หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/143

    ๔๗๗๗. ลั่นทม - ต้น  เป็นชื่อไม้ยืนต้น แบ่งออกเป็นสองชนิดคือ ลั่นทมขาว และลั่นทมแดง
                        ๑. -  ลั่นทมขาว  เป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก สูง ๓ - ๘ เมตร ทรงพุ่มแผ่กว้าง ลำต้นและกิ่งก้านอวบ สีน้ำตาลปนเทา มีน้ำยางสีขาวทุกส่วนของลำต้น ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับ ออกแน่นที่ปลายกิ่ง แผ่นใบรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก มีสองดอก ดอกสีขาว ผลเป็นฝักแฝด ฝักแตกซีกเดียว รูปทรงกระบอก ปลายและโคนเรียวแหลม
                        ลั่นทมขาว นิยมปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้ง ดอกสวยงาม มีกลิ่นหอมมาก ออกดอกตลอดปี เปลือกราก และเปลือกต้น ใช้เป็นยาถ่าย ยางใช้ทาแก้ไขโรคงูสวัด และแก้บิด
                        ๒. - ลั่นทมแดง  เป็นไม้ยืนต้น สูง ๓ - ๗ เมตร กิ่งก้านมักตั้งตรง มีน้ำยางทุกส่วนของลำต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ มักออกที่ใกล้ปลายกิ่ง ใบรูปไข่กลับ หรือรูปหอก แกมรูปขอบขนาน ดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยเป็นช่อกระจะ ดอกทรงแจกันสีชมพูปนแดง กลางหลอดดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม ผลเป็นฝักคู่ รูปทรงกระบอก ปลายและโคนเรียวแหลม
                        ลั่นทมแดง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้ง เนื่องจากดอกสวยงาม มีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นช่วงตลอดปี เปลือกรากเป็นยาถ่ายอย่างแรง        ๒๕/๑๖๑๘๘
                ๔๗๗๘. ลับแล อำเภอ ขึ้น จ.อุตรดิตถ์ ตั้งเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔        ๒๕/๑๖๑๙๐
                ๔๗๗๙. ลาดกระบัง  เขตขึ้น กรุงเทพ ฯ เดิมเป็นอำเภอเรียก อ.ลาดกระบัง ยุบลงเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น อ.มีนบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐       ๒๕/๑๖๑๙๑
                ๔๗๘๐. ลาดตระเวน  เป็นการปฎิบัติทางยุทธวิธีแบบหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยบุคคลและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อปฎิบัติ เรียกคณะบุคคลและอุปกรณ์ ที่ปฎิบัติภารกิจเช่นนี้ว่า หน่วยลาดตระเวน เป็นสองนัยคือ
                        การลาดตระเวน คือ ภารกิจที่กระทำโดยการตรวจการณ์ด้วยสายตา หรือวิธีตรวจจับอื่น ๆ เพื่อให้ได้ข่าวสารที่เกี่ยวกับกิจกรรม และทรัพยากรของฝ่ายตรงข้าม หรือข้าศึก หรือเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางอุตุนิยมวิทยา อุทกศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ในพื้นที่เฉพาะแล้ว ก็คือ หน่วยของกำลังทั้งทางพื้นดิน ทางทะเล หรือทางอากาศ ที่ถูกส่งออกไปเพื่อรวบรวมข่าวสาร หรือเพื่อปฎิบัติภารกิจ ทำลาย รบกวน กวาดล้าง  ระวังป้องกันให้กับหน่วยเหนือ การลาดตระเวนของหน่วยลาดตระเวน จึงแยกตามภารกิจที่ปฎิบัติได้เป็นสองลักษณะคือ การลาดตระเวนหาข่าว และการลาดตระเวนรบ
                        การลาดตระเวนของกองทัพไทย มีมาแต่โบราณ ด้วยปรากฎในหนังสือตำราพิชัยสงคราม ซึ่งจัดทำเป็นครั้งแรก ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๑ และได้แก้ไขเพิ่มเติม ต่อมาอีกหลายครั้ง ได้กล่าวถึง ยุทธวิธีทั้งการลาดตระเวนหาข่าว และการลาดตระเวนรบ เช่น

    "ให้แต่งทวยหาญชาญกนล์  ณรงค์ปลอมปน
    องอาจไปลาดลอบดู 
    ทับค่ายฝ่ายศึกศัตรู  เข้ามาตั้งอยู่
    ที่นั่นจะเป็นนามใด 
     ฯลฯ
    แต่งออกเที่ยวตระเวนแสวงหา ให้ดูฤทธา
    กำลังฆ่าศึกอันจะผจน 
    แม้แตกเร่งแต่งเป็นกล แต่งทับเข้าปล้น
    เอารุ่งไว้หน้าตามงาย 

                ๔๗๘๑. ลาดหลุมแก้ว   อำเภอ ขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐       ๒๕/๑๖๒๐๔
                ๔๗๘๒. ลาดพร้าว  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมเป็นแขวงหนึ่งของเขตบางกะปิ ตั้งเป็นเขต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒       ๒๕/๑๖๒๐๕
                ๔๗๘๓. ลาดยาว  อำเภอ ขึ้น จ.นครสวรรค์ ตั้งเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘        ๒๕/๑๖๒๐๕
                ๔๗๘๔. ลาดหลุมแก้ว  อำเภอ ขึ้น จ.ปทุมธานี เดิมชื่อ อ.เชียงราก เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ลาดหลุมแก้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙         ๒๕/๑๖๒๐๕
                ๔๗๘๕. ลาตินอเมริกา  คือ บรรดาประเทศที่อยู่ในเขตอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ซึ่งใช้ภาษาสเปน หรือโปร์ตุเกส เป็นภาษาราชการ เหตุผลที่รวมเรียกว่า ลาติน ก็เพราะว่าภาษาทั้งสอง เป็นภาษาที่เพี้ยนมาจากภาษาละติน แห่งยุคกลางของคริสตจักรคาทอลิก
                        ชาวสเปน และชาวโปร์ตุเกส เดิมเป็นอนารยชนที่รุกรานยุโรป เมื่อตั้งหลักแหล่งแล้ว ก็รับนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งกำลังใช้ภาษาละติน เป็นภาษาศาสนา และวิชาการ
                        เมื่อสเปนและโปร์ตุเกส ไปยึดครองดินแดนในทวีปใหม่ ก็นำเอาภาษาของตนไปใช้ในเขตอิทธิพลของตนด้วย        ๒๕/๑๖๒๐๖
                ๔๗๘๖. ลานกระบือ  อำเภอ ขึ้น จ.กำแพงเพชร แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ ขึ้น อ.พรานกระต่าย ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗       ๒๕/๑๖๒๐๖
                ๔๗๘๗. ล้านช้าง  ชื่อรัฐ หรือแคว้นลาว หรือประเทศลาว เป็นแคว้นคู่กับล้านนา คำว่า ล้านช้าง หมายถึง ช้างหนึ่งล้าน (เชือก)
                        จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย ได้จารึกคำว่า ล้านช้าง เป็นภาษาบาลีว่า ศรีสัตตนาคนหุต รวมแปลว่า ช้างร้อยหมื่น คือ ล้านช้าง
                        ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ คำว่า ล้านช้าง ใช้เป็นชื่อเรียกเมืองหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของลาว โดยเมืองหลวงพระบาง เรียกชื่อว่า ล้างช้างร่มขาว หลวงพระบาง หรือกรุงศรีสัตตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว  ส่วนเมืองเวียงจันทน์ เรียกว่า ล้านช้างเวียงจันทน์ หรือกรุงศรีสัตตนาคนหุต ล้านช้างเวียงจันทน์        ๒๕/๑๖๒๐๗
                ๔๗๘๘. ล้านนา  คือ รัฐ หรือแคว้นในภาคเหนือ ซึ่งมีเมืองเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลาง คำว่า ล้านนา หมายถึง บ้านหนึ่งล้าน คำนี้เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฎ หลักฐานแน่ชัดสันนิษฐานว่า อาจเป็นคำเดิมที่ใช้สืบต่อกันมา คู่กับคำว่า ล้านช้าง คำว่า ล้านนา พบในหลักฐานเกือบทุกประเภท ได้แก่ ศิลาจารึก ตำนานเมือง และวรรณกรรม
                    ล้านนา หรือนาหนึ่งล้าน น่าจะมีนัย หรือสะท้อนถึงระบบการนับของชาวล้านนาในอดีต คำว่า ล้านนา จึงหมายถึงมีที่นาจำนวนมาก นับล้าน (ไร่)
                    ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ใช้คำว่า " ล้านนา " หลายแห่ง ในตอนต้นเรื่องกล่าวว่า ล้านนาประกอบด้วย หัวเมืองต่าง ๆ ๕๗ หัวเมือง ขานพระนามพระยามังรายว่า "เจ้าท้าวล้านนา"       ๒๕/๑๖๒๐๙
                ๔๗๘๙. ลานสกา  อำเภอ ขึ้น จ.นครศรีธรรมราช แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ ชื่อ กิ่ง อ.เขาแก้ว ขึ้น อ.เมือง ฯ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กิ่ง อ.ลานสกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ แล้วยกฐานะเป็นอำเภอเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑        ๒๕/๑๖๒๑๕
                ๔๗๙๐. ลานสัก  อำเภอ ขึ้น จ.อุทัยธานี แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘  ขึ้น อ.บ้านไร่ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔       ๒๕/๑๖๒๑๖
                ๔๗๙๑. ลามะ  ดู ดาไล ลามะ  ลำดับที่ ๒๐๐๐       ๒๕/๑๖๒๑๖
                ๔๗๙๒. ลายไทย  เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างสรรค์ ผลงานศิลปกรรมของไทยทุกแขนง แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการประดับตกแต่งเท่านั้น เช่น ในภาชนะสิ่งของเครื่องใช้ จนถึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของงาน สถาปัตยกรรมไทย
                        ลายไทย เป็นไปตามลักษณะของธรรมชาติ โดยมีเถาก้าน ดอก กิ่ง ใบ พุ่ม ที่เห็นได้ชัดก็คือ ลักษณะของกลีบดอกบัว การที่ลายไทยมีชื่อเช่นเดียวกับธรรมชาติ เช่น ลายรวงผึ้ง ลายดาว ลายดอกจอก ลายกระจังตาอ้อย ลายสาหร่าย
                        ในบรรดาลายไทย อันมากมายนี้ ชาวไทยให้ความสำคัญแก่ตัวกนก แม่ลายเป็นพิเศษ เพราะเป็นตัวกำหนดให้ลายที่ผูกขึ้นนั้น มีลักษณะรูปแบบเป็นอย่างไร เช่น กนกสามตัว จะใช้กับลายก้านขด เป็นส่วนมาก และกนกเปลว จะใช้กับลายเปลว เป็นส่วนมากเช่นกัน ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้จัดหรือกำหนดตัวกนกแม่ลายไว้หลายชนิด เช่น กนกสามตัว กนกเปลว กนกใบเทศ กนกหางโต กนกผักกูด
                        ลายไทย อีกส่วนหนึ่งเป็นประเภทที่ใช้ประจำในตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งค่อนข้างตายตัว แต่ไม่จำกัดลักษณะรูปแบบ แยกออกได้หลายลักษณะด้วยกันคือ
                        ประเภทลายดอกดวง  มีลายดอกลอย ลายดอกสี่กลีบ ลายดอกหกกลีบ ลายดอกแปดเหลี่ยม ลายดอกจอก ลายดอกสิบหกกลีบ ใช้ประดับทั่วไป
                        ประเภทลายดาว  มีลายดาวจงกล ลายดาวรังแตน ลายดาวกลีบบัว ลายดาวดอกจอก ลายดาวตุ๊ดตู่ ใช้ประดับเพดาน
                        ประเภทลายบัว   มีลายบัวกระจัง ลายบัวคว่ำ ลายบัวหงาย ลายบัวกลุ่ม ลายบัวกลุ่ม ลายบัวคอเสื้อ ลายบัวปากฐาน ลายบัวหลังเจียด ลายบัวหลังสิงห์ ลายบัวรอบ ลายบัวฟันยักษ์ ลายบัวลูกแก้ว ลายบัวแวง ลายบัวจงกล ฯลฯ  ใช้ประดับเป็นที่เป็นทาง ตามที่กำหนดไว้ในรูปแบบของงานศิลปกรรมไทย
                        ประเภทลายกระจัง  มีลายกระจังปฎิญาณ ลายกระจังรวม ลายกระจังตาอ้อย ลายกระจังเจิม ใช้ประดับด้านบนของส่วนที่เป็นขอบ
                        ประเภทลายประดับผนัง  มีลายก้านแย่ง ลายราชวัตร ลายดอกไม้ร่วง ลายดอกลอย ลายแก้วชิงดวง ฯลฯ
                        ลายประเภทต่าง ๆ ที่ใช้ประจำอยู่ในตำแห่งที่กำหนดไว้ในรูปแบบของงานศิลปกรรมเหล่านี้ ยังมีชื่อลายอีกมากด้วยกัน มีไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ลาย       ๕/๑๖๒๑๖
                ๔๗๙๓. ลายสอ - งู  เป็นชื่องูขนาดกลาง เป็นงูไม่มีพิษ มีนิสัยดุจะงับกัดทันทีหากไปถูกตัวหรือเดินไปเหยียบมันเข้า ออกหากินเวลากลางวัน         ๒๕/๑๖๒๒๖
                ๔๗๙๔. ลายสาบงู  มีลักษณะใกล้เคียงกับงูลายสอ แต่มีขนาดเล็กกว่า ไม่ดุ หากินเวลากลางวัน มีอยู่หลายชนิดเช่นงูลายสาบคอแดง งูลายสาบดอกหญ้า งูลายสาบภูเขา       ๒๕/๑๖๒๒๘
                ๔๗๙๕. ลำดวน  อำเภอขึ้น จ.สุรินทร์ แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ ขึ้น อ.สังขะ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔       ๒๕/๑๖๒๒๙
                ๔๗๙๖. ลำดวน - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๓ - ๑๐ เมตร เรือนยอด รูปกรวย ลำต้นตรง ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปรีแกมขอบขนาน ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง สีเหลืองนวล กลิ่นหอม ดอกบาน ผลมีลักษณะเป็นผลกลุ่มอยู่บนฐานรองผล แต่ละผลย่อยรูปยาว ปลายผลค่อนข้างกลมมน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับกันมานานแล้ว ตำรายาไทยใช้ดอกแห้งเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ลม จัดอยู่ในเกสรทั้งเก้า       ๒๕/๑๖๒๒๙
                ๔๗๙๗. ลำตัด  เป็นการละเล่นที่มีผู้แสดงเป็นชายและหญิง ว่าเพลงร้องแก้กัน มีลูกคู่จะรำมะนาประกอบ การเล่นลำตัดดัดแปลงมาจากการแสดงดิเก หรือดจิเกของชาวมลายู ซึ่งเป็นการขับร้องเพลงสวดบูชาอัลเลาะห์ ประกอบกับรำมะนาของพวกมุสลิม ลำตัดเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ปัจจุปันนิยมเล่นกันมากทางภาคกลางแถบ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี อ่างทอง นนทบุรี และกรุงเทพ ฯ
                        การแสดงลำตัดเดิมใช้ผู้ร้องสองคน เป็นชายหนึ่งคนหญิงหนึ่งคน ปัจจุบันมีผู้ร้องฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงจำนวนพอ ๆ กันเรียกว่าพ่อเพลงและแม่เพลง ฝ่ายละประมาณสามถึงสี่คน ในการแสดงพ่อเพลงและแม่เพลง จะว่ากลอนสลับกัน มีบทเกี้ยวพาต่อว่า เสียดสี แทรกด้วยลูกขัด ลูกหยอด และบางครั้งสำนวนกลอน อาจมีความหมายเป็นสองแง่ ภาษาลำตัดเรียกว่า "สองง่ามสองกลอน"
                        บทร้องลำตัด ใช้กลอนหัวเดียวเหมือนเพลงฉ่อย การลงกลอนของลำตัดนิยมลงท้ายด้วยสระเสียงยาว
                        การแสดงลำตับเริ่มด้วยการตีรำมะนาโหมโรง เดิมตีหลายทำนองเรียกว่า ออกภาษา เช่น พม่า มอญ ญวน จีน ลาว แขก ปัจจุบันได้ตัดทอนทำนองให้สั้นลง เมื่อโหมโรงเสร็จ พ่อเพลงคนหนึ่ง จะเป็นผู้ร้องปันตน เกริ่นหน้ากลองอยู่ในวงรำมะนา
                        บทปันตน ที่ใช้ร้องเกริ่นหน้ากลองการเล่นรำตัด แรกเริ่มใช้ภาษามลายู ปนภาษาไทย ต่อมาเปลี่ยนเป็นภาษาไทยทั้งหมด
                        เมื่อจบเกริ่นหน้ากลองแล้ว พ่อเพลงคนหนึ่งจะยืนร้องไหว้ครู จากนั้นก็ร้องบทฝากตัว ทักทายผู้ชม และร้องบทออกตัว ซึ่งมักกล่าวถ่อมตัวในฝีมือ เมื่อพ่อเพลงร้องจบ แม่เพลงก็ร้องบทต่าง ๆ เช่นเดียวกับพ่อเพลง จากนั้น ฝ่ายชายจะเป็นผู้เริ่มร้องลำลอย ซึ่งในบางครั้ง อาจไม่เริ่มด้วยบทสร้อย และด้นกลอน
                        การว่ากลอนลำตัด เป็นการว่ากลอนแก้ลำกัน ระหว่างชายหญิง โดยใช้ปฎิภาณของตน   ๒๕/๑๖๒๓๐
                ๔๗๙๘. ลำทะเมนชัย  กิ่งอำเภอขึ้น อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙       ๒๕/๑๖๒๓๘
                ๔๗๙๙. ลำทับ  อำเภอขึ้น จ.กกระบี่ แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖           ๒๕/๑๖๒๓๘
                ๔๘๐๐. ลำปลายมาศ  อำเภอขึ้น จ.บุรีรัมย์ แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ ขึ้น อ.เมืองบุรีรัมย์ ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปปี พ.ศ.๒๔๙๐       ๒๕/๑๖๒๓๘
                ๔๘๐๑. ลำปาง  จังหวัดในภาคเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.พะเยา ทิศตะวัน....   ติดต่อกับ จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย ทิศตะวันออกติดต่อกับ จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ภูมิประเทศมีทิวเขาเป็นแนวยาวกั้นแดนกับจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ มีแม่น้ำวังไหลผ่านจากทิศเหนือไปทิศใต้ แบ่งพื้นที่จังหวัดออกเป็นซีกตะวันออกและซีกตะวันตกเกือบเท่า ๆ กัน
                        จ.ลำปาง มีกล่าวในพงศาวดารโยนกว่าพระพรหมฤาษีสร้างเมืองถวายพระเจ้าอนันตยศ โอรสองค์ที่สองของพระนางจามเทวี ชื่อเมืองเขลางค์ ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำวัง
                        เมื่อพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว ได้นครลำปางมาอยู่ภายใต้อำนาจต่อมาถึงสมัยอยุธยา นครลำปางบางคราวขึ้นไทย บางคราวขึ้นกับพม่า บางคราวเชียงใหม่ปกครอง ถึงสมัยธนบุรีขับไล่พม่าออกจากแคว้นลานนาได้ นครลำปางซึ่งรวมอยู่ในแคว้นลานนาก็ตกเป็นของงไทย       ๒๕/๑๖๒๓๙
                ๔๘๐๒. ลำพู - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง ๘ - ๒๐ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดโปร่ง กิ่งแตกห้อยลง รากหายใจยาวเรียวแข็งแรง ยาว ๕๐ - ๑๐๐ ซม. ใบเรียงตรงกันข้าม ใบรูปรี รูปขอบขนานแกมรีรูปไข่แคบ หรือรูปไข่กลับ ดอกมีกลีบเลี้ยงรูปไข่กลับหรือกลม โคนกลีบเลี้ยงด้านในสีแดงอมชมพู ผลแป้น มีเนื้อหลายเมล็ดสีเขียวสด
                    ลำพู เป็นหนึ่งในจำนวนกลุ่มพืชพันธุ์ไม้ เบิกนำในป่าเลน       ๒๕/๑๖๒๔๐
                ๔๘๐๓. ลำพูน  จังหวัดในภาคเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันตกติดต่อกับ จ.เชียงใหม่ ทิศตะวันออกติดต่อกับ จ.ลำปาง ทิศใต้ติดต่อ จ.ตาก ภูมิประเทศทางด้านตะวันออกมีทิวเขาเป็นแนวยาวกั้นเขตแดนกับ จ.ลำปาง ตอนกลางมีแม่น้ำลี้ไหลจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือไปลงแม่น้ำปิง ซึ่งกั้นเขตแดน จ.ลำพูนกับ จ.เชียงใหม่
                        จ.ลำพูน เดิมเป็นเมืองโบราณ ตามประวัติกล่าวว่าสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๒๐๓ เรียกเมืองหริภุญชัย ต่อมาพระนางจามเทวี ราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้ ได้ขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัยเป็นกษัตริย์องค์แรก และสืบสันตติวงศ์เรื่อยมาจนนถึงปี พ.ศ.๑๘๒๔ - ๑๘๓๕ พระยามังรายกษัตริย์เมืองเชียงราย ยกกองทัพมาตีเมืองหริภุญชัย ในรัชสมัยพระเจ้ายี่นาได้ แล้วเผาเมืองเสีย เมืองหริภุญชัยจึงทิ้งร้างไปนาน ๒๓๕ ปี ถึงปี พ.ศ.๒๐๕๙ พระเมืองแก้วเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ แห่งราชวงศ์มังรายได้สร้างเมืองลำพูนขึ้นมาใหม่
                        ในปี พ.ศ.๒๓๐๔ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ได้ พระยาลำพูนไม่สมัครใจอยู่ในอำนาจพม่า จึงพาครอบครัวหนีมาอยู่ในไทย ถึงปี พ.ศ.๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกกองทัพไปตีเชียงใหม่คืนได้จากพม่า จึงได้เมืองลำพูนคืนมาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามเดิม       ๒๕/๑๖๒๔๓
                ๔๘๐๔. ลำพูหิน - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ลำต้นตรง สูง ๕ - ๑๕ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดทรงกลม ใบดกหนาแน่น มีใบตั้งแต่โคนต้น รากหายใจ ยาวเรียว ๑๕ - ๒๕ ซม. ใบเรียงตรงกันข้าม ใบกว้างรูปไข่แกมรูปกึ่งกลม ดอกมักออกเป็นกลุ่มสามดอกหรือดอกเดี่ยว ผิวด้านในบริเวณโคนมีสีแดงอมชมพู ผลมีเนื้อหลายเมล็ด
                        ลำพูพบกระจายอยู่ในป่าชายเลนตอนในบริเวณน้ำกร่อย       ๒๕/๑๖๒๔๔
                   ๔๘๐๕. ลำแพน - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง ๖ - ๑๒ เมตร ไม่ผลัดใบ มักแผ่กิ่งก้านสาขาและกิ่งเตี้ย ๆ รากหายใจขนาดใหญ่ ยาว ๒๐ - ๔๐ ซม. ใบเรียงตรงกันข้ามใบรูปไข่กลีบแกมรรูปไข่หรือรูปรี ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม ๒ - ๕ ดอก ผิวด้านในสีแดง กลีบเลี้ยงสีขาว ผลมีเนื้อหลายเมล็ด
                        ลำแพน เป็นพรรณไม้ที่พบได้ทั่วไปในป่าชายเลนตอนใน       ๒๕/๑๖๒๔๗
                ๔๘๐๖. ลำแพนหิน - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง ๓๐ เมตร เป็นไม้ผลัดใบ รากหายใจ ค่อนข้างใหญ่ ยาว ๓๐ - ๔๐ ซม. ใบเรียงตรงกันข้าม ใบกว้างรูปไข่กลีบ หรือรูปไข่แกมรูปวงกลม ดอกเกิดเป็นกลุ่ม ๒ - ๕ ดอก หรือดอกเดี่ยว ผิวด้านในของแฉกกลีบเลี้ยง สีเหลืองนวล ผลมีเนื้อหลายเมล็ด
                        ลำแพนหิน พบขึ้นประปรายในป่าชายเลนตอนใน เนื้อไม้ เปลือกไม้ และใบมีแทนนินประมาณมาก  แต่มีคุณภาพต่ำ ผลสุกมีกรดมากใช้ในการผลิตน้ำส้ม สรรพคุณทางยาใช้รากบดแล้วนำไปทาผิวหนังบริเวณที่มีอาการผิดปรกติ เนื่องจากโดนหนอนที่มีพิษ        ๒๕/๑๒๖๒๔๙
                ๔๘๐๗. ลำโพง - ต้น  เป็นไม้ล้มลุก ดอกใหญ่ กลีบดอกติดกันเป็นหลอดปลายผายออกกว้าง มีรูปคล้ายลำโพง หรือแตร ต้นสูง ๐.๕ - ๒ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กว้าง ปลายแหลม โคนเบี้ยวขอบหยักซี่ฟันห่าง ๆ ดอกเดี่ยว ออกที่ปลายกิ่งและง่ามใบ ดอกชูตั้งขึ้น กลีบเลี้ยงสีเขียว ดอกสีขาวหรือสีม่วง ผลมีรูปเกือบกลม เปลือกขรุขระเป็นตุ่มหรือหนามสั้น ๆ
                        ลำโพงมักขึ้นอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำ ภายหลังที่น้ำลดลงแล้ว
                        ตำรายาไทย จีน และฟิลิปปินส์ใช้ใบสดตำพอกฝี แก้ปวดบวม ใบและดอกตากแห้งใช้มวนบุหรี่หรือยาสูบอย่างบุหรี่ แก้หอบหีด เมล็ดแช่ในน้ำมันพืชใช้ทาแก้ปวดเมื่อย ทุกส่วนของพืชมีฤทธิ์เป็นยาเสพติดและระงับอาการเจ็บปวด       ๒๕/๑๖๒๕๑
                ๔๘๐๘. ลำลูกกา  อำเภอขึ้น จ.ปทุมธานี ตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗       ๒๕/๑๖๒๕๔
                ๔๘๐๙. ลำสนธิ  อำเภอขึ้น จ.ลพบุรี แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ขึ้น อ.ชัยบาดาล ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙       ๒๕/๑๖๒๕๔
                ๔๘๑๐. ลำไส้, ไส้  ส่วนของทางเดินอาหารที่อยู่ระหว่างกระเพาะอาหารกับทวารหนัก ลำไสแบ่งออกเป็นลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ในสัตว์ทั่วไปขนาดของลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่ แตกต่างกันชัดเจน ในคนไม่ค่อยแตกต่างกัน เพียงมีลักษณะภายนอกไม่เหมือนกันคือลำไส้ใหญ่มีไขมันเป็นติ่ง และกลีบเกาะติดอยู่ภายนอกทั่วไป มีกระพุ้งมากมาย และมีแถบกล้ามเนื้ออยู่ตามความยาวลำไส้สามแถบ
                        ในคนลำไส้เล็กแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ
                        ลำไส้เล็กส่วนต้น  ยาว ๒๕ ซม. ติดอยู่กับผนังด้านหลังของลำตัว มีท่อน้ำดีและท่อตับอ่อนมาเปิดเข้า
                        ลำไส้ขนาดเล็กส่วนกลาง  ยาว ๗๐ - ๙๐ ซม. ผนังค่อนข้างหนา เพราะมีกล้ามเนื้อเรียบอยู่ค่อนข้างมาก และมีการบีบรูดมาก
                       ลำไส้เล็กส่วนปลาย  ยาว ๑๕๐ - ๑๗๕ ซม.ผนังบางกว่าและบีบรูดน้อยกว่า ส่วนกลาง ภายในส่วนนี้มีแบคทีเรียอาศัยอยู่มาก
                        ลำไส้ใหญ่ของคนแบ่งออกเป็นสามส่วนเช่นเดียวกับลำไส้เล็กคือ
                       กระพุ้งไส้ใหญ่  ยาว ๓ - ๕ ซม. บริเวณด้านล่างข้างขวาของช่องท้อง ปลายล่างของส่วนนี้มีไส้ติ่งติดอยู่
                       ไส้ใหญ่  ยาว ๘๐ - ๑๐๐ ซม. แบ่งย่อยเป็นสี่ส่วนคือส่วนขึ้น ส่วนขวาง ส่วนลง และส่วนคด
                       ไส้ตรง  ยาว ๑๐ - ๑๕ ซม. ปลายล่างจะติดต่อกับทวารหนัก
                        ลำไส้เล็กมีหน้าที่หลายอย่าง ได้แก่
                                ๑. รับอาหารจากกระเพาะอาหาร
                                ๒. เป็นที่พักเก็บอาหาร จะได้ไม่กินตลอดเวลา
                                ๓. รับน้ำดีจากตับ และรับน้ำย่อยอาหารจากตับอ่อน
                                ๔. หลั่งน้ำย่อยอาหาร
                                ๕. ย่อยอาหาร การย่อยอาหารส่วนใหญ่เกิดในลำไส้เล็ก
                                ๖. หมักอาหาร เกิดขึ้นโดยแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ วิตามินมีหลายชนิดและวิตามินเคจึงสร้างขึ้นโดยวิธีนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะ ทำให้แบคทีเรีย ส่วนนี้ลดลงจำเป็นต้องให้วิตามินต่าง ๆ เสริมไปด้วย
                                ๗. ดูดซึมอาหารและน้ำ เมื่ออาหารที่โมเลกุลใหญ่ถูกย่อยยด้วยเอนไซม์ที่มีอยู่ในน้ำย่อย อาหารชนิดต่าง ๆ จากลำไส้เล็กเอง จากกระเพาะอาหาร จากตับอ่อน จะถูกดูดซึมอย่างมีประสิทธิภาพเข้าสู่ร่างกาย ผ่านกระแสเลือดที่มาเลี้ยงผนังด้านในของลำไส้ น้ำและของเหลวที่ผ่านเข้ามาสู่ลำไส้เล็กมีปริมาณแต่ละวันสูงมาก คือจากกระเพาะอาหารประมาณ ๑,๐๐๐ มล. จากน้ำดีประมาณ ๑,๐๐๐ มล. จากตับอ่อนประมาณ ๕๐๐ มล. จากลำไส้เล็กเอง ๑,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ มล. เมื่อดูดเข้าสู่ร่างกายจะมีปริมาณน้ำปนกากอาหารเหลือ และไหลลงสู่ลำไส้ใหญ่ เพียง ๕๐๐ - ๖๐๐ มล. ลำไส้เล็กมีพื้นผิวในการดูดซึมอาหารถึง ๔,๕๐๐ ตร.ม.
                                ๘. ขับอาหารลงสู่ลำไส้ใหญ่ เพื่อให้ลำไส้ใหญ่ขจัดออก
                        ส่วนลำไส้ใหญ่มีหน้าที่ในการดูดซึมน้ำที่เหลือประมาณวันละ ๕๐๐ มล. ทำให้กากอาหารข้นจนเป็นก้อน และทำหน้าที่พักกากอาหาร ก่อนที่จะขับออกเป็นอุจจาระ       ๒๕/๑๖๒๕๕
                ๔๘๑๑. ลิเก  เป็นการแสดงมหรสพประเภทหนึ่ง มีพัฒนาการมาจากการแสดงของชาวมลายูที่เรียกว่า ดิเกหรือดจิเก ซึ่งเป็นการแสดงประกอบดนตรีคือ รำมะนาหรือกลองแขก เพื่อการศาสนาของชาวมุสลิม เริ่มด้วยพวกนักสวดนั่งล้อมวงกันขับลำนำ มีรำมะนาเป็นเครื่องดนตรีให้จังหวะ
                        การแสดงลิเกในเมืองไทยนั้น เริ่มมีบันทึกปรากฎหลักฐานที่เก่าที่สุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เมื่อชาวไทยอิสลามในกรุงเทพ ฯ ร่วมกันแสดงลิเก ถวายหน้าพระที่นั่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๓ แต่ในครั้งนั้น ดิเกเรียกเป็นภาษาไทยว่า แขกสวด
                        เมื่อมีผู้นิยมกันมากขึ้น คนไทยอิสลามในกรุงเทพ ฯ ก็ติดสวดดิเก หรือยี่เก โดยสอดใส่เพลงลำนำต่าง ๆ เข้าไปให้ไพเราะยิ่งขึ้น คนชอบฟังกันมาก จนถึงกับมีการจ้างให้ไปสวดประชันแข่งขันกัน มีการแทรกเพลงลูกบทเข้ามาผสมอีก เป็นเพลงสั้น ๆ ที่ใช้ร้องต่อท้ายเพลงแม่บท เพลงที่ร้องเป็นเพลงภาษาต่าง ๆ มีการร้องเพลงลูกบทเป็นเพลงตลุง แล้วเชิดตัวหนังโดยใช้รำมะนาเป็นจอ ยี่เกจึงกลายเป็นการเล่นชนิดหนึ่งขึ้นมา
                        ลิเก เป็นมหรสพที่ประชาชนชอบดู ชอบฟังเป็นอันมาก มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงอยู่ตลอดเวลา       ๒๕/๑๖๒๕๗
                ๔๘๑๒. ลิจฉวี  เป็นชื่อเผ่า หรือตระกูลกษัตริย์หมู่หนึ่ง ที่มีอำนาจบทบาทในสมัยพุทธกาล เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีช่วยกันปกครองแคว้นวัชชี ซึ่งมีเมืองเวสาลี เป็นเมืองหลวง มีอาณาเขตตอนใต้อยู่ใกล้ชิดกับแคว้นมคธ มีแม่น้ำคงคากั้นเขตแดน
                        เหล่ากษัตริย์ลิจฉวี มีการปกครองที่มีระเบียบ แต่ละตระกูลของกษัตริย์ลิจฉวี จะเลือกหัวหน้า หรือผู้แทนของตระกูลเข้าไปร่วมปกครอง โดยเลือกตั้งผู้ที่เหมาะสมที่สุด ขึ้นเป็นราชาธิบดี แต่ไม่มีอำนาจสิทธิขาด จะกระทำการสิ่งใดต้องนำเรื่องเข้าปรึกษาหารือกับสภา ทำให้แว่นแคว้นวัชชีเจริญรุ่งเรือง พระพุทธเจ้าได้ทรงเทศนาอปริหานิยธรรม  ให้กษัตริย์ลิจฉวีนำไปประพฤติปฎิบัติ       ๒๕/๑๖๒๖๙
                ๔๘๑๓. ลิเทียม  เป็นธาตุลำดับที่สาม นักอุตสาหกรรมชาวสวีเดน เป็นผู้ค้นพบธาตุนั้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐ นักเคมีชาวอังกฤษเป็นผู้สกัดแยกธาตุนี้ออกเป็นอิสระ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๑  ธาตุนี้ไม่ปรากฎอยู่ในภาวะอิสระ แต่มีปะปนอยู่ในแร่ชนิดต่าง ๆ
                        ธาตุลิเทียม เป็นโลหะลักษณะเป็นของแข็งสีขาวเงินแวววาว ค่อนข้างอ่อนสามารถตีแผ่ให้เป็นแผ่นบางๆ และดึงให้เป็นเส้นลวดได้ ลอยได้ในน้ำ และทำปฎิกิริยาได้กับน้ำ จึงต้องเก็บไว้ในน้ำมัน เป็นโลหะจำพวกโลหะด่าง และเป็นธาตุที่เบาที่สุดในบรรดาโลหะจำพวกนี้ มีความว่องไวทางเคมี       ๒๕/๑๖๒๗๑
                ๔๘๑๔. ลิ้น  เป็นอวัยวะในปาก มีลักษณะแบบคล้ายใบไม้ แต่ค่อนข้างหนามาก ประกอบด้วยกล้ามเนื้อลายเป็นส่วนใหญ่ และทำงานภายใต้อำนาจจิตใจ ลิ้นหุ้มด้วยเยื่อเมือก เยื่อเมือกด้านบนจะหนา และสาก เนื่องจากมีปุ่มชนิดต่าง ๆ ตามบริเวณโคนปุ่มเหล่านี้ มีซอกลึกโดยรอบ ผนังของซอกดังกล่าว มีตุ่มรับรสเรียงรายอยู่ใต้ผิวเยื่อเมือกของลิ้น จะพบต่อมน้ำลายย่อยกระจัดกระจายอยู่ ต่อมน้ำลายเหล่านี้มีท่อมาเปิดที่ผิวลิ้น ทำให้ลิ้นและปากชุ่มชื้นอยู่เสมอ ลิ้นมีหน้าที่สำคัญดังนี้
                        ๑. รับรสอาหาร โดยตุ่มรับรสอาหารจะกระจัดกระจายอยู่ตามซอกของปุ่มต่าง ๆ  มีตุ่มรับรสเปรี้ยว รสหวาน รสขม
                        ๒. ช่วยในการพูด โดยลิ้นจะเคลื่อนไปมาในปากร่วมกับการทำงานของริมฝีปาก เหงือก และฟัน ทำให้เสียงสูงต่ำที่เกิดจากกล่องเสียง เป็นคำพูด
                        ๓. ช่วยในการเคี้ยวอาหาร โดยลิ้นจะเคลื่อนไปมาในปาก ตวัดอาหารให้ฟันเคี้ยว ตามที่ต้องการ
                        ๔. ช่วยในการกลืน  โดยลิ้นจะดันอาหารเข้าลำคอ แล้วปิดช่องปากไม่ให้อาหาร ย้อนกลับเข้าปากเวลากลืน        ๒๕/๑๖๒๗๕
                ๔๘๑๕. ลิลิต  เป็นคำประพันธ์ร้อยกรองชนิดหนึ่ง กวีนิพนธ์ประเภทลิลิต มีลักษณะเป็นคำประพันธ์ที่ผสมกัน ระหว่างร่ายกับโคลง ลิลิตแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ ลิลิตสุภาพ และลิลิตดั้น ลิลิตสุภาพใช้ร่ายสุภาพ กับโคลงสองสุภาพ โคลงสามสุภาพ และโคลงสี่สุภาพ แต่งสลับกัน
                        วรรณคดีประเภทลิลิตของไทย ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ ลิลิตพระลอ ลิลิตตเพชรมงกุฎ ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ลิลิตตะเลงพ่าย ลิลิตกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และสถลมารค ลิลิตนิทราชาคริต ลิลิตพายัพ และลิลิตนารายณ์สิบปาง เป็นต้น ส่วนคำประพันธ์ชนิดดั้นนั้น เท่าที่มีปรากฎเรียกกันมาคือ ลิลิตยวนพ่าย       ๒๕/๑๖๒๗๖
                ๔๘๑๖. ลี้  อำเภอ ขึ้น จ.ลำพูน  อ.ลี้ เดิมเป็นเมืองชื่อ เมืองลี้ มีหัวหน้าปกครองชื่อ พญาลี้ ขึ้นตรงต่อเจ้าผู้ครองนครลำพูน ต่อมายุบเป็นอำเภอ       ๒๕/๑๖๒๗๙
                ๔๘๑๗. ลีซอ  แปลความหมายตามศัพท์ว่า คนที่มีวัฒนธรรม ลีซอ เป็นชาวเขาเผ่าหนึ่ง เรียกตัวเองว่า ลีซู คนไทยเรียก ลีซอ จีนเรียก ลีซอ พม่าและคะฉิ่น เรียก ยอยิ่น หลักฐานทางประวัติศาสตร์มีไม่มากนัก เนื่องจากมีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน ลีซอ มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณต้นแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน ต่อมาอพยพลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปอาศัยอยู่ในเขตมณฑลยูนนาน เกิดการสู้รบกับจีน และชนชาติอื่นหลายครั้ง จึงอพยพต่อมาทางใต้ ส่วนหนึ่งได้อพยพเข้าไปในมณฑลอัสสัมของอินเดีย ส่วนหนึ่งอพยพเข้าไปอยู่ในประเทศพม่า แล้วจึงเข้ามายังประเทศไทย ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๒ - ๒๔๖๔ โดยมาจากตอนใต้ของเมืองเชียงตุง เข้ามาอยู่บริเวณดอยช้าง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
                        ลีซอชอบอาศัยบนภูเขา และที่ราบตามเชิงเขา การอพยพไปอยู่ที่แห่งใหม่ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของลีซอ
                        ลีซอในประเทศไทย โดยมากยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่บนภูเขา ที่มีพื้นดินเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ปัจจุบันได้อพยพกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ บนภูเขา ในเก้าจังหวัดภาคเหนือ มีจำนวนประชากรประมาณร้อยละสี่ ของชาวเขาในประเทศไทย
                        ลีซอแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็นสองกลุ่มคือ ลีซอลาย และลีซอดำ มีความแตกต่างกัน ที่การแต่งกายโดยเฉพาะผู้หญิง และภาษาพูด      ๒๕/๑๖๒๗๙


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch