หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/136

    ๔๖๒๘. โยคาจาร  เป็นชื่อของพุทธปรัชญาฝ่ายอาจริยวาท หรือมหายาน สำนักหนึ่งซึ่งมุ่งศึกษาให้รู้แจ้งสัจธรรม  โดยวิธีปฎิบัติโยคะตามแบบพระพุทธศาสนา สัจธรรมที่เป็นเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การรู้แจ้งว่าสากลจักรวาลหาใช่อะไรอื่น ที่แยกออกไปต่างหากจากจิตไม่ ในสัจธรรมขั้นสูงสุดไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น การเกิด การตาย ถือว่าสิ่งที่มีอยู่จริงคือ จิต สิ่งภายนอกจิตไม่ได้มีอยู่จริง จึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า  วิชญานวาท หรือ วิญญาณวาท ตรงกับปรัชญาตะวันตกคือ จิตนิยม
                    ความเป็นมาของสำนักปรัชญาโยคาจารย์ ยังเห็นไม่ลงรอยกัน แต่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า อสังคะ เป็นผู้ตั้งขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่แปด เพราะท่านแต่งคัมภีร์ที่เป็นหลักของสำนักปรัชญานี้หลายเล่ม เช่น คัมภีร์โยคาจารย์ภูมิศาสตร์ มหายานสูตรงาลังการ ปัญจภูมิ อภิธรรมสมุจัย มหายานสังครศาสตร์ มหายานสัมปริครหศาสตร์
                    หลักปรัชญาสำคัญของสำนักปรัชญาโยคาจารย์ ถ้าแบ่งตามรูปแบบของปรัชญาตะวันตก จะได้ดังนี้คือ ในทางญาณวิทยา กล่าวถึงความรู้สามชนิดคือ
                            ๑. ปริกัลปิตชญาณ  ได้แก่ ความรู้ชนิดมายา คือ ไม่ให้ความจริงอะไรเลย เป็นความเท็จล้วน ๆ เป็นสิ่งที่จิตคิดขึ้นเอง
                            ๒. ปรตันรชญาณ  ได้แก่ ความรู้ชนิดสัมพัทธ์ คือ ความรู้ขั้นสามัญที่สมมุติขึ้น และยอมรับกันว่าให้ความจริงบ้าง เพื่อใช้เรียกขานในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่ความจริงขั้นปรมัตถ์ และไม่ใช่ความเท็จโดยสิ้นเชิงอย่างชนิดแรก
                            ๓. ปริณิษปันนชญาณ  ได้แก่ ความรู้ชนิดสมบูรณ์ คือ ความรู้แท้ที่เปิดเผยความจริงขั้นปรมัตถ์ (นิพพาน) ความรู้ขั้นนี้เรียกว่า สัมมาญาณะ คือ ความรู้ชอบ ได้แก่ โพธิญาณ หรือสัพพัญญุตญาณ อยู่เหนือความรู้ขั้นเหตุผล
                    ในทางจริยศาสตร์ กล่าวถึงหลักปฎิบัติไว้คือ
                            ๑. เป้าหมายของปรัชญาโยคาจารย์ คือ  การบรรลุถึงสภาพธรรมที่เป็นเอกภาพกับธรรมกายของพระพุทธเจ้า โดยอาศัยความรู้ขั้นโพธิญาณ
                            ๒. ผู้ปรารถนาจะบรรลุพุทธภูมิจะต้องปฎิบัติตามขั้นทั้งสิบที่เรียกว่า ทศภูมิของพระโพธิสัตว์ อันได้แก่ บารมีสิบประการ
                            ๓. ผู้ที่ปฎิบัติจนถึงขั้นสูงสุดแล้ว จะอยู่เหนือกายและจิต เข้าถึงสภาพธรรมที่เป็นเอกภาพกับธรรมกายคือ อาลยวิญญาณอันบริสุทธิ์ (อาลยวิญญาณ ตรงกับภวังคจิต ของเถรวาท ซึ่งถือว่าคือ จิตที่เป็นองค์แห่งภพ (ความมีความเป็น)  ได้แก่ จิตที่เป็นพื้นฐานของชีวิต เป็นจิตที่สืบต่อจากปฎิสนธิจิต คือ จิตแรกที่เกิดในครรภ์ ปฎิสนธินี้สืบต่อมาจากจุติจิต คือ จิตที่เคลื่อนจากชาติก่อน การสืบต่อนี้เรียกว่า สันคติ คือ จิตเกิดดับทุกขณะสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย จนกว่าจะบรรลุนิพพานจึงหยุดการสืบต่อ ภวังคจิตเป็นบ่อเกิดของวิญญาณหกอย่าง ซึ่งมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วิถีชีวิต)
                    ปรัชญาโยคาจาร ถือว่า อาลยวิญญาณ เป็นมูลฐานแห่งสิ่งทั้งปวง หน้าที่ของอาลยวิญญาณ ท่านนิยามไว้ว่า "เก็บก่อ"  เก็บ คือ เก็บพีชะของสิ่งทั้งปวงไว้ ก่อ คือ ก่อสร้างพฤติภาพต่าง ๆ ให้เกิดมีขึ้น         ๒๔/๑๕๖๐๗
                ๔๖๒๙. โยคี  มีบทนิยามว่า "ฤษี"  และที่คำว่า ฤษี และฤาษี ให้บทนิยามว่า "นักบวช"  ผู้อยู่ในป่า, ชีไพร คำว่า โยคี เป็นคำในภาษาบาลี แปลว่า ผู้มีความเพียร ผู้บำเพ็ญความเพียรทางจิต มีความหมายเหมือนคำ โยคาวจร หรือ โยคาพจร ซึ่งใช้เรียกผู้ประพฤติธรรม เช่น  ผู้ปฎิบัติสมถกรรมฐาน หรือวิปัสสนากรรมฐาน และหมายถึง นักพรตที่ภาษาสันสกฤต ใช้ว่า โยศุน อีกด้วย
                    ต่อมาเมื่อ ปตัญชลี (ราวพุทธศตวรรษที่สี่)  ได้รจนาโยคะสูตร ซึ่งกล่าวถึงหลักโยคะ มีองค์แปดที่เรียกว่า ราชโยคะ ไว้อย่างมีระบบยิ่งขึ้น มีผู้เลื่อมใสนำไปปฎิบัติตามกันมาก จนเกิดลัทธิโยคะขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง ถือปฎิบัติมาถึงปัจจุบัน         ๒๔/๑๕๕๑๔
                ๔๖๓๐. โยทะกา  เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีมือเกาะ ใบเดี่ยวออกสลับกัน แผ่นใบรูปค่อนข้างกลม โคนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อ บานครั้งแรกสีเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีส้ม และสีแดง ผลเป็นฝัก
                    โยทะกา  ขึ้นในป่าดงดิบทางภาคใต้ ตั้งแต่คอคอดกระ ลงไป ปลูกกันเป็นไม้ประดับแต่ไม่แพร่หลาย
                    พันธุ์ไม้ ที่มีชื่อไทยว่า โยทะกา ยังมีอีกสองชนิด เป็นพันธุ์ไม้จากต่างประเทศปลูกเป็นไม้ประดับ ชนิดหนึ่งเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง ๑๕ เมตร ดอกใหญ่สีชมพูออกเป็นช่อ อีกชนิดหนึ่งเป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้นขนาดเล็ก ดอกใหญ่สีเหลืองสด หรือเหลืองอมเขียว ออกตามข้างกิ่งจากโคนไปถึงยอด ปลูกง่ายตัดแต่งเป็นพุ่มกลมก็ได้ ชื่ออื่นที่เรียกคือ ชงโคดอกเหลือง         ๒๔/๑๕๖๑๖
               ๔๖๓๑. โยธาธิการ  เป็นชื่อหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ในนามของกรมสุขาภิบาล สังกัดกระทรวงนครบาล มีหน้าที่จัดการสุขาภิบาล ในเขตสุขาภิบาลในจังหวัดพระนคร การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๘ ได้โอนงานป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กระทรวงสาธารณสุข และได้เปลี่ยนชื่อเป็น  กรมนคราทร สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ตรวจตรา อำนวยการก่อสร้าง และรักษาถนน คลอง และทางระบายน้ำในเขตสุขาภิบาล ควบคุมการฆ่าสัตว์ กิจการช่าง การประปา การบำรุงรักษาความสะอาด และการกำจัดสิ่งโสโครกทั่วไป
                    ในปี พ.ศ.๒๔๗๖  ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมโยธาเทศบาล ได้ขยายขอบเขตงานช่าง ด้านสาธารณูปโภค ออกไปอย่างกว้างขวาง มีอำนาจหน้าที่อำนวยกิจการงานช่างพลเรือน ในการก่อสร้าง การจัดระเบียบผังเมือง ดำเนินการให้มีไฟฟ้าและน้ำประปาโดยทั่วไป จัดสร้างและบูรณะทางหลวงจังหวัด และชนบท
                    ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๖ - ๒๕๑๐ ได้โอนงานออกไปสังกัดหน่วยงานอื่น ๆ หลายหน่วยงาน หลังจากนั้นก็ได้รับการขยายงานออกไปอีกหลายหน่วย
                    ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๑ - ๒๕๑๐  มีบางหน่วยงานได้รับการยกฐานะเป็นส่วนราชการเทียบเท่ากรม         ๒๔/๑๕๖๑๘
                ๔๖๓๒. โยนก  เดิมเป็นชื่อเมืองเชียงแสน คือ โยนกนครราชธานีชัยบุรีศรีช้างแล่น  ช้างแล่น แปลว่า ช้างร้อง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เชียงแสน
                    ต่อมาโยนกได้เปลี่ยนชื่อแคว้น ประกอบด้วย เมืองเชียงราย เชียงของและเชียงแสน ภายหลังมีเชียงใหม่เป็นราชธานี และนิยมเรียกเชียงใหม่ว่า อาณาจักรล้านนา สมัยอยุธยา เรียกชาวไทยในล้านนาว่า "ยวน"
                    ตามตำนานสิงหนวัติ เมื่อก่อนตั้งพุทธศักราช ๑๓๐ ปี สิงหนวัติกุมารยกผู้คนมาสร้างเมืองพันธุสิงหนวัตินคร ใกล้แม่น้ำกกและแม่น้ำโขง ภายหลังกลายมาเป็นโยนกนคร ฯ และเชียงแสนตามลำดับ
                    ถึงปี พ.ศ.๑๑๘๒ ลาวจังกราชได้ตั้งราชวงศ์ใหม่ครองเมืองเชียงแสน ขุนเจื๋องได้เป็นกษัตริย์องค์ที่สิบเก้าของราชวงศ์นี้ เมื่อปี พ.ศ.๑๖๕๙ พระองค์ทรงปราบเมืองต่าง ๆ ได้หลายเมือง เรื่องราวของขุนเจื๋องจากตำนานเชียงแสน ซ้ำซ้อนกับเรื่องพระเจ้าพรหม ในตำนานสิงหนวัติ (พ.ศ.๘๙๔ - ๙๗๗) จนน่าเชื่อว่าอาจเป็นองค์เดียวกัน
                    กษัตริย์องค์ที่ ๒๕ ทรงพระนามว่า พ่อขุนเม็งราย ทรงยกทัพไปปราบปรามหัวเมืองทางฝ่ายเหนือขึ้นไปจนถึงสิบสองปันนา และขยายอาณาเขตออกไปทางใต้ กษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่เจ็ดคือ พระยากือนา ได้ทรงนิมนต์พระมหาสุมนเถระ ให้นำพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เก่า หรือแบบรามัญวงศ์จากสุโขทัย ไปเผยแพร่ในแคว้นโยนก เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๒ อักษรพ่อขุนรามคำแหง ฯ ได้เข้าไปพร้อมกับศาสนา และต่อมาวิวัฒนาการไปเป็นอักษรฝักขามกระจายไปสู่เชียงตุง และที่อื่น ๆ
                    กฎหมายที่ใช้อยู่ในแคว้นโยนกเรียกว่า มังรายศาสตร์ เป็นราชศาสตร์ที่มีต้นเค้ามาจากธรรมศาสตร์ของอินเดียโดยผ่านมาทางมอญ และมีส่วนคล้ายคลึงกับกฎหมายตราสามดวงอยู่มาก
                    แคว้นโยนกหรือล้านนาถูกพม่าตีแตก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๑ และตกเป็นเมืองขึ้นพม่ามาเกือบ ๒๐๐ ปี ในระหว่างเวลาดังกล่าวแคว้นโยนกตั้งตัวเป็นเอกราชบ้าง เป็นเมืองขึ้นของอยุธยาบ้าง
                    ในปี พ.ศ.๒๓๑๔ จ่าบ้านบุญมา และเจ้ากาวิละขอความช่วยเหลือจากกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ พร้อมด้วยเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ทรงตีเชียงใหม่คืนจากพม่าได้ในปี พ.ศ.๒๓๑๗ แคว้นโยนกจึงมารวมกับประเทศสยามมาแต่นั้น          ๒๔/๑๕๖๒๑

     

    ร.
                ๔๖๓๓. ร. พยัญชนะตัวที่ ๓๕  ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ รูปของไทย ใช้เป็นทั้งพยัญชนะต้นเสียงได้ และใช้ผสมกับพยัญชนะอื่นเป็นอักษรควบกล้ำ นอกจากนั้นยังใช้เป็นตัววสะกดในแม่กน สองตัวเรียงกันเรียกว่า ร หัน อ่านเป็นเสียงอัน ถ้า ณ หัน ตามด้วยตัวสะกด ก็มักออกเสียงเป็นเสียงไม้หันอากาศกับตัวสะกดนั้น ในกรณีที่ใช้อักษร ร สะกด โดยไม่มีรูปสระรูปใดเลย อีกษร ณ จะออกเสียงเป็นสระออกับแม่กน
                    อักษร ร เป็นอักษรต่ำ อักษร ร ใช้แทนเสียงในภาษาไทยซึ่งนักสัทศาสตร์เรียกว่าเสียงรัว และเสียงลิ้นกระทบ          ๒๔/๑๕๖๒๕
                ๔๖๓๔. รก  เป็นอวัยวะยึดเกาะเยื่อบุมดลูก และต่อกับสายสะดือของทารกในครรภ์ รกประกอบขึ้นด้วยส่วนของเยื่อบุมดลูก และส่วนที่เจริญมาจากเยื่อหุ้มลูก ส่วนนี้จะต่อกับสายสะดือลูก
                    รกเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ถูกผสมแล้วเคลื่อนจากปีกมดลูกไปถึงโพรงมดลูก ซึ่งพอดีกับที่ไข่แบ่งตัวหลายครั้งจนเกิดเป็นเอ็มบริโอที่มีส่วนหุ้มของลูกเกิดขึ้น ส่วนหุ้มดังกล่าวจะฝังตัวลงบนเยื่อบุมดลูก เยื่อบุมดลูกจะเกิดการสลายตัว เพื่อให้ส่วนหุ้มของลูกเจริญเพิ่มขึ้นเป็นโคริออนิกสิลไล แทรกลงในเยื่อบุมดลูก หลังจากนั้นเยื่อบุมดลูกจะเกิดเป็นช่องเลือด เป็นแอ่งให้โคริออนิกสิลไลแช่อยู่ ส่วนที่มาจากลูกและส่วนของเยื่อบุมดลูกที่เยื่อหุ้มลูกฝังอยู่ จึงประกอบกันขึ้นเป็นรก
                    ภายในแกนของโคริออนิกสิลไล มีหลอดเลือดแดง หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ และหลอดเลือดฝอยอยู่ หลอดเลือดดังกล่าวจะต่อกับหลอดเลือดในสายสะดือเด็ก หลอดเลือดฝอยทำหน้าที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนอากาศ อาหาร และของเสีย โดยนำส่วนที่ดีจากแม่ไปยังเด็ก นำของเสียจากเด็กไปยังแม่
                    ตามปรกติรกมีลักษณะกลมแบน เมื่อครบกำหนดรกจะออกมาหลังจากการคลอดลูก มีน้ำหนักประมาณ ๕๐๐ กรัม
                    ส่วนสัตว์นั้นจะพบรกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดที่ออกลูกเป็นตัว ซึ่งมีลูกเจริญเติบโตอยู่ในมดลูกของแม่          ๒๔/๑๕๖๒๖
                ๔๖๓๕. รฆุวงศ์  เป็นชื่อมหากาพย์เล่มที่สองในจำนวนหกเล่มตามขนบนิยมของอินเดีย ผู้แต่งเรื่องรฆุวงศ์คือ กาลิทาส ซึ่งมีชีวิตอยู่ในราวพุทธศตววรรษที่สิบ อันเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์คุปตะมีอำนาจปกครองอินเดีย มหากาพย์เรื่องนี้มีเนื้อความแบ่งออกเป็นสิบเก้าสรรค (ตอน) บรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและกรณียกิจของกษัตริย์อโยธยา ในสายของพระเจ้ารฆุวงศ์ โดยกล่าวถึงเรื่องราวของพระราม (หรือรามจันทร์) เป็นจุดสำคัญที่สุด          ๒๔/๑๕๖๓๑
                ๔๖๓๖. รดน้ำ - ลาย  เป็นงานจิตรกรรมของไทยแขนงหนึ่งได้รับช่วงถ่ายทอดความรู้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ สายรดน้ำประกอบด้วยการลงรัก เขียนลายด้วยน้ำยาหรดาลและปิดทองรดน้ำ ซึ่งทำได้ทั้งบนแผ่นไม้ แผ่นโลหะ พื้นปูน ดินเผา ตลอดจนเครื่องเขินและสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ กรรมวิธีของการเขียนลายรดน้ำ แบ่งออกเป็นสามขั้นตอนคือ การเตรียมพื้นรัก การผสมน้ำยา และการเขียนลาย และการปิดทองรดน้ำ
                    การรดน้ำ คือใช้น้ำล้างน้ำยาที่เขียนอยู่นั้นให้ละลายออก เมื่อรดน้ำเสร็จก็เป็นสำเร็จวิธีการเขียนลายรดน้ำ ตามวิธีของช่างไทยในอดีต          ๒๔/๑๕๖๓๔
                ๔๖๓๗. ร่มชูชีพ  เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยวัสดุสิ่งทอใช้เป็นเครื่องพยุงตัวเมื่อกระโดดจากที่สูง เมื่อกางออกขณะเคลื่อนที่ในอากาศรูปร่างคล้ายร่ม ใช้หน่วงอัตราการตกของเทหัวตก เมื่อใช้แล้วสามารถพับเก็บได้
                    มีหลักฐานว่า นักกายกรรมชาวจีนได้ใช้เครื่องประดิษฐ์คล้ายร่มชูชีพมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๘๔๙ เลโอนาร์โด ดาวินซี (พ.ศ.๑๙๙๕ - ๒๐๖๒) ได้เขียนภาพและคำอธิบายร่มชูชีพรูปร่างแบบพีระมิด ร่มชูชีพสมัยใหม่เริ่มขึ้นในกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งใช้ในงานแสดง โดยการปล่อยลงมาจากบอลลูนอากาศร้อน และได้ทดลองใช้ร่มชูชีพกันตลอดพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ต่อมาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจึงได้มีการออกแบบร่มชูชีพขึ้นใช้โดยเฉพาะกับนักบิน         ๒๔/๑๕๖๓๘
                ๔๖๓๘. รวก  เป็นไม้ไผ่ชนิดหนึ่งเรียกว่า ไผ่รวกหรือไม้รวก ไผ่รวกเป็นไผ่ชนิดออกดอกแล้วไม่ตายเป็นไผ่ที่สวยงามขึ้นเป็นกอแน่น ลำต้นตรง ไม่แตกแขนงตอนโคน ปลายยอดโค้งลง ต้นสูงได้ถึง ๑๕ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางปล้องตอนโคนประมาณ ๓๐ ซม. เนื้อผนังหนาผิวเรียบ สีเขียว ข้อเรียบ
                    ไผ่รวกเป็นพืชพื้นเมืองของพม่าและไทย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ หน่อไผ่รวกใช้เป็นอาหารได้แก่ รสขื่น ไม้ไผ่รวกใช้ในการก่อสร้างเช่น ทำรั้วและทำเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เครื่องมือกสิกรรม เครื่องเรือน เครื่องจักรสาน ทำเยื่อกระดาษ         ๒๔/๑๕๖๔๑
               ๔๖๓๙. รสสุคนธ์ - ต้น  เป็นชื่อเถาไม้เลื้อย ลำเถาของรสสุคนธ์เป็นเนื้อไม้แข็ง มีขนาดเล็ก อาจพันพาดต้นไม้อื่น หรือทอดนอนไปตามดิน แล้วเกิดกระจกราก และแตกกอ ยอดใหม่ตรงบริเวณที่เถาแนบกับพื้นดิน ใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนรอบกิ่งรูปรีหรือรูปไข่ ขอใบหยักตื้น และหยักเป็นรูปฟันเลื่อยตามขอบบริเวณใกล้ปลายใบ
                    ช่อดอกมีดอกห่าง ๆ ยาว ๕ - ๑๐ ซม. เกิดที่ซอกใบและปลายกิ่งเป็นช่อแยกแขนง ดอกขนาดเล็กสีขาว กลิ่นหอมเย็น ดอกบานไม่ทน ผลรูปรียาว ๗ - ๘ มม. กว้าง ๔ -๕ มม.           ๒๔/๑๕๖๔๔
                ๔๖๔๐. รอก  เป็นเครื่องกลอย่างง่ายชนิดหนึ่ง ลูกล้อที่ทำด้วยไม้ หรือโลหะที่มีแกนกลาง และหมุนได้คล่องรอบตัวตามขอบโดยรอบเป็นร่องสำหรับคล้องเชือก หรือโซ่ให้แนบติดกับตัวรอก สำหรับตอนนอกเป็นโครงไม้หรือโครงโลหะยึดติดกับแกนกลางของตัวรอกอีกทีหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับแขวนหรือห้อยตัวรอกได้ เราจำแนกประเภทรอกได้ต่าง ๆ กัน คือ
                       รอกเดี่ยวตายตัว  ประกอบด้วย รอกหนึ่งตัว ห้อยแขวนตายตัว เวลาใช้งานใช้เชือกหรือโซ่เส้นเดียวคล้องร่องรอยตัวรอก ปลายข้างหนึ่งสำหรับใช้ดึง คือออกแรงพยายามส่วนอีกปลายหนึ่งสำหรับใช้ผูกกับน้ำหนักที่จะยก เมื่อรอกอยู่ในภาวะสมดุลจะได้ความพยายามเท่ากับความต้านทานเสมอไป
                        รอกเดี่ยวเคลื่อนที่  ประกอบด้วย รอกหนึ่งตัวใช้เชือกหรือโซ่คล้องรอกนอกปลายข้างหนึ่งผูกติด หรือแขวนกับที่ยึด ส่วนอีกปลายหนึ่งใช้สำหรับดึง ส่วนน้ำหนักที่จะยกแขวนกับตอนล่างของโครงรอกในการจัดรอกเช่นนี้ เมื่อออกแรงความพยายามเพื่อยกน้ำหนักขึ้น ตัวรอกจะเคลื่อนที่ไปตามเส้นเชือก หรือโซ่ที่คล้องรอบนอกในทางปฏิบัติ ย่อมเกิดความไม่สะดวก ตรงที่ต้องออกแรงความพยายามดึงขึ้น ในทางปฏิบัติจึงติดรอกอีกตัวหนึ่งให้ตายตัวกับที่ยึด และคล้องเชือก หรือโซ่เข้ากับรอกตัวนี้วนลงมาสำหรับใช้ดึงได้โดยสะดวก แรงดึงตลอดเส้นเชือก หรือโซ่ย่อมมีค่าสม่ำเสมอ
                        รอกพวง  ประกอบด้วย รอกหลายตัวรวมกันจัดแบ่งได้เป็นสามระบบ คือ
                           ระบบที่หนึ่ง  น้ำหนักที่จะยกห้อยอยู่กับรอกตัวล่างสุดมีรอกกี่ตัวก็ใช้เชือกหรือโซ่เท่านั้นเส้นปลายเชือกหรือโซ่ของทุกเส้นผูกติดกับขือ ส่วนอีกปลายหนึ่งห้อยลงมาคล้องรอกวนขึ้นไปผูกกับตอนล่างของโครงรอกตัวถัดขึ้นไป ทำดังนี้เรื่อยไปจนครบทุกตัวรอก
                           ระบบที่สอง  ประกอบด้วย รอกสองตัว แต่ละตัวมีรอกหลายตัว ตัวบนแขวนห้อยตายตัวกับขื่อใช้เชือก หรือโซ่เส้นเดียวคล้องวนรอบรอกทุกตัวทั้งสองตับ น้ำหนักที่จะยกผูกห้อยกับส่วนล่างของรอกตัวล่างสุดของตับล่าง
                           ระบบที่สาม  ใช้เชือกหรือโซ่ มีจำนวนเท่ากับจำนวนรอก รอกตัวบนสุดแขวนห้อยตายตัวกับขื่อ ปลายหนึ่งของเชือกหรือโซ่ทุกเส้นผูกติดกับคาน ซึ่งแขวนน้ำหนักที่จะยกให้วนเชือกขึ้นไปคล้องรอก แล้วผูกปลายที่เหลือกับโครงของรอกตัวล่างที่อยู่ถัดลงมา ทำดังนี้จนครบทุกตัวรอก เชือกหรือโซ่เส้นสุดท้าย เมื่อคล้องวนรอกตัวล่างสุดแล้วเหลือปลายข้างหนึ่งไว้สำหรับดึง         ๒๔/๑๕๖๔๕
               ๔๖๔๑. ร้องกวาง  อำเภอขึ้น จ.แพร่ ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอน มีป่าไม้ ตอนตะวันออกเป็นป่ามีภูเขา ตอนตะวันตกเป็นที่ราบ ทำนาได้
                    อ.ร้องกวางเดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.สอง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐         ๒๔/๑๕๖๕๐
               ๔๖๔๒. ร่องคำ  อำเภอขึ้น จ.กาฬสินธุ์ ภูมิประเทศเป็นที่ดอน ดินปนทรายค่อนข้างกันดารน้ำ พื้นที่มีลักษณะสูง ๆ ต่ำ ๆ คล้ายลูกคลื่น ลาดจากตอนเหนือลงสู่ตอนใต้ของอำเภอ
                    อ.ร่องคำ เดิมตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖           ๒๔/๑๕๖๕๑
               ๔๖๔๓. รองช้ำ  เป็นการอักเสบเฉียบพลันชั้นใต้ผิวหนัง อาจเกิดได้ทั่วร่างกายที่มีชั้นใต้ผิวหนังค่อนข้างหนา เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้าเกิดขึ้นเพราะเชื้อลุกลาม เนื่องจากผิวหนังหรืออวัยวะอื่น ๆ อักเสบ โดยเชื้อนั้นจะกระจายมาตามชั้นใต้ผิวหนัง         ๒๔/๑๕๖๕๒
                ๔๖๔๔. ร่อนพิบูลย์  อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอนสูง มีคลองแบบชายเขาตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุก และแร่วุลแฟรม ตอนใต้เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา         ๒๔/๑๕๖๕๓
                ๔๖๔๕. ร้อยกรอง  เป็นรูปแบบของคำประพันธ์ประเภทหนึ่งต่างจากคำประพันธ์ร้อยแก้ว ร้อยกรองเป็นคำประพันธ์ที่วิจิตรบรรจง เพราะมีกฎเกณฑ์ และอลังการทางภาษาประกอบ ทำให้มีความไพเราะซาบซึ้ง ซึ่งกวีเท่านั้นจึงจะสามารถรจนาได้ ดังนั้นบางทีจึงมีผู้เรียกบทประพันธ์ร้อยกรองว่า กวีนิพนธ์ หรือกวีวัจนะ
                        ลักษณะที่สำคัญที่สุดอันเป็นเครื่องบังคับของการแต่งบทร้อยกรองก็คือสัมผัส ซึ่งแบ่งออกเป็นสามชนิด คือ
                            ๑. สัมผัสพยัญชนะหรือสัมผัสอักษร
                            ๒. สัมผัสสระ
                            ๓. สัมผัสวรรณยุกต์
                        การประพันธ์ร้อยกรองแบ่งเป็นหกประเภทคือ โคลง กลอน ร่าย กาพย์ ฉันท์ และเพลงพื้นเมือง
                      คำประพันธ์ประเภทกลอน  คือ เอากลอนแปดเป็นหลักบางทีเรียกว่า กลอนตลาด แต่ถ้าลดคำลงเป็นกลอนหก และกลอนเจ็ด ถ้าเพิ่มคำอีกคำหนึ่งจะเป็นกลอนเก้า รวมทั้งหมดเรียกว่า กลอนสุภาพ หรือกลอนผสม
                        กลอนสุภาพใช้แต่งบทละครใน ละครนอก เสภา นิราศ เพลงยาว นิทาน ดอกสร้อย และสักวา และยังใช้แต่กลบทชนิดต่าง ๆ อีกด้วย
                        ยังมีกลอนอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า กลอนเพลงพื้นเมือง เช่น เพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงปรบไก่ เพลงชาวไร่ (ระบำชาวไร่) เพลงชาวนา เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพิษฐาน (อธิษฐาน) เพลงโคราช และเพลงรำอีแซว
                      คำประพันธ์ประเภทโคลง  เดิมเป็นโคลงโบราณแปดชนิดที่มีระบุไว้ในคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินีและคัมภีร์กาพยคันถะ ต่างกับโคลงในสมัยปัจจุบัน คือ โคลงสี่สุภาพ โคลงคั้นวิวิธมาลี และโคลงคั้นบาทกญชรตรงที่โคลงโบราณเหล่านั้นไม่บังคับเอก - โท แต่โคลงปัจจุบันบังคับเอกโท ตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ในแผนคือ เอกเจ็ดแห่งและโทสี่แห่ง
                      คำประพันธ์ประเภทร่าย  เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่งที่ใช้แต่งผสมกับโคลงในลิสิตสายชนิดคือ ร่ายโบราณ ร่ายสุภาพ และร่ายคั้น
                        ส่วนร่ายอีกชนิดหนึ่งใช้แต่งโดด ๆ ไม่ใช้แต่งลิสิต คือร่ายยาว ซึ่งบางทีเรียกว่า กลอนเทศน์ ตัวอย่างร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
                      คำประพันธ์ประเภทกาพย์  เป็นคำประพันธ์ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับฉันท์เพียงแต่ไม่บังคับ ครุ - ลหุ เท่านั้นเอง ตัวอย่างคือ กาพย์ยานี ซึ่งก็คืออินทรวิเชียรฉันท์ที่ไม่บังคับครุ - ลหุ นั่นเอง กาพย์อาจจะแต่งโดด ๆ ก็ได้ แต่ถ้าใช้แต่งประสมกับคำประพันธ์ชนิดอื่น ก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น กาพย์ยานีหนึ่งบท ผสมโคลงสี่สุภาพหนึ่บท เรียกว่า กาพย์ห่อโคลง ถ้าขึ้นต้นด้วยโคลงสี่สุภาพหนึ่งบทต่อด้วยกาพย์ยานีกี่บทก็ได้เรียกว่า กาพย์เห่ หรือกาพย์เห่เรือ ถ้าขึ้นต้นด้วยโคลงสี่สุภาพ แล้วต่อด้วยกาพย์สุรางคนางค์ก็เรียกว่า กาพย์ขับไม้
                      คำประพันธ์ประเภทฉันท์  ได้แบบแผนมาจากอินเดียและลังกาโดยตรงคำว่าฉันท์แบ่งฉันท์ออกเป็นสองชนิดคือ ฉันท์ประเภทวรรณพฤติ ๘๑ ชนิด และมาตราพฤติ ๒๗ ชนิด ฉันท์วรรณพฤติประกอบด้วยพยางค์ คือ หนึ่งพยางค์นับเป็นหนึ่งคำ แต่ฉันท์มาตราพฤติกำหนดด้วยมาตรา โดยนับเลียงเบาหรือลหุเป็นหนึ่งมาตรา         ๒๔/๑๕๖๖๐
               ๔๖๔๖. ร้อยแก้ว  ภาษาพูดหรือภาษาเขียนที่นับว่าเป็นร้อยแก้วจริง ๆ ต้องเป็นภาษาที่มีระเบียบเข้าใจง่าย และมีความไพเราะตามความสมควร การเขียนร้อยแก้วที่มีกฎเกณฑ์นั้น ต้องประกอบด้วยโวหาร คือ ท่วงทำนองในการเขียน ซึ่งแบ่งออกเป็นสามอย่างคือ บรรยายโวหาร พรรณาโวหาร และเทศนาโวหาร แต่บางตำราได้เพิ่มอุปมาโวหาร และสาธกโวหารเข้าไปอีกสองอย่าง
                                ๑. บรรยายโวหาร หมายถึง การใช้ถ้อยคำที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาและมีความกระชับเป็นโวหารที่ใช้ในการเขียนรายงานจดหมายธุรกิจ บันทึกการเดินทางและท่องเที่ยว ตำรา และอื่น ๆ
                                ๒. พรรณาโวหาร คือ การใช้ถ้อยคำอย่างละเอียดถี่ถ้วนและวิจิตรบรรจงจุดประสงค์ของการใช้โวหารนี้ก็คือ มุ่งพรรณาให้เกิดความซาบซึ้งดื่มด่ำในข้อความนั้น ๆ และเห็นภาพชัดเจนในความคิดคำนึง พรรณาโวหารมุ่งแสดงความไพเราะของภาษามากกว่าที่จะคำนึงในแง่ความจริง
                                ๓. เทศนาโวหาร เป็นโวหารที่มุ่งแสดงความรู้สึกนึกคิดไปยังอีกฝ่ายหนึ่งให้เห็นจริงและคล้อยตาม คำว่าเทศนา โดยรูปศัพท์แปลว่า การแสดงให้เห็น         ๒๔/๑๕๖๖๑
               ๔๖๔๗. ร้อยเอ็ด  จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.กาฬสินธุ์ ทิศตะวันออกจด จ.ยโสธร ทิศใต้จด จ.สุรินทร์ ทิศตะวันตกจด จ.มหาสารคาม อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ ตามทางหลวงแผ่นดินประมาณ ๔๗๐ กม. ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง
                    จ.ร้อยเอ็ด มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่าเป็นเมืองโบราณอ้างไปถึงพุทธศักราชล่วงไปได้ประมาณร้อยปีเศษ เมืองนี้เป็นเมืองที่เจริญ มีเมืองขึ้นถึงร้อยเอ็ดหัวเมือง ตำนานอรังคธาตุเรียก เมืองร้อยเอ็ดว่า เมืองร้อยเอ็ดเจ็ดประตู ในประชุมพงศาวดารภาคที่สี่ว่า ในปี พ.ศ.๒๓๑๘ ท้าวทนได้เข้าหาพระยาพรหม พระยากรมท่าทั้งสองท่านเห็นว่า ท้าวทนมีผู้คนบ่าวไพร่ความคุมอยู่มาก จึงบอกไปยังกรุงธนบุรี ขอตั้งท้าวทนเป็นเจ้าเมืองโดยยกบ้านกุม ซึ่งเป็นเมืองร้อยเอ็ดเท่าขึ้นเป็นเมืองแล้ว โปรดให้ท้าวทนเป็นพระขัตติยวงศ์เจ้าเมืองร้อยเอ็ด
                    ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๓ การปกครองหัวเมืองภาคตะวันออกในครั้งนั้นจัดเป็นบริเวณมีสี่บริเวณ เมืองร้อยเอ็ดเป็นบริเวณหนึ่งขึ้นต่อข้าหลวงเมืองอุบลราชธานี ซึ่งขึ้นตรงต่อข้าหลวงใหญ่นครจำปาศักดิ์ ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๔ ได้แบ่งเขตการปกครองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสามมณฑล เมืองร้อยเอ็ดขึ้นอยู่ในมณฑลลาวกาว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓ แบ่งหัวเมืองมณฑลอีสานออกเป็นห้าบริเวณ บริเวณร้อยเอ็ดมีห้าเมือง คือ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม เมืองกาฬสินธุ์ เมืองกมลาไสย และเมืองสุวรรณภูมิ ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๑ เปลี่ยนชื่อบริเวณร้อยเอ็ดเรียกจังหวัดร้อยเอ็ด ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๕ แยกมณฑลอีสานออกเป็นสองมณฑล คือมณฑลอุบลราชธานีและมณฑลร้อยเอ็ด ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๕ ข้าหลวงใหญ่นครจำปาศักดิ์ ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๔ ได้แบ่งเขตการปกครองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสามมณฑล เมืองร้อยเอ็ดขึ้นอยู่ในมณฑลลาวกาว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓ แบ่งหัวเมืองมณฑลอีสานออกเป็นห้าบริเวณ บริเวณร้อยเอ็ดมีห้าเมือง คือ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม เมืองกาฬสินธุ์ เมืองกมลาไสย และเมืองสุวรรณภูมิ ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๑ เปลี่ยนชื่อบริเวณร้อยเอ็ดเรียกจัวหวัดร้อยเอ็ด ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๕ แยกมณฑลอีสานออกเป็นสองมณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๕ รวมมณฑลอุดร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานีขึ้นเป็นภาคเรียกว่า ภาคอีสาน เมื่อเลิกการปกครองเป็นภาคแล้ว จึงให้จังหวัดต่าง ๆ ในมณฑลร้อยเอ็ดและมณฑลอุบลราชธานีมาขึ้นมณฑลนครราชสีมา ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ถึงปี พ.ศ.๒๔๗๙ เลิกการปกครองมณฑล จ.ร้อยเอ็ดจึงขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย
                    จ.ร้อยเอ็ดมีโบราณสถานเป็นปรางค์ย่อม ๆ ก่อด้วยศิลา และอยู่มากแห่งเรียกว่า กู่ เช่น กู่บ้านด่าน กู่เขาสิงห์         ๒๔/๑๕๖๖๕
                ๔๖๔๘. ระกำ - ต้น  เป็นปาล์มที่เลื้อยด้วยไหลไปตามดิน มักอยู่กันเป็นกอ ลำต้นอยู่ใต้ดินและส่งตันสั้น ๆ ขึ้นมาเหนือดิน ใบประกอบแบบขนนก ยาว ๓ - ๗ เมตร มีหนามแหลมแบนตั้งฉากกับก้านใบ ช่อดอกเพศผู้แบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อหางกระรอก ช่อดอกเพศเมียแบบแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจกสีแดง ผลแบบผลเมล็ดแข็งรูปไข่ กลีบขนาดประมาณ ๒.๕ ซม. รวมกันเป็นกระจุกแน่น
                    ระกำที่เป็นพันธุ์ดี เช่น สละ จะเป็นพืชปลูก การขยายพันธุ์ไม่นิยมเพาะเมล็ด เนื่องจากเกิดการกลายพันธุ์ ใช้สกัดหน่อและหั่นลำต้นเป็นข้อ ๆ ให้มีตาติดอยู่แล้วนำไปชำในแกลบดำ         ๒๔/๑๕๖๖๗
                ๔๖๔๙. ระแงะ  อำเภอขึ้น จ.นราธิวาส ภูมิประเทศโดยมากเป็นป่าและเขา มีที่ราบน้อย พลเมืองโดยมากเป็นไทยอิสลาม ทำสวนยางพารา สวนผลไม้และทำนา
                    อ.ระแงะเดิมเป็นเมืองเรียกว่าเมืองระแงะ มีพระยาเมืองปกครองต่อมายุบเป็นอำเภอตั้งที่ว่าการอยู่ใกล้กับบ้านร่อน จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า อ.ร่อน เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ตันหยงมัส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ แล้วเปลี่ยนเป็น อ.ระแงะ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         ๒๔/๑๕๖๖๙
                ๔๖๕๐. ระดู  เป็นสิ่งที่ถูกขับออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือนประกอบด้วยเลือดเป็นส่วนใหญ่ จึงมีสีแดง ส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่เยื่อบุมดลูกและเมือก โดยปรกติจะมีระดูออกมาทุก ๆ สี่สัปดาห์ จึงมักเรียกว่า ประจำเดือน
                    ช่วงอายุของผู้หญิงที่มีระดูเป็นช่วงเจริญพันธุ์ คือ เริ่มมีระดูเมื่ออายุได้ ๑๓ - ๑๔ ปี และจะถึงวัยหมดระดู เมื่ออายุ ๔๕ - ๕๕ ปี         ๒๔/๑๕๖๖๙
               ๔๖๕๑. ระนอง  จังหวัดภาคใต้มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกตกแม่น้ำกระบุรี และทะเลอันดามัน ทิศตะวันออกจด จ.ชุมพร ทิศใต้จด จ.พังงา และจ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศทั่วไปเป็นป่าและภูเขา มีที่นาบริบูรณ์อยู่แต่ในท้องที่ อ.กระบุรี และอ.กะเปอร์ เท่านั้น ตามฝั่งทะเลมีเกาะใหญ่น้อยอยู่หลายเกาะ
                    จ.ระนอง เดิมเป็นท้องที่ขึ้น จ.ชุมพร ด้านตะวันตก ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามเมือง คือ เมืองมลิวัน (ปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่า) เมืองกระ และเมืองระนอง สองเมืองหลังนี้รวมกันเป็น จ.ระนอง เมืองระนองมีชื่อปรากฎอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่หนึ่งและที่สอง ว่าเป็นเมืองหนึ่งที่พม่ายกทัพผ่านเข้ามา เพื่อไปตีเมืองชุมพรเท่านั้น ต่อมาเมืองระนองเห็นว่าร่วงโรยไป เพราะปรากฎในประวัติพระยาดำรงสุจริต (คอซูเจียง) ต้นตระกูล ณ ระนอง ว่าเมื่อครั้งที่ได้พาพวกจีนเข้ามาทำเหมืองขุดแร่ และค้าขายที่เมืองระนองว่าเป็นป่ารกร้างว่าเปล่าอยู่มากมีราฎรไทย - จีน ตั้งบ้านเรือนอยู่เพียง ๑๗ หลังคาเรือนเท่านั้น ต่อมาจึงเจริญขึ้นถึงปี พ.ศ.๒๓๘๗ รัชกาลที่สาม จึงโปรดให้คอซูเจียง คือพระยาดำรงสุจริตเป็นผู้ว่าราชการเมืองระนองขึ้นเมืองชุมพร ถึงปี พ.ศ.๒๔๐๕ ได้ยกเมืองระนองขึ้นเป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ เมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑล เมืองระนองไปขึ้นมณฑลภูเก็ตแล้วเปลี่ยนมาเป็น จ.ระนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖         ๒๔/๑๕๖๗๑
                ๔๖๕๒. ระนาด  เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี เรียกระนาดอย่างเก่าที่มีเสียงแกร่งกร้าวว่าระนาดเอก และเรียกระนาดที่ให้เสียทุ้มว่าระนาดทุ้ม
                    ระนาดเอกเป็นเครื่องดนตรีนำมาวงปี่พาทย์ เพราะไม่ว่าจะเริ่มเล่นเพลง หรือเปลี่ยนเพลงทั้งวงจะยึดแนวของระนาดเอกเป็นหลัก นอกจากนี้ระนาดเอกยังเป็นเครื่องดนตรีหลักในการนำไปผสมวง เช่น วงปี่พาทย์เครื่องห้า ปี่พาทย์เครื่องคู่ ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ปี่พาทย์มอญ ปี่พาทย์หางหงส์ หรือแม้ในวงมโหรีไม่ว่าเป็นเครื่องเล็ก เครื่องคู่หรือเครื่องใหญ่ก็ใช้ระนาดเอกเป็นหลักทั้งสิ้น
                    ระนาดทุ้ม สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เลียนแบบระนาดเอก ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ทั่วไป มีวิธีการบรรเลงเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างไปจากระนาดเอก คือไม่ได้ยึดการบรรเลงคู่แปดเป็นหลัก การดำเนินทำนองที่ล้อขัดกับระนาดเอก ทำให้เกิดความสนุกสนานน่าฟังยิ่งขึ้น
                    นอกจากนั้นยังมีระนาดชนิดอื่น ๆ อีก เช่น ระนาดทอง ระนาดเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็ก         ๒๔/๑๕๖๗๓
               ๔๖๕๓. ระโนด  อำเภอขึ้น จ.สงขลา มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทยทางทิศตะวันตกตกทะเลสาปสงขลา ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบลุ่ม ติดต่อกับทะเลถึงสองด้าน มีคลองระโนดติดต่อกับคลองปากพนัง
                    อ.ระโนด เดิมเป็นเมืองขึ้น เมืองสงขลา เมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลได้ยุบเมืองระโนดเป็นกิ่ง อ.ระโนด ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอ         ๒๔/๑๕๖๗๖
               ๔๖๕๔. ระเบิด  เป็นกิริยาการปลดปล่อยพลังงานออกมาอย่างรวดเร็วและรุนแรง การระเบิด อาจเกิดจากวัตถุระเบิด หรือเกิดจากการระเบิดของภาชนะ ที่มีความดันภายในมากเกินกว่ากำลังของภาชนะนั้นจะทนทานได้ การระเบิดของวัตถุระเบิดเป็นการแปรสภาพหรือการสลายตัวทางเคมี มีการคายความร้อน และเกิดแก๊สที่มีความดันมหาศาล การระเบิดทางกลมีความรุนแรงน้อยกว่าการระเบิด ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางเคมี
                    วัตถุระเบิดอาจแบ่งออกตามลักษณะของปฏิกิริยาได้เป็นสองกลุ่ม
                        กลุ่มแรกเรียกว่า วัตถุระเบิดแรงต่ำ มีอัตราเร็วในการสลายตัวสูงสุดถึงประมาณ ๔๐๐ เมตรต่อวินาทีได้แก่ดินดำและดินส่งกระสุน
                        กลุ่มที่สองเรียกว่า วัตถุระเบิดแรงสูง มีอัตราเร็วในการสลายตัว ๔,๐๐๐ - ๘,๕๐๐ เมตรต่อวินาที
                    วัตถุระเบิดทุกชนิดจะต้องมีตัวจุดที่เหมาะสมมาจุดจึงจะทำงานได้
                    วัตถุระบิดมีใช้ทั้งทางพาณิชย์และทางทหาร         ๒๔/๑๕๖๗๗
                ๔๖๕๕. ระยอง จังหวัดภาคตะวันออกเป็นเมืองชายทะเลทางฝั่งตะวันออกมีอาณาเขตทางทิศเหนือและตะวันตกจด จ.ชลบุรี ทิศตะวันออกจด จ.จันทบุรี ทิศใต้ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นที่ราบตอนเหนือเป็นภูเขาและป่าดง ไปจนถึงตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนใต้เป็นที่ลุ่ม
                    จ.ระยองมีชื่อในพงศาวดารมาแต่ปี พ.ศ.๒๑๑๓ เมื่อพระยาสะแวกยกกองทัพเข้ากวาดต้อนชาวระยองไปด้วย จ.ระยองมีสิ่งสำคัญคือ เกาะเสม็ดและแม่น้ำสามสายคือ แม่น้ำระยอง แม่น้ำประแส และแม่น้ำพังราด มีสถานที่ท่องเที่ยวคือ ถ้ำโบสถ์และถ้ำสะแรกที่ภูเขาวงใน อ.แกลง มีอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ที่ต.บ้านกร่ำ         ๒๔/๑๕๖๘๓


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch