หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/149

    ๔๙๓๑. ศรีวิชัย  เป็นชื่ออาณาจักรโบราณแห่งหนึ่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๙ มีหลักฐานประวัติศาสตร์ประเภทศิลาจารึกหลายภาษา บันทึกของนักเดินทางชาวอาหรับ และจดหมายเหตุจีน รวมทั้งหลักฐานโบราณคดี จำพวกวัตถุที่เป็นสินค้านำเข้า ที่นำเข้ามาจากทางตะวันตก แถบทะเลเมดิเตอเรเนียน อ่าวเปอร์เซีย อินเดีย และทางตะวันออก คือ เมืองต่าง ๆ ในประเทศจีน
                    เรื่องอาณาจักรศรีวิชัย ส่วนใหญ่จึงเป็นตำนานเชิงประวัติศาสตร์มากกว่า ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ ซึ่งยุ่งยากเกินไปสำหรับคนทั่วไป และยังคงเป็นเรื่องที่มีคำถามมากกว่า คำตอบ เหมือนประวัติศาสตร์โบราณทั่ว ๆ ไป         ๒๖/๑๖๘๐๙
                ๔๙๓๒. ศรีศิลป์ ๑, พระ  เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๗๗ - ๒๐๘๙) ที่เกิดจากท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอก และเป็นพระอนุชาของพระยอดฟ้า
                    สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ทรงเลี้ยงพระศรีศิลป์จนพระชนมายุได้ ๑๓ - ๑๔ พรรษา จึงโปรดให้ออกบวชที่วัดราชประดิษฐาน พระศรีศิลป์ถือโอกาสรวบรวมผู้คน เพื่อก่อการกบฎ แต่ในที่สุดพวกกบฎ ได้ถูกปราบลง พระศรีศิลป์ถูกปืนสิ้นพระชนม์          ๒๖/๑๖๘๑๔
                ๔๙๓๓. ศรีศิลป์ ๒, พระ หรือสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  (ครองราชย์ ปี พ.ศ.๒๑๕๔ - ๒๑๗๑)  พระศรีศิลป์ เป็นพระนามเดิมของ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลำดับที่ ๒๑ เป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระเอกาทศรถ ที่ประสูติจากพระสนม ขึ้นครองราชย์โดยการชิงราชบัลลังก์ จากสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์  เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๔ ก่อนขึ้นครองราชย์ทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง เป็นพระราชาคณะที่พระพิมลธรรม เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ในรัชสมัยแห่งความรุ่งเรือง ทางเศรษฐกิจ ศาสนา และการติดต่อกับต่างประเทศ
                    สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ไม่เพียงแต่ทรงส่งเสริมการค้าขายกับชาติในเอเชีย แต่ยังทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตกด้วย ชาติตะวันตกที่ติดต่อกับไทยชาติแรกคือ โปร์ตุเกส ซึ่งได้ติดต่อกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ถึงหนึ่งศตวรรษ ส่วนชาติที่เข้ามาติดต่อในสมัยนี้คือ อังกฤษ และเดนมาร์ก มีการเริ่มเรียกชาวตะวันตกว่า "ฝรั่ง"  เป็นครั้งแรก
                    ในรัชสมัยของพระองค์มีการพบรอยพระพุทธบาท ที่สระบุรี ในด้านวรรณกรรมโปรดให้แต่งมหาชาติคำหลวง และสร้างพระไตรปิฎกด้วย
                    สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๑ ครองราชย์เป็นเวลา ๑๗ ปีเศษ         ๒๖/๑๖๘๑๖
                ๔๙๓๔. ศรีศิลป์ ๓, พระพันปี  เป็นพระราชโอรสองค์ที่สอง ของพระเจ้าทรงธรรม
                    หลังจาก สมเด็จพระเชษฐาธิราช ขึ้นครองราชย์ได้เจ็ดวัน พระพันปีศรีศิลป์ได้หนีไปซ่องสุมกำลังที่ เมืองเพชรบุรี แต่สมเด็จพระเชษฐาธิราช ส่งกองทัพไปล้อมจับได้ โปรดให้ประหารชีวิตที่วัดโคกพระยา         ๒๖/๑๖๘๑๘
                ๔๙๓๕. ศรีสะเกษ  จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.ยโสธร ทิศตะวันออกติดต่อกับ จ.อุบลราชธานี ทิศใต้จดเขตแดนกัมพูชา ทิศตะวันตกติดต่อกับ จ.สุรินทร์ และ จ.ร้อยเอ็ด มีพื้นที่ ๘,๘๔๐ ตร.กม.
                    ลักษณะภูมิประเทศ ทางตอนใต้มีทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งทอดตัวในแนวตะวันตก -  ตะวันออก เป็นเส้นแบ่งเขตแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ยอดเขาที่สูงสุดชื่อ พนมโนน ยาว สูง ๖๗๑ เมตร อยู่ในเขต อ.กันทรลักษณ์ จากทิวเขานี้ พื้นที่ค่อย ๆ ลาดไปทางเหนือ ลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็นที่ราบลอนลาด มีลำน้ำหลายสายไหลผ่านไปลงแม่น้ำมูล ได้แก่ ห้วยทับทัน ห้วยสำราญ และห้วยขะยุง  ทางตอนเหนือของจังหวัดมีแม่น้ำมูลไหลผ่านเขต อ.ราษีไศล อ.ยางชุมน้อย และ อ.กันทรารมย์ เป็นระยะ ๑๒๐ กม.
                    บริเวณที่ตั้ง จ.ศรีสะเกษ เคยมีวัฒนธรรมสมัยทวารวดี และเขมรโบราณ เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
                    ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของ จ.ศรีสะเกษ เริ่มขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ โปรดให้ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยม ดงลำดวน ขึ้นเป็นเมืองนครลำดวน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๒ ต่อมาเกิดกันดารน้ำ จึงย้ายไปตั้งเมืองใหม่ ที่ริมหนองแคระ เรียกว่า เมืองขุขันธ์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านโนนสามขา สระกำแพง ตั้งขึ้นเป็นเมืองศรีสะเกศ แยกจากเมืองขุขันธ์ ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมเมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกษ และเมืองเดชอุดม เป็นเมืองเดียวกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ เรียกว่า เมืองขุขันธ์ อยู่ในปกครองของมณฑลอุบลราชธานี แล้วเปลี่ยนจากเมืองขุขันธ์  เป็น จ.ขุขันธ์ และเปลี่ยนเป็น จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
                    จ.ศรีสะเกษ มีชุมชนหลายกลุ่มอาศัยอยู่รวมกันได้แก่ ชาวลาว ชาวเขมร และชาวส่วย หรือกุย           ๒๖/๑๖๘๑๙
                ๔๙๓๖. ศรีสัตนาคนหุต ๑  เป็นชื่ออาณาจักรล้านช้าง คำว่า สัตนาคนหุต มาจาก สต แปลว่า ร้อย นหุต แปลว่า หมื่น นาค แปลว่า ช้าง รวมแปลว่า ช้างร้อยหมื่น คือ ล้านช้าง พญาฟ้างุ้ม สถาปนาอาณาจักรล้านช้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๖ ต่อมาอาณาจักรแห่งนี้แยกออกเป็นสามส่วน แต่ยังคงใช้ชื่อ อาณาจักรเดิม รวมกับชื่อเมืองหลวงของแต่ละส่วน จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ จึงได้กลับมารวมกันอีกครั้งหนึ่ง เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น พระราชอาณาจักรลาว
                    ประวัติของอาณาจักรล้านช้างเริ่มต้นในลักษณะของการเล่าเรื่องในตำนาน อธิบายเหตุเริ่มเหตุการณ์ราวพุทธศตวรรษที่สิบสี่ จนกระทั่งถึงการรวบรวมบ้านเมืองประกาศตั้ง อาณาจักรของพญาฟ้างุ้ม เค้าโครงเรื่องเริ่มจากขุนบรมราชาธิราช บรรพกษัตริย์ไทย - ลาว ครองเมืองแถง โปรดให้โอรสเจ็ดองค์ แยกย้ายกันไปสร้างเมือง
    เพื่อขยายอาณาเขตออกไป
                  ขุนลอ ราชโอรสองค์โตนำไพร่พลลงมาตามลำน้ำอู จนถึงปากแม่น้ำที่บรรจบกับแม่น้ำโขง แล้วเดินตามลำน้ำโขงมาพบที่ซึ่งมีชัยภูมิเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน สร้างบ้านเมืองแล้วสร้างเมืองเซ่า (แปลว่า หยุดพัก) สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ปกครองเมือง
                    เมืองเซ่า มีกษัตริย์ปกครองต่อมาหลายองค์ จนถึงรัชสมัยพระเจ้าสุวรรณคำผง  (ครองราชย์ พ.ศ.๑๘๕๒ - ๑๘๙๖)  โปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองเซ่า เป็นเมืองหลวง (ต่อมาเปลี่ยนเป็น เมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖ เนื่องจากได้พระบาง มาจากเขมร) กับได้เนรเทศท้าวผีฟ้ากับบุตรชายคือ ท้าวฟ้างุ้ม ทั้งสองได้ไปอยู่ในราชสำนักเขมร ต่อมาท้าวฟ้างุ้มได้อภิเษกสมรสกับ นางแก้วยอดฟ้า เจ้าหญิงเขมร
                    ประมาณปี พ.ศ.๑๘๘๓ - ๑๘๙๓  ท้าวผีฟ้า และท้าวฟ้างุ้มได้รบรวบรวมดินแดนยึดแคว้นจำปาสัก และแคว้นเชียงขวาง ในปี พ.ศ.๑๘๙๖ ท้าวฟ้างุ้ม รบชนะพญาสุวรรณคำผง ยึดเมืองหลวงได้แล้ว สถาปนาตนเป็นกษัตริย์ รวมดินแดนประกาศตั้งอาณาจักร ระหว่างที่ครองราชย์อยู่นี้ ได้ปราบปรามเมืองต่าง ๆ อีกมาก พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๕
                    ในปี พ.ศ.๒๑๐๖  พญาไชยเชษฐาธิราช ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบาง มาอยู่ที่เมืองเวียงคำ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองจันทบุรี ใช้ชื่ออาณาจักรว่า ศรีสัตนาคนหุต อตมะราชธานี ล้านช้างร่มขาว เวียงจันทน์ ต่อมาอาณาจักรล้านช้างแยกออกเป็นสามส่วน ต่างเป็นอิสระแก่กันมีเมืองหลวงอยู่ที่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสัก แต่ยังใช้ชื่ออาณาจักรว่า ศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว  จนกระทั่งพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๔๔๖ - ๒๕๐๒)  ซึ่งครองอยู่ที่หลวงพระบาง มีพระราชโองการประกาศรวมทั้งสามส่วนเข้าด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ ให้ชื่อใหม่ว่า พระราชอาณาจักรลาว         ๒๖/๑๖๘๒๒
                ๔๙๓๗. ศรีสัตนาคนหุต ๒  เป็นชื่อพญานาคสองสัตว์คือ ศรีสัตนาคราช และนหุตนาคราช อาศัยอยู่ที่หนองแส เป็นเพื่อนรักกัน ต่อมาเกิดวิวาทและต่อสู้กัน นหุตนาคราชได้ชัยชนะ
                    ศรีสัตนาคราช นำบริวารหนีออกจากหนองแสง จนถึงลำน้ำอู แล้วต่อไปจนถึงเมืองโพธิสารหลวง         ๒๖/๑๖๘๒๕
                ๔๙๓๘. ศรีสุดาจันทร์, ท้าว  เป็นพระสนมเอกของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๗๗ - ๒๐๘๙) ในตำแหน่งท้าวศรีสุดาจันทร์ มีโอรสสององค์คือ พระยอดฟ้า และพระศรีศิลป์ พระยอดฟ้าได้ขึ้นครองราชย์
                    เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการ เพราะพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ ระหว่างนั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้ลักลอบเป็นชู้กับพันบุตรศรีเทพ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็น ขุนวรวงศาธิราช และตั้งให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ แล้วปลงพระชนม์พระแก้วฟ้า
                    พฤติกรรมของท้าวศรีสุดาจันทร์ ทำขุนนางกลุ่มหนึ่งนำโดยขุนพิเรนทรเทพ ไม่พอใจจึงวางแผนจับท้าวศรีสุดาจันทร์ ขุนวรวงศาธิราชและบุตรี ประหารชีวิต แล้วอัญเชิญพระเทียรราชา ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
                ๔๙๓๙. ศรีสุธรรมราชา, สมเด็จพระ  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ลำดับที่ ๒๖ เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง  (ครองราชย์ พ.ศ.๒๑๗๒ - ๒๑๙๙)
                    สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ขึ้นครองราชย์โดยชิงราชสมบัติ จากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย (ครองราชย์ พ.ศ.๒๑๙๙)  ซึ่งเป็นอนุชาของสมเด็จเจ้าฟ้าไชย
                    ต่อมาพระนารายณ์ยึดอำนาจในปีเดียวกัน แล้วปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์           ๒๖/๑๖๘๒๘
                ๔๙๔๐. ศรีสุริยวงศ์  (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)  เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ ท่านมีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองไทย ท่านได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ผู้มีอำนาจเด็ดขาดในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ  ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๑๖  หลังจากพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น สมเด็จเจ้าพระยา นับเป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์สุดท้าย ในประวัติศาสตร์ไทย
                    ท่านเป็นบุตรชายคนใหญ่ ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ มีนามเดิมว่า ช่วง เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๑ ได้รับราชการมีความดีความชอบ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ ท่านถึงแก่พิราลัย ในปี พ.ศ.๒๔๒๕         ๒๖/๑๖๘๓๐
                ๔๙๔๑. ศรีเสาวภาคย์, สมเด็จพระ  (ครองราชย์ พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๕๔)  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลำดับที่ยี่สิบ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ และเป็นพระอนุชาของเจ้าฟ้าสุทัศน์ ซึ่งเป็นพระมหาอุปราช แต่สวรรคตไปก่อน พระองค์จึงได้ครองราชย์เมื่อพระราชบิดาสวรรคต พระองค์ครองราชย์อยู่ ๑ ปี ๒ เดือน ก็ถูก พระศรีศิลป์ โอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่เกิดจากพระสนมชิงราชสมบัติ พระองค์ทรงยอมแพ้แต่โดยดี และถูกนำไปสำเร็จโทษ  พระศพของพระองค์ ฝังอยู่ที่วัดโคกพระยา ซึ่งเป็นวัดร้าง          ๒๖/๑๖๘๔๕
                ๔๙๔๒. ศรีอยุธยา, กรุง  เป็นราชธานีของราชอาณาจักรไทย สมัยอยุธยา ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนล่าง พื้นที่เหมาะแก่การเกษตรกรรม ตัวเมืองมีทำเลที่ตั้งเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางทางการค้า เพราะมีแม่น้ำไหลมาบรรจบกันถึงสามสายคือ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ไม่ไกลจากทะเล กรุงศรีอยุธยนับว่าเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึงในเอเซียวตะวันออกเฉียงใต้ อยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความมั่นคง และมีอำนาจทางการเมืองในช่วงเวลา ๔๑๗ ปี ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๙๓ - ๒๓๑๐ ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
                    หลักฐานต่างชาติได้กล่าวไว้ว่า อยุธยามีความมั่งคั่งร่ำรวยมาก จะเป็นรองก็เพียงจีนและอินเดียเท่านั้น
                    อยุธยาในสมัยพระไชยราชาธิราชเริ่มทำสงครามกับพม่า โดยพม่าเป็นฝ่ายรุกเข้ามาก่อน สงครามไทย - พม่าได้ยืดเยื้อต่อมาถึง ๓๐๐ ปี และยังมีการทำสงครามกับล้านนา จนล้านนายอมเป็นประเทศราชของอยุธยา
                    ในปี พ.ศ.๒๐๕๔ โปร์ตุเกส เป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ทำให้ไทยได้เริ่มเรียนรู้วิทยาการของชาติตะวันตก โดยเฉพาะด้านการทหาร
                    ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) ปรากฎอิทธิพลของชาติตะวันตกในไทยมาก ทั้งด้านสถาปัตยกรรม วิทยาการต่าง ๆ และการเผยแพร่ศาสนา มีนักเรียนไทยไปเรียนที่ฝรั่งเศสถึง ๒๓ คน สมัยนี้เป็นยุคทองของวรรณคดี มีกวีมีชื่อเสียง เช่น พระมหาราชครู นอกจากนี้ยังมีประกาศใช้กฎหมายลักษณะ เช่น ลักษณะรับฟ้องเพิ่มเติม พระราชกำหนดห้ามหญิงไทยแต่งงานกับชาวตะวันตก มีการเพิ่มการเก็บเงินค่าราชการจากผู้ไม่มาเข้าเดือน จากเดือนละ ๑ บาทเป็นเดือนละ ๒ บาท
                    ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๓๑๐ เป็นระยะที่กรุงศรีอยุธยาเสื่อมอำนาจ อันเนื่องจากปัจจัยภายในคือ การกบฎ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา การชิงราชสมบัติเกิดขึ้นทุกรัชกาล การควบคุมหัวเมือง และกำลังคนก็หย่อนประสิทธิภาพ         ๒๖/๑๖๘๔๖
                ๔๙๔๓. ศรีอินทราทิตย์, พ่อขุน  เป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง แห่งอาณาจักรสุโขทัย พระองค์ครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๗๙๒ ในรัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงเวลาที่สุโขทัย ได้ขยายดินแดนกว้างขวางออกไป โดยอาศัยพระปรีชาสามารถของพระโอรสองค์เล็กคือ พ่อขุนรามคำแหง ฯ สันนิษฐานว่าคงจะครอบคลุมลงไปถึงพระบาง (นครสวรรค์)  ทางทิศใต้ ทรงติดต่อกับนครศรีธรรมราชเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาสายลังกา         ๒๖/๑๖๘๖๑
                ๔๙๔๔. ศัลยกรรม  เป็นการรักษาโรค โดยวิธีผ่าตัด ศัลยกรรมประกอบด้วย
                            ๑. การผ่า เช่น การผ่าฝีต่าง ๆ ตามผิวหนัง เพื่อระบายหนองซึ่งประกอบด้วย เนื้อเน่าและส่วนน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายออกไป
                            ๒. การตัด อวัยวะส่วนใดของร่างกายเกิดพยาธิสภาพ จนไม่สามารถใช้งานได้ และยังเป็นอันตรายต่อร่างกายโดยทั่วไปด้วย เช่น แขนเน่า ขาเน่า ก็ต้องตัดทิ้ง
                            ๓. การผ่าตัด พยาธิสภาพหลายชนิดมิได้อยู่ในชั้นผิวหนัง หรือเป็นที่อวัยวะภายใน ก็จำเป็นต้องผ่าเนื้อหนังที่ปกคลุมอยู่เสียก่อน แล้วจึงตัดส่วนที่เป็นโรคนั้นออก จึงเป็นการผ่าตัด
                            ศัลยกรรมได้มีวิวัฒนาการจนสามารถใช้สิ่งอื่นเข้าไปทดแทนอวัยวะเดิม เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนหลอดเลือด โดยใช้หลอดเลือดเทียม การเปลี่ยนข้อพับต่าง ๆ โดยใช้ข้อเทียม แต่บางอวัยวะไม่สามารถทำเทียมได้ จึงจำเป้นต้องใช้อวัยวะจริงจากผู้ตายมาเปลี่ยนให้ เช่น การเปลี่ยนหัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน ที่เรียกว่า ศัลยกรรมปลูกถ่ายอวัยวะ         ๒๖/๑๖๘๖๕
                ๔๙๔๕. ศัลยศาสตร์  เป็นวิชาที่ว่าด้วยโรค และการรักษาที่ใช้การผ่าตัดซึ่งเรียกว่า ศัลยกรรม การรักษาโรคในการแพทย์แผนปัจจุบัน สมัยแรก ๆ นิยมแบ่งการรักษาเป็นสองวิธีคือ วิธีรักษาทางอายุรกรรม ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการรักษาโรคโดยการผ่าตัด วิธีการนี้เรียกว่าการรักษาทางศัลยกรรม วิชาที่ว่าด้วยโรค และการรักษาศัลยกรรมนี้เรียกว่า วิชาศัลยศาสตร์
                    การรักษาทางศัลยกรรมในสมัยแรก ๆ มีเพียงการผ่า การตัด การเย็บ เฉพาะส่วนผิวหนังคือ อวัยวะภายนอก
                    วิชาศัลยศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงต่อมาจากการผ่าตัดอวัยวะ ที่เป็นพยาธิสภาพออกให้ผู้ป่วยหายจากโรคมาเป็นการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือการทดแทนอวัยวะด้วยสิ่งสังเคราะห์ต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ         ๒๖/๑๖๘๖๙
                ๔๙๔๖. ศากยะ  คำภาษาสันสกฤต ตรงกับคำภาษาบาลีว่า สักยะ สากิยะ และสักกะ ศากยะเป็นชื่อราชวงศ์หรือราชตระกูลของกษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะซึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือของชมพูทวีป
                    ในพระสุตตันตปิฎก มีชื่อชาวศากยะปรากฎอยู่หลายพวก โดยเรียกตามที่อยู่ เช่น พวกศากยะที่อยู่ในนครกบิลพัศดุ์เรียกว่า ศากยะชาวกบิลพัสดุ์ พวกศากยะที่อยู่ในนครวิธัญญาเรียกว่า ศากยะชาวเวธัญญา พวกศากยะที่อยู่ในนครโคธาฬีเรียกว่า ศากยะโคธาฬี พวกศากยะที่อยู่ในนครรามคามเรียกว่า ศากยะชาวรามคาม พวกศากยะที่อยู่ในเมืองจาตุมา เรียกว่า ศากยะชาวจุตุมา พวกศากยะที่อยู่ในนครเทวทหะ เรียกว่า ศากยะชาวเทวทหะ
                    พวกศากยะปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม เหมือนพวกกษัตริย์มัลละในแคว้นมัลละ และพวกษัตริย์วัชชีในแคว้นวัชชี
                ความเป็นมาและความหมายของศากยะ ปรากฎขึ้นในอัมพัฎฐสูตร ที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้อัมพัฎฐมาณพ ฟัง       ๒๖/๑๖๘๗๗
                ๔๙๔๗. ศากยะโคดม   ด ูที่โคดม - ลำดับที่ ๑๑๗๔         ๒๖/๑๖๘๘๑
                ๔๙๔๘. ศารทวิษุวัต   ดู ที่วิษุวัต - ลำดับที่ ๔๘๙๙         ๒๖/๑๖๘๘๑
                ๔๙๔๙. ศาล  มีความหมายเป็นสองนัย คือ
                    ประการแรก ศาลยุติธรรม เป็นสถานที่ชำระคดีความต่าง ๆ ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ตลอดจนศาลอื่น ๆ ซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นศาลชั้นต้น เช่น ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัด ศาลแขวง รวมทั้งศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้น กำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น เช่น ศาลแรงงานกลาง ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และกาารค้าระหว่างประเทศ
                     ความเป็นมาของศาลไทย  ในอดีตได้มีการแยกศาลที่ทำการพิจสารณาคดีไปอยู่ตามกรม และกระทรวงต่าง ๆ โดยไม่ได้จัดเป็นระเบียบหมวดหมู่อย่างในปัจจุบัน เช่น ศาลกรมเมือง มีอำนาจพิจารณาคดีอุกฉกรรจ์มหันตโทษ ศาลกรมนา มีอำนาจพิจารณาความที่เกี่ยวข้องกับที่นา และโคกระบือ และศาลากรมท่า ขึ้นอยู่ในกรมคลัง  มีอำนาจบังคับคดีเกี่ยวกับการพาณิชย์กับคนต่างประเทศ
                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ทรงปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองให้เป็นแบบแผนดังอารยประเทศ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ และรวบรวมศาลต่าง ๆ ให้รวมอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ได้มีการจัดตั้งศาลสนามสถิตยุติธรรม และรวบรวมศาลทั้งปวงขึ้นตรงต่อกระทรวงยุติธรรมทั้งหมด ยกเว้นศาลฝ่ายทหาร ซึ่งยังคงสังกัดอยู่ในกระทรวงกลาโหม
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้มีการจัดตั้งศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีบางประเภทขึ้น เป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นการรองรับหลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเกื้อหนุนบทบัญญัติบางเรื่อง ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง        ๒๖/๑๖๘๘๑
                ๔๙๕๐. ศาลาลูกขุน  เป็นสถานที่ประชุมทำงานของข้าราชการชั้นสูงของไทยสมัยโบราณ มีมาแต่สมัยอยุธยา ในสมัยรัตนโกสินทร์ศาลาลูกขุน ที่ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เรียกว่า ศาลาลูกขุนใน มีสองหลังคือ ศาลาลูกขุนในซ้ายสำหรับข้าราชการพลเรือน และศาลาลูกขุนในขวาสำหรับข้าราชการฝ่ายทหาร ส่วนศาลาลูกขุนที่ตั้งอยู่นอกพระบรมมหาราชวังหนึ่งหลัง เรียกว่า ศาลาลูกขุนนอก หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ศาลหลวง         ๒๖/๑๖๘๙๓
                ๔๙๕๑. ศิริวิบุลกิตติ์  เป็นกลอนกลบทที่หลวงศรีปรีชา (เซ่ง) แต่งขึ้น โดยได้เค้าเรื่องมาจากชาดกชื่อศิริวิบูลกิตติชาดก ซึ่งรวมอยู่ในปัญญาสชาดกอันเป็นชาดกที่ภิกษุชาวเชียงใหม่แต่งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๐๐ - ๒๒๐๐ นักวรรณคดีจัดให้กลบทเรื่องนี้อยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณปี พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑ รัชสมัยสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
                    กลบทและกลอักษรที่นำมาแต่งเรื่องศิริวิบูลกิตติ์มี ๘๐ ชนิด เช่น กลบทกบเต้นต่อยหอย กลบทมธุรสวาที กลบทสบัดสบิ้งกลบทนาคบริพันธ์ กลบทรักร้อย กลบทกินรีเก็บบัว กลบทพยัคฆ์ข้ามห้วย กลบทสิงห์โตเล่นหาง กลบทดุริยางคจำเรียง กลบทก้านต่อดอกกลบทวัวพันหลัก กลบทระลอกแก้วกระทบฝั่ง ตรีพิธพรรณ กลบทสารถีชักรถ กลบทกวางเดินดง กลบทสร้อยสน กลบทอักษรสังวาส กลบทกบเต้นสามตอน กลบทพระจันทร์ทรงกลด กลบทยัติภังค์ กลบทเสือซ่อนเล็บ กลบทงูกระหวัดหาง กลบทคุลาซ่อนลูก กลบทกบเต้นสลักเพชร กลบทมังกรคาบแก้ว กลบทถอยหลังเข้าคลอง กลบทบัวบานกลีบขยาย กลบทกบเต้นกลางสระบัว และกลบทนกกางปีก         ๒๖/๑๖๘๙๗
                ๔๙๕๒. ศิลปกรรม  มีบทนิยามว่า "สิ่งที่เป็นศิลปะ สิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นศิลปะ"  ดังนั้นคำ ศิลปกรรม จึงมีความหมายกว้างขวาง ไม่จำกัดเฉพาะงานจิตรกรรม งานประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรม อย่างที่นิยมใช้กันเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมไปถึงงานวรรณกรรม งานนาฏศิลป์และงานดุริยางคศิลป์ด้วย
                    การจำแนกประเภทศิลปกรรมมีหลายวิธี แต่ที่นิยมกันคือจำแนกตามชนิดของสื่อที่ใช้แสดงผลงาน ดังนี้
                            ๑. ทัศนศิลป์ เป็นศิลปกรรมที่สื่อให้รับรู้ด้วยวิธีการเห็นด้วยตาเป็นสำคัญ มีการแสดงออกด้วยลักษณะที่เป็นรูปภาพ เช่น งานจิตรกรรม งานศิลปะภาพพิมพ์ซึ่งเป็น ผลงานรูปแบบสองมิติ และยังรวมไปถึงผลงานรูปแบบสามมิติ เช่น งานประติมากรรม งานสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นงานที่มีการแสดงออกด้วยลักษณะที่เป็นรูปทรง สัมผัส  จับต้องมิติต่าง ๆ ได้ด้วย จึงมีการเรียกงานทัศนศิลป์ประเภทนี้ว่า ทัศนะ - ผัสสะศิลป์ด้วย
                            ๒. โสตศิลป์ เป็นศิลปกรรมที่สื่อให้รับรู้ด้วยการฟังด้วยหูเป็นสำคัญ ได้แก่งานดุริยางคศิลป์ หรือดนตรีโดยเฉพาะ
    เป็นศิลปกรรมที่ไม่มีกายภาพให้จับต้องได้ เป็นเสียงจากเครื่องดนตรีขณะกำลังบรรเลงเท่านั้น
                            ๓. พจนศิลป์ เป็นศิลปกรรมที่สื่อให้รับรู้ด้วยความเข้าใจความหมายของถ้อยคำเป็นสำคัญ ได้แก่งานวรรณกรรมทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง

                            ๔. ศิลปะผสม เป็นศิลปกรรมที่สื่อให้รับรู้ได้หลายอย่าง ได้แก่งานด้านการแสดง เช่น ละครและเพลง         ๒๖/๑๖๙๐๐
                ๔๙๕๓. ศิลปศาสตร์   เป็นการศึกษาที่เน้นความรู้ทั่วไปและการพัฒนาสติปัญญาทั่วไป ในทิศทางตรงกันข้ามกับการศึกษาด้านวิชาชีพ หรือเทคนิค การศึกษาด้านศิลปศาสตร์ได้แก่ การศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา ภาษาและวิชาการที่มีลักษณะเป็นนามธรรม เป็นองค์ความรู้สากลและเก่าแก่ มิใช่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การฝึกฝนปฏิบัติทางอาชีพ หรือความรู้เฉพาะทาง
                    ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐)   การศึกษาด้านศิลปศาสตร์หันไปสนใจ ในวรรณคดีสมัยกรีกและโรมัน โดยถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญยิ่งสำหรับมนุษยชาติ หลักสูตรสมัยนี้ เน้นการศึกษามนุษย์ โดยองค์รวมเป็นเป้าหมาย ให้ความสนใจแก่สุนทรียศาสตร์ และตรรกศาสตร์
                    ในปัจจุบัน การศึกษาศิลปศาสตร์ในประเทศตะวันตกยังคงดำเนินรอยตามวิวัฒนาการดังกล่าวข้างต้นเป็นหลัก มีหลักสูตรการเรียนการสอน ตามที่ได้วางไว้เป็นรากฐานตั้งแต่สมัยกลาง
                    ในวัฒนธรรมตะวันออกสมัยโบราณ  ศิลปศาสตร์ หมายถึง ความรู้สิบแปดประการซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล ศิลปศาสตร์สิบแปดประการนี้ ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น คัมภีร์ราชนิติและโลกนิติ วิชาความรู้เหล่านี้คือวิชาความรู้ทั่วไป วิชาว่าด้วยจารีตประเพณี วิชาคำนวณ วิชายันตรกรรมศาสตร์ วิชานิติศาสตร์ วิชาพยากรณ์ วิชานาฏศิลป์ วิชาพละศึกษา วิชายิงธนู วิชาโบราณคดี วิชาแพทยศาสตร์ วิชาพงศาวดารและประวัติศาสตร์ วิชาดาราศาสตร์ วิชาพิชัยสงคราม วิชาฉันทศาสตร์ วิชาตรรกศาสตร์ วิชามันตรศาสตร์และวิชาสัทศาสตร์
                    การศึกษาด้านศิลปศาสตร์ปัจจุบันในประเทศไทยเป็นไปตามแนวตะวันตก
                ๔๙๕๔. ศิลาแลง  ดูลูกรังและหินแลง - ลำดับที่ ๔๘๒๕         ๒๖/๑๖๙๐๘
                ๔๙๕๕. ศิวะ  เป็นพระนามของพระเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในสามองค์ของศาสนาฮินดูคือ พระพรหมผู้สร้างโลก พระวิษณุหรือพระนารายณ์ผู้ถนอมโลก พระศิวะผู้ทำลายโลก คนไทยโดยทั่วไปนิยมเรียกพระศิวะว่า พระอิศวร
                    พระศิวะมีพระนามและบทบาทผู้ในสมัยมหากาพย์และปุราณะ เพราะในสมัยแรก ๆ ของวรรณคดีอินเดียคือสมัยพระเวทซึ่งเก่าแก่ถึงสี่พันปีนั้น คำว่า ศิวะ มีที่ใช้เฉพาะเป็นคำคุณศัพท์ แปลว่าเป็นมงคล เวลาดีหรือเป็นที่เพลิดเพลิน
                    สมัยพระเวทของชนอารยันอินเดียมีบทสวดถึงพระรุทระอยู่หลายบท รุทระ หมายถึง เสียงร้อง เสียงคำราม เสียงเกรี้ยวกราด อันแสดงถึงความเป็นเทพที่น่าสะพรึงกลัว เป็นผู้กำราบความวุ่นวาย และปราบพวกภูติผีปีศาจ เป็นเจ้าแห่งพายุ การทำลาย และนำโชคร้ายมาสู่มนุษย์ และสัตว์ด้วย  มีการเรียกชื่อรุทระว่ามหาเทวะ ซึ่งตรงกับฉายานามของพระศิวะ ด้วยเหตุนี้เมื่อตกมาถึงสมัยมหากาพย์ และปุราณะจึงมีการอ้างกันว่าพระศิวะ กับพระรุทระนั้นคือเทพองค์เดียวกัน
                    พระศิวะมีชายาชื่อสตี เป็นธิดาองค์โตของพระทักษะซึ่งเป็นโอรสของพระพรหม และเป็นพระปชาบดีองค์หนึ่ง
                    พระศิวะเป็นเทพที่มีผิวขาว มีเนตรสามดวง มีพระจันทร์เสี้ยวอยู่บนพระนลาฏ หรือที่มวยผม มีพระคงคาไหลวนบนพระเศียร มีสังวาลเป็นพวงกะโหลกศีรษะมนุษย์ ประทับในพระวิมานบนภูเขาไกรลาส มีพระปราวตีเป็นพระชายา มีโอรสสององค์คือ พระคเณศ และพระสกันทกุมาร พาหนะคือโคเผือกชื่อนนทิ มีธิดาที่เกิดจากนาคมารดาคือ มนสาเทวี ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าแห่งงูทั้งหลาย         ๒๖/๑๖๙๐๘
                ๔๙๕๖. ศีล  เป็นคำภาษาสันสกฤต ตรงกับคำภาษาบาลีว่าสีล แปลว่าปรกติ  ใช้เป็นข้อปฏิบัติทางศาสนา  ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึง ความประพฤติทางกายและวาจา
                    ตามหลักศาสนา มนุษย์มีส่วนประกอบสำคัญสองส่วนคือกายกับจิต ศีลเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางกาย และวาจา ซึ่งเป็นพฤติกรรมภายนอก แต่มีความสัมพันธ์กับจิต เพราะออกมาจากเจตจำนง หรือเจตนาของจิตนั่นเอง
                    การรักษาศีลเป็นการพัฒนาคุณค่าชีวิตให้สูงขึ้นตามลำดับ พุทธศาสนิกชนที่เป็นคฤหัสถ์เริ่มต้นด้วยการรักษาเบญจศีล หรือศีลห้า ต่อไปเป็นศีลแปด เฉพาะในวันธรรมสวนะหรือวันพระ เรียกว่า อุโบสถศีล นอกจากนี้ยังมีศีล ๒๒๗ สำหรับภิกษุและศีล ๓๑๑ สำหรับภิกษุณี เป็นพื้นฐานในการพัฒนาชีวิต ซึ่งมีสามขั้นเรียกว่า ไตรสิกขา ได้แก่ การพัฒนาขั้นศีล (อธิสีลสิกขา) การพัฒนาขั้นจิตหรือสมาธิ (อธิจิตตสิกขา) และการพัฒนาขั้นปัญญา (อธิปัญญาสิกขา)         ๒๖/๑๖๙๒๘
                ๔๙๕๗. ศึกษาธิการ, กระทรวง   เป็นกระทรวงที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษา ทุกระดับและทุกประเภท
                    ในสมัยก่อน การศึกษาของไทยอยู่ที่วัดและที่บ้าน มีพระสงฆ์และผู้ใหญ่ในครอบครัวเป็นครูสอน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ โปรดเกล้า ฯ ให้จัดเป็นกรมหนึ่ง ชื่อกรมศึกษาธิการ มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการศึกษาทั้งปวง โดยสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชา กรมศึกษาธิการ
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมศึกษาธิการกับกรมอื่น ๆ ได้แก่ กรมธรรมการสังฆารี กรมพยาบาล กรมแผนที่ และพิพิธภัณฑสถาน มารวมอยู่ในบังคับบัญชาเดียวกัน เรียกว่า กรมธรรมการ  สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๓ กรมธรรมการมีฐานะเป็นกระทรวง
                    ในตอนปลายรัชกาล มีการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการศึกษาที่สำคัญคือ
                            ๑. กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบให้วัดเป็นที่สอนหนังสือและสอดส่องให้เด็กชายหญิงได้เล่าเรียน
                            ๒. กระทรวงนครบาล รับผิดชอบการจัดการศึกษาในกรุงเทพ ฯ และมีพระราชบัญญัติบังคับเด็กอายุ ๘ - ๑๔ เข้าเรียน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๔
                            ๓. กระทรวงธรรมการ  รับผิดชอบการจัดการศึกษาแบบเลี้ยงตัวเอง โดยเก็บค่าเล่าเรียนและให้นักเรียนหาที่เรียนเอง จัดให้มีโรงเรียนรัฐบาลระดับประถมศึกษา เมืองละโรง และระดับมัธยม มณฑลละโรง
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ  ให้แยกหน้าที่ราชการกระทรวงธรรมการ ออกเป็นสองภาคตามหน้าที่คือการศาสนาและการศึกษา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้โปรดเกล้า ฯ  ให้ตั้งกรมมหาวิทยาลัยขึ้น กับกระทรวงธรรมการ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีหน้าที่จัดการศึกษาโดยตรง ส่วนราชการในสังกัดมีกองบัญชาการ กรมมหาวิทยาลัยและกรมศึกษาธิการ         ๒๖/๑๖๙๒๖
                ๔๙๕๘. ศุกร์, ดาว  ดูประกายพรึก, ดาว - ลำดับที่ ๓๓๑๐         ๒๖/๑๖๙๓๕
                ๔๙๕๙. ศุกร์, พระ  เป็นเทพฤษีองค์หนึ่ง เป็นโอรสของภฤค ผู้เป็นต้นตระกูลภารควะ และภฤคพรหมฤษีนั้นเป็นโอรสองค์หนี่งในจำนวนสิบองค์ที่เกิดจากใจของพระพรหม มารดาของพระศุกร์ชื่อปุโลมา พระศุกร์เป็นลูกคนโต ในจำนวนลูกทั้งเจ็ดของนาง เรื่องราวของพระศุกร์มีอ้างถึงในวรรณคดีสันสกฤตหลายเล่มตั้งแต่วรรณคดีรุ่นโบราณที่สุดคือ คัมภีร์ฤคเวทเรื่อยมาจนถึงคัมภีร์ปุราณะฉบับต่าง ๆ
                    ในสมัยพระเวท พระศุกร์เป็นฤษีตนหนึ่งซึ่งมีส่วนเป็นผู้แต่งบทสวดต่าง ๆ ในคัมภีร์ฤคเวทหลายบท ในสมัยมหากาพย์ และคัมภีร์ปุราณะพระศุกร์เป็นอาจารย์ ของเหล่าอสูรทั้งปวง มีฐานะเสมอกับพระพฤหัสบดีผู้เป็นอาจารย์แห่งทวยเทพ         ๒๖/๑๖๙๓๕
                ๔๙๖๐. ศุนหเศป  มาจากคำที่แปลว่า หางสุนัข เป็นชื่อของพราหมณ์ผู้หนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในสมัยพระเวท มีเรื่องราวกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในคัมภีร์ฤคเวท มีการอ้างว่าศุนหเศปได้แต่งบทสวดสรรเสริญเทพต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนเจ็ดบทในคัมภีร์ฤคเวท         ๒๖/๑๖๙๔๑


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch