|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/153
๕๐๐๓. สยาม มีบทนิยามว่า " ชื่อเรียกประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๒"
คำว่า สยาม เป็นประเด็นหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการได้หยิบยกมาอภิปรายกันเป็นเวลานาน เมื่อครั้งซิมง เดอวาลูแบร์ ได้เดินทางพร้อมกับคณะอัครราชทูต ของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่แห่งฝรั่งเศส เข้ามายังราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ ฯ และบันทึกเรื่องราวของประเทศสยามไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๐ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า คนไทยไม่เรียกประเทศของตนว่า สยาม เลย แต่ชาวต่างประเทศกลับพากันเรียกเมืองไทยว่า สยาม
คำว่า สยาม นั้น โดยรูปศัพท์แล้ว มีที่มาจากคำสันสกฤตว่า ศฺยาม แปลว่า มีสีดำ หรือสีครามหม่น หรือสีเขียว หรือสีออกคล้ำ และตรงกับคำบาลีว่า สาม คำนี้ได้กลายเป็นเสียงไปเป็นอื่น ในภาษาของชนเพื่อนบ้าน และชาวต่างหประเทศ ชาวเขมร และชาวมอญเรียกคนไทยว่า เซียม คนต่างชาติอื่น ๆ เช่น มลายู จีน น่าจะได้เรียกคนไทยว่า เสียม ตามเขมรและมอญ คนไทยไม่เคยเรียกตนเองว่า สยาม เลย
ในเมื่อคำว่า สยาม มิได้เกิดขึ้นในบริบทของวัฒนธรรมไทยเอง จึงได้มีการสืบค้นที่มาของคำนี้จากภายนอก มีผู้เคยเสนอว่า คำว่า สยาม อาจเก่าแก่ไปถึงต้นคริสต์กาล เพราะปรากฎว่า ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่น ฉบับหอหลวงได้กล่าวถึง กษัตริย์แห่งอาณาจักรส้าน ว่าได้ส่งคณะทูตไปยังราชสำนักฮั่น ในระหว่างปี พ.ศ.๘๔๐ - ๖๗๕ โดยเข้าใจว่า ส้าน ในที่นี้ตรงกับคำว่า ซ่าน / ส้าน ที่พม่าเรียกไทยใหญ่ และเข้าใจว่า อาณาจักรนี้อยู่ในบริเวณต้าหลี่ฝู่ ในมณฑลหยูนหนาน ปัจจุบัน
คำเขียนในรูปของ สยำ ปรากฎอยู่ในจารึกโบราณ ลงศักราชตรงกับปี พ.ศ.๑๑๘๒
จารึกของจาม มีข้อความกล่าวถึงการจับได้เชลยศึก "สยาม" รวมกับเชลยศึกเขมรและอื่น ๆ จารึกนี้อายุราวปี พ.ศ.๑๕๙๓ นับว่าเป็นการพบคำ สยาม ที่ใช้ในความหมายของชนชาติเป็นครั้งแรก
คำว่า สยาม ในรูปเขียนว่า สยำ ได้ปรากฎที่ภาพจำหลักนูนต่ำ ที่ปราสาทนครวัด ที่สร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗
คำว่า สยำ ยังปรากฎในจารึกของอาณาจักรพุกาม โดยลงศักราชในปี พ.ศ.๑๖๖๓
เอกสารจีนสมัยราชวงศ์หยวน กล่าวถึงประเทศเซียน กล่าวถึงเหตุการณ์ในปี พ.ศ.๑๘๒๕ ว่า กุบไลข่าน ให้ส่งคณะทูตไปเกลี้ยกล่อมประเทศโพ้นทะเล ให้มาสวามิภักดิ์ มีประเทศ "เซียน" (จีนกลาง) หรือ "เสียม" (แต้จิ๋ว) รวมอยู่ด้วย
การปกครองของไทยในสมัยอยุธยา ไม่ได้ใช้นามประเทศแต่ใช้นามราชธานี เป็นนามราชอาณาจักร เมื่อชาวตะวันตกได้เข้ามาติดต่อกับไทย ได้เรียกอาณาจักรไทยว่า "สยาม" ตามจีน เขมร มอญ และมลายู
คำ สยาม ปรากฎอยู่ในเอกสารชั้นต้น และวรรณกรรมเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาหลายเรื่อง เช่น ในยวนพ่าย มหาชาติคำหลวง นันโทปนันทสูตรคำหลวง ในพงศาวดารกรุงเก่าภาษาบาลี โคบุตร ฯลฯ
ในเอกสารไทยดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าคนไทยสมัยก่อนได้ใช้สยาม เป็นคำเรียกชื่อทั้งประเทศ และชนชาติ ๒๗/๑๗๒๒๙
๕๐๐๔. สรรพสามิต ภาษีอากร คำว่าสรรพสามิต มีความหมายดั้งเดิม หมายถึง อากร ที่เรียกเก็บจากสินค้า และสถานบริการประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีเหตุผลสมควรที่จะต้องรับภาระภาษีเพิ่มเติม จากสิ่งที่ประดิษฐ์ผลิตขึ้นในประเทศ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนความหมายมาเป็นภาษี ที่รัฐเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือทางสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง ๒๗/๑๗๒๔๒
๕๐๐๕. สรรเพชญ์ที่แปดสมเด็จพระ(ครองราขชย์ พ.ศ.๒๒๔๖ - ๒๒๕๑) พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลำดับที่ ๒๙ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา (ครองราชย์ พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๒๔๖) คนทั่วไปเรียกพระองค์ว่า พระเจ้าเสือ พระนามเดิมคือ มะเดื่อ เมื่อเจริญพระชนม์ขึ้นได้เป็นขุนหลวงสรศักดิ์ และเป็นพระมหาอุปราช หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุ ๓๐ พรรษา
พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์คือ โปรดให้ขุดคลองมหาชัยเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน แต่ยังไม่แล้วเสร็จเพราะสวรรคตก่อน พระองค์สวรรคตในปี พ.ศ.๒๒๕๑ พระราชโอรสคือ พระเจ้าท้ายสระ ขึ้นครองราชย์ต่อมา ๒๗/๑๗๒๔๕
๕๐๐๖. สรรเพชญ์ที่เก้าสมเด็จพระ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๒๕๑ - ๒๒๗๕) พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาลำดับที่ ๓๐ เป็นพระราชโอรสพระสรรเพชญ์ที่แปด เมื่อขึ้นครองราชย์มีพระชนมายุได้ ๒๘ พรรษา คนทั่วไปเรียกว่า พระเจ้าท้ายสระ
รัชสมัยของพระองค์ค่อนข้างนาน และมีความสงบรุ่งเรือง พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์คือ ทรงให้ความสำคัญแก่พระพุทธศาสนามาก ทรงบูรณะวัดหลายแห่งและโปรดให้ขุดคลองมหาชัยต่อจนแล้วเสร็จ
พระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การให้ความช่วยเหลือแก่กษัตริย์เขมรที่เกิดชิงอำนาจกัน ฝ่ายแย่งชิงอำนาจไปขอกำลังญวนมาช่วย (นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ญวนขยายอำนาจเข้ามาในเขมร) กษัตริย์เขมรจึงมาขอความช่วยเหลือจากไทย พระองค์ก็ทรงให้ความช่วยเหลืออย่างดี เป็นเหตุให้ไทยต้องทำสงครามกับญวนทั้งทางบกทางทะเล แต่ขณะที่สงครามยังไม่แพ้ชนะเด็ดขาด ทางฝ่ายเขมรก็ยินดีถวายบรรณาธิการแก่ไทย สงครามจึงยุติ ๒๗/๑๗๒๔๗
๕๐๐๗. สร้อยอินทนิล เป็นไม้เถาเลี้อยขนาเใหญ่อายุหลายปี ลำต้นสีเขียวสี่เหลี่ยม ลำต้นบิดจากขวาไปซ้าย ปล้องยาวมาก ใบเดี่ยว เรียงวตรงข้าม แผ่นใบรูปหัวใจหรือรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบ แบบช่อกระจะ ห้อยลงเป็นช่อยาว อาจยาวถึง ๑ เมตร ดอกใหญ่ สีม่วงอมฟ้า ดอกสมบูรณ์เพศ ผลแบบแห้วแตกส่วนล่างค่อนข้างกลม
สร้อยอินทนิล มักขึ้นตามชายป่าที่โล่งแจ้ง ในทุกภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
ประโยชน์ทางยา ใบแก้ปวดท้อง ราก และต้มน้ำดื่มขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ บำรุงร่างกาย ใบตำคั้นน้ำทาพอก หรือเคี้ยวกินแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน หูด บรรเทาอาการอักเสบ บวม เป็นต้น รักษากระดูกหัก ปวดกระดูก รักษาแผลสด แผลถลอก ห้ามเลือด ๒๗/๑๗๒๔๙
๕๐๐๘. สระ เสียงที่เปล่งออกมาโดยไม่มีสิ่งกีดขวางในช่องเสียง ต่างกับเสียงพยัญชนะ ที่เปล่งออกมาโดยผ่านสิ่งกีดขวาง เช่น ริมฝีปาก ฟัน และลิ้น โดยปรกติเสียงสระ เป็นเสียงก้อง (โฆษะ) ซึ่งหมายถึง เสียงที่เปล่งออกมาโดยมีการสั่นของเส้นเสียง เสียงสระเป็นหัวใจของพยางค์ ทุกพยางค์ต้องมีเสียงสระเสมอ จะมีพยัญชนะหรือไม่ก็ได้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสียงสระทั้งหลาย ต่างกันมีสามประการได้แก่
๑. จุดที่เกิดเสียงสระในปาก ได้แก่ บริเวณส่วนหน้า ส่วนกลาง หรือส่วนหลังในปาก
๒. ความสูงของลิ้น ขณะเปล่งเสียง ลิ้นถูกยกสูง ระดับสูง ระดับกลาง หรือระดับต่ำ ทำให้เกิดสระสูง สระระดับกลาง และสระต่ำ
๓. การห่อปาก คือ เปล่งเสียงโดยทำปากห่อ หรือไม่ทำ
ความสั้นยาวของสระ ใช้แยกความแตกต่างของเสียงสระได้ ภาษาไทยใช้ลักษณะนี้แยกสระเดี่ยวทั้งหมด สิบแปดเสียงออกเป็นเก้าคู่ สระสั้นเก้าเสียง คู่กับสระยาวเก้าเสียง และถือว่ามีสระเดี่ยวทั้งหมด สิบแปดหน่วยเสียง ส่วนสระประสมอีกสามหน่วยเสียง ไม่ว่าจะออกเป็นเสียงสั้น หรือเสียงยาว ก็ไม่ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไป สระในภาษาไทยจึงมียี่สิบเจ็ดเสียง
เสียงสระไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับรูปสระ หรือตัวเขียน ในภาษาไทยมีรูปเขียนถึงสามสิบหกรูป ๒๗/๑๗๒๕๒
๕๐๐๙. สระแก้ว จังหวัดในภาคตะวันออก มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.นครราชสีมา และ จ.บุรีรัมย์ ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตแดนประเทศกัมพูชา ทิศใต้ ติดต่อกับ จ.นนทบุรี ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี มีพื้นที่ ๗,๑๙๕ กม.
ลักษณะภูมิประเทศ ทางตอนเหนือเป็นภูเขาและเนินเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาสันกำแพง ทอดยาวจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก กั้นระหว่างที่ราบสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับที่ราบในภาคตะวันออก ทิวเขานี้มีบางส่วนที่ยื่นยาวเป็นง่ามเขาลงมาทางใต้ ง่ามเขาที่อยู่ทางด้านตะวันตกสุดของจังหวัด เป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดระหว่าง อ.เมือง ฯ จ.สระแแก้ว กับ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี และง่ามเขาที่อยู่ตอนกลางของจังหวัด เป็นแนวเขต อ.วัฒนานคร กับ อ.ตาพระยา
ใต้จากทิวเขาสันกำแพงลงมา เป็นบริเวณที่ราบซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด ที่ราบนี้เป็นส่วนทางด้านตะวันออก ของบริเวณพื้นที่ซึ่งได้รับการขนานนาม ทางภูมิศาสตร์ว่า ฉนวนไทย หมายถึง ที่ราบผืนแคบ ๆ เป็นแนวยาวเชื่อมระหว่างที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กับที่ราบลุ่มทะเลสาบในประเทศกัมพูชา โดยมีทิวเขาสันกำแพง และทิวเขาจันทบุรีขนาบอยู่ทางด้านทิศเหนือ และทิศใต้ของที่ราบนี้ตามลำดับ ในบริเวณที่ราบมีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านชื่อ แม่น้ำพระปรง ต้นน้ำอยู่ในเขต อ.ตาพระยา แล้วไหลไปทางทิศตะวันตก จนไปรวมกับแม่น้ำหนุมาน ใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เมื่อไหลต่อเข้าไปในเขต จ.ฉะเชิงเทรา เรียกวา แม่น้ำบางปะกง
ด้านทิศตะวันออกของจังหวัด ซึ่งมีเขตแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา โดยตลอดเป็นระยะทาง ๑๗๘ กม. เป็นที่ราบต่อเนื่องเข้าไปในเขตประเทศกัมพูชา แนวเขตแดนส่วนใหญ่อาศัยลำน้ำสายเล็ก ๆ เป็นเส้นแบ่งเขตแดน ได้แก่ คลองปะขาว คลองแผง คลองลึก ห้วยพรมโหด และคลองน้ำใส รวม ๑๓๓ กม. ระหว่างลำน้ำเหล่านี้ บางตอนเป็นเส้นเขตแดน แบบเส้นตรงลากเชื่อมต่อกันเป็นระยะทาง ๔๕ กม.
ด้านประวัติศาสตร์ เดิมเป็นดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากขอม มีปราสาทหินสร้างตามสถาปัตยกรรมของขอม อยู่ใน อ.ตาพระยา และ อ.อรัญประเทศ ที่สำคัญได้แก่ ปราสาทสล๊อกก๊อกธม ปราสาททับเซียม ปราสาทเขาโล้น ใน อ.ตาพระยา และปราสาทเขาน้อย ใน อ.อรัญประเทศ
ในสมัยอยุธยา เมืองปราจีนบุรีได้รับการจัดตั้งเป็นเมืองหน้าด่านของหัวเมืองฝ่ายตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่จดเขตแดนประเทศกัมพูชา ที่ตั้งของ จ.สระแก้ว ปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของเมืองปราจีนบุรี เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยชั้นแรกมีฐานะเป็น ต.สระแก้ว ขึ้นอยู่กับ อ.กบินทร์บุรี ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่ง อ.สระแก้ว และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ได้ยกฐานะขึ้นเป็น อ.สระแก้ว
ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้มี พ.รบ.ตั้ง จ.สระแก้ว โดยได้แยก อ.สระแก้ว อ.คลองหาด อ.ตาพระยา อ.วังน้ำเย็น อ.วัฒนานคร และ อ.อรัญประเทศ ออกจากการปกครองของ จ.ปราจีน รวมตั้งขึ้นเป็น จ.สระแก้ว
คำว่า สระแก้ว มาจากชื่อของสระน้ำโบราณ ซึ่งมีอยู่สองแห่งใกล้เคียงกัน ในเขตตัวเมืองเรียกชื่อว่า สระแก้ว - สระขวัญ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ขณะดำรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้พระราชทานชื่อนี้ให้เมื่อครั้งยกทัพ ไปตีกัมพูชา และมาพักไพร่พลอยู่บริเวณริมสระน้ำทั้งสองนี้ ๒๗/๑๗๒๕๔
๕๐๑๐. สระบุรี จังหวัดในภาคกลางตอนล่าง มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.ลพบุรี ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.นครราชสีมา ทิศใต้ ติดต่อกับ จ.นครนายก และ จ.ปทุมธานี ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.พระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ ๓,๕๗๖ ตร.กม.
ลักษณะภูมิประเทศ ทางตอนเหนือ และทางทิศตะวันออกของจังหวัด เป็นภูเขาและเนินเขาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแนวของทิวเขาดงพญาเย็น ที่กั้นที่ราบภาคกลางออกจากแอ่งที่ราบ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนทางตอนใต้ และทางตะวันตกของจังหวัดมีพื้นที่ค่อนข้างราบ แม่น้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำป่าสัก ไหลเข้ามาทางด้านเหนือของจังหวัดไหลผ่าน จ.สระบุรี ยาวประมาณ ๑๐๕ กม.
ด้านประวัติศาสตร์ จ.สระบุรี เป็นเมืองเก่าตั้งขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.๒๐๙๒ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ ต.เมืองเก่า อ.เสาไห้ ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้มีการเปิดทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมาถึง จ.สระบุรี ตัวเมืองอยู่ห่างไกลจากเส้นทางรถไฟ จึงย้ายเมืองมาตั้งที่ ต.ปากเพรียว อันเป็นที่ตั้งเมืองมาถึงปัจจุบัน
จ.สระบุรี มีปูชนียสถานที่สำคัญมากแห่งหนึ่งคือ พระพุทธบาท ที่เขาสุวรรณบรรพตใน ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท พบในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ครองราชย์ปี พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๗๑) พระองค์จึงโปรดให้กำหนดรอยพระพุทธบาทที่พบนี้ เป็นมหาเจดีย์สถาน และสร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทไว้ และได้ทรงสถาปนาเมืองขึดขิน หรือเมืองปรันตะปะ ขึ้น มีอาณาเขตกว้างยาวด้านละหนึ่งโยชน์ ( ๑โยชนร์เท่ากับ ๑๖ กม.) โดยรอบจากองค์พระพุทธบาท สำหรับภูเขาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทนั้นให้ชื่อว่า "เขาสุวรรณบรรพต" เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เขาสัจจพันธคีรี" ๒๗/๑๗๒๕๘
๕๐๑๑. สรัสวดี ๑ เป็นเทวีแห่งศิลปวิทยา ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์ วาทศิลป์ กวีนิพนธ์ ดนตรีและการละคร เทวรูปพระสรัสวดี มีลักษณะเป็นสตรีงดงาม มีสี่มือ ผิวสีน้ำนม แต่งกายด้วยเครื่องทรงสีขาว ประดับดอกไม้สีขาว มือหนึ่งถือประคำสีขาว หรือสร้อยไข่มุก ซึ่งเรียกว่า ศิวมาลา อีกสองมือถือพิณหรือวีณา และมือที่เหลือถือตำรา สิ่งที่ถือในบางครั้งก็เปลี่ยนไปตามจินตนาการของช่าง เช่น มือบนขวาอาจถือดอกบัว อีกมือหนึ่งถือเฑาะว์ มีการตีความว่ามือทั้งสี่เป็นสัญญลักษณ์ของพระเวททั้งสี่ ในบางรูปไม่ถือสิ่งใดเลยแต่อยู่ในท่า "อภัย" หรืออยู่ในท่าประทานพร พระสรัสวดีมีนกยูง หรือหงส์เป็นพาหนะ
พระสรัสวดี เป็นชายาของพระพรหม แต่คัมภีร์ภาควัตปุราณะกล่าวว่า นางเป็นธิดาของพระพรหม ส่วนคัมภีร์ปัทมปุราณะกล่าวว่า นางเป็นภรรยาของฤษีกัศยปะ และเป็นมารดาของคนธรรพ์ และนางอัปสรทั้งปวง
บางตำนานเล่าว่า เดิมพระวิษณุมีชายาสามองค์คือ พระสรัสวดี พระคงคา และพระลักษมี แต่ทั้งสามไม่ปรองดองกัน พระวิษณุจึงแก้ปัญหาด้วยการถวายพระสรัสวดีแก่พระพรหม และถวายพระคงคาแก่พระศิวะ
ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน พระสรัสวดี คือ พระปราชญา ซึ่งเป็นชายาของพระโพธิสัตว์บัญชูศรี มีกายสีขาว อาจมีหน้าเดียว สองหน้า หรือสามหน้า มีสองมือหรือหกมือ มีชื่อเรียกต่าง ๆ ตามสิ่งที่ถือ
โดยปรกติ คนมักบูชาพระสรัสวดีควบคู่กับพระคเณศ เมื่อจะเริ่มกิจการสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแต่งกวีนิพนธ์ หรือการแสดงละคร ๒๗/๑๗๒๖๑
๕๐๑๒. สรัสวดี ๒ เป็นชื่อแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายหนึ่ง ในอินเดียที่ปรากฎในคัมภีร์พระเวท เป็นแม่น้ำอยู่ทางทิศตะวันออก ของแม่น้ำสินธุ ภายหลังแม่น้ำนี้ตื้นเขินหายไป แต่ชาวฮินดูเชื่อว่าแม่น้ำสายนี้ ยังคงไหลอยู่ใต้ดิน ที่ซึ่งแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สามสายไหลมาบรรจบกันคือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา และแม่น้ำสรัสวดี ถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง อยู่ในเมืองประยาค หรือ เมืองอัลลาหะบาด ในรัฐอุตรประเทศ บริเวณที่แม่น้ำทั้งสามสายมาบรรจบกันนี้เรียกว่า สังคัม
๕๐๑๓. สรีรวิทยา เป็นวิชาที่อธิบายกระบวนการทำงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำรงชีพ ตามปรกติของสิ่งมีชีวิตในทัศนะ ของนักสรีรวิทยาเองคือวิชาที่อธิบายถึงหน้าที่การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย สรีรวิทยาเป็นวิชาที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก นับตั้งแต่สรีรวิทยาของสัตว์เซลล์เดียว ไปจนถึงพืชและสัตว์ชั้นสูง สรีรวิทยาของมนุษย์แบ่งออกเป็นระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
๑. ระบบกล้ามเนื้อและประสาท เป็นระบบว่าด้วยการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งทำให้มีการเคลื่อนไหวของโครงร่าง โดยการควบคุมของระบบประสาทกลาง ระบบประสาทกลางนี้แบ่งออกได้อีกเป็นสองระบบ คือระบบรับความรู้สึกและระบบสั้งการ ระบบประสาทพิเศษอีกระบบหนึ่งคือ ระบบประสาทอัตโนมัติ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานโดยอัตโนมัติของอวัยวะภายในเช่น กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบซึ่งบุผนังหลอดเลือดกระเพาะอาหาร ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะและมดลูก ทำให้อวัยวะเหล่านี้มีการทำงานเพิ่มขึ้นหรือลดลง
๒. ระบบไหลเวียนเลือด เป็นระบบว่าด้วยการทำงานของหัวใจซีกซ้าย ทำงานส่งเลือดออกไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ผ่านหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดฝอยตามลำดับ หลังจากที่มีการแลกเปลี่ยนออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และส่งอาหารให้แก่เซลล์แล้วก็จะผ่านต่อไปทางหลอดเลือดดำกลับ ไปยังปอดเพื่อขับถ่ายคาร์บอนไดออกไซด์ และรับออกซิเจนใหม่ส่งไปเลี้ยงร่างกายต่อไป
ระบบไหลเวียนอีกระบบหนึ่งคือ ระบบน้ำเหลือง ซึ่งมีหลอดน้ำเหลืองฝอยอยู่ใกล้ ๆ กับหลอดเลือดฝอย ทำหน้าที่เก็บสารโปรตีนที่หลุดออกจากหลอดเลือดฝอย ให้กลับเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดใหม่ ทั้งนี้โดยผ่านหลอดน้ำเหลืองใหญ่เข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่ นอกจากนี้พวกจุลินทรีย์ที่ตายแล้ว จะถูกนำผ่านเข้าหลอดน้ำเหลืองไปเก็บไว้ในต่อมน้ำเหลือง
๓. ระบบการหายใจ เป็นระบบว่าด้วยกลไกของการหายใจ และวิธีการที่อากาศถูกนำเข้าไปในปอดแล้ว มีการแลกเปลี่ยนแกสออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ ระหว่างอากาศในถุงลมกับเลือดบริเวณรอบ ๆ ถุงลม
๔. ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นระบบว่าด้วยกลไกของการเคี้ยวอาหาร การกลืน การย่อย การดูดซึม และการขับถ่ายกากอาหาร
๕. ระบบเมแทบอลิซึม เป็นระบบว่าด้วยการเผาผลาญอาหารในร่างกาย แล้วนำไปใช้เป็นพลังงานในการรักษาระดับความร้อนของร่างกาย การหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การหดตัวของกล้ามเนื้อ ใช้ในการหายใจ การเคลื่อนไหวของร่างกายรวมทั้งช่วยการสังเคราะห์สารบางอย่างเช่น สารโปรตีนและฮอร์โมนด้วย
๖. ระบบการขับถ่าย เป็นระบบว่าด้วยการทำงานของไต ซึ่งทำหน้าที่ขับสารที่เหลือจากการเผาผลาญ ซึ่งร่างกายไม่ต้องการออกจากร่างกายโดยผ่านไตและว่าด้วยการทำงานของปอดและต่อมน้ำเหลืองในการขับถ่าย นอกจากนี้ระบบยังช่วยควบคุมปริมาณอิเล็กโทรไลต์ภายในร่างกายให้อยู่ในระดับพอเหมาะด้วย
๗. ระบบต่อมไร้ท่อ เป็นระบบว่าด้วยหน้าที่การทำงานของระบบต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน ช่วยให้การทำงานขออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ดำเนินไปตามปรกติ เช่น ต่อมไทรอยด์ ผลิตไทรอกซิน ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับเมแทบอลิซึม ของเซลล์ของอวัยวะ ต่อมไร้ท่อในตับอ่อน ผลิตอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับเมแทบอลิซึม ของอาหารคาร์โบไฮเดรท
๘. ระบบการสืบพันธุ์ เป็นระบบว่าด้วย การสร้างไข่ในหญิง และตัวอสุจิในชาย นอกจากนี้ ยังอธิบายถึงการผสมพันธุ์ ระหว่างไข่กับตัวอสุจิไปจนเกิดเป็นตัวอ่อน
วิชาสรีรวิทยา เป็นแขนงวิชาทางวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญวิชาหนึ่ง และเกี่ยวกับวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ แขนงอื่น ๆ อีกด้วย
๕๐๑๔. สละ ดู ระกำ ลำดับที่ ๔๖๔๘ ๒๗/๑๗๒๖๘
๕๐๑๕. สละ ปลา เป็นชื่อปลาน้ำเค็ม มีปลาที่ใกล้เคียงกัน และจัดอยู่ในสกุลเดียวกัน ได้แก่ ปลาเฉลียบ ปลาสละ เป็นปลาที่มีขนาดโตที่สุด ในพวกเดียวกัน ดังกล่าวคือ ยาวถึง ๑๒๐ ซม. โดยไม่รวมครีบหาง และหนัก ๑๔.๔ กก. รูปร่างคล้ายกระสวยทรงสั้น แบนข้างมาก
ปลาสละ เป็นปลาผิวน้ำทั่วไป อาศัยอยู่เป็นฝูงใกล้ฝั่ง ในน้ำลึกไม่เกิน ๑๐๐ เมตร ในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ของน่านน้ำอินโด - แปซิฟิก ด้านตะวันตก ๒๗/๑๗๒๖๘
๕๐๑๖. สลากกินแบ่ง เป็นสลากที่จัดให้มีขึ้นเพื่อขายให้แก่ผู้เล่นเป็นการเสี่ยงโชค โดยมีการให้รางวัลที่แบ่งออกเป็นหลายรางวัล แก่ผู้เล่นซึ่งถือสลากเลขหมายตรงกับ เลขหมายรางวัลที่ออกตามวิธีการที่กำหนดไว้
สลากกินแบ่ง จัดเป็นการพนันประเภทหนึ่ง ในบัญชี ข. ของ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.๒๔๗๕ สลากกินแบ่งได้รับการเผยแพร่ ให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ประเทศอังกฤษ ต้องการกู้เงินจากประเทศไทย เพื่อใช้ในสงคราม จึงได้มีการออกลอตเตอรี เพื่อระดมเงินกู้จากประชาชน ณ สถานทูตอังกฤษ นับเป็นการออกรางวัลลอตเตอรี เป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ
ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ ได้ให้กรมสรรพากร ได้รับมอบให้ออกลอตเตอรี ซึ่งมีอยู่สองชนิดคือ ลอตเตอรีของรัฐบาล เพื่อหาเงินชดเชยเงินรัชชูปการ และลอตเตอรีพิเศษ เพื่อระดมเงินเพิ่มเติมจากผู้มีทรัพย์สิน หรือรายได้ประจำ และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการออกสลากกินแบ่งบำรุงเทศบาล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้โอนกิจการสลากกินแบ่งบำรุงเทศบาล ของกระทรวงมหาดไทย ไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง
ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ ได้มี พ.ร.บ. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ กำหนดให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีฐานะเป็นนิติบุคคล ลักษณะรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง ๒๗/๑๗๒๗๕
๕๐๑๗. สลากภัตร ตามรูปศัพท์ แปลว่า อาหารที่ถวายพระภิกษุ โดยวิธีจับแลาก หมายถึง อาหารที่ทายก หรือผู้ให้ทาน เขียนชื่อลงในกระดาษ จากนั้น ม้วนรวมคละเข้าด้วยกัน แล้วให้พระภิกษุจับ เมื่อจับได้สลากที่เขียนชื่อทายกผู้ใดไว้ ก็จะได้รับอาหารของทายกผู้นั้น
ประวัติความเป็นมาของสลากภัตรนี้ ปรากฎอยู่ใน คัมภีร์ธรรมบท ๒๗/๑๗๒๘๖
๕๐๑๘. สลาด, ปลา เป็นปลากระดูกแข็งน้ำจืด ภาคกลางเรียก ปลาดฉลาด อยู่ในกลุ่มเดียวกับปลากราย ตัวยาว ๑๕ - ๒๕ ซม. ลำตัวค่อนข้างยาว แบนข้างมาก
ปลาสลาด เป็นปลาที่นิยมนำมาประกอบอาหารได้หลายตำรับ ๒๗/๑๗๒๘๘
๕๐๑๙. สลิด, ต้น เป็นไม้เถา ไม้เถาสกุลนี้ พบขึ้นในเขตร้อนมีประมาณสิบชนิด ในประเทศไทยมีสามชนิดด้วยกันคือ สลิด หรือขจร สลิดป่า หรือสลิดเถา และอีกชนิดหนึ่ง ยังไม่มีชื่อไทย ทั้งสามชนิดเป็นไม้เถาขนาดเล็ก ดอกเหลืองอมเขียว หรืออมส้ม มีกลิ่นหอม
สลิด หรือ ขจร เป็นไม้เถาเลื้อยพัน เถาเล็ก และอ่อน มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เมื่อออกดอกออกผลแล้ว จะแห้งตายไป เมื่อถึงฤดูกาลในปีต่อมา จึงจะเจริญงอกงามขึ้นมาจากเหง้าใหม่ ใบรูปหัวใจ ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ออกตรงซอกใบ มีกลิ่นหอม ผลมักออกเป็นคู่ รูปคล้ายกระสวยเบี้ยว สีเขียว
สลิด นอกจากจะเป็นไม้ประดับที่มีกลิ่นหอม ดอกนำมาร้อยเป็นมาลัย ทำธูป ผลอ่อนและดอก เป็นอาหาร ๒๗/๑๗๒๘๘
๕๐๒๐. สลิด, ปลา เป็นปลากระดูกแข็ง น้ำจืด ลำตัวค่อนข้างกว้าง แบนข้างมาก ดูคล้ายใบไม้ จึงเรียกว่า ปลาใบไม้ เป็นปลาขนาดโตที่สุดในสกุล โตเต็มที่ถึง ๒๕ ซม. ๒๗/๑๗๒๙๓
๕๐๒๑. สวนกุหลาบ, วัง เดิมเป็นวังที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่มุมถนนราชสีมา ตัดกับถนนศรีอยุธยา อยู่ในเขตของพระราชวังดุสิต ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๕ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน วังสวนกุหลาบจึงอยู่ในความดูแลของรัฐบาล เช่นเดียวกับวังปารุสกวัน ซึ่งต่อมากลายเป็นที่ทำการของหน่วยทหารสังกัดกระทรวงกลาโหม
ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ สำนักพระราชวังได้ประสานงานกับกรมสวัสดิการทหารบก ส่งมอบพื้นที่บริเวณวังสวนกุหลาบ เพื่อถวายคืนแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นโยบายการส่งมอบพื้นที่วังสวนกุหลาบ และสวนพุดตาน นั้น เป็นนโยบายสืบเนื่องมา ตั้งแต่ครั้งที่ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ตำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ดังนั้น พลเอก ชวลิต ฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ส่งมอบพื้นที่วังสวนกุหลาบ และสวนพุดตาน ภายในพระราชวังดุสิต คืนให้แก่สำนักพระราชวัง ๒๗/๑๗๒๙๕
๕๐๒๒. ส่วย เป็นชนชาติในตระกูลมอญ - เขมร ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณ จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชะานี คำว่า ส่วย เป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียก แต่พวกส่วยเรียกตนเองว่ากวยหรือกูย ซึ่งแปลว่าคน ลาวเรียกพวกส่วยว่า ข่า
ถิ่นเดิมของพวกส่วยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศลาว บริเวณเมืองจำปาศักดิ์ สารวัน อัตบือ แสนปาว
หลักฐานการรับรู้ของคนไทยต่อชาวส่วยปรากฎในสมัยอยุธยา ดังปรากฎในพระไอยการอาญาหลวง ประกาศใช้ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง (พระเจ้าสามพระยา พ.ศ.๑๙๖๗ - ๑๙๙๑) โดยเรียกว่ากวย และถือเป็นชาวต่างประเทศที่ห้ามคนไทยยกลูกสาวหลานสาวให้แต่งงานด้วย ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) ชาวส่วยได้เริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณที่เป็น จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ปัจจุบันโดยผ่านทางแม่น้ำมูลที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง และในปลายสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีช่าวส่วยถูกกวาดต้อนจากลาวตอนใต้ เข้ามาในบริเวณสี่จังหวัดดังกล่าว ในช่วงเวลานั้นไทยคงเรียกชาวส่วยว่า เขมรป่าดง การเรียกว่าชาวส่วยน่าจะเริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๔) เมื่อมีสัคเลก (หรือเลข) และเรียกเก็บส่วยคือ สิ่งของหรือเงินแทนการเกณฑ์แรงงานที่เรียกว่า การรับราชการหรือเข้าเดือน คำว่าส่วยในระยะแรกคงไม่ได้หมายถึง พวกเขมรป่าดงโดยเฉพาะ เพราะมีคำเรียกส่วยลาว ส่วยเขมร
ชาวส่วยบางคนได้เริ่มเข้ารับราชการเป็นขุนนาง ตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยาเพราะมีความชอบในการช่วยจับช้างเผือกที่หลบหนีจากกรุงศรีอยุธยามาทางศรีสะเกษ หัวหน้าพวกส่วยเช่นตากะจะ ได้เป็นหลวงแก้วสุวรรณ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน และพระยาไกรภักดี ฯ เจ้าเมืองศรีนครลำดวนคือ เมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน เชียงปุ่มได้เป็นหลวงสุรินทร์ภักดี ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระสุรินทรภักดีเจ้าเมืองประทายสมันต์คือ เมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน
เมื่อตั้งมณฑลเทศาภิบาลในปี พ.ศ.๒๔๓๗ เมืองศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี รวมอยู่ในมณฑลลาวกาว
ชาวส่วยมีภาษาพูดของตนเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน ๒๗/๑๗๒๙๘
๕๐๒๓. สวรรค์ เป็นชื่อเรียกเทวโลก เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเทวภูมิแปลว่าแดนที่เกิดที่อยู่ของเทวดา ซึ่งถือว่าเป็นสุคติภูมิ
ในพระพุทธศาสนาถือว่าสวรรค์ไม่ใช่ภูมิหรือภพสูงสุด เพราะเหนือสวรรค์ขึ้นไปยังมีพรหมโลก ผู้ไปเกิดในสวรรค์แล้วเมื่อหมดบุญก็ต้องกลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีก แต่ผู้ไปเกิดในพรหมโลกชั้นสูงไม่ต้องกลับลงมาอีก เพราะมีโอกาสสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในพรหมโลกได้ สวรรค์ยังเป็นภูมิของผู้ติดข้องอยู่ในกาม ยังละกามไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกสวรรค์ว่ากามาพจรภูมิ มีหกชั้นคือ จตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัดดี การไปเกิดในสวรรค์จะเกิดแบบโอปปาติกะ คืออุบัติขึ้น หรือผุดขึ้นในร่างทิพย์ โดยไม่ต้องอาศัยบิดามารดา พออุบัติขึ้นก็เป็นหนุ่มเป็นสาวทันที ๒๗/๑๗๓๐๒
๕๐๒๔. สวาด เป็นไม้เถา มีลำต้นยาวได้ถึง ๑๕ เมตร มีหนามแหลมตรง หรือแหลมโค้งทั่วไป ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับ ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะออกเหนือว่านใบเล็กน้อย ดอกสีเหลืองมีใบประดับ ผลเป็นฝักรูปป้อม ๆ หรือรูปรี
ตำรายาไทยใช้ใบสวาดในการขับผายลม แก้จุกเสียดแน่น แก้กษัย แก้น้ำมูตรพิการ แก้ไอ รักษาแผลในคอ ขับพยาธิ ผลใช้แก้กษัย แก้น้ำมูตรพิการ เมล็ดใช้ขับพยาธิ แก้ไข้ แก้ท้องเสีย หล่อลื่นภายนอก แก้ปวดท้อง ๒๗/๑๗๓๑๒
๕๐๒๕. สวาย ปลา เป็นปลากระดูกแข็งน้ำจีด ไม่มีเกล็ด ปลาสวายเป็นปลาขนาดใหญ่ เท่าที่พบมีความยาวถึง ๑.๕ เมตร ลำตัวเรียวยาวแบนข้างเล็กน้อย ลำตัวสีเทาเข้มหรือสีเทาปนน้ำตาล พื้นท้องสีขาว
ปลาสวาย เป็นปลาเศรษฐกิจที่นิยมเลี้ยง โตเร็ว อดทน เลี้ยงง่าย
ปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกันคือปลาเทพา และปลาเทโพ ทั้งสองชนิดเป็นปลาขนาดใหญ่มาก ลำตัวยาวกว่า ๑ เมตร ๒๗/๑๗๓๑๕
๕๐๒๖. สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศในทวีปยุโรปมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สมาพันธ์รัฐสวิส เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของทวีปยุโรป ไม่มีพรมแดนติดต่อกับทะเล มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับประเทศเยอรมนี ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับประเทศออสเตรีย และลิกเตนสไตน์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดต่อกับประเทศอิตาลี ทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศฝรั่งเศส มีพื้นที่ ๔๑,๒๘๗ ตร.กม. เมืองหลวงชื่อ เบิร์น ตั้งอยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางทิศตะวันตกของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ เป็นเทือกเขาและที่ราบสูงทั้งหมด มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า ๙๐๐ เมตร และมียอดเขาหลายยอดสูงกว่า ๔,๒๐๐ เมตร ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความสูงเฉลี่ยของพื้นที่มากที่สุดในยุโรป อาจแบ่งออกได้เป็นเขตใหญ่ ๆ ได้สามเขตคือ
เขตที่ราบสูงสวิส เป็นเขตสำคัญที่สุดของประเทศในด้านการปกครอง เศรษฐกิจและการคมนาคม ครอบคลุมพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของประเทศ อยู่ทางซีกด้านทิศเหนือใกล้เคียงกับประเทศเยอรมนี ภูมิประเทศประกอบด้วยเนินเขา และที่ราบหุบเขาของแม่น้ำสายต่าง ๆ ซึ่งไหลจากทิศใต้ไปทิศเหนือลงสู่แม่น้ำไรน์ มีทะเลสาบขนาดใหญ่ตั้งอยู่เป็นจำนวนมากได้แก่ ทะเลสาบเจนีวา กับทะเลสาบคอนสแตนซ์ ซึ่งแบ่งเขตประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับประเทศเยอรมัน และประเทศฝรั่งเศสตามลำดับ นอกจากนี้ก็มีทะเลสาบเนอชาแตล, ทะเลสาบลูเซิร์น ทะเลสาบซูริก บนชายฝั่งของทะเลสาบเหล่านี้มีเมืองสำคัญตั้งอยู่ มีชื่อเดียวกับทะเลสาบได้แก่ เมืองเจนีวา เมืองเนอชาแตล เมืองลูเซิร์น และเมืองซูโก
เขตเทือกเขาชูรา เป็นเขตเล็ก ๆ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ติดเขตแดนประเทศฝรั่งเศส เทือกเขาซูรา มีความยาวประมาณ ๒๓๐ กม. มีทิศทางจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมืองสำคัญในเขตนี้มีเพียงเมืองเดียวคือ เมืองบาเซิล เป็นเมืองทำบนฝั่งแม่น้ำ
เขตเทือกเขาแอลป์ เป็นเขตใหญ่ที่สุด ครอบคลุมพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เทือกเขาแอลป์ เป็นเทือกเขาสูงใหญ่มากที่สุดของทวีปยุโรป มีความยาวประมาณ ๑,๐๖๐ กม. พาดผ่านดินแดนของหลายประเทศ เฉพาะส่วนที่อยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ ทางด้านเหนือ และด้านใต้ โดยมีที่ราบหุบเขาขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างกลาง มีแม่น้ำสำคัญสองสายไหลแยกจากจุดกึ่งกลาง ไปในทิศทางตรงกันข้ามคือ แม่น้ำไรน์ ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เข้าไปในเขตของประเทศฝรั่งเศส และแม่น้ำไรน์ ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงแนวเขตแดนประเทศออสเตรีย ไหลไปตามแนวเขตแดนตอนเหนือ เข้าไปในประเทศเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์
ประชากร มีหลายเชื้อชาติปะปนกัน ตั้งแต่สมัยโบราณ ทำให้วัฒนธรรมทางด้านภาษา มีลักษณะเฉพาะของตนเอง มีภาษาที่ใช้เป็นทางการสามภาษาคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลี มีอัตราส่วนร้อยละ ๗๐, ๑๙ และ ๑๐ ตามลำดับ
ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีประวัติยาวนานย้อนหลังไปราว ๔๐๐ ปี ก่อนพระพุทธศักราช โดยชาวโรมันได้เข้ามาปกครองดินแดนที่พวกเฮลวิชิไอ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของชนชาติเดลด์ อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกของสวิตเซอร์แลนด์ ในปัจจุบัน ต่อมาในพระพุทธศตวรรษที่สิบ ชนชาติอลามันนี และชนชาติเบอร์กันดี ได้อพยพเข้ามาติดตามด้วยชนชาติแฟรงก์ ในพระพุทธศตวรรษที่สิบเอ็ด ครั้นถึง พระพุทธศตวรรษที่สิบหก สวิตเซอร์แลนด์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ์โรมัน อันศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าผู้ครอง ผลัดเปลี่ยนกันเป็นใหญ่ รวมทั้งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ด้วย
ในปี พ.ศ.๑๘๔๔ รัฐสามแห่งคือ อูรี ชวิซ และอุนเทอร์รัลเดิน ได้ประกาศรวมตัวกันต่อต้านการปกครองของราชวงศ์ฮับบูร์ก นับเป็นการเริ่มต้นการจัดตั้งเป็นสมาพันธรัฐสวิสขึ้น แล้วค่อย ๆ ขยายตัวใหญ่ขึ้น จนถึงปี พ.ศ.๒๓๕๘ มีรัฐรวมทั้งหมด ๒๒ รัฐ และเพิ่มขึ้นเป็น ๒๖ รัฐในปัจจุบัน แต่ละรัฐมีรัฐบาลท้องถิ่น และเมืองหลวงของตนเอง เรียกหน่วยการปกครองระดับรัฐนี้ว่า แคนตอน
ในปี พ.ศ.๒๓๕๘ ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้ให้การรับรองความเป็นกลางอย่างถาวร ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันเป็นผลจากการประชุมที่กรุงเวียนนา สวิตเซอร์แลนด์ มิได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ และองค์การสหประชาชาติ แต่ได้ให้ความร่วมมือแก่สันนิบาตชาติ ในการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ ขึ้นที่เมืองเจนีวา และจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในยุโรป ขององค์การสหประชาชาติขึ้นที่เมืองเจนีวา รวมทั้งองค์การชำนัญพิเศษ ของสหประชาชาติหลายแห่ง และองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ๒๗/๑๗๓๑๗
๕๐๒๗. สวีเดน ประเทศในทวีปยุโรป เรียกชื่อเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรสวีเดน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีป ในซีกตะวันออกของคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย มีอาณาเขตทิศตะวันออกเฉียงเหนือเหนือ ติดต่อกับประเทศฟินแลนด์ ทิศตะวันออกจดอ่าวบอทเนีย ทิศตะวันออกเฉียงใต้ จดทะเลบอลติก ทิศตะวันตกเฉียงใต้ จดน่านน้ำคัตเทกัต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลเหนือ ทิศตะวันตก ติดต่อกับประเทศนอร์เวย์ มีพื้นที่ ๔๔๙,๗๙๒ ตร.กม. เมืองหลวงชื่อ สตอกโฮล์ม ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลบอลติก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ ประมาณสองในสาม ของพื้นที่ประเทศเป็นภูเขา และที่ราบสูง ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก และทางทิศเหนือของประเทศ ส่วนที่ราบมีอยู่ทางทิศตะวันออก และทางทิศใต้ของประเทศ ประกอบด้วยที่ราบแคบ ๆ ชายฝั่งอ่าวบอทเนีย และที่ราบลุ่มทะเลสาบภาคกลาง
ตามแนวเขตแดนติดต่อกับประเทศนอร์เวย์ มีเทือกเขาพาดผ่านเป็นแนวยาว จากทิศเหนือไปทิศใต้ ประมาณสองในสามของความยาวของเส้นเขตแดน เรียกชื่อว่า เทือกเขาเชอเลน มีแม่น้ำสายสั้น ๆ เป็นจำนวนมาก ไหลจากเทือกเขานี้ไปลงอ่าวบอทเนีย ทางทิศตะวันออก
บริเวณตอนกลางของประเทศ ซึ่งเป็นที่ราบ มีทะเลสาบตั้งกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ทะเลสาบเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีทางน้ำเชื่อมต่อกัน
ประชากร ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชนชาตินอร์ดิก มีความละม้ายคล้ายคลึงกับประชากรในประเทศนอร์เวย์ และเดนมาร์ก พูดภาษาเดียวกันคือ กลุ่มภาษาสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของตระกูลภาษาเยอรมัน
ชาวสวีเดน เดิมประกอบด้วยชนกลุ่มสำคัญสองกลุ่มคือ กลุ่มชาวสวีด หรือสเวียร ซึ่งอาศัยอยู่ในตอนกลางของประเทศ และกลุ่มชาวเยอตาร์ ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ต่อมาชาวสวีดได้แผ่ขยายอำนาจออกไป ปกครองชาวเยอตาร์ ชื่อของประเทศจึงมาจากชนกลุ่มนี้
ในพระพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ เมื่อพวกไวกิง ซึ่งเป็นนักเดินเรือชาวสแกนดิเนเวีย เดินทางไปค้าขาย และปล้นสะดมประเทศต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่งทะเล พวกไวกิงจากนอร์เวย์ และเดนมาร์ก สนใจประเทศในยุโรปตะวันตก ส่วนพวกไวกิง จากสวีเดน สนใจด้านทะเลบอลติก ได้เดินทางไปค้าขาย จนถึงทะเลดำ และทะเลแคสเบียน
ในตอนกลางพระพุทธศตวรรษที่สิบห้า สวีเดนมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นอาณาจักร ทางคริสต์ศาสนา โดยมีกษัตริย์องค์แรกคือ พระเจ้าโอลอฟ สเกิตโกมุง ในศตวรรษต่อมาได้ขยายอำนาจไปปกครอง ชาวฟินน์ในฟินแลนด์ ในปี พ.ศ.๑๘๔๐ สวีเดน ได้รวมเข้ากับนอร์เวย์ และเดนมาร์ก จัดตั้งเป็นสหภาพคัลมาร์ จนถึงปี พ.ศ.๒๐๖๖ จึงแยกออกจากสหภาพ หลังจากนั้น สวีเดนได้เริ่มการแผ่อำนาจ ออกไปอย่างกว้างขวาง ผนวกดินแดนต่าง ๆ ในทะเลบอลติก เข้ามาเป็นของตน จนกลายเป็นประเทศที่มีอำนาจทางการเมืองชั้นนำ ในบริเวณทะเลบอลติก ในพระพุทธศตวรรษที่ ๒๒ แต่ก็เริ่มเสื่อมอำนาจลงในพระพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ต้องเสียดินแดนต่าง ๆ ไปตามลำดับ จนเหลือดินแดนเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ๒๗/๑๗๓๒๓
|
Update : 27/5/2554
|
|