หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/137
    ๔๖๕๖. ระวังไพร - นก  เป็นนกกินแมลง มีขนาดวัดจากปลายปากถึงปลายหาง ๒๓ - ๒๘ ซม. ปากโค้งยาว หางยาว ในประเทศไทยมีนกระวังไพรอยู่ห้าชนิดคือ นำระวังไพรปากยาว นกระวังไพรแก้มสีน้ำตาล นกระวังไพรปากเหลือง นกระวังไพรปากแดงยาว และนกระวังไพรปากแดงสั้น
                    นกระวังไพรทุกชนิด เป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทยทุกชนิดจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ไม่อนุญาให้มีไว้ในครอบครอง         ๒๔/๑๕๖๘๔
                ๔๖๕๗. ระหัด  มีคำนายว่า เครื่องวัดน้ำอย่างหนึ่งเป็นรางใช้ถีบด้วยเท้าหรือฉุดด้วยเครื่องจักรเป็นต้น
                    ระหัดมีใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนมาเป็นระยะเวลานานกว่า ๑,๘๐๐ ปี มีประดิษฐ์ขึ้นใช้ในสมัยราชวงศ์ถึง (พ.ศ.๖๑๘ - ๑๒๗๙) เรียกว่า มังกรวิดน้ำ
                    ระหัดที่ใช้ในสมัยโบราณมีสี่แบบคือ ระหัดมือ ระหัดเท้า ระหัดท่อและระหัดเกลียว         ๒๔/๑๕๖๘๘
                ๔๖๕๘. รัก - ต้น  เป็นไม้พุ่มขนาดค่อนข้างใหญ่ ทรงพุ่มกลมกว้าง ลำต้นอวบใหญ่แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณใกล้พื้นดิน อาจสูงถึง ๓ เมตร มีน้ำยางขาวขุ่น เมื่อโดนผิวหนังจะเกิดอาการแพ้ได้ง่าย ใบเดี่ยวมีขนาดกลางออกเป็นคู่ตรงข้าม รูปไข่ กลีบขอบใบหยักเล็กน้อย ช่อดอกเกิดบริเวณข้อตรงตำแหน่งที่อยู่ระหว่างก้านใบทั้งสอง หรือเกิดที่ปลายกิ่ง ช่อดอกแบบผสมเชิงซ้อนของช่อซีร่ม หรือช่อกระจก มีสองสีคือ ม่วงและขาว ฝักรูปร่างเรียว หัวท้ายแหลม โค้งเล็กน้อย เมล็ดรูปร่างแบนยาว มีขนปุ๋ยยาวสีขาวเส้นใยเป็นมันเลือมคล้ายไหมมีคุณภาพดีมาก สามารถนำไปยัดหมอนหรือเบาะสำหรับเด็ก
                    รักเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งเปลือกใช้ขับน้ำเหลืองเสีย ทำให้อาเจียน ยางจากต้นเป็นยาถ่ายอย่างแรง แก้ปวดฟัน ปวดหู ขับพยาธิ ทารักษากลากเกลื้อน ยาทำแท้ง ดอกใช้เป็นยาเจริญอาหาร แก้ไอ แก้หืด          ๒๔/๑๕๖๙๕
                ๔๖๕๙. รักบี้ฟุตบอล  เป็นกีฬาที่มีการเล่นคล้ายกับกีฬาฟุตบอลเกิดขึ้นโดยบังเอิญ จากการแข่งขันกีฬาฟุตบอลภายในของโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองรักบี้ ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๖
                    กีฬารักบี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วถึงปี พ.ศ.๒๓๙๓ มีการกำหนดกติกาการเล่นฉบับแรกในอังกฤษ
                    ในประเทศไทยได้มีการเล่นกันบ้างที่ราชกรีฑาสโมสร เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๗
                    รักบี้มีผู้เล่นฝ่ายละ ๑๕ คน เกมการเล่นใช้เวลาไม่เกิน ๘๐ นาที แบ่งเป็นสองครึ่งระหว่างการเล่น แต่ละฝ่ายสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ไม่เกินทีมละสามคม         ๒๔/๑๕๖๙๗
                ๔๖๖๐. รักเร่ - ต้น  เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง ๒ เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขากลวง ใบเดี่ยว หรือใบประกอบแบบหนึ่ง หรือสองชั้น เรียงตรงข้ามมีใบย่อย ๓ - ๗ ใบ รูปขอบขนาน รูปไข่หรือรูปหอก ขอบหยักซี่ฟัน ช่อดอกแบบช่อกระจกแน่น แต่ละดอกเรียงตัวกันเป็นรัศมีมีจำนวนน้อย ออกด้านข้าง และเรียงกันเป็นช่อเชิงหลั่นอยู่บนก้านช่อที่ยาว ดอกวงนอกรูปลิ้นมีหลายสี เช่น แดง ขาว เหลือง ส้ม ม่วง หรือม่วงแดง
                    การขยายพันธุ์มีหลายวิธีคือ ใช้เมล็ดใช้รากที่คล้ายหัวใช้ปักชำใบกิ่งหรือยอด         ๒๔/๑๕๗๐๒
                ๔๖๖๑. รัง - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง ๑๕ - ๒๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างโปร่ง ลำต้นเปลาตรง มักตกชั้นสีเหลืองขุ่น ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ขอบใบเรียบ ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง และบริเวณเหนือรอยแผลเป็นของใบ กลีบดอกรูปไข่แกมรูปหอกของกลีบเรียงเกยกันเวียนคล้ายกังหัน
                    รังมีการกระจายพันธุ์มากในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณแล้ว         ๒๔/๑๕๗๐๓
                ๔๖๖๒. รังไข่  เป็นอวัยวะ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตไข่ รังไข่พบในสัตว์หลายเซลล์ไม่พบในสัตว์เซลล์เดียว ในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม รังไข่มีสองข้างเป็นอวัยวะเพศปฐมภูมิ เพราะผลิตฮอร์โมนเพศเป็นหน้าที่หลัก และผลิตไข่เป็นหน้าที่รอง ถ้ารังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศไม่ได้ไข่ที่มีในรังไข่จะไม่พัฒนาให้ผสมกับตัวอสุจิของเพศผู้ได้ นอกจากนั้นยังกระตุ้นการพัฒนาและการเจริญเติบโตของอวัยวะเพศทุติยภูมิ เช่น เต้านม มดลูก อีกด้วย
                    ในเอ็มบริโอของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม รังไข่เจริญขึ้นจากสองแหล่ง คือ ส่วนที่เป็นรังไข่ รวมทั้งเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นเซลล์สร้างฮอร์โมนมาจากกลุ่มเซลล์ ประเภทเดียวกับเซลล์เจริญขึ้นเป็นเนื้อไต ส่วนเซลล์ที่จะเปลี่ยนแปลงมาเป็นไข่จะเคลื่อนที่มาจากลุ่มเซลล์ของถุงหุ้มไข่แดง แล้วเซลล์จากสองแหล่งดังกล่าว จะมาอยู่รวมกันเป็นก้อนอยู่ติดกับไตในระยะแรก เมื่อเอ็มบริโอพัฒนามากขึ้นตัวโตขึ้น รังไข่จึงถูกรังให้เข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกราน เซลล์ที่จะเจริญเป็นไข่ ก็แบ่งตัวแบบธรรมดาจนได้จำนวนมากมายและแบ่งตัวแบบลดโครโมโซม แต่ยังไม่สมบูรณ์แล้วเอ็นบริโอก็คลอดออกมา จำนวนไข่ในรังไข่ของสัตว์ที่คลอดออกมาใหม่ ๆ จึงมีมากที่สุดแล้วค่อยลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ในผู้หญิงก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ คือ อายุประมาณ ๑๕ ปี จำนวนไข่ในรังไข่จะมีถึง ๔๐๐,๐๐๐ ใบ และลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ตลอดอายุของผู้หญิงมีไข่จำนวนไม่เกิน ๕๐๐ ใบ จะเจริญเต็มที่หรือที่เรียกว่าไข่สุกพอที่จะผสมกับตัวอสุจิได้ ผู้หญิงมีประจำเดือนแต่ละครั้งไข่จะสุกหนึ่งใบ           ๒๔/๑๕๗๐๕
                ๔๖๖๓. รังสีกัมมันตภาพ  คือปรากฎการณ์ซึ่งนิวเคลียสของอะตอมของบางธาตุเกิดการแผ่รังสีออกมาได้ ธาตุซึ่งนิวเคลียสของอะตอมแผ่รังสีออกมาได้นั้น เรียกว่า ธาตุกัมมันตภาพรังสี และจะแผ่รังสีออกมาตลอดเวลา เช่น ธาตุยูเรเนียม เรเดียม
                    นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเป็นคนแรกที่สังเกตพบปรากฎการณ์กัมมันตภาพรังสี เมื่อปี พ.ศ.๑๔๓๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๑ นักวิทยาศาสตร์ชาวโปแลนด์ สองสามีภรรยาได้แยกเอาธาตุเรเดียมออกมาได้สำเร็จ และพบว่าธาตุเรเดียมให้ปรากฎการณ์กัมมันตภาพรังสีได้แรงกว่าธาตุยูเรเนียม ต่อมาได้มีการดำเนินการวิจัย เกี่ยวกับปรากฎการณ์กัมมันตภาพรังสีของธาตุ และได้ค้นพบเรื่องราวที่มีประโยชน์มากมายเกี่ยวกับปรากฎการณ์นี้ จนทำให้เกิดวิชาเคมีขึ้นอีกแขนงหนึ่งคือ เคมีนิวเคลียร์
                    อะตอมของธาตุทุกชนิดประกอบด้วยอนุภาคมูลฐานหลายชนิด เช่น โปรตรอน นิวตรอน อิเล็กตรอน ฯลฯ องค์ประกอบที่สำคัญของอะตอมได้แก่
                        ๑.  นิวเคลียส  ทำหน้าที่เสมือนเป็นแกนกลางของอะตอมและประกอบด้วยอนุภาคมูลฐานที่สำคัญสองชนิดคือ โปรตอนและนิวตรอน (ยกเว้นอะตอมของธาตุไฮโดรเจนธรรมดาที่นิวเคลียส์มีแต่โปรตอนเท่านั้นไม่มีนิวตรอน) นิวเคลียสแสดงอำนาจไฟฟ้าบวกเนื่องมาจากโปรตอน
                            โปรตอน  คืออนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าบวก จำนวนโปรตอนที่นิวเคลียสของอะตอมเป็นสิ่งที่แสดงให้ทราบว่า อะตอมนั้น ๆ เป็นอะตอมของธาตุใด ทั้งนี้เพราะว่าธาตุต่างกันมีจำนวนโปรตอนที่นิวเคลียสของอะตอมไม่เท่ากัน ธาตุเดียวกันต้องมีจำนวนโปรตรอนที่นิวเคลียสของอะตอมเท่ากันเสมอ เรียกจำนวนโปรตรอนที่นิวเคลียสของอะตอมว่า เลขเชิงอะตอม
                            นิวตรอน เป็นอนุภาคที่เป็นกลาง คือ ไม่มีประจุไฟฟ้า มีมวลซึ่งใกล้เคียงมวลของโปรตรอนที่สุด
                        ๒.  อิเล็กตรอน  เป็นอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าลบ บริเวณของประจุไฟฟ้าลบแต่ละอิเล็กตรอนมีอยู่นั้น เป็นปริมาณไฟฟ้าที่เท่ากับประจุไฟฟ้าบวกที่แต่ละโปรตรอนมีอยู่ อิเล็กตรอนที่มีอยู่ทั้งสิ้นจะเคลื่อนที่เป็นวงโคจรอยู่รอบ ๆ นิวเคลียสของอะตอมอยู่ตลอดเวลา โดยปรกติแล้วอะตอมของธาตุย่อมเป็นกลางเสมอ อิเล็กตรอนเป็นอนุภาคไฟฟ้าลบที่สามารถเคลื่อนที่หลุดออกจากวงจรได้ ฉะนั้นถ้าหากว่าอิเล็กตรอนเคล่นที่หลุดออกจากอะตอมใดที่เป็นกลางเข้าไปสู่อะตอมอื่นที่เป็นกลางแล้ว อะตอมซึ่งสูญเสียอิเล็กตรอนไปก็จะแสดงอำนาจไฟฟ้าเป็นประจุไฟฟ้าเป็นประจุบวกทันที ส่วนอะตอมที่ได้รับอิเล็กตรอนเพิ่มขึ้นมา ก็จะแสดงอำนาจไฟฟ้าเป็นประจุลบทันที เะราเรียดอะตอมที่แสดงอำนาจออกมาเป็นประจุไฟฟ้าบวก หรือลบว่าไอออนบวก และไอออนลบตามลำดับ
                        ธาตุกัมมันตภาพรังสีมีสมบัติพิเศษ คือ แผ่รังสีออกมาตลอดเวลา เมื่อแผ่รังสีออกมาแล้วก็จะแปรสภาพเป็นธาตุอื่น ซึ่งมีสมบัติทั้งทางกายภาพ และทางเคมีผิดไปจากเดิม เมื่อธาตุที่เกิดขึ้นใหม่ยังคงมีสมบัติเป็นธาตุกัมมันตรังสีอยู่อีก ก็จะแผ่รังสีต่อไปตัวเอง ก็จะแปรสภาพไปเป็นธาตุอื่นต่อไปอีกเรื่อยไปจนที่สุด เมื่อแปรสภาพไปเป็นธาตุที่เสถียรแล้วการแผ่รังสีก็เป็นอันสิ้นสุดลง เช่น ธาตุยูเนียม เมื่อแผ่รังสีออกมาแล้วก็แปรสภาพไปเป็นธาตุกัมมันตภาพรังสีอื่น ๆ ตามลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ตลอดเวลา บางขั้นตอนใช้เวลาเพียงส่วนหนึ่งของวินามี เป็นนาที เป็นวัน เป็นเดือน เป็นหลายล้านปี ผลที่สุดก็แปรสภาพเป็นธาตุตะกั่วที่เสถียร การแผ่รังสีก็สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิง
                        รังสีแผ่ออกมาจากธาตุกัมมันตภาพรังสีประกอบด้วยอนุภาคต่าง ๆ และพลังงานในรูปของคลื่น อนุภาคสำคัญที่มีปรากฎในรังสีแผ่ออกมาได้แก่ อนุภาคแอลฟา ซึ่งมีปรากฎอยู่ในรังสีแอลฟา อนุภาคบีตา ซึ่งมีปรากฎอยู่ในรังสีบีตาส่วนพลังงานที่อยู่ในรูปของคลื่นคือพลังงานของรังสีแกมมา
                           รังสีแอลฟา  ประกอบด้วย อนุภาคแอลฟา มีประจุไฟฟ้า +๒ ประกอบด้วยโปรตรอน ๒ อนุภาคและนิวตรอน ๒ อนุภาค มีอำนาจในการทะลุทะลวงต่ำ สามารถเจาะทะลุผ่านอากาศได้ไกลกลายซม. เจาะทะลุผ่านแผ่นอะลูมิเนียมที่หนา ๐.๐๑ มม. ได้เมื่อผ่านรังสีแอลฟาเข้าไปในสนามแม่เหล็กหรือสนามไฟฟ้า เส้นทางเคลื่อนที่ของรังสีแอลฟาจะเบี่ยงเบนโดยจะเบี่ยงเบนเข้าหาขั้วใต้ของสนามแม่เหล็กหรือเบี่ยงเบนเข้าหาขั้วลบของสนามไฟฟ้า ทั้งนี้เพราะอนุภาคแอลฟามีประจุไฟฟ้าบวก
                            เมื่อธาตุกัมมันตภาพรังสีใด แผ่รังสีแอลฟาออกมาแล้วก็เสมือนกับปล่อยนิวเคลียสของธาตุฮิเลียมออกมาจึงเป็นเหตุให้ธาตุกัมมันตรังสีนั้นมีเลขมวลน้อยลงไป ๔ หน่วย และมีเลขเชิงอะตอมลดน้อยลงไป ๒ หน่วย
                           รังสีบีตา ประกอบด้วย อนุภาคบีตา คือ อิเล็กตรอนนั่นเองจึงมีประจุไฟฟ้าลบเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วสูงเกือบเท่าอัตราเร็วของแสง เมื่อผ่านเข้าไปในสนามแม่เหล็ก หรือสนามไฟฟ้า เส้นทางเคลื่อนที่จะเบี่ยงเบนเข้าหาขั้วเหนือของสนามแม่เหล็ก หรือเบี่ยงเบนเข้าหาขั้วบวกของสนามไฟฟ้า รังสีบีตามีอำนาจในการทะลุทะลวงปานกลาง สามารถเจาะทะลุแผ่นอะลูมิเนียมที่หนา ๐.๑ มม. ได้
                            เมื่อธาตุกัมมันตรังสีใดแผ่รังสีบีตาออกมาแล้ว เสมือนกับนิวเคลียสของอะตอมของธาตุนั้นปล่อยอิเล็กตรอนออกมา จึงทำให้ธาตุใหม่ที่ได้ คงมีเลขมวลดังเดิม แต่มีเลขเชิงอะตอมเพิ่มขึ้น ๑ หน่วย
                            รังสีแกมมา เป็นพลังงานที่อยู่ในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีช่วงคลื่นสั้นมากมีอัตราในการเคลื่อนที่เร็วเท่า ๆ กับอัตราเร็วของแสง ไม่มีมวลและไม่มีประจุไฟฟ้า ฉะนั้นเมื่อผ่านเข้าไปในสนามแม่เหล็ก หรือสนามไฟฟ้า เส้นทางเคลื่อนที่จึงไม่เบี่ยงเบนจากแนวเดิม รังสีแกมมามีอำนาจในการเจาะทะลุทะลวงสูง สามารถเจาะทะลุผ่านแผ่นเหล็กกล้าที่หนา ๒๕ ซม. ได้และเจาะทะลุผ่านแผ่นตะกั่วที่หนา ๕ ซม.ได้
                      ประโยชน์ของกัมมันตภาพรังสี  มีอยู่หลายประกอบด้วยกันคือ
                            ๑. การสร้างธาตุใหม่หลังธาตุยูเรเนี่ยม โดยใช้ปฎิกิริยานิวเคลียสและสารกัมมันตรังสีมาสร้างธาตุใหม่ ๆ เป็นธาตุหนักกว่าธาตุยูเรเนี่ยมรวม ๑๔ ธาตุ มีค่าเลขอะตอม ๙๓ จนถึง ๑๐๖ ตามลำดับและยังสร้างธาตุใหม่ ๆ ต่อไปอีก ซึ่งจะมีจำนวนไม่จำกัด
                            ๒. ศึกษากลไกของปฎิกิริยาเคมี เช่น นำไอโซโทป กัมมันตรังสีมาศึกษาปฎิกิริยาไฮโดรลิซิสของเอสเทอร์ โดยใช้ไอโซโทปของออกซิเจนกัมมันตรังสี
                            ๓. ใช้ในเคมีวิเคราะห์ คือ ใช้หาปริมาณของสารบางสารที่มีปรากฎอยู่ในบริมาณน้อยยิ่ง
                            ๔. ใช้หาอายุของซากดึกดำบรรพ์ วิธีที่ใช้กันมากคือ วิธี ราดิโอคาร์บอนเดททิง
                        นอกจากประโยชน์ดังกล่าว ยังใช้กัมมันตภาพรังสีไปเป็นประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกมาก เช่นในการแพทย์ใช้รักษาโรคมะเร็ง ใช้ตรวจสอบการทำงานของบางอวัยวะในร่างกาย ใช้ประโยชน์ในทางเกษตรทางอุตสาหกรรม ทางโภชนาการเพื่อถนอมอาหาร ใช้ตรวจสอบรอบร้าวในแผ่นโลหะใช้ผลิตพลังงาน         ๒๔/๑๕๗๐๘
                ๔๖๖๔. รัชทายาท  มีบทนิยามว่า "ผู้จะสืบราชสมบัติ" และกฎมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๖๗ ได้ให้บทนิยามความหมายของคำว่า "พระรัชทายาท" และคำที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้
                            (๑) พระรัชทายาท คือ เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สมมุตขึ้นเพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป
                            (๒) สมเด็จพระยุพราช คือ พระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช ฯลฯ
                            (๓) สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า คือ สมเด็จพระบรมราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอัครมเหสี
                            ตามนัยแห่งกฎมณเทียรบาล พ.ศ.๒๔๖๗ หมวดที่ ๓ มาตรา ๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ และพระราชสิทธิ ที่จะทรงสมมติเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ให้เป็นรัชทายาท สุดแท้จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ และในมาตรา ฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสงวนไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ และพระราชสิทธิที่จะทรงถอนพระรัชทายาทออกจากตำแหน่งได้ด้วย
                            ในหมวด ๔ มาตรา ๙ ได้ระบุลำดับชั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ ซึ่งจะควรสืบราชสมตติวงศ์ได้ไว้ตามลำดับ นับแต่สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าลงมา และในหมวดที่ ๕ มาตรา ๑๑ ได้ระบุถึงเจ้านายผู้เป็นเชื้อพระบรมราชวงศ์ที่ไม่มีสิทธิจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ไว้ด้วย
                            ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๓๔ ได้บัญญัติไว้ว่า ราชนารีก็อาจทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ได้แต่ราชนารีพระองค์นั้น จะต้องเป็นพระราชธิดา มิใช่ราชนารีอื่นใด         ๒๔/๑๕๗๑๗
                ๔๖๖๕. รัฐธรรมนูญ  ตามรูปคำแปลว่ากฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งรัฐถือกันว่า เป็นกฎหมายแม่บทที่มีแต่อำนาจ แต่ไม่มีผลบังคับเหมือนดั้งกฎหมายแพ่ง หรือกฎหมายอาญารัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดเป็นกรอบ หรือนิติธรรมบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งปวง
                    รัฐธรรมนูญมีสองประเภทคือรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีและรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร
                      รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี เกิดจากธรรมเนียมการปกครองประเทศ ซึ่งถือปฏิบัติสืบทอดกันมาปัจจุบันมีแต่รัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษฉบับเดียว
                      รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร คือรัฐธรรมนูญทั้งหลายในโลกปัจจุบัน ซึ่งล้วนแต่เขียนขึ้นเป็นเอกสารสำคัญของประเทศ มีข้อดความที่กล่าวถึงรูปแบบของรัฐ อำนาจใจการปกครองรัฐสิทธิเสรีภาพของประชาชน การแบ่งแยกอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเหล่านั้น
                        รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลกคือ รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา
                        รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้สี่ทางด้วยกัน คือ
                            ๑. เกิดจากจารีตประเพณี
                            ๒. ประมุขของรัฐประทานให้ เช่น รัฐธรรมนูญปรัสเซีย (พ.ศ.๒๓๙๑) รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (พ.ศ.๒๔๔๗)  รัฐธรรมนูญโมนาโค (พ.ศ.๒๔๕)  และรัฐธรรมนูญเอธิโอเปีย (พ.ศ.๒๔๗๔)
                            ๓. เกิดจากการปฎิวัติหรือรัฐประหาร เช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส และรัฐธรรมนูญรัสเซีย
                            ๔. รัฐธรรมนูญที่เกิดจากความตกลงระหว่างประมุขแห่งรัฐเดิมกับราษฎร เช่น รัฐธรรมนูญกรีซ (พ.ศ.๒๓๘๗)  รัฐธรรมนูญโรมาเนีย (พ.ศ.๒๔๐๗)  และรัฐธรรมนูญบัลแก่เรีย (พ.ศ.๒๔๑๓) รัฐธรรมนูญของไทย (พ.ศ.๒๔๗๕)
                        เนื้อหาของรัฐธรรมนูญอาจแยกพิจารณาได้โดยสังเขป คือ
                            ๑. คำปรารภ เป็นส่วนที่กล่าวถึงที่มา และเจตจำนงของรัฐธรรมนูญทั่ว ๆ ไป
                            ๒. กำหนดรูปของรัฐ อันเป็นข้อกำหนดที่ชี้ให้เห็นระบบการปกครองรัฐนั้น ๆ ว่าจัดให้รูปรัฐเดี่ยว หรือหลายรัฐรวมกัน ซึ่งอาจอยู่ในรูปสหรัฐ สหภาพ สาธารณรัฐหรือสหพันธ์สาธารณรัฐ
                            ๓. กำหนดรูปแบบการปกครองและประมุขของรัฐ คือ กำหนดว่าจะปกครองประเทศในรูปใด ระบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญแบ่งเป็นสองระบบใหญ่ คือ
                                ก. ระบบประธานาธิบดี มีประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขฝ่ายบริหารที่มิได้เป็นสมาชิกรัฐสภา เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และฟิลิปปินส์
                                ข. ระบบรัฐสภา มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ประมุขแห่งรัฐเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจและเป็นที่เคารพสักการะ เช่น ประเทศไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินเดีย
                            ๔. กำหนดดารแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย คือ อำนาจในการปกครองประเทศ ซึ่งเดิมถือกันว่ามาจากพระเจ้า ตกอยู่แก่กษัตริย์ผู้เป็นสมมุติเทพ และทรงเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ผู้ใช้อำนาจนั้น ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เกิดมีความเห็นว่า อำนาจอธิปไตยของรัฐต้องมาจากประชาชน มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย ที่จัดระบบการปกครองประเทศ ซึ่งมักจะจำแนกอำนาจดังกล่าวเป็นสามสาขา ซึ่งเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
                            ๕. การให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเสมอภาค ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
                            ๖. แนวนโยบายของรัฐ
                            ๗. วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ
                            ๘. บทเฉพาะกาล          ๒๔/๑๕๗๒๔
                ๔๖๖๖. รัตนโกสินทร์ กรุง  เป็นชื่อราชธานีของราชอาณาจักรไทยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงสร้างขึ้นทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณกรุงธนบุรีเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕         ๒๔/๑๕๗๓๘
                ๔๖๖๗. รัตนชาติ  รัตนชาติหรืออัญมณี หมายถึง วัตถุธรรมชาติที่มีคุณค่าซึ่งนำมาตกแต่งเจียระไนใช้เป็นเครื่องประดับ มีสมบัติที่สำคัญสามประการคือ ความสวยงาม ความทนทาน และความหายาก
                    แร่ที่เกิดขึ้นในโลกและเป็นที่รู้จักกันมีไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ชนิด แต่มีเพียงประมาณ ๙๐ ชนิด ที่ถือว่ามีสมบัติพอจะจัดเป็นรัตนชาติได้ และจะเป็นรัตนชาติที่สำคัญจริง ๆ ต่อตลาดการค้าอัญมณีทั่ว ๆ ไปเพียงประมาณ ๒๐ ชนิดเท่านั้น
                    รัตนชาติที่มีคุณค่าราคาสูง และเป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่ ต่างก็จัดเป็นแร่ทั้งสิ้น เช่น เพชร ทับทิม ไพลิน มรกต หยก โอปอล
                    รัตนชาติอาจแบ่งออกอย่างง่าย ๆ ได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ เพชรและพลอย พลอยในความหมายกว้าง ๆ หมายถึงรัตนชาติทุกชนิดยกเว้นเพชร
                    สมบัติที่จำเป็นสำหรับสิ่งที่ถือว่าเป็นรัตนชาติโดยทั่วไปพอสรุปได้ดังนี้
                            ๑.  ความสวยงาม นับเป็นสมบัติที่สำคัญที่สุดที่ใช้กำหนดวัตถุรัตนชาติสมบัติสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความสวยงามแก่รัตนชาติ พอจำแนกได้คือ
                                ๑.๑ สี จำแนกได้เป็นสามลักษณะคือ ชนิดสี ความสดของสี และระดับอ่อนแก่ของสี รัตนชาติที่ดีควรจะมีสีเข้มสด ไม่มืดดำและสม่ำเสมอกันโดยตลอด
                                ๑.๒ ความใสสะอาด ควรจะโปร่งใสปราศจากตำหนิฝ้า จุดด่างดำหรือรอยแตก ยิ่งเนื้อใสแบบตาตั๊กแตนยิ่งดี
                                ๑.๓ ความเป็นประกาย เรียกตามภาษาชาวบ้านในวงการค้าอัญมณีไทยว่า ไฟ หมายถึงปริมาณแสงสะท้อนภายในและภายนอก ผิวรัตนชาติที่เจียระไนแล้วเข้าสู่ตา
                                ๑.๔ ความเป็นประกายรุ้ง เป็นสมบัติเฉพาะตัวของรัตนชาติบางชนิดที่สามารถแยกแสงสีขาวให้เป็นสีรุ้งตามสีของสเปกตรัม ได้ความเป็นประกายรุ้งจะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับค่าการกระจายแสงของรัตนชาติ และสัดส่วนของการเจียระไนรัตนชาติที่มีค่าการกระจายแสงสูง เพียงพอที่จะทำให้แลเห็นความเป็นประกายรุ้งที่สำคัญได้แก่ เพชร เพทาย
                                ๑.๕ ความวาว เป็นสมบัติในการสะท้อนแสงจากผิวรัตนชาติความวาวของรัตนชาติจะขึ้นอยู่กับค่าดัชนีหักเหของรัตนชาตินั้น ๆ รวมทั้งความมันเรียบสมบูรณ์ของผิวการเจียระไน
                                ๑.๖ ปรากฎการณ์ เป็นสมบัติพิเศษแห่งปรากฎการณ์ของแสงที่มีต่อรัตนชาติบางชนิด เช่น ทำให้เห็นเป็นเส้นแถบแนวแสงสะท้อน เคลื่อนไปมาขณะที่ขยับรัตนชาติที่เรียกว่า ตาแมว
                            ๒ ความทนทาน ไม่สึกกร่อน บุบสลาย แตกหักหรือเสื่อมความสวยงามง่ายจนเกินไป พอแบ่งออกได้เป็น         ๒๔/๑๕๗๔๖
                                 ๒.๑ ความแข็ง  หมายถึง ความทนทานต่อการขูดขีดบนผิวหน้าเรียบของรัตนชาตินั้น ๆ  การกำหนดความแข็งที่นิยมใช้กันในวิชาแร่ แต่จะบอกเป็นตัวเลขจาก ๑ ถึง ๑๐ ตามสเกลความแข็ง โมส์ ซึ่งเป็นมาตรฐานความแข็งเปรียบเทียบของแร่ ตามที่นักแร่วิทยาชาวเยอรมันผู้หนึ่งเป็นผู้กำหนดขึ้น ประกอบด้วยแร่มาตรฐาน ๑๐ ชนิด เรียงลำดับตั้งแต่ทนทานต่อการขูดขีดน้อยที่สุด (อ่อนที่สุด)  ถึงมากที่สุด (แข็งที่สุด)  ทัลก์ มีค่าความแข็ง ๑ เพชร มีค่าความแข็ง ๑๐
                                ๒.๒ ความเหนียว  หมายถึง ความทนทานต่อการแตกหักของรัตนชาติ อันเป็นผลเนื่องมาจากแรงดึงดูดภายในโมเลกุลของรัตนชาติ หรือจากโครงสร้างของเนื้อที่ประสานตัวกันเป็นรัตนชาตินั้น
                                ๒.๓ ความคงทน  หมายถึง ความคงทนต่อการผุสลาย หรือทำปฎิกิริยากับสารเคมีอื่น เพื่อจะยังคงรักษาความสวยงามเดิมไว้
                            ๓.  ความหายาก  เป็นสมบัติหนึ่งทำให้รัตนชาติมีคุณค่าสูง หรืออาจเป็นสิ่งที่มีค่าอยู่แล้ว และหาได้ยาก
                ๔๖๖๘. รัตนตรัย  (ดู ไตรรัตน์ - ลำดับที่ ๒๓๖๘)           ๒๔/๑๕๗๕๕
                ๔๖๖๙. รัตนบุรี  อำเภอ ขึ้น จ.สุรินทร์  ภูมิประเทศทางตอนเหนือเป็นที่ราบ นอกนั้นเป็นโคกสลับแอ่ง
                    อ.รัตนบุรี  เดิมเป็นเมือง โดยยกบ้านกุดหวาย หรือเมืองเตา ขึ้นในรัชกาลที่หนึ่ง ขึ้นเมืองบุรีรัมย์ แล้วยุบเป็นอำเภอ และโอนไปขึ้น จ.สุรินทร์ เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๕๖           ๒๔/๑๕๗๕๕
                ๔๖๗๐. รัตนสิงหาสน์  เป็นแท่นพระราชบัลลังก์ ก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสอง ติดกระจังปูนปั้น ลวดลายบนล่าง ขอบฐานปูนปั้นลวดลายบนล่าง และกระจังปิดทองประดับกระจกสี ที่ขอบกระจังชั้นบนปั้นรูปสิงห์ นั่งเรียงเป็นแถวที่ด้านหน้า และด้านข้าง ๓๙ ตัว ส่วนด้านหลังไม่มี สองข้างซึ่งมีบันไดขึ้นลง ที่ราวบันไดติดรูปปั้นนูนเป็นช่อง ๆ ทั้งสองบันได บันไดละหกตัว สลับกันไปคือ ครุฑ สิงห์ พญายักษ์ พญาวานร ในท่าสองมือแบกราวบันได หน้าพระแท่น ฯ เป็นท้องพระโรงฝ่ายใน           ๒๔/๑๕๗๕๕
                ๔๖๗๑. รัตนสูตร  เป็นพระสูตรสำคัญพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสให้พระอานนท์เรียน แล้วเดินทำพระปริต คือ ความคุ้มครองป้องกันในเมืองไพศาลี เมื่อคราวเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง นอกจากนั้น พระอินทรก็ได้ผูกคาถาอิงคุณพระรัตนตรัย เพิ่มอีกสามคาถา รัตนสูตรนี้บางทีก็เรียก รัตนปริต เป็นสูตรหนึ่งที่พระสงฆ์ จะต้องสวดในเวลาเจริญพระพุทธมนต์เสมอ มีความเป็นมาดังนี้
                    ในสมัยพุทธกาล เมืองไพศาลี เมืองหลวงของอาณาจักรวัชชี ต่อมาเมืองนี้เกิดข้าวยากหมากแพง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าแห้งเหี่ยวตาย เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ และมีโรคระบาด ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก พวกอมนุษย์พากันเข้าเมืองเกิดอหิวาตกโรคตามมา
                    เมื่อเกิดภัยสามประการคือ ทุพภิกขภัย อมนุษย์ และพยาธิภัย ขึ้นในเมืองไพศาลี กษัตริย์ลิจฉวีจึงหาทางระงับภัยดังกล่าวนั้น โดยเห็นร่วมกันว่า ควรกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ จึงได้ส่งเจ้าลิจฉวีสององค์เป็นฑูต ไปกราบทูลนิมนต์ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทูลขอเวลาตระเตรียมหนทาง ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ ไปถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เป็นระยะทางประมาณ ๘๐ กม. พระองค์ได้ตามเสด็จไปจนถึงฝั่งขวาของแม่น้ำคงคา แล้วทรงส่งข่าวสารไปยังเมืองไพศาลีว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงฝั่งแม่น้ำคงคาแล้ว
                    พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้จัดเรือสองลำ ตรึงขนานเข้าด้วยกัน แล้วกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นประทับ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ที่ติดตามพระพุทธองค์
                    ทางเมืองไพศาลี ซึ่งตั้งอยู่ห่างฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคาขึ้นไปทางเหนือ ประมาณ ๔๐ กม. ก็เตรียมหนทางให้ราบเรียบตั้งแต่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคา ไปจนถึงเมืองไพศาลี เรือขนานนำพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์มาในแม่น้ำคงคาเป็นระยะทาง ๑๖ กม. ก็ถึงเขตเมืองไพศาลี ครั้นเรือขนานเทียบถึงฝั่งแม่น้ำคงคา กลุ่มเมฆมหึมาซึ่งแผ่กระจายตั้งเค้ามืดมิด ก็บันดาลให้ฝนตกลงมาห่าใหญ่ น้ำฝนไหลนองท่วมพื้นดินพัดพาเอาซากศพ ลอยลงแม่น้ำคงคาไปหมด ทำให้ภาคพื้นดินบริสุทธิ์สะอาดโดยทั่วไป บรรดากษัตริย์ลิจฉวี นำเสด็จพระพุทธเจ้าดำเนินเป็นเวลาสามวัน ก็ถึงนครไพศาลี ขณะนั้นพระอินทร์ได้เสด็จพร้อมด้วยฝูงทวยเทพ มาชุมนุมอยู่ด้วยทำให้พวกอมนุษย์เกรงกลัว พากันหลบหนีไป
                    พระพุทธเจ้าเสด็จถึงประตูเมืองไพศาลี ในเวลาเย็นได้ตรัสให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตร เพื่อเดินจาริกทำพระปริตไปในระหว่างกำแพงสามชั้น (ตรีบูร)  ในเมืองไพศาลีกับกุมารลิจฉวี เมื่อพระอานนท์เรียนรัตนสูตรจากพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เอาบาตรของพระพุทธเจ้าใส่น้ำถือไปยืนที่ประตูเมือง พลางรำลึกถึงพระพุทธคุณ ตั้งแต่ทรงตั้งความปรารถนาที่จะได้บรรลุพระโพธิญาณ จนถึงทรงแสดงพระธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร และโลกตรธรรมเก้า (คือ มรรคสี่ ผลสี่ นิพพานหนึ่ง)  แล้วเข้าไปในพระนคร เดินทำพระปริตไปในระหว่างกำแพงเมืองสามชั้น ทำให้พวกอมนุษย์ที่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง พากันหนีออกจากเมืองไปหมด โรคภัยไข้เจ็บของชาวเมืองก็สงบลง
                    ครั้นพระอานนท์ทำพระปริตอารักขาทั่วพระนครแล้ว ก็กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสรัตนสูตรอีกครั้งหนึ่ง รวมสิบสี่คาถา แล้วพระอินทร์ได้ผูกคาถา (ฉันท์) ต่ออีกสามคาถา
                    พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่เมืองไพศาลี และตรัสเทศนารัตนสูตรทุกวัน รวมเจ็ดวัน
    0เมื่อทรงเห็นว่าภัยทุกอย่างสงบเรียบร้อยแล้ว จึงตรัสลากษัตริย์ลิจฉวี และชาววัชชี เสด็จกลับเมืองราชคฤห์
                       คำแปล รัตนสูตร
                            ๑. ขอให้ภูติทั้งหลาย ทั้งที่อยู่บนพื้นดินและในอากาศที่มาชุมนุมกันอยู่ในที่นี้ จงเป็นผู้มีน้ำใจดี และขอเชิญฟังคำที่ตถาคตกล่าวต่อไปนี้ โดยเคารพเถิด
                            ๒. เพราะฉะนั้น ขอภูติทั้งหลายทั้งปวงจงฟัง ขอให้ท่านทั้งหลายจงสร้างความเป็นมิตร กับบรรดามนุษย์ทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงคุ้มครองรักษาพวกมนุษย์ ที่นำเครื่องพลีกรรมมาบวงสรวงพวกท่านทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน เถิด อย่าได้ประมาทเลย
                            ๓. บรรดาทรัพย์ หรือ รัตนะ อันประณีตบรรดามีทั้งในโลกนี้และโลกอื่น และสวรรค์ทุกชั้นหาเสมอด้วยพระตถาคตไม่ รัตนะ คือ พระพุทธเจ้าเป็นของประณีตด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                            ๔. พระธรรมอันเป็นที่สิ้นกิเลส ปราศจากราคะเป็นอมตะ ประณีต ที่พระศากยมุนีผู้มีพระหทัยเป็นสมาธิได้บรรลุแล้ว หามีธรรมใด ๆ เสมอมิได้ รัตนะ คือ พระธรรมเป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                            ๕. สมาธิที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ตรัสสรรเสริญว่าเป็นธรรมสะอาด ที่ปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า อานันตริกสมาธิ (คือ มรรคสมาธิที่ให้อริยผลทันที) ไม่มีสมาธิอื่นใดเสมอ รัตนะ คือ พระธรรมเป็นของประณีตด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                            ๖. พระอริยบุคคลแปดประเภทที่สัตบุรุษทั้งหลาย ยกย่องสรรเสริญจัดเป็นสี่คู่นั้น เป็นสาวกของพระสุคตเจ้า เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา ทานที่ถวายในพระอริยบุคคลแปดประเภทนี้ เป็นทานมีผลมาก รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                            ๗. พระอริยบุคคลในศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้า เป็นผู้ประกอบด้วยศีลเป็นอันดี มีใจมั่นคง ไม่มีกามกิเลส ยึดหน่วง อมตนิพพานเป็นอารมณ์ เสวยผลสมาบัติโดยได้เปล่าชื่อว่า ได้บรรลุผลที่พึงบรรลุแล้ว รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                            ๘. เสาอินทขีล ที่ฝังลึกลงไปในดิน ลมที่พัดมาทั้งสี่ทิศ ไม่อาจทำให้ขยับเขยื้อนได้ฉันใด สัตบุรุษ (คือ พระอริยบุคคล) ผู้เห็นแจ้งอริยสัจ (ทั้งสี่ทิศ) แล้ว ตถาคต กล่าวว่า (ไม่มีใครอาจทำให้ขยับเขยื้อนจากความเห็นได้)  ฉันนั้น รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                            ๙. พระอริยบุคคล  (พระโสดาบัน)  ผู้เห็นแจ้งอริยสัจทั้งสี่ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีปัญญาลึกซึ้ง ได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว แม้จะยังเป็นผู้ประมาทอยู่มาก ก็จะไม่ถือเอาภพที่แปด (คือ เกิดอย่างมากอีกเพียงเจ็ดครั้ง) รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                            ๑๐. พร้อมกับการบรรลุทัสสนะ (โสดาปัตติมรรค)  พระโสดาบันท่านก็ละสังโยชน์สามประการคือ สักกายทิฐิ  วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส  แม้ยังจะมีสังโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งเหลืออยู่อีก แต่ท่านก็พ้นแล้วจากอบายสี่ และไม่อาจทำอภิฐานหก (คือ อนันตริยกรรมห้า กับการเปลี่ยนใจไปนับถือศาสนาอื่น) รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                            ๑๑. ท่านผู้บรรลุทัสสนะ นั้น แม้จะยังทำกรรมชั่วด้วยกาย วาจา หรือใจ อยู่บ้าง ท่านก็ไม่อาจปิดบังกรรมชั่วที่ท่านทำไว้นั้น เพราะการที่บุคคลผู้เห็นทางพระนิพพานแล้ว จะปิดบังกรรมชั่วของตนไว้นั้น พระตถาคต กล่าวว่า ไม่อาจปิดบังได้ รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                            ๑๒. พุ่มไม้ใหญ่ในป่า ผลิยอดในเดือนร้อนเดือนแรก (เดือนห้า)  ของคิมหันตฤดู ฉันใด พระตถาคตได้แสดงพระธรรมอันประเสริฐ (ให้แตกกิ่งก้านงอกงาม)  เป็นเครื่องชี้ทางดำเนินไปสู่พระนิพพาน ยิ่งยวดด้วยประโยชน์เกื้อกูล (แก่สัตว์โลก)  มีอุปมาเหมือนพุ่มไม้ในป่าฉันใด รัตนะ คือ พระพุทธเจ้า เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                            ๑๓. พระตถาคต ผู้ประเสริฐ เป็นผู้รู้พระนิพพานอันประเสริฐ เป็นผู้ให้พระธรรมอันประเสริฐ เป็นผู้นำซึ่งมรรคอันประเสริฐ ไม่มีผู้อื่นประเสริฐยิ่งกว่า ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ รัตนะ คือ พระพุทธเจ้า เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                            ๑๔. พระอริยบุคคล ที่มีกรรมเก่าสิ้นไปแล้ว (และ)  กรรมใหม่ที่จะให้เกิดอีกไม่มี เป็นผู้มีจิตปราศจากความกำหนัดยินดีในภพต่อไป เป็นผู้สิ้นพืช (ที่จะให้เกิดอีก) แล้ว ไม่มีฉันทะที่เป็นเชื้อให้งอกงามได้อีก เป็นผู้มีปัญญาย่อมดับไป เหมือนประทีปดวงนี้ดับไป ฉะนั้น รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)           ๒๔/๑๕๗๕๖

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch