หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/135
    ๔๖๐๘. ยุทธกีฬา  เริ่มใช้คำนี้ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ หมายถึงการจำลองยุทธ ซึ่งถือเป็นกีฬาโดยใช้ทหาร พร้อมด้วยยุทโธปกรณ์ แสดงเป็นเชิงกีฬาในพื้นที่จำกัด หรือในสนามกีฬา         ๒๔/๑๕๕๑๕
                ๔๖๐๙. ยุทธวิธี  เป็นศิลปะและอุบายในการใช้กำลังของหน่วยทหาร อาวุธและอุปกรณ์ในการรบเข้าปะทะ หรือต่อสู้กับข้าศึกทั้งทางบก ทางทะเลและทางอากาศ โดยจัดวางกำลัง และดำเนินกลยุทธ์อย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้การปฏิบัติงานของหน่วยต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กัน หรือเพื่อให้ข้าศึกแสดงศักยภาพของตนออกมาอย่างเต็มที่
                    ยุทธวิธีมีความสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์กล่าวคือ ยุทธศาสตร์หรือวิชาการรบคือ การค้นหาวิธีการจัดกำลัง วางกำลังและเคลื่อนย้ายกำลังของฝ่ายหนึ่ง เข้าสู่พื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง หรือยุทธบริเวณ เพื่อให้อยู่ในสภาพได้เปรียบฝ่ายหนึ่งในการรบมากที่สุด เมื่อเสร็จสิ้นขึ้นตอนนี้แล้วการปฏิบัติการ เพื่อให้ข้าศึกพ่ายแพ้ โดยใช้กลอุบายเป็นเรื่องของยุทธวิธี ถ้ายุทธวิธีล้มเหลว ก็จะทำให้ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ไม่มีความหมาย         ๒๔/๑๕๕๑๖
                ๔๖๑๐. ยุทธศาสตร์  เป็นศิลป์และศาสตร์ในการพัฒนาการใช้กำลังอำนาจทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคมจิตวิทยา และกำลังทหารตามความจำเป็น ทั้งในยามสงบและยามสงคราม เพื่อทำให้ได้รับการสนับสนุนอย่างสูงสุดต่อนโยบายด้านต่าง ๆ เพื่อมุ่งที่จะเพิ่มพูนโอกาส และผลของชัยชนะในทางที่ดี และลดโอกาสของการพ่ายแพ้ให้น้อยลง
                    ยุทธศาสตร์แบ่งออกเป็นสองระดับคือ ระดับชาติเรียกว่า ยุทธศาสตรชาติและระดับกระทรวงกลาโหมเรียกว่า ยุทธศาสตร์ทหาร
                    ยุทธศาสตรชาติ คือ ศิลป์และศาสตร์ในการพัฒนา และการใช้กำลังอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม จิตวิทยาของชาติร่วมกับกำลังทหารทั้งในยามสงบ และยามสงคราม เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์ของชาติ
                    ยุทธศาสตร์ทหาร คือ ศิลป์และศาสตร์ในการใช้กำลังรบของชาติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์ของชาติโดยการใช้กำลัง หรือคุกคามว่าจะใช้กำลัง         ๒๔/๑๕๕๓๓
               ๔๖๑๑. ยุทธหัตถี  มีบทนิยามว่า "การต่อสู้กันด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นวิธีการรบอย่างกษัตริย์ในสมัยโบราณ" หมายถึงการต่อสู้ระหว่างช้างศึกกับช้างศึก และระหว่างผู้ที่อยู่บนคอช้างด้วย
                    ในประวัติศาสตร์ของไทยมีการต่อสู้แบบยุทธหัตถีหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยา รวมห้าครั้ง สมัยสุโขทัยสองครั้งและสมัยอยุธยาสามครั้ง ครั้งที่สำคัญที่ยิ่งใหญ่เหนือครั้งใด ๆ คือครั้งที่ห้าเป็นการทำยุทธหัตถี ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชา แม่ทัพพม่าที่หนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี พระองค์ทรงจ้วงฟันพระมหาอุปราชาด้วยพระแสงของ้าว ถูกพระอังสาขวาสิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้าง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ได้ทรงชนช้างกับเจ้าเมืองมังจาปะโร และฟันเจ้าเมืองมังจาปะโรตายเช่นกัน         ๒๔/๑๕๕๓๕
                ๔๖๑๒. ยุธิษเฐียร ๑  เป็นพี่ชายคนโตของพี่น้องปาณฑพในหมากาพย์มหาภารตะของอินเดีย เป็นโอรสท้าวปาณฑุ บิดาของท้าวปาณฑุ คือ ฤาษีกฤษณะ ไทวปายนะวยาส ผู้รจนามหากาพย์มหาภารตะ
                    ท้าวปาณฑุมีโอรสห้าองค์ คือ ยุธิษเฐียร ภีมะ อรชุน นกุลและสหเทพ สามองค์แรกเกิดจากนางกุนตีสององค์หลังเป็นฝาแฝดเกิดจากนางมาทฺรี พี่น้องทั้งห้าองค์เรียกรวมกันว่าปาณฑพ
                    พี่น้องปาณฑพมีศัตรูคู่แข่งอยู่กลุ่มหนึ่งคือ พี่น้องเการพจำนวนร้อยองค์ (เป็นหญิงหนึ่งองค์) ทั้งหมดเป็นโอรส และธิดาของท้าวธฤตราษฎร์ผู้เป็นปิตุลา (ลุง) ของพวกปาณฑพ พวกเการพมีท้าวทุรโยชน์เป็นพี่คนโต พี่น้องสองกลุ่มนี้เจริญวัยมาด้วยกันในนครหัสตินาปุระ ซึ่งว่ากันว่าใกล้กรุงนิวเดลี นครหลวงของอินเดียในปัจจุบัน กลุ่มเการพได้ใช้เล่ห์เพทุบาย ให้กลุ่มปาณฑพต้องไปพเนจรอยู่ในป่าชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในช่วงนี้พี่น้องปาณฑพได้นางเทราปที หรือนางกฤษณาธิดาของท้าวทฺรุปัทราชา แห่งแคว้นปัญจาละ มาเป็นชายาร่วมของพี่น้องปาณฑพทั้งห้าองค์
                    ต่อมาพี่น้องปาณฑพเล่นสะกาแพ้พนันพวกเการพต้องเสียทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเดิมพัน ตลอดจนราชอาณาจักร และแม้แต่นางเทราปที ผู้เป็นชายาต้องสละบ้านเมืองไปอยู่ป่า เป็นเวลาสิบสามปี เมื่อครบกำหนดแล้ว ฝ่ายเการพไม่ยอมให้ฝ่ายปาณฑพกลับเข้าเมืองอินทรปรีสต์ตามเดิมจึงเกิดสงครามาใหญ่ มีชื่อว่ามหาภารตยุทธ์ สงครามดำเนินไปในทุ่งราบกุรุเกษตรเป็นเวลาสิบแปดดัน พี่น้องปาณฑพเป็นฝ่ายชนะได้ครอบครองทั้งนครหัสติน่าปุระและนครอินทรปรีสถ์ พี่น้องเการพทั้งร้อยองค์สิ้นชีวิตในสงคราม
                    ต่อมาพี่น้องปาณฑพทั้งห้าองค์ รวมทั้งนางเทราปทีได้พร้อมใจกันสละราชสมบัติออกไปใช้ชีวิตแบบนักบวชในป่าตามอุดมการลานปฺรสฺถของฮินดู         ๒๔/๑๕๕๓๙
               ๔๖๑๓. ยุธิษเฐียร ๒  เป็นเชื่อเฉพาะของพระยายุธิษเฐียร เจ้าเมืองสองแคว (พิษณุโลก)  มีการอ้างถึงในหนังสือยวนพ่าย ตำนานสิบห้าราชวงศ์ พงศาวดารโยนก พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ฯ และนิทานโบราณคดีของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑)  พระยาสองแควคิดเอาใจออกห่าง ไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกรากษัตริย์เมืองเชียงใหม่ แล้วนัดแนวกันให้ตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย ความทราบถึงพระกรรณ จึงโปรดให้เอาตัวมาชำระขึ้นชื่อว่า ยุธิษเฐียรเป็นกบฎแต่นั้นมา
                    เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปราบปรามได้เรียบร้อยแล้ว ก็ทรงตั้งพระราชวังเมือง เป็นผู้ครองนครแทนพระยายุธิษเฐียรต่อไป         ๒๔/๑๕๕๔๓
                ๔๖๑๔. ยุพราช  ในกฎมณเฑียรบาลพ.ศ.๒๔๖๗ ในหมวดที่สองได้ให้ความหมายคำว่า ยุพราชไว้ดังนี้
                    สมเด็จพระยุพราชคือ พระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชทานยุพราชภิเษก หรือโดยพิธีอย่างอื่น สุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ"
                    เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงประกาศ ฯ ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหาอุปราชหรือวังหน้า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ แล้ว ทรงมีพระราชดำริฟื้นฟูตำแหน่งพระรัชทายาท ซึ่งตั้งไว้ในกฎมณเฑียรบาล สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง) ว่าพระราชโอรสองค์ใหญ่ มีฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า คือ รัชทายาท เพื่อจะได้สอดคล้องกับระเบียบราชประเพณี สืบราชสันตติวงศ์ตามอย่างนานาประเทศ ซึ่งมีประเพณีการตั้งพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เป็นมกุฎราชกุมาร ดำรงตำแหน่งรัชทายาทพร้อมี่จะสืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป
                    เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชกุมารพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีพระชนมายุเก้าพรรษาในปี พ.ศ.๒๔๒๙ ถึงเวลาที่จะประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระยศ พระนามตามจารึตของเจ้าฟ้าตามพระราชประเพณึโบราณคือ พระราชพิธีเฉลิมพระนามจารึกพระสุพรรณบัฎ สถาปนาสมเด็จพระลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ดำรงตำแหน่งรัชทายาทตำแหน่งวังหน้า หรือพระมหาอุปราชแต่เดิม ซึ่งได้ประกาศยกเลิกแล้วนั้นในพระราชพิธีนี้ด้วย         ๒๔/๑๕๕๔๓
               ๔๖๑๕. ยูง - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เรือนยอดกลม แผ่สาขากว้าง ลำต้นเปลากลม สูง ๓๐ - ๔๐ เมตร ใบรูปรีแกมรูปไข่ กลีบดอกสีขาวมีแถบแดงตรงกลางกลีบ ผลโต เนื้อไม้สีน้ำตาล ใช้ในการก่อสร้างและอุตสาหกรรมไม้ยางไม้อัด         ๒๔/๑๕๕๕๐
               ๔๖๑๖. ยูง - นก  เป็นนกที่มีขนาดใหญ่มาก ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย สีสันโดยทั่วไปของนกยูงเป็นสีเขียวสด นกยูงจะอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ แต่ละฝูงประกอบด้วย ตัวผู้หนึ่งตัว และตัวเมีย ๓ - ๕ ตัว หลังฤดูผสมพันธุ์แล้วมักจะพบตัวเมียและลูก ๆ ตามลำพัง นกยูงทำรังตามพื้นดินโดยตัวเมียทำหน้าที่สร้างรัง
                    นกยูงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่หนึ่ง         ๒๔/๑๕๕๕๑
               ๔๖๑๗. ยูนนาน  เป็นชื่อมณฑลทางงภาคใต้ของประเทศจีน มีชนชาติไทยอาศัยอยู่ประมาณ ๗๖๐.๐๐๐ คน คนยูนนานแปลว่าแดนใต้แห่งเมฆหมอก
                    ยูนนานมีอาณาเขตทางทิศตะวันออกติดต่อกับมณฑลไกวเจา และมณฑลกวางสี ทิศใต้จดเวียดนามและลาว ทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงใต้จดพม่าและทิเบต ทิศเหนือจดมณฑลเสฉวน เมืองหลวงชื่อคุนหมิง
                    อำเภอต้าหลี่ (ตาลีฟู) อยู่ทางทิศตะวันตกของคุนหมิง แต่ค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ห่างออกไปตามทางรถยนต์ประมาณ ๔๐๐ กม. ต้าหลีเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรน่านเจ้า และต่อมาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรตาลีฟู เมื่อพันกว่าปีมาแล้ว
                    ชนชาติไทยในยูนนานใช้ภาษาไทยเหนือและไทยลื้อ ซึ่งจัดว่าเป็นภาษาถิ่น ภาษาเดียวกับไทยขาว และไทยลื้อทางทิศตะวันออก ไทยลื้อทางใต้ และไทยเขินทางทิศตะวันตก ดินแดนที่มีภาษาไทยถิ่นมากได้แก่ มณฑลกวางสีของจีนต่อกับเดียนเบียนฟูของเวียดนาม
                   สิบสองปันนาเป็นเขตปกครองตนเองของประเทศจีน อยู่ในมณฑลยูนนานทางภาคใต้มีเชียงรุ่งเป็นเมืองหลวงอยู่ห่างจากคุนหมิงลงไปห่างประมาณ ๗๘๐ กม. ชนชาติไทยในสิบสองปันนาเป็นพวกไทยลื้อ ไทยเหนือ ไทยด่อนหรือไทยขาว และไทยปอง อาณาเขตสิบสองปันนาทางทิศตะวันออกติดกับเมืองอูเหนือ และเมืองอูใต้ของประเทศลาว มีแม่น้ำของ (โขง) ไหลผ่านกลาง แม่น้ำนี้มีต้นน้ำอยู่ในเมืองต้าหลี่
                    ตามที่ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงรุ่ง ขุนเจี้อง เป็นกษัตริย์องค์แรกของเชียงรุ่ง และสวรรคตในปี พ.ศ.๑๗๗๒ ท้าวรุ่งแก่นชายเป็นกษัตริย์องค์ที่สี่ มีธิดาชื่อนางเทพคำกราย (เทพคำขยาย) อภิเษกกับเจ้าชายเชียงแสน ตรงกับพงศาวดารโยนกว่านางเทพคำกรายอภิเษกกับลาวเม็ง และมีโอรสคือพระเจ้ามังราย (เม็งราย) ผู้ทรงรวบรวมอาณาจักรล้านนาขึ้นเป็นปึกแผ่น กษัตริย์องค์สุดท้ายของเชียงรุ่งคือเจ้าหม่อมคำลือ (พ.ศ.๒๔๙๐) เป็นกษัตริย์องค์ที่สี่สิบสี่ และสิ้นสภาพเป็นกษัตริย์ของสิบสองปันนา เมื่อประเทศจีนประกาศสถาปนาประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน
                    ชนชาติไทยในสิบสองปันนาส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาแถบเถรวาท ซึ่งสันนิษฐานว่า จะเผยแผ่เข้าไปในสิบสองปันนา หลังจากการสังคายนาพระพุทธศาสนา เป็นครั้งที่แปดของโลก ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาในปี พ.ศ.๒๐๒๐ เพราะคนไทยในสิบสองปันนาเองกล่าววว่า พระพุทธศาสนาเพิ่งเข้าสู่ดินแดนของตน เมื่อประมาณ ๓๐๐ กว่าปีมานี้
                    ภาษาพูดตามขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของคนไทยในสิบสองปันนาคล้านคลึงกับคนไทยในล้านนา ทั้งนี้สาเหตุใหญ่ประการหนึ่งคือตามพงศาวดารน่านเจ้าและเอกสารจีน พระเจ้ามังรายทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงรุ่งสองครั้งในปี พ.ศ.๑๘๔๐ และพ.ศ.๑๘๔๑ ตามพงศาวดารโยนก พระเจ้าติโลกราชทรงยกกองทัพไปตีสิบสองปันนาในปี พ.ศ.๑๙๙๘ และพ.ศ.๑๙๙๙๙ และในสมัยพระยากาลิละ ทัพล้านนาตีได้เมืองต่าง ๆ ในสิบสองปันนา รวมทั้งเมืองเชียงรุ่ง และได้กวาดต้อนชาวไทยลงมาไว้ในจังหวัดทางภาคเหนือเป็นจำนวนมาก         ๒๔/๑๕๕๕๔
               ๔๖๑๘. ยูเรนัส ดาว  ดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่เจ็ด มีขนาดใหญ่กว่าโลก แต่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพราะอยู่ไกลโลกมาก ดาวยูเรนัสมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ ๑๙.๑๘ หน่วย ดาราศาตร์ ซึ่งใกล้เคียงกับระยะ ๑๙.๖ หน่วยดาราศาตร์ ที่ทำนายไว้ โดยใช้กฎของโมด ไทเทียส
                    นักดาราศาตร์ชาวอังกฤษค้นพบดาวยูเรนัส เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๔ ดาวยูเรนัสมีการเคลื่อนที่สำคัญสองอย่างคือ หมุนรอบตัวเอง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยหมุนรอบตัวเองรอบละ ๑๗.๒๔ ชม. และเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ รอบละ ๘๔ ปี แต่แกนที่ดาวยูเรนัสหมุนรอบเอียงทำมุมประมาณ ๙๘ องศา กับระนาบทางโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้นลักษณะการหมุนจึงปรากฎเป็นตรงข้ามกับการหมุนของโลก         ๒๔/๑๕๕๕๖
               ๔๖๑๙. ยูเรเนียม  ธาตุลำดับที่ ๙๒  เป็นธาตุกัมมันตรังสี ผู้ต้นพบออกไซด์ของธาตุนี้ในแร่ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๔ มีผู้แยกออกมาเป็นอิสระได้สำเร็จ
                    ยูเรเนียมเป็นธาตุโลหะกัมมันตรังสีในธรรมชาติ ไม่มีปรากฎอยู่ในภาวะอิสระเพราะเป็นธาตุที่ว่องไวต่อปฏิกิริยามาก สามารถรวมตัวได้ดีกับออกซิเจน ไนโตรเจน และคาร์บอน เป็นธาตุที่มีสมบัติทางไฟฟ้าบวกอย่างแรง จึงสามารถทำปฏิกิริยากับน้ำได้ สามารถละลายได้ในกรดแต่ไม่ละลายในด่าง
                    โดยที่ธาตุยูเรเนียม เป็นธาตุกัมมันตรังสีจึงให้ปฎิกิริยาการเสื่อมสลายตัวตลอดเวลา เมื่อเสื่อมสลายถึงที่สุดก็จะกลายเป็นธาตุตะกั่วที่เสถียร         ๒๔/๑๕๕๖๗
                ๔๖๒๐. ยูโรเฟียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๖๓ ในธรรมชาติเป็นธาตุที่หายากมากธาตุหนึ่ง มีปรากฎเป็นปริมาณน้อย ยิ่งอยู่ในแร่หายาก
                    ประโยชน์ของธาตุยูโรเฟียมมีมากหลายประการ เช่น นำไปทำเป็นแท่งควบคุมนิรภัยในเครื่องปฎิกรณ์นิวเคลียร์ ใช้ธาตุยูโรเฟียมควบกับสารประกอบของยูโรเฟียม และอิตเทรียม เป็นสารเรืองแสงสีแดงในหลอดโทรทัศน์สี ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตแก้วชนิดวาวแสง ใช้เป็นส่วนผสมในวัสดุอิเล็กทรอนิกส์บางชนิด ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสารกึ่งตัวนำ ใช้ในเครื่องมือตรวจสอบอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า         ๒๔/๑๕๕๗๔
                ๔๖๒๑. เยซู  เป็นนามของศาสดาผู้ก่อตั้งศาสนาคริสต์ คำนี้ในภาษาไทยอ่านออกเสียงใกล้เคียงเสียงภาษาอิตาลี มากที่สุด แต่เชื่อได้ว่าคงมิได้ทับศัพท์มาจากภาษาอิตาลี แต่คงจะทับศัพท์จากภาษาโปร์ตุเกสว่า จีซัส มากกว่า คำนี้ในภาษาโปร์ตุเกสเขียนและอ่านเหมือนภาษาลาติน แต่ภาษาไทยคงทับศัพท์โปร์ตุเกสมากกว่า ทับศัพท์ละติน ทั้งนี้ก็เพราะชาวโปร์ตุเกสเป็นชาติแรก ที่นำศาสนาคริสต์มาเผยแพร่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๐๙๘
                    นามดั้งเดิมเป็นอารามาอิกว่า เยซู ซึ่งแผลงมาจากภาษาฮีบรูว่า โยซัว ซึ่งแปลว่า พระเจ้าคือ ความรอดพ้น ส่วนคำว่า คริสต์ มาจากภาษากรีก แปลว่า ผู้ได้รับการเจิม ซึ่งตรงกับคำว่า เมซิอะห์ ของภาษาฮีบรู คริสต์ เป็นสมญานามซึ่งสาวกถวายให้ หลังจากที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะเชื่อว่า พระเยซู ก็คือ เมสซิอาห์ ที่คัมภีร์ของชาวยิวกล่าวถึงว่า จักมาช่วยให้มนุษย์รอดพ้นความทุกข์ร้อน
                    มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์น้อยมากเกี่ยวกับชีวประวัติของพระเยซู ที่รู้แน่นอนด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็คือ พระเยซูถูกประหารชีวิตด้วยวิธีตรึงกางเขน ในแคว้นยูเดีย ซึ่งขณะนั้นขึ้นกับมหาอาณาจักรโรมัน ครั้นได้รับยกย่องเป็นศาสดาแล้ว ก็มีตำนานแทรกเข้ามาในชีวประวัติของพระเยซูมากมาย สาวกและสานุศิษย์ได้เรียบเรียงชีวิต และคำสอนของท่านไว้ หลังจากที่ท่านได้ล่วงลับไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี เท่าที่รวบรวมไว้เป็นคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่นั้น พอจะเชื่อถือได้มากที่สุด นอกจากนั้นก็มีเกร็ดเล่าไว้มากมาย ซึ่งชาวคริสต์ไม่เชื่อว่าเป็นคัมภีร์ เท่าที่เล่าไว้ในคัมภีร์นั้น ผู้เล่ามิได้ตั้งใจเล่าให้เป็นประวัติศาสตร์ หรือชีวประวัติ แต่ตั้งใจเรียบเรียงคำสอนศาสนาคริสต์ ซึ่งมีตัวอย่างจากชีวิตและคำสอนของพระเยซู เป็นตัวอย่างมากกว่า
                    บางประเด็นที่พอจะเชื่อถือได้ เช่น ประสูติในรัชสมัยจักรพรรดิ์ซีซาร์ เอากุสตุส เป็นชาวยิว เจริญวัยในหมู่บ้านนาซาเรท จนถึงอายุ ๓๐ ปี จึงรวบรวมสาวกและประกาศคำสอนใหม่คือ คำสอนแห่งความรัก โดยไม่ลบล้างคำสอนเดิมของศาสนายูดา สอนได้ไม่เกินสามปี ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ และถูกประหารชีวิต
                    ไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันได้เชิงประวัติศาสตร์ว่า พระเยซูได้สอนอะไรไว้บ้าง และอย่างไร แน่นอนว่าท่านสอนด้วยภาษาอารามาอิก ซึ่งเพี้ยนไปจากภาษาฮีบรู ตามความนิยมของสมัยนั้น คัมภีร์ที่สาวก และสานุศิษย์เรียบเรียงไว้นั้น เป็นภาษากรีก คำที่บันทึกจึงมิอาจจะถือได้ว่า เป็นคำพูดโดยตรงของท่าน ผู้เรียบเรียงจะต้องแปล และแปลได้ซื่อสัตย์แค่ไหน ก็อยู่ที่คนแปล
                    คำสอนตามการตีความของสาวก และสานุศิษย์ที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ พอจะสรุปได้ว่า ท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์ คัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม มีกล่าวถึงเมสซิอาห์ นั้นหมายถึง พระเยซูทั้งสิ้น ท่านไม่ได้มาตั้งศาสนาใหม่ แต่มาเสริมหลักธรรมที่มีอยู่แล้ว ด้วยข่าวดีแห่งความรักคือ มาแจ้งให้มนุษย์มั่นใจได้ว่า พระเจ้ารักมนุษย์อย่างพ่อรักลูก ปรารถนาให้มนุษย์รักและภักดีต่อพระเจ้าอย่างลูกรักพ่อ และให้มนุษย์รักและเสียสละต่อกัน ในฐานะที่เป็นลูกที่มีพ่อเดียวกันในสวรรค์ อาณาจักรสวรรค์ หรือชีวิต พระเจ้าพึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ เพื่อเป็นหลักค้ำประกันคำสอน พระเยซูยอมสิ้นชีวิต บนไม้กางเขนเพื่อให้สมจริงตามคำทำนายในคัมภีร์พันธสัญญาเดิม เกี่ยวกับเมสซิอาห์ ต่อมาอีกสามปีก็ได้ฟื้นคืนชีพ มีผู้รู้เห็นเป็นพยานไม่ต่ำกว่าห้าร้อยคน และได้ขึ้นสวรรค์ไปแล้ว ต่อหน้าสาวกและสานุศิษย์ ซึ่งได้รับพระจิตแล้ว ก็มีพลังเข้มแข็งกล้าหาญ กล้ายืนยันข่าวดีโดยเอาชีวิตเข้าเสี่ยงต่อการกีดกันขัดขวาง สาวกและสานุศิษย์รุ่นแรก ๆ จำนวนมากถูกประทุษร้ายและฆาตกรรม เพราะไม่ยอมอ่อนข้อต่อการกีดกันขัดขวาง ความเสียสละของคนเหล่านี้มีส่วนปลุกความเห็นใจ จากผู้รู้เห็นได้อย่างมาก เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ศาสนาคริสต์ เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะแรก ๆ         ๒๔/๑๕๕๗๖
                ๔๖๒๒. เยูซูอิต  แปลว่า สมาชิกคณะเยซู เป็นนักพรตพวกหนึ่งของศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก นักบุญอิกนาเซียว แห่งโลโยลา ชาวสเปน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๓ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะปรับปรุงศาสนาคริสต์ ให้ทันเหตุการณ์เพื่อยุติการปฎิรูปนิกายโปรเตสแตนส์ มิให้คืบหน้าต่อไปในกลุ่มคริสต์ชน ที่ยังเป็นคาทอลิกอยู่ นักพรตคณะนี้นอกจากจะปฎิญาณตนถือศีลสามข้อ เหมือนนักพรตอื่น ๆ ของศาสนาคริสต์ อันได้แก่ การถือโสด การไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว และการเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา โดยไม่มีเงื่อนไขแล้วยังเพิ่มข้อที่สี่คือ พร้อมที่จะปฎิบัติตามความประสงค์ของสันตะปาปา โดยไม่มีเงื่อนไข คณะนี้มุ่งสร้างสมาชิกให้มีความสามารถด้วยการศึกษา วิชาการระดับสูงทุกสาขา และฝึกฝนให้พร้อมที่จะปฎิบัติงานทุกรูปแบบ สามารถปรับปรุงองค์การศาสนาคริสต์ขึ้นได้อย่างทันตาเห็น ได้สมาชิกที่มีจิตใจเข้มแข็งจำนวนมากเข้าร่วมงาน จึงปฎิบัติงานได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยเน้นทางการศึกษาระดับสูง และการอบรมจิตใจทุกด้าน ในปัจจุบันมีสมาชิกประมาณสามหมื่นคน จากนานาชาติทั่วโลก
                    คณะเยซูอิตเข้าปภิบัติงานในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๑๕๐ ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ โดยมีบาทหลวงชาวโปร์ตุเกสเป็นหัวหน้ากลุม ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ คณะเยซูอิตฝรั่งเศสได้รับมอบหมายให้ดูแล หอดูดาวที่ลพบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๕ คณะเยซูอิตได้เข้ามาปฎิบัติงานในประเทศไทยอีกครั้ง โดยมีคนไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิก ร่วมปฎิบัติงานบริการสังคมด้วย
               ๔๖๒๓. เยรูซาเลม  เป็นเมืองสำคัญในตะวันออกกลาง ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของประเทศอิสราเอล ลักษณะของเมืองแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นเมืองเก่า มีกำแพงล้อมรอบและเมืองใหม่ ซึ่งขยายตัวออกไปในภายหลัง โอบล้อมเมืองเก่าอยู่ ภายในกำแพงเมืองเก่ามีสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ และสำคัญทางศาสนาสามศาสนาได้แก่ กำแพงตะวันตก ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวยิว โบสถ์ซึ่งเป็นที่ฝังศพที่ชาวคริสต์ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และโดมอันเป็นที่เคารพของชาวมุสลิม
                    เมืองเยรูซาเลม ตั้งอยู่ตรงใจกลางของดินแดนปาเลสไตน์ ท่ามกลางทิวเขายูเดียน ค่อนไปทางทะเลทรายยูเดียน พื้นที่เมืองประมาณ ๑๐๙ ตร.กม. ประชากรเป็นชาวยิว ประมาณสองในสามที่เหลือเป็นชาวอาหรับ มีการแบ่งแยกที่อยู่อาศัยออกเป็นสี่ส่วนคือ ส่วนที่อยู่ของชาวมุสลิม ชาวคริสต์ ชาวยิว และชาวอาร์เมเนียน
                    ชาวยิว ถือว่าเยรูซาเลมเป็นศูนย์รวมของชาติและศาสนายูดา หรือศาสนายิว เป็นสถานที่ที่พระเยซูสั่งสอนศาสนา ถูกตรึงไม้กางเขนทนทุกข์ทรมาน กลับฟื้นคืนชีพและขึ้นสวรรค์ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งชุมชนชาวคริสต์ พร้อมกับโบสถ์แห่งแรกในสมัยโบราณ ส่วนชาวมุสลิม เยรูซาเลม เป็นสถานที่ซึ่งพระมะหะหมัด ได้ขึ้นไปยังสวรรค์ ความศักดิ์สิทธิ์จะเป็นรอง ก็เพียงนครเมกกะ และเมดินา เท่านั้น
                    ตามประวัติ เยรูซาเลมได้มีการกล่าวถึงในคำสาปแช่งของอียิปต์ ตั้งแต่ ๑,๓๐๐ - ๑,๒๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราชและปรากฎจารึกอยู่บนแผ่นอามาร์นา ซึ่งบันทึกเรื่องราวว่าเป็น นครรัฐอิสระคานาอะไนต์แห่งหนึ่ง เมื่อประมาณ ๘๐๐ กว่าปีก่อนพุทธศักราช ราว ๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช กษัตริย์เดวิดได้เข้ามาครอบครองเมืองนี้ และตั้งเป็นเมืองหลวง เพื่อรวบรวมคนเผ่าพันธุ์ยิวเข้าด้วยกัน พระองค์ได้นำแผ่นหินสองแผ่น ซึ่งจารึกบัญญัติสิบประการ เข้ามายังเยรูซาเลม ทำให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านศาสนา และการปกครอง ต่อมาราว ๔๐๐ ปี ก่อน พ.ศ. กษัตริย์โซโลมอน ได้ปรับปรุงด้านเศรษฐกิจ ทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการค้าของฟินิเซียไปยังอีลาต ซึ่งอยู่บนอ่าวอะกาบา และจากอียิปต์ไปยังเมโสโปเตเมีย ประมาณ ๓๐๐ ปี ก่อนพ.ศ. เมืองเยรูซาเลม ได้ตกมาอยู่ในความปกครองของอาณาจักรยูเดีย
                    ประมาณพุทธศตวรรษที่สาม กรีกได้เข้ามาครอบครองดินแดนบริเวณนี้ แต่เมื่อพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ ฯ สวรรคตแล้ว เมืองเยรูซาเลมได้ปกครองตนเอง เพียงแต่ส่งบรรณาการไปให้พระเจ้าปโตเลมี แห่งนครรัฐกรีก
                    โรมันเข้าครอบครองเยรูซาเลมในราวพุทธศตวรรษที่หก ได้สร้างพระราชวัง วิหาร และป้อมปราการขึ้นมากมาย ภายใต้การปกครองของโรมัน ชาวยิวได้รับอิสระในการปกครองกันเอง แต่ต่อมาชาวยิวได้ปลดปล่อยเมืองเยรูซาเลม ออกมาเป็นอิสระจากโรมัน ระหว่างปี พ.ศ.๖๗๕ - ๖๗๘ เมื่อโรมันยึดคืนมาได้ จึงห้ามไม่ให้ชาวยิวเข้าเมือง
                    ในพุทธศตวรรษที่สิบ พระเจ้าคอนสแตนสตินมหาราช ได้ให้เมืองเยรูซาเลมเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ ได้ก่อสร้างสถานที่สำคัญทางคริสต์ศาสนาขึ้นหลายแห่ง เป็นช่วงอิทธิพลของพวกไบแซนไทน์ ซึ่งได้เข้ามาครอบครองเยรูซาเลม ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑
                    ระหว่างปี พ.ศ.๑๑๘๑ - ๑๖๔๒ เป็นช่วงต้นที่ชาวอิสลามได้เข้ามาครอบครองเยรูซาเลม ในปี พ.ศ.๑๖๔๒ สถานที่สำคัญทางคริสต์ศาสนาในเยรูซาเลม ถูกพวกมุสลิมทำลายและได้เกิดสงครามครูเสด เมืองเยรูซาเลมตกอยู่ในอำนาจของพวกครูเสด ซึ่งเป็นชาวคริสต์ ชาวมุสลิมและชาวยิวถูกสังหารไปเป็นจำนวนมาก พวกครูเสดได้ตั้งเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของตน ได้มีการซ่อมแซมสถานที่ทางคริสต์ศาสนา ที่ถูกพวกมุสลิมทำลายและเปลี่ยนสถานที่ทางศาสนาอิสลาม ให้เป็นโบสถ์ในคริสต์ศาสนา
                   ในปี พ.ศ.๑๗๓๐  สุลต่านมุสลิม จากอียิปต์ได้เข้ามายึดครองเยรูซาเลม และได้เชื้อเชิญชาวยิวให้กลับมาอยู่ในเยรูซาเลม และได้เปลี่ยนสถานที่ทางศาสนาอิสลามเดิม ที่ถูกเปลี่ยนไปให้กลับเป็นดั้งเดิม เปลี่ยนโบสถ์คริสต์เป็นสุเหร่า
                    สงครามครูเสด สิ้นสุดลงในพุทธศตวรรษที่สิบแปด ในปี พ.ศ.๑๗๗๒ ได้มีการตกลงแบ่งเมืองโดยให้มุสลิม ครอบครองเฉพาะเทมเปิลเมานต์ ที่อยู่ทางด้านตะวันตกในกำแพงเมืองเก่า เป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของมุสลิม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ฮาเรมอัลชารีพ มีโดม ออฟเดอะร็อก และสุเหร่าอัลอัคซา แต่ต่อมามุสลิมได้เข้ามายึดครองเยรูซาเลมคืน ในปี พ.ศ.๑๗๘๗
                    ในปี พ.ศ.๑๘๐๓ อียิปต์ได้เข้ามาครอบครองดินแดนนี้ ได้รวมเยรูซาเลมเข้ากับปาเลสไตน์ และให้ขึ้นตรงต่อไคโร อียิปต์ได้ปกครองบริเวณนี้มาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๐๖๑ ดินแดนทั้งหมดได้ตกไปอยู่ในการปกครองของจักรวรรดิ์ออตโตมัน ในช่วงนี้อำนาจทางด้านยุโรปได้เข้ามาแทรกแซงในบริเวณนี้ เริ่มตั้งแต่สงครามไครเมีย ในปี พ.ศ.๒๓๙๗ - ๒๓๙๙  ชาวยิวได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังเทมเปิลเมานต์ได้ โดยการเสียเงินหรือได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ จักรวรรดิ์ออตโตมันปกครองเยรูซาเลม จนกระทั่งจักรวรรดิ์ได้ล่มสลายลง เมื่อแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อังกฤษได้ขับไล่อิทธิพลของจักรวรรดิ์นี้ออกไปจากปาเลสไตน์ สันนิบาตชาติมอบปาเลสไตน์ให้เป็นเมืองในอาณัติของอังกฤษ ในช่วงนั้นเองยิวและอาหรับได้แย่งชิงกัน เพื่อครอบครองปาเลสไตน์ ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงคือ เยรูซาเลม การพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งในดินแดนนี้ ไม่บังเกิดผลใด ๆ ในขณะนั้น
                    หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษเกิดความเบื่อหน่ายในการแก้ปัญหาในดินแดนนี้ จึงยกให้ไปอยู่ในความดูแลขององค์การสหประชาชาติ ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ องค์การสหประชาชาติได้ตกลงให้แบ่งดินแดนปาเลสไตน์ ระหว่างอาหรับกับยิว ส่วนเยรูซาเลมจัดให้เป็นดินแดนนานาชาติ ชาวอาหรับในปาเลสไตน์และชาติอาหรับอื่น ๆ ไม่เห็นด้วยกับแผนการนี้ พวกอาหรับได้เริ่มโจมตีชาวยิวทั่วทั้งพื้นที่ทันที อิสราเอลและจอร์แดนได้มีข้อตกลงสงบศึกลงชั่วคราว ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นเหตุให้มีการแบ่งแยกเยรูซาเลมออกเป็นสองส่วน โดยให้กำแพงเมืองเก่าทางด้านตะวันออกอยู่ในการปกครองของจอร์แดน ส่วนด้านตะวันตกของเยรูซาเลม ซึ่งเป็นเมืองใหม่ให้อิสราเอลครอบครอง
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ได้เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ กษัตริย์ฮุสเซน แห่งจอร์แดน ได้สนับสนุนให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในเยรูซาเลม กองทัพอิสราเอลได้ถือโอกาสนี้ บุกเข้ายึดเยรูซาเลมตะวันออก และประกาศรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอล         ๒๔/๑๕๕๘๑
               ๔๖๒๔. เย้า  เป็นชื่อเรียกชนเชื้อชาติมองโกลอยด์กลุ่มหนึ่ง เป็นชนชาติที่มีประวัติความเป็นมานานกว่า ๑,๐๐๐ ปี มาแล้ว บรรพชนของเย้า มีการเคลื่อนไหวอยู่แถบลุ่มแม่น้ำฉางเจียง และฮั่นเจียง ตอนกลางของจีน คำเรียก เย้า ได้ปรากฎครั้งแรกในเอกสารบันทึกของจีน ในสมัยราวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๕๐)
                    ชนชาติเย้า ในประเทศจีนสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้สี่กลุ่ม กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดมีการอพยพโยกย้ายอยู่ตลอดเวลา ได้เข้าสู่ภาคเหนือของเวียดนาม ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ จากนั้นได้เข้าสู่ประเทศลาวและพม่า
                    เมื่อชนเผ่าเย้า เข้าสู่ประเทศไทยได้ตั้งถิ่นฐานและทำมาหากินอยู่บนภูเขา จึงถูกเรียกว่า "ชาวเขา" การอพยพได้ทะยอยเข้ามาเป็นกลุ่มๆ ในช่วงเวลาที่ต่างกันและตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายกันอยู่ในบริเวณพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่จะอพยพเข้ามาตามชายแดนไทย - ลาว ตั้งแต่จังหวัดเชียงรายลงมาถึงจังหวัดน่าน เย้ากลุ่มแรกอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๘
                       เย้าในประเทศไทยมีเพียงกลุ่มเดียวเรียกตัวเองว่า เมื่ยน มีความหมายว่า คน มีภาษาพูดสำเนียงเดียวกัน และได้นำตัวอักษรจีนมาใช้แล้วออกเสียงเป็นภาษาของตน
                       ในแต่ละปีเย้าจะมีการประกอบพิธีกรรมตามเทศกาลต่าง ๆ มาก เย้าจะนับวันเดือนปีตามปฏิทินของจีน ดังนั้นเย้าจึงมีวันที่สำคัญเป็นวันเดียวกับคนจีน           ๒๔ / ๑๕๕๘๗
                ๔๖๒๕. แย้  เป็นสัตว์เลื้อยคลานพวกเดียวกับตุ๊กแก เต่า กระ จิ้งจก กิ้งก่า ตะกวด และจิ้งเหลน อาศัยอยู่ในรูดิน เป็นสัตว์มีประโยชน์มาก เพราะกินแมลงต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศัตรูพืชไร่         ๒๔/๑๕๕๙๓
               ๔๖๒๖. แยงซี  เป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่งในประเทศจีน เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของจีน ตอนที่ไหลผ่านจีนยาวประมาณ ๕,๒๑๐ กม.  ความยาวทั้งสาย ๕,๔๔๐ กม.  ต้นน้ำอยู่ที่ภูเขาคุนหลุนในมณฑลชิงไห่ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต ไหลมาทางใต้ผ่านมณฑลชีเกียง เข้ามาในมณฑลยูนนาน แล้วหักกลับไหลขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านภาคกลางของจีนไปลงทะเลจีนตะวันออก ปากแม่น้ำแยงซีอยู่เหนือเมืองเซี่ยงไฮ้ขึ้นไปประมาณ ๒๒ กม. จากปากแม่น้ำเรือเดินทะเลสามารถแล่นขึ้นไปได้ถึงเมืองหวู่ฮั่น ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปประมาณ ๙๖๐ กม. แม่น้ำแยงซีมีสาขาหลายสาย และยังติดต่อแม่น้ำฮ่วงโห ทางคลองใหญ่ได้อีกด้วย
                    แม่น้ำแยงซี เป็นแหล่งไฟฟ้าพลังน้ำที่สำคัญ คาดกันว่าจะเป็นแหล่งที่สำคัญที่สุด แหล่งหนึ่งของโลกด้วย ที่ดินตอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำแยงซีนี้เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีนด้วย         ๒๔/๑๕๕๙๘
                ๔๖๒๗. โยคะ  เป็นคำที่ใช้ในภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ได้มีบทนิยามว่า "การประกอบ การใช้ การร่วม ; กิเลส ; ความเพียร ; วิธีบำเพ็ญสมาธิตามลัทธิของอาจารย์ปตัญชลี ;  (โหร)  การที่ดาวนพเคราะห์ตั้งแต่สองดวงขึ้นไปมารวมกันในราศีเดียว"  ในที่นี้จะขยายความเฉพาะบทนิยามที่หก ที่ว่า "วิธีบำเพ็ญสมาธิตามลัทธิของอาจารย์ปตัญชลี" เท่านั้น  เพราะลัทธินี้เป็นที่มาของปรัชญาโยคะ
                    คำว่า โยคะ พบครั้งแรกในคัมภีร์ฤคเวท ซึ่งใช้หมายถึง การเทียมแอก การเทียมรถ หรือการเทียนเกวียน คือ การใช้เชือกผูกม้าเข้ากับแอก หรือเกวียน แล้วบังคับม้าให้ลากไปตามที่ต้องการ ต่อมาความหมายของคำนี้ ขยายออกกล่าวคือ ใช้ หมายถึง การประกอบหรือรวมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ากับอะไรก็ได้ มาถึงสมัยอุปนิษัท ซึ่งเป็นสมัยที่มีการศึกษาเรื่องราวภายในตัวเองกันมากขึ้นคือ ศึกษาเรื่องอาตมัน (อัตตา หรือตัวตน) และพรหมัน (พระเจ้าสูงสุด)  ก็ได้นำคำโยคะ มาใช้ในการศึกษาเรื่องดังกล่าวด้วย หมายถึง การใช้จิตผูกอินทรีย์ทั้งหลาย ถูกผูกไว้กับตัวเราแล้ว ก็สามารถบังคับให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ เช่นเดียวกับที่เราสามารถบังคับม้า ที่เทียมแอกหรือรถ แล้วให้เดินไปตามทางที่ต้องการได้ ต่อมาพวกเวทานตะ นำคำนี้ไปใช้หมายถึง การประกอบหรือการรวมปัจเจกชีพ เข้ากับสากลชีพ หรือรวมอาตมันเข้ากับพรหมัน ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์         ๒๔/๑๕๖๐๐

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch