หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/150

    ๔๙๖๑. ศุลกากร  มีบทนิยามว่า "อากรที่เรียกเก็บจากสินค้าเข้า และสินค้าออก ได้แก่ อากรขาเข้าและอากรขาออก"
                    ในการเก็บภาษีอากรจากสินค้าเข้าและสินค้าออก สันนิษฐานว่าคงจะมีการจัดเก็บกันมาตั้งแต่สมัยเริ่มมีการก่อตั้งบ้านเมือง
    หลักฐานเก่าที่สุดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรเท่าที่พบก็มีเพียงในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ฯ
                    ในสมัยอยุธยา การค้ากับต่างประเทศเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ได้เกิดหน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยตรงเรียกว่า พระคลังสินค้า ทำการค้าแทนรัฐกับพ่อค้านานาชาติ โดยระบบที่เรียกว่า การค้าผูกขาด พระคลังสินค้าจะเป็นผู้กำหนดประเภทของสินค้า ที่จะเข้ามาซื้อขายรวมทั้งีอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะเลือกซื้อสินค้าเจ้าทั้งปวงก่อน รวมทั้งการขายผลผลิตเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ รวมทั้งมีอำนาจในการผูกขาดการขายสินค้าบางประเภท ที่มีราคาสูง และเป็นของหายากด้วย เป็นวิธีการจัดหารายได้แผ่นดินที่ได้ประโยชน์มากในสมัยอยุธยา
                    ลักษณะการจัดเก็บผลประโยชน์จากการค้าดังกล่าวยังคงใช้ต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้มีการเปลี่ยนวิธีการ จัดเก็บภาษีอากรให้มีการประมูลผูกขาดกับทางราชการไปจัดเก็บภาษีที่เรียกว่า ระบบเจ้าภาษีนายอากรพระคลังสินค้าทำหน้าที่เป็นเจ้าจำนวนภาษีเรียกว่าเจ้ากรม
    จำนวนขึ้นอยู่กับพระคลังมหาสมบัติรับผิดชอบจัดการเรื่องภาษีอากรในระบบการผูกขาด
                    ได้มีการตราพระราชบัญญัติยกฐานะกรมพระคลังมหาสมบัติขึ้นเป็นกระทรวง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้มีข้อกำหนดหน้าที่ของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่จ่าย และรักษาเงินแผ่นดินรวมทั้งราชพัสดุทั้งปวง ตลอดจนรักษาพระราชทรัพย์ของแผ่นดินทั้งหมด เก็บและรับผิดชอบเงินภาษีอากร และเงินขึ้นต่อแผ่นดินตลอดพระราชอาณาจักร โดยกรมศุลกากรนำเข้า และส่งออกซึ่งเก็บจากผู้บรรทุกสินค้าออกไปต่างประเทศ และที่บรรทุกเข้ามาขายในประเทศ ที่ทำการศุลกากรได้ย้ายจากโรงภาษี ปากคลองผดุงกรุงเกษมมายังที่ทำการกรมศุลกากรเรียกว่า ที่ทำการภาษีร้อยชักสาม และที่บัญชาการภาษีขาเข้าขาออก
                    ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ได้มีการปรับปรุงส่วนราชการภายในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอีกครั้ง ซึ่งได้กำหนดให้กรมที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากร โดยตรงสามกรมคือกรมสรรพภาษี กรมสรรพากรและกรมศุลกากร โดยกรมศุลกากรมีหน้าที่ในการเก็บภาษีสินค้านำเข้า และสินค้าส่งออก จากที่เคยแยกเก็บตามหน่วยงานต่าง ๆ  มารวมไว้ในที่เดียวกัน         ๒๖/๑๖๙๔๔
                ๔๙๖๒. ศุนยวาท  ดูมาธยมิกนิกาย - ลำดับที่ ๔๓๕๔         ๒๖/๑๖๙๕๕
                ๔๙๖๓. เศรษฐกิจ   เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการนำเอาทรัพย์และบริการมา ใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบำบัดความต้องการของมนุษย์ที่มีอย่างไม่จำกัด เรียกว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจ  เศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิต การจำหน่ายแจกจ่ายและการบริโภค โดยมีเงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทรัพย์ และบริการ
                    ผู้ที่มีบทบาทในทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดกระแสหมุนเวียนของรายได้ รายจ่ายและผลผลิต ประกอบด้วยภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจภาครัฐ และภาคต่างประเทศ มีตลาดปัจจัยการผลิต และตลาดสินค้าเป็นตัวเชื่อมโยง ให้กิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน
                    กระแสการหมุนเวียนของรายได้ รายจ่าย การใช้ปัจจัยการผลิตและผลผลิตของบุคคล กลุ่มคน หน่วยผลิต สถาบันก็มีรูปแบบ หรือแนวทางที่คล้ายกัน จะเป็นสิ่งชี้บอกถึงลักษณะระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจที่สำคัญมีสามระบบคือ ระบบเศรษฐกิจที่มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบบังคับเรียกว่า ระบบเศรษฐกิจแบบบังคับ ระบบเศรษฐกิจที่ใช้กลไกของราคา และตลาดเป็นสิ่งเชื่อมโยงให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ บรรลุเป้าหมายได้เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ในปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนใหญ่ในโลกมีการใช้ทั้งกลไกของราคา และตลาดและการสั่งการในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงเรียกระบบเศรษฐกิจลักษณะนี้ว่า ระบบเศรษฐกิจแบบผสม         ๒๖/๑๖๙๕๕
                ๔๙๖๔. เศวตฉัตร  ดูที่ฉัตร - ลำดับที่ ๑๕๗๒         ๒๖/๑๖๙๕๗
                ๔๙๖๕. โศลก  เป็นแบบคำประพันธ์ร้อยกรองชนิดหนึ่งที่กำหนดไว้ในประพันธศาสตร์ของอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณ มีลักษณะคล้ายคลึงกับปัฐยาวัตฉันท์ของภาษาบาลีมากที่สุด ในตำราฉันทศาสตร์ของปิงคลาจารย์จัดโศลกไว้ในฉันท์ประเภทอักษรัจฉันทะ หรือวรรณพฤตตะคือ มีจำนวนพยางค์ในแต่ละบาทเท่ากันนั่นคือ โศลกมีสี่บาท บาทหนึ่งมีแปดพยางค์ รวมทั้งหมดสี่บาทเรียกว่า หนึ่งปัทย์หรือหนึ่งบท
                    ประวัติของโศลกมีกล่าวไว้ในกาพย์เรื่องรามายณะอันเป็นกาพย์เล่มแรกของอินเดีย         ๒๖/๑๖๙๕๗

                ๔๙๖๖. ษ พยัญชนะตัวที่สามสิบเก้า ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะสี่สิบสี่ตัวของไทย  ในการเขียนสะกดคำอักษร ษ ใช้ในภาษาไทยน้อยมาก ใช้เป็นพยัญชนะตัวสะกดมากกว่าพยัญชนะต้น  คำที่สะกดด้วยอักษร ษ เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต เมื่อใช้เป็นตัวสะกด อักษร ษ ออกเสียงเป็นแม่กด         ๒๖/๑๖๙๖๓
                ๔๙๖๗. ษัททรรศนะ แปลว่าทรรศนะหก หมายถึงปรัชญาอินเดียหกสำนักคือสำนักนยานะ สำนักไวเศษิกะ สำนักสางขยะ สำนักโยคะ
    สำนักมีมามุสา และสำนักเวทานตะ
                    สำนักปรัชญาเหล่านี้พัฒนามาจากสูตรต่าง ๆ ที่แต่งขึ้นในยุคมหากาพย์ (ระหว่าง พ.ศ.๑ - ๘๐๐) ของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู คือนยายสูตรแต่งโดยฤษีเคาตมะ ไวเศษิกสูตรแต่งโดยฤษีกณาทะ สางขยะประวานสูตรแต่งโดยฤษีกปิละ โยคสูตรแต่งโดยอาจารย์ปตัญชลิ มีมามสาสูตรแต่งโดยอาจารย์ไธมินิ และพรหมสูตรแต่งโดยอาจารย์พาทรายณะ
                    สูตรเหล่านี้แต่งเป็นคาถาหรือโศลกเป็นตำราย่อเพื่อจดจำได้ง่ายและเพื่อใช้เป็นหลักในการศึกษาปรัชญานั้น ๆ  ต่อมาในยุคสูตร (ราวปี พ.ศ.๘๐๐ เป็นต้นมา) ได้มีการรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นเป็นหลักปรัชญา จึงเกิดสำนักปรัชญะทั้งหกสำนักขึ้น และถือว่าผู้แต่งสูตรเหล่านี้เป็นผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญานั้น ๆ ด้วย           ๒๖/๑๖๙๖๔

                ๔๙๖๘. ส พยัญชนะตัวที่สี่สิบ  ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะสี่สิบสี่ตัวของไทย ในการเขียนสะกดคำอักษร ส เป็นทั้งพยัญชนะต้นและตัวสะกด  เมื่อใช้เป็นตัวสะกด อักษร ส ออกเสียงเป็นแม่กด (๒๖/๑๖๙๖๕)
                ๔๙๖๙. สกลนคร จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.หนองคาย ทิศตะวันออกเฉ๊ยงเหนือและทิศตะวันออกติดต่อกับ จ.นครพนม  ทิศใต้ติดต่อกับ จ.มุกดาหาร และ จ.กาฬสินธุ์  ทิศตะวันตกติดต่อกับ จ.อุดรธานี  มีพื้นที่ ๙,๖๐๖ ตร.กม.
                    ลักษณะภูมิประเทศทางตอนใต้มีภูเขาภูพานทอดตัวไปตามแนวแบ่งเขตจังหวัดกับ จ.กาฬสินธุ์ และจ.อุดรธานี ในระดับความสูงเฉลี่ยประมาณ ๕๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีแม่น้ำหลายสายไหลจากทิศใต้ หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สำคัญได้แก่แม่น้ำสงคราม ห้วยปลาหาง ห้วยน้ำอูน และน้ำพุง
    ตัวเมืองสกลนครตั้งอยู่ติดกับทางด้านตะวันตกของหนองหาน ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๓ ตารางกิโลเมตร มีลำน้ำสั้น ๆ หลายสายไหลลงสู่หนองน้ำนี้ ทำให้มีปริมาณน้ำมากตลอดปี
                    จ.สกลนคร มีความเป็นมาย้อนหลังไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์  โดยได้พบหลักฐานโบราณคดี ยุคบ้านเชียงหลายแห่งใน อ.สว่างแดนดิน อ.พังโคน อ.วาริชภูมิ    อ.ส่องดาว อ.โพนนาแก้ว และ อ.เมือง ฯ จากหลักฐานโครงกระดูก หลุมฝังศพและเครื่องปั้นดินเผา ลายเขียนสี แสดงว่าบริเวณเหล่านั้นเคยมีความเจริญสมัยเดียวกับ บ้านเชียง จ.อุดรธานี เมื่อราว ๖,๕๐๐ ปีมาแล้ว
                    ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ เมื่อเกิดวัฒนธรรมทวารวดีขึ้นในภาคกลาง  ความเจริญนี้ได้แพร่หลาย เข้าไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย
                    ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่หนึ่ง (พ.ศ.๑๕๔๕ - ๑๕๙๓) อิทธิพลของเขมรได้แผ่ขยายตามบลุ่มแม่น้ำโขงเข้ามาในเขต จ.สกลนคร และสร้างเมืองหนองหานหลวงขึ้น มีศาสนสถานหลายแห่งที่แสดงถึงศิลปะเขมรแบบบาปวน ในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ ปรากฏอยู่ได้แก่ พระธาตุนารายณ์เจงเวง พระธาตุเชิงชุม พระธาตุภูเพ็ก และพระธาตุดุม
                    หลังจากเขมรเสื่อมอำนาจลงในปลายพุทธศตวรรษที่สิบเก้า เมืองหนองหานหลวง ได้เปลี่ยนจากการอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของเขมร มาอยู่ใต้อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งแผ่อำนาจจากหลวงพระบาง เข้ามาปกครองดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
                    ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ โปรดให้ยกกองทัพไปตีเวียงจันทน์และหลวงพระบาง ดินแดนเวียงจันทน์ หลวงพระบางรวมทั้งภาคอีสาน จึงตกอยู่ใต้อำนาจของไทย
                    ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็นเมืองสกลนครทวาปี และเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสกลนคร เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑ เปลี่ยนเป็น จ.สกลนคร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙         ๒๖/๑๖๙๖๗
                ๔๙๗๐. สกา  เป็นชื่อการเล่นแข่งขันหรือเล่นพนันกันประเภทหนึ่งโดยมีผู้เล่นสองฝ่าย ๆ ละคน ผู้ได้แต้มหรือคะแนน ที่สามารถกินตัวฝ่ายตรงข้ามได้หมดก่อนเป็นผู้ชนะในแต่ละกระดาน ความนิยมเล่นสกามีปรากฏในวรรณคดีโบราณบางเรื่อง เช่น เรื่องท้าวฮุ่งขุนเจือง ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖         ๒๖/๑๖๙๗๐
                ๔๙๗๑. สแกนเดียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๒๑ เป็นธาตุที่มีมากในดวงอาทิตย์ และดาวฤกษ์บางดวงบนโลกมีอยู่ทั่วไป ในสภาพสารประกอบเป็นปริมาณน้อยมาก
                    ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ มีการเตรียมโลหะสแกนเดียมได้เป็นครั้งแรก โลหะสแกนเดียมเป็นสีขาวเงิน เมื่อถูกอากาศอาจออกสีเหลืองหรือชมพูเล็กน้อย มีสมบัติอ่อนและเบา
                    ปัจจุบันนิยมใช้โลหะสแกนเดียมผสมกับอลูมิเนียมทำสินค้ากีฬา เช่น ไม้เบสบอล โครงจักรยาน เมื่อเติมสแกนเดียมลงในอลูมิเนียมทำให้ได้โลหะผสมที่แข็งแรง ดึงยืดได้ ใข้งานได้ยาวนานขึ้น โลหะผสมนั้ยังนำไปใช้ทำวัสดุที่ใช้ในอวกาศ         ๒๖/๑๖๙๗๕
                ๔๙๗๒. สงกรานต์  เป็นคำสันสกฤต แปลว่าผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป หมายถึงอาทิตย์ผ่าน หรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในราศีหนึ่ง ๆ กล่าวคือเมื่อดวงอาทิตย์โคจรผ่าน หรือเคลื่อนย้ายหนึ่งเข้าไปในอีกราศีหนึ่ง เรียกว่าสงกรานต์ และเนื่องจากการเคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งเข้าไปในอีกราศีหนึ่ง กินเวลาหนึ่งเดือนจึงเรียกสงกรานต์เช่นนี้ว่า สงกรานต์เดือน เมื่อดวงอาทิตย์โคจรผ่าน หรือเคลื่อนย้ายไปจนครบสิบสองราศีคือ ครบจักรราศีแล้วขึ้นต้นจักรราศีใหม่ จึงเรียกสงกรานต์นั้นว่าสงกรานต์ปีหรือมหาสงกรานต์ ฉะนั้นคำสงกรานต์ที่พูดกันโดยทั่วไปจึงหมายถึงสงกรานต์ปีหรือมหาสงกรานต์นั่นเอง         ๒๖/๑๖๙๗๗
                    จักรราศีคือ วงรีในท้องฟ้า ทางโหราศาสตร์ถือว่าเป็นทางที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาวนพเคราะห์ต่าง ๆ โคจรผ่านเข้าไป จักรราศีแบ่งออกเป็นสิบสองส่วนเท่า ๆ กัน เรียกว่า สิบสองราศี กำหนดเป็นองศาได้ราศีละ ๓๐ องศา รวมเป็น ๓๖๐ องศา แต่ละราศีมีกลุ่มดาวอยู่ในนั้นโดยเฉพาะ กำหนดชื่อราศีตามรูปลักษณะของกลุ่มดาวนั้น ๆ คือราศีเมษ มีกลุ่มดาวรูปแกะราศีพฤษภมีกลุ่มดาวรูปวัว ราศีเมถุนมีกลุ่มดาวรูปคนคู่ ราศีกรกฎมีกลุ่มดาวรูปปู ราศีสิงห์มีกลุ่มดาวรูปสิงห์ ราศีกันยามีกลุ่มดาวรูปนาง ราศีตุลมีกลุ่มดาวรูปคันชั่ง ราศีพฤศจิกมีกลุ่มดาวรูปแมงป่อง ราศีธนูมีกลุ่มดาวรูปธนู ราศีมังกรมีกลุ่มดาวรูปมังกร ราศีกุมภ์มีกลุ่มดาวรูปหม้อ ราศีมีนมีกลุ่มดาวรูปปลา
                    ไทยนับเดือนอ้ายเป็นเดือนหนึ่ง มาตั้งแต่ก่อนใช้จุลศักราชเพราะเห็นว่าฤดูเหมันต์ (ฤดูหนาว) ดวงอาทิตย์เดินปัดไปทางใต้ จึงกำหนดว่าฤดูเหมันต์เป็นต้นปี กำหนดฤดูคิมหันต์ (ฤดูร้อน) เป็นกลางปี เพราะดวงอาทิตย์เดินตัดตรงศีรษะ และกำหนดเอาฤดูวัสสานะ (ฤดูฝน) เป็นปลายปี แต่เมื่อเราใช้จุลศักราช ได้ถือเอาวันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ ที่ไม่คาบเกี่ยวกับราศีอื่น ๆ เป็นวันมหาสงกรานต์ มีเวลากลางวัน และกลางคืนเท่ากัน ซึ่งตกในเดือนห้าของไทยและอยู่ในฤดูคิมหันต์ เดิมวันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษตรงกับวันที่สิบสามเมษายน แต่บัดนี้ได้คลาดเคลื่อนไปแล้วคือ มาตกในวันที่ยี่สิบเอ็ดมีนาคม แต่ไทยยังคงถือเอาวันที่สิบสามเมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์เหมือนเดิม
                ๔๙๗๓. สงขลา  จังหวัดในภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.นครศรีธรรมราช ทิศตะวันออก ตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดต่อกับ จ.ปัตตานี และจ.ยะลา ทิศใต้จดเขตแดนมาเลเซีย ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดต่อกับ จ.สตูล ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับ จ.พัทลุง โดยมีทะเลหลวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลาคั่นอยู่ระหว่างกลาง มีพื้นที่ ๗,๓๙๔ ตร.กม. จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสาม ในภาคใต้ รองจาก จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช
                    ลักษณะภูมิประเทศ ทางด้านทิศตะวันตก และด้านทิศใต้ มีทิวเขาทอดยาวไปตามแนวเส้นเขตแดน ของจังหวัดโดยตลอด ทิวเขาทางด้านทิศตะวันตกเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งยาวต่อเนื่องมาจาก จ.นครศรีธรรมราช และทอดยาวจากเหนือ ไปใต้ตามแนวเส้นแบ่งเขต จ.สงขลา กับ จ.สตูล ส่วนทิวเขาทางด้านทิศใต้ เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาสันกาลาคีรี ซึ่งแบ่งเขตแดนประเทศไทย กับประเทศมาเลเซีย
                    พื้นที่ทางซีกด้านทิศใต้ของจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบลอนลาด ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่ ลำน้ำทั้งหมดเป็นเพียงสายสั้นๆ ซึ่งเรียกันในท้องถิ่นว่า คลอง
                    ทางด้านซีกด้านทิศเหนือของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ทะเลสาบสงขลาและที่ราบชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ มีพื้นที่ ๑,๐๔๖ ตร.กม. กว้างสุด ๒๐ กม. ยาว ๗๘ กม. เกิดจากการปิดกั้นของสันดอนทรายชายฝั่ง ซึ่งงอกยื่นยาวจากชายฝั่งตอนใต้สุดของ จ.นครศรีธรรมราช ลงมาจนถึงปากทางเข้าทะเลสาบ ใน จ.สงขลา เป็นระยะทาง ๙๐ กม.
                    เนื่องจากแหล่งน้ำนี้มีพื้นที่กว้างใหญ่ อาจแบ่งออกเป็นสามบริเวณด้วยกัน ได้แก่ ทะเลสาบสงขลา เป็นส่วนที่อยู่ใต้สุดมีพื้นที่ ๑๘๙ ตร.กม. และมีน้ำเค็ม เพราะอยู่ใกล้ปากทางเชื่อมกับทะเลภายนอก ทะเลหลวง เป็นส่วนที่อยู่ตอนกลาง มีพื้นที่ ๘๓๐ ตร.กม.  ตอนล่างมีสภาพเป็นน้ำกร่อย แต่ทางตอนบนน้ำจืด ส่วนสุดท้ายคือ ทะเลน้อย อยู่ทางตอนเหนือสุด มีพื้นที่ ๒๗ ตร.กม. เป็นน้ำจืดทั้งหมด
                    ชายฝั่งทะเลของ จ.สงขลา ค่อนข้างเรียบตรง ไม่มีเกาะ ตามบริเวณชายฝั่งมากนัก รวมความยาวชายฝั่ง ๑๕๖ กม. ทะเลสาบสงขลา เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำ ทั้งสัตว์น้ำกร่อย และสัตว์น้ำจืด
                    ประวัติเมืองสงขลา ในระยะเริ่มแรกไม่มีหลักฐาน แน่ชัดว่าสร้างขึ้น ณ ที่ใด เมื่อใด และมีความเป็นมาอย่างไร พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่า เมืองสงขลาเป็นเมืองประเทศราช เมืองหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒)  หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา มาปรากฎชัดเจนในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ จากเอกสารต่าง ๆ ของพ่อค้าชาวตะวันตก ที่เดินเรือมาค้าขายกับไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้กล่าวถึงชื่อเจ้าเมืองสงขลาว่า ดะโต๊ะ โมกอลล์ ตัวเมืองสงขลาตั้งอยู่ที่บริเวณหัวเขาแดง บนฝั่งด้านเหนือของปากทางเข้าทะเลสาบสงขลา ชาวต่างชาติเรียกชื่อเมืองสงขลาว่า สิงกูระ บ้าง สิงกอรา บ้าง
                    เจ้าเมืองสงขลา ที่มีชื่อเสียงคือ สุลต่าน สุไลมาน เป็นผู้สร้างป้อมกำแพงและคูเมือง ที่บริเวณหัวเขาแดง
                    ในปี พ.ศ.๒๒๒๓  สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้โปรดให้ส่งกองทัพเรือมาปราบปรามเมืองสงขลาใต้ แล้วให้ขึ้นต่อเมืองพัทลุง ต่อมาโอนมาขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ไปตั้งเมืองสงขลาใหม่ ณ  บริเวณที่เป็นเมืองสงขลา ปัจจุบัน การสร้างกำแพงเมืองและประตูเมือง เริ่มในปี พ.ศ.๒๓๘๕ กำแพงกว้าง  ๔๐๐ เมตร ยาว ๑,๒๐๐ เมตร มีประตูเมือง ๑๐ ประตู         ๒๖/๑๖๙๘๒
                ๔๙๗๔. ส่งผ่านทางเพศสัมพันธ์, โรค  เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ เดิมเรียกว่า กามโรค รวมโรคที่สำคัญไว้คือ ซิฟิลิส หนองใน แผลริมอ่อน กามโรคของต่อมน้ำเหลือง และท่อน้ำเหลือง เนื้องอกเรื้อรังที่ขาหนีบ ต่อมาพบว่ายังมีโรคติดเชื้ออื่น ๆ มากกว่าสามสิบชนิด ที่ส่งผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก กามโรค มาเป็นโรคส่งผ่านทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งรวมโรคติดเชื้อจากไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิต          ๒๖/๑๖๙๘๗
                ๔๙๗๕. สตรอนเชียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๓๘ ในธรรมชาติไม่มีธาตุนี้เป็นธาตุเสรี แต่มีอยู่ในสภาพสารประกอบทั้งสิ้น
                    โลหะสตรอนเชียม เป็นสีขาวเงิน แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอย่างรวดเร็ว เพราะเกิดออกไซด์ อ่อนกว่าโลหะแคลเซียม ผงละเอียดของสตรอนเชียม ลุกไหม้เองในอากาศ จึงควรเก็บไว้ในน้ำมันก๊าด โดยทั่วไปสมบัติทางเคมีคล้ายแคลเซียม และแบเรียม สตรอนเชียม ทำปฎิกิริยากับน้ำให้ไฮดรอกไซด์ และแกสไฮโดรเจน ออกไซด์ของสตรอนเชียมเป็น เบสอย่างแรง
                    เกลือของสตรอนเชียม เช่น สตรอนเชียมไนเตรต และสตรอนเชียมคาร์บอเนต เผาในเปลวไฟให้สีแดงสด จึงนำมาใช้ทำดอกไม้ไฟ สัญญาณไฟ และพลุไฟ สตรอนเชียมคาร์บอเนต ยังใช้ทำแก้วบางชนิด สตรอนเชียมซัลไฟด์ ใช้เป็นส่วนประกอบของสีเรืองแสง         ๒๖/๑๗๐๐๑
                ๔๙๗๖. สตูล  จังหวัดในภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.ตรัง  และ จ.พัทลุง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดต่อกับ จ.สงขลา ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดต่อกับเขตแดนประเทศมาเลเซีย ทิศใต้และทิศตะวันตก ตกทะเลในช่องแคบมะละกา
                    ลักษณะภูมิประเทศ ทางด้านทิศตะวันออก มีทิวเขาทอดยาวโดยตลอด จากเหนือไปใต้คือ ทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งแบ่งเขต จ.สตูล กับ จ.สงขลา แล้วไปบรรจบกับทิวเขาสันกาลาคีรี ทางด้านทิศใต้ ซึ่งแบ่งเขต จ.สตูล กับรัฐเคดะห์ (ไทรบุรี) ของประเทศมาเลเซีย พื้นที่ค่อย ๆ ลาดต่ำลงสู่ที่ราบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก โดยมีเขาลูกเตี้ย ๆ ที่เรียกว่า ควน ตั้งอยู่เป็นหย่อม ๆ มีลำน้ำสายสั้น ๆ ที่ไหลจากทางทิศเหนือและทิศตะวันออกไปลงทะเลทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ได้แก่คลองนำบัว คลองวังพะเนียด คลองละงู คลองท่าแพ ที่ ต.วังประจัน อ.ควนโดนใกล้กับเขตแดนประะเทศมาเลเซีย มีหนองน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของพื้นดิน บริเวณหุบเขาเรียกว่า ทะเลบัน กว้าง ๖๐๐ เมตร ยาว ๘๐๐ เมตร เป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญภายในอุทยานแห่งชาติทะเลบัน
                    จ.สตูล มีชายฝั่งทะเลยาว ๑๒๖ กม. ลักษณะชายฝั่งเว้าแหว่งมาก มีอ่าวเล็ก ๆ หลายแห่งเรียงรายไปตามชายฝั่ง นอกชายฝั่งออกไปมีเกาะใหญ่น้อย ตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึง ๑๐๕ เกาะ เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือเกาะตะรุเตา ตั้งอยู่ห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๔๐ กม. มีพื้นที่ ๑๔๘ ตร.กม.  จัดเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ที่สี่ของประเทศ รองจากเกาะภูเก็ต เกาะสมุย และเกาะช้าง เกาะสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ เกาะกะเบ็ง เกาะเภตรา เกาะริดี เกาะตันหยงอุมา เกาะระยะโต๊ดใหญ่ เกาะตำมะลัง เกาะอาดัง และเกาะราวี  เกาะเหล่านี้บางส่วนได้กำหนด ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
                    จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าในเขต  จ.สตูล เดิมมีชุมชนโบราณเกิดขึ้นสามแห่ง ในระยะเวลาเดียวกันเรียกชื่อว่าละงู (ปัจจุบันคือ อ.ละงู) มูเก็บสโตย (ปัจจุบันคือเมืองสตูล) และบาราเกต (เคยเป็นตำบลในเขต อ.ท่าแพ) ชุมชนทั้งสามแห่งนี้อยู่ใต้การปกครองของเมืองไทรบุรี ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย นอกจากนี้ในแผนที่ของชาวตะวันตกซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๗๑ แสดงชื่อสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นท่าเรือในภาคใต้ของไทย ปรากฎชื่อ ลูง ูและมีราหิด ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกด้วย
                    อย่างไรก็ดีเรื่องราวเกี่ยวกับการปกครองของชุมชนทั้งสามแห่งนั้น ไม่ปรากฎเป็นหลักฐานตลอดสมัยสุโขทัย และอยุธยา จนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงมีการกล่าวถึงชื่อสตูล และละงู อย่างชัดเจน เมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอภัยนุราช (ตนกูบิศนู) ไปปกครองสตูลในปี พ.ศ.๒๓๕๖  และพระยาอภัยนุราชได้ขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตปกครองสตูล และละงูไปพร้อมกัน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เมืองไทรบุรีเป็นกบฎ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ยกกองทัพไปปราบปรามได้ราบคาบ แล้วให้แบ่งการปกครองไทรบุรีออกเป็นสี่เมือง เพื่อป้องกันไม่ให้ซ่อมสุมผุ้คนได้อีก ส่งผลให้สตูลได้รับการยกขึ้นเป็นเมืองเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๒ แยกจากไทรบุรี โดยในตอนแรกให้ขึ้นต่อเมืองสงขลา ต่อมาได้โอนไปขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช  แต่สตูลก็ยังมีความสัมพันธ์ กับไทรบุรีอย่างแนบแน่นตลอดมา เนื่องจากเจ้าเมืองสตูลถือว่ามีเชื้อสายเดียวกับเจ้าเมืองไทรบุรี และในทางปฏิบัติเมืองสตูลต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพ ฯ ทำนองเดียวกับเมืองไทรบุรี จนเมื่อเมืองไทรบุรีตกเป็นของอังกฤษในปี พ.ศ.๒๔๕๒ แล้ว เมืองสตูลจึงแยกจากเมืองไทรบุรีโดยเด็ดขาด และไม่ต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองอีกต่อไป            ๒๖/๑๗๐๐๓


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch