หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/146

    เล่ม  ๒๖     ฦ, ฦา - สตูล            ลำดับที่ ๔๘๔๘ - ๔๙๗๖          ๒๖/ ๑,๖๔๓๙  -  ๑๗,๐๕๒

                ๔๘๔๘.  ฦ, ฦา  เป็นอักษรในภาษาไทยที่ไม่นับรวมอยู่ในจำนวนอักษรที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ ตัว ของไทย ในภาษาไทยไม่มีคำที่เขียนด้วยอักษร ฦ เลย ส่วน ฦา มีใช้ในสมัยโบราณ หมายถึงคำว่า ลือ ที่เป็นกิริยาในคำว่า ฦาชา หมายถึง ลือชา และ ฦาสาย หมายถึง ลือสาย

                ๔๘๔๙. ว พยัญชนะตัวที่สามสิบเจ็ด  ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ รูป ของไทย ใช้เป็นพยัญชนะต้นเดี่ยว ๆ ในการเขียนคำไทย  และใช้ผสมกับอักษร ก ข และ ค  เป็นอักษรควบกล้ำ กว ขว และ คว ตามลำดับ อักษร ว ใช้เป็นพยัญชนะตัวสะกด อ่านออกเสียงแม่ เกอว เช่น กาว เหลว เขียว แถว  นอกจากนั้น ยังใช้แทนเสียงสระอัว เช่น ในคำว่า มัว กลัว หัว รั่ว กวน ขวบ ข่วน ควง ควบ
                         อักษร ว เป็นอักษรต่ำ ดังนั้น คำที่มีตัว ว เป็นพยัญชนะตัน จะผันได้สามเสียงวรรณยุกต์ ได้แก่ สามัญ โท และตรี เช่น  วา ว่า ว้า ถ้าจะผันให้ได้ครบห้าเสียงวรรณยุกต์ ก็โดยใช้ ห นำ เช่น วา หว่า ว่า / หว้า ว้า หวา
                         เสียงที่แทนด้วยอักษร ว ในภาษาไทย เป็นเสียงที่เรียกว่า เสียงกึ่งสระ หมายถึง เสียงที่ออกคล้ายสระ แต่มีหน้าที่คล้ายพยัญชนะ เสียง ว มีลักษณะคล้ายเสียง อู เวลาออกเสียงมีการห่อริมฝีปาก และลิ้นส่วนหลังเคลื่อนไหว      ๒๖/๑๖๔๔๐
                ๔๘๕๐. วนประเวศ  แปลว่า การเข้าป่า เป็นชื่อกัณฑ์ (ตอน) ที่สี่ ของมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมีทั้งหมดสิบสามกัณฑ์ กัณฑ์นี้ว่าด้วยพระเวสสันดร ออกเดินทางจากนครเชอุดร เมืองหลวงของรัฐสีพี ไปถึงนครมาตุละ เมืองหลวงของเจตรัฐ แล้วเสด็จต่อไปจนถึงเขาวงกต
                        พระเวสสันดร ทรงตั้งพระทัยจะเสด็จไปผนวชเป็นฤาษีที่เขาวงกต แต่ลำพังแต่พระนางมัทรีพระมเหสี ขอตามเสด็จไปพร้อมพระโอรส และพระธิดา คือ พระชาลี และพระกัณหา ทั้งสี่พระองค์ทรงอาศัยอยู่ที่เขาวงกต เป็นเวลาถึงเจ็ดเดือน โดยได้ทรงบรรพชาเป็นฤาษี       ๒๖/๑๖๔๔๒
                ๔๘๕๑. วรรณกรรม  แปลตามรูปศัพท์ว่า ทำให้เป็นหนังสือ หมายความถึง การเขียนหนังสือ และยังรวมถึงเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา ที่เรียกว่า มุขปาฐะ ด้วย
                        วรรณกรรม อาจจำแนกเป็นสองลักษณะคือ วรรณกรรมธรรมดา และวรรณกรรมชั้นดี โดยนำวรรณกรรมทุกประเภทมาพิจารณาส่วนประกอบต่าง ๆ ได้แก่ รูปแบบ ภาษาที่ใช้ จุดมุ่งหมาย แก่นเรื่อง และประโยชน์
                        การสร้างสรรค์วรรณกรรมนั้น มีทั้งระดับธรรมดาและระดับชั้นดี และเมื่อวรรณกรรมชั้นดีมีความประณีต บรรจงจนถึงขั้นศิลปะ ก็จะขึ้นไปถึงระดับ "วรรณคดี" หรือจนถึงขั้น "วรรณศิลป์"      ๒๖/๑๖๔๔๖
                ๔๘๕๒. วรรณคดี  คือ หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่า แต่งดี ซึ่งเป็นความหมายอย่างกว้าง ๆ ในการพิจารณาหนังสือว่า หนังสือเล่มใดพึงนับเป็นวรรณคดี
                        วรรณคดีนั้น สร้างขึ้นมาจากวรรณกรรมอีกชั้นหนึ่ง วรรณกรรมที่แต่งดีเท่านั้น ที่อาจจะนับเป็นวรรณคดีได้ วรรณคดียังอาจแบ่งตามลักษณะของวิธีแต่งได้อย่างกว้าง ๆ  เป็นสองชนิดคือ ร้อยกรอง และร้อยแก้ว
                        วรรณคดี อาจแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ คือ วรรณคดีมหากาพย์ วรรณคดีนิทาน วรรณคดีศาสนา วรรณคดีบทละคร วรรณคดีพื้นบ้าน วรรณคดีประวัติศาสตร์ วรรณคดีพระราชหัตถเลขา วรรณคดีนิราศ วรรณคดีเสภา และวรรณคดีคำหลวง
                        กล่าวโดยสรุป วรรณคดี คือ วรรณกรรมที่แต่งได้ดีถึงขนาดอันอาจจัดอยู่ในขั้นวรรณศิลป์       ๒๖/๑๖๔๔๗
                ๔๘๕๓. วรรณยุกต์  มีบทนิยามว่า  "ระดับเสียงสูงต่ำของคำ ในภาษาไทยมีห้าเสียงคือ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา มีรูปเครื่องหมายบอกระดับของเสียงอยู่เบื้องบนสี่รูปคือ ไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี และไม้จัตวา"
                        ภาษาวรรณยุกต์มีมากกว่า ๑,๐๐๐ ภาษา ในทวีปแอฟริกา มีภาษาปันตู ในเคนยา ภาษาทวิ ในซูดาน เป็นต้น ในทวีปเอเชีย มีภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาญวน ภาษาพม่า เป็นต้น ในทวีปยุโรปมีภาษาสวีเดน ภาษานอร์เวย์ เป็นต้น
                        โดยปรกติภาษาทั่วไป ประกอบด้วย พยัญชนะและสระ แต่ภาษาวรรณยุกต์จะต้องมีเสียงวรรณยุกต์ เป็นส่วนประกอบที่สาม เพิ่มขึ้น
                        จำนวนเสียงวรรณยุกต์ อาจจะแตกต่างกันออกไปแต่ละภาษา ภาษาไทยกลาง มีวรรณยุกต์ห้าเสียง ภาษาปักษ์ใต้ ถิ่นสงขลา และปากพนัง มีเสียงวรรณยุกต์เจ็ดเสียง ภาษาจีนกลางมี วรรณยุกต์สี่เสียง ภาษาจีนกวางตุ้ง มีเสียงวรรณยุกต์เก้าเสียง และภาษาเวียดนาม มีเสียงวรรณยุกต์ หกเสียง เป็นต้น       ๒๖/๑๖๔๕๑
                ๔๘๕๔. วรรณศิลป์  เป็นส่วนที่ดีเลิศ หรือจุดสูงสุด ในการแต่งคำประพันธ์ทั้งร้อยกรอง และร้อยแก้ว
                         ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งในการแต่งคำประพันธ์ให้ดีเด่น ถึงขึ้นวรรณศิลป์ คือ รสของคำประพันธ์ มีอยู่เก้าอย่างคือ รสรัก รสแห่งความสงสาร รสตลกขบขัน รสโกรธ เคียดแค้น ชิงชัง รสประหลาด ทึ่ง อัศจรรย์ รสขยะแขยง น่ารังเกียจ ขนลุกขนพอง รสแห่งความกลัว น่าตื่นเต้นตกใจ หวาดหวั่นพรั่นพรึง อกสั่นขวัญหาย รสกล้าแสดงความฮึกเหิมห้าวหาญ และรสสงบเยือกเย็น
                        ลีลา หมายถึง ท่วงทำนองในการแต่งคำประพันธ์ ตามแบบของไทยมีอยู่สี่แบบคือ แต่งให้งาม ทำความพอใจให้แก่หญิง ถ้อยคำแสดงความโกรธ และแบบแห่งการพิลาปคร่ำครวญ        ๒๖/๑๖๔๖๑
                ๔๘๕๕. วรวงศาธิราช, ขุน   เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาเพียง ๔๒ วัน ในปี พ.ศ.๒๐๙๑ แต่มีความชั่วร้ายมาก จึงไม่ได้รับการยกย่องเป็นพระมหากษัตริย์ ดังเช่นองค์อื่นๆ ในสมัยอยุธยา
                        ขุนวรวงศาธิราช เดิมเป็นขุนนางผู้น้อยชื่อ พันบุตรศรีเทพ  เป็นพนักงานเฝ้าหอพระ และอาจเป็นญาติห่างๆ กับท้าวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะพระยอดฟ้า ขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุเพียงสิบเอ็ดพรรษา ขุนวรวงศาธิราชได้เป็นชู้กับท้าวศรีสุดาจันทร์ ต่อมาท้าวศรีสุดาจันทร์ได้ราชาภิเษก ขุนวรวงศาธิราชเป็นกษัตริย์ แล้วกำจัดพระยอดฟ้าโดยวางยาพิษ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑         ๒๖/๑๖๔๗๗
                ๔๘๕๖. วราหวตาร  ดู นารายณ์สิบปาง ๒ - ลำดับที่ ๒๘๖๓        ๒๖/๑๖๔๗๙
                ๔๘๕๗. วสวัตตี  เป็นผู้ปกครองสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นสูงสุด ของสวรรค์ชั้นฉกามาพจร หกชั้น มีชื่อเต็มว่า ท้าวปรนิมมิตวสวัตตี
                        ปรนิมมิตวสวัตตี แปลว่า แดนที่อยู่ของผู้มีอำนาจส่งให้เทพชั้นอื่น นิรมิตทิพยสมบัติให้ คือ
                        บนสวรรค์ชั้นนี้มีอาณาเขตแบ่งออกเป็นสองแดนคือ แดนเทพและแดนมาร มีอาณาเขตแยกกันเด็ดขาด ไม่ขึ้นต่อกันไม่เป็นศัตรูกัน ต่างอยู่กันอย่างสงบสุข       ๒๖/๑๖๔๗๙
                ๔๘๕๘. วสันตวิษุวัติ  ดู วิษุวัตร -  ลำดับที่ ๔๘๙๙        ๒๖/๑๖๔๘๐
                ๔๘๕๙. วอลแตร์  (พ.ศ.๒๒๓๗ - ๒๓๒๑)  เป็นนักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศสที่สำคัญยิ่งคนหนึ่ง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔  ซึ่งถือกันว่าเป็นยุคสว่าง แนวคิดของวอลแตร์ ได้แก่  แนวคิดด้านศาสนา ด้านการศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง และด้านสังคม ลีลาการเขียนของเขาเฉียบคม ใช้ภาษาที่กินใจ และสื่อความหมายได้ดี งานเขียนของเขาถือกันว่า เป็นวรรณกรรมเชิงปรัชญา ยังได้วางพื้นฐานทางด้านแนวความคิด ที่พวกนักปฎิวัติจะนำไปใช้ในหนทางสร้างสังคมใหม่ขึ้น ในภายหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในเรื่องการเมือง การปกครอง และสังคม ที่ยึดถือประโยชน์สุขของประชาราษฎร์ ส่วนรวมเป็นหลัก       ๒๖/๑๖๔๘๐
                ๔๘๖๐. วอลเลย์บอล  เป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘  เพื่อให้แทนกีฬาบาสเกตบอล ซึ่งไม่ค่อยมีผู้นิยมเล่น เนื่องจากลูกบาสเกตบอลมีขนาดใหญ่ และน้ำหนักมาก และในการเล่นต้องมีการปะทะกันด้วย
                        การเล่น ประกอบด้วยผู้เล่นสองทีม มีผู้เล่นทีมละหกคน แดนหน้ามีสามคน แดนหลังมีสามคน สนามที่ใช้เป็นสนามสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๙ x๑๘ เมตร เส้นแบ่งเขตอยู่ใต้ตาข่าย ซึ่งเป็นแนวตั้งเหนือเส้นแบ่งเขต ตาข่ายสูง ๒.๔๓ เมตร สำหรับทีมชาย และ ๒.๒๔ เมตร สำหรับทีมหญิง
                        การเล่นใช้ระบบแพ้ - ชนะ กันสามในห้าเซต ได้รับการบรรจุให้แข่งขันในระดับโลกครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒         ๒๖/๑๖๔๙๖
                ๔๘๖๑. วัคซีน  มีบทนิยามว่า "ผลิตผลที่ประกอบด้วย เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ที่ถูกฆ่าหรือทำให้มีฤทธิ์อ่อนแรง จนไม่เป็นอันตรายสำหรับฉีดเข้าสู่ร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรค ที่เกิดจากเชื้อนั้น ๆ"
                        ปัจจุบันนี้ โดยทั่วไปวัคซีน หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่เป็นชีวสาร หรือชีววัตถุต่าง ๆ ที่ได้จากเชื้อจุลินทรีย์ ได้แก่ แบคทีเรียทั้งตัว หรือเฉพาะส่วนประกอบบางส่วน เช่น สารพิษของแบคทีเรีย ไวรัส หรือส่วนของไวรัส โปรตีนสังเคราะห์ เชื้อพยาธิปรสิต  รวมถึงโมเลกุลของดีเอ็นเอ นำมาเตรียมให้พอเหมาะเรียกว่า แอนติเจน เมื่อทำให้เข้าสู่ร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ชนิดนั้น ๆ หรือต่อเชื้อโรคที่ใกล้เคียงกัน สารที่สร้างขึ้นนี้เรียกว่า แอนติบอดี้ อันเป็นสารที่ก่อให้เกิดภูมิต้านทานโรค  หรือภูมิคุ้มกันโรค         ๒๖/๑๖๕๐๐
                ๔๘๖๒. วังสะ  แคว้นหนึ่ง ในสิบหกแคว้นของชมพูทวีป หรืออินเดียโบราณ รวมเรียกว่า มหาชนบท ซึ่งล้วนมีอำนาจรุ่งเรือง มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล
                        แคว้นวังสะ ตั้งอยู่บนลุ่มน้ำยมนา ทางทิศใต้ของแคว้นโกศล ทางทิศตะวันออกของแคว้นกาสี และทางทิศเหนือของแคว้นอวัมตี มีเมืองหลวงชื่อ โกสัมพี เป็นชุมทางการค้าขาย
                        ในรัชสมัยพระเจ้าอุเทน กรุงโกสัมพี เจริญรุ่งเรืองสูงสุด มีบุคคลร่ำรวยขั้นเศรษฐีจำนวนมาก เช่น โฆษกเศรษฐี กุกกุฎเศรษฐี ปาวาริกเศรษฐี พระนางสามาวดี คหบดี และเศรษฐีจำนวนมาก รวมทั้งเศรษฐีทั้งสามคนดังกล่าวแล้ว ได้สร้างวัดถวายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์หลายแห่ง เช่น โฆษกเศรษฐี สร้างวัดโฆสิตาราม กุกกุฎเศรษฐี สร้างวัดกุกุฎาราม ปราวาริกเศรษฐี สร้างวัดปาวาริการาม พระพุทธเจ้าเสด็จมาจำพรรษาที่เก้า และทรงแสดงพระธรรมเทศนาหลายสูตร เช่น ชาลียสูตร ว่าด้วยการโต้ตอบกับชาลียะปริพาชก เรืองชีวะกับสรีระ โกสัมพีสูตร ว่าด้วยภิกษุชาวโกสัมพีแตกสามัคคีกัน
                        พระถังซัมจั๋ง ได้เดินทางไปสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ระหว่างปี พ.ศ.๑๑๗๒ - ๑๑๘๗ ได้บันทึกถึงเมืองโกสัมพีว่า ได้กลายเป็นเมืองร้าง มีแต่ซากอาคารบ้านเรือน พบซากสังฆารามสิบแห่ง ภายในกำแพงเมืองมีซากวิหารขนาดใหญ่ เห็นซากกำแพงสูง ๖๐ ฟุต พบซากสังฆารามที่เป็นโฆสิตาราม มีพระสถูปสูง ๒๐๐ ฟุต ปรากฎอยู่       ๒๖/๑๖๕๑๐
                ๔๘๖๓. วัชชี  แคว้นและประชาชนในสมัยพุทธกาล วัชชีเป็นแคว้นหนึ่งในสิบหกแคว้น ปัจจุบันวัชชีอยู่ในรัฐพิหาร ของประเทศอินเดีย
                        แคว้นวัชชี ติดต่อกับแคว้นโกศลทางเหนือ และแคว้นมคธ ทางใต้ เคยให้ความร่วมมือกับพระเจ้าอชาตศัตรู แห่งมคธ ทำสงครามกับพระเจ้าปเสนทิโกศล  แห่งแคว้นโกศล จนได้รับชัยชนะ แต่ต่อมาพวกวัชชีต้องทำสงครามกับพระเจ้าอชาตศัตรูหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็ถูกพระเจ้าอชาตศัตรู ใช้กโลบายทำให้เจ้าลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี แตกสามัคคี และสามารถยึดวัชชีได้ในที่สุด       ๒๖/๑๖๕๑๖
                ๔๘๖๔. วัชชีบุตร  เป็นชื่อเรียกพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ที่ออกบวชจากแคว้นวัชชี
                        พระวัชชีบุตร มีบวชกันมาก ต่อมา พระวัชชีบุตรกลุ่มหนึ่งได้ประกาศตั้งกลุ่มของตนเอง เป็นนิกายในพระพุทธศาสนานิกายหนึ่ง ในสิบแปดนิกาย เรียกว่า นิกายวัชชีบุตร เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๑๓๐ - ๒๑๘
                        พระวัชชีบุตร มีทั้งที่เรียกเป็นกลุ่ม และเรียกเป็นรายบุคคล ที่เรียกเป็นกลุ่มแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ
                        ๑.  กลุ่มบริวารพระเทวทัตมี ๕๐๐ รูป
                        ๒.  กลุ่มที่แสดงนอกรีตผิดพระวินัยสิบประการ หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๑๐๐ - ๓๐๐ ปี
                        ๓.  กลุ่มพระฉัพพัคคีย์ เป็นชาววัชชีมีหกรูป ได้แสวงหาลาภสักการะโดยไม่เคารพพระวินัย จึงเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติสิกขาบทอยู่เนือง ๆ
                        นอกจาก พระวัชชีบุตรสามกลุ่มนี้แล้ว ยังมีพระวัชชีบุตรรูปอื่น ๆ ที่ออกบวชแล้วได้บรรลุพระอรหัตผล  ๒๖/๑๖๕๒๑
                ๔๘๖๕. วัฒนธรรม, กระทรวง  ในส่วนราชการได้เริ่มก่อตั้งหน่วยงานส่งเสริมวัฒนธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ คือ กองวัฒนธรรม สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ได้มี พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ ให้จัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๖ ให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นทบวงการเมือง พ.ศ.๒๔๙๕ ได้จัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้น มีกรมในสังกัดสามกรมคือ กรมการวัฒนธรรม กรมการศาสนา และกรมศิลปากร       ๒๖/๑๖๕๒๔
                ๔๘๖๖. วัณโรค  เป็นโรคติดเชื้อเฉพาะระบบอวัยวะหรือเป็นทั่วร่างกายยกเว้นเล็บและผม เชื้อก่อโรคคือเชื้อวัณโรค
                        ตามธรรมชาติ เชื้อวัณโรคอาศัยเจริญพันธุ์ในคนและสัตว์ เชื้อที่ถูกขับออกจากร่างกาย เช่น ทางเสมหะ เมื่อตกอยู่ในที่อับชื้นและอับแสง จะมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน เชื้อที่อยู่ในละอองของเสมหะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณเจ็ดวัน แต่ถ้าถูกแสงแดดโดยตรงเชื้อจะตายภายในสองถึงสามชั่วโมง
                        เชื้อวัณโรค เป็นจุลินทรีย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่คนและสัตว์ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยการหายใจละอองเสมหะ ที่มีเชื้อแขวนลอยตัวอยู่ในอากาศได้นาน ๆ
                        วัณโรค เป็นโรคเก่าแก่พบในคนไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ปัจจุบันพบได้ในประชากรโลกทั่วไป       ๒๖/๑๖๕๓๐
                ๔๘๖๗. วัด  เป็นคำเรียกที่ดินอันเป็นที่ตั้งที่อยู่ของพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล ที่อยู่ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาและนักบวชอื่น ๆ ต่างก็เรียกว่าอารามทั้งสิ้น
                        สาเหตุที่เรียกที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ว่า วัด นั้นสืบเนื่องมาจากเมื่อมีผู้ยกที่ดินสร้างวัดกันมากขึ้น พระเจ้าแผ่นดินในขณะนั้นทรงเห็นว่า จะเป็นปัญหาต่อไปในภายหน้า จึงทรงกำหนดให้มีการวัดที่ดิน แบ่งสร้างเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ จึงทำให้มีการเรียกที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ว่า วัด อีกชื่อหนึ่งในเวลาต่อมา
                        พระราชบัญญัติเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ตราขึ้นเป็นฉบับแรกคือ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ มาตรา ๕ ได้กำหนดประเภทวัดไว้เป็นสามประเภท ได้แก่ พระอารามหลวง อารามราษฎร์ และที่สำนักสงฆ์คือ วัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ต่อมาได้มี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ได้แบ่งวัดออกเป็นสองประเภท ได้แก่ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว และสำนักสงฆ์ มีกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๓๙ ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้คณะกรรมการอำเภอเป็นผู้ออกใบอนุญาตสร้างวัด และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ออกประกาศตั้งวัด หลังจากนั้นได้มี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แบ่งวัดออกเป็นสองประเภท ได้แก่ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์ มีฐานะเป็นนิติบุคคลเหมือนกัน
                        ปัจจุบันการสร้างวัด ที่ดินที่จะใช้สร้างวัดต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๖ ไร่ และสมควรเป็นที่พำนักอาศัยของพระ ต้องไม่อยู่ในบริเวณอันเป็นสถานที่ตากอากาศ ที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อความสำราญรื่นรมย์ของประชาชน หรือสถานที่อันจะเป็นเหตุขัดขวาง ขัดข้องหรือไม่สะดวกต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และความเป็นอยู่ของประชาชน ต้องมีบ้านเรือนของประชาชนตั้งอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง มั่นคงโดยรอบสถานที่ที่จะสร้างวัด และต้องอยู่ห่างจากวัดอื่นไม่น้อยกว่า ๒ กม. และมีประชาชนไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน
                        หากวัดใดประสงค์จะรวมวัด ย้ายวัด ยุบเลิกวัด หรือขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๗) ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก่อน แล้วกระทรวงศึกษาธิการประกาศรวมวัด หรือย้ายวัด ในราชกิจจานุเบกษา
                        การขอยกวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์ได้ โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการขอยกวัดร้าง เป็นวัดมีพระสงฆ์ พ.ศ.๒๕๑๔ ซึ่งต้องได้รับความเห็นของจากเถรสมาคมก่อน แล้วกระทรวงศึกษาธิการประกาศยกวัดนั้น เป็นวัดมีพระสงฆ์ต่อไป   ๒๖/๑๖๕๓๗
                ๔๘๖๘. วัตรบท  เป็นหลักธรรมหมวดหนึ่ง สำหรับผู้ครองเรือนจะพึงปฎิบัติตลอดชีวิต มีเจ็ดประการคือ
                         ๑. เลี้ยงดูบิดามารดาตลอดชีวิต
                         ๒. อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต
                         ๓. พูดจากอ่อนหวานตลอดชีวิต
                         ๔. ไม่พูดส่อเสียดตลอดชีวิต
                         ๕. มีจิตปราศจากความตระหนี่ ให้ทานตลอดชีวิต
                         ๖. พูดคำสัตย์ตลอดชีวิต
                         ๗. ไม่ถือโกรธตลอดชีวิต
                        พระพุทธเจ้าตรัสวัตรบทนี้ไว้ ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ (สังยุตตนิกายสคาถวรรค)  เพื่อตอบคำถามของเทวดาที่ว่า ท้าวสักกะประพฤติธรรมข้อใด จึงได้มาเกิดเป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์        ๒๖/๑๖๕๔๕


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch