หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/139
    เล่ม ๒๕     ราชบัณฑิตยสถาน  -  โลกธรรม           ลำดับที่ ๔๖๘๗ - ๔๘๔๗    ๒๕/ ๑๕,๘๔๑ - ๑๖,๔๓๘
                ๔๖๘๗. ราชบัณฑิตยสถาน  เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็น กรม ปัจจุบันอยู่ในบังคับบัญชาของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
                        เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ มีพระบรมราชโองการ ฯ ให้ประกาศว่า เดิมกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีหน้าที่แต่จัดการหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีหน้าที่แต่จัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครอย่างเดียว ทรงเห็นสมควรฟื้นฟูกิจการของกรมราชบัณฑิต ซึ่งมีมาแต่โบราณ และเป็นตำแหน่งสำหรับทรงตั้งผู้มีความรู้ศาสตราคมไว้รับราชการ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งราชบัณฑิตสภาขึ้น และให้เปลี่ยนนามกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็น ราชบัณฑิตสภา
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้มีการตรา พรบ.ว่าด้วยการราชบัณฑิตสถานขึ้น คณะผู้จัดตั้งราชบัณฑิตสถานส่วนใหญ่เป็น นักเรียนเก่าฝรั่งเศส ในมาตรา ๖ ได้กล่าวถึงหน้าที่ของหน่วยงานนี้ไว้ว่า
                                (๑)  เพื่อกระทำการค้นคว้าในสรรพวิชา แล้วนำออกเผยแพร่ให้เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชน
                                (๒)  เพื่อทำการติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาคมปราชญ์ ในนานาประเทศ
                                (๓)  เพื่อให้ความเห็นและคำปรึกษา "กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่รัฐบาล ในเรื่องที่เกี่ยวกับวิชาการ ซึ่งรัฐบาลได้ร้องขอ"
                        งานอันเป็นหน้าที่หลักของรัชบัณฑิตยสถาน โดยตรงนั้นเน้นไปในทางวิชาการ มีหกโครงการใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
                                ๑.  งานชำระพจนานุกรม และจัดทำพจนานุกรม สาขาวิชาต่าง ๆ
                                ๒. งานทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการทำพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ เป็นต้น
                                ๓. งานทำสารานุกรม เช่น สารานุกรมไทย สารานุกรมประวัติศาสตร์ทั้งไทย และสากล และสารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย
                                ๔. งานบัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศ เป็นภาษาไทยในสาขาวิชาต่าง  ๆ
                                ๕. งานกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย เช่น การใช้เครื่องหมายวรรคตอน ลักษณะนาม และหลักเกณฑ์การทับศัพท์
                                ๖. งานสร้างหนังสือวิชาการประเภทต่าง ๆ รวมทั้งการแปล
                        งานที่เกี่ยวกับวิชาการยกเว้นข้อ ๖ ล้วนจัดทำโดยคณะกรรมการ หรือคณะบรรณาธิการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง โดยมีกองต่าง ๆ เป็นผู้รับสนองงาน     ๒๕/๑๕๘๔๑
                ๔๖๘๘ ราชบุรี  จังหวัดในภาคตะวันตก มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.กาญจนบุรี ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรสงคราม ทิศใต้ติดต่อกับ จ.เพชรบุรี ทิศตะวันตก ติดต่อกับประเทศพม่า โดยมีทิวเขาตะนาวศรี เป็นแนวกั้นพรมแดน ภูมิประเทศทางซีกตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ โดยมีแม่น้ำแม่กลองไหลจาก จ.กาญจนบุรี เข้ามาทางด้านทิศเหนือ ผ่านไปทางทิศใต้ เข้าไปในเขต จ.สมุทรสงคราม ส่วนซีกตะวันตกเป็นที่ราบลูกเนิน และภูเขาเตี้ย ๆ ไปจนจดทิวเขาตะนาวศรี มีแม่น้ำชีไหลจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปทางเหนือ ไปลงแม่น้ำแควน้อย ใน จ.กาญจนบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น ถ้ำจอมพล ถ้ำบิน ถ้ำฤาษี ตลาดน้ำดำเนินสะดวก
                        จ.ราชบุรี เป็นเมืองโบราณ ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่า สร้างมาแต่เมื่อใด ต่อมาในสมัยสุโขทัย ปรากฎในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ฯ ว่า เป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัย ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ยังมีเนินดินซึ่งเป็นกำแพงเมืองเก่า ปัจจุบันเรียกเมืองเก่านี้ว่า ค่ายหลุมดิน อยู่ใน ต.หลุมดิน อ.เมือง ฯ ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายมาตั้งเมืองใหม่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐ และย้ายไปอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำแม่กลองอีก ในปี พ.ศ.๒๔๔๐     ๒๕/๑๕๘๕๐
                ๔๖๘๙. ราชยาน  คือ พาหนะของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องราชูปโภคประกอบพระราชอิสริยยศ ได้แก่ ราชยานประเภทคานหาม ราชรถ พระคชาธร (ช้างต้น)  ม้าต้น เรือพระที่นั่ง เป็นต้น ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มุขอำมาตย์และเสนาบดีจตุสมดภ์ จะต้องกราบบังคมทูลถวายราชยาน ในพิธีเสด็จออกมหาสมาคม เช่น
                        สมุหนายก กราบบังคมทูลถวาย พระยาช้างต้น พระยาม้าต้น หัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา และไพร่พลฝ่ายพลเรือน
                        สมุหพระกลาโหม กราบบังคลทูลถวาย พระมหาพิชัยราชรถ เรือพระที่นั่ง เรือกระบวนพร้อมเครื่องสรรพยุทธ กับถวายหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา และไพร่พลฝ่ายทหาร
                        เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ที่เป็นราชยาน มีดังต่อไปนี้
                            ๑.  - คานหาม  ได้แก่
                                ๑.๑  พระยานมาศ  มีคานหามคู่ มีคนหามแปดคน
                                ๑.๒  พระยานมาศสามลำคาน  เป็นคานหามขนาดใหญ่ คนหามสองผลัด จำนวนหกสิบคน  เดิมใช้สำหรับอัญเชิญพระโกศ พระบรมศพพระมหากษัตริย์
                                ๑.๓  พระราชยานกง  มีคานหามสองคาน มีคนหามแปดคน
                                ๑.๔  พระราชยานถม  มีแบบและลักษณะแบบพระยานมาศ เว้นแต่หุ้มด้วยเงินถม ลงยาทอง พระราชยานองค์นี้ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) สร้างถวายรัชกาลที่สาม
                                ๑.๕  พระราชยานงา  มีแบบและลักษณะอย่างพระราชยานถม เว้นแต่ทำด้วยงาช้าง สลักลาย ฝีมืองดงาม สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒
                                ๑.๖  พระราชยานลงยา  มีแบบและลักษณะแบบพระราชยานถม สร้างในสมัยรัชกาลที่ห้า
                                ๑.๗  พระราชยานพุดตานถม  ทำด้วยไม้หุ้มเงินสลักลายเบา ถมยาทาทอง เดิมสร้างขึ้นสำหรับเป็นพระราชอาสน์ และทำเป็นพระราชยานได้ สร้างสมัยรัชกาลที่ห้า
                               ๑.๘  พระที่นั่งราชยานพุดตานทอง  ทำด้วยไม้สลักหุ้มทอง มีภาพประดับสองชั้น สร้างขึ้นสำหรับเป็นพระที่นั่งพุดตานกาญจสิงหาสน์ ที่ทอดเหนือพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร พระที่นั่งองค์นี้ สามารถดัดแปลงเป็นพระราชยานได้
                                ๑.๙  พระที่นั่งราเชนทรยาน  ทำด้วยไม้สลักปิดทองรูปทรงบุษบก มีคานหามสี่คาน ใช้คนหามครั้งละ ๕๖ คน สร้างในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง ใช้ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า ขบวนสี่สาย
                            ๒. - พระคชาธาร  คือ การผูกช้างพระที่นั่ง สำหรับพระมหากษัตริย์เมื่อเสด็จพระราชดำเนินออกศึก การผูกช้างแบบนี้ เรียกว่า ผูกเครื่องมั่น ใช้สัปคับคชาธาร ที่เรียกว่า พระที่นั่งพุดตานทอง ตั้งกลางหลังช้างผูกโยงด้วยเชือก ให้ยึดมั่นกับช้าง กลางพระที่นั่งพุดตาน ปักเศวตฉัตรดาลเจ็ดชั้น ผูกศัตราวุธทั้งด้านซ้าย และด้านขวา เหมือนกันคือ ทวน ง้าว โตมร ปืน หอกซัด มีนายท้ายช้างนั่งท้าย ทำหน้าที่บังคับช้าง และมีกลางช้าง สองมือถือแพนหางนกยูง ทำหน้าที่ให้อาณัติสัญญาณ พระมหากษัตริย์ประทับบนคอช้าง ถือพระแสงของ้าวรบกับข้าศึก ที่เรียกว่า ยุทธหัตถี
                            การผูกช้างพระที่นั่ง เป็นพระราชยานพาหนะในยามปกติ มีสองอย่างคือ พระที่นั่งละคอ และพระที่นั่งประพาสโถง
                            ๓. -  ราชรถ  มีสองคัน คือ
                                ๓.๑  พระมหาพิชัยราชรถ  สร้างในรัชกาลที่หนึ่ง ใช้ประโยชน์เฉพาะในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์
                                ๓.๒  เวชยันตราชรถ  สร้างในรัชกาลที่หนึ่ง มีขนาดและการใช้งานเช่นเดียวกับพระมหาพิชัยราชรถ สร้างไว้คู่กัน
                            ๔. - ราชรถน้อย  เป็นราชรถแปดล้อ มีสามคัน จัดเข้าในริ้วขบวนแห่พระบรมศพพระมหากษัตริย์ ใช้สำหรับเป็นราชรถพระนำ ราชรถโยง และราชรถทรงโปรย
                            ๕. -  เรือพระที่นั่ง  แบ่งออกเป็นสี่ประเภทคือ
                                ๕.๑  เรือพระที่นั่งกราบ  สร้างด้วยไม้ ตั้งบัลลังก์กัญญา ได้แก่ เรือประจำทวีป และเรือรุ้งประสานสาย
                                ๕.๒  เรือพระที่นั่งศรี  สร้างด้วยไม้ ตัวเรือสลักภาพพื้นสีลายทอง ตั้งบัลลังก์กัญญา เป็นที่ประทับ เช่น เรือพระที่นั่งทวยเทพถวายกร พื้นเรือสีแสด ยาว  ๓๔.๖๕ เมตร ฝีพาย ๔๘ คน พันท้ายเรือสองคน เรือเอนกชาติภุชงค์ พื้นเรือสีชมพู ตัวเรือสลักเป็นลายนาค ยาว ๕๔.๔๐ เมตร ฝีพาย ๖๑ คน พันท้ายเรือสองคน
                                ๕.๓  เรือพระที่นั่งเอกชัย  สร้างด้วยไม้ สลักลาย พื้นสีปิดทอง ตั้งบุษบก หรือ บัลลังก์กัญญา เช่น เรือพระที่นั่งประภัสสรชัย ยาว ๓๖.๙๕ เมตร ฝีพาย ๔๓ คน พันท้ายเรือสองคน
                                ๕.๔  เรือพระที่นั่ง  สร้างด้วยไม้สลักปิดทอง หัวเป็นรูปสัตว์ ตั้งบุษบก หรือ บัลลังก์กัญญา เช่น เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ หัวเรือเป็นรูปหงส์ ยาว ๔๔.๙๐ เมตร ฝีพาย ๕๐ คน พันท้ายเรือสองคน  เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช หัวเรือเป็นรูปนาคเจ็ดเศียร พื้นเรือสีเขียว ยาว ๔๒.๙๕ เมตร ฝีพาย ๕ถ คน พันท้ายเรือสองคน     ๒๕/๑๕๘๕๒
                ๔๖๙๐. ราชวัติ  มีบทนิยามว่า  "รั้วแถว ที่มีฉัตรปักเป็นระยะ ๆ " ในทางปฎิบัติของทางราชการ ราชวัติ คือ แผงทำจากไม้ที่ตัดเป็นซี่เล็ก ๆ เรียกว่า ไม้ระแนง ขัดไขว้ตีประกบเข้ากับกรอบ ลักษณะเป็นแผงมีช่องว่างตาตาราง แล้วนำเอาอีกหนึ่งแผง มาต่อหักมุมเป็นข้อศอก ปักฉัตรที่มุมนี้หนึ่งคัน และปลายแผงทั้งสองปลาย ปลายละหนึ่งคัน ใช้สำหรับกั้นเป็นรั้วกำหนดเขต และเขตนั้นอยู่ในอำนาจของทางราชการ
                        มีพระราชประเพณี ที่จะต้องมีราชวัติฉัตรธง ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชช้างสำคัญ พระราชพิธีสมโภชเดือน ขึ้นพระอู่สมเด็จเจ้าฟ้า พระราชกุมาร กุมารี หรือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้า ที่โปรดเกล้า ฯ สมโภชเป็นพิเศษ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ       ๒๕/๑๕๘๖๓
                ๔๖๙๑. ราชสาสน์  อำเภอ ขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ ขึ้น อ.พนมสารคาม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗       ๒๕/๑๕๘๖๙
                ๔๖๙๒. ราชาวดี ๑   เป็นการลงยาชนิดหนึ่ง โดยใช้น้ำยาสีฟ้า แตะแต้มใส่ลงให้ติดถาวร บนลวดลายเพื่อตกแต่งเครื่องทองรูปพรรณชนิดต่าง ๆ  งานลงยาราชาวดี เริ่มมีในสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยพวกพ่อค้าชาวเปอร์เซีย นำเครื่องทองรูปพรรณ และวิธีการลงยาราชาวดี เข้ามาเผยแพร่     ๒๕/๑๕๘๖๙
                ๔๖๙๓. ราชาวดี ๒   เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร แต่อาจสูงได้ถึง ๖ เมตร ทรงพุ่มโปร่ง กิ่งมีขน ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปไข่ ขอบใบจักร ดอกสีขาว ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มีกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน ช่อดอกเป็นช่อกระจะ ผลแห้งเมื่อแก่ แตกเป็นสองซีก      ๒๕/๑๕๘๗๑
                ๔๖๙๔. ราตรี - ต้น  เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒ - ๓ เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับเวียนรอบกิ่ง ใบรูปหอก หรือรูปไข่ ขอบใบเรียบ ช่อดอกออกตามซอกใบ หรือปลายกิ่ง มีดอกห่าง ๆ บนช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุก หรือเป็นช่อแยกแขนงเป็นพวงของหลายช่อ ดอกขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาวอมเขียว หรือขาวนวล ผลสีนวลขาว เป็นแบบผลเนื้อ
                        ดอกราตรี บานเวลากลางคืน กลิ่นหอมแรง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ใบใช้เป็นสมุนไพร รักษาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ รักษาโรคลมบ้าหมู ถ้าใช้มากเป็นพิษถึงตาย     ๒๕/๑๕๘๗๑
                ๔๖๙๕. ร่าน  เป็นบุ้งชนิดหนึ่ง มีขน หรือหนามเป็นกระจุก เฉพาะส่วนของลำตัว เมื่อไปสัมผัสจะรับพิษ ทำให้เกิดอาการแสบร้อน หรือคัน
                        หนอนร่าน เข้าดักแด้ภายในรังที่เป็นเปลือกแข็ง ที่ตัวหนอนทำขึ้นก่อนที่จะเป็นดักแด้ และออกจากดักแด้ และรังเมื่อเจริญวัยเต็มที่เป็นผีเสื้อ     ๒๕/๑๕๘๗๒
                ๔๖๙๖. รามเกียรต์  เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย มีความสัมพันธ์ต่อวัฒนธรรมไทยหลายประการ อาทิวรรณกรรมการแสดงศิลปกรรม ราชทินนามและอื่น ๆ เรื่องรามเกียรติ์ที่เป็นบทละคร มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ตลอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ความรู้เกี่ยวกับรามเกียรติ์ โดยเฉพาะตัวละครสำคัญนั้น เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสมัยสุโขทัย หรืออาจจะนานกว่านั้น ในศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง มีการกล่าวถึงพระนามรามคำแหง และถ้ำพระราม เป็นต้น     ๒๕/๑๕๘๗๖
                ๔๖๙๗. รามคำแหงมหาราช, พ่อขุน  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สามในราชวงศ์พระร่วง แห่งอาณาจักรสุโขทัย เสวยราชย์ประมาณปี พ.ศ.๑๘๒๒ - ๑๘๔๑ พระองค์ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาติไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ สืบทอดกันมากว่า ๗๐๐ ปี
                        พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระราชโอรสองค์ที่สามของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับพระนางเสือง ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหง ฯ แห่งสุโขทัย พระยามังราย ฯ แห่งล้านนา พระยางำเมืองแห่งพะเยา เป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน
                        เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ ๑๙ พรรษา ได้ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อพ่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงทรงขนานพระนามพ่อขุนรามคำแหงว่า พระรามคำแหง
                        พระองค์ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๖ ในด้านการปกครองทรงปกครองแบบพ่อกับลูก พระองค์ยังทรงใช้พระพุทธศาสนา เป็นเครื่องช่วยในการปกครอง เมื่อประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีที่ชอบ การปกครองก็สะดวกง่ายดายขึ้น
                        ในด้านอาณาเขต พระองค์ได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลคือ ทางทิศตะวันออกทรงปราบได้เมืองสระหลวงสองแคว (พิษณุโลก)  ลุมบาจาย สะด้า (สองเมืองนี้อาจอยู่แถวลุ่มแม่น้ำน่านหรือแถวป่าสักก็ได้) ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงเวียงจันทน์ เวียงคำ ในประเทศลาว ทางทิศใต้ทรงปราบได้คนที (บ้านโดน กำแพงเพชร)  พระบาง (นครสวรรค์)  แพรก (ชัยนาท)  สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช มีฝั่งทะเลสมุทร เป็นเขตแดน ทางทิศตะวันตกทรงปราบได้เมืองฉอด เมืองหงสาวดี และมีสมุทรเป็นแดน ทางทิศเหนือทรงปราบได้เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองพลัว (อ.ปัว จ.น่าน) ข้ามฝั่งโขงไปถึงเมืองชวา (หลวงพระบาง)     ๒๕/๑๕๘๘๗
                ๔๖๙๘. รามราชาธิราช, สมเด็จพระ  เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระราเมศวร ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ห้า แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระองค์ที่สามในราชวงศ์เชียงราย พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๐ และเสด็จไปครองเมืองปทาดูจา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๔     ๒๕/๑๕๘๙๒
                ๔๖๙๙. รามัญ  ดูมอญ (ลำดับที่ ๔๒๕๖)         ๒๕/๑๕๘๙๘
                ๔๗๐๐. รามัน  อำเภอขึ้น จ.ยะลา เดิมเป็นเมืองชื่อเมืองราห์มัน ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๔ เมื่องมีการแบ่งเมืองปัตตานีออกเป็นเจ็ดหัวเมือง ต่อมาเมื่อตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาลจึงยุบเป็นอำเภอเรียกว่า อ.ราห์มัน ขึ้น จ.ยะลา แล้วเปลี่ยนเป็น อ.โกตาบารู เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนเป็น อ.รามัน ในปี พ.ศ.๒๔๙๙         ๒๕/๑๕๘๙๘
                ๔๗๐๑. รามาธิบดีที่ ๑, สมเด็จพระ  (พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๙๑๒) ทรงเป็นมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงเป็นเชื้อราชวงศ์เชียงราย บรรพบุรุษของพระองค์อพยพจากทางเหนือคือ เวียงไชยปราการ ลงมาทางใต้
                        ตำนานเมืองสุพรรรบุรี ซึ่งเป็นที่เชื่อถือสืบต่อกันมาระบุว่า เดิมสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ อยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี คือ เมืองอู่ทอง ริมน้ำจระเข้สามพัน พระนามพระเจ้าอู่ทอง คงได้มาจากชื่อเรียกเจ้าผู้ปกครองเมืองอู่ทอง สันนิษฐานว่า เมืองอู่ทองคงจะเป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัยอยู่ก่อน แล้วต่อมาคิดตั้งตัวเป็นอิสระ ก่อนที่พระองค์จะมาสร้างกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีนั้น พระองค์ได้อพยพมาตั้งอยู่ที่ ตำบลเวียงเหล็ก (บริเวณวัดพุทไธสวรรค์ ในปัจจุบัน) อยู่ก่อนประมาณสามปี         ๒๕/๑๕๘๙๘
                ๔๗๐๒. รามาธิบดีที่ ๒, สมเด็จพระ  (พ.ศ.๒๐๑๕ - ๒๐๗๒) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สิบ แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระองค์ที่เจ็ดในราชวงศ์สุวรรณภูมิ ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงพระนามว่าพระเชษฐาธิราช ทรงเป็นพระมหาอุปราช เมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๘ ครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๔ และสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๒
                        เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยของพระองค์รวมสามด้านได้แก่
                        ด้านการศาสนา  ในปี พ.ศ.๒๐๔๒ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระวิหารหลวงในวัดพระศรีสรรเพชญ์ และในปี ต่อมาโปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ประดิษฐานในพระวิหารหลวง ถวายพระนามว่าพระศรีสรรเพชญ์ และโปรดให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่สององค์ภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ เพื่อประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และสมเด็จพระบรมราชาธิราช โดยมีเจดีย์ใหญ่ที่สร้างเพิ่มขึ้นภายหลังอีกหนึ่งองค์ เพื่อประดิษฐานพระอัฐิของพระองค์เองรวมเป็นสามองค์
                      ด้านการทหาร  มีการสร้างตำราพิชัยสงคราม รวมทั้งการวางระบบควบคุมกำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการทำบัญชีเกณฑ์ผู้คนอย่างมีระเบียบแบบแผน โดยมีกรมพระสุรัสวดีเป็นผู้ดำเนินการ มีชาวโปร์ตุเกสเป็นทหารอาสาอยู่ในกรมฝรั่งแม่นปืนหรือกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งเป็นต้น พระองค์เสด็จไปตีเมืองลำปางได้ในปี พ.ศ.๒๐๕๘
                      ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  มีการติดต่อค้าขายและทำไมตรีทางการค้าอย่างเป็นทางการกับประเทศจีน มีการส่งทูตไปเมืองจีนห้าครั้ง โปร์ตุเกสเป็นประเทศแรกที่ส่งทูตมาทำสัญญาไมตรีสามครั้ง ได้ทำสัญญาทางราชไมตรีทางการค้านับเป็นสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับต่างประเทศ ทรงอนุญาตให้ชาวโปร์ตุเกสตั้งห้างค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา และเมืองปัตตานี เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองมะริด ส่วนโปร์ตุเกสรับจัดหาปืน และกระสุนดินดำให้ไทย ยอมให้ไทยไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองมะละกาได้     ๒๕/๑๕๙๐๕
                ๔๗๐๓. รามานุช  เป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของอินเดีย เป็นชาวทมิฬในอินเดียใต้ หลักปรัชญาของรามานุช มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ต่อชีวิตของชาวอินเดียมาถึงปัจจุบัน
                        รามานุชเกิดเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๕๖๐ ได้ศึกษาลัทธิเวทานตะ ต่อมาท่านได้โต้แย้งกับอาจารย์ เพราะตีความข้อความบางตอนในคัมภีร์อุปนิษัทไม่ตรงกันคือ อาจารย์ตีความแนวเอกนิยมของศังกราจารย์ แต่ท่านไม่เห็นด้วย
                        ท่านได้รจนาคัมภีร์ไว้หลายเล่ม ได้ตั้งอาศรมขึ้นหลายแห่ง และได้ชักนำประชาชนจำนวนมาก ให้นับถือไวษณพ ท่านมรณภาพเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๖๘๐     ๒๕/๑๕๙๑๐
                ๔๗๐๔. รามายณะ  แปลว่า เรื่องราวของพระราม โดยขนบนิยมของอินเดียถือว่าเป็นกาพย์เรื่องแรก ในวรรรณคดีอินเดียซึ่งแต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต ในรูปแบบของคำประพันธ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เรียกว่า โศลก กวีผู้แต่เรื่องรามยณะได้รับการยกย่องว่า เป็นอาทิกวีคือ กวีคนแรก และบทประพันธ์เรื่องนี้ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็น อาทิกาพย์ คือ กาพย์ชิ้นแรก ที่มีการเขียนขึ้นในแนวจิตนิยม
                        กาพย์เรื่องรามายณะเป็นผลงานของฤษีวาลมีกิ เป็นมหากวี ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก ได้แต่งเรื่องรามยณะ เป็นจำนวน ๒๔,๐๐๐ โศลก แบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นเจ็ดกาณฑ์ หรือเจ็ดตอน คือ
                       ตอนที่หนึ่ง  เรียกว่า พาลกาณฑ์  คือ เรื่องราวในวัยเด็กของพระราม กล่าวถึงกำเนิดของการแต่งเรื่องนี้ ประวัติผู้แต่ง กำเนิดพระรามและน้อง ๆ คือ พระลักษณ์ พระภรต และพระศัตรุฆ์น์ พระราม พระลักษณ์ไปปราบอสูร พระรามมีชัยในการประลองศรได้อภิเษกสมรสกับนางสีดา
                      ตอนที่สอง  เรียกว่า อโยธยากาณฑ์  เป็นตอนที่เริ่มเนื้อเรื่องสำคัญของรามายณะ บรรยายเรื่อง นครอโยธยา ท้าวทศรถตั้งพระรามเป็นรัชทายาท แต่นางไกเกยี ผู้เป็นมเหสีองค์ที่สอง และเป็นพระมารดาของพระภรต ทูลของราชสมบัติให้ราชโอรสของตน โดยทวงสัญญาที่ให้ไว้ ท้าวทศรถจำใจต้องให้พระรามออกเดินป่าสิบสี่ปี
                      ตอนที่สาม  เรียกว่า อรัณยกาณฑ์  หมายถึง ตอนเดินป่า พระรามได้มาตั้งอาศรม อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโคทาวรี นางรากษสตนหนึ่งชื่อ ศูรปนขา (สำมนักขา) มาพบเข้ามีความหลงไหลในพระรามและพระลักษณ์ แต่ทั้งสองไม่ยินดีด้วยนาง นางจะทำร้ายนางสีดา พระลักษณ์จึงลงโทษนางโดยตัดหู ตัดจมูกแล้วไล่ไป นางไปฟ้องพญาขร ผู้เป็นพี่ พญาขรยกกองทัพมาปราบพระราม แต่ถูกพระรามฆ่าตาย นางศูรปนขา หนีไปกรุงลงกา และยุยงทศกัณฐ์ผู้เป็นพี่ชายใหญ่ ให้มาชิงนางสีดาไป ทศกัณฐ์ลักพานางสีดาไปได้สำเร็จ พระราม พระลักษณ์ ออกติดตามนางสีดา
                      ตอนที่สี่  เรียกว่า กิษกินธากาณฑ์ ว่าด้วยการทำไมตรีระหว่างพระรามกับสุครีพ ราชาวานร พระรามได้ช่วยสุครีพปราบพาลี สุครีพพร้อมด้วยหลาน (ลูกพาลี) ชื่อ องคต และหนุมัต  (หนุมาน) ผู้เป็นที่ปรึกษาได้พร้อมใจกัน ยกกองทัพติดตามพระราม พระลักษณ์ไป
                      ตอนที่ห้า  เรียกว่า สุนทรกาณฑ์  พรรณาความงามของเกาะลังกา ตลอดจนปราสาทราชมณเฑียรของทศกัณฐ์  หนุมานข้ามไปเกาะลังกา ได้พบนางสีดาแจ้งให้ทราบว่า พระรามยกกองทัพตามมาแล้ว
                      ตอนที่หก  เรียกว่า ยุทธกาณฑ์  ว่าด้วยการสงครามใหญ่ระหว่างฝ่ายพระรามกับฝ่ายทศกัณฐ์ เป็นตอนที่พรรณาอย่างยืดยาวที่สุดกว่าทุกตอน พระรามยกทัพข้ามไปเกาะลังกา โดยให้กองทัพลิงทำสะพานยาว ๒๐ โยชน์ สะพานนั้นชื่อว่า รามเสตุ (สะพานพระราม)
                     ฝ่ายทศกัณฐ์ ก็เตรียมรับศึก วิภีษณะ (พิเภก)  ผู้เป็นน้อง กล่าวเตือนสติแต่ทศกัณฐ์โกรธ วิภีษณะจึงแยกทางกับพี่ชาย และเดินทางไปสวามิภักดิ์ต่อพระราม และเป็นที่ปรึกษาช่วยแนะนำพระราม จนเอาชนะฝ่ายทศกัณฐ์ได้
                     เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว นางสีดาได้ลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์ พระรามให้วิภีษณะครองกรุงลังกา แล้วยกทัพกลับ พระภรตถวายราชสมบัติคืน
                     ตอนที่เจ็ด  เรียกว่า อุตตรกาณฑ์ หรือบทส่งท้าย เช่นเดียวกับตอนที่หนึ่งคือ เป็นตอนที่มีผู้แต่งเพิ่มเติมภายหลัง ได้ดำเนินความต่อไปว่า ประชาชนได้ติฉินนินทาว่า นางสีดามีมลทินไม่สมควรแต่งตั้งเป็นมเหสี พระรามจึงให้พระลักษณ์นำนางสีดาไปปล่อยนอกราชอาณาจักร พระลักษณ์เอานางไปฝากฝังไว้กับฤษีวาลมีกิ ที่ตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลประยาคุ นางประสูติโอรสฝาแฝด คือ พระกุศะ และลวะ (พระมงกุฎ และพระลพ) ต่อมาพระรามได้พบโอรสทั้งสอง พระรามจึงเชิญฤษีวาลมีกิ และนางสีดามาที่นครอโยธยา พระรามขอให้นางสีดากล่าวปฎิญาณว่า นางเป็นผู้บริสุทธิ์ นางสีดาไม่กล่าว แต่ประกาศเชิญพระแม่ธรณี (ปถถิวี)  ขึ้นมาเป็นพยาน แผ่นดินก็แยกออก พระธรณีขึ้นมารับนางสีดา แล้วพานางสีดากลับคืนสู่ใต้ดิน ทำให้พระรามเศร้าโศกมาก ต่อมาได้สละราชสมบัติให้โอรสทั้งสองขึ้น ครองแทน พระองค์พร้อมด้วยราชบริพารลงไปสู่แม่น้ำสรยุ อันศักดิ์สิทธิ์แล้วหายไป กลับคืนสู่ความเป็นพระวิษณุ ผู้เป็นเจ้าในสวรรค์ชั้นไวกูณฑ์ เรื่องก็จบเพียงเท่านี้
                     กล่าวโดยสรุปได้ว่า แท้ที่จริง นิทานพระราม อันเป็นโครงเรื่องคร่าว ๆ ของเรื่องรามายณะนั้นมีมานานแล้ว ทำนองวรรณกรรมท้องถิ่นของอินเดีย นอกจากนี้ ก็มีเรื่อง ราโมปาขยานัม อันเป็นการเล่าเรื่องรามายณะโดยย่อ แทรกอยู่ในมหาภารตะ เพื่อปลอบโยนยุธิษฐิระ ในการที่นางเทราปุ ที่ถูกราชาแห่งสินธุ ลักพาเอาตัวไป เรื่องรามายณะ จากข้อมูลดั้งเดิมคือ นิทานพระราม นั้นมีมาก่อนพุทธกาลแต่ไม่ถึงสมัยพระเวท ตรงข้ามกับมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งมีชื่อบุคคลอ้างถึงแม้ในคัมภีร์ฤคเวท อันเก่าแก่ถึง ๔,๐๐๐ ปี แต่รามายณะได้รบการปรับปรุงจนกลายเป็นกาพย์สมบูรณ์แบบ เร็วกว่า มหาภารตะ เพราะในเวลา ๒๐๐ ปี ก่อนคริสต์กาลนั้น กาพย์รามายณะมีรูปเล่มสมบูรณ์ เสร็จก่อนมหาภารตะไม่ต่ำกว่า ๗๐๐ ปี      ๒๕/๑๕๙๑๕

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch