หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/134
    ๔๕๗๖. ยักษ์  เป็นอมนุษย์พวกหนึ่ง ไม่มีตัวตนจริง ๆ อยู่ในโลกเป็นบุคคลที่กำหนดให้มีขึ้นตามความคิดคำนึงเป็นลักษณะบุคคลาธิษฐาน
                    ตามคติความคิดของชาวอินเดียแต่โบราณ ยักษ์เป็นอมนุษย์พวกหนึ่งในหมู่อมนุษย์สิบพวกด้วยกัน คือ วิทยาธร อัปสร ยักษ์ รากษส คนธรรพ์ กินนร ปีศาจ คุหยัก ลัทธิและภูติ
                    ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงมีการอธิบายเรื่องยักษ์ไว้ว่า ยักษ์เป็นบริวารของท้ายกุเวร ซึ่งเป็นหนึ่งในจตุโลกบาลสี่องค์ นัยว่ามีแดนที่อยู่อาศัยทางทิศอุดรของเขาพระสุเมรุ ยักษ์ที่รู้จักกันในสมัยสุโขทัย คือ มีหน้าอันพึงกลัว
                    ต่อมายักษ์ในสมัยอยุธยาเกิดมีความเข้าใจว่ายักษ์เป็นพวกเดียวกันกับอสูรหรือพวกเดียวกับมาร         ๒๔/๑๕๔๑๒
                ๔๕๗๗. ยัชโญปวีต  มีบทนิยามว่า "สายเครื่องหมายวรรณะพราหมณ์กษัตริยและแพศย์ สวมจากซ้ายไปขวา สายมงคล สายธุรำหรือสายธุหร่ำของพราหมณ์ก็เรียก เพี้ยนเป็นยัชโญปิวีตก็มี"  คำนี้มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเซ่น การบูชา การบวงสรวงชนิดหนึ่งของพราหมณ์
                    ชาวฮินดูคือว่า เวลาประกอบพิธีทางศาสนา จะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์ และจะต้องแต่งกายให้เรียบร้อย ยัชโญปวีตเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายให้เรียบร้อย โดยเฉพาะในพิธีอุปนัยนะ คือ พิธีเริ่มเข้ารับการศึกษาพระเวท
                    ต่อมาสายยัชโญปวีตได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีความขลังทางไสยศาสตร์ เพราะนอกจากจะเป็นสิริมงคลแล้วยังสามารถป้องกันอันตรายได้อีกด้วย         ๒๔/๑๕๔๑๖
                ๔๕๗๘. ยันต์  มีบทนิยามว่า "รูปต่าง ๆ เขียนลงบนแผ่นโลหะ หรือผ้าเป็นต้น และลงอักขระหรือเลขใช้เป็นของขลัง โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีปริยายเช่นนั้น เช่นเสื้อยันต์"
                    ลักษณะของยันต์ พอแบ่งได้เป็นสี่ลักษณะด้วยกันคือ
                            ๑. ยันต์รูปภาพ อาจเขียนเป็นรูปพระพุทธเจ้า รูปเทวดา ราหูอมจันทร์ มนุษย์ นางกวัก หนุมาน ราชสีห์ หงส์ นกคุ้ม พญานาค ปลาตะเพียน ฯลฯ
                            ๒. ยันต์รูปสี่เหลี่ยมหรือสี่มุม เขียนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือไขว้กัน
                            ๓. ยันต์รูปสามเหลี่ยมหรือสามมุม เขียนเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าสามเหลี่ยมหน้าจั่วหรือไขว้กัน
                            ๔. ยันต์รูปวงกลม เขียนเส้นภาพนอกเป็นรูปวงกลม ภายในอาจมีเส้นยันต์รูปสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยมก็ได้
                    ยันต์ทั้งสี่ลักษณะนี้บางทีก็เอามาปะปนกัน อักขระต่าง ๆ นิยมเขียนตัวอักขระขอมบาลี ซึ่งถอดมาจากบทสวดมนต์ต่าง ๆ
                    เลขต่าง ๆ มีความหมายจากการถอดเลขกลจากพระคาถามาเป็นตัวเลขแทน เช่น เลข ๑ หมายถึงพระพุทธเจ้า เลข ๒ หมายถึงคำว่า พุทโธ เลข ๓ หมายถึง พระรัตนตรัย เลข ๔ หมายถึง อริยสัจสี่ เลข ๕ หมายถึง นโมพุทธายะ เลข ๖ หมายถึง สวรรค์หกชั้น เลข ๗ หมายถึง พระธรรมเจ็ดคัมภีร์ หรือบทใดบทหนึ่งของอิติปิโสแปดทิศ เลข ๘ หมายถึง มรรคมีองค์แปด หรืออิติปิโสแปดทิศ เลข ๙ หมายถึง พุทธคุณเจ้า         ๒๔/๑๕๔๒๐
                ๔๕๗๙. ยา  เป็นสิ่งที่ใช้กิน ทา หรือฉีด เพื่อป้องกันรักษาโรคหรือบำรุงร่างกาย ยาเป็นสารเคมีที่อาจได้มาจากแหล่งสำคัญใหญ่ ๆ สองแหล่ง คือ
                            ๑. จากธรรมชาติ อยู่ในรูปยาสมุนไพรจากพืชด้วยการใช้ส่วนต่าง ๆ ของพืชโดยตรง หรือสกัดจากพืชสมุนไพรนำเอาเฉพาะตัวยาสำคัญมาใช้
                            ๒. จากการสังเคราะห์ ยาแผนปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นยาสังเคราะห์         ๒๔/๑๕๔๓๓
                ๔๕๘๐. ยาคู  (ดูปายาส - ลำดับที่ ๓๕๓๘)         ๒๔/๑๕๔๓๙
                ๔๕๘๑. ยาง, นก  เป็นนกที่เดินหากินตามพื้นดิน โดยเฉพาะบริเวณที่มีแหล่งน้ำหรือใกล้แหล่งน้ำ เช่น ทุ่งนา ชายฝั่งแม่น้ำลำคลอง หนองน้ำ นกประเภทนี้มีน้ำหนัก ๑๐๐ - ๒,๖๐๐ กรัม ปากยาว ปลายแหลม และแข็งแรง คอมีลักษณะยาว แต่เกือบไม่สามารถเคลื่อนที่ไปด้านข้างได้ และจะงออยู่ในลักษณะรูปตัวเอสในอักษรอังกฤษ ขายาว นิ้วหลังตีนยาว ตาเล็กมีประสาทตาดีมาก ขนขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด เวลาบินจะบินอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ ปีกกว้าง หางสั้น ขณะบินจะหดคอเข้ามา
                    นกยางชอบหากินเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หรือเป็นฝูง โดยกระจายกันออกหากิน นกยางในโลกมีอยู่ ๖๓ ชนิด ในประเทศไทยมีอยู่ ๑๙ ชนิด คือ นกยางกรอกพันธุ์จีน นกยางกรอกพันธุ์ชวา นกยางควาย นกยางทะเล นกยางจีน นกยางเปีย นกยางโทนน้อย นกยางโทนใหญ่ นกยางไฟหัวดำ นกยางไฟหัวเทา นกยางไฟธรรมดา นกยางแดงใหญ่ นกยางเขียว นกยางดำ นกแขวก นกยางลายเสือ นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกระสาใหญ่         ๒๔/๑๕๔๓๙
                ๔๕๘๒. ยาง - ไม้  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่เรือนยอดเป็นพุ่มกลมกว้าง ลำต้นเปลาตรงสูง ๒๕ - ๔๐ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบตอนปลายกิ่ง กลีบดอกมีห้ากลีบสีขาวหรือสีชมพู ผลรูปไข่ปลายแหลม เนื้อไม้สีน้ำตาล แข็งปานกลางใช้ในการก่อสร้างและอุตสาหกรรมไม้ยาวไม้อัด บางชนิดมีน้ำมันยางใช้ทำได้และยาเรือ
                    ไม้ในสกุลนี้ในประเทศไทยมี ๑๔ ชนิด บางชนิดเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น กราด พลวง เหียงและยูง ที่เรียกว่าไม้ยางมีสิบชนิด เช่น ยางนาหรือยางขาว ยางพาย ยางเลียน ยางมันหมู ยางแดง         ๒๔/๑๕๔๔๕
                ๔๕๘๓. ย่างกุ้ง  เป็นเมืองหลวงของพม่าตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำย่างกุ้งห่างจากฝั่งทะเลของอ่าวเมาะตะมะ ๓๔ กม. แม่น้ำย่างกุ้งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำอิรวดีตอนที่ไหลออกทะเล แต่เดิมย่างกุ้งเป็นที่อยู่บนอาศัยของชาวมอญ ต่อมาพม่าได้ค่อย ๆ แผ่ขยายอาณาเขตลงมาทางใต้ และยึดครองดินแดนของมอญไว้ทีละน้อย ในปี พ.ศ.๒๒๙๘ พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าได้เข้ายึดเมืองนี้แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองยางกอน แปลว่ายุติการต่อสู้ในภาษาไทยออกเสียงเพี้ยนไปเป็นย่างกุ้ง
                    ในสมัยที่ย่างกุ้งเป็นเมืองออกคะลาของมอญ ศูนย์กลางการตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณเนินเตี้ย ๆ ทางตอนเหนือของตัวเมืองปัจจุบัน บนยอดเนินเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์องค์หนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดของพม่าเรียกชื่อว่า พระเจดีย์ชเวดากอง มีความสูง ๑๑๒ เมตร บนยอดเจดีย์ประดับด้วยฉัตรทองคำ ซึ่งกษัตริย์พม่าทรงสร้างอุทิศถวายในปี พ.ศ.๒๔๑๔
                    เมื่อพม่ายึดเมืองย่างกุ้งจากมอญได้ ก็ขยายบริเวณตัวเมืองไปทางริมฝั่งแม่น้ำ และสร้างป้อมปราการไว้อย่างมั่นคง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๓๓ อังกฤษได้มาตั้งสถานีการค้าขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองนี้ ต่อมาอังกฤษได้ค่อย ๆ ขยายอำนาจมากขึ้นจนเกิดการสู้รบกับพม่า เมืองย่างกุ้งถูกอังกฤษยึดไว้รวมสองครั้ง ครั้งที่สองในปี พ.ศ.๒๓๙๕ อังกฤษยึดครองไว้นานถึง ๙๐ ปี
                    ในระยะแรกที่อังกฤษเข้าปกครองพม่า อังกฤษให้พม่าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย จึงทำให้ชาวอินเดียอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพม่าเป็นจำนวนมาก ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าโจมตีพม่า ชาวอินเดียจำนวนมากได้อพยพลี้ภัยกลับอินเดีย และหลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ ก็มีการต่อต้านกีดกันชาวอินเดีย ทำให้ชาวอินเดียที่เหลืออยู่ในพม่า ต้องอพยพเดินทางออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก         ๒๔/๑๕๔๔๘
                ๔๕๘๔. ยางชุมน้อย  อำเภอขึ้น จ.ศรีษะเกษ ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง อำเภอนี้แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ขึ้น อ.เมืองศรีษะเกษ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓         ๒๔/๑๕๔๕๐
                ๔๕๘๕. ยางตลาด  อำเภอขึ้น จ.ศรีษะเกษ ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นโคกสลับแอ่งมีป่าโปร่ง ตอนใต้เป็นทุ่งราบ
                    อ.ยางตลาด เดิมตั้งอยู่ในเมืองกาฬสินธุ์ เรียกว่า อ.ประจิม ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๖ ย้ายไปตั้งที่ บ.ยาง เรียกว่า อ.ภูแล่นช้าง ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๕ ย้ายไปตั้งริมทางด้านตะวันตกของหนองหมาจอก เอาชื่อบ้านยางกับตลาดมารวมกันตั้งเป็นชื่อว่า อ.ยางตลาด ถึง พ.ศ.๒๔๗๕ ยุบ จ.กาฬสินธุ์ โอน อ.ยางตลาดไปขึ้น จ.มหาสารคาม ถึงปี พ.ศ.๒๔๙๐ ตั้ง จ.กาฬสินธุ์ขึ้นใหม่อีก จึงโอนกลับไปขึ้น จ.กาฬสินธุ์ตามเดิม         ๒๔/๑๕๔๕๐
                ๔๕๘๖. ยางน่อง  เป็นชื่อเรียกพรรณไม้สามชนิดเป็นไม้ยืนต้นหนึ่งชนิดและไม้เถาสองชนิด
                      ยางน่อง  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงถึง ๕๐ - ๖๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง เมื่อถากเปลือกจะมีน้ำยางสีขาวอมเหลืองซึมออกมา ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน รูปขอบขนานแกมรูปหอกกลับ ดอกออกตามง่ามใย ผลมีเนื้อ ขนาดกว้าง ๑๒ มม. ยาว ๑๘ มม.
                        เนื้อไม้ใช้ทำหีบใส่ของ รองเท้าไม้ เครื่องเล่น ยางใช้อาบลูกศรยิงสัตว์เป็นพิษอย่างแรงต่อหัวใจ เมล็ดเป็นยาแก้ไข้ แก้บิด เปลือกให้เส้นใบใช้ทำเชือกและเยื่อกระดาษทำเป็นที่นอน ผ้าห่ม เสื้อผ้าของชาวป่าชาวเขา
                      เถายางน่อง  เป็นไม้เถาขนาดใหญ่ ยาวกว่า ๒๐ เมตร ลำต้นเป็นร่องมีน้ำยางมาก ใบเดี่ยวเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน แผ่นใบรูปรีแกมขอบขนาน ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกเล็กสีขาวหรือขาวอมเหลือง ผลออกเป็นฝักคู่ ภายในมีเมล็ด
                      ยางน่องเครือ  เป็นไม้เถาเนื้อแข็งต้นยาว ๓ - ๘ เมตร เมื่อถากเปลือกจะมีน้ำยางสีขาวไหลออกมา ใบเดี่ยวเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน แผ่นใบรูปรีรูปไข่กลีบ หรือขอบขนาน ดอกออกเป็นช่อที่ยอดสีขาวอมเหลืองปนแดง ผลออกเป็นฝักคู่ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก         ๒๔/๑๕๔๕๑
                ๔๕๘๗. ยางสีสุราช  อำเภอขึ้น จ.มหาสารคาม ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและที่ราบลุ่มสลับกันไป อำเภอนี้พระยาสีสุราชโอรสเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ได้พาราษฎรอพยพมาหาที่ตั้งเมืองใหม่ มาพบสถานที่นี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ยาง เห็นว่า เหมาะ จึงตั้งหลักแหล่งที่นี้ให้ชื่อหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า บ้านดงยาง ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นยางสีสุราช ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘         ๒๔/๑๕๔๕๔
                ๔๕๘๘. ยาดำ  เป็นยาบำบัดโรคซึ่งได้จากน้ำยางแห้งสีดำที่ได้จากพืชจำพวกต้นว่านหางจรเข้ชนิดต่าง ๆ มีรสเขื่อเหม็นขมเล็กน้อยถ่ายลมเบื้องสูงให้ลงต่ำ กัดฟอกเสมหะ และโลหิต เป็นยาขับพยาธิในท้อง ยาขับน้ำดี และขับเลือดระดูด้วย ห้ามใช้ในคนที่เป็นริดสีดวงทวารหนัก สตรีขณะมีประจำเดือนหรือกำลังมีครรภ์ ยาดำมักใช้ประกอบกับยาไทยมากมายหลายชนิด จนมีสำนวนว่า แทรกเป็นยาดำ         ๒๔/๑๕๔๕๕
                ๔๕๘๙. ย่านตาขาว  อำเภอขึ้น จ.ตรัง ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่า และภูเขาเหมาะแก่การทำสวนยางพารา
                    อ.ย่านตาขาว แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ ขึ้น อ.กันตัง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙         ๒๔/๑๕๔๖๐
                ๔๕๙๐. ยานนาวา  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ มีอาณาเขตทางทิศใต้ตกแม่น้ำเจ้าพระยามีอู่ซ่อมเรือเดินทะเลขนาดใหญ่
                    เขตยานาวาเดิมเป็นอำเภอเรียก อ.ยานนาวา เดิมชื่อ อ.บ้านทวาย เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ยานนาวา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         ๒๔/๑๕๔๖๐
                ๔๕๙๑. ยานมาศ  เป็นพาหนะหรือเครื่องนำไปด้วยกำลังคนแบกหาม ซึ่งประดับล้วนไปด้วยทองเป็นพระราชอาสน์สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับ หรือพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์เพื่อประทับเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่าง ๆ
                    ยานมาศ มีปรากฎอยู่ในรายการเครื่องปราชูปโภคมาแต่สมัยอยุธยา         ๒๔/๑๕๔๖๑
                ๔๕๙๒. ย่านาง  เป็นชื่อเรียกไม้เถาเนื้อแข็ง เช่นเดียวกับบอระเพ็ดใบเดี่ยวออกสลับกันเวียนรอบกิ่งใบรูปยาวรีขอบใบเรียบ ดอกเล็กสีเขียวอ่อนหรือเขียว อมเหลือง ออกเป็นช่อตามซอกใบ ผลเล็ก
                    ใบย่านางใช้ต้มกับหน่อไม้เพื่อให้หน่อไม้หายขื่น         ๒๔/๑๕๔๖๓
                ๔๕๙๓. ยามสามตา  มีบทนิยามว่า "ชื่อวิธีจับยามของหมอดูใช้นับตามหลักสามหลักเวียนกันไป" เรื่องยามสามตานี้ตามตำรายามสามตา (ตรีเนตร) ท่านกำหนดไว้เป็นสูตร ดังนี้
                    หลักสามหลักคือ เลขหนึ่งแทนอาทิตย์อยู่ตำแหน่งเดียวกับใส  เลขสองแทนจันทร์ตำแหน่งเดียวกับปลอด  เลขสามแทนอังคารตำแหน่งเดียวกับดำ
                    การทำนายให้นับขึ้นต้นที่อาทิตย์ ถ้าวันที่จับยามเป็นข้างขึ้นให้นับเวียนตามเข็มนาฬิกา คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร ถ้าวันที่จับยามเป็นข้างแรมให้เวียนทวนเข็มนาฬิกา คือ อาทิตย์ อังคาร จันทร์ ไปจนถึงวันที่จับยาม (วันขึ้น - แรมเท่าใด)  แล้วหยุดตรงนั้น
                    เริ่มนับยามที่หนึ่ง ณ ตำแหน่งที่หยุดนั้นไปจนถึงยามที่ทำนาย
                    ยามกลางวันแบ่งเป็นแปดยาม ยามละหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เริ่มตั้งแต่ ๖.๐๐ - ๗.๓๐ จน ๑๖.๓๐ - ๑๘.๐๐ ยามกลางคืนมีแปดยาม เช่นเดียวกัน มีคำทำนายดังนี้
                    ถ้าดูสู้กัน เล็งดูยามนั้น จะเป็นฉันใด ถ้าดำอยู่หลังเบื้องหน้ายามใสว่าเขาจักได้ เราแพ้เสียก่อน
                    ถ้าข้าศึกษา เรือนดำอยู่หน้าศึกมาถึงเรา ถ้าใสอยู่หน้ามาแล้วกลับเล่า หน้าปลอดจักเปล่า ถ้าเจ็บอย่างฟัง
                    คนมากเท่าใด ถ้าหน้าดำไซร้ คนมากโดยหวัง ถ้าว่าหน้าใส คนน้อยกว่าฟัง ถ้าปลอดอย่างหวัง หาไม่สักคน
                    คนหาญหรือขลาด หน้าดำสามารถเรี่ยวแรงแสนกล หน้าใสพอดี บ่อมีฤทธิรณ์ หน้าปลอดอำพลว่าชายเหมือนหญิง
                    ถืออันใดมา หน้าดำโสภา คือ สาตราจริง หน้าใสถือไม้ มาได้สักสิ่ง หน้าปลอดประวิงว่ามือเปล่ามา
                    ว่าสูงหรือต่ำ หน้าดำควรจำว่าสูงโสภา หน้าใสปานกลาง ปลอดต่ำหนักหนาทายตามเวลา ยามเจ้าไตรตรึงส์
                    ว่างามมิงาม หน้าดำอย่างาม ว่างามบ่ถึง หน้าใสงามนัก หน้าปลอดพอพึง ยามเจ้าไตรตรึงล์ อย่าได้สงกา
                    คนผอมหรือพี หน้าดำมีศรี ว่าพีพ่วงกาย หน้าใสพอดี ฉวีเฉิดฉาย หน้าปลอดเร่งทาย ว่าผอมเสียศรี
                    ดำแดงหรือขาว หน้าดำควรกล่าว ว่าคำอัปปรีย์ หน้าใสดำแดงเป็นแสงมีศรี หน้าปลอดขาวดี เที่ยงแท้โดยถวิล
                    ต้นลงหรือปลาย หน้าดำเร่งทายว่าปลายลงดิน หน้าใสปลายขึ้น ต้นลงอาจิณ หน้าปลอดเร่งถวิล ถ้านอนราบลง
                    นอกจากนี้ยังมีคำทายในเรื่องสุกหรือดิบห่าม ว่าหญิงหรือชาย เต็มหรือพร่องแห้ง ขุนนางหรือไพร่ ไข้เป็นหรือตาย ท่านรักหรือชัง หน้าจื้ดหรือหวาน หน้าขมหรือฝาด ว่าอยู่หรือไป สี่คืบหรือสอง แม้นดูของหาย แม้นดูปลูกเรือนว่าคว่ำหรือหงาย          ๒๔/๑๕๔๖๓
              ๔๕๙๔. ยามาดา นางามาซา (พ.ศ.๒๑๓๓ - ๒๑๗๕)  เป็นคนญี่ปุ่นที่รับราชการเป็นขุนนางไทยสมัยอยุธยา ชื่อของยามาดาปรากฎอยู่ในบันทึกอิกโทก นิกกิ ของพระนิกายเซน ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ในปี พ.ศ.๒๑๖๔ ยามาดาได้เดินทางมาพำนักอยู่ในหมู่บ้านญี่ปุ่นที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๕๕ ต่อมาได้เข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น มีบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๑
                    ต่อมาพระอาทิตย์วงศ์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ออกญาเสนาภิมุขออกไปปราบกบฎ เจ้านครศรีธรรมราชพร้อมกับแต่งตั้งให้เป็นเจ้านครศรีธรรมราชแทน ในที่สุดเขาถูกมาตกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๓ ลูกชายของเขาได้ดำรงตำแหน่งเจ้านครศรีธรรมราชแทน แต่ไม่อาจรักษาตำแหน่งนี้ได้ ต้องพาคนญี่ปุ่นไปพำนักอยู่ที่หมู่บ้านในเขมรแล้วสิ้นชีวิตลง         ๒๔/๑๕๔๖๘
                ๔๕๙๕. ยิว  เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ถือว่าบรรพบุรุษของตนสืบเชื้อสายมาจากชาวฮิบรูดังที่ปรากฎในคัมภีร์ไบเบิล ชาวยิวดั้งเดิมมาจากลุ่มชาติพันธุ์คอเดเซียน หรือกลุ่มผิวขาวเซเมดิก และเป็นผู้ให้กำเนิดศาสนายูดา ศาสนาอื่น ๆ ที่ถือว่าเจริญงอกงามจากศาสนายูดา คือ ศาสนาคริสต์ และอิสลาม ปัจจุบันผู้นับถือศาสนายูดามีประมาณ ๑๕ ล้านคน ประมาณ ๖ ล้านคนอยู่ในอเมริกาเหนือ
                    ชาวยิวรุ่นแรก ๆ มีชื่อเรียกว่า ฮิบรูและต่อมาเรียกว่า อิสราเอไลต์ ดินแดนของพวกนี้ตามหลักฐานในคัมภีร์ไบเบิล รวมทั้งรัฐของพวกนี้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่ครั้งหนึ่งมีชื่อเรียกว่า ปาเลสไตน์ ได้รับการขนานนามตามชื่อของคนเหล่านี้
                    ในช่วงปลายสมัยประวัติศาสตร์ถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญของคนกลุ่มนี้คือ ส่วนหนึ่งของดินแดนอิสราเอลที่เรียกว่า ยูเดีย ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากพวกฮิบรู ในเขตแดนยูเดียนี้เองที่เรียกว่า ชาวยิว ภาษาที่ใช้ต่อเนื่องกันมาในหมู่พวกยิวคือ ภาษาฮิบรู ซึ่งเป็นภาษาของประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน
                    เรื่องราวในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ส่วนใหญ่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับชาวยิว มีความสำคัญมากต่อศาสนาของ
    ชาวยิวและเป็นหนึ่งในมรดกด้านอารยธรรมหลายต่างที่ชาวยิวให้ไว้แก่โลก คัมภีร์ดังกล่าวคือ หนึ่งในแหล่งที่มาทางด้านภูมิปัญญาแรงบันดาลใจ และประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ที่สุด ชาวยิว ชาวคริสต์ และชาวมุสลิม มีมรดกร่วมกันมาทางคัมภีร์นี้ ซึ่งรวมบัญญัติสิบประการไว้ด้วย
                    ประวัติศาสตร์ของชาวยิวตามบันทึกในคัมภีร์เริ่มต้นเมื่อประมาณ ๑,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช โดยมีหัวหน้าเผ่าชื่ออับราฮัม เขาได้นำชนเผ่าฮิบรู เดินทางออกไปจากเมโสโปเตเมีย (อิรักปัจจุบัน) เข้าไปในคานาอานหรือปาเลสไตน์ พระเจ้าได้ให้สัญญาแก่อับราฮัมว่า ผู้ที่สืบเชื้อสายของเขาจะได้พำนักอาศัย และครอบครองคานาอาน หากเขาเหล่านั้นจะยอมรับนับถือพระเจ้าผู้เป็นพระเจ้าของเขาแต่เพียงผู้เดียวตลอดไป เหตุนี้ปาเลสไตน์จึงได้สมญาว่าเป็นดินแดนที่พระเจ้าสัญญาไว้ อับราฮัมได้รับการขนานนามว่า ผู้ที่พระเจ้าเลือกให้เป็นผู้ที่จะธำรงรักษา และเผยแพร่ลัทธิบูชาพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว
                   ยาคอบ บุตรของไอแซก หลานของอับราฮัมได้รับสมญาว่า อิสราเอล ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ต่อสู้กับพระเจ้า เขามีบุตรชายสิบสองคน ซึ่งคือผู้ก่อตั้งเผ่าทั้งสิบสอง ซึ่งถือว่าเป็นเผ่าดั้งเดิมของอิสราเอล
                    ก่อนที่จะได้ครอบครองดินแดนที่พระเจ้าสัญญาไว้ พวกอิสราเอไลต์ต้องตกระกำลำบากอยู่เป็นเวลานาน โดยตกเป็นทาสอยู่ในอียิปต์ จนเกิดมีผู้นำชื่อโมเสส นำคนเหล่านี้หลุดพ้นจากเป็นทาสของอียิปต์ แล้วเดินทางเข้าสู่คานาอาน ซึ่งมีชื่อใหม่ว่าอิสราเอลา ดินแดนนี้ในระยะแรกประกอบขึ้นด้วยเขตอิสระหลายเขตประกอบด้วย
    ชนเผ่าต่าง ๆ ของอิสราเอล จนถึงประมาณ ๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราชได้รวมเข้าเป็นอาณาจักรมีผู้นำชื่อซอล
                    ในสมัยกษัตริย์เดวิด อาณาจักรของชนชาวฮิบรูได้สถาปนาขึ้นอย่างมั่นคงมีราชธานีอยู่ในเยรูซาเล็ม ต่อจากเดวิดคือ โซโลมอน เป็นผู้เฉลียวฉลาด หลักแหลมเป็นที่ปรากฎ สมัยโซโลมอน (๔๓๐ - ๓๙๐ ก่อนพ.ศ.) เป็นสมัยที่รุ่งเรือง เมื่อสิ้นโซโลมอนอิสราเอลก็แบ่งแยก เขตเหนือประกอบด้วยสิบสองจังหวัด ยังคงชื่ออิสราเอลเมืองหลวงอยู่ที่สะมาเรีย อีกเขตหนึ่งคือยูเดียเป็นอาณาจักรอิสระ เมืองหลวงอยู่ที่เยรูซาเล็ม ประมาณ ๑๗๙ - ๑๗๘ ปีก่อน พ.ศ. เมื่ออิสราเอลตกอยู่ในอำนาจของจักรพรรดิ์ซากอนที่สอง แห่งจักรวรรดิ์แอสซีเรีย เรียกแคว้นสะมาเรีย เหตุการณ์ตอนนี้เป็นต้นเค้าที่มาของนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่องเผ่ากับสิบที่ขาดสูญ
                    ในปี ๔๓ ก่อนพ.ศ. กษัตริย์เนบูชาเดรสซาแห่งแคลเดีย หรือบาปิโลเนียใหม่ได้เข้าปราบปรามยูเดีย ชาวยิวจำนวนมากถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย จนกระทั่งกษัตริยไซรัสแห่งเปอร์เซียเข้าตีบาปิโลเนียได้ และปลดปล่อยชาวยิวสู่ยูเดีย
                    ในพุทธศตวรรษที่ ๒ หลังการปราบปรามของพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ ฯ แคว้นยูเดียก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ์มาซิโดเนีย ต่อมาชาวยิวก่อการกบฎ และได้รับอิสรภาพในที่สุด พวกโรมันเข้ายึดครองเยรูซาเล็มในปี พ.ศ.๔๘๐ จากนั้นแคว้นยูเดียก็ตกอยู่ใต้การปกครองของโรมัน ในช่วงเวลานี้เองที่พระเยซูถือกำเนิด
                    ในปี พ.ศ.๖๑๓ แคว้นยูเดียถูกลดฐานะลงเป็นจังหวัดหนึ่งของโรมัน โรมันได้เปลี่ยนชื่อแคว้นยูเดียเป็นซีเรีย ปาเลส์ตินา และห้ามชาวยิวเข้าเยรูซาเล็ม จากนั้นการพลัดพรากแตกฉานซานเซ็นของชาวยิวก็เริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
                    ในระหว่างกลางพุทธตวรรษที่ ๑๓ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔ อันตรงกับช่วงเวลายุคกลางของยุโรป ชาวยิวจำนวนมากอาศัยอยู่ในยุโรป ศูนย์กลางอยู่ที่สเปน ซึ่งขณะนั้นตกอยู่ใต้การยึดครองของพวกมัวร์ ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม พวกยิวให้สเปนใต้การปกครองของพวกมุสลิมได้รับตำแหน่งหน้าที่การงานที่สำคัญ ๆ แต่เมืองชาวสเปนรับนับถือศาสนาคริสต์ ชาวสเปนเชื้อสายยิวจำนวนมากก็ถูกสังหารในเหตุการณ์จลาจลวุ่นวายต่อต้านยิวหลาย ๆ ครั้ง ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการถุกสังหาร ชาวสเปนเชื้อสายยิวจำนวนไม่น้อย หันไปรับนับถือศาสนาคริสต์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๓๕ ชาวยิวทั้งหมดถูกขับไล่ออกจากสเปน ส่วนใหญ่ถูกบังคับให้ตั้งบ้านเรือน ทำมาหากินในภาคกลาง และภาคตะวันออกของทวีปยุโรป
                    ชั่วระยะเวลาหนึ่งเยอรมนีได้เปิดโอกาสให้ชาวยิวเข้าสู่สังคมเยอรมอย่างเต็มที่ แต่แล้วในช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๓ - ๒๔๘๘ เยอรมนีได้กลายเป็นกับดักอันเลวร้ายที่สุดของชาวยิว ระบอบนาซีได้คร่าชีวิตชาวยิวถึงหกล้านคนในเขตแดนเยอรมนี และดินแดนที่ตกอยู่ใต้การยึดครองของเยอรมนี ถือเป็นการสังหารหมู่ชาวยิวจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ชาวยิวที่หนีรอดชีวิตได้เข้าไปหลบภัยในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศในละตินอเมริกาบางประเทศ
                    ประเทศอิสราเอลได้ถือกำเนิดในปี พ.ศ.๒๔๙๑ และด้วยความอนุเคราะห์ของขบวนการไซออนิสต์ ชาวยิวเหล่านี้ได้กลับคืนสู่แผ่นดินของบรรพบุรุาของตน เพื่อตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวร
                    หลักการขั้นพื้นฐานของศาสนายูดาคือ ความเชื่อที่ว่าพระเจ้ามีองค์เดียว ย้ำการมีชีวิตอยู่เพื่อปัจจุบัน มากกว่าเรื่องชีวิตหลังความตาย ชีวิตคือของขวัญจากพระเจ้า มาเพื่อแสวงหาความสุข ทั้งนี้จะต้องอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์ของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัญญัติสิบประการ         ๒๔/๑๕๔๗๘
                ๔๕๙๖. ยี่เข่ง  เป็นไม้พุ่มสูง ๒ - ๓ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับกันรูปไข่หรือรูปรี ดอกสีขาว ชมพู หรือม่วงแดงออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ผลกลมแก่แล้วแตก
                    ยี่เข่งเป็นไม้จากต่างประเทศนิยมปลูกเป็นไม้ประดับขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง         ๒๔/๑๕๔๘๕
                ๔๕๙๗. ยี่งอ  อำเภอขึ้น จ.นราธิวาส ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีป่าละเมาะและควนเล็ก ๆ เป็นบางตอน พลเมืองส่วนมากเป็นไทยอิสลาม ทำนา ทำสวนผลไม้
                    อ.ยี่งอ เดิมเป็นเมืองเก่าเรียกว่า เมืองยี่งอ ยุบเป็นอำเภอขึ้น จ.นราธิวาส         ๒๔/๑๕๔๘๖
                ๔๕๙๘. ยี่โถ  เป็นไม้พุ่มสูง ๒ - ๓ เมตร ทุก ๆ ส่วนมียางขาว ใบเดี่ยวออกรอบข้อ แผ่นใบแคบยาวขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มีทั้งกลิ่นหอมและไม่มีกลิ่น มีหลายสี เช่น ขาว ชมพู แดง ผลเป็นฝักรูปยาวสองฝักคู่กันภายในมีเมล็ดจำนวนมาก
                    ยี่โถเป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งและปักชำ         ๒๔/๑๕๔๘๖
                ๔๕๙๙. ยี่สก - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่จัดเป็นวงศ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย มีอยู่หลายชื่อ มีรูปร่างเรียวยาวลำตัวค่อนข้างกลม หรือแบนยาวเล็กน้อย ตามธรรมชาติปลายี่สกอยู่ในแม่น้ำที่มีก้นพื้นเป็นกรวด หรือทรายอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำโขง
                    นักวิชาการประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลายี่สก โดยการผสมเทียม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗           ๒๔/๑๕๔๘๗
                ๔๖๐๐. ยี่หร่า  เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กสูง ๑๕ - ๓๐ ซม. ลำต้นเป็นเหลี่ยมแตกกิ่งก้านสาขามากบริเวณใกล้ยอด ใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบหยักเว้าลึกมากจนเกือบถึงเส้นกลางใบ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มซ้อนออกที่ยอดดอกเล็กสมบูรณ์เพศสีขาวหรือชมพู ผลเล็กรูปขอบขนานแกมรูปไข่
                    ยี่หร่าเป็นไม้พื้นเมืองของแถบเมดิเตอเรเนียนส่วนใหญ่นำมาใช้เป็นเครื่องเทศและยารักษาโรค โดยใช้ส่วนของผลแก่แห้ง ยี่หร่ามีกลิ่นหอมแรง รสเผ็ดร้อนและขม  ๒๔/๑๕๔๙๐
                ๔๖๐๑. ยี่หุบ ๑  เป็นไม้ต้นหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก อยู่ในวงศ์เดียวกับจำปีและจำปาภาคกลางเรียกยี่หุบหรือมณฑา
                    ต้นยี่หุบปรกติสูง ๒ - ๕ เมตร ใบเดี่ยว ออกเวียนเป็นเกลียวรอบกิ่ง ใบเป็นรูปไข่กึ่งรูปขอบขนาน ดอกเดี่ยวสมบูรณ์เพศออกที่ปลายกิ่งสีขาวอมเขียว หรือเขียวอมเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาลเมื่อดอกแก่ใกล้ร่วง ผลรูปไข่ ดอกมีกลิ่นหอมโดยเฉพาะตอนเช้า         ๒๔/๑๕๔๙๔
                ๔๖๐๒. ยี่หุบ ๒  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงไม่เกิน ๑ เมตร ใบเดี่ยวรูปคล้ายใบหอก ดอกเดี่ยวออกที่ยอดสีขาวอมเขียวเมื่อดอกตูม และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล เมื่อดอกบานกลิ่นหอมโดยเฉพาะตอนเย็น ยี่หุบชนิดนี้ไม่เคยติดผล จึงขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งวิธีเดียว         ๒๔/๑๕๔๙๕
                ๔๖๐๓. ยี่หุบ ๓  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่สูง ๘ - ๑๕ เมตร ใบใหญ่ยาวรูปใบรีและค่อนข้างแคบ ดอกตูมรูปไข่มีใบประดับหนา ดอกสีขาวครีม ผลรูปไข่เมล็ดสีชมพู         ๒๔/๑๕๔๙๖
                ๔๖๐๔. ยุคนธร  ๑  (ดูจักรวาล - ลำดับที่ ๑๓๓๔)         ๒๔/๑๕๔๙๖
                ๔๖๐๕. ยุง  เป็นชื่อแมลงขนาดเล็ก มีรูปร่างบอบบาง ลำตัวยาว หัวเล็กสั้น อกโตกว้างใหญ่กว่าท้อง ปากยาว รูปร่างคล้ายเข็มแยกออกเป็นเส้น ๆ ได้และรวมตัวเป็นท่อใช้สำหรับเจาะดูดอาหารกินได้ ขายาวมีสามคู่
                    ยุงตัวผู้ไม่กินเลือกคนหรือสัตว์ คงอาศัยแต่น้ำหวาน หรือน้ำที่กลีบจากพืช ตัวเมียวางไข่ตามชายน้ำหรือที่มีน้ำ ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนเรียกว่าลูกน้ำ เจริญเติบโตโดยการลอกคราบ และแบ่งเป็นสี่ระยะ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นดักแด้ หรือที่เรียกว่า ตัวอ้ายโม่ง วัฏจักรชีวิตตั้งแต่ไข่จนเป็นตัวเต็มวัยอยู่ระหว่าง ๑๐ - ๒๑ วัน
                    ยุงมีความสำคัญต่อวัฏจักรชีวิตของสัตว์โลกมาก เมื่อเป็นลูกน้ำก็มักจะตกเป็นอาหารของสัตว์น้ำต่าง ๆ เมื่อเป็นตัวเต็มวัย ยุงตัวเมียจะดูดกินเลือดมนุษย์และสัตว์ มียุงหลายชนิดเป็นพาหะนำโรคร้ายมาสู่มนุษย์ และสัตว์ได้ เช่น ไข้มาเลเรีย
                    ในประเทศไทยมีไม่น้อยกว่า ๔๐๐ ชนิด ยุงก้นปล่องมีประมาณ ๖๐ ชนิด         ๒๔/๑๕๔๙๖
                ๔๖๐๖. ยุติธรรม ๑  ยุติธรรมอาจจำแนกความหมายได้หลายอย่างคือ ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรมและความชอบด้วยเหตุผล
                    ความยุติธรรมแบ่งตามลักษณะได้สามประเภท คือ ความยุติธรรมตามธรรมชาติ ความยุติธรรมทางสังคม และความยุติรรมตามกฎหมาย
                    ความยุติธรรมของประเทศมีกฎหมายเป็นเครื่องมือในการธำรงรักษามีองค์กรสำหรับบังคับตามกฎหมายหลายองค์กรร่วมกัน เรียกว่า กระบวนการยุติธรรมอันมีพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ พนักงานอัยการ ทนายความ ผู้เสียหาย คู่ความ ศาล ราชทัณฑ์         ๒๔/๑๕๔๙๙
                ๔๖๐๗. ยุติธรรม ๒  กระทรวง  เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรับผิดชอบด้านงานยุติธรรมบางประเทศ รวมเอาองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทั้งหมดไว้ในกระทรวงนี้ แต่บางประเทศแยกสถาบันศาลออกเป็นองค์กรอิสระ
                    กระทรวงยุติธรรมของไทยตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ เพื่อรับโอนศาลต่าง ๆ จากหลายกระทรวงมาสังกัดกระทรวงเดียวกัน มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะงาน ด้านธุรการของศาล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๑ เสนาบดีได้เข้ามามีบทบาทในงานฝ่ายตุลาการอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นประธานมีหน้าที่รับผิดชอบ บังคับบัญชาราชการฝ่ายธุรการและตุลาการ ทั้งมีอำนาจนั่งกำกับการพิจารณาปรึกษาคดีในศาลยุติธรรมได้ทุกศาลอีกด้วย การตั้งเลื่อนย้ายหรือปลดผู้พิพากษา ตกเป็นหน้าที่ของเสนาบดี ที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ประธานศาลฏีกาเป็นใหญ่ ในงานฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรมทั้งปวง กับทั้งเป็นประธานคณะกรรมการตุลาการ (กต.) ด้วย         ๒๔/๑๕๕๐๘

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch