หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/147
    ๔๘๖๙. วันรัต, สมเด็จพระ  เป็นราชทินนามสมณศักดิ์ สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฎ รองจากสมเด็จพระสังฆราช
                        เดิมใช้คำว่า วันรัต หรือ พนรัต เป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ ฝ่ายอรัญวาสี คือ คณะสงฆ์ลังกาวงศ์ ที่เข้ามาครั้งแรกในสมัยสุโขทัย ต่อมาเมื่อคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ คณะป่าแก้ว เข้ามาในสมัยอยุธยา จึงนำคำนี้มาใช้เป็นราชทินนาม สำหรับเจ้าคณะใหญ่ คณะป่าแก้ว แต่เปลี่ยนเป็น วันรัตน หรือ พนรัตน          ๒๖/๑๖๕๔๗
                ๔๘๗๐. วัว หรือโค  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีสี่กระเพาะ มีกีบคู่ รูปร่างล่ำใหญ่ ร่างการเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีเขาทั้งตัวผู้ และตัวเมีย
                        วัว  ให้ประโชน์แก่มนุษย์ เช่น การบริโภค นม เนย เนื้อ ส่วนขน และหนัง เอามาทำเครื่องนุ่งห่ม ขี้วัวใช้ทำปุ๋ย มีการนำแรงงานของวัว มาลากคันไถช่วยในการไถนา พรวนดินทำสวน นวดข้าว
                        ในศาสนาฮินดู นับถือวัวว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นพาหนะของพระศิวะ เป็นวัวเพศผู้ ส่วนวัวเพศเมีย ถือว่าเป็นมารดาของมนุษย์ เพราะให้นมเลี้ยงดูมนุษย์       ๒๖/๑๖๕๕๕
                ๔๘๗๑. วัสการพราหมณ์  เป็นพราหมณ์ผู้หนึ่งในสมัยพุทธกาล ที่นำความแตกสลายมาสู่บรรดากษัตริย์ลิจฉวี เมืองเวสาลี จนแคว้นวัชชีต้องสูญเสียเอกราชในที่สุด
                        วัสการพราหมณ์ เป็นอัครมหาเสนาบดี หรือมหาอำมาตย์ นายกของพระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ได้แนะอุบายแก่พระเจ้าอชาติศัตรูว่า ควรทำลายความสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวีเสีย กองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูก็เข้ายึดเมืองเวสาลี ได้โดยง่าย       ๒๖/๑๖๕๕๗
                ๔๘๗๒. วา, เพลง  มีบทนิยามว่า "เพลงปี่พาทย์ ทำนองหนึ่งใช้บรรเลงก่อนตัวแสดง เพื่อให้ผู้ชมรู้ว่าการแสดงจะเริ่มแล้ว"
                        โดยทั่วไปของละครก่อนแสดง หรือลงโรง จะต้องมีการบรรเลงเพลงโหมโรงก่อน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เพลงตระร้อ สามลา เมื่อบรรเลงจบทุกเพลงแล้ว จึงบรรเลงเพลงวาต่อ เป็นเพลงสุดท้าย เพื่อบอกให้รู้ว่า ตัวละครเริ่มออกแสดงแล้ว
                        เมื่อการแสดงละคร เพลงจะต้องบรรเลงเพลงวาอีกเช่นกัน เรียกว่า วาลาโรง       ๒๖/๑๖๕๖๑
                ๔๘๗๓. วาติกัน, นครรัฐ  มีพื้นที่ประกอบ ๒๕๐ ไร่ ตามสนธิสัญญาแห่งลาเตรัน นครรัฐวาติกัน มีอาณาเขตประกอบด้วย วังวาติกัน วังกัสเตลกันดอลโฟ อันเป็นที่ประทับร้อน อยู่นอกชานกรุงโรม ไปทางทิศใต้ มหาวิทยาลัยเกรกอเรียน และโบสถ์ ๑๓ แห่ง ในกรุงโรม เฉพาะวังวาติกัน มีพื้นที่ ๑๕๐ ไร่ ซึ่งรวมโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ พิพิธภัณฑ์วาติกัน หอสมุดวาติกัน และที่ประทับของสันตะปาปา ด้วย
                        แม้นครรัฐวาติกัน จะมีการติดต่อทางการทูตกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ในนครรัฐวาติกัน หามีที่ตั้งสถานทูตไม่ เพราะทูตประจำวาติกัน มักได้แก่ ทูตประจำประเทศใด ประเทศหนึ่งในยุโรป
                        นครรัฐวาติกัน มีพลเมืองประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน เป็นพลเมืองสัญชาติวาติกัน พลเมืองวาติกันเหล่านี้ มีสัญชาติวาติกัน เฉพาะในขณะดำรงตำแหน่ง หรือเป็นภรรยาของพลเมืองวาติกัน หรือเป็นบุตรที่มีอายุไม่เกิน ๒๕ ปี ถ้าเกินต้องกลับคืนสัญชาติเดิม ผู้ถือสัญชาติวาติกัน หากพ้นตำแหน่งเมื่อใด ก็ต้องคืนสู่สัญชาติเดิมของตน พร้อมทุกคนในครอบครัว หากชาติเดิมของตนไม่ยอมรับ ให้ขอสัญชาติอิตาลี ซึ่งรัฐบาลอิตาลีมีข้อผูกมัดต้องรับเสมอ       ๒๖/๑๖๕๖๔
                ๔๘๗๔. วาเนเดียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๒๓ นักวิทยาแร่ ชาวสเปน พบเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๔
                        ในธรรมชาติมีวาเนเดียนทั่วไป ในเปลือกโลก ไม่พบธาตุนี้เป็นโลหะบริสุทธิ์ แต่พบเป็นสารประกอบในแร่ต่าง ๆ วาเนเดียมบริสุทธิ์เป็นโลหะสีขาวเงิน อ่อน ดึงยืดได้ ทำเป็นแผ่นม้วนได้ มีสมบัติหลายประการที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการต่าง ๆ ที่เด่นมากคือ ต้านทานการกัดกร่อน ไม่เป็นสนิม และมีความแข็งแรง จึงมักใช้ทำเหล็กกล้าผสม       ๒๖/๑๖๕๗๑
                ๔๘๗๕. วามนาวตาร    ดู นารายณ์สิบปาง  - ลำดับที่ ๒๘๖๓       ๒๖/๑๖๕๗๔
                ๔๘๗๖. วามาจาร  เป็นลัทธิพุทธตันตระแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบซ้าย หรือฝ่ายซ้าย คู่กับลัทธิทักษิณาจาร ซึ่งเป็นแบบขวา หรือฝ่ายขวา ทั้งสองแบบเป็นฝ่ายมหายาน ที่รับเอาลัทธิตันตระของฮินดู มาปรับปรุงเข้ากับปรัชญา และพิธีกรรมของพระพุทธศาสนา แต่ปรากฎว่า ชาวพุทธทั่วไปทั้งฝ่ายเถรวาท และอาจริยาวาท (มหายาน)  ไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่า เป็นลัทธิสัทธรรม ปฎิรูป พวกมหายานอื่น ๆ เรียก พุทธตันตระ ว่า มหายานนอกรีต ต่อมาเรียกว่า ตันตรยาน
                        เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พวกพุทธตันตระ คณะหนึ่งประกาศแยกตัวออกจากมหายานอย่างเปิดเผย พวกนี้ต่อมาเรียกว่า ทักษิณาจาร เพราะมีหลักที่เรียบง่าย และสุภาพ คือ พยายามดัดแปลงฮินดูตันตระ ให้เข้ากับหลักปรัชญา และหลักพิธีกรรมของพุทธปรัชญา สำนักมาธยมิกะ และโยคาจาร  ต่อมามีพุทธตันตระอีกคณะหนึ่ง เรียกตนเองว่า วามาจาร ได้รับเอาหลักการของฮินดูตันตระ มามากกว่าพวกทักษิณาจาร ทั้งนี้เพื่อเอาใจพวกนิยมลัทธิตันตระ จึงวางหลักการหนักไปทางฮินดูตันตระ โดยสรุปมีสามอย่างคือ
                        ๑. การนับถือศักติ หรือเทพี ว่าเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธะ และพระโพธิสัตว์
                        ๒. นับถือผี และเทพ ที่ดุร้ายน่ากลัว
                        ๓. ถือว่า การร่วมประเวณี และการไม่กังวลกับข้อห้ามใด ๆ ทางสังคม เป็นหลักการที่จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการฝึกจิตให้เป็นอิสระ        ๒๖/๑๖๕๗๔
                ๔๘๗๗. วายุภักษ์  เป็นตัวละครในบทละครเรื่อง รามเกียรติ์  มีลักษณะท่อนบนเป็นยักษ์ ท่อนล่างเป็นนก เป็นเจ้าเมืองวิเชียร มีมารดาเป็นนก และบิดาเป็นยักษ์ ไม่ได้อยู่ในทศพิธราชธรรม ชอบเบียดเบียนทั้งฤษี และเทวดา ครั้งหนึ่งขณะบินไปชมป่ากับไพร่พลยักษ์ ได้เห็นพระรามกับพระลักษณ์ ประทับอยู่กับเหล่าพญาวานร เมื่อครั้งทั้งสององค์ออกเดินป่าเป็นครั้งที่สอง วายุภักษ์ได้บินโฉบไปจับทั้งสององค์ เพื่อนำไปเป็นภักษาหาร แต่สุครีพและหนุมานเข้าชิงทั้งสององค์กลับมาได้ นิลพัทกับองคต ตามไปสังหารวายุภักษ์ลงได้
                        ในภาพจิตรกรรมและการแสดงโขน วายุภักษ์เป็นยักษ์ ทรงมงกุฎน้ำเต้า หน้าและเครื่องทรงสีเขียว       ๒๖/๑๖๕๘๐
                ๔๘๗๘. วาลมิกิ  ดู รามเกียรติ์  - ลำดับที่  ๔๖๙๖       ๒๖/๑๖๕๘๑
                ๔๘๗๙. วาลวิชณี  ดู กกุธภัณฑ์  - ลำดับที่ ๕       ๒๖/๑๖๕๘๒
                ๔๘๘๐. วาสิฎฐี   ดู กามนิต  - ลำดับที่ ๓๗๘       ๒๖/๑๖๕๘๒
                ๔๘๘๑. วาฬ, ปลา  ดู ปลาวาฬ  - ลำดับที่ ๓๔๑๕       ๒๖/๑๖๕๘๒
                ๔๘๘๒. วิกรมาทิตย์  เป็นกษัตริย์องค์หนึ่งของอินเดีย  มีพระชนม์ชีพอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๐ พระองค์เป็นบุคคลที่มีองค์จริง และเป็นบุคคลในนิยายปนกัน พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้กล้าหาญ ทรงคุณธรรม เป็นนักปกครองผู้ยอดเยี่ยม ครองราชย์อยู่ที่กรุงอุชเชนี ทางตะวันตกของประเทศอินเดีย ได้ทำสงครามขับไล่พวกศกะ ที่เข้ามาครองอินเดียทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้อาณาจักรของพระองค์แผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง
                        ในทางประวัติศาสตร์ มีหลักฐานว่า กษัตริย์องค์ที่สาม ของราชวงศ์คุปตะ พระนาม จันทรคุปต์ ที่สอง นั้นคือ พระเจ้าวิกรมาทิตย์ ครองราชระหว่างปี พ.ศ.๙๑๘ - ๙๕๖ ในครั้งนั้นราชวงศ์คุปตะ เจริญสูงสุด
                        เรื่องของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายก็คือ นิทานเวตาล ๒๕ เรื่อง           ๒๖/๑๖๕๘๒
                ๔๘๘๓. วิชชา  แปลว่า ความรู้ ในพระพุทธศาสนา หมายถึง ความรู้ขั้นสูงเหนือความรู้ ที่เกิดจากประสาทสัมผัส แบ่งออกเป็น วิชชาสาม และวิชชาแปด
                        วิชชาแปด ซึ่งในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค มีกล่าวไว้ว่า ประกอบด้วย วิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิ อิทธิวิธี ทิพโสต เจโตปริยญาณ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ทิพจักษุ และ อาสวขยญาณ
                        วิชชาสาม  ซึ่งในทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค มีกล่าวไว้ว่า ประกอบด้วย บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ และ อาสวขยญาณ
                        ในคืนวันตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงบรรลุ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ในปฐมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ในมัชฌิมยาม และทรงบรรลุ อาสวขยญาณ ในปัจฉิมยาม
                        บุพเพนิวาสานุสติญาณ ได้แก่ การระลึกชาติได้ว่า ตนเคยเกิดมาแล้วที่ไหน มีชื่ออะไร มีความเป็นอยู่อย่างไร มีอายุยืน หรืออายุสั้นอย่างไร
                        จตุปปาตญาณ ได้แก่ การรู้การจุติ (การตาย) และการอุบัติ (การเกิด) เป็นความรู้ขั้นทำให้เห็นสัตว์ทั้งหลาย กำลังตาย กำลังเกิดในภพภูมิต่าง ๆ
                        อาสวักขยญาณ  ได้แก่ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ เป็นความรู้ขั้นละกิเลส รู้ว่าละกิเลสอะไรบ้าง กิเลสอะไรยังเหลืออยู่ หรือละได้หมดสิ้นแล้ว    ๒๖/๑๖๕๘๕
                ๔๘๘๔. วิญญาณ  มีบทนิยามว่า "สิ่งที่เชื่อกันว่า มีอยู่ในกายเมื่อมีชีวิต เมื่อตายจะออกจากกายล่องลอยไป หาที่เกิดใหม่ ; ความรับรู้ เช่น จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นขันธ์หนึ่งในขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ; โดยปริยาย หมายถึง จิตใจ เช่น มีวิญญาณนักสู้ มีวิญญาณศิลปิน"
                         วิญญาณ ตามบทนิยามข้างต้น มีสามความหมายคือ
                         ๑. หมายถึง  สิ่งที่เชื่อกันว่า มีอยู่ในกายเมื่อมีชีวิต เมื่อตายจะออกจากร่างกาย ล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่
                         ๒. หมายถึง  ความรับรู้ ความหมายนี้ เป็นของพระพุทธศาสนา
                         ๓. โดยปริยาย หมายถึง จิตใจ ความหมายนี้ เป็นเรื่องสำนวน
                        กล่าวโดยสรุปวิญญาณ ในพระพุทธศาสนาไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่อาตมัน ไม่ใช่ชีวะ ไม่เหมือนกับวิญญาณ ของลัทธิศาสนาและปรัชญาอื่น        ๒๖/๑๖๕๘๙
                ๔๘๘๕. วิตามิน  เป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย แต่จำเป็น เพราะหากขาดวิตามินจะทำให้กระบวนการสร้างและสลายทำงานผิดปรกติและจะทำให้เกิดเป็นโรคต่าง ๆ ได้ วิตามินธรรมชาติทุกชนิดพบอยู่ในสิ่งมีชีวิตคือ พืชและสัตว์เท่านั้น ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ร่างกายไม่สามารถผลิตหรือสังเคราะห์วิตามินขึ้นได้ แต่ร่างกายจะได้รับวิตามินจากอาหารที่บริโภค ซึ่งมีอยู่ในเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้       ๒๖/๑๖๕๙๕
                ๔๘๘๖. วิทยาศาสตร์  เป็นวิทยาการสาขาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความรู้ด้านธรรมชาติ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ประมวญความรู้ดังกล่าวให้เป็นระบบ เป็นกฎ เป็นทฤษฎีและหลักการ เพื่อใครก็ตามสามารถนำไปตรวจสอบความถูกต้องได้
                        ความเจริญรุดหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของยุโรป ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙
                        ยุโรปในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ โดยวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาปรับปรุงกระบวนการผลิต การประยุกต์และพัฒนาทฤษฎีของนิวตัน
                        ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๖ วิทยาศาสตร์ยังคงรุดหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง การค้นพบสารประกอบใหม่ ๆ ทางเคมีได้เข้ามาพัฒนาชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น
                        ทุกวันนี้วิทยาศาสตร์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว เพราะการใช้วิทยาศาสตร์ในทางที่ถูกจะเพิ่มพูนคุณภาพของชีวิต       ๒๖/๑๖๕๙๙
                ๔๘๘๗. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวง  จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ โดยโอนกรมวิทยาศาสตร์และบริการ และสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติจากกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และสักนักงานพลังงานแห่งชาติ จำกสำนักนายกรัฐมนตรีมารวมกัน       ๒๖/๑๖๖๐๗
                ๔๘๘๘. วิทยุหยั่งอากาศ, เครื่อง   เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจอากาศชั้นบนที่สร้างขึ้นเพื่อมาใช้ควบคู่กับบอลลูน ที่บรรจุแกสไฮโดรเจน หรือแกสฮีเลียม และยังผูกร่มชูชีพขนาดเล็กในขณะที่ตรวจอากาศชั้นบน ตรวจวัดองค์ประกอบทางอุตนิยมวิทยา ได้แก่ ความกดอากาศ อุณหภูมิ  ความชื้นแล้วส่งข้อมูลการตรวจลงมาที่เครื่องรับบนพื้นดิน       ๒๖/๑๖๖๑๒
                ๔๘๘๙. วิธุรบัณฑิต  เป็นพระโพธิสัตว์ลำดับที่เก้าในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ ท่านดำรงตำแหน่งมหาราชครู ของพระเจ้าธนัญชัยโกรพย์ ซึ่งครองนครอินทรปัตถ์ แคว้นกุรุในชมพูทวีป และได้ทรงเน้นการบำเพ็ญสัจบารมีเป็นสำคัญ จนได้รับการยกย่องและมีชื่อเสียงไปทั่วว่าเป็นนักปราชญ์ผู้ยึดมั่นในความสัตย์ มีความสามารถในการใช้คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน โน้มน้าวจิตใจคนให้เลื่อมใสและเห็นคล้อยตาม       ๒๖/๑๖๖๑๔
                ๔๘๙๐. วินัย  โดยทั่วไปหมายถึงระเบียบสำหรับความประพฤติให้เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน ในทางพระพุทธศาสนา คัมภีร์สมันตปาสาทิกาเล่มหนึ่งได้อธิบายว่ามีสามความหมาย พระพุทธศาสนาแบ่งวินัยออกเป็นสองส่วนคือ อาทิพรหมจริยกาสิกขากับอภิสมาจาริกาสิกขา
                        สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ (คือสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ พระสงฆ์นำมาสวดทุก ๑๕ วัน) เหล่านี้ ยกเว้นเสขิยะ จัดเป็นอาทิพรหมจริยากาสิกขา ส่วนเสขิยะและสิกขาบทจำนวนมากที่ไม่ได้มาในพระปาติโมกข์ จัดเป็นอภิสมาจาริกาสิกขา
                        ในตอนต้นพุทธกาลตั้งแต่พรรษาที่ ๑ - ๑๑ พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทที่มีโทษหนักคือ อาบัติปาราชิก และที่มีโทษปานกลางคืออาบัติสังฆาทิเสส แต่ทรงบัญญัติสิกขาบทที่มีโทษเบาเช่น อาบัติปาจิตตีย์ ทุกฎไว้บ้างแล้ว
                        ขั้นตอนการบัญญัติสิกขาบทแต่ละครั้งคือ เมื่อเกิดเรื่องมัวหมองขึ้นในหมู่สงฆ์พระพุทธองค์จะตรัสสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสถามภิกษุผู้ก่อเหตุให้ทูลรับ แล้วทรงชี้โทษแห่งการประพฤติเช่นนั้น และตรัสอานิสงฆ์แห่งความสำรวมระวัง แล้วจึงทรงตั้งพระบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุกระทำเช่นนั้นอีกต่อไป ทรงกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิด
                        ประโยชน์หรือจุดมุ่งหมายของการบัญญัติวินัย พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้สิบประการคือ
                        ๑. เพื่อความงามแห่งสงฆ์
                        ๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
                        ๓. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
                        ๔. เพื่อให้ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักอยู่อย่างผาสุก
                        ๕. เพื่อปิดกั้นอาสวะที่เกิดในปัจจุบัน
                        ๖. เพื่อขจัดอาสวะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
                        ๗. เพื่อให้คนที่ยังไม่เลื่อมใสได้เลื่อมใส
                        ๘. เพื่อให้คนที่เลื่อมใสแล้วเลื่อมใสยิ่งขึ้น
                        ๙. เพื่อให้พระสัทธรรมดำรงอยู่
                        ๑๐. เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย        ๒๖/๑๖๖๒๑
                ๔๘๙๑. วิปัสสนา  แปลว่าการเห็นแจ้ง เป็นวิธีฝึกจิตให้เกิดปัญญา โดยพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงว่า สรรพสิ่งไม่เที่ยง (อนิจจัง) ผันแปรแตกสลาย (ทุกขัง) และไม่มีตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา)
                        โดยเหตุที่วิปัสสนาเป็นธรรมคู่กับสมถะ สมถะเป็นวิธีฝึกจิตให้สงบ โดยเพ่งอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในสี่สิบอย่างเป็นอารมณ์ สมถะ คือ สมาธิหรือเอกัคตา วิปัสสนากับสมถะ แม้จะมีอารมณ์แตกต่างกัน แต่ในด้านของการปฏิบัติแล้ว ทั้งสองย่อมเป็นคู่กันคือ เกื้อหนุนกัน มีวิธีปฏิบัติดังนี้
                         ๑. เจริญสมถะนำวิปัสสนา
                         ๒. เจริญวิปัสสนานำสมถะ
                         ๓. เจริญสมถะและวิปัสสนาสลับกัน
                         วิปัสสนา  เป็นวิธีปฎิบัติที่มีอยู่แต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่มีในศาสนาอื่น ๆ            ๒๖/๑๖๖๒๕
                ๔๘๙๒. วิปัสสี  เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง นับเป็นพระองค์ที่สิบเก้า ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้น ในโลกแล้ว ยี่สิบห้าพระองค์        ๒๖/๑๖๖๒๘
                ๔๘๙๓. วิภังค์  แปลว่า แบ่ง, แจก หรือจำแนก ใช้เป็นชื่อคัมภีร์ สองคัมภีร์ในพระวินัยปิฎก เป็นชื่อวรรค (หมวดพระสูตร) หนึ่งวรรค และชื่อพระสูตรจำนวนมาก ในพระสุตตันตปิฎก และเป็นชื่อคัมภีร์ หนึ่งคัมภีร์ในพระอภิธรรมปิฎก       ๒๖/๑๖๖๓๑
                ๔๘๙๔. วิมานเมฆ, พระที่นั่ง  เดิมเป็นพระที่นั่งในบริเวณพระราชวังจุฑาธุชราชฐาน ที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี นามว่า พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ ได้รื้อมาสร้างใหม่ในบริเวณสวนดุสิต ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ ในนามพระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทอง ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรีย       ๒๖/๑๖๖๓๔
                ๔๘๙๕. วิมุตติมรรค  เป็นหนังสือที่พระอุปติสสเถระ แต่งเมื่อประมาณปี พ.ศ.๖๐๐ เชื่อกันว่า แต่งก่อนวิสุทธิมรรค วิมุติมรรคมีเนื้อหาแบ่งเป็นปริจเฉทได้สิบสองปริเฉทคือ ปริจเฉทที่หนึ่ง นิทานกถา
                        ปริจเฉท ที่หนึ่ง    นิทานกถา
                        "      สอง    สีลปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง ศีล )
                        "      สาม    ธุดงคปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง ธุดงค์ )
                        "      สี่     สมาธิปริจเฉท   ( อธิบายเรื่อง สมาธิ )
                        "      ห้า   กัลยาณมิตรปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง กัลยาณมิตร )
                        "      หก  จริยาปริจเฉท   (อธิบายเรื่อง จริยาประเภทต่าง ๆ )
                        "      เจ็ด  กัมมัฎฐานวัมมณปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง อารมณ์กับปัฎฐาน )
                        "      แปด   กัมมัฏฐานปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง กัมมัฎฐาน )
                        "      เก้า   อภิญญาปริจเฉท   (อธิบายเรื่อง อภิญญา )
                        "      สิบ   ปัญญาปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง ปัญญา )
                        "      สิบเอ็ด  อุปายปริจเฉท   (อธิบายเรื่อง อุบาย )
                        "      สิบสอง  สัจจญาณปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง สัจญาณ )           ๒๖/๑๖๖๓๘
                ๔๘๙๖. วิรุฬหก   ดูที่ จตุโลกบาล -  ลำดับที่ ๑๔๘๒       ๒๖/๑๖๖๔๓
                ๔๘๙๗. วิรูปักษ์   ดูที่ จตุโลกบาล  - ลำดับที่ ๑๔๘๒       ๒๖/๑๖๖๔๓
                ๔๘๙๘. วิศวามิตร  เป็นสมญานามของพระราชาองค์หนึ่ง ที่สละราชสมบัติออกบวชเป็นราชฤษี เพื่อทางแปลงวรรณะจากกษัตริย์เป็นพราหมณ์ เพื่อหวังผลสูงสุดคือ เป็นพรหมฤาษี ซึ่งยังไม่มีใครในโลกทำได้สำเร็จ เรื่องราวของพระวิศวามิตร มีปรากฎในวรรณคดีสันสกฤตหลายเล่ม อาทิ มหากาพย์รามายณะ มหากาพย์มหาภารตะ และภาคผนวก
                        พระวิศวามิตร ได้รับยกย่องว่าเป็น พรหมฤษี และมีชีวิตนิรันดร ในฐานะเป็นฤษีตนหนึ่งในหมู่ฤษีเจ็ดตน ที่เรียกว่า สัปตฤาษี หรือดาวจระเข้เจ็ดดวง       ๒๖/๑๖๖๔๓
                ๔๘๙๙. วิษุวัต  เป็นวันที่ทุกส่วนบนพื้นโลกมีกลางวันและกลางคืนเท่ากันคือ ช่วงละสิบสองชั่วโมง ลักษณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นปีละสองครั้ง เมื่อลำแสงจากดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ตั้งฉากกับระนาบเส้นศูนย์สูตรของโลก ซึ่งเกิดในวันที่ ๒๑ มีนาคม (หรือ ๒๑ มีนาคม หากเป็นปีอธิกสุรทิน) เรียกว่า วสันตวิษุวัต และวันที่ ๒๓ กันยายน (หรือ ๒๒ กันยายน หากเป็นปีอธิกสุรทิน) เรียกว่า ศารทวิษุวัต
                        จากการที่แกนโลกหมุนรอบตัวเองทำมุม ๖๖ ๑/๒ องศา กับระนาบการโคจรหรือเอียงไปจากแนวตั้งฉากของระนาบเส้นศูนย์กสูตรท้องฟ้า ๒๓ ๑/๒ องศา  ดังนั้น เมื่อโลกโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ จึงทำให้ลำแสงของดวงอาทิตย์ ตอนเที่ยงวันที่ตกมาตั้งฉากกับพื้นโลก เคลื่อนที่ไปทุกวัน ระหว่างเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์ หรือ ๒๓ ๑/๒ องศาเหนือ กับเส้นทรอปิกออฟแคปริคอร์น  หรือ ๒๓ ๑/๒  องศาใต้ ยกเว้นเพียงสองวันในรอบหนึ่งปี ที่แสงอาทิตย์ตกลงมาตั้งฉากที่เส้นศูนย์สูตร หลังจากนั้น เมื่อลำแสงตั้งฉากของดวงอาทิตย์ ผ่านขึ้นไปทางเหนือ ทำให้ซีกโลกเหนือมีกลางวันยาวนานขึ้น ส่วนซีกโลกใต้จะมีกลางวันสั้นลง ลำแสงตั้งฉากจะไปหยุดแค่ ๒๓ องศาเหนือ ซึ่งเป็นวันที่ซีกโลกเหนือ มีกลางวันยาวที่สุดคือ วันที่ ๒๑ มิถุนายน วันดังกล่าวเรียกว่า อุตรายัน หรือคริษมายัน ส่วนในซีกโลกใต้จะกลับกันคือ มีกลางวันสั้นที่สุด เมื่อลำแสงตั้งฉากเลื่อนผ่านลงไปทางซีกโลกใต้ จนไปหยุดที่เส้นรุ้ง ๒๓ ๑/๒ องศาใต้ ตรงกับวันที่ ๒๑ ธันวาคม  เรียกว่า ทักษิณายัน หรือเหมายัน ในวันนั้น ซีกโลกใต้จะมีกลางวันยาวที่สุด ส่วนซีกโลกเหนือจะมีกลางวันสั้นที่สุด
                        การที่ลำแสงตั้งฉากดวงอาทิตย์เลื่อนที่ไปมาในช่วงเวลาต่าง ๆ ของปี เป็นผลให้เกิดฤดูกาลขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของโลก ทำให้เขตเส้นรุ้งกลาง (๓๐ ํ - ๖๐ ํ)  แบ่งออกได้เป็นสี่ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว และฤดูใบไม้ผลิ ในซีกโลกเหนือ ฤดูร้อนเริ่ม ๒๑ มิถุนายน ฤดูใบไม้ร่วง เริ่ม ๒๒ กันยายน  ฤดูหนาว เริ่ม ๒๑ ธันวาคม และฤดูใบไม้ผลิ เริ่ม ๒๑ มีนาคม ส่วนในซีกโลกใต้ ฤดูกาลจะตรงกันข้ามกับซีกโลกเหนือ
                        แรงดึงดูดของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ที่มีต่อโลกมีผลให้แกนการหมุนของโลก หมุนวนไปอย่างช้า ๆ รอบแนวตั้งฉากกับระนาบการโคจร การหมุนวนเช่นนี้ ใช้เวลาประมาณ ๒๖,๐๐๐ ปี จึงจะครบหนึ่งรอบ ปัจจุบันขั้วโลกเหนือ ทางภูมิศาสตร์หรือแกนหมุนของโลก อยู่เกือบตรงกับดาวเหนือ แต่อีกประมาณ ๑๓,๐๐๐ ปี ข้างหน้า แกนหมุนของโลกจะเคลื่อนไปเกือบตรงกับตำแหน่งของดาวเวกา และอีก ๑๓,๐๐๐ ปี ต่อมาจะเคลื่อนกลับมาตรงกับดาวเหนือ เช่นเดิม       ๒๖/๑๖๖๕๑
                ๔๙๐๐. วิสสุกรรม  เป็นเทพองค์หนึ่ง ซึ่งมีเรื่องราวอยู่ในวรรณคดีสันสกฤต และวรรณคดีบาลี สมัยพระเวท หลักฐานเก่าที่สุดคือ คัมภีร์ฤคเวท (ประมาณ ๔,๐๐๐ ปี)  ในสมัยพระเวทรุ่นแรก ๆ นั้น พระวิศวกรรมเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ ระดับเดียวกับพระอินทร์ พระวรุณ และพระอัคนี แต่ต่อมาในสมัยมหากาพย์ และในคัมภีร์ปุราณะ พระวิศวกรรมถูกลดฐานะลงเป็นนายช่าง และสถาปนิก เท่านั้น เป็นผู้คอยรับบัญชาจากพระอินทร์
                        พระวิสสุกรรม หรือพระวิศวกรรม ได้รับการเคารพบูชาจากผู้เรียนวิชาช่างทั้งหลาย โดยทำเป็นรูปเทวดานั่งแท่น        ๒๖/๑๖๖๕๔
                ๔๙๐๑. วิสาขบูชา  เป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่ง ในทางพระพุทธศาสนาเพราะเป็นวันประสูต ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้าซึ่งมาตรงกันในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือนหก)
                        ในคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาว่า สมัยเมื่อพระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่ในลังกา ราวปี พ.ศ.๔๒๐ พระเจ้าแผ่นดินในช่วงนี้ ล้วนเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ที่ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตลอดมา ปรากฎพระนามที่ทรงทำพระราชพิธีวิสาขบูชา ประจำปีเป็นการใหญ่หลายพระองค์
                        ในประเทศไทย ครั้งสมัยสุโขทัยได้ความตามหนังสือ ที่นางนพมาศแต่งไว้ว่า ครั้นถึงวันวิสาขบูชา สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชบริรักษ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ทั้งอาณาประชาราษฎร์ทั่วทุกนิคม ตามชนบทก็ประดับพระนคร ฯลฯ แขวนโคมประทีปชวาลา สว่างไสว ห้อยพวงบุปผชาติ ประพรมเครื่องสุคนธรสอุทิศบูชาพระรัตนตรัย สิ้นสามทิวาราตรี มหาชนชวนกันรักษาอุโบสถศีล สลัดฟังพระธรรมเทศนา บูชาธรรม ..."
                        สมัยอยุธยา ไม่ปรากฎหลักฐานว่า ปฎิบัติกันอย่างไร จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นต้นมา จึงได้มีพิธีวิสาขบูชาเป็นแบบแผนขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐         ๒๖/๑๖๖๕๖
                ๔๙๐๒. วิสาขา, นาง   เป็นอุบาสิกาที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาลเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้า ทรงประกาศยกย่องเป็นอัครทายิกา (ผู้เป็นเลิศกว่าสตรีทั้งหลาย ผู้ให้ทาน)  คู่กับ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ทรงประกาศยกย่องเป็น อัครทายก
                    นางวิสาขา เป็นธิดาธนัญชัยเศรษฐี เมื่อนางได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าจบลง นางก็ได้บรรลุเป็น พระโสดาบัน       ๒๖/๑๖๖๕๙
                ๔๙๐๓. วิสุทธิกษัตริย์, พระ  เป็นพระราชธิดาองค์โต ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ พระราชทานให้เป็นมเหสีของขุนพิเรนทรเทพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ ผู้เป็นหัวหน้าในการปราบปรามท้าวศรีสุดาจันทร และขุนวรวงศาธิราช
                        พระวิสุทธิกษัตริย์ได้ขึ้นไปประทับที่เมืองพิษณุโลก ร่วมกับพระพิเรนทรเทพ ซึ่งได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น พระมหาธรรมราชา พระองค์มีพระราชโอรส และพระราชธิดา สามพระองค์คือ พระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวร ฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ       ๒๖/๑๖๖๖๗
                ๔๙๐๔. วิสุทธิมรรค  เป็นคัมภีร์สำคัญ (ปกรณ์วิเสส)  ของพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาทคัมภีร์หนึ่ง พระพุทธโฆสะ นักปราชญ์ชาวชมพูทวีป (พ.ศ.๙๐๐ - ๑๐๐๐) เป็นผู้แต่งเมื่อคราวเดินทางไปปริวรรต คัมภีร์อรรถกถา จากภาษาบาลีเป็นภาษามคธ และแต่งวิเสสวิสุทธิมรรค ณ สำนักมหาวิหาร เมืองอนุราชปุระ แห่งลังกาทวีป
                        พระพุทธโฆสะ เริ่มต้นแต่งด้วยการอธิบายปัญหากระทู้ที่พระสงฆ์ สำนักมหาวิหาร ตั้งไว้ให้พร้อมทั้งอธิบายความหมายของคำว่า วิสุทธิมรรค แล้วสรุปว่า วิสุทธิมรรค นั้นก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง จากนั้น จึงอธิบายรายละเอียดของศีล สมาธิ ปัญญา โดยแบ่งออกเป็น นิทเทส ถึง ๒๓ นิทเทส       ๒๖/๑๖๖๖๙
                ๔๙๐๕. วุฒิสภา  เป็นสภานิติบัญญัติสภาหนึ่งในระบบการเมือง การปกครองแบบสองสภา โดยเมื่อรวมกับสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ประกอบเป็น รัฐสภา            ๒๖/๑๖๖๗๓
                ๔๙๐๖. วุ้น   เป็นผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากสาหร่ายทะเลสีแดง ซึ่งมีวุ้นอยู่ในตัว ทำเป็นวุ้นรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็น เส้น แผ่น เกร็ด หรือผง
                        ประโยชน์ของวุ้น มีหลายประการ ส่วนใหญ่ใช้ในการแพทย์ สำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และเชื้อจุลินทรีย์ เป็นส่วนประกอบในการทำยา และเครื่องสำอางค์ บางชนิด โดยทั่ว ๆ ไปใช้ทำอาหารและขนม         ๒๖/๑๖๖๘๒
                ๔๙๐๗. วุลแฟรม  ดู ทังสเตน - ลำดับที่ ๒๕๐๖        ๒๖/๑๖๖๘๓
                ๔๙๐๘. เวตาล  เป็นปีศาจพวกหนึ่ง ซึ่งหากินอยู่ในสุสาน และสิงสู่อยู่ในศพ โดยทั่วไปเวตาลเป็นภูติผี ซึ่งกล่าวถึง เป็นอันดับสุดท้ายในนิยายสันสกฤต มีเรื่องเล่าหนังสือชื่อ พฤหัตถกภา ของคุณาฒัย กวีโบราณ ผู้มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ห้า มีผู้นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ และขยายความเพิ่มเติมอีกมาก สำเร็จบริบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๑๖๑๓ มีความยาว ๒๒,๐๐๐ โศลก ให้ชื่อว่า กถาสริตสาคร ในคัมภีร์มหานิทาน อันเป็นที่รวมของนิทานโบราณราว ๓๐๐ เรื่องนี้ มีเรื่องราวของเวตาลรวมอยู่เป็นชุดรวม ๒๕ เรื่อง       ๒๖/๑๖๖๘๓
                ๔๙๐๙. เวทางคศาสตร์   เป็นคัมภีร์ประเภทสฺมฤติ (ที่จำมา)  ชุดหนึ่ง ของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู แปลว่า ศาสตร์ที่ว่าด้วยองค์แห่งพระเวท คือ เป็นหนังสือคู่มือในการอ่าน ท่อง จำ การสาธยาย การเรียนพระเวท และการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ตามที่พระเวทบอกไว้
                       คัมภีร์เวทางคศาสตร์ มีลักษณะสำคัญคือ แต่งเป็นสูตรสั้น ๆ เพื่อให้จำได้ง่าย และจำได้เร็ว และมีคำอธิบายขยายความโดยละเอียด เพื่อให้เข้าใจเนื้อความในสูตรนั้นๆ
                        ในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นต้นของพระพุทธศาสนา มีชื่อคัมภีร์ทาง เวทางคศาสตร์ ปรากฎอยู่หลายแห่ง         ๒๖/๑๖๖๘๔
                ๔๙๑๐. เวทานตะ  แปลว่า ที่สุดแห่งพระเวท เป็นชื่อหนึ่งของคัมภีร์อุปนิษัท ของศาสนาพราหมณ์ฮินดู และเป็นชื่อสำนักปรัชญาอินเดีย ฝ่ายพระเวทสำนักหนึ่งในหกสำนัก       ๒๖/๑๖๖๘๙
                ๔๙๑๑. เวสสภู  เป็นพระนามพระพุทธเจ้า องค์ที่ยี่สิบเอ็ด ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ยี่สิบห้าพระองค์         ๒๖/๑๖๖๙๕
                ๔๙๑๒. เวสสันดร  เป็นชื่อพระโพธิสัตว์ ครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโอรสของ พระเจ้าสญชัย กับพระนางผุสดี แห่งแคว้นสีพี เมื่อพระชนมายุสิบหกพรรษา ได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงมัทรี แห่งแคว้นมัททะ มีพระโอรสและพระราชธิดา ด้วยกันสององค์คือ เจ้าชายชาลี กับเจ้าหญิงกัณหาชินา        ๒๖/๑๖๖๙๘
                       พระเวสสันดร มีพระอุปนิสัยน้อมไปในการเพ็ญทานบารมี คราวหนึ่งแคว้นกาลิงคะเกิดทุพภิกขภัย เนื่องจากขาดฝน ชาวเมืองจึงกราบทูลขอให้ พระเจ้ากาลิงคะส่งเจ้าหน้าที่ไปขอช้างปัจจัยนาค จากแคว้นสีพี พระเวสสันดรก็พระราชทานให้ ชาวสีพีรู้เข้าก็โกรธและขอให้เนรเทศพระเวสสันดร ออกจากแคว้นสีพี พระเวสสันดรจึงออกไปอยู่ป่าพร้อมพระนางมัทรี และพระราชโอรสธิดาไปประทับอยู่ยังเขาวงกต ถือเพศเป็นนักบวช
                        วันหนึ่ง พระนางมัทรีไม่อยู่ ชูชกพราหมณ์แก่ ยากจน จากแคว้นกาลิงคะ ได้เข้าไปทูลขอพระโอรส พระธิดาไปเป็นผู้รับใช้ผู้เป็นภริยา พระเวสสันดรก็ประทานให้ตามคำขอ ต่อมาก็ทรงบริจาคพระนางมัทรี ให้แก่พราหมณ์คนหนึ่ง ซึ่งก็คือ พระอินทรแปลงตัวมาขอ
                        พระเวสสันดร ถูกเนรเทศไปอยู่ป่าถึงเก้าเดือนครึ่ง แล้วพระเจ้าสญชัยพระราชบิดา ก็เสด็จมารับพระองค์ และพระนางมัทรีกลับไปครองราชย์ตามเดิม                ๒๖/๑๖๖๙๘
                ๔๙๑๓. เวสสันดรชาดก  ดู มหาชาติ  ลำดับที่ ๔๒๐๖         ๒๖/๑๖๗๐๓

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch