๔๗๓๘. แรงงาน และสวัสดิการสังคม กระทรวง มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของประชากรไทย พัฒนาให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่มีคุณค่าของประเทศ โดยจะดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมให้มีความรู้ และทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพ จนสามารถมีงานทำมีรายได้ และสามารถช่วยตนเองได้ รวมทั้งให้การคุ้มครองแรงงานที่เป็นธรรม มีความปลอดภัยในการทำงาน เสริมสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ดี เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ที่ประสบความเดือดร้อน และขาดการดูแลจากสังคม และผู้ที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ
กระทรวงนี้ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ เกิดขึ้นจากการแยกตัวของส่วนราชการ ระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย มาจัดตั้งเป็นกระทรวงขึ้น ได้จัดแบ่งส่วนราชการตามภารกิจหน้าที่เฉพาะด้านคือ สำนักงานเลขานุการรับมนตรี สำนักงานปลัดประทรวง กรมการจัดหางาน กรมประชาสงเคราะห์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ๒๕/๑๖๐๔๗
๔๗๓๙. แรด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่อาศัยอยู่บนบก มีขนาดใหญ่ รองจากช้าง แรดเป็นสัตว์กีบ ลำตัวใหญ่ แข็งแรง ผิวหนังหนา ลักษณะมีรอยพับของหนังตามส่วนต่าง ๆ ของลำตัว ตามลำตัวมีขนน้อย มีสายตาไม่ดี แต่มีประสาทรับกลิ่น และการได้ยินดี อาวุธที่ใช้ในการต่อสู้คือ นอ แรดไม่มีต่อมเหงื่อ จึงต้องรักษาอุณหภูมิของร่างกาย และป้องกันแมลงมารบกวน ด้วยการนอนแช่ในน้ำ และในปลักโคลน แรดเป็นสัตว์กินพืช ปรกติเป็นสัตว์ไม่ดุ ไม่ส่งเสียงร้องดัง ใช้กองอุจจาระ และปัสสาวะ เป็นการบอกอาณาเขต
แรดมีอยู่ห้าชนิด ในทวีปเอเชียมีสามชนิด ได้แก่ แรดอินเดีย แรดชวา และแรดสุมาตรา ในทวีปแอฟริกามีสองชนิด ได้แก่ แรดดำ และแรดขาว ๒๕/๑๖๐๕๕
๔๗๔๐. แร้ว เป็นเครื่องมือดักสัตว์ชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับดักนก ไก่ป่า กระต่าย เป็นต้น มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ คันแร้ว บ่วง ปิน และคาน แร้วทำงานโดยอาศัยกำลังดีดจากคันแร้ว ดึงรัดสายบ่วงให้รัดขาคอ หรือลำตัวสัตว์ที่ต้องการดักจับ เมื่อสัตว์นั้นมากระทบคาน ให้เคลื่อนที่พร้อมกับปลดให้ปิน พ้นจากการควบคุม
แร้ว ที่ชาวบ้านและชาวป่า ทำขึ้นนั้นมีอยู่หลายแบบคือ แร้วบ่วง แร้วเหยียบต่ำ แร้วเหยียบสูง แร้วตอด แร้วเบ็ด แร้วธนู ๒๕/๑๖๐๕๗
๔๗๔๑. โรคพืช พยาธิสภาพของพืช หมายถึง การเจ็บป่วยของต้นไม้ อาการผิดปรกติที่แสดงว่า พืชเป็นโรคมีแตกต่างกันไปหลายแบบ เช่น ใบเป็นจุด ใบแห้ง ใบและดอกด่างลาย ใบเหลือง ใบหงิก ผลเน่าเละ ต้นเหี่ยวเฉา รากเป็นปม
การแพร่ระบาดของโรค พืชต้องอาศัย ลม น้ำ แมลง คนและสัตว์ เป็นพาหะ อนึ่ง ความรุนแรงของโรคพืชขึ้นอยู่กับสภาพ ของสิ่งแวดล้อมในที่นั้น ๆ ด้วย
การป้องกันกำจัดโรคพืช มีด้วยกันหลายวิธี การหาพันธุ์ต้านทานโรคมาปลูกเป็นวิธีหนึ่ง ๒๕/๑๖๐๖๙
๔๗๔๒. โรคระบาด เป็นโรคที่เกิดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หรือโรคที่เกิดอย่างผิดปรกติ แต่เดิมคำว่า โรคระบาด มักใช้กับโรคติดต่อ หรือโรคติดเชื้อ ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หรือผิดปรกติเท่านั้น แต่การระบาดของโลก มีความหมายกว้างกว่า คือ หมายถึง การแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หรือผิดปรกติของทั้งโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อด้วย ๒๕/๑๖๐๗๓
๔๗๔๓. โรคเรื้อรัง เป็นโรคที่ยืดเยื้อ แม้ว่าจะได้รับการรักษาหรือไม่ก็ตาม ก็ยังปรากฎอาการ หรือแสดงอาการอยู่เป็นแรมเดือนจึงหาย หรือเป็น ๆ หาย ๆ หรืออาจไม่หายก็ได้
เมื่อตรวจในเชิงพยาธิวิทยา เพื่อระบุว่าเป็นโรค หรือรอยโรค แบบเรื้อรัง หรือไม่นั้น ในกรณีที่เป็นโรค หรือรอยโรค แบบเรื้อรัง จะพบเม็ดเลือดขาว เป็นชนิดนิวเคลียสเดี่ยวเพิ่มขึ้น จากปรกติมาก และมีเซลล์กำเนิดเส้นใย และพังผืด ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย และในบางโรคตรวจพบแกรนูโลมา เป็นสำคัญ ๒๕/๑๖๐๗๗
๔๗๔๔. โรเดียม เป็นธาตุลำดับที่ ๔๕ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เป็นผู้ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๖ โดยสกัดแยกออกจากแร่แพลทินัม
ในธรรมชาติ ธาตุโรเดียม มีปรากฎอยู่ในลักษณะเป็นไอโซโทป ที่เสถียรเพียงไอโซโทปเดียว มิได้อยู่ในภาวะอิสระ แต่อยู่ในภาวะเป็นสารประกอบ
โรเดียม เป็นโลหะสีเงินมีจุด หลอมตัวสูง แข็งมาก เมื่อทำให้ธาตุโรเดียม ร้อนจัดจนกลายเป็นไอ แล้วนำแผ่นกระจกมารอรับ ไอร้อนจะกลั่นตัวติดเป็นแผ่นฟิลม์บาง ๆ บนผิวกระจก ทำให้แผ่นกระจกนั้น สะท้อนแสงได้ดีมาก จึงใช้ประโยชน์เป็นแผ่นกระจกสะท้อนแสง ในไฟฉายขนาดใหญ่ได้ดีมาก ประโยชน์อื่น ๆ ของโรเดียม มีหลายประการ เช่น นำไปผสมกับโลหะแพลทินัม แพลเรเดียม เป็นโลหะเจือที่แข็งมาก และมีขีดหลอมเหลวสูง จึงใช้ทำประโยชน์ในเตาอุณหภูมิสูง ในเทอร์มอคัปเปิล อุณหภูมิสูงได้ดี ใช้นำไปทำขั้วไฟฟ้า ในหัวเทียน ในเครื่องยนต์ของอากาศยาน ใช้ทำเบ้าทนไฟ ใช้ทำทัศนอุปกรณ์บางชนิด ใช้ในอุตสาหกรรมอัญมณี ใช้เป็นตัวเร่งปฎิกิริยา ๒๕/๑๖๐๗๘
๔๗๔๕. โรมันคาทอลิก คำนี้เป็นคำคุณศัพท์ใช้ขยายบุคคล หรือองค์การศาสนาคริสต์ มีความหมายตามภาษากรีกทั่วไป สากล
ศาสนาคริสต์ ในปัจจุบันแบ่งออกเป็นสามนิกายใหญ่คือ โรมันคาทอลิก โปรเตสแตนส์ และออร์โทดอกซ์ ชาวโรมันคาทอลิกทั่วโลก รวมตัวกันเป็นองค์การเดียวเรียกว่า คริสต์จักรคาทอลิก มีสันตะปาปาเป็นประมุขสูงสุด มีคาร์ดินัลร้อยกว่าท่านเป็นที่ปรึกษา แบ่งอำนาจการปกครองท้องถิ่นลดหลั่นลงเป็น อาร์ชบิชอป และอธิการโบสถ์ ในปัจจุบัน คริสต์จักร คาทอลิก มีสมาชิกประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านคน มีมากในแถบอเมริกาใต้ ยุโรปตอนใต้ แอฟริกากลาง ประเทศฟิลิปปินส์ นอกนั้น กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในทุกประเทศ
คำว่า คาทอลิก เริ่มมีผู้ใช้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สอง เมื่อมีสมาชิกบางคนแยกตัวออกจากคริสต์จักร และเรียกตัวเองว่า ชาวคริสต์ ฝ่ายองค์การจึงต้องกล่าวเตือนสมาชิกที่ยังเหลืออยู่ว่า พวกที่แยกออกไปนั้น เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ส่วนองค์กรเดิมมีลักษณะสากล
เมื่อนิกายออร์ไทดอกซ์ และนิกายโปรเตสแตนท์ ประกาศตัวเป็นอิสระ มีหลายกลุ่มยังอ้างว่า กลุ่มของตนก็มีลักษณะคาทอลิก (สากล) ด้วย และเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจสับสน ทุกฝ่ายจึงพร้อมใจกันเรียกนิกาย ที่มีสันตะปาปาเป็นประมุขว่า โรมันคาทอลิก ด้วยเหตุผลที่ว่า สันตะปาปา จะต้องมีตำแหน่งเป็น บิชอร์ป แห่งกรุงโรม เสมอ
ในประเทศไทย มีชาวโรมันคาทอลิกอยู่ประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ คน ปกครองโดย อาร์คบิชอป สองท่าน และบิชอป แปดท่าน อาร์ชบิชอป ของกรุงเทพ ฯ มีตำแหน่งเป็น คาร์ดินัล คือ ที่ปรึกษาของสันตะปาปา ด้วย
คำสอนที่ทำให้ชาวโรมันคาทอลิก ต่างกับคริสต์ชนนิกายอื่น ๆ ก็คือ ข้อเชื่อที่ว่า สันตะปาปา เป็นผู้สืบตำแหน่งจากเซนต์ปีเตอร์ (นักบุญเปโตร) มาตามลำดับ ในฐานะประมุขของคริสต์ชนทั้งมวล ดังนั้น การเป็นศิษย์ของพระเยซู เรียกร้องให้ยอมรับการเป็นผู้นำของสันตะปาปาโดยอัตโนมัติ เซนต์ปีเตอร์ซึ่งชาวคาทอลิก เชื่อว่าได้รับตำแหน่งประมุขของคริสต์ศาสนาจากพระเยซูโดยตรง ยังไม่มีชื่อตำแหน่งว่า สันตะปาปา ทั้งยังไม่ได้ตั้งสำนักงานที่เรียกว่า สำนักของสันตะปาปา ที่เป็นรูปธรรม เมื่อพระเยซูสิ้นพระชนม์แล้ว ก็เริ่มปฎิบัติหน้าที่ ณ กรุงเยรูซาเล็ม เป็นแห่งแรก ต่อมาเห็นว่าไม่ปลอดภัยอีก ก็ย้ายไปปฎิบัติหน้าที่ ณ กรุงโรม ในที่สุดก็ถูกประหารชีวติ ในรัชสมัยของจักรพรรดิ์นีโร โดยวิธีถูกตรึงไม้กางเขนกลับหัวคือ ให้ศีรษะทิ่มลง และเท้าชี้ขึ้น เหตุเกิดขึ้นบนเนินวาติกัน ซึ่งภายหลังจักรพรรดิ์คอนสแตนติน ยกให้เป็นศาสนสมบัติ ส่วนที่เป็นหลุมฝังศพของท่านคือเชิงเนินวาติกัน กลายเป็นที่ตั้งของโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ในปัจจุบัน
ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาต้องห้ามในอาณาจักรโรมัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๖๐๗ ในรัชสมัยของจักรพรรดิ์นีโร จนถึงจักรพรรดิ์คอนสแตนติน ได้มีราชโองการให้ยกเลิกในปี พ.ศ.๘๕๖ ระหว่างเวลาดังกล่าว ผู้สืบตำแหน่งเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรมส่วนมากถูกประหารชีวิต ตามราชโองการของจักรพรรดิ์นีโร ในปี พ.ศ.๘๖๗ เมื่อจักรพรรดิ์คอนสแตนติน ย้ายราชสำนักไปอยู่ที่ไบแซนไทน์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นคอนสแตนติโนเปิล ก็ได้มอบให้บิชอปแห่งโรม มีอำนาจดูแลบริเวณภาคกลางของอิตาลี ต่างพระเนตรพระกรรณ บริเวณนี้จึงได้ชื่อว่ารัฐของสันตะปาปา ตั้งแต่นั้น
ต่อมาเกิดมีกระแสอธิบายคำสั่งสอนของพระเยซูแตกต่างกันมากขึ้น จักรพรรดิ์คอนสแตนตินจึงอุปถัมภ์จัดสังคายนาขึ้น ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล บิชอปจากที่ต่าง ๆ ได้มาชุมนุมกันและตกลงการตีความคัมภีร์ในหลักใหญ่กันได้ จักรพรรดิ์คอนสแตนตินจึงให้ประกาศเป็นคำสอนสากล (คาทอลิก) ของศาสนาคริสต์
ต่อมาเมื่อพวกตาดมองโกลรุกราน จักรพรรพิ์โรมันสิ้นอำนาจทางตะวันตกอย่างสิ้นเชิง คริสต์จักรโดยการนำของบิชอปแห่งโรม สันตะปาปาลีโอ สามารถเกลี้ยกล่อมไม่ให้อัตติลาเข้าปล้นกรุงโรมได้สำเร็จในปี พ.ศ.๙๙๕ ส่วนในที่อื่น ๆ คณะบาทหลวงก็ได้เป็นผู้ชักกชวนให้ประชาชน รวมตัวกันสร้างป้อมปราการ ป้องกันตัวเองอย่างได้ผลเป็นส่วนมาก จนในที่สุดพวกตาดมองโกลเองกลับหันเข้าสวามิภักดิ์ และรับนับถือศาสนาคริสต์เช่น จักรพรรดิ์ชาร์เลอมาญ ในปี พ.ศ.๑๓๔๓ ทำให้อำนาจของบิชอปแห่งโรมแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ได้ตั้งสำนักของสันตะปาปามีอำนาจสูงสุดในยุโรป ในสมัยสันตะปาปาเกรกอรีที่เจ็ด ซึ่งทรงกำหนดให้บิชอปแห่งโรม มีตำแหน่งเป็นสันตะปาปาผู้เดียวในคริสต์จักรคาทอลิก ส่วนคริสต์จักรออร์โทดอกซ์บางกลุ่ม ยังคงมีตำแหน่งประมุขของตนเองเรียกว่า ปาตริอาร์ช มาจนทุกวันนี้
หลังสมัยสันตะปาปาเกรกอรีที่เจ็ด อำนาจทางการเมืองของสันตะปาปาเสื่อมลงตามลำดับ จนนถึงปี พ.ศ.๒๔๑๓ คาวัวร์ได้ยกทัพอิตาลีเข้ายึดกรุงโรม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอิตาลี กำหนดเขตให้สันตะปาปาอยู่ในเขตวาติกัน ขึ้นตรงต่อรัฐบาลอิตาลี ต่อมามุสโสลินีต้องการเอาใจพวกคาทอลิกทั่วโลก จึงตั้งกติกาสัญญาในปี พ.ศ.๒๔๗๒ รับรู้อธิปไตยของรัฐวาติกัน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ เอเคอร์ รวมทั้งมหาวิหารทั้งสี่แห่ง
สันตะปาปายังคงรักษาอำนาจทางศาสนาด้วยการเรียกประชุมสังคยานาเป็นระยะ ๆ เน้นหนักว่าเอกภาพจะมีได้ต้องมีประมุขเดียวกันคือ สันตะปาปา ๒๕/๑๖๐๘๑
๔๗๔๖. ไร เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กมากคือมีขนาดเท่าหัวเข็มหมุดไปจนถึงขนาดที่ต้องส่องดูด้วยแว่นขยายจึงจะเห็นตัว โดยทั่วไปมีขนาดลำตัวยาวระหว่าง ๑๐๐ - ๒,๐๐๐ ไมครอน มีลำตัวยาวรี รูปไข่ ทรงกลม หรือแบนทางราบ มีเปลือกลำตัวแข็ง มีขาเป็นปล้อง ๆ เช่นเดียวกับพวกแมงหรือแมลง จึงถูกจัดอยู่ในไฟลัม ของสัตว์ที่มีขาเป็กนปล้อง ไรนั้นแตกต่างจากแมลงหลายประการ และใกล้ชิดกับแมงมากว่าแมลง ไรมีขาแปดขา ไม่มีหนวด ไม่มีปีก
เห็บมีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ หลายอย่างคล้ายคลึงกับไรมาก ไรมีอยู่หลายชนิดประมาณว่ามีไม่ต่ำกว่าสี่แสนชนิด อาจแบ่งออกเป็นสองพวกใหญ่ ๆ คือพวกที่หากินโดยอิสระ และพวกที่เป็นตัวเบียนต้องอาศัยเกาะกินสัตว์อื่น ๒๕/๑๖๐๘๕
๔๗๔๗. ไร่ คำว่าไร่มีสองความหมายคือ
๑. ไร่ที่เป็นลักษณะนามหมายถึง จำนวน พื้นที่ ๔ งาน หรือ ๔๐๐ ตารางวา โดยทั่วไปคนไทยจะใช้คำว่าไร่ในการบอกขนาดของพื้นที่
๒. ไร่ที่เป็นคำนาม หมายถึงพื้นที่ที่ปลูกพืชต้นไม้บนไหล่เขาหรือในที่ดอน เนื้อดินส่วนใหญ่จะเป็นดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย ซึ่งมีการระบายน้ำได้ดี ทำให้น้ำไม่ท่วมขัง เกษตรกรที่ทำมาหากินโดยการเพาะปลูกพืชไร่เรียกว่า ชาวไร่ ๒๕/๑๖๐๙๑
๔๗๔๘. ไรน้ำ ไรน้ำหรือไรหรือลูกไร เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ ใช้เป็นอาหารของปลา ไรน้ำมีขาเป็นปล้อง ไรน้ำมีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ลำตัวยาวไม่เกิน ๔ มม. มีลักษณะใกล้เคียงกับพวกแมงและกุ้ง ๒๕/๑๖๐๙๒
ฤ
๔๗๔๙. ฤ เป็นอักษรในภาษาไทยที่ไม่นับรวมอยู่ในอักษรที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ ตัว ของไทย เพราะไม่ใช่อักษรที่เป็นพยัญชนะธรรมดา ซึ่งใช้แทนเสียงพยัญชนะหนึ่งเสียง แต่ ฤ ใช้งแทนเสียงพยัญชนะ + สระ หรือใช้แทนพยางค์ ออกเสียงว่า ริ รึ หรือเรอ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ เรียงลำดับ ฤ ไว้หลังอักษร ร. ฤ ปรากฎในคำที่มาจากภาษาสันสกฤตอาจปรากฎต้นคำเช่น ฤทธิ์ (ริด) ฤทัย (รึทัย) ฤดี (รึดี) ฤกษ์ (เริก) หรือปรากฎกับพยัญชนะอื่นเป็นเสียงควบกล้ำเช่น ทฤษฎี พฤกษา
สำหรับประวัติความเป็นมาของอักษร ฤ อักษรนี้ตรงกับอักษรเทวนาครี ในภาษาสันสกฤตซึ่งถือว่าอักษรนี้เป็นสระ ประเภทสระลอย ใช้เขียนต้นศัพท์หรือต้นพยางค์
ในภาษาไทยอักษร ฤ ไม่ปรากฎในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ฯ แต่พบในสมัยพระมหาธรรมราชาที่หนึ่ง (ลิไทย) ๒๕/๑๖๐๙๔
๔๗๕๐. ฤกษ์, ดาว ดาวฤกษ์ คือ ก้อนแก๊สร้อนรูปทรงกลมขนาดมหึมา ที่สร้างความร้อนแสงสว่าง และพลังงานอย่างอื่น ๆ ด้วยตัวเอง ต้นกำเนิดพลังงานอยู่ภายในใจกลาง ซึ่งเกิดปฎิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ ภายใต้อุณหภูมิสูงมาก ความร้อนและแสงสว่างจากผิว และแผ่กระจายออกสู่อวกาศรอบด้าน โดยการแผ่รังสี ดาวกฤษ์มีหลายประเภทซึ่งมีขนาดอุณภูมิ และความสว่างต่าง ๆ กัน
ดาวฤกษ์มีความสว่างและสีไม่เหมือนกัน สีของดาวฤกษ์จะบอกถึงอุณหภูมิผิวของดาวฤกษ์นั้น ๆ นักดาราศาสตร์แบ่งดาวฤกษ์ตามอุณภูมิที่พื้นผิว ซึ่งเป็นตัวบอกประเภทหรือสเปกตรัมของดาวฤกษ์เหล่านั้น ซึ่งมีเจ็ดประเภท
ความสว่างของดาวฤกษ์และวัตถุท้องฟ้าทั้งหลาย เกิดจากพลังงานแสงสว่างที่ส่งมาจากดาวฤกษ์ และวัตถุท้องฟ้าเหล่านั้น เดิมมนุษย์วัดความสว่างตามความรู้สึก โดยใช้ตาเปล่า ต่อมาจึงใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์วัด โดยวัดเป็นความเข้มของแสง ความสว่างของดาวจะถูกแบ่งไว้หลายระดับ หรืออันดับ (แมกนิจูด) และเรียกว่า อันดับความสว่าง ซึ่งแทนด้วยตัวเลข อันดับความสว่างมีสองลักษณะคือ อันดับแสงสว่างปรากฎ และอันดับแสงสว่างที่แท้จริง
ดาวฤกษ์ทุกดวง มีการเปลี่ยนแปลงตามวัฎจักร ดังต่อไปนี้
๑. ดาวฤกษ์เกิดจากแก๊ส และฝุ่นในลักษณะของเนบิวลา ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงดึงเข้าหาใจกลาง จนเป็นแก๊สยุบตัว เมื่ออุณหภูมิใจกลางสูงชึ้น จะเกิดปฎิกิริยาเทอร์มอนิวเคลียร์ ไฮโดรเจนหลอมตัวกันเป็นฮีเลียม นับเป็นการก่อเกิดพลังงานของดาวฤกษ์ และก่อกำเนิดดาวฤกษ์ ดาวฤกษ์เริ่มส่องแสง
๒. ในขณะเดียวกันกับที่เกิดดาวฤกษ์ แก๊สและฝุ่นที่รวมกันรอบนอกเป็นหย่อม ๆ เกิดเป็นดาวเคราะห์
๓. ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ส่องแสงเป็นเวลาหลายพันล้านปี ระยะนี้เองที่ดาวฤกษ์อยู่ในช่วงที่เป็นดาวฤกษ์หลัก
๔. เมื่อดวงฤกษ์ใช้เพลิงไฮโดรเจนจนหมดแกนกลางของดาวยุบตัวลง อุณหภูมิภายในสูงขึ้น ฮีเลียมหลอมรวมกันเป็นธาตุที่หนักขึ้น ขณะเดียวกันดาวขยายตัวมีขนาดโตขึ้น อุณหภูมิผิวลดต่ำลง กลายเป็นดาวฤกษ์สีแดงขนาดยักษ์
๕. เมื่อเชื้อเพลิงหมด ดาวฤกษ์จะถึงอวสาน ถ้าดาวมีเนื้อสารมากกว่าดวงอาทิตย์หลายเท่า ดาวจะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา เนื้อสารของดาวจะสาดกระจายออกสู่อวกาศ กลายเป็นเนบิวลา ซึ่งจะประกอบกันขึ้นเป็นดาวฤกษ์รุ่นหลังต่อไปอีก ส่วนแกนกลางของซูเปอร์โนวา จะกลายเป็นดาวนิวตรอน ซึ่งมีขนาดเล็ก แต่มีเนื้อสารมาก แกนกลางของซูเปอร์โนวา บางแห่งยุบตัวลงต่อไปอีกกลายเป็นหลุมดำ ซึ่งมีขนาดเล็กมาก แต่มีแรงโน้มถ่วงสูงมหาศาล สามารถดึงพลังงานทุกอย่างไว้ แม้แต่แสงสว่างก็ไม่สามารถออกจากหลุมดำได้ แต่ถ้าดาวมีขนาดพอ ๆ กับดวงอาทิตย์ หรือเล็กกว่า ดาวฤกษ์จะถึงอวสานไปตามปรกติ กลายเป็นดาวแคระขาว ซึ่งมีขนาดเล็กเท่าโลก แต่มีความหนาแน่นสูง ๒๕/๑๖๐๙๖
๔๗๕๑. ฤคเวท เป็นพระเวทของพราหมณ์ ซึ่งเขียนเป็นภาษาสันสกฤต เป็นประมวลความรู้เกี่ยวกับการสวดสรรเสริญ สดุดีเทพเจ้าทั้งหลาย เป็นเวทหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุด และสำคัญที่สุดในสี่เวท ได้แก่ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท อาถรรพเวท และเป็นพื้นฐานของเวทอื่น ๆ
ความหมายของฤคเวท คือ บทสวดสรรเสริญสดุดี หรืออ้อนวอนเทพเจ้าทั้งหลาย และมีคำสอนอยู่บ้างเป็นเรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรม เช่น การแต่งงาน พิธีศพ และอื่น ๆ บ้าง
การศึกษาให้เข้าใจและให้ได้ผลดี ต้องศึกษาตามวิธีของเวทางคศาสตร์ (ศาสตร์อันว่าด้วยองค์ประกอบของพระเวท) ซึ่งประกอบด้วยองค์หกคือ ศึกษา กัลปะ ไวยากรณ์ นิรุกต์ ฉันท์ ชโยดิน (ดู เวทางค์ ในไตรเพท - ลำดับที่ ๒๓๓๘) ๒๕/๑๖๑๐๓
๔๗๕๒. ฤษี คำว่า ฤษี มาจาก ฤษิ แปลว่า ผู้เห็น หมายถึง การแลเห็นด้วยความรู้พิเศษ อันเกิดจากฌาณ สามารถแลเห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต คือ ผู้รู้กาลทั้งสาม
ในสมัยต่อจากสมัยพระเวทลงมาคือ สมัยกาพย์ และปุราณะ ได้มีการจัดอันดับชั้นของฤษี และจัดกลุ่มฤษี สำคัญขึ้น
๑. - อันดับชั้นของฤษี แบ่งออกเป็นเจ็ดระดับ คือ พรหมฤกษ์ เทพฤษี หรือเทวรรษี ราชฤษี มหาฤษี บรมฤษี ศรุตฤษี และกาณฑฤษี
๒. - การแบ่งกลุ่มฤษี ได้แก่ กลุ่มสัปตฤษี ได้แก่ ฤษีผู้ยิ่งใหญ่เจ็ดตน และกลุ่มประชาบดี หมายถึง ฤษีสิบตน ที่เป็นโอรสอันเกิดจากใจของพระพรหม เพื่อประโยชน์แห่งการสร้างเผ่าพันธุ์ ทวยเทพ อสูร มนุษย์ นาค ครุฑ ปีศาจ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
นอกเหนือจากการจัดอันดับชั้น และการจัดกลุ่มฤษีดังกล่าวแล้ว ยังมีฤษีโดยทั่วไป มีคำเรียกต่าง ๆ กัน เช่น ฤษี (ผู้เห็น) โยคี (ผู้มีโยคะ) ดาบส (ผู้มีตบะ) ชฎิล (ผู้มีผมเป็นมวย) มุนี (ผู้มีความเงียบ) นักสิทธิ หรือ สิทธะ (ผู้สำเร็จ) ว่าโดยการแต่งกายก็มีต่าง ๆ กัน ๒๕/๑๖๑๐๖