๔๙๑๔. เวสาลี เป็นเมืองหลวงของพวกลิจฉวี และต่อมาเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี ครั้งหนึ่งเมืองเวสาลีได้เกิดทุพภิกขภัย ประชาชนล้มตายเป็นอันมาก พวกษัตริย์ลิจฉวีได้มีมติให้ไปกราบทูลอาราธนา พระพุทธเจ้าให้เสด็จไปเมืองเวสาลี
เมื่อพระพุทธเจ้า เสด็จเหยียบดินแดนของพวกวัชชี ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก และตอนเย็นวันนั้น พระพุทธองค์ทรงสอน รัตนสูตร ให้พระอานนท์ และรับสั่งให้พระอานนท์ สาธยายภายในกำแพงเมืองของเมืองเวสาลี บรรดาโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงของชาวเมืองก็หายไป แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงสาธยายรัตนสูตร ให้แก่ชาวเมืองที่มาชุมนุมกัน ทำให้ชาวเมืองประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน หันมานับถือพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปเมืองเวสาลีหลายครั้ง ทรงบัญญัติพระวินัยที่เมืองเวสาลีหลายสิกขาบทด้วยกัน ในคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองกุสินารา เพื่อทรงดับขันธปรินิพพานนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแวะที่เมืองเวสาลี เป็นการเสด็จเมืองเวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย ทรงจำพรรษาสุดท้ายที่เวฬุคาม ชานเมืองเวสาลี นางอัมพปาลี หญิงนครโสเภณี เมืองเวสาลี ได้ถวายอัมพวัน (สวนมะม่วง) ให้เป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุสงฆ์ต่อไป
เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ปาวาลเจดีย์ ในเมืองเวสาลี เป็นครั้งสุดท้าย พระพุทธองค์ได้ทรงปลงพระชนมายุสังขารว่า จะเสด็จดับขันธปรินิพพานในอีกสามเดือนข้างหน้า
เมืองเวสาลี เป็นเมืองที่ตั้งมั่นของศาสนา เชน และศาสนาพราหมณ์ ศาสดามหาวีระ แห่งศาสนาเชน ที่คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า นิครนถ์ นาฏบุตร ท่านได้ประกาศศาสนาเป็นเวลารวม ๔๒ ปี และได้ประทับอยู่ที่เมืองเวสาลี ถึง ๑๒ ปี
ในบรรดาพระสูตรสำคัญ ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่เมืองเวสาลี ได้แก่ มหาลิสูตร มหาสีหนาทสูตร จูฬสัจจกสูตร มหาสัจจกสูตร วัจฉโคตตสูตร สุนักขัตตสูตร และรัตนสูตร ๒๖/๑๖๗๐๓
๔๙๑๕. เวฬุวัน เป็นพระอารามแห่งแรกของพระพุทธศาสนา เรียกกันว่า เวฬุวนาราม บ้าง เวฬุวันวิหาร บ้าง ตั้งอยู่ใกล้ประตูด้านเหนือของนครราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์มคธ เป็นผู้ถวาย เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนาที่นครราชคฤห์ ครั้งแรกหลังจากตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว และทรงจำพรรษาที่สองในพระอารามนี้ ระหว่างที่ประทับอยู่ในเวฬุวันครั้งแรกนี้ มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่าง เช่น ทรงได้อัครสาวก ขวา - ซ้าย คือ พระสารีบุตร เถระ และพระโมคคัลลานะ เถระ ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์ครั้งสำคัญ ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ซึ่งเป็นที่มาของวันมาฆบูชา ทรงอนุญาตให้สร้างวิหารเป็นครั้งแรก
ตลอดพระชนมายุของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับชั่วคราว ที่เวฬุวันวิหาร หลายครั้ง และทรงแสดงพระธรรมเทศนาไว้เป็นจำนวนมาก แต่ทรงจำพรรษาที่สอง ที่สาม และที่สี่ เท่านั้น
พระถังซัมจั๋ง (ยวนฉ่าง) ซึ่งเดินทางไปสืบพระพุทธศาสนาที่อินเดีย ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า เวฬุวันตั้งอยู่ห่างจากนครราชคฤห์ ไปทางเหนือหนึ่งลี้ (ประมาณครึ่ง กม.) เวฬุวันสะอาดเพราะมีพระภิกษุทั้งหลาย คอยทำความสะอาดอยู่
พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับชั่วคราวที่เวฬุวันวิหารหลายครั้ง และทรงแสดงพระธรรมเทศนาไว้เป็นจำนวนมาก แต่ทรงจำพรรษาเพียงสามพรรษาคือ พรรษาที่สอง ที่สาม และที่สี่ เท่านั้น ๒๖/๑๖๗๐๘
๔๙๑๖. เวียดนาม เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของคาบสมุทรอินโดจีน มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับประเทศจีน ทิศตะวันออกตอนใต้ ติดต่อกับประเทศกัมพูชา เวียดนามมีดินแดนจดทะเลถึงสามด้าน คือ ด้านตะวันออก และด้านใต้ จดอ่าวตังเกี๋ย และทะเลจีนใต้ ด้านตะวันตกเฉียงใต้ จดอ่าวไทย ทิศตะวันตก ตอนเหนือติดต่อกับประเทศลาว มีพื้นที่ ๓๓๐,๓๖๓ ตร.กม. มีรูปร่างยาว และแคบ โดยมีส่วนที่แคบที่สุดเพียง ๕๐ กม. และมีความยาวจากเหนือไปใต้ เป็นระยะทางตรงประมาณ ๑,๖๐๐ กม.
ลักษณะภูมิประเทศมีภูเขา และที่ราบสูงอยู่ทางภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศ ซึ่งเป็นที่สูงต่อเนื่องมาจากที่ราบสูงหยุนหนาน ในภาคใต้ของจีน ความสูงของภูเขาในบริเวณนี้ ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ เมตร โดยมียอดสูงสุด สูง ๓๑,๔๑ เมตร อยู่ใกล้กับพรมแดนจีน ถัดมาทางตอนกลางของประเทศ มีเทือกเขาอันนัม ทอดตัวจากเหนือไปใต้ ขนานกับชายฝั่งตะวันออกจนถึงใกล้เมืองโฮจิมินห์ (ไซ่ง่อน) เทือกเขานี้ประกอบด้วย ทิวเขาขนาดเล็กหลายทิว และบางตอนเป็นที่ราบสูง มีหลายตอนที่สูงกว่า ๒,๐๐๐ เมตร
เวียดนาม มีส่วนที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ อยู่สองแห่งแยกจากกันคือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง และแม่น้ำสาขาคือ แม่น้ำดำ อยู่ในภาคเหนือเป็นที่ตั้งของกรุงฮานอย และเมืองไฮฟอง ที่ราบสองฝั่งแม่น้ำเป็นที่อุดมสมบูรณ์ และบริเวณปากแม่น้ำเป็นดินดอนสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ อีกแห่งหนึ่งอยู่ในภาคใต้ มีแม่น้ำโขง ไหลผ่านทำให้เกิดดินดอนสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำโขงที่กว้างขวาง และอุดมสมบูรณ์มากเช่นกัน เมืองโฮจิมินห์ เป็นเมืองท่าสำคัญทางภาคใต้ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำไซ่ง่อน ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำโขง ห่างจากทะเลเข้ามา ๗๓ กม. เรือเดินทะเลขนาดใหญ่สามารถเข้ามาถึงเมืองโฮจิมินห์ ได้
เวียดนามมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ ๓,๓๐๐ กม. แนวพรมแดนทางทะเลด้านอ่าวไทย อยู่ติดต่อกับแนวพรมแดนทางทะเลของกัมพูชา ส่วนแนวพรมแดนทางทะเลด้านอ่าวตังเกี๋ย ก็อยู่ติดต่อกับแนวพรมแดนทางทะเลของจีน
บริเวณใจกลางของเวียดนาม แต่เริ่มแรกมานั้นคือ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง และแม่น้ำดำ ทางภาคเหนือของเวียดนาม เป็นที่ราบลุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ เหมาะในการตั้งถิ่นฐาน จึงมีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นมา และเป็นศูนย์กลางการปกครองและศิลปวัฒนธรรม มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๔๓๒ เมื่อเวลาผ่านไปชาวจีนที่เข้ามาในพื้นที่นี้ มีพัฒนาการของตนเองกลายเป็นชนเวียดนาม ซึ่งในระยะแรก ๆ เรียกว่า อันนัม หรือญวน ต่อมาพวกญวนส่วนหนึ่งได้ค่อย ๆ ขยายตัวลงมาทางใต้ จนมาถึงบริเวณชายฝั่งของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
ในปี พ.ศ.๒๔๐๕ ฝรั่งเศสได้เข้ามาตั้งมั่นในโคชินไชนาแล้วค่อย ๆ ขยายอำนาจไปครอบครองตังเกี๋ย และอันนัม ซึ่งต่อมาฝรั่งเศสได้ปกครองเป็นรัฐในอารักขา ส่วนทางใต้คือ โคชินไชนา จัดให้เป็นอาณานิคมและเป็นศูนย์กลางการปกครอง และศูนย์กลางของกิจกรรมอื่น ๆ มี ไซ่ง่อน เป็นเมืองหลวง
ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ มีการทำสนธิสัญญา แบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วนคือ เวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ โดยใช้เส้นรุ้ง ๑๗ องศาเหนือ เป็นแนวแบ่งเขตแดน ได้มีการสู้รบกันของทั้งสองฝ่าย จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๙ เวียดนามเหนือเป็นฝ่ายมีชัย แล้วรวมเวียดนามใต้เข้ากับเวียดนามเหนือมี ฮานอย เป็นเมืองหลวง
๔๙๑๗. เวียดมินห์ เป็นกลุ่มชาวเวียดนามรักชาติกลุ่มหนึ่ง ได้เคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจการปกครองของฝรั่งเศส ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ฝรั่งเศสได้เริ่มเข้าไปแสวงหาอิทธิพลในเวียดนาม ในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ด้วยการเผยแพร่คริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก และในปี พ.ศ.๒๔๑๐ สามารถยึดได้โคชินไชนา เป็นอาณานิคมได้ ต่อมาได้ยึดตังเกี๋ย และอันนัม เป็นรัฐในอารักขา ในปี พ.ศ.๒๔๒๖ อีกสี่ปีต่อมา ฝรั่งเศสก็รวมดินแดนทั้งสามแห่งเข้ากับกัมพูชา ซึ่งฝรั่งเศสยึดได้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ แล้วจัดตั้งเป็นสหภาพอินโดจีน เรียกว่า อินโดจีนของฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๖ ฝรั่งเศสก็ยึดลาว เป็นรัฐอารักขา และรวมเข้ากับอินโดจีนของฝรั่งเศส
ชาวเวียดนามรักชาติได้จัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เพื่อกอบกู้เอกราชและขับไล่ฝรั่งเศสออกไป แต่ไม่สำเร็จ คนสำคัญที่ต่อต้านฝรั่งเศสคือ โฮจิมินห์ เขาเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ และในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้ไปพำนักอยู่ที่กรุงปารีส ระยะหนึ่ง จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๓ ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส และได้เดินทางไปกรุงมอสโคว เพื่อศึกษาลัทธิคอมมิวนิสต์ เมื่อกลับมาเวียดนามในปี พ.ศ.๒๔๖๘ โฮจิมินห์ ได้จัดตั้งสันนิบาตเยาวชนเวียดนามขึ้น ซึ่งเป็นบ่อเกิดของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในเวลาต่อมา ต่อมาโฮจิมินห์ได้เดินทางไปประเทศจีน และได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม หรือพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๗๓ ดำเนินการต่อสู้เพื่อเอกราชของเวียดนาม
ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ญี่ปุ่นเดินทัพเข้าสู่อินโดจีน พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ซึ่งมี โฮจิมินห์เป็นหัวหน้าได้รวบรวมกลุ่มรักชาติต่าง ๆ ของเวียดนาม จัดเป็นแนวร่วมเพื่อต่อต้าน และขับไล่ญี่ปุ่นเรียกว่า เวียดมินห์ หรือสันนิบาตเพื่อเอกราชของเวียดนามขึ้น ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ทำให้สามารถดำเนินการรบแบบกองโจร ทำลายกำลังทหารญี่ปุ่น และสามารถจัดเป็นกองทัพขึ้นได้ในที่สุด
เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง ฝรั่งเศสได้กลับเข้ามามีอำนาจในเวียดนามอีก ชาวเวียดนามก่อการขับไล่ฝรั่งเศส จนเกิดการสู้รบกันขึ้น ทางภาคเหนือโฮจิมินห์ประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ มีโฮจิมินห์เป็นประธานาธิบดี ได้รับความช่วยเหลือจากโซเวียต ในที่สุดพวกเวียดมินห์ ก็ประสบผลสำเร็จเมื่อโจมตีฝรั่งเศส ที่เมืองเดียนเบียนฟู
ในปลายปี พ.ศ.๒๕๐๓ ได้มีการจัดตั้งแนวร่วมแห่งชาติขึ้น เพื่อปลดปล่อยเวียดนามใต้ สมาชิกคือ พวกเวียดกง ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือ จีนและรัสเซีย สหรัฐอเมริกาได้ถอนทหารจากเวียดนามใต้ ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ เวียดนามเหนือยึดไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ และประกาศรวมสองเวียดนามเข้าด้วยกัน ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ๒๖/๑๖๗๒๑
๔๙๑๘. แวร์ซาย, พระราชวัง ตั้งอยู่ที่เมืองแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส
ในปี พ.ศ.๒๑๖๗ พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสาม ของฝรั่งเศส มีรับสั่งให้สร้างเรือนพักสำหรับล่าสัตว์ในป่า ของเมืองแวร์ซาย ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงปารีสไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๒๒ กม. ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๗๕ ได้สร้างปราสาทขึ้นมาในที่นั้น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๐๔ - ๒๒๑๐ พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ โปรดให้สร้างวังใหม่ที่แวร์ซาย และได้มีการสร้างเพิ่มเติมถึงปี พ.ศ.๒๒๔๔
เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ สวรรคตในปี พ.ศ.๒๒๕๘ ผู้สำเร็จราชการของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้า ได้กลับไปพำนักที่กรุงปารีส ปล่อยพระราชวังร้างไปนานเจ็ดปี จนถึงปี พ.ศ.๒๒๖๕ เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้า ขึ้นว่าราชการด้วยพระองค์เอง จึงได้มาประทับที่พระราชวังแวร์ซาย อีกครั้งหนึ่ง
ภายหลังการปฎิวัติฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๒ พระราชวงศ์ต้องเสด็จออกจากพระราชวังแวร์ซาย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๗๙ เมื่อมีการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้งในฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป มีรับสั่งให้เปลี่ยนแปลงพระราชวังแวร์ซาย เป็นพิพิธภัณฑสถาน
ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ เมื่อกองทัพเยอรมันเข้ายึดครองกรุงปารีสได้ใช้พระราชวังแวร์ซาย เป็นศูนย์บัญชาการ หลังจากฝรั่งเศสสงบศึกกับเยอรมัน พระราชวังแวร์ซายได้เป็นที่ตั้งของรัฐสภาฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๘ พระราชวังแวร์ซายเป็นสถานที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับสาธารณรัฐที่สาม
ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนี เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ลักษณะเด่นของพระราชวังแวร์ซาย ได้แก่ ความยิ่งใหญ่ ความสมดุล ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ มีการสร้างพระราชวังหลายแห่งในยุโรป โดยเลียนแบบพระราชวังแวร์ซาย เช่น พระราชวังชาร์ลอทเทนบูร์ก ในเยอรมนี พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ ในรัสเซีย และพระราชวังปอตสดัม ในปรัสเซีย ๒๖/๑๖๗๒๕
๔๙๑๙. แวร์ซาย, เมือง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สิบหก เริ่มมีหมู่บ้านขนาดเล็ก รอบปราสาท ขุนนางซึ่งพำนักอยู่ที่เมืองแวร์ซาย ในรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลที่เก้า (พ.ศ.๒๐๙๓ - ๒๒๑๗) ได้มีการสร้างปราสาทขึ้นใหม่ เป็นแบบเรอเนซองซ์ สำหรับผู้ช่วยเสนาบดีคลัง หมู่บ้านขนาดเล็ก ได้เติบโตเป็นเมืองเล็ก ๆ และเป็นที่พักแรมของผู้ที่เดินทางจากกรุงปารีส ไปยังแคว้นนอร์มังดี ส่วนปราสาทใช้เป็นที่พำนักของบุคคลสำคัญ เช่น พระเจ้าอองรีที่สี่
เมืองแวร์ซาย เริ่มพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๒๐๕ พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ ได้ให้สร้างปราสาทใหม่ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ในยุคนี้พวกขุนนางชั้นสูง ได้มาสร้างคฤหาสน์ของตนอยู่รอบพระราชวัง ถัดจากคฤหาสน์ของบรรดาขุนนาง เป็นที่อยู่ของชาวบ้านซึ่งสร้างเป็นบ้านไม้
ในตอนปลายรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้า แวร์ซายกลายเป็นเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางการปกครอง แต่หลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหก ถูกนำพระองค์กลับไปปารีส เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๒ แล้วเมืองแวร์ซายก็ซบเซาลงทันที ตลอดพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เมืองแวร์ซายอยู่ในสภาพซบเซา
ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เมืองแวร์ซายค่อย ๆ กลายสภาพเป็นชานเมืองปารีส ๒๖/๑๖๗๓๑
๔๙๒๐. แวร์ซาย, สนธิสัญญา เป็นสนธิสัญญา ซึ่งลงนามที่เมืองแวร์ซาย มีอยู่หลายฉบับ ในปี พ.ศ.๒๒๙๙ ฝรั่งเศสและออสเตรีย ได้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายฉบับแรก เพื่อร่วมมือกันต่อต้านอังกฤษ ซึ่งเพิ่งลงนามข้อตกลงร่วมมือ กับปรัสเซีย
สนธิสัญญาแวร์ซาย ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ได้แก่ ฉบับที่มีการลงนาม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ ระหว่างประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนี เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ๒๖/๑๖๗๓๔
๔๙๒๑. ไวเศษิกะ เป็นปรัชญาสำนักหนึ่งในหกสำนัก แห่งปรัชญาฮินดู เชื่อกันว่าเขียนขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับ พรหมสูตร ของพาทรายณะ คือ ประมาณปี พ.ศ.๓๐๐
ไวเศษิกะ เป็นปรัชญาประเภทพหุสัจนิยม มีทรรศนะสอดคล้องกับนยายะ เกี่ยวกับพระเจ้า ปรมาณู และการสร้างโลก ความคิดเกี่ยวกับโมกษะ หรือความหลุดพ้น สอดคล้องกับทรรศนะของปรัชญานยานะ ทุกประการ ๒๖/๑๖๗๓๘
๔๙๒๒. ไวโอลิน เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายชนิดหนึ่ง ของเครื่องดนตรีตะวันตก เป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญมาก ในวงดุริยางค์รวมทั้งการเล่นในวงดนตรีเชมเบอร์ และการเล่นเดี่ยว
ศิลปินและนักปราชญ์ทางดนตรีกล่าวว่า ไวโอลิน เป็นราชแห่งเครื่องดนตรี ๒๖/๑๖๗๔๐
ศ.
๔๙๒๓. ศ พยัญชนะตัวที่สามสิบแปด ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะสี่สิบสี่ตัวของไทย เป็นทั้งพยัญชนะต้นและตัวสะกด คำที่สะกดด้วย อักษร ศ เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต เมื่อใช้เป็นตัวสะกด ออกเสียงเป็นแม่กด ๒๖/๑๖๗๔๔
๔๙๒๔. ศกุนตลา เป็นชื่อบทประพันธ์ร้อยกรองเรื่องหนึ่ง ในวรรณกรรมสันสกฤตโบราณ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามเรื่องคือ
๑. เป็นเรื่องแทรก หรือเรื่องย่อยเรื่องหนึ่ง ซึ่งกล่าวไว้ว่า ในตอนต้นเรื่องของมหากาพย์ มหาภารตะ
๒. เป็นเรื่องแทรกอยู่ในปัทมปุราณะ
๓. บทละครของกาลิทาส เรียกสั้น ๆ ว่า บทละครเรื่อง ศกุนตลา
บทละครเรื่องศกุนตลา ตามที่กาลิทาสเป็นผู้แต่ง เป็นที่นับถือกันว่า เป็นละครสันสกฤตที่ดีที่สุดของอินเดีย และดีที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๒ และจากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาเยอรมัน ในปี พ.ศ.๒๓๓๔ มีการแปลออกเป็นภาษาต่าง ๆ มากมายหลายภาษา ๒๖/๑๖๗๔๕
๔๙๒๕. ศรนารายณ์ เป็นไม้ล้มลุกขนาดใหญ่ ทรงต้นเป็นพุ่ม แผ่กว้าง มีอายุนานหลายปี ออกดอกเพียงครั้งเดียว หลังจากออกดอกแล้ว ต้นก็ตาย ลำต้นสั้น มีส่วนที่เป็นลำต้นอยู่ใต้ดิน ซึ่งจะเจริญให้ไหล หรือหน่อ ใบเดี่ยวสีเขียว เรียงเวียนรอบลำต้น แผ่นใบรูปแถบ ปนรูปใบหอก ดอกออกเป็นช่อสูงใหญ่ ตั้งตรง ช่อแขนงแตกกางออก ตั้งฉากกับแกนของช่อดอก มีดอกหนาแน่น ดอกมีขนาดใหญ่ สีเขียวอ่อน มีกลิ่นฉุนในตอนเย็น มีน้ำหวานมาก ผลเป็นผลแห้ง รูปคล้ายทรงกระบอก โคนและปลายมน
ป่านศรนารายณ์ จัดเป็นพืชที่ให้เส้นใยชนิดหนึ่ง เส้นใยมีสีขาวครีม เหนียว แข็งแรง และมีความยาวมาก นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ๒๖/๑๖๗๖๑
๔๙๒๖. ศรีชุม เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง ซึ่งมีพระพุทธรูปใหญ่ ที่สันนิษฐานกันว่า ได้แก่ พระอัจนะ ปัจจุบันอยู่ห่างจากกำแพงเมืองสุโขทัยเก่า ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๑ กม. และเป็นวัดเดียวกับวัดฤาษีชุม ที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงยกทัพหลวงไปตั้ง และทรงประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ก่อนเสด็จไปปราบกบฎที่เมืองสวรรคโลก
ประวัติของวัดศรีชุม ไม่ปรากฎอยู่ในที่ใด แต่วัดนี้สร้างขึ้นก่อนศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง (พ.ศ.๑๘๓๕) ซึ่งกล่าวถึง พระอัจนะ ๒๖/๑๖๗๖๕
๔๙๒๗. ศรีธนญชัย เป็นตลกหลวงคนหนึ่ง ในนิทานพื้นเมืองของภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ เป็นคนตลกแกมโกง เจ้าเล่ห์ เจ้ากล และเห็นแก่ตนเองเป็นใหญ่ เป็นคนฉลาดมีไหวพริบสูง ชอบสร้างความเดือดร้อนให้แก่บุคคลต่าง ๆ
ประวัติของศรีธนญชัย นั้นว่าเป็นชาวเมืองอโยธยา ในชีวิตของศรีธนญชัยนั้น ไม่เคยแพ้ใครในด้านความไหวพริบ เชิงภาษาแม้สักครั้ง มาแพ้ผู้อื่นก็ตอนที่ใกล้จะสิ้นชีวิตเท่านั้น ๒๖/๑๖๗๗๐
๔๙๒๘. ศรีปราชญ์ เป็นชื่อบุคคล หรืออาจเป็นราชทินนาม ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ที่มีมาแต่โบราณก้ได้ หรือเป็นแต่เพียงนามสมมติ ในนิยายก็ได้ เรื่องราวของศรีปราชญ์เป็นปัญหา ที่สับสนยุ่งยาก มีผู้ถกเถียงกันมานาน
ชื่อของศรีปราชญ์ และเรื่องราวประกอบ ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือสองเรื่องคือ คำให้การชาวกรุงเก่าเรื่องหนึ่ง และคำให้การขุนหลวงหาวัด อีกเรื่องหนึ่ง
เรื่องราวของศรีปราชญ์ สรุปได้ดังนี้
๑. มีการเอ่ยอ้างถึงศรีปราชญ์ และมีเรื่องประกอบอยู่ในวรรณกรรมสองเรื่องคือ เรื่อง " คำให้การชาวกรุงเก่า" กับเรื่อง "คำให้การขุนหลวงหาวัด" ทั้งสองเรื่องนี้ กล่าวตรงกันว่า ศรีปราชญ์เป็นคนในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) และไม่ปรากฎว่า ศรีปราชญ์แต่งหนังสืออะไรไว้เป็นหลักฐาน
๒. ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ มีเรื่องอ้างถึงคนชื่อ ศรีปราชญ์ คือ หนังสือประชุมโคลงโบราณของพระยาตรัง และมีหนังสืออนิรุทธคำฉันท์ อ้างกันว่าศรีปราชญ์แต่งในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ แต่ผู้แต่งไม่ได้อ้างชื่อของตน มีแต่เรื่องว่าผู้แต่งมีความประสงค์ จะแข่งกับสมุทรโฆษคำฉันท์ ของพระมหาราชครู
๓. คนทั้งหลายคิดกันว่าศรีปราชญ์ แต่งโคลงกำศรวล แต่ได้มีการพิสูจน์แล้วว่า ผู้แต่งคือ สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
๔. หนังสือ "คำให้การชาวกรุงเก่า" และ "คำให้การขุนหลวงหาวัด" เล่าตรงกันว่า ศรีปราชญ์มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ)
๕. สรุปได้ว่า ศรีปราชญ์ อาจมีสองคน
๖. ตำนานศรีปราชญ์ของพระยาปริยัติธรรมธาดา ไม่มีหลักฐานใดๆ เป็นเครื่องประกอบ ๒๖/๑๖๗๗๔
๔๙๒๙. ศรีรัตนมหาธาตุ, วัด วัดพระศรีมหาธาตุ ที่มีภิกษุจำพรรษา มีจำนวนสองวัดได้แก่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง เป็นพระอารามหลวงชั้นราชวรมหาวิหาร และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก เป็นพระอารามหลวงชั้นวรมหาวิหาร นอกจากนี้ ยังมีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่มีเงื่อนไขพิเศษอีกสองวัด วัดหนึ่งเป็นวัดร้าง จึงเป็นโบราณสถาน ได้แก่ วัดพระศรีมหาธาตุ ลพบุรี อีกวัดหนึ่งมี พระภิกษุจำพรรษาคือ วัดมหาธาตุ สุพรรณบุรี
ความเป็นมาด้านชื่อ และความหมายของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเรียกกันหลายชื่อ หมายถึง วัดที่มีเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า
๑. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี ปัจจุบันเป็นโบราณสถาน ไม่มีประวัติการสร้างแน่ชัด คงสร้างขึ้นราว พ.ศ.๑๘๐๐ พระศรีรัตนมหาธาตุทรงปรางค์ ซึ่งเป็นพระเจดีย์ประธานของวัด ที่พัฒนาการจากปราสาทแบบขอม แต่ผ่านการปรับปรุงด้านลักษณะ เช่น สูงเพรียวกว่า พร้อมทั้งลดความซับซ้อนด้านสัดส่วน และรายละเอียดของงานประดับ
๒. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี มีประวัติจากการสอบสวนจากจารึกบนแผ่นทอง ที่ค้นพบจากกรุปรางค์ พระศรีมหาธาตุองค์นี้
ทางด้านลวดลายปูนปั้น ประดับปรางค์ได้พบว่า แบบอย่างและลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ อิทธิพลลายประดับอย่างจีน ได้เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย
พระพิมพ์ที่พบจากกรุของพระปรางค์ นอกจากพิมพ์พระกำแพงศอกแล้ว ยังมีพิมพ์อื่น เช่น พระผงสุพรรณ
๓. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง (อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย) มีพระศรีรัตนมหาธาตุทรงปรางค์ เป็นเจดีย์ประธาน เดิมเป็นวัดในสมัยสุโขทัยมาก่อน
๔. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก พระเจดีย์ประธานของวัด เข้าใจว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประมาณปี พ.ศ.๒๐๒๕ โดยโปรดให้สร้างครอบพระเจดีย์องค์เดิม
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก มีพระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปประธานในพระวิหาร หล่อด้วยสำริดขนาดใหญ่ ลงรักปิดทองอร่าม เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง องค์นี้สร้างขึ้นแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ๒๖/๑๖๗๘๙
๔๙๓๐. ศรีลังกา เป็นประเทศในทวีปเอเชียตอนใต้ เป็นเกาะตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ค่อนไปทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย เดิมชาวอังกฤษเรียกว่า ซีลอน จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๕ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ศรีลังกา ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของเกาะในภาษาสิงหล มีความหมายว่า "ดินแดนอันแจ่มจรัส" ส่วนไทยเราเรียกชื่อประเทศนี้ มาแต่ดั้งเดิมว่า ลังกา
ประเทศศรีลังกา มีพื้นที่ ๖๕,๖๑๐ ตร.กม. ตัวเกาะซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศ มีรูปร่างกลมรี เหมือนลูกขนุน มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๒๔ ของเกาะทั่วโลก ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลของรัฐทมิฬนาฑูของอินเดีย เพียง ๓๒ กม. เกาะศรีลังกามีความยาวจากเหนือถึงใต้ ประมาณ ๔๓๕ กม. และมีความกว้างประมาณ ๒๒๕ กม. ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกได้เป็นสามเขตใหญ่ ๆ คือ
๑. เขตภูเขาสูง อยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางตอนใต้ของเกาะ มียอดเขาสูงระหว่าง ๒,๑๐๐ - ๒,๔๐๐ เมตร หลายยอด ยอดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือ แอดัมส์พีก ไทยเรียกตามภาษาบาลีว่า สุมนกูฎ สูง ๒,๒๔๓ เมตร บนยอดเขามีแอ่งหิน ลักษณะคล้ายรอยเท้าคน ยาวประมาณ ๑.๕ เมตร พุทธศาสนิกชนเชื่อว่า เป็นรอยพระพุทธบาท ชาวฮินดูเชื่อว่า เป็นรอยบาทพระศิวะ และในศาสนาอิสลามเชื่อว่า เป็นรอยเท้าของแอดัม ตามคติความเชื่อของชาวฮิบรู
๒. เขตที่ราบสูง บริเวณที่อยู่รอบ ๆ เขตภูเขา โดยเฉพาะทางตอนกลางค่อนไปทางเหนือของเกาะ มีภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ส่วนใหญ่มีป่าไม้ปกคลุม
๓. เขตที่ราบชายฝั่ง บริเวณชายฝั่งตอนใต้ของเกาะเป็นที่ราบแคบ ๆ แต่ทางตอนเหนือที่ราบชายฝั่งแผ่กว้างออก เป็นบริเวณกว้างขวาง เมืองต่าง ๆ ของศรีลังกาส่วนใหญ่ ตั้งอยู่บนที่ราบชายฝั่งนี้
ประชากรของศรีลังกา ประกอบด้วยชนสองเชื้อชาติใหญ่ ๆ คือ ชาวสิงหล และชาวทมิฬ ที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ อีกร้อยละแปด ได้แก่ ชาวมัวร์ และพวกเลือดผสมชาวผิวขาว ชาวสิงหลมีประมาณร้อยละ ๗๒ เป็นชนชาติรุ่นแรก ๆ ที่อพยพจากตอนเหนือของอินเดีย ภาษาสิงหลมาจากภาษาสันสกฤต ในตระกูลภาษาอินโด - ยุโรเปียน นับถือพระพุทธศาสนา ชาวทมิฬพูดภาษา ในตระกูลทราวิท ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู
ชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนค่อนข้างมากคือ พวกมัวร์ เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าชาวอาหรับ ซึ่งมาค้ากับศรีลังกา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ ส่วนหนึ่งแต่งงานกับสตรีในท้องถิ่น และตั้งรกรากชุมชนที่นับถือศาสนาอิสลาม มีประชากรร้อยละเจ็ด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางชายฝั่งตะวันออก ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า พูดภาษาทมิฬ
ศรีลังกา มีประวัติความเป็นมายาวนาน สมัยเป็นอาณาจักร มีปรากฎอยู่ในพงศาวดารหลายฉบับ ฉบับแรกสุดชื่อ มหาวงศ์ เขียนเป็นภาษาบาลี เมื่อราวพุทธศตวรรษที่สิบ เล่าถึงการตั้งราชวงศ์สิงหล ขึ้นในศรีลังกาเป็นครั้งแรก โดยเจ้าชายเชื้อสายชาวเบงกอล ของอินเดียชื่อ วิชัย ได้อพยพ พาผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในศรีลังกา เมื่อปีแรกของพุทธศักราช พงศาวดารฉบับต่อ ๆ มาได้เล่าถึงการปกครองของกษัตริย์องค์อื่น ๆ จนถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักร ซึ่งถูกอังกฤษถอดออกจากราชบัลลังก์ ในปี พ.ศ.๒๓๕๘
พระเจ้าวิชัย กษัตริย์องค์แรกของศรีลังกา ทรงตั้งอาณาจักรสิงหลขึ้น และตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองอนุราธปุระ เมืองนี้ดำรงความเป็นราชธานีของลังกายาวนานถึงเกือบพันปี ในพุทธศตวรรษที่สอง พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่จากอินเดียเข้ามาในศรีลังกา ส่งผลให้กษัตริย์ของศรีลังกา ในขณะนั้น ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะ และศรีลังกาได้กลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท ในระยะเวลาต่อมา
อาณาจักรสิงหลถูกกองกำลังของอินเดีย เข้าโจมตีหลายครั้ง ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จักรพรรดิ์ของอาณาจักรโจละ ในภาคใต้ของอินเดียได้ยกทัพเข้ามายึดครองศรีลังกา และทำลายเมืองอนุราธปุระ จนหมดสิ้น จนถึงรัชสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุ ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๑๖๙๖ - ๑๗๒๙ ศรีลังกาจึงกลับรุ่งเรืองอีกครั้ง ได้ยกกองทัพไปตีภาคใต้ของอินเดีย และส่งกองกำลังทางเรือไปถึงพม่า ส่งผลให้ต้องตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของศรีลังกา อยู่ชั่วระยะหนึ่ง
ในพุทธศตวรรษที่สิบแปด เกิดมีอาณาจักรของชาวทมิฬ ตั้งขึ้นทางภาคเหนือของเกาะ ส่งผลให้ชาวสิงหลค่อย ๆ ถอยร่นลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อตอนที่ชาวโปร์ตุเกสเดินเรือมาถึงศรีลังกา ในปี พ.ศ.๒๐๔๘ นั้น พบว่า มีอาณาจักรตั้งอยู่สามอาณาจักรด้วยกันบนเกาะคือ อาณาจักรของชาวทมิฬ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองจัฟฟ์นา อาณาจักรของชาวสิงหล ตั้งอยู่บริเวณที่ราบทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองคอตตี และอาณาจักรของชาวสิงหลอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนภูเขาทางตอนกลาง ค่อนไปทางใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองแคนดี
ชาวยุโรป ชาติแรกที่เดินทางเข้ามาในศรีลังกาคือ โปร์ตุเกส ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ฮอลันดาได้เข้ามาแทนที่โปร์ตุเกส ในด้านการค้ากับศรีลังกา และได้เข้าควบคุมศรีลังกา ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๓๓๙ โดยยึดเมืองสำคัญ ๆ ตามชายฝั่งไว้ทั้งหมด ยกเว้น อาณาจักรแคนดี ที่ยังคงเป็นของชาวพื้นเมืองอยู่
ในปี พ.ศ.๒๓๓๙ ฮอลันดายอมจำนนต่อกองกำลังของอังกฤษ อังกฤษได้เปลี่ยนสภาพให้เป็นอาณานิคม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๘ และได้ถอดกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรแคนดี ออกจากราชบัลลังก์ อังกฤษปกครองศรีลังกาอยู่นานถึง ๑๕๒ ปี จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๑ จึงให้เอกราช
ในด้านความสัมพันธ์กับไทย ได้มีมายาวนานมาก เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นศูนย์กลางสำคัญ ของพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท ในสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหง ฯ ได้ทรงรับพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท จากลังกา โดยนิมนต์พระสงฆ์ที่ศึกษาธรรมตามคติลังกา จากนครศรีธรรมราชมาที่สุโขทัย และนิมนต์พระสงฆ์จากลังกามาเผยแผ่ธรรม ที่สุโขทัยด้วย พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ จึงมาประดิษฐานอย่างมั่นคงในอาณาจักรสุโขทัย สืบต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา
ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ พระพุทธศาสนาในลังกาเสื่อมลง ขาดพระสงฆ์จะที่เป็นอุปัชฌาย์ กษัตริย์แคนดีจึงทรงแต่งราชทูตเพื่อขอพระสงฆ์ไทย ไปทำพิธีอุปสมบทแก่ชาวลังกา พระอุบาลี และพระอริยมุนี รวมทั้งพระสงฆ์อีกสิบสองรูป ได้ไปพำนักอยู่ที่แคนดี เป็นเวลาสามปี และได้อุปสมบทแก่พระสงฆ์ ๗๐๐ รูป สามเณร ๓,๐๐๐ รูป ถือได้ว่าเป็นการก่อตั้งนิกายสยามวงศ์ ขึ้นในศรีลังกา ๒๖/๑๖๗๙๗