|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/152
๔๙๘๐. สนม ๑ เป็นกุลสตรี ที่บิดามารดามียศบรรดาศักดิ์ ซึ่งเคยเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิม หรือมีญาติผู้ใหญ่ และเกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์ฝ่ายใน เห็นว่าบุตรีของตน ควรจะได้รับการศึกษามารยาท และศิลปศาสตร์ของสตรี จึงนำบุตรีมาฝากให้รับใช้และศึกษา ถ้าท่านเหล่านั้น เห็นว่ามีลักษณะดี ก็ให้ติดตามเวลาเข้าเฝ้า ได้ทอดพระเนตร มีโอกาสทักทายปราศรัย ในโอกาสต่อมาก็ถวายตัวรับใช้ มีตำแหน่งเป็นข้าบาทบริจาริกา ถ้าทรงโปรดก็พระราชทานตำแหน่งเป็นคุณจอม หรือเจ้าจอม เมื่อมีพระราชโอรส และพระราชธิดา ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าจอมมารดา มีเบี้ยหวัดเงินปี พระราชทานหีบหมาก เครื่องยศเป็นสำคัญ นับว่าเป็น พระสนมเอก ๒๗/๑๗๑๐๐
๔๙๘๑. สนม ๒ ข้าราชการพลเรือน สำนักพระราชวัง ในสมัยโบราณเรียกว่า สนมพลเรือน สังกัดกรมวัง หรือกระทรวงวัง ปัจจุบันปฎิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานพระราชพิธี งานพระราชกุศล งานศพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และบุคคลผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเกียรติยศไว้เรียกว่า พนักงานสนมพลเรือน ๒๗/๑๗๑๐๑
๔๙๘๒. สนม ๓ คือ ที่กักบริเวณในเขตพระราชฐานชั้นใน หญิงใดมีความผิดโดยตัดสินของอธิบดีกรมโขลน หรือมีพระบรมราชโองการ หรือมีพระราชเสาวนีย์ สั่งลงโทษให้ไปกักบริเวณ ถ้าโทษเบาก็ต้องกักไว้ที่ศาลาว่าการกรมโขลน ถ้าผู้ต้องรับพระราชอาญาเป็นเชื้อพระวงศ์ เครื่องสังขลิก ที่ใช้ต้องหุ้มด้วยผ้าขาว ผู้ต้องโทษนี้ชาวโขลนเรียกว่า ติดสนม ๒๗/๑๗๑๐๑
๔๙๘๓. สนุกเกอร์ เป็นกีฬาเก่าแก่ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมทั่วโลกมาแต่โบราณ เป็นกีฬาที่มีวิธีเล่นและอุปกรณ์การเล่น หลายอย่างเหมือนกีฬาบิลเลียด และพลู ซึ่งเป็นกีฬาที่คนอังกฤษนิยมมาก สันนิษฐานว่า สนุกเกอร์มีกำเนิดขึ้น ที่ประเทศอินเดีย เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๑๓ ในกองทหารอังกฤษซึ่งชอบเล่นกีฬาพูลดำ โดยคิดเพิ่มลูกสีที่จะทำให้สนุกสนานขึ้น ต่อมาได้มีผู้นำกีฬาชนิดนี้เข้าไปเผยแพร่ในประเทศอังกฤษ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๓ กีฬาชนิดนี้จึงได้รับความนิยมมากขึ้น
สนุกเกอร์ เป็นกีฬาในร่มที่เล่นได้ทั้งประเภทเดี่ยว ประเภทคู่ และประเภททีม โดยทั่ว ๆ ไปแล้วการแข่งขันระดับนานาชาติ ผู้ชนะห้าในเก้าเฟรมคือ ผู้ชนะ ยกเว้นรอบชิงชนะเลิศ ผู้ชนะหกในสิบเอ็ดเฟรม จึงจะเป็นผู้ชนะ
กีฬาสนุกเกอร์ เข้ามาในประเทศไทย โดยนายทหารอังกฤษเป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่ เมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๐ สมาคมพ่อค้าไทยจึงได้เริ่มจัดแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย
กีฬาสนุกเกอร์ ได้จัดให้มีการแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่สิบสี่ เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ซึ่งประเทศอินโดนิเซีย เป็นเจ้าภาพ และในกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่สิบสาม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ๒๗/๑๗๑๐๒
๔๙๘๔. สบู่ เป็นสารทำความสะอาดชนิดหนึ่ง นอกจากนั้นยังใช้เตรียมอิมัลชัน เช่น ครีมที่ใช้ทำเครื่องสำอาง และยา ขี้ผึ้ง สารฆ่าศัตรูพืช ทำไขข้น หล่อลื่นสำหรับหล่อแบบพลาสติก สิ่งทอกันน้ำ
ตามประวัติสบู่ เป็นสารที่คนเรารู้จักกันมานานมาก มีการค้นพบสารคล้ายสบู่ ในคนโทดินเหนียวที่ได้จากการขุดค้น โบราณวัตถุที่เมืองบาบิโลน ซึ่งมีอายุ ๒,๘๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช
การสบู่ ในยุโรปเริ่มมีขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่เจ็ด กิจการผลิตสบู่รุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ ในศตวรรษต่อมา อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส เป็นศูนย์กลางของการทำสบู่ เพราะมีวัตถุดิบมาก เช่น น้ำมันมะกอก จนถึงปี พ.ศ.๒๓๓๔ แพทย์ชาวฝรั่งเศส พบวิธีเตรียมโซเดียมคาร์บอเนต จากเกลือโซเดียมคลอไรด์ เมื่อทำปฎิกิริยากับปูน ก็จะให้โซเดียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งนำไปทำสบู่ได้ ต่อมานักเคมีชาวฝรั่งเศส รู้ธรรมชาติทางเคมีของสบู่ ความเกี่ยวข้องระหว่างไขมัน กรดไขมันและกลีเซอรอล
ต่อมามีการทำสบู่ อีกหลายประการเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นอีกมาก จนถึงทศวรรษ ๑๙๓๐ จึงมีสารซักฟอกสังเคราะห์เกิดขึ้น และเข้ามาทำหนาที่แทนสบู่
สบู่ถูตัว เป็นสบู่โซเดียม ไขสัตว์ เป็นส่วนประกอบพื้นฐาน สบู่ จากไขมันสัตว์แข็งแน่น มีประสิทธิภาพดี ในการทำความสะอาด มักจะต้องปนน้ำมันมะพร้าวด้วย เพื่อเพิ่มการละลายได้ และทำให้เป็นฟองดีขึ้น ๒๗/๑๗๑๐๙
๔๙๘๕. สเปกตรัม เป็นการกระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ออกเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ตามความยาวคลื่น หรือความถี่ขององค์ประกอบนั้น ๆ
ในปี พ.ศ. ๒๒๐๗ ไอแซก นิวตัน ได้ทดลองปล่อยแสงอาทิตย์ผ่านรูเล็ก ให้ไปกระทบปริซึมแก้ว เขาสังเกตเห็นว่า หลังจากที่แสงทะลุผ่านปริซึมแล้ว แสงได้กระจายออกเป็นแถบแสงขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยแถบแสงขนาดเล็กสีต่าง ๆ เรียงกันเหมือนสังรุ้ง นิวตันเรียกการจัดเรียงแถบแสง ที่มีความยาวคลื่นต่าง ๆ กันเหล่านี้ว่า สเปกตรัม ประกอบด้วยแถบแสงสีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง
ในอดีตนักวิทยาศาสตร์ เคยเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีทางรู้ว่า ดวงดาวต่าง ๆ ประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง แต่เมื่อพบวิทยาการวิเคราะห์สเปกตรัมแล้ว วิทยาการนี้ไม่เพียงจะทำให้รู้องค์ประกอบภายนอกของดาวเท่านั้น แต่สามารถรู้แม้แต่ในใจกลางของดาวว่า มีธาตุชนิดใดได้โดยใช้อุปกรณ์ สำหรับสังเกตสเปกตรัมที่เรียกว่า สเปกโทรสโกป และอุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายภาพของสเปกตรัมเรียกว่า สเปกโทรกราฟ ๒๗/๑๗๑๑๔
๔๙๘๖. สเปน ประเทศในทวีปยุโรป เรียกชื่อเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรสเปน ส่วนชื่อที่ชาวสเปนเรียกประเทศตนเองคือ เอสปาญา ประเทศสเปนตั้งอยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ครอบคลุมพื้นที่ประมาณห้าในหกของคาบสมุทร โดยอีกหนึ่งในหกเป็นดินแดนของประเทศโปร์ตุเกส มีพื้นที่ ๕๐๔,๗๔๒ ตร.กม. นับว่าเป็นประเทศใหญ่เป็นอันดับสาม ของทวีปยุโรป รองจากรัสเซียและฝรั่งเศส และมีขนาดไล่เลี่ยกับประเทศไทย อยู่ติดทะเลสองด้านคือ ด้านตะวันออก และด้านใต้ เป็นทะเลเมดิเตอเรเนียน ส่วนด้านตะวันตก และด้านเหนือเป็นมหาสมุทรแอตแลนติก มีเขตแดนทางบกติดต่อกับสองประเทศคือ ประเทศฝรั่งเศส ทางด้านเหนือ และประเทศโปร์ตุเกส ทางด้านตะวันตก
ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง มีที่ราบเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเล และตอนปลายของแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ที่ราบสูงมีความสูงเฉลี่ย ๖๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะล ครอบคลุมประมาณสามในสี่ของพื้นที่ประเทศ ทำให้สเปนได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีความสูงเฉลี่ยของพื้นที่ มากเป็นอันดับสองของยุโรป รองจากสวิตเซอร์แลนด์ จุดสูงสุดอยู่ที่ยอดเขามูลาเซน ในเทือกเขาเซียราเนวาดา สูง ๓,๔๗๗ เมตร
เมืองสำคัญได้แก่ กรุงมาดริด เป็นเมืองหลวง และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ ตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทร ได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๔ เมืองบาร์เซโลนา เป็นเมืองใหญ่อันดับสอง ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นเมืองท่า และศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญ เมืองอื่น ๆ ส่วนใหญ่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในฐานะเป็นเมืองหลวง หรือเมืองศูนย์กลางของอาณาจักรต่าง ๆ บริเวณตัวเมืองเก่ามักมีกำแพงเมือง และป้อมปราการที่แข็งแรง อันเป็นลักษณะของเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยที่ อาณาจักรต่าง ๆ แข่งขันอำนาจกัน
ประเทศสเปน มีความหลากหลายทั้งในด้านเชื้อชาติ และประชากรและวัฒนธรรม สืบเนื่องมาจากการผสมผสานของชนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย ในระยะแรกชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ทางตอนในของคาบสมุทรเป็นชนชาติเคลต์ ซึ่งอพยพเข้ามาจากทางทิศเหนือ ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน เป็นที่อยู่อาศัยของชาวฟินิเชียน ชาวกรีก ซึ่งเดินเรือมาค้าขาย และสร้างที่มั่นขึ้นระหว่าง ๓๐๐ - ๑๐๐ ปี ก่อนพระพุทธศักราช และชาวคาร์เทจ ซึ่งติดตามเข้ามาในพระพุทธศตวรรษที่สอง อันเป็นระยะเวลาที่ชาวโรมัน เริ่มแผ่อำนาจเข้ามาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทร ต่อมาชาวโรมันได้ค่อย ๆ ขยายอำนาจออกไปจนได้ครอบครองคาบสมุทรไอบีเรีย เมื่อปี พ.ศ.๕๒๔ ทำให้สเปนกลายเป็นแคว้นหนึ่ง ของจักรวรรดิ์โรมันเป็นเวลา ๒๐๐ ปี
ในพระพุทธศตวรรษที่สิบ ภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิ์โรมันแล้ว พวกอนารยชนเผ่าวิซิกอท เริ่มบุกรุกเข้ามาทางภาคเหนือของสเปน และค่อย ๆ ขยายอำนาจปกครองออกไปตามลำดับ โดยมีเมืองโตเลโด เป็นศูนย์กลางอำนาจ ทำให้อารยธรรมอันเป็นรากฐานของชนชาติเยอรมัน เข้ามาผสมผสานกับอารยธรรมของชนชาติเคลต์ และโรมัน ที่มีอยู่เดิม มีการเลือกตั้งกษัตริย์ให้ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองของอาณาจักรต่าง ๆ
ในกลางพระพุทธศตวรรษที่สิบสาม พวกมัวร์ ซึ่งเป็นชาวมุสลิม ในทวีปแอฟริกาตอนเหนือได้เริ่มแผ่ขยายอำนาจ เข้ามาทางตอนใต้ของสเปน โดยข้ามช่องแคบยิบรอลตาร์ ซึ่งมีความกว้างเพียง ๑๓ กม. ในส่วนที่แคบสุด จนในที่สุดได้ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทร ยกเว้น บางส่วนทางตอนเหนือระหว่างพระพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๗ โดยมีเมืองกอร์โดท เป็นศูนย์กลางอำนาจของชาวมุสลิม ทำให้อารยธรรมอาหรับเข้ามาผสมผสานอยู่ในอารยธรรมของสเปน หลายอย่างโดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ
ในตอนต้นพระพุทธศตวรรษที่สิบแปด อาณาจักรของชาวคริสต์ได้เริ่มตอบโต้อำนาจของอาณาจักรชาวมุสลิม ทำให้อิทธิพลของชาวมุสลิมค่อย ๆ ถอยร่นลงไปทางใต้ของคาบสมุทรทีละน้อย ที่มั่นสุดท้ายของชาวมุสลิมที่อาณาจักรกรานาดา ถูกทำลายลงในปี พ.ศ.๒๐๓๕ นับเป็นการสิ้นสุดอำนาจการปกครอง ของชาวมุสลิมในสเปน ที่ยาวแปดศตวรรษ และเริ่มต้นอำนาจทางการเมืองของสเปน ในยุคที่มีกษัตริย์ชาวคริสต์ปกครองประเทศอย่างเป็นปึกแผ่นมั่นคง
อาณาจักรที่เป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพวกมัวร์คือ อาณาจักรคาสตีล และอาณาจักรอารากอน ส่งผลให้สเปนรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเพิ่มกำลังอำนาจมากขึ้นได้ขยายดินแดน ออกไปยังอาณาจักรเนเปิลล์ ในคาบสมุทรอิตาลีด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๕๙ พระเจ้าชาร์ลที่หนึ่ง แห่งราชวงศ์ฮัมบูร์ก ได้ครองราชย์สเปน ทำให้เนเธอร์แลนด์ ตกอยู่ใต้การปกครองของสเปนด้วย นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงได้รับเลือกตั้งให้เป็นพระเจ้าชาร์ลที่ห้า แห่งจักรวรรดิ์โรมัน อันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้อำนาจของสเปนแผ่กว้างออกไปมากยิ่งขึ้น
ในพระพุทธศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด สเปนเริ่มขยายดินแดนออกไปในทวีปต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และถือเป็นช่วงเวลาที่สเปนรุ่งเรืองถึงขีดสุด การค้นพบเส้นทางเดินเรือของนักเดินเรือคนสำคัญ ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสเปน ทำให้สเปนมีโอกาสได้ไปสร้างอาณานิคมขึ้นในดินแดนต่าง ๆ การเดินเรือไปพบทวีปอเมริกาเหนือของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในปี พ.ศ.๒๐๓๕ ได้นำไปสู่การสำรวจและการสร้างอาณานิคมของสเปน ในทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปอเมริกาใต้ การเดินทางสำรวจของ เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน อ้อมทวีปอเมริกาใต้ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ไปถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ.๒๐๖๔ ทำให้สปนขยายอาณานิคมมาที่หมู่เกาะนี้ ในปี พ.ศ.๒๑๐๘
หลังจากสเปนรุ่งเรืองอย่างเต็มที่ เป็นเวลาหนึ่งศตวรรษก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง ต้องเสียดินแดนของตนทั้งในทวีปยุโรป และในอาณานิคมหลายแห่ง เช่น เสียคาบสมุทรยิบรอลตาร์ ให้แก่อังกฤษ และเกาะซาร์ดิเนีย ให้แก่ฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๒๕๗ เสียดินแดนฟลอริดา ให้แก่ฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๓๐๖ อาณานิคมในอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้ ต่างพากันประกาศอิสรภาพ สเปนแพ้สงครามกับสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ต้องยกเกาะคิวบา เกาะเปอร์โตริโก เกาะกวม และหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ให้แก่สหรัฐอเมริกา
วัฒนธรรมของสเปน โดยเฉพาะด้านภาษา ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี แพร่หลายออกไปกว้างขวาง มีประชากรทั่วโลกพูดภาษาสเปน ประมาณ ๔๐๐ ล้านคน นับเป็นภาษาที่มีผู้พูดเป็นอันดับสามของโลก รองจากภาษาจีน และภาษาฮินดี ๒๗/๑๗๑๑๙
๔๙๘๗. สภากาชาด เป็นองค์การกุศลที่ทำหน้าที่รักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้ และบาดเจ็บ ทั้งในยามสงครามและยามสงบ ตลอดจนบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ
กาชาด เกิดจากแนวคิดของ อังรี ดูนังต์ ชาวสวิส เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๑ ได้เห็นการสู้รบระหว่างทหารฝรั่งเศส ช่วยอิตาลีรบกับออสเตรีย ที่หมู่บ้านทางภาคเหนือของอิตาลี มีทหารสี่หมื่นคนบาดเจ็บ ล้มตายเกลื่อนสนามรบ โดยไม่มีผู้ใดช่วยเหลือ รักษาพยาบาล ดูนังต์ได้ลงมือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วยตนเอง และขอร้องหญิงชาวบ้านในท้องถิ่น ให้มาช่วยด้วย ประสบการณ์นี้ทำให้ดูนังต์ เกิดแรงบันดาลใจเขียนหนังสือเรื่อง "ความทรงจำเรื่องที่ ซอลเฟริโน" ขึ้น
จากแนวคิดของดูนังต์ ได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการระหว่างประเทศ เพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บ" เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖ ปัจจุบันคือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเมื่อเกิดการขัดแย้ง หรือความไม่สงบ หรือสงครามกลางเมือง หรือสงครามระหว่างประเทศ
สัญลักษณ์ของกาชาดคือ เครื่องหมายกากบาทแดง อันเป็นการให้เกียรติ์แก่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป้นต้นก่อเกิดของกาชาด และเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่า เครื่องหมายกากบาท มีความสำคัญทางศาสนาคริสต์ อนุสัญญาเจนีวา จึงอนุมัติให้ประชากรมุสลิมใช้เครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดง เป็นสัญลักษณ์ของกาชาดแทนกากบาทแดง ทั่วโลกถือเอาวันที่ ๘ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของ อังรี ดูนังต์ เป็นวันที่ระลึกกาชาดสากล หรือวันกาชาดโลก
การดำเนินการของกาชาดนั้น ได้ยึดหลักการกาชาดเจ็ดประการคือ
๑. มนุษยธรรม กาชาดมีจุดมุ่งหมายที่จะคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของทุกคน เคารพต่อสิทธิมนุษยชน สนับสนุนและส่งเสริมความเข้าใจ ความเป็นมิตรภาพและความร่วมมือ ส่งเสริมสันติภาพระหว่างประชากรทั้งมวล
๒. ความไม่ลำเอียง กาชาดไม่เลือกปฎิบัติในเรื่องสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา ชั้นวรรณะ ความคิดเห็นทางการเมือง
๓. ความเป็นกลาง กาชาดไม่อาจเกี่ยวข้อง หรือเข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในการสู้รบ
๔. ความเป็นอิสระ เพื่อที่จะสามารถปฎิบัติตามหลักการกาชาดไว้ทุกเวลา
๕. บริการอาสาสมัคร ไม่มีความปรารถนาในผลประโยชน์ใด ๆ
๖. ความเป็นเอกภาพ ในประเทศหนึ่ง พึงมีสภากาชาดได้เพียงแห่งเดียว ต้องเปิดให้แก่คนทั่วไป ต้องปฎิบัติงานด้านมนุษยธรรม ทั่วทุกดินแดนของตน
๗. ความเป็นสากล สภากาชาดทั้งมวลมีฐานะเท่าเทียมกัน
สภากาชาดไทย เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ โดยใช้ชื่อว่า สภาอุณาโลมแดง และอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น สภากาชาดสยาม และเปลี่ยนเป็นสภากาชาดไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ มีภารกิจหลักอยู่สี่ลักษณะงาน คือ
- การบริการทางการแพทย์
- การเตรียมการและบรรเทาทุกข์ ผู้ประสบภัยพิบัติ
- การบริการโลหิต
- การส่งเสริมคุณภาพชีวิต ๒๗/๑๗๑๒๖
๔๙๘๘. สภาผู้แทนราษฎร เป็นองค์การ หรือสถานที่ประชุมของบุคคล ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนให้เข้ามาทำหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติ คำนี้ นำมาใช้ทางกฎหมายอย่างเป็นทางการครั้งแรก ใน พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.๒๔๗๕ โดยบัญญัติให้ "มีอำนาจออก พ.ร.บ.ทั้งหลาย..." และ"...มีอำนาจดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎร หรือพนักงานรัฐบาลผู้ใดผู้หนึ่งก็ได้" ๒๗/๑๗๑๓๒
๔๙๘๙. ส้ม, ต้น เป็นชื่อกลุ่มของพรรณพืช รวมทั้งสิ้น ๓๓ สกุล
ส้ม จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๒ - ๔ เมตร กิ่งมีหนามเดี่ยวที่มุมใบ แต่มักจะไร้หนาม เมื่อต้นมีอายุมากขึ้น ใบเดี่ยว บาง ดอกเดียวเกิดจากซอกใบ หรือเป็นช่อสั้น ดอกสมบูรณ์ ผลมีเนื้อหลายเมล็ด ๒๗/๑๗๑๔๖
๔๙๙๐. ส้มป่อย เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง หรือไม่พุ่มรอเลื้อย ลำต้นยาว ๗.๕ - ๑๘ เมตร กิ่งอ่อนมีหนามโค้ง และมีขน กิ่งแก่ขนเกือบเกลี้ยง หูใบรูปหัวใจ ใบประกอบ แบบขนนก สองชั้น เรียงเวียนทั่วลำต้น ช่อดอกส่วนมาก ออกตามง่ามใบ เป็นช่อกระจุก แน่นค่อนข้างกลม ดอกสีขาว หรือสีครีม ผลเป็นฝัก รูปขอบขนานแบน
ส้มป่อย มีการกระจายพันธุ์ ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ออกดอกเกือบตลอดปี
ตำรายาไทยใช้รากส้มป่อย แก้ไข้ แก้โรคในลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ ต้นใช้แก้น้ำตาพิการ เป็นยาระบาย เปลือกต้นช่วยระบาย แก้กษัย ทำให้เส้นเอ็นหย่อน ถ่ายเสมหะ และให้สีน้ำตาล ใช้ย้อมแห อวน เนื้อไม้ใช้ทำหวี ใบใช้แก้โรคตา ชำระเมือกมันในลำไส้ ฟอกล้างเสมหะ ฟอกล้างโลหิต แก้บิด ขับพยาธิในลำไส้ รักษาบาดแผลเรื้อรัง แก้เส้นเอ็นพิการ ขัดยอก ยอดอ่อนกินเป็นผัก ดอกใช้บำรุงธาตุ ฝัก เมื่อตีกับน้ำจะเกิดฟอง ใช้สระผมแก้รังแค ใช้เป็นยาปลูกผม ใช้ขัดล้างเครื่องเงิน เครื่องทอง ทางภาคเหนือใช้ลอยน้ำในพิธีรดน้ำดำหัว ๒๗/๑๗๑๕๔
๔๙๙๑. สมเสร็จ เป็นสัตว์สี่เท้า กีบคี่ เลี้ยงลูกด้วยนม มีขนาดวัดจากปลายจมูกถึงโคนหาง ๑๘๐ - ๒๕๐ ซม. ความสูงที่ช่วงไหล่ ๙๐ - ๑๐๕ ซม. น้ำหนักตัว ๒๕๐ - ๓๐๐ กก. จมูกมีลักษณะเป็นงวงสั้น ๆ ใช้เกี่ยวกิ่งไม้ใบไม้เข้าปาก
สมเสร็จ ชอบอยู่ในป่าค่อนข้างลึกและใกล้ ๆ น้ำ ว่ายน้ำและดำน้ำได้เก่ง เป็นสัตว์กินพืช ชอบนอนแช่ปลักโคลน มีอายุยืนประมาณ ๓๐ ปี
สมเสร็จ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่หนึ่ง ๒๗/๑๗๑๕๘
๔๙๙๒. สมอ เป็นชื่อพันธุ์ไม้หลายชนิด ฉะนั้นเพื่อความชัดเจนจึงมีการต่อท้ายคำเพื่อเน้นชนิดลงไปด้วย เช่น สมอไทย สมอพิเภก สมอดีงู เท่าที่กำหนดเป็นตัวหลักในการเรียกชื่อ ตามหนังสือพรรณไม้แห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๔ มีสิบชนิดด้วยกันคือ
๑. สมอขน เป็นต้นไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ต้นสูงประมาณ ๑๕ เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน ใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ดอกสีเหลืองหรือสีส้ม ออกรวมเป็นช่อกระจุก แยกแขนงเป็นช่อยาวตามปลายกิ่ง ผลมีเนื้อเมล็ดแข็ง รูปรี
๒. สมอกุ้ง เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง ๕ เมตร ใบเดี่ยว เรียงเวียนตามกิ่งรูปขอบขนาน แกมรูปใบหอก ดอกแยกเพศอยู่ข้างต้น ผลแห้งไม่แตก รูปกลมรี
๓. สมอจีน เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงถึง ๓๐ เมตร เปลือกเรียบสีขาวอมเทา มักมีชันหรือน้ำมันตามรอยปริ ใบประกอบแบบขนนก ติดเรียงเวียน ใบย่อยรูปไข่ รูปขอบขนาน แกมรูปใบหอก ดอกสีขาวอมเหลืองออกรวมกันเป็นช่อกระจุก แยกแขนงตามปลายกิ่ง และตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ผลมีเนื้อเมล็ดแข็งรูปรีแกมรูปไข่
ยางที่ได้จากเปลือกรวมทั้งเปลือกใช้ทำธูปหอม น้ำหอม น้ำมันระเหย และใช้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการพิมพ์ เนื้อผลใช้บริโภค หรือใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาอหิวาตกโรค แก้โรคปวดตามข้อ เมล็ดใช้น้ำมันใช้บริโภคได้ เช่นเดียวกับน้ำมันพืช
๔. สมอดีงู เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๓๐ เมตร เปลือกเรียบสีน้ำตาลปนเทา ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม หรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปรีแกมรูปขอบขนาน ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน ออกรวมเป็นช่อกระจะ ออกเป็นช่อเดี่ยวตามง่ามใบ ดอกแยกเพศ แต่รวมอยู่ในช่อเดียวกัน ผลแห้งมีเนื้อเมล็ดเดียว แข็งทรงรูปไข่
ผลใช้เป็นยาสมุนไพร ใช้ระบายท้อง ลดไข้ และแก้โลหิตเป็นพิษ ผลดิบใช้บริโภคแทนผัก
๕. สมอทะเล เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง ๘ เมตร มักแตกกิ่งต่ำ และลำต้นโค้งงอ ใบเดี่ยวติดเรียงเวียนตามกิ่ง รูปรี รูปขอขนานแกมรูปหอก ดอกแยกเพศ อาจอยู่ในช่อเดียวกัน หรือในต้นเดียวกัน ดอกสีเขียวอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อเชิงลด ผลแห้งแตกกลมโต มีเมล็ดเดียว
๖. สมอไทย เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ สูงถึง ๒๕ เมตร ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง ใบเดี่ยวติดตรงข้ามตามกิ่ง รูปรี รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ดอกสีขาว หรือเหลืองอ่อน กลิ่นหอมอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อกระจะ ผลมีเนื้อเมล็ดเดียว แข็งทรงรูปไข่
ผลและเปลือก ให้สีดำ สำหรับย้อมผ้า และแห อวน ผลสดใช้บริโภคแทนผัก และใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ
๗. สมอนั่ง เป็นไม้พุ่ม สูง ๑ - ๒ เมตร ลำต้นคดงอ ใบเดี่ยวติดเรียงตรงข้ามตามกิ่ง รูปไข่ หรือรูปรีแกมไข่ ดอกสีขาว หรือเหลืองอ่อน กลิ่นหอมอ่อน ออกรวมเป็นช่อกระจะ อาจเป็นช่อเดี่ยว หรือแยกแขนง ๓ - ๔ ช่อย่อย ตามปลายกิ่ง และง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ผลมีเนื้อเมล็ดเดียวแข็ง รูปรี หรือค่อนข้างกลม
เปลือกและผล ให้สีดำ สำหรับย้อมผ้าและแห อวน ผลสดใช้บริโภคแทนผักและใช้เป็นยาระบาย เช่นเดียวกับสมอไทย
๘. สมอใบขน เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง ๑๐ เมตร ใบเดี่ยวเรียงเวียนตามกิ่ง รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรี ดอกสีเหลือง แกมเขียวอ่อน ออกรวมเป็นช่อแบบช่อกระจะ ส่วนมากเป็นช่อเดียว ตามง่ามใบ ผลแบบผลแห้ง
๙. สมอพิเภก เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง ๔๐ เมตร โคนเป็นพุพอน เปลือกสีเทา อมขาวค่อนข้างเรียบ ใบเดี่ยวเรียงเวียนรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศแต่อยู่ในช่อเดียวกัน สีขาวหรือเหลืองอ่อน ออกรวมเป็นช่อกระจุกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ หรือเหนือรอบแผลใบ ใกล้ปลายกิ่ง ผลมีเนื้อเมล็ดเดียวแข็ง รูปไข่กลับ
ผลให้น้ำฝาด ใช้ในการฟอกหนัง ให้สีดำใช้ย้อมผ้าและแห อวน ใช้ทำน้ำหมึก และใช้เป็นยาสมุนไพร ป้องกัน หรือรักษาอหิวาตกโรค
๑๐. สมอร่อง เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง ๑๐ เมตร ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรีแกมรูปไข่ ดอกสีชมพู ออกรวมเป็นช่อกระจุก แยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง และตามง่ามใบ ใกล้ปลายกิ่ง ผลแห้งแตกรูปไข่ ๒๗/๑๗๑๖๐
๔๙๙๓. สมอง ดู มันสมอง - ลำดับที่ ๔๓๔๕ ๒๗/๑๗๑๗๑
๔๙๙๔. สมัน ดู กวาง - ลำดับที่ ๒๑๗ ๒๗/๑๗๑๗๑
๔๙๙๕. สมาคม เป็นคำบาลี และสันสกฤต แปลว่า การมารวมพวก รวมหมู่ หมายถึง การที่บุคคลหลายคนร่วมกัน กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่มวลสมาชิกด้วยกัน และสาธารณชนทั่วไป โดยที่การกระทำนั้น มิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไร และไม่เกี่ยวกับการเมือง
ในทางกฎหมาย ถือว่าสมาคมเป็นนิติบุคคลประเภทหนึ่ง และจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
การดำเนินการเพื่อจัดตั้งสมาคมแบ่งออกเป็นสองขั้นตอนคือ การขออนุญาตและการขอจดทะเบียน สมาชิกผู้ริเริ่มต้องประชุมจัดทำข้อบังคับของสมาคมขึ้นมาก่อน แล้วผู้ริเริ่มจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ร่วมกันลงลายมือชื่อในคำร้อง ของอนุญาตจัดตั้งสมาคม ถ้าสำนักงานของสมาคมที่ขอจัดตั้งนั้น อยู่ใน กทม. ให้ยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ถ้าอยู่ในจังหวัดอื่น ให้ยื่นที่ศาลากลางจังหวัด
เมื่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้รับคำร้องแล้ว จะตรวจสอบความถูกต้อง และพิจารณาวัตถุประสงค์ของสมาคม เกี่ยวกับงานของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงาน ฯ จะออกใบอนุญาต และแจ้งผู้ขอจัดตั้งมารับใบอนุญาต และไปดำเนินการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสมาคม
เมื่อนายทะเบียนพิจารณาเห็นว่า ผู้ขอได้ปฎิบัติถูกต้องตามขั้นตอน ที่กฎหมายกำหนด และมิใช่เป็นสมาคมการเมือง หรือเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่มีพฤติกรรมที่อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ผู้ริเริ่มไม่มีความประพฤติเสียหาย นายทะเบียนก็จะรับจดทะเบียนให้ โดยออกเป็นหนังสือ มอบไว้เป็นหลักฐานเรียกว่า ทะเบียนสมาคม ๒๗/๑๗๑๗๑
๔๙๙๖. สมาธิ มีบทนิยามว่า "ความตั้งมั่นแห่งจิต ; ความสำรวมใจให้แน่วแน่เพื่อให้จิตใจสงบ เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง" บทนิยามของสมาธิที่พบเสมอในพระไตรปิฎกคือ ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง หมายถึง การที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดได้นาน ไม่ฟุ้งซ่าน หรือซัดส่าย ไปอื่น
พระพุทธเจ้า ทรงอธิบายสมาธิไว้ในคัมภีร์อัฎฐกนิบาต ตอนหนึ่งว่า
"เพราะฉะนั้นแล ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักเป็นจิตที่ตั้งมั่น ดำรงแน่วเป็นอย่างดีภายใน และธรรมทั้งหลายที่ชั่วร้ายเป็นอกุศล จักไม่เกาะกุมจิตตั้งอยู่ได้ ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
"เมื่อใดแล จิตของเธอ เป็นจิตตั้งมั่นดำรงแน่วเป็นอย่างดีแล้ว ในภายในและธรรมทั้งหลายที่ชั่วร้ายเป็นอกุศล ไม่เกาะกุมจิตตั้งอยู่ได้ เมื่อนั้นเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ จักทำให้มากซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้งให้มั่นคง สั่งสมจัดเจน ทำให้สำเร็จได้เป็นอย่างดี ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
"เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นธรรมอันเธอได้เจริญ ได้กระทำให้มากอย่างนี้แล้ว เมื่อนั้นเธอพึงเจริญสมาธินี้ อันมีทั้งวิตก ทั้งวิจาร บ้าง อันไม่มีวิตก มีแต่วิจาร บ้าง อันมีปิติ บ้าง อันไม่มีปิติ บ้าง อันประกอบด้วยความฉ่ำชื่น บ้าง อันประกอบด้วยอุเบกขา บ้าง ฯลฯ "
จิตที่เป็นสมาธิ จะมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
๑. แข็งแรง มีพลังมาก เปรียบเหมือนกระแสน้ำที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทางเดียว ย่อมมีกำลังแรงกว่าน้ำที่ถูกปล่อยให้ไหลพร่า กระจายออกไป
๒. ราบเรียบ สงบซึ้ง เหมือนสระ หรือบึงน้ำใหญ่ ที่มีน้ำนิ่งไม่มีลมพัดต้อง ไม่มีสิ่งรบกวนให้กระเพื่อมไหว
๓. ใสกระจ่าง มองเห็นอะไร ๆ ได้ชัดเหมือนน้ำสงบนิ่ง ไม่เป็นริ้วคลื่น และฝุ่นละออง ที่มีก็ตกตะกอน นอนก้นหมด
๔. นุ่มนวล ควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน เพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่วุ่น ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย ๒๗/๑๗๑๗๖
๔๙๙๗. สมุทรปราการ จังหวัดในภาคกลาง มีพื้นที่ ๑,๐๐๔ ตร.กม. มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ กทม. ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.ฉะเชิงเทรา ทิศใต้จดทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตก ติดต่อกับ กทม.
ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มโดยตลอด เนื่องจากเป็นบริเวณตอนใต้สุดของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งอยู่ติดต่อกับอ่าวไทย มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจากเหนือไปใต้ แบ่งจังหวัดออกเป็นสองซีก นอกจากนั้น ยังมีคลองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ และการระบายน้ำ คลองสำคัญได้แก่ คลองสำโรง คลองสรรพสามิต และคลองด่าน
จ.สมุทรปราการ มีชายฝั่งทะเลยาว ๔๗.๕ กม. แต่เดิมบริเวณชายฝั่งทะเล มีป่าชายเลน ปกคลุมอยู่เป็นบริเวณกว้างขวาง แต่ปัจจุบันป่าชายเลน ถูกทำลายแผ้วถางไปเกือบหมด
ในด้านประวัติศาสตร์ ชื่อเมืองสมุทรปราการ มีปรากฎมาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๕๔ - ๒๑๗๑ โดยมีหลักฐานว่า พระองค์โปรดให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้น ณ บริเวณใต้คลองบางปลากด บนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านปากน้ำ คอยควบคุมดูแลเรือสินค้าของชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย ต่อมาได้ถูกทิ้งร้างไปเมื่อไทยเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.๒๓๑๐
สำหรับเมืองสมุทรปราการ ที่ตั้งขึ้น ณ สถานที่ปัจจุบันมาสร้างใหม่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเมืองตรงที่บางเจ้าพระยา คือ ต.ปากน้ำ ในปัจจุบัน สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๖ ในรัชกาลต่อ ๆ มาได้มีการขยายตัวเมืองให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และสร้างป้อมเพื่อป้องกันการโจมตีทางเรือของข้าศึก เพิ่มเติมขึ้นอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป้อมพระจุลจอมเกล้า ที่ ต. แหลมฟ้าผ่า ตรงบริเวณพื้นที่ ที่งอกออกไปในทะเลทางฝั่งขวา ของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นป้อมที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น
ใน จ.สมุทรปราการ ยังมีเมืองเก่าอีกแห่งหนึ่งคือ เมืองพระประแดง สันนิษฐานว่า ตั้งขึ้นตั้งแต่ครั้งขอม ยังปกครองดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างอยู่ ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้นชื่อ เมืองพระประแดง ได้ปรากฎเป็นหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มีข้อความระบุว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง โปรดให้ขุดลอกคลองสำโรง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๑ ได้เทวรูปทองสำริดสององค์ จึงโปรดให้สร้างศาลอัญเชิญเทวรูปดังกล่าว ประดิษฐานไว้ ณ เมืองพระประแดง
เมืองพระประแดง ในสมัยอยุธยาจะตั้งอยู่ ณ ที่ใด ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นที่ปากลัด เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๗ โดยตัดเอาท้องที่แขวงกรุงเทพ ฯ บ้าง แขวงเมืองสมุทรปราการ บ้าง รวมกันตั้งเป็นเมืองใหม่ พระราชทานนามว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ แต่เรียกกันเป็นสามัญว่า เมืองปากลัด
ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนนามเมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นจังหวัดพระประแดง ต่อมาได้ยุบจังหวัดนี้ ลงเป็นอำเภอขึ้น จ.สมุทรปราการ ๒๗/๑๗๑๘๓
๔๙๙๘. สมุทรสงคราม จังหวัดในภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับ จ.ราชบุรี ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.สมุทรสาคร ทิศใต้จดทะเลในอ่าวไทย และ จ.เพชรบุรี ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.เพชรบุรี มีพื้นที่ ๔๑๗ ตร.กม. เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มทั้งหมด มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านเข้ามาทางตอนเหนือ และตอนกลาง ของจังหวัดไปลงทะเลด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ค่อย ๆ ลาดลงสู่ฝั่งทะเล ทางด้านทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ ชายฝั่งทะเล ของจังหวัด ยาว ๒๒.๕ กม. ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายชายเลน และพื้นที่ดินเลน ที่งอกออกไปในทะเล
ในด้านประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่า แต่เดิมเป็นแขวงหนึ่งของเมืองราชบุรี เรียกว่า สวนนอก ต่อมาในสมัยปลายอยุธยาได้แยกออกจากเมืองราชบุรี ตั้งเป็นเมืองแม่กลอง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสมุทรสงคราม ในระยะเวลาต่อมา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้โอนเมืองสมุทรสงคราม ไปสังกัดกรมท่า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๗ เมืองสมุทรสงคราม ขึ้นกับการปกครองของมณฑลราชบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ เปลี่ยนคำว่า เมือง เป็น จังหวัด
ต.บางช้าง อ.อัมพวา เป็นสถานที่พระราชสมภพของ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปัจจุบันได้จัดสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไว้ ณ บริเวณใกล้เคียงวัดอัมพวันเจติยาราม อันเป็นพระนิเวศสถานดั้งเดิมของ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนี ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ๒๗/๑๗๑๘๙
๔๙๙๙. สมุทรสาคร จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับ จ.นครปฐม ทิศตะวันออก ติดต่อกับกรุงเทพ ฯ ทิศใต้จดทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับ จ.สมุทรสงคราม ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับ จ.ราชบุรี มีพื้นที่ ๘๗๒ ตร.กม.
ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มทั้งหมด มีแม่น้ำท่าจีน ไหลมาทางด้านเหนือของจังหวัด แล้วไหลลงทางทิศใต้ ไปลงทะเลในอ่าวไทย ชายฝั่งทะเลมีความยาว ๔๐.๕ กม. ส่วนใหญ่เป็นหาดโคลน เดิมมีป่าชายเลนปกคลุมหนาแน่น แต่ปัจจุบันถูกแผ้วถางไปมาก เพื่อทำนาเกลือ และนากุ้ง นอกจาก แม่น้ำท่าจีนแล้ว ยังมีคลองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่ คลองภาษีเจริญ คลองมหาชัย คลองสรรพสามิต คลองสุนัขหอน และคลองดำเนินสะดวก
ในด้านประวัติศาสตร์ จ.สมุทรสาคร เป็นเเมืองตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เรียกชื่อว่า สาครบุรี โดยยกฐานะจากหมู่บ้านท่าจีน ซึ่งเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นจากการมีเรือสำเภา ของพ่อค้าชาวจีนมาจอดแวะขนถ่ายสินค้า การตั้งเป็นเมืองก็เพื่อใช้เป็นที่ระดมพล ในเวลาเกิดศึกสงคราม เมืองนี้ เป็นทางที่พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา เสด็จผ่านในคราวประพาสชายทะเลเนือง ๆ มีศาลพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งเป็นนายท้ายเรือ พระที่นั่งสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่แปด (พระเจ้าเสือ) เมื่อเสด็จประพาสคลองโคกขาม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองสาครบุรี เป็นเมืองสมุทรสาคร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ได้เปลี่ยนเป็น จ.สมุทรสาคร
๕๐๐๐. สมุนไพร เป็นผลิตผลธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ โดยที่ยังไม่ได้แปรสภาพจากเดิม หรืออาจแปรสภาพบ้างเล็กน้อย ด้วยกรรมวิธีง่าย ๆ เช่น ตากแห้ง หั่น บดเป็นผงหยาบ เพื่อใช้เป็นยาบำบัดโรค บำรุงร่างกาย เช่น กระเทียม แก้ท้องอืด กำมะถัน รักษาโรคผิวหนัง เขากวาง ใช้บำรุงกระดูกและเอ็น นอกจากนี้ สมุนไพรยังใช้เป็นยาพิษได้ด้วย เช่น ผลสุกของต้นแสลงใจ ใช้เป็นยาเบื่อ
สมุนไพร แต่ละชนิด มีสรรพคุณในตัวเองเพียงพอที่จะใช้เดี่ยว ๆ ได้จึงเรียกว่า ยาสมุนไพร สมุนไพรบางชนิด อาจมีสรรพคุณมากเกินไป ทำให้เกิดอันตรายได้ จำเป็นต้องทำให้เจือจางลง โดยวิธีการฆ่าฤทธิ์ ซึ่งเรียกว่า การสตุ หรือการประสะ
รูปแบบของยาแผนโบราณ ที่ทำสืบต่อกันมาเป็นรูปแบบง่าย ๆ ได้แก่ ยาผง ยาต้ม ยาชง ยาลูกกลอน และยาดองเหล้า
แต่เดิมแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้าน จะปลูกต้นยา หรือพืชสมุนไพรไว้ใช้เองเป็นบางอย่าง อีกส่วนหนึ่ง จะออกไปเก็บในป่า แต่ปัจจุบันมักจะซื้อได้จากร้านขายยาสมุนไพร เกือบทุกชนิด ๒๗/๑๗๑๙๗
๕๐๐๑. สมุหนายก เป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี เจ้ากรมมหาดไทย มีหน้าที่บังคับบัญชา กิจการฝ่ายพลเรือน ตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา โปรดให้แบ่งหัวเมืองออกเป็น ฝ่ายเหนือ และฝ่ายใต้ โดยให้สมุหนายก มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทั้งกิจการฝ่ายทหารและพลเรือน ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปฎิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยตั้งกระทรวงขึ้นสิบสองกระทรวง มีเสนาบดีประจำทุกกระทรวง กรมมหาดไทยได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กระทรวงมหาดไทย สมุหนายกจึงถูกลดฐานะจากอัครมหาเสนาบดี ลงเป็นเสนาบดีเท่ากับเสนาบดีอื่น ๆ นับเป็นการสิ้นสุดตำแหน่ง สมุหนายก
ในสมัยอยุธยาตอนต้น การปกครองภายในราชธานี มีตำแหน่งเสนาบดีสำคัญสี่ตำแหน่ง เรียกว่า จตุสดมภ์ คือ เสนาบดีกรมเมือง หรือเวียง เสนาบดีกรมวัง เสนาบดีกรมคลัง และเสนาบดี กรมนา ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) ทรงปรับปรุงวิธีการปกครองส่วนกลาง โดยแบ่งขุนนางและไพร่พล ทั่วพระราชอาณาจักรออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายพลเรือน และฝ่ายทหาร โปรดให้ตั้งกรมมหาดไทย ขึ้นโดยมีสมุหนายก เป็นเจ้ากรม และเป็นหัวหน้าข้าราชการฝ่ายพลเรือน มีหน้าที่ดูแลกิจการฝ่ายพลเรือน ในหัวเมืองต่าง ๆ ทุกเมือง รวมทั้งเสนาบดีจตุสมดภ์ด้วย ทรงตั้งกรมพระกลาโหม มีสมุหพระกลาโหม เป็นเจ้ากรม และหัวหน้าราชการฝ่ายทหาร มีหน้าที่ดูแลกิจการฝ่ายทหาร ในราชธานี และทุกหัวเมือง ทั้งสมุหนายก และสมุหกลาโหม มีฐานะเป็น อัครเสนาบดี และเป็นประธานในคณะลูกขุนฝ่ายทหารและพลเรือน ในยามศึกสงครามทั้งทหารและพลเรือน ต่างต้องทำหน้าที่ในการสู้รบป้องกันบ้านเมืองเช่นเดียวกัน
ตำแหน่งสมุหนายก มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็น "เจ้าพญาจักรี" ศักดินา ๑๐,๐๐๐ มีตราพระราชสีห์ และตราจักร เป็นตราประจำตำแหน่ง เมื่อประชุมเสนาบดีทั้งหมด สมุหนายกจะเป็นประธานในการประชุม เพราะมีฐานะเป็นประมุขของเสนาบดี
สมุหนายก มีหน้าที่ติดต่อกับประเทศราช ในนามของพระมหากษัตริย์ แต่ไม่มีอำนาจปกครอง
ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๒๔๖) มีการแบ่งหัวเมืองในราชอาณาจักร ออกเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ให้สมุหนายกดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ สมุหกลาโหม ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ ในปลายสมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑) ได้มีการโอนอำนาจการปกครองหัวเมืองภาคใต้ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนให้แก่ เจ้าพระยาโกษาธิบดี เสนาบดีพระคลัง
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้โอนอำนาจการปกครองหัวเมืองภาคใต้ คืนให้สมุหกลาโหม ตั้งแต่หัวเมืองชายทะเลแปดเมือง รวมทั้งเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเดิมขึ้นกรมมหาดไทย รวมเป็นเก้าเมือง ให้เจ้าพระยาพระคลัง ปกครองโดยแบ่งหัวเมืองภาคใต้ฝ่ายตะวันตก ซึ่งขึ้นกับเจ้าพระยาพระคลัง สิบเก้าเมือง ขึ้นกับสมุหนายก หนึ่งเมืองคือ เพชรบุรี รวมยี่สิบเมือง มาขึ้นกับสมุหกลาโหม
ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ ได้มี " ประกาศปันน่าที่กระทรวงกระลาโหม มหาดไทย" ขึ้น โดยให้กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ในราชอาณาจักร ๒๗/๑๗๒๐๗
๕๐๐๒. สมุหพระกลาโหม เป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี เจ้ากรมพระกลาโหม มีหน้าที่บังคับบัญชากิจการฝ่ายทหาร ตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) ต่อมาสมุหพระกลาโหม มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองภาคใต้ ทั้งกิจการฝ่ายทหารและพลเรือน ต่อมาในปลายสมัยอยุธยา การบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ถูกโอนไปให้เสนาบดีกรมพระคลัง ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้โอนหัวเมืองภาคใต้ส่วนใหญ่ คืนให้สมุหพระกลาโหมปกครอง และให้ปกครองหัวเมืองประเทศราช ในแหลมมลายูด้วย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ยกฐานะกรมพระกลาโหมขึ้นเป็นกระทรวงกลาโหม สมุหพระกลาโหมเป็นเสนาบดี นับเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งนี้
สมุหพระกลาโหม มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็น "เจ้าพระยามหาเสนาบดี ฯ" ศักดินา ๑๐,๐๐๐ และมีตราพระคชสีห์ เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลกรมย่อยที่ขึ้นสังกัดสองกรมคือ กรมพระกลาโหมฝ่ายเหนือ และกรมพระกลาโหมฝ่ายพลำภัง
ในพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง แบ่งกรมฝ่ายทหารเป็นสี่ประเภทคือ
๑. กรมที่ทำหน้าที่เป็นกองทหารรักษาพระองค์ และพระราชอาณาเขตได้แก่ กรมทหารอาสาแปดเหล่า ซึ่งประกอบด้วยอาสาใหญ่ซ้ายขวา กรมอาสารองซ้ายขวา กรมเขมทองซ้ายขวา และกรมทวนทองซ้ายขวา นอกจากนี้ยังมีกรมมอญ ซึ่งแบ่งเป็นห้ากรมใหญ่ได้แก่ กรมดั้งทองซ้ายขวา กรมดาบสองมือ กรมอาทมาตซ้ายขวา กรมทหารเหล่านี้เมื่อเกิดสงคราม จะทำหน้าที่เป็นกองทหารหน้า ออกไปปราปปรามศัตรูเป็นประจำ ในยามสงบมีหน้าที่ลาดตระเวณตามชายแดน เพื่อสืบข่าวข้าศึก
๒. กรมที่ทำหน้าที่เป็นทหาร เข้ากระบวนเสด็จพระราชดำเนินในราชการสงครามได้แก่ กรมอาสาญี่ปุ่น กรมอาสาฐาน กรมฝรั่งแม่นปืน กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง กรมแตรสังข์ และกรมกลองชนะ กรมเหล่านี้จะถูกเกณฑ์ไปราชการทัพ เฉพาะเมื่อตามเสด็จพระมหากษัตริย์ในราชการสงคราม
๓. กรมที่ทำหน้าที่เป็นทหารรักษาพระองค์ มีกรมพระตำรวจหน้าแปดกรม กรมพลพัน กรมทนายเลือก กรมคู่ชัก ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์
๔. กรมช่างสิบหมู่ เดิมคงทำงานด้านการทหารเช่น การสร้างป้อมค่าย โรงเก็บสรรรพาวุธ ช่างหล่อปืนใหญ่ เป็นกรมฝ่ายทหารที่ขึ้นกับเจ้านายที่ทรงกำกับ ไม่ขึ้นกับสมุหพระกลาโหม
นอกจากนี้กรมพระกลาโหมยังบังคับบัญชากรมรักษาตึกดินกองดำดินและกรมกองแก้วจินดาด้วย
ในสมัยรัตนโกสินทร์ สมุหพระกลาโหมนอกจากจะมีหน้าที่ในด้านการทหารแล้ว ยังมีหน้าที่ควบคุมไพร่และรับผิดชอบการสักเลข ในหัวเมืองที่สังกัด รวมทั้งอำนาจหน้าที่ในการปกครองและด้านการศาลด้วย โดยมีอำนาจว่าการศาล ในราชธานีที่ขึ้นกรมพระกลาโหมคือ ศาลอาญา และยังมีหน้าที่ชำระคดีความหัวเมืองใต้บังคับบัญชาด้วย ๒๗/๑๗๒๑๗
|
Update : 27/5/2554
|
|