัตติสังยุต สัจจสังยุต       ๒๗/๑๗๔๗๙
                ๕๐๕๖. สังเวชนียสถาน  เป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา อันเนื่องกับเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ ในชีวิตของพระพุทธเจ้า มีสี่แห่งคือ
                         ๑. สถานที่ ที่พระพุทธจ้าประสูติ คือ สวนลุมพินี ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล
                         ๒. สถานที่ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ ปัจจุบันคือ พุทธคยา
                         ๓. สถานที่ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือ สารนาถ ในประเทศอินเดีย
                         ๔. สถานที่ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ป่าสาลวัน เมืองกุสินารา ปัจจุบันคือ เมืองกาเซีย ในประเทศอินเดีย       ๒๗/๑๗๔๘๓
                ๕๐๕๗. สังหาริมทรัพย์  แต่เดิมในกฎหมายเก่าของประเทศไทย ไม่มีการแบ่งแยกประเภทของทรัพย์ เป็น สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์
                        หลักเกณฑ์การแบ่งประเภทของทรัพย์ เป็นสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์  ได้เริ่มมีการกำหนดไว้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ พ.ศ.๒๔๖๖ ซึ่งบัญญัติไว้เพียงสั้น ๆ ว่า "ที่ดินกับทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ดินนั้น จัดเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์อื่น ๆ จัดเป็น สังหาริมทรัพย์ ทั้งนั้น"
                        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ พ.ศ.๒๔๖๘ ได้กำหนดนิยามคำนี้ใหม่ ทำให้เรียกคำนี้ว่า ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ แต่ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ คำนี้ได้กลับมาใช้ตามความหมายเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖         ๒๗/๑๗๔๘๕
                ๕๐๕๘. สัจจกนิครนถ์  เป็นชื่อนักบวชผู้หนึ่ง ในลัทธินิครนถ์ ซึ่งเป็นลัทธินอกพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล ในปัจจุบันคือ ศาสนาเชน ซึ่งมีนิครนถ์ นาฎบุตร หรือศาสดามหาวีระ เป็นเจ้าลัทธิ สัจจกนิครนถ์ เป็นนักโต้วาที ที่ฉลาดหลักแหลมคม มีชื่อเสียงโด่งดังหาผู้มาโต้ตอบได้ยาก ได้เรียนวาทะจากบิดา ๕๐๐ วาทะ จากมารดา ๕๐๐ วาทะ จนชำนาญ แล้วยังเรียนหลักคำสอน ในลัทธินิครนถ์และลัทธิอื่น ๆ อีกหลายลัทธิ จนได้รับยกย่องจากมหาชนว่าเป็น นักปราชญ์ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอาจารย์ ของพระราชกุมารลิจฉวีทั้งหลาย ในกรุงเวสาลี สัจจกนิครนถ์หลงตัวเองว่ามีปัญญามากขึ้น จนเกรงว่าท้องจะแตก จึงใช้แผ่นเหล็กคาดท้องไว้ ครั้งหนึ่ง ท่านได้ประกาศอวดอ้างว่า ท่านยังไม่เห็นใครเลย ไม่ว่าจะเป็นสมณะ หรือพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะ หรือแม้ผู้ประกาศตนว่าเป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถ้าหากว่ามาโต้วาทะกับท่านแล้ว ที่จะไม่ประหม่า เหงื่อไหลไคลย้อยเป็นไม่มี
                        เช้าวันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์ ได้พบพระอัสสชิเถระ ได้ขอสนทนาด้วย และได้ถามพระเถระว่า พระสมณโคดมแนะนำสาวกว่า อย่างไร คำสอนส่วนใหญ่ว่าด้วยเรื่องอะไร พระเถระตอบว่า ทรงสอนว่า ขันธ์ห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างไม่เพียงไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน พระผู้มีพระภาค ตรัสสอนเรื่องเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่  สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า พระสมณโคดมเห็นผิดเห็นชั่ว ถ้ามีโอกาสเข้าเฝ้า จะโต้วาทะทำให้ถ่ายถอนความเห็นผิด เห็นชั่ว นี้ให้ได้
                        จากนั้น สัจจกนิครนถ์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมเจ้าลิจฉวีห้าร้อยองค์ แล้วทูลขออนุญาตถามปัญหา อย่างที่ถามพระอัสสชิเถระ พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบอย่างที่พระอัสสชิเถระตอบทุกประการ สัจจกนิครนถ์โต้แย้งโดยใช้อุปมาโวหาร พระพุทธเจ้าทรงย้อนถาม สัจจกนิครนถ์ว่า "ที่กล่าวว่า รูปเป็นตัวตนของท่าน ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลยได้หรือไม่" สัจจกนิครนถ์จำต้องยอมรับว่า ตนไม่มีอำนาจบังคับบัญชาให้รูปเป็นไปตามที่ตนต้องการได้ จากนั้น ทรงซักถามไล่เลียงจากเวทนา ไปจนถึงวิญญาณ สัจจกนิครนถ์ต้องยอมจำนนว่า ไม่มีอำนาจบังคับได้ เช่นเดียวกับรูป
                        พระพุทธเจ้า ทรงซักว่า ขันธ์ห้าเที่ยง หรือไม่เที่ยง ทูลตอบว่า ไม่เที่ยง ตรัสถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยงนั้น เป็นทุกข์ หรือเป็นสุข ทูลตอบว่า เป็นทุกข์ ตรัสถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ควรหรือไม่ที่จะถือว่า สิ่งนั้นเป็นของเรา เราเป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นตัวตนของเรา ทูลตอบว่า ไม่ควร
                        สัจจกนิครนถ์ ทูลถามต่อไปว่า ภิกษุเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ด้วยเหตุใด ตรัสตอบว่า ด้วยการไม่ยึดถือขันธ์ห้าว่า เป็นของเรา เราเป็นเช่นนั้น เป็นตัวของเรา
                        การสนทนาจบลงด้วย สัจจกนิครนถ์ขอนิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ไปฉันภัตตาหารในอารามของตน ในวันรุ่งขึ้น
                        สัจจกนิครนถ์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ณ ที่เดิม ได้ทูลถามเรื่องการอบรมกาย และการอบรมจิต พระพุทธเจ้าทรงย้อนถามว่า การอบรมกาย หมายความว่าอย่างไร ทูลตอบว่า การบำเพ็ญตบะอย่างนันทะ วัจฉโคตร กีสะ สัจกิจจโคตร และมักขลิโคสาล (ซึ่งหมายถึง การทรมานร่างกาย) ครั้นตรัสถามว่า การอบรมจิต หมายถึงอะไร สัจจกนิครนถ์ตอบไม่ได้ จึงตรัสสรุปว่า สัจจกนิครนถ์เข้าใจการอบรมกายไม่ถูกต้อง แล้วจะเข้าใจการอบรมจิตได้อย่างไร จากนั้น ทรงอธิบายการอบรมกาย และอบรมจิต ตามหลักพระพุทธศาสนา (ดู รายละเอียดในมหาสัจจกสูตร คัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)       ๒๗/๑๗๔๙๖ 
              

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch