หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/151

    เล่ม ๒๗           สถานเสาวภา  -  สาละ , ต้น           ลำดับที่ ๔๙๗๗ - ๕๐๘๔        ๒๗/ ๑๗๐๕๓ - ๑๗๖๔๔

                ๔๙๗๗. สถานเสาวภา  เป็นหน่วยงานสังกัดสภากาชาดไทย มีความเป็นมา และภารกิจดังนี้
                        ในปี พ.ศ.๒๔๕๕  สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  มีพระดำริที่จะตั้งสถานที่ทำการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (โรคกลัวน้ำ)  ขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากพระธิดาของพระองค์ได้สิ้นชีพตักษัยด้วยโรคนี้ และในขณะนั้นประเทศไทย ยังไม่มีสถานที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ จึงได้อาศัยตึกหลวงที่ถนนบำรุงเมืองเป็นที่ผลิต และฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ ได้ย้ายงานทำพันธุ์หนองฝีป้องกันไข้ทรพิษ (โรคฝีดาษ)ที่นครปฐม เข้ามารวมกัน เปิดทำการเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ชื่อว่า ปาสตุรสภาตามชื่อของ หลุยส์ ปาสเตอร์ผู้ค้นพบวิธีฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้โอนปาสตุรสภา จากกระทรวงมหาดไทยไปสังกัดสภากาชาดไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น สถานปาสเตอร์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้พระราชทานที่ดินบริเวณหัวมุมถนนสนามม้า (ถนนอังรีดูนังต์) และเงินทุนสำหรับการสร้างตึกที่ทำการ พระราชทานนามว่า สถานเสาวภาเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕  ตั้งแต่นั้นมา กิจการของสถานปาสเตอร์ทั้งหมด จึงย้ายมาดำเนินการที่สถานเสาวภา
                       ในการดำเนินการระยะแรก ได้แบ่งกิจการออกเป็นสามแผนกคือ
                       ๑. แผนกรักษาโรคมนุษย์  แบ่งเป็นห้าหมวด คือ หมวดกันโรคพิษสุนัขบ้า หมวดกันโรคไข้ทรพิษ หมวดทำวัคซีน หมวดเซรุ่ม และหมวดตรวจแยกธาตุ
                       ๒. แผนกรักษาสัตว์  แบ่งเป็นสองหมวดคือ หมวดทำวัคซีน และหมวดทำเซรุ่ม
                       ภารกิจหลักในปัจจุบัน มีสามประการคือ
                       ๑. งานผลิต ที่สำคัญได้แก่ การผลิตชีววัตถุ คือ เซรุ่ม และวัคซีน
                       ๒. งานวิจัยและพัฒนา สถานเสาวภาได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก สำหรับวิจัยเรื่องพิษสุนัขบ้า และการวิจัยเรื่องงูพิษ
                       ๓. งานบริการ  มีทั้งบริการทางคลีนิค และการบริการสวนงู        ๒๗/๑๗๐๕๓
                ๔๙๗๘. สน, ต้น  เป็นพืชพวกไม้เนื้ออ่อน หรือพืชเมล็ดเปลือย หรือพืชใบเรียวแคบ คล้ายเข็ม หรือเส้นลวด หรือเป็นเกร็ด นอกจากนี้ ยังใช้เรียกพืชพวกไม้เนื้อแข็งที่ออวุล  มีผิวรังไข่ห่อหุ้มมิดชิดบางชนิด ที่มีรูปทรงของใบคล้ายรูปเข็ม หรือเส้นลวด หรือคล้ายเหล็กหมาด อีกด้วย
                         ไม้ถิ่นเดิมในประเทศไทย ได้แก่
                         ๑. สนสองใบ สนหางม้า สนหางหมา หรือสนเขา  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง ๓๐ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปกรวย หรือกลม กิ่งมักคดงอ เป็นข้อศอก ลำต้นเปลาตรง ใบเรียว แข็งออกเป็นกระจุก กระจุกละสองใบ และติดเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อ ในต้นเดียวกัน ผลหรือโคน เป็นรูปกรวยค่อนข้างยาว รูปไข่ พบขึ้นเป็นกลุ่มทั่วไปทั่วทุกภาค ยกเว้น ภาคตะวันออกและภาคใต้ สนสองใบให้ปริมาณยางสนสูงกว่าสนสามใบ เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน ถึงสีน้ำตาลอมชมพู มีวงปีเห็นชัด และมีน้ำมันหรือยางสีเหลืองอ่อนซึมอยู่ในส่วนที่เป็นกระพี้ ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างภายในร่ม และไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก
                         ๒. สนสามใบ หรือสนเขา  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง ๓๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ลักษณะต่าง ๆ คล้ายสนสองใบ ต่างกันที่สนสามใบ มีใบออกเป็นกระจุก กระจุกละสามใบ ผลหรือโคนมีลักษณะป้อม หรือรูปกรวยคว่ำ ขึ้นเป็นกลุ่มในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่าสนเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐ - ๑,๖๐๐ เมตร ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับสนสองใบ
                        ๓. สนสามพันปี สนสร้อย หรือสนหางกระรอก  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง ๓๕ เมตร ไม่ผลัดใบเรือนยอดรูปทรงกลม ปลายกิ่ง ห้อยลู่ลง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง ใบเดี่ยวมีสองรูป ใบตามกิ่งอ่อน จะเรียวเป็นรูปเข็ม หรือรูปเหล็กหมาด ใบงุ้มเข้าติดเรียงกันเป็นพวง ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อในต้นเดียวกัน ผลหรือเมล็ดเล็ก รูปไข่ ผิวเกลี้ยงเป็นมัน สีแสด การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ พบขึ้นกระจายทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ตามป่าดิบเขา สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐ - ๑,๓๐๐ เมตร  เนื้อไม้สีน้ำตาลปนแดง ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างในร่ม ทำเครื่องตกแต่งบ้าน เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก และทำเยื่อกระดาษได้ดี น้ำมันที่กลั่นได้จากเนื้อไม้ ทำน้ำมันชักเงา และผสมสี
                         ๔. สนใบพาย หรือสนใบเล็ก  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง ๘ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปกรวย หรือรูปทรงกลม ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง ใบเดี่ยวติดเวียนถี่ ตามปลายกิ่ง ใบรูปขอบขนาน หรือรูปหอกแคบ ๆ ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อ และต่างต้นกัน ผลหรือเมล็ดเล็กรูปไข่ การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเพาะ พบขึ้นกระจายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่าดิบ สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐ - ๑,๐๐๐ เมตร เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ถึงสีน้ำตาล ใช้ทำเครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก และด้ามเครื่องมือเกษตรกรรม
                          ๕. สนแผง หรือสนใบต่อ  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง ๓๐ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปพิรามิด หรือกลม ปลายกิ่งห้อยลู่ลง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง ใบเดี่ยวเป็นเกล็ด ติดตรงข้ามและสลับทิศทางกัน ติดลู่แนบไปกับกิ่งคล้ายลายกนก ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อในต้นเดียวกัน ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก  การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ พรรณไม้ต้นแบบได้จากภาคใต้ของจีน พบขึ้นกระจายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่าดิบเขาสูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐ - ๑,๓๐๐ เมตร เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ถึงสีน้ำตาลแดง กลิ่นหอมอ่อน ใช้ต่อเรือ ทำเครื่องตกแต่งบ้าน สิ่งปลูกสร้างภายในร่ม และใช้เป็นไม้หุ้มแกนดินสอ
                           ๖. สนกระ  เป็นพุ่ม สูง ๒ เมตร ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ แต่ละคู่สลับทิศทางกัน ใบรูปรีแกมหอก ดอกรูปแจกันสีขาว กลิ่นหอมอ่อน เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกเดี่ยว ๆ หรือรวมกันเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ผลเล็กกลม เป็นชนิดผลเมล็ดแข็ง  การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะชำ หรือตอนกิ่ง พบขึ้นทั่วทุกภาคตามป่าดิบ เขาสูง จากระดับน้ำทะเล ๕๐ - ๑,๒๐๐ เมตร ปลูกเป็นไม้ดอก และไม้ประดับ
                           ๗. สนทราย สนนา  สนแดงสนสร้อยไก่ สนหางไก่ สนเทศ สนสร้อยหรือ สนหอม เป็นไม้พุ่ม สูงไม่เกิน ๕ เมตร ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยว ติดตรงข้ามกันเป็นคู่ ทำให้เกิดเป็นพวง ใบรูปเข็ม หรือรูปเหล็กหมาด ยาวไม่เกิน ๑ ซม. ผิวใบมีต่อมน้ำมันทั่วไป ใบแห้งมีกลิ่นหอมอ่อน ดอกสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อน ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ผลกลมเล็ก การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเพาะ พบตามที่โล่งหรือป่าหญ้า ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐ - ๑,๒๐๐ เมตร ปลูกเป็นไม้ประดับ กิ่งเล็ก ใบและดอกมีกลิ่นหอม ใช้ชงน้ำแทนชาดื่ม เพื่อลดไข้
                            ๘. สนทะเล  เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ สูง ๓๐ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปเจดีย์ หรือรูปกรวย กิ่งชี้ขึ้นแต่ปลายกิ่งจะลู่ลงเล็กน้อย กิ่งอ่อนเรียวคล้ายเส้นลวด และต่อเป็นปล้อง ๆ ออกรวมกันเป็นกลุ่มคล้ายแส้ม้า ลำต้นเปลาตรง มักแตกกิ่งต่ำ ใบเดี่ยวคล้ายเกล็ดแหลม ติดรอบข้อของกิ่งอ่อน ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เป็นดอกแยกเพศ อยู่ต่างช่อในต้นเดียวกัน ผลเป็นชนิดผลแห้ง แตกออกรมกันเป็นก้อนกลม การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ พบตามชายฝั่งทะเล ทั้งด้านอ่าวไทย และมหาสมุทรอินเดีย ตามป่าชายหาด เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแดง มีเสี้ยน แปรรูปยากใช้ทำเสา คานที่รองน้ำหนักมาก ๆ เปลือกให้น้ำฝาด และสี ใช้ย้อมแห อวน หรือตาข่ายจับปลา นิยมปลูกเป็นไม้กำบังลม เป็นไม้แต่งกิ่ง และให้ร่มเงา
                         พรรณไม้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ได้แก่
                            ๑. สนประดิพัทธ์  เป็นไม้ต้น มีขนาดลักษณะรูปทรงคล้ายสนทะเล แต่เรือนยอดชะลูดไม่แตกกิ่งใหญ่ ใบตามข้อกิ่งอ่อน มีข้อละ ๙ - ๑๑ ใบ ช่อดอกเพศตัวผู้และเพศตัวเมีย อยู่ต่างต้นกัน นิยมปลูกเป็นสวนป่า ปลูกสองข้างถนน และปลูกประดับ เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแดง เหนียวและแข็งมาก ใช้ทำเสากระโดงเรือ เสาโป๊ะ เสาเข็ม ทำด้ามเครื่องมือทางเกษตรกรรม เครื่องกลึงและเครื่องแกะสลัก
                            ๒. สนปัตตาเวีย  เป็นไม้ต้น มีขนาดลักษณะและรูปร่างคล้ายสนประดิพัทธ์ หรือสนทะเล แต่ใบตามช่อกิ่งอ่อนมีข้อละสี่ใบ ช่อดอกเพศผู้ และเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับสนทะเล และสนประดิพัทธ์
                            ๓. สนก้างปลา  เป็นไม้เถาล้มลุก ทุกส่วนมียางเหนียว ใบเดี่ยว รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ดอกรูปแตร สีแดงเข้ม เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผลเป็นชนิดแห้ง แตกรูปทรงกลม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
                            ๔. สนราชินี  เป็นไม้เถาล้มลุก มีเหง้า และรากเป็นพวงใต้ดิน ลำต้นหรือเถามีหนามสั้น ๆ ใบเดี่ยวรวมเป็นกระจุก รอบกิ่งย่อย ใบรูปเข็ม หรือรูปเหล็กหมาด ดอกสีขาว สมบูรณ์เพศออกเดี่ยว ๆ ไม่เกินสองดอก ตามง่ามใบ ผลเล็กกลม เป็นชนิดเมล็ดแข็ง ปลูกเป็นไม้ประดับ
                            ๕. สนอินเดีย  เป็นไม้ต้น สูงถึง ๒๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอด รูปเจดีย์ หรือรูปกรวย ใบเป็นช่อเรียงเวียนตามปลายกิ่ง ดอกสมบูรณ์เพศ สีเหลืองหรือสีแสด ออกรวมเป็นช่อ ผลกลม เป็นชนิดผลแห้งแตก ปลูกเป็นไม้ประดับ และให้ร่มเงา
                            ๖. สนปอย หรือสนหมอก  เป็นไม้พุ่มเตี้ยไม่ผลัดใบ กิ่งย่อยออกเวียนลำต้น ใบเดี่ยว คล้ายเกร็ดแหลม ๆ ติดเรียงสลับ ดอกเล็กสีขาวหรือขาวอมชมพู ดอกสมบูรณ์เพศ ออกรวมกันเป็นช่อ ตามปลายกิ่งหรือง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ผลเล็กกลมมีสามพู นำมาปลูกเป็นไม้กระถาง และไม้ประดับสวน
                         กลุ่มพืชเมล็ดเปลือย
                            ๑. สนจีน  สนข้าวเปลือก สนหนามจีน สนญี่ปุ่น หรือสนหูเสือ เป็นไม้ต้นสูงถึง ๒๐ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปเจดีย์ หรือค่อนข้างกลม กิ่งชูตั้งขึ้น ใบเดี่ยวติดตรงข้ามเป็นคู่ ทรงใบคล้ายเกล็ด หรือรูปเหล็กหมาดสั้น ๆ ดอกเล็กแยกเพศอยู่ต่างช่อ ในต้นเดียวกัน ผลกลมแข็ง ปลูกเป็นไม้ประดับ
                            ๒. สนทอง  ลักษณะต่าง ๆ เช่นเดียวกับสนจีน แต่สนทอง ออกสีเหลืองอ่อน และเป็นไม้พุ่มเตี้ย
                            ๓. สนหางสิงห์สนเทศ หรือสนแผง  เป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้นเล็ก สูงถึง ๑๐ เมตร ไม่ผลัดใบ มักแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดรูปพีระมิด หรือค่อนข้างกลม ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามและสลับทิศทางกัน ใบรูปสามเหลี่ยมคล้ายเกล็ด แนบกับกิ่ง ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อ ในต้นเดียวกัน ผลกลมหรือรูปไข่ ปลูกเป็นไม้ประดับ
                            ๔. สนข้าวเม่า  เป็นไม้ต้น สูงถึง ๒๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง ใบเดี่ยวติดตรงข้าม หรือเยื้องกันเล็กน้อย ใบรูปรีแกมรูปหอก ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อและต่างต้นกัน ผลรูปไข่มีกาบเรียงซ้อนกัน หุ้มคล้ายเกล็ด ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่ว ๆ ไป น้ำมัน หรือชัน ทำน้ำมันชักเงาที่มีคุณภาพสูง
                            ๕. สนหนาม  เป็นไม้ต้นสูงถึง ๓๐ เมตร ไม่ผลัดใบ กิ่งอ่อนมักแยกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลำต้นเปลาตรง ใบเดี่ยวเรียงเวียนไปตามกิ่ง ใบรูปหอก แกมรูปขอบขนาน ปลายเป็นหนามแหลม โคนใบสอบ ไม่เห็นก้านใบ ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อและต่างต้นกัน ผลรูปไข่หรือรูปกรวย มีกาบเรียงซ้อนเกยกัน คล้ายเกล็ด นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่วไป
                            ๖. สนหนาม  เป็นไม้ต้นสูงถึง  ๔๐ เมตร  ไม่ผลัดใบ กิ่งอ่อนมักแยกตรงกันข้าม ใบเดี่ยวเรียงเวียนถี่ ๆ ใบรูปเข็ม หรือรูปเหล็กหมาดงุ้มเข้า ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อและต่างต้นกัน ผลเป็นรูปไข่หรือรูปกรวย มีกาบเรียงซ้อนเกยกันคล้ายเกล็ด นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่วไป
                            ๗. สนฉัตร  ลักษณะทั่ว ๆ ไปคล้ายสนหนาม แต่ผลมีขนาดใหญ่กว่า ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง
                            ๘. สนฉำฉา  เป็นไม้ต้นสูงถึง ๒๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปหอก แกนขอบขนาน ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อและต่างต้นกัน ผลเป็นเมล็ด มีลักษณะกลม นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ หรือไม้กระถาง
                            ๙. สนญี่ปุ่น  หรือ สนใบพาย  ลักษณะทั่ว ๆ ไป คล้ายสนฉำฉา แต่สนญี่ปุ่นเป็นไม้พุ่ม ใบมีขนาดเล็ก ติดกิ่งดูเป็นพวงตามปลายกิ่ง ปลูกเป็นไม้ประดับ
                            ๑๐. สนญี่ปุ่น  เป็นไม้ต้นสูงถึง ๕๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดรูปเจดีย์ ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ ๆ ตามกิ่งอ่อน ใบรูปเข็ม หรือเหล็กหมาด ปลายใบงุ้มเข้าแข็ง และแหลมคล้ายหนาม ดอกแยกเพศแต่อยู่ในต้นหรือกิ่งเดียวกัน ดอกเพศผู้สีเหลืองอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อเล็ก ๆ รูปไข่ และมีมากช่อ เป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง หรือตามง่ามใบ ใกล้ปลายกิ่ง และอยู่เหนือกลุ่มช่อดอกเพศเมีย ผลหรือโคน มีลักษณะกลมแข็งประกอบด้วย กาบปลายแหลม ชอบขึ้นตามภูเขา เนื้อไม้สีขาว มีความแข็งแรง และทนทานสูงมาก
                            ๑๑. สนหนามจีน  เป็นไม้ต้น สูงถึง ๓๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดรูปกรวย หรือค่อนข้างกลม ดอกแยกเพศ แต่อยู่ในต้นและกิ่งเดียวกัน ผลเป็นรูปทรงกลม หรือป้อม ประกอบด้วยกาบที่มีปลายแหลม คล้ายหนาม ปลูกเป็นไม้ประดับ         ๒๗/๑๗๐๕๘
                ๔๙๗๙. สนธิสัญญา  เป็นคำที่ใช้กันในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๒  ได้กำหนดนิยามของสนธิสัญญาไว้ในมาตรา ๒ (๑) (เอ) ว่า  "สนธิสัญญา หมายความถึง ความตกลงระหว่างประเทศ ที่ได้ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างรัฐต่าง ๆ และอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ไม่ว่าจะปรากฎในตราสารฉบับเดียว หรือสองฉบับ หรือตราสารที่เกี่ยวข้องกันมากกว่านั้นขึ้นไป และจะมีชื่อเฉพาะว่าอย่างไรก็ตาม"  ด้วยเหตุนี้ ความหมายของสนธิสัญญาจึงได้แก่ ความตกลงระหว่างรัฐ ผู้มีอำนาจอธิปไตยเพื่อให้มีผลทางกฎหมาย
                        นักกฎหมายบางคน มีความเห็นว่า ความหมายของสนธิสัญญานี้ สามารถแบ่งออกได้เป็นสองนัยคือ ความหมายอย่างแคบ และความหมายอย่างกว้าง ในความหมายอย่างแคบ หรือที่เรียกว่า  "สนธิสัญญาชนิดทำเต็มตามแบบ" หมายถึง ตกลงระหว่างรัฐอันมีอธิปไตย เพื่อให้มีผลบางประการแก่รัฐที่ได้ตกลงกันนั้น โดยความตกลงดังกล่าว จะมีผลต่อเมื่อผ่านแบบพิธีการ ให้สัตยาบันแล้ว เป็นการผ่านแบบพิธีสามระยะได้แก่ การเจรจา การลงนาม และการให้สัตยาบัน ส่วนความหมายอย่างกว้าง หรือที่เรียกว่า "สนธิสัญญาชนิดทำตามแบบย่อ"  หมายถึง ความตกลงระหว่างรัฐอันมีอธิปไตย เพื่อให้มีผลบางประการนั้น โดยไม่จำกัดว่า ความตกลงนี้ต้องทำผ่านแบบพิธีในการให้สัตยาบัน ทั้งนี้ สนธิสัญญาเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการเจรจา แล้วมีการลงนาม ก็มีผลตามกฎหมาย
                         ความสำคัญของสนธิสัญญา  ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ถือว่าสนธิสัญญาเป็นบ่อเกิด หรือที่มาแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ โดยพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา ๓๘ แห่งพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้กำหนดให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัย เพื่อพิพากษาและบังคับคดีได้แก่
                            ๑. สนธิสัญญาหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ ไม่ว่าทั่วไปหรือโดยเฉพาะ ซึ่งตั้งกฎเกณฑ์อันเป็นที่รับรองของรัฐ ที่เกี่ยวข้องโดยชัดแจ้ง
                            ๒. จารีตประเพณีระหว่างประเทศ ในฐานะเป็นหลักฐานแห่งการปฎิบัติโดยทั่วไป ซึ่งได้รับการรับรองว่าเป็น กฎหมาย
                            ๓. หลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งอารยประเทศรับรอง ส่วนคำพิพากษาของศาล และคำสอนของนักนิติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ไม่ถือว่า เป็นบ่อเกิดหรือที่มาแห่งกฏหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นเพียงเครื่องช่วยให้ศาล วินิจฉัยหลักกฎหมายเท่านั้น
                         องค์ประกอบของสนธิสัญญา  มีสี่ประการได้แก่
                            ๑. เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่ทำขึ้น เพื่อก่อให้เกิดความผูกพันตามที่ได้ตกลงกันไว้ ระหว่างภาคีแห่งสนธิสัญญาแต่ละฉบับนั้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงความตกลงระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศด้วย นักกฎหมายบางท่านมีความเห็นว่า สนธิสัญญาเป็นนิติกรรมสองฝ่าย หรือหลายฝ่าย ส่วนคำมั่น คำแถลงการณ์ที่อธิบาย หรือแสดงความคิดเห็น หรือคำประกาศ ซึ่งรับได้แสดงออกฝ่ายเดียว เช่น ข้อเสนอ บันทึกช่วยจำ และคำประกาศสงคราม ไม่ใช่สนธิสัญญา
                            ๒. เป็นความตกลงระหว่างผู้มีอำนาจอธิปไตย ตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป รวมถึงองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีด้วย
                            ๓. เป็นความตกลงที่ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
                            ๔. เป็นความตกลงที่อยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
                         การแบ่งประเภทสนธิสัญญา  เพื่อประโยชน์ในการเข้าใจลักษณะ และความหมายของสนธิสัญญา โดยอาจพิจารณาได้สองแนวทางคือ
                            ๑. การแบ่งตามเนื้อหา  อาจแยกพิจารณาตามสาระของสนธิสัญญา ได้แก่
                                ก. สนธิสัญญาเสมอภาค และสนธิสัญญาไม่เสมอภาค
                                ข. สนธิสัญญาประเภทสัญญา และสนธิสัญญาประเภทกฎหมาย
                            ๒. การแบ่งตามรูปแบบ  อาจแยกพิจารณาตามรูปแบบ การจัดทำสนธิสัญญาเป็นหลัก
                                ก. การแบ่งประเภทของคู่สนธิสัญญา
                                ข. การแบ่งตามจำนวนของคู่สนธิสัญญา เช่น สนธิสัญญาสองฝ่าย สนธิสัญญาหลายฝ่าย
                                ค. การแบ่งตามกระบวนการจัดทำสนธิสัญญา โดยพิจารณาแบบพิธีของการจัดทำสนธิสัญญาคือ การเจรจา การลงนาม และการให้สัตยาบัน
                         การจัดทำสนธิสัญญา  ภายใต้สนธิสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วย กฎหมายสนธิสัญญา พ.ศ.๒๔๕๒ ได้กำหนดวิธีการจัดทำสนธิสัญญาไว้ โดยได้แบ่งวิธีทำสนธิสัญญา ชนิดทำเต็มตามแบบ ไว้สามระยะคือ  การเจรจา การลงนาม การให้สัตยาบัน
                         ความไม่สมบูรณ์ของสนธิสัญญา  มีผลให้รัฐ ซึ่งเป็นคู่สัญญาใช้อ้างปฎิเสธความผูกพัน ตามสนธิสัญญาที่ได้จัดทำขึ้น ได้แก่
                            ๑. ความสำคัญผิด  เป็นกรณีที่รัฐเข้าทำสนธิสัญญา โดยสำคัญผิดเกี่ยวกับปัจจัย หรือสถานการณ์ ซึ่งรัฐถือว่ามีอยู่ในขณะเข้าทำสนธิสัญญา และเป็นสาระสำคัญต่อความยินยอมให้ถูกผูกพันตามสนธิสัญญา เว้นแต่รัฐผู้อ้างความไม่สมบูรณ์ของสนธิสัญญา จากความสำคัญผิดนั้น มีส่วนโดยพฤติกรรมของตนเองในความสำคัญผิด หรือควรรู้ว่ามีความผิดพลาดเช่นนั้น ตามมาตรา ๔๘ แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา
                            ๒. กลฉ้อฉล  เป็นการหลอกลวงโดยรัฐ ซึ่งเป็นคู่เจรจาชักจูงให้อีกรัฐได้ตกลงเข้าทำสนธิสัญญา ตามมาตรา ๔๙ แห่งอนุสัญญา ฯ
                            ๓. ความทุจริต  เป็นความประพฤติมิชอบทุจริตของผู้แทนรัฐ โดยรับสินบนจากรัฐคู่เจรจา เป็นผู้ให้แก่ผู้แทนนั้น ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ตามมาตรา ๕๐ แห่งอนุสัญญา ฯ
                            ๔. การขู่เข็ญบังคับ  เป็นการใช้กำลัง หรือการขู่เข็ญ บีบบังคับแก่ผู้แทนรัฐ ที่ทำการเจรจาในการจัดทำสนธิสัญญานั้น อันทำให้สนธิสัญญานั้นไร้ผลทางกฎหมาย ตามมาตรา ๕๑ แห่งอนุสัญญา ฯ
                            ๕. การขัดต่อกฎหมายเด็ดขาด  เป็นการตกลงที่มีสาระสำคัญอันขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีหลักการมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับ และรับรองกันโดยประชาคมโลก ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการตกลงเลี่ยงหลักการนั้น
                         ผลของสนธิสัญญา  สนธิสัญญาย่อมมีผลตามกฎหมาย หรือบังคับต่อรัฐที่เป็นคู่สนธิสัญญาโดยตรง นักกฎหมายทั่วไปเห็นว่า สนธิสัญญาที่สมบูรณ์ก่อให้เกิดหนี้ผูกพันต่อรัฐเท่านั้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลในรัฐ ที่เป็นคู่สนธิสัญญาสองกลุ่ม ได้แก่
                            ๑. ผลของสนธิสัญญาต่อองค์กรปกครองของรัฐภาคีสนธิสัญญา  องค์กรปกครองของแต่ละรัฐคือ กลุ่มผู้ปกครองในรัฐนั้น ผลผูกพันสำคัญประการแรกแก่องค์การปกครองแห่งรัฐ ต่อสนธิสัญญาก็คือ การกระทำในฐานะตัวแทนแห่งรัฐสภาคือ สนธิสัญญาที่จะต้องงดเว้นการกระทำใด ๆ ที่อาจมีผลทำให้วัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาตกเป็นอันไร้ผล ตามมาตรา ๑๘ แห่งอนุสัญญา ฯ
                            ๒. ผลของสนธิสัญญาต่อประชาชนของรัฐที่เป็นคู่สัญญา  เมื่อสนธิสัญญามีผลผูกพันระหว่างรัฐต่อรัฐที่เป็นคู่สัญญาแล้ว ย่อมทำให้องค์กรปกครองแห่งรัฐนั้น ๆ ต้องจัดให้เป็นสาระสำคัญแห่งความตกลงในสนธิสัญญา เป็นส่วนหนึ่งในระเบียบภายในของรัฐด้วย
                         ความสิ้นสุดแห่งสนธิสัญญา  สาเหตุแห่งการสิ้นสุดสนธิสัญญามีสี่ประการ ได้แก่
                            ๑. ความตกลงยินยอมยกเลิกของคู่สนธิสัญญา  มาตรา ๕๔ แห่งอนุสัญญา ฯ ได้กำหนดให้การสิ้นสุดของสนธิสัญญา อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ โดยความยินยอมของภาคีสนธิสัญญาทั้งหมดของสนธิสัญญา ส่วนความตกลงยกเลิกสนธิสัญญานั้น อาจกระทำโดยสนธิสัญญาเฉพาะ เพื่อการยกเลิกสนธิสัญญานั้น หรืออาจปรากฎอยู่ในข้อกำหนดปลีกย่อย ในสนธิสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีการตกลงยกเลิกสนธิสัญญาโดยปริยายระหว่างภาคี แห่งสนธิสัญญา
                            ๒. คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสนธิสัญญา  โดยหลักทั่วไป สนธิสัญญาแต่ละฉบับไม่อาจถูกยกเลิกไปด้วยความประสงค์ ของคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่มีข้อยกเว้น บางกรณีที่อาจกระทำได้ ซึ่งต้องกระทำตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๖ แห่งอนุสัญญา ฯ กล่าวคือ
                                ก. กรณีที่ปรากฎโดยเจตจำนงค์ของภาคี ในการยอมรับการบอกเลิกหรือการถอนตัวจากสนธิสัญญา ส่วนวิธีการบอกเลิก หรือการถอนตัวจากสนธิสัญญาฝ่ายเดียวคือ ภาคีจะต้องแจ้งเจตน์จำนงของตนเป็นหนังสือ ก่อนการบอกเลิก หรือถอนตัวจากสนธิสัญญาแก่ภาคีอื่น ๆ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า สิบสองเดือน
                                ข. กรณีเมื่อสิทธิในการบอกเลิก หรือถอนตัวจากสนธิสัญญาเป็นสิทธิที่เกิดขึ้น โดยปริยายจากลักษณะของสนธิสัญญานั้น
                            ๓. การไม่ปฎิบัติตามสนธิสัญญา  เมื่อภาคีแห่งสนธิสัญญา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฎิบัติตามสนธิสัญญา แล้วมาตรา ๖๐ แห่งอนุสัญญา ฯ ได้กำหนดให้ภาคีอื่น ในสนธิสัญญาสามารถกล่าวอ้าง การละเมิดสนธิสัญญามาเป็นเหตุในการทำสนธิสัญญาสิ้นสุด หรือระงับใช้สนธิสัญญานั้นไว้ทั้งหมด หรือแต่บางส่วนได้
                            ๔. พฤติการณ์บางประการที่ทำให้เลิกสนธิสัญญา ได้แก่
                                ก. พฤติการณ์เป็นพ้นวิสัย มาตรา ๖๑ แห่งอนุสัญญา ได้กำหนดให้ภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา สามารถอ้างกรณีการบังคับตามสนธิสัญญา ตกเป็นพ้นวิสัยมาเป็นเหตุให้สนธิสัญญาสิ้นสุดลงได้ หากว่าการพ้นวิสัยนั้น ทำให้วัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาที่เป็นสาระสำคัญ ของการบังคับตามสนธิสัญญาดังกล่าวสิ้นไป
                                ข. สภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงไป มาตรา ๖๒ แห่งอนุสัญญา ฯ กำหนดไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญต่อสภาวการณ์ที่เคยมีอยู่ในขณะจัดทำสนธิสัญญา และไม่อาจคาดหมายได้โดยภาคีสนธิสัญญา และไม่อาจคาดหมายได้โดยภาคีสนธิสัญญา ย่อมไม่อาจนำมากล่าวอ้างให้เป็นเหตุให้สนธิสัญญาสิ้นสุดลง เว้นแต่เป็นกรณีที่ว่า การคงอยู่ของสภาวการณ์ดังกล่าวนั้น เป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความยินยอมของภาคี ที่จะผูกพันตามสนธิสัญญาประการหนึ่ง และเป็นกรณีที่ก่อให้เกิดผลอย่างรุนแรง ต่อขอบเขตเนื้อหาของพันธกรณีในการปฎิบัติตามสนธิสัญญาอีกประการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วย การกำหนดเขตแดนก็ดี หรือเป็นผลมากจากการละเมิดพันธกรณีของสนธิสัญญา โดยการกระทำของภาคีผู้กล่าวอ้างนั้นก็ดี  ก็ไม่อาจนำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มาใช้เป็นเหตุกล่าวอ้าง เพื่อให้สนธิสัญญาสิ้นสุดลงแต่อย่างใด         ๒๗/๑๗๐๙๐


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch