หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/138

    ๔๖๗๒. รัตนาวลี  เป็นผลงานทางปรัชญาอันล้ำลึกของนาคารชุน ซึ่งเป็นปราชญ์รูปหนึ่งของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มาธยมิกนิกาย ความคิดของท่านมิเพียงซึมซาบอยู่ในคัมภีร์อภิธรรม ของมหายานเท่านั้น หากยังมีอิทธิพลอยู่ในคัมภีร์ฝ่ายพุทธตันตระด้วย
                    นาคารชุน เกิดในตระกูลพราหมณ์ทางภาคใต้ของอินเดีย ในราวพุทธศตวรรษที่เจ็ด ได้ศึกษาจบไตรเพท และมีความเชี่ยวชาญในอาถรรพศาสตร์มาก ต่อมาได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา และศึกษาเจนจบในพระไตรปิฎก และได้รจนาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไว้มากมาย รวมทั้งพระไตรปิฎกซึ่งแปลเป็นภาษาจีนรวม ๒๔ คัมภีร์ และรัตนาวลี ซึ่งมีลักษณะเป็นจดหมายเชิงปรัชญา ที่ท่านเขียนไปถึงพระเจ้าศาตวาหนะ แห่งทักษิณาบถ ซึ่งเป็นมิตรผู้ยิ่งใหญ่ของท่าน และได้สร้างวัดที่ภฺรมรคีรี หรือ ศรีบรรพต ถวายท่าน
                    การที่จะเข้าใจข้อความในรัตนาวลี นั้น จำเป็นต้องมีความรู้ในศูนยวาท เป็นพื้นก่อน ทั้งนี้เพราะเหตุที่รัตนวลี ได้สรุปใจความในลัทธิศูนยวาทไว้ให้สั้นที่สุด คล้ายเป็นเพียงมาติกาคือ แม่บทแห่งศูนยวาทเท่านั้น แต่ลัทธิศูนยวาทก็แยกออกมาจากลัทธิเดิมคือ ขณิกวาท ซึ่งเป็นมูลฐานแห่งบรรดาลัทธิทั้งหลาย ที่มีอยู่ในพุทธปรัชญาตราบเท่าทุกวันนี้ ขณิกวาทถือว่า สรรพสิ่งดำรงอยู่เพียงชั่วขณะเท่านั้น เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวง จะต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอนใด ๆ เลย
                    คัมภีร์รัตนวลี ได้เริ่มต้นด้วยการน้อมนมัสการพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ต่อจากนั้น ก็กล่าวถึงหลักปรัชญาอันลึกซึ้ง มีข้อความบางตอนดังนี้
                            (๑)  ข้าพระเจ้าประณม พระสรรเพชญ์เจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ที่เป็นพวกพ้องสรรพสัตว์ ผู้พ้นจากโทษทั้งสิ้น แต่ประดับด้วยคุณทั้งปวง ฯ

    ..............................
                            (๕)  เพราะความที่มีศรัทธาจึงดำเนินสู่ธรรม เพราะความที่มีปรัชญาจึงทราบตามความจริง ฯ ก็บรรดาคุณชาติทั้งสองนั้น ปรัชญาเป็นประธาน ส่วนศรัทธา นำหน้าประธาน คือ ปรัชญา นั้น ๆ
                            (๖)  ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะฉันทะ โทสะ รายะ และโมหะ พึงทราบ ผู้นั้นว่าคือ คนมีศรัทธา เป็นภาชนะอันดีแห่งสิริยิ่ง (คือ ไม่มีใคร ๆ) จะเป็นที่รองรับโมกษธรรม เหมาะไปกว่าเขา ) ฯ
                            (๗)  ผู้ใดพิจารณาโดยระมัดระวัง ซึ่งกรรมทั้งสิ้น อันทำด้วยกาย หรือวาจา ใจ รู้ทั่วถึงกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และแก่ตนเองแล้ว ก็พึงทำกรรมนั้นเสมอ ผู้นั้นเป็นบัณฑิต ฯ
                                ในโศลกที่ ๑๔ - ๑๘ ได้กล่าวถึง สาเหตุที่ทำให้มนุษย์เราเป็นต่าง ๆ กัน
                                ในส่วนของปรมัตถกรรม คือ ธรรมะขั้นสูงสุด ท่านได้ชี้ให้เห็นว่าอะไรเป็นความหลุดพ้น และทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นนั้น คือ ปรัชญา ความหลุดพ้นนั้น เป็นความว่างเปล่าจากทุกสิ่งทุกอย่าง คล้ายกับเหวลึกที่ว่างจนแล ไม่เห็นก้นเหว น่าหวาดเสียวแก่ผู้ที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังเป็นพื้นไว้เลย เพราะฉะนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าจึงมักเขยิบความรู้ ทีละขั้น ๆ เป็นพื้นฐานแก่ผู้ฟัง เพื่อฝึกความรู้สึกให้หยั่งลงไปทีละน้อย ไม่วูบวาบทีเดียว
                                ท่านได้กล่าวว่า "สังสารวัฎ ไม่มีเบื้องต้น ที่สุด และท่ามกลาง ย่อมหมุนเหมือนไฟปลายพื้นที่หมุนติ้ว มีทางสามสาย เป็นเหตุแห่งกันและกัน"  ทางสามสาย คือ อหังการ กรรม และ ชาติ ซึ่งพอเทียบกับหลักไตรวัฎ คือ กิเลส กรรม และวิบาก
                                ในเรื่อง นิพพาน หรือ นิรพาน ท่านได้กล่าวไว้ในโศลกที่ ๔๒ - ๔๖ ดังนี้
                           (๔๒)  นิรพาน แม้จะเป็น อภาวะ ( ความไม่มีอะไร)  แห่งนิรพานนั้น จากที่ไหนได้เล่า ฯ อันความสิ้นแห่งปรามาส (การยึดถือ)  ถึงภาวะ หรือ อภาวะ (มีหรือไม่มี)  เราเรียกว่า นิรพาน ฯ
                            (๔๓)  กล่าวแต่ย่อ นัตถิตาทิฐิ ย่อมเห็นว่า กรรมไม่มีผล ฯ อัน นัตถิคตาทิฐิ นี้เป็น ปฎิปักษ์ต่อบุญ และนำลงอบายภูมิ บัณฑิตจึงลงมติว่าเป็น มิจฉาทิฐิ ฯ
                            (๔๔)  และกล่าวแต่ย่อ อัตถิตาทิฐิ  ย่อมเห็นว่ากรรมทั้งหลายมีผล ฯ อัน อัตถิตาทิฐิ นี้เป็นบุญ มีสุคติเป็นผล บัณฑิตจึงลงมติว่า เป็น สัมมาทิฐิ
                            (๔๕)  ในเพราะ ญาณ (ความรู้ที่ถูกต้อง)  จึงมีการล่วงพ้นทั้งบาป ทั้งบุญ เพราะสงบจาก นัตถิตาทิฐิ และอัตถิตาทิฐิ ฯ เพราะฉะนั้น เหล่าสัตบุรุษจึงกล่าวว่า  นั้นเป็นโมกษะ (ความพ้น) จากทุคติ และทั้งสุคติ ด้วย ฯ
                            (๔๖)  เห็นความเกิดขึ้นกับทั้งเหตุอยู่ ย่อมล่วง นัตถิตทิฐิ เสียได้ ฯ เห็นความดับไปดับทั้งเหตุอยู่ ก็ย่อมไม่เข้าแม้ซึ่ง อัตถิตาทิฐิ
                                    ในเรื่องของ นิพพาน นั้น จะบอกว่าเป็นความไม่มีอะไร (อภาวะ) ก็ไม่ใช่ และจะบอกว่า เป็นความมีอะไร (ภาวะก็ไม่ใช่ นิพพานเป็น อนีรวจนียะ คือ ไม่สามารถกล่าวออกมาเป็นคำพูดได้ ต่อเมื่อหมดความยึดมั่นทั้งในภาวะ และอภาวะ ได้แล้ว นั่นแหละคือ นิพพาน
                                    ท่านได้เปรียบโลกดุจพยับแดด ล้วนเป็นสิ่งที่ลวงตาทั้งสิ้น ดังที่ท่านกล่าวไว้ในโศลกที่ ๕๒ - ๕๗
                                    ในตอนท้าย ท่านได้กล่าวว่า เพราะเหตุดังนี้ ธรรมบรรณาการ ซึ่งพ้นจากทั้ง นัตถิตา และอัตถิตา ย่อมเป็นอมฤตแห่งศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่กล่าวกันว่า ลึกซึ้ง และได้สรุปว่า โดยปรมัตถ์แล้ว โลกกับนิพพาน ก็เป็นอย่างเดียวกัน
                ๔๖๗๓. รัตภูมิ  อำเภอ ขึ้น จ.สงขลา ภูมิประเทศทางทิศตะวันตก เป็นเนินมีป่าสูง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ค่อย ๆ ลาดลงไปจนจดฝั่งทะเลสาบ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นควน และป่า โดยมาก
                    อ.รัตภูมิ เมื่อสมัยอยุธยา หลวงภูเบศร์ เจ้าเมืองสงขลา ได้มอบให้ นายหัว เมืองเพชร คุมเลกไปสร้างกำแพงเมืองสงขลา ริมฝั่งทะเลสาบทางด้านตะวันตก ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า ท้ายวัง ได้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในแถบบ้านผาลิง ต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้ยกหมู่บ้านของพวกนี้ขึ้นเป็นตำบลชื่อ ต.กำแพงเพชร และตั้งกิ่งอำเภอขึ้นที่ ต.ควรรู ให้ชื่อว่า กิ่ง อ.กำแพงเพชร ขึ้น อ.เหนือ ปัจจุบันคือ อ.หาดใหญ่ ต่อมาราวปี พ.ศ.๒๔๖๐ ย้ายไปตั้งที่ บ.ปากบาง รัฐภูมิ ต.รัฐภูมิ เปลี่ยนชื่อเป็นกิ่ง อ.รัฐภูมิ ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๖ ยกขึ้นเป็นอำเภอ ย้ายไปตั้งที่ ต.กำแพงเพชร เปลี่ยนชื่อเป็น อ.กำแพงเพชร ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.รัตภูมิ           ๒๔/๑๕๗๗๐
                ๔๖๗๔. รัทเทอร์ ฟอร์เดียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๑๐๔ เป็นธาตุกัมตรังสี ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นไม่มีปรากฎในธรรมชาติ พบครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ โดยนักวิทยาศาสตร์ ชาวรัสเซีย           ๒๔/๑๕๗๗๑
                ๔๖๗๕. รัษฎา  กิ่งอำเภอ ขึ้น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ป่า เทือกเขาบรรทัดทางทิศตะวันออกแล้วราบมาทางทิศตะวันตก จดคลองปาง มีป่าสงวนแห่งชาติสามแห่ง อุทยานแห่งชาติหนึ่งแห่ง
                    การได้ชื่อว่า รัษฎา ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อดีตสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต คือ พระยารัษฎานุประดิษฐ ฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง)  ผู้เคยเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง กิ่ง อ.รัษฎา ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔           ๒๔/๑๕๗๗๔
                ๔๖๗๖. รัษฎากร  มีความหมายว่า "รายได้ของแผ่นดิน; ภาษีอากรประเภทต่าง ๆ ที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร" คำนี้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๖
                    ในปัจจุบัน คำว่า รัษฎากร ใช้เป็นชื่อเรียกกฎหมาย ที่เรียกเก็บภาษีอากรภายในว่า "ประมวลรัษฎากร"
                    ภาษีรัษฎากร ไม่รวมถึง ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน และภาษีอื่น ๆ           ๒๔/๑๕๗๗๕
                ๔๖๗๗. รา  เป็นกลุ่มพืชชั้นต่ำที่ไม่มีลำต้น ใบ ราก และคลอโรฟิลล์ รามีความเป็นอยู่แบบปรสิต หรือแบบอาศัยอยู่บนอินทรีย์วัตถุ ที่เน่าเปื่อยผุพังอยู่ในดิน ราที่สำรวจพบแล้ว มีประมาณ ๔๐,๐๐๐ ชนิด ซึ่งคาดว่าเป็นเพียง หนึ่งในสามของราทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก ราอาศัยอยู่ทั่วไปในน้ำ ดิน และอากาศ
                    ประโยชน์ของรา มีมาก เช่น ใช้ในอุตสาหกรรม ผลิตยาปฎิชีวนะ กรดอินทรีย์ แอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ขนมปัง เต้าเจี้ยว เนย ราบางชนิดเป็นอาหารของคนและสัตว์ ที่รู้จักดีคือ เห็ดที่ใช้เป็นอาหาร ราที่ให้โทษ ได้แก่ ราที่ทำให้เกิดโรคพืช โรคมนุษย์ และโรคสัตว์ ทำให้อาหารบูดเน่า ทำลายเสื้อผ้า เครื่องหนัง และเครื่องเรือน รวมทั้งเห็ดมีพิษที่บริโภคไม่ได้ด้วย
                    รา มีลักษณะทั่วไปเป็นเส้นใยขนาดเล็ก ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ราในลำดับต่ำ ๆ อาจเป็นเซลล์เดียว และไม่เป็นเส้นใย เส้นใยของรา ในลำดับชั้นสูง ๆ มีผนังขวางกั้นแบ่งเส้นใยออกเป็นเซลล์หลายเซลล์ เส้นใยเจริญแตกกิ่งก้านสาขา ออกไปเป็นกลุ่มใหญ่ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว จะขยายพันธุ์โดยมีการสืบพันธุ์เป็นสองแบบคือ ไม่อาศัยเพศ และอาศัยเพศ           ๒๔/๑๕๗๗๙
                ๔๖๗๘.รากษส  (ดู ผีเสื้อน้ำ - ลำดับที่ ๓๖๙๐)           ๒๔/๑๕๗๘๖
                ๔๖๗๙. รากสาด - ไข้  ในวงการแพทย์ปัจจุบันจัดว่าไข้รากสาดมีสามชนิดคือ  ไข้รากสาดใหญ่ ไข้รากสาดน้อย และไข้รากสาดเทียม
                       ไข้รากสาดใหญ่ หรือไข้ไทฟัส  เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากจุลินทรีย์ ซึ่งมีลักษณะเวชกรรมสี่แบบ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ และพาหะนำโรค ได้แก่
                            ๑. ไข้รากสาดใหญ่ ซึ่งเห็บเป็นพาหะ   พบได้ทางซีกโลกตะวันตก เท่านั้น เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางแผลเห็บกัด หรือรอยถลอกที่เปื้อนขี้เห็บ หรือน้ำตัวเห็บที่ถูกบดขยี้ ประมาณเจ็ดวันต่อมาเริ่มมีอาการต่าง ๆ อย่างฉับพลัน รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการทางระบบหายใจ ทางหัวใจ และระบบไหลเวียน เลือด ตับ ม้าม ไต และสมอง
                            ๒. ไข้รากสาดใหญ่ ซึ่งโลนเป็นพาหะ  หรือไข้รากสาดชนิดระบาด พบในประเทศทางยุโรปตะวันออก แอฟริกากลาง เอธิโอเปีย แอฟริกาใต้ อัฟกานิสถาน อินเดียตอนเหนือ เม็กซิโก อเมริกากลาง เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งถ่ายปนออกมากับอุจจาระของตัวโลน และเข้าทางแผลผิวหนัง หรือโดยการสูดหายใจเข้า มนุษย์เป็นแหล่งรวมโรคได้เป็นเดือน เป็นปี ระยฟักโรคประมาณเจ็ดวัน
                            ๓. ไข้รากสาดใหญ่ ซึ่งไรเป็นพาหะ  หรือไข้รากสาดใหญ่ จากป่าละเมาะ หรือโรคไรร้าย พบทั่วไปทางซีกโลกตะวันออก เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งตัวไรอ่อนที่อยู่ตามทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ เป็นพาหะสำคัญ  กระโดดเกาะดูดน้ำเหลืองและสารน้ำ เนื้อเยื่อจากคน หรือสัตว์ พร้อมกันนั้นจะรับเอาเชื้อจากคน หรือสัตว์ หรือปล่อยเชื้อจากน้ำลายให้หนู เป็นแหล่งรวมโรคที่สำคัญ มนุษย์เป็นตัวถูกเบียน โดยบังเอิญ
                                ประมาณ ๙ - ๑๒ วัน  หลังถูกไรกัด จะมีตุ่มเล็ก ๆ ตรงรอยกัด มักพบที่รักแร้ ขาหนีบ และรอบเอว ต่อมาแตกเป็นแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ เรียกว่า แผลไรกัด และมีต่อมน้ำเหลืองในบริเวณนั้น โตขึ้นกดเจ็บ รายที่เป็นมากมักมีต่อมน้ำลายข้างหูอักเสบโตขึ้น ถ่ายอุจจาระดำ หมดสติ เพ้อคลั่ง เสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว และการหายใจล้มเหลว
                            ๔. ไข้รากสาดใหญ่ ซึ่งตัวหมัดเป็นพาหะ  หรือไข้รากสาดใหญ่จากหนู หรือไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่น พบทั่วโลก เกิดจากการติดเชื้อโดยตัวหมัด ไปดูดเลือดหนูที่ติดเชื้อ แล้วถ่ายเชื้อมากับขี้หนู ซึ่งอาจปลิวเข้าตา หรือสูดหายใจเข้าไป
                                ระยะฟักโรค ประมาณสิบวัน อาจมีอาการนำ เริ่มด้วยปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดข้อ หนาวสั่น และไข้ขึ้นชั่วคราว ในวันที่ห้า เป็นตุ่มแบบสีแดงด้าน ในวันแรก ๆ มีจำนวนน้อยอยู่ในรักแร้ ด้านในของต้นแขน ข้างลำตัว ต่อมากระจายทั่วหน้าท้อง ไหล่ หน้าอก ต้นแขน และขาอ่อน
                       ไข้รากสาดน้อย  มักเรียกสั้น ๆ ว่า ไข้รากสาด ชื่อ ไข้ไทฟอยด์ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙ พบมากในประเทศด้อยพัฒนา คน สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์แทะ และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นแหล่งรวมโรค การติดเชื้อเกิดจากดื่มน้ำที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อจากอุจจาระคน และสัตว์ที่เป็นพาหะ
                            ระยะฟักโรค ๑๐ - ๑๔ วัน อาการจะเริ่มช้า ๆ มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย เริ่มสัปดาห์ที่สี่ ไข้อาจลงเอง แม้ไม่ได้ยารักษา
                            การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยกินวัคซีน ได้ผลป้องกันร้อยละ ๖๗
                       ไข้รากสาดเทียม หรือไข้พาราไทฟอยด์  มักจัดรวมไว้ในกลุ่มไข้เอนเทอริก มักพบในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาการของโรคอ่อนกว่า และระยะโรคสั้นกว่าไข้รากสาดน้อย การรักษาเหมือนไข้รากสาดน้อย           ๒๔/๑๕๗๘๖
               ๔๖๘๐.  ราชคฤห์  เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมคธ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในแคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย มีอาณาเขตทิศเหนือ ตกแม่น้ำคงคา ทิศตะวันออก ตกแม่น้ำจัมปา ทิศใต้ตกภูเขาวินธัย ทิศตะวันตก ตกแม่น้ำโสนะ ในสมัยพุทธกาลอาณาจักรมคธได้รวบรวมอาณาจักรอังคะไว้ในอำนาจด้วย ประกอบด้วยหมู่บ้าน ประมาณแปดหมื่นหมู่บ้าน
                    ราชคฤห์ มีอยู่สองเมืองคือ เมืองราชคฤห์เก่า ซึ่งเป็นเมืองโบราณมากมีภูเขาล้อมรอบเป็นปราการ ได้แก่ ภูเขาปัณฑวะ คิชกูฎ เวภาระ อิสิคิลิ และเวปุลละ จึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า คิริพพชะ แปลว่า คอกภูเขา หรืออีกชื่อว่า เบญจคีรีนคร เป็นเมืองที่มหาโควินทร เป็นสถาปนิกออกแบบสร้าง เมืองราชคฤห์ใหม่อยู่ที่เชิงเขาใต้เมืองเก่า ลงมาเล็กน้อยสร้างในรัชสมัยพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาพระเจ้าสิสุนาคา ได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองไพศาลี และต่อมาราชโอรสได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองปาฎลีบุตร
                    ราชคฤห์ เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากที่สุดเมืองหนึ่ง ในสมัยพุทธกาลมีถนนจากเมืองตักศิลา (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน)  ตัดผ่านเชตวันมหาวิหาร ณ เมืองสาวัตถี ถึงเมืองราชคฤห์ ยาว ๓,๐๗๒ กม. ระยะทางจากเมืองสาวัตถีถึงเมืองราชคฤห์ ยาว ๗๒ กม. ระยะทางจากเมืองกบิลพัสดุ์ ถึงเมืองราชคฤห์ ยาว ๙๖ กม. จากเมืองราชคฤห์ถึงเมืองกุสินารา ยาว ๔๐ กม.
                    พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายป่าไผ่แด่พระพุทธเจ้า พร้อมพระภิกษุสงฆ์เรียกว่า เวฬุวันมหาวิหาร เป็นพุทธวิหารแห่งแรก ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ประทับที่เมืองราชคฤห์ ในพรรษาที่ ๒,๓,๔ ,๑๗ และ ๒๐ ในพรรษาที่ ๔๔ พระพุทธองค์ได้เสด็จผ่านมายังเมืองราชคฤห์ ขณะประทับที่เมืองราชคฤห์ ได้ตรัสหลักอปริหานิยธรรม
                    สถานที่สำคัญที่อยู่รายรอบเมืองราชคฤห์มีหลายแห่งด้วยกัน เช่น สีตวัน ชีวกัมพวัน ปิบผลิคูหา อุทุมพริการาม โมรนิวาปะ ตโปทาราม อินทสาลคูหา สัตปัณณคูหา ที่ทำปฐมสังคายนา ลัฎฐิวัน มัททกุจฉิ สุปติฎฐเจดีย์ ปาสาณกเจดีย์ สัปปโสณฑิกปัพภาระ และสระสุมาคธา           ๒๔/๑๕๗๙๑
                ๔๖๘๑.  ราชทัณฑ์  หมายถึง โทษตามพระราชอาญา อันเป็นพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือหมายถึง โทษที่กำหนดไว้โดยกฎหมายอาญาสารบัญญัติ อันได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญา ซึ่งได้ออกบังคับใช้ตามกระบวนการออกกฎหมาย ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                    การปฎิบัติงานราชทัณฑ์ต้องเป็นไปตามหลักการลงโทษที่ได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๑๘ กำหนดว่า โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิด ประกอบด้วยประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน
                    วิวัฒนาการของการราชทัณฑ์ในประเทศไทย แบ่งได้สามยุคคือ
                            ๑.  ยุคแรก  ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ กิจการที่เกี่ยวกับราชทัณฑ์เรียกว่า การเรือนจำ แบ่งเป็นการเรือนจำในกรุงเทพ ฯ และการเรือนจำในหัวเมืองชั้นนอก เรือนจำในกรุงเทพ ฯ มีชื่อเรียกเป็นสองอย่างคือ คุก และ ตะราง
                               คุก  เป็นที่คุมขังผู้ต้องขัง มีกำหนดโทษตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป สังกัดกระทรวงนครบาล ส่วนตะราง ใช้เป็นที่คุมขังผู้ต้องขัง ที่มีโทษตั้งแต่หกเดือนลงมา กับนักโทษที่มิใช่โจรผู้ร้าย ตะรางมีหลายแห่งซึ่งสังกัดอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรม ที่บังคับบัญชากิจการนั้น ๆ เช่น ตะรางกลาโหม ตะรางมหาดไทย
                                การเรือนจำหัวเมืองชั้นนอก เดิมหน้าที่การไต่สวนโจรผู้ร้ายและการตุลาการ ในหัวเมืองชั้นนอกรวมอยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบ ของผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งมีหน้าที่คุมขังผู้ต้องขังเรียกว่า ตะรางประจำเมือง เมืองละแห่ง
                            ๒.  ยุคที่สอง  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ คอมมิตี พระนครบาลให้ยกเลิกธรรมเนียมสองข้อคือ
                                ๑. ธรรมเนียมเจ้าพนักงานได้รับผลประโยชน์จากนักโทษ ให้ยกเลิกค่าธรรมเนียม และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้แรงนักโทษ และให้เจ้าพนักงานได้รับเงินเดือนแทน ส่วนผลประโยชน์จากการใช้แรงนักโทษ ให้ตกเป็นของหลวง
                                ๒. ธรรมเนียมพันธนาการนักโทษสามประการคือ ธรรมเนียมค่ารับนักโทษ เก็บเมื่อเข้ามาต้องโทษ ธรรมเนียมเมื่อพ้นโทษต้องเสียเงินให้เจ้าพนักงาน และธรรมเนียมเมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้ปล่อยตัว ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ให้ยกเลิกเสีย ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจำนักโทษ และถอดเครื่องพันธนาการได้ตามร่างข้อบังคับใหม่
                                ส่วนการเรือนจำหัวเมือง ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ให้รวมการปกครองต่าง ๆ ทั้งหัวเมืองฝ่ายใต้ และหัวเมืองฝ่ายเหนือ มาสังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่แห่งเดียว การเรือนจำหัวเมืองทั้งหมดจึงได้รวมมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่นั้นมา เว้นแต่เรือนจำเมืองปทุมธานี นนทบุรี นครเขื่อนขันธ์ และสมุทรปราการ ยังคงขึ้นกระทรวงนครบาล
                                ในปี พ.ศ.๒๔๔  มีพระบรมราชโองการ ฯ ให้การไต่สวนคดีมีโทษหลวง และการทำให้ผู้ที่ล่วงพระราชอาญา ที่มีความผิดตามคำพิพากษานั้น มารวมอยู่ในหน้าที่ตุลการและให้มารวมอยู่ในหน้าที่ตุลาการ และให้อยู่ในบังคับบัญชาของ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม กระทรวงนครบาลจึงได้มอบ กองมหันตโทษ และกองลหุโทษ ให้กระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐
                                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ได้มีการตรา พ.ร.บ.ลักษณะเรือนจำไว้รวม ๑๕ มาตรา
                                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๔  ได้ย้ายกองมหันตโทษและกองลหุโทษ ไปสังกัดกระทรวงนครบาล แต่ยังคงให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจไปตรวจเรือนจำได้ ตามระเบียบที่ใช้อยู่ ส่วนเรือนจำในหัวเมืองยังคงสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตามเดิม
                                ในปี พ.ศ.๒๔๕๘  มีการตั้งกรมราชทัณฑ์ขึ้น ให้รวบการคุมกองมหันตโทษ และกองลหุโทษ กับเรือนจำทั้งหลายขึ้นในกรมนี้ กรมราชทัณฑ์ขึ้นในกระทรวงนครบาล
                                ๓.  ยุคที่สาม  เริ่มแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ถึงปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้ยกฐานะแผนกราชทัณฑ์จากกรมพลำภัง ขึ้นเป็นกรมราชทัณฑ์ ในกระทรวงมหาดไทยตามเดิมอีกครั้งหนึ่ง           ๒๔/๑๕๗๙๘
                ๔๖๘๒. ราชทูต  (ดูที่ ทูต - ลำดับที่ ๒๕๙๘)           ๒๔/๑๕๘๐๖
                ๔๖๘๓. ราชเทวี  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมอยู่ในท้องที่เขตพญาไท ยกฐานะเป็นเขต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒           ๒๔/๑๕๘๐๖
                ๔๖๘๔. ราชธรรม  (ดูที่ ทศพิธราชธรรม - ลำดับที่ ๒๒๔๗)           ๒๔/๑๕๘๐๗
                ๔๖๘๕. ราชนิกุล  คือ เชื้อสายของพระราชวงศ์ ได้แก่ ชายหรือหญิง ที่มีกำเนิดจากบิดาเป็นราชสกุลชั้นหม่อมหลวง แห่งพระราชวงศ์ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ขนานนามสกุลได้กำหนดไว้ว่า พระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ถึงหม่อมหลวง เมื่องลงพระนาม ลงนาม ต่อด้วยชื่อราชสกุลที่โปรดเกล้า ฯ พระราชทานไว้ไม่ต้องเติม ณ อยุธยา ดังนั้น บุตรธิดาของหม่อมหลวง มีฐานะใช้คำนำหน้านามของตนว่า นาย นางสาว ต่อด้วยนามที่เป็นราชสกุล ที่ได้รับพระราชทานและให้มี ณ อยุธยา ไว้ท้าย  ส่วนหญิงสาวบุตรของหม่อมหลวงนั้น เมื่อสมรสถูกต้องตามกฎหมายที่มีนามสกุลของคู่สมรส ไม่อยู่ในราชสกุลวงศ์ จะใช้ ณ อยุธยา ต่อท้ายไม่ได้ แต่ถ้าสตรีทั่วไปเมื่อสมรสกับพระราชวงศ์ หรือผู้สืบสายแห่งราชสกุลวงศ์ ให้ใช้ชื่อราชสกุล ต่อท้ายนามสกุลของสามีด้วย ณ อยุธยา หากหย่าและถอนทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้ ณ อยุธยา ไม่ได้ เว้นแต่สตรีผู้นั้น ซึ่งแต่เดิมมีเชื้อสายแห่งราชสกุล จึงจะกลับไปใช้ ณ อยุธยา ได้
                    ราชสกุล มีระดับดังนี้
                        ราชสกุลชั้นหนึ่ง  ที่ใช้ ณ อยุธยา ต่อท้าย (พระราชโอรส ในรัชกาลที่หนึ่ง)  อินทรางกูร ณ อยุธยา ทัพพะกุล ฯ สุริยกุล ฯ ฉัตรกุล ฯ พึ่งบุญ ฯ ดารากร ฯ  ดวงจักร ฯ สุทัศน์ ฯ
                        ราชนิกุลชั้นสอง  ที่ใช้ ณ อยุธยา ต่อท้าย  (พระราชโอรส ในรัชกาลที่สอง)  อารภณกุล ณ อยุธยา มาลากุล ฯ กล้วยไม้ ฯ กุสุมา ฯ เดชาติวงศ์  ฯ  พนมวัน ฯ กุญชร ฯ เรณุนันท์ ฯ นิยมิศร ฯ ทินกร ฯ ไพฑูรย์ ฯ มหากุล ฯ วัชรีวงศ์ ฯ ชุมแสง ฯ สนิทวงศ์ ฯ มรกฎ ฯ  นิลรัตน์ ฯ อรุณวงศ์ ฯ  กปิตถา ฯ  ปราโมช
                       ราชนิกุลชั้นสาม  ที่ใช้  ณ อยุธยา ต่อท้าย (พระราชโอรสในรัชกาลที่สาม)  ศิริวงศ์ ณ อยุธยา โกเมน ฯ คเนจร  ฯ งอนรถ ฯ ลดาวัลย์ ฯ ชุมสาย ฯ ปิยากร ฯ  อุไรพงศ์ ฯ อรณพ ฯ ลำยอง ฯ สุบรรณ ฯ สิงหรา ฯ ชมพูนุท ฯ
                       ราชนิกุลชั้นสี่  ที่ใช้ ณ อยุธยา ต่อท้าย (พระราชโอรสในรัชกาลที่สี่)  จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ภานุพันธุ์ ฯ จิตรพงศ์ ฯ นพวงศ์ ฯ สุประดิษฐ์ ฯ กฤดากร ฯ คัคนางศ์ ฯ สุขสวัสดิ์ ฯ ทวีวงศ์ ฯ ทองใหญ่ ฯ เกษมสันต์ ฯ กมลาสน์ ฯ เกษมศรี ฯ ศรีธวัช ฯ  ทองแถม ฯ ชุมพล ฯ เทวกุล ฯ สวัสดิกุล ฯ  จันทรทัต ฯ ชยางกูร ฯ วรวรรณ ฯ  ดิสสกุล ฯ โสภางค์ ฯ โสณกุล ฯ วัฒนวงศ์ ฯ สวัสดิวัตน์ ฯ ไชยันต์ ฯ
                       ราชนิกุลชั้นที่ห้า  ที่ใช้ ณ อยุธยา ต่อท้าย (พระราชโอรสในรัชกาลที่ห้า)  จักรพงศ์ ณ อยุธยา จุฑาธุช ฯ มหิดล ฯ บริพัตร ฯ ยุคล ฯ กิติยากร ฯ รพีพัฒน์ ฯ  ประวิตร ฯ จิรประวัติ ฯ อาภากร ฯ ฉัตรชัย ฯ เพ็ญพัฒน์ วุฒิชัย ฯ สุริยง ฯ รังสิตา ฯ
                    ราชนิกุล ณ อยุธยา อันสืบเนื่องมาจากที่ทรงเป็นพระราชวงศ์ กรมพระราชวังบวร ดังนี้
                       ราชนิกุลชั้นหนึ่ง  ที่ใช้ ณ อยุธยา จากกรมพระราชวังบวร ฯ  รัชกาลที่หนึ่ง อสุนี ณ อยุธยา สังขทัต ฯ ปัทมสิงห์ ฯ นีรสิงห์ ฯ
                       ราชนิกุลชั้นที่สอง  ที่ใช้ ณ อยุธยา จากกรมพระราชวังบวร ฯ รัชกาลที่สอง  บรรยงกะเสนา  ณ อยุธยา  อิศรเสนา ฯ ภุมรินทร ฯ พยัคฆเสนา ฯ รังสิเสนา ฯ สหาวุธ ฯ ยุคันธร ฯ สีสังข์ ฯ รัชนิกร ฯ รองทรง ฯ
                       ราชนิกุลชั้นที่สาม  ที่ใช้ ณ อยุธยา จากกรมพระราชวังบวร ฯ รัชกาลที่สาม  อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา กำภู ฯ เกสรา ฯ อนุชาศักดิ์ ฯ นันทิศักดิ์ ฯ
                       ราชนิกุลชั้นที่สี่  ที่ใช้ ณ อยุธยา จากกรมพระราชวังบวร ฯ รัชกาลที่สี่ สุธารส ณ อยุธยา วรรัตน ฯ ภาณุมาศ ฯ หัสดินทร ฯ นวรัตน์ ฯ ยุคนธรานนท์ ฯ โตษะณีย์ ฯ นันทวัน ฯ พรหมเมศ ฯ จรูญโรจน์ ฯ สายสนั่น ฯ
                       ราชนิกุลชั้นที่ห้า  ที่ใช้ ณ อยุธยา จากกรมพระราชวังบวร ฯ รัชกาลที่ห้า วิไลยวงศ์ ณ อยุธยา กาญจนะวิชัย ฯ  กัลยาณะวงศ์ ฯ สุทัศนีย์ ฯ วรวุฒิ ฯ รุจอวิชัย ฯ วิบูลยพรรณ ฯ รัชนี ฯ วิสุทธิ ฯ
                        ราชนิกุล อันเนื่องด้วยพระราชวงศ์จากกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (กรมพระราชวังหลัง ในรัชกาลที่หนึ่ง)
                        เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา นรินทรางกูร ฯ มนตรีกุล ฯ อิศรางกูร ฯ ปาลกะวงศ์ ฯ เสนีวงศ์ ฯ
                    ราชนิกุลอันเนื่องด้วยปฐมวงศ์ ใช้ ณ อยุธยา
                    เจษฎางกูร ณ อยุธยา  (เจ้าฟ้า กรมหลวงจักรเจษฎา)
                    นรินทรกุล ณ อยุธยา  (กรมหลวงนรินทรเทวี)           ๒๔/๑๕๘๐๗
                ๔๖๘๖. ราชนีติ  คัมภีร์ราชนีติ นับว่าเป็นปรัชญาการปครองที่มีความสำคัญต่อการศึกษา ทางด้านการเมืองและการปกครองมาก ราชนีติ มีทั้งเป็นพากย์ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต
                    ราชนีติ มีผู้รจนาร่วมกันอยู่สองคืนคือ สันนิษฐานว่าได้รจนาขึ้นภายหลังพุทธกาล เพราะปรากฎว่ามีหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาปะปนอยู่หลายแห่ง บางแห่งก็ระบุว่า เป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา
                        หลักคำสอนในราชนีติปกรณ์ นี้พอจะแยกออกได้เป็นสี่ประเภท ด้วยกันคือ
                            ๑. คำสอนทั่ว ๆ ไป
                            ๒. คุณสมบัติของพระราชาธิบดี หรือนักปกครอง
                            ๓. การพิจารณาแต่งตัวบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ
                            ๔. กลวิธีในการที่จะเอาชนะข้าศึก
                                ๑. คำสอนทั่ว ๆ ไป  ไม่เจาะจงว่าจะต้องเป็นของบุคคลใด หรือเหล่าใดโดยเฉพาะ เช่น ข้อความในคาถาที่สามมีความว่า "พึงทราบว่าใครจะมีความรู้ ก็ด้วยการเจรจา พึงทราบว่าใครจะมีศีลธรรมจรรยา ก็ด้วยการอยู่ร่วม พึงทราบว่าใคร จะมีมือสะอาด ก็ด้วยการดำเนินในราชกิจทุกอย่าง พึงทราบว่าใคร จะเป็นลูกผู้ชายจริง ก็ในเวลามีอันตรายเกิดขึ้น"
                                ๒. ส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของพระราชาธิบดี  ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือคุณธรรมของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น พระราชาธิบดี หรือ นักปกครอง ทั่ว ๆ ไปนั้น แต่ละคาถาล้วนให้หลักปรัชญาและคติธรรม ที่ควรแก่การที่ผู้ปกครองบ้านเมือง จะนำไปประพฤติปฎิบัติ หรือเสริมสร้างให้มีอยู่ในตน เช่น คาถาที่ ๒๘ มีความว่า "พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงปรารถนารักษาคุณธรรม ทรงทำพระองค์ตามคุณธรรมก่อน แค่นั้นจึงทรงวิจารณ์ถึงส่วนที่เหลือ
                                ในคาถาที่ ๔๘ - ๕๓  ได้สอนให้พระราชาธิบดี หรือ นักปกครอง สำเหนียกเยี่ยง ราชสีห์ นกยาง ไก่ กา สุนัข และ ลา นอกจากนั้น ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ในคาถาที่ ๗๔ - ๗๕ มีความว่า " พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใด ไม่มีนักปราชญ์เป็นที่ปรึกษา ไม่ทรงเชื่อคำของปุโรหิต ข้าเฝ้าผู้ภักดี และพระสหายร่วมพระทัย พระองค์ก็เป็นเหมือนคนตาบอด ที่ไม่มีคนจูง ไม่นานก็จะถึงความพินาศ
                                ๓. ส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งตัวบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ  พระราชาธิบดี หรือผู้ปกครองประเทศจะต้องรู้จัก แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามความรู้ความสามารถของเขา ดังในคาถาที่ ๕ - ๒๒ เช่น "ข้าเฝ้า ผู้มีคุณสมบัติคือ มีตระกูล และศีลาจารวัตร มีสัตย์ มีธรรม มีปัญญาดี มีศีลดี มีหลักดี เป็นคนขยัน ควรตั้งข้าเฝ้าเช่นนี้ไว้ในตำแหน่งผู้พิพากษา"  และ "ข้าเฝ้า ที่รู้ตำราพิชัยสงคราม รู้จักผ่อนปรนพาหนะมิให้ลำบาก มีความแกล้วกล้า อาจหาญ  ควรตั้งให้เป็นแม่ทัพ"
                                ๔. ส่วนที่เกี่ยวกับการที่จะเอาชนะข้าศึกศัตรู  ได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับการบำรุงมิตร และทำลายศัตรูไว้ หลายสิบคาถา เช่น ในคาถาที่ ๙๗ - ๙๘ ได้กล่าวถึงการบำรุงมิตร มีความว่า " ความเป็นมิตรทำได้ง่าย แต่การรักษาความเป็นมิตรนั้น ทำได้ยาก เหตุนั้นใครมีลักษณะมิตรแท้ พระเจ้าอยู่หัวผู้ฉลาดเฉียบแหลมย่อมทรงบำรุงมิตรนั้นไว้ "
                                ในส่วนที่เกี่ยวกับศัตรูได้มีคำแนะนำไว้มากมาย โดยเฉพาะตั้งแต่คาถาที่ ๙๙ - ๑๑๗ มีความบางตอนดังนี้
                                ๙๙. พึงแบกศัตรูไว้บนบ่า ตราบเท่าที่ยังไม่ได้โอกาส แต่พอได้โอกาส ก็ต้องรีบทำลายเหมือนทุบหม้อดินที่หิน ฉะนั้น
                                ๑๐๘. กลางคืนกาแพ้นกเค้า กลางวันนกเค้าแพ้กา จระเข้อยู่บนบก ก็ตกอยู่ในอำนาจของราชสีห์ ราชสีห์ตกน้ำ ก็ตกอยู่ในอำนาจของจระเข้


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch