หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/133

    ๔๕๔๐. โมฆราช - พระ  เป็นพระเถระผู้สำเร็จพระอรหันต์องค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล ท่านเกิดในสกุลพราหมณ์ ณ กรุงสาวัตถี เมื่อเจริญวัยได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ เล่าเรียนศิลปศาสตร์ในสำนักพราหมณ์พาวรี
                        เมื่อพราหมณ์พาวรี ทราบข่าวว่าพระสมณโคดม ปฎิญาณพระองค์ว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนประชาชน จึงให้มาณพ ผู้เป็นศิษย์สิบหกคนมี อชิตมาณพ เป็นหัวหน้า ตั้งปัญหาให้คนละข้อ ให้ไปลองทูลถามดู โมฆราชมาณพ ถือตัวว่าตนมีปัญญามากกว่าเพื่อน คิดจะทูลถามปัญหาก่อน แต่เห็นว่า อชิตมาณพ เป็นผู้ใหญ่กว่า จึงยอมถามเป็นคนที่สอง แต่พระพุทธเจ้าห้ามไว้ จึงได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่สิบหกว่า โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลก กับเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุฉะนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราช (ความตาย) จึงจักไม่แลเห็นคือว่า จักตามไม่ทัน
                        พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า ท่านจงเป็นคนมีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจักข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ ด้วยอุบายอย่างนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงแลไม่เห็น
                        เมื่อสิ้นสุดปัญหา โมฆราชมาณพ และมาณพอื่นเป็นสิบห้าคน เว้นแต่ ปิงคิยมาณพ พิจารณาเห็นตามธรรมเทศนา ก็มีจิตพ้นจากอาสวะ
                        พระโมฆราชเถระ เป็นพระสาวกที่ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า ยอดเยี่ยม (เอตทัคคะ) กว่าพระสาวกอื่น ในทางทรงจีวรเศร้าหมอง        ๒๔/๑๕๒๗๔
                ๔๕๔๑. โมง  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เปลือกลำต้นและใบมีกลิ่นหอมฉุน ใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ ๆ มีขนาดต่าง ๆ กัน รูปขอบขนานแกมรูปหอก ดอกขนาดเล็ก สีนวล ออกเป็นช่อกระจายที่ปลายกิ่ง กลิ่นเหม็น ผลขนาดเล็ก
                        รากและเปลือก มีกลิ่นหอมฉุนเรียกว่า กลิ่นอบเชย ใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหาร ทำเครื่องสำอาง น้ำมันที่กลั่นได้จากรากและเปลือก เป็นยาขับลมในกระเพาะ และฆ่าเชื้อ ดองเป็นสุรากินแก้หวัด ใช้แต่กลิ่นยา แลใช้เป็นยากันบูด เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องแกะสลักตู้ เครื่องเรือน หีบใส่ของที่กันแมลงต่าง ๆ ได้         ๒๔/๑๕๒๗๗
                ๔๕๔๒. โมงครุ่ม - การเล่น  เป็นชื่อการเล่นของหลวงอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงในสนาม ในพระราชพิธีสมโภชสมัยโบราณ การแสดงชุดเดียวกับโมงครุ่ม มีอยู่ห้าอย่างด้วยกันคือ ระเบง โมงครุ่ม กุลตีไม้ แทงวิสัย และกระอั้วแทงความ
                        ผู้เล่นโมงครุ่ม เป็นชายล้วนแต่งกายสวมสนับเพลา นุ่งผ้าเกี้ยวทับ สวมเสื้อแขนยาวถึงข้อมือ ผ่าอก คอตั้ง ใช้ผ้าตามสมัยนิยม เครื่องดนตรีที่ใช้มี ฆ้องโหม่งแขวน ขาหยั่ง หนึ่งลูก กลองขนาดกลองทัด ในวงปี่พาทย์หนึ่งลูก วางนอนบนเท้าแบบตะโพน เขียนหน้ากลองเป็นลวดลายต่าง ๆ ให้สวยงาม เริ่มด้วยตั้งกลองไว้ตอนหน้า หันหน้ากลองไปทางผู้ชม ตั้งขาหยั่งแขวนฆ้องโหม่ง ไว้ตอนหลัง ผู้แสดงทั้งห้าเดินออก โดยคนตีกลองแยกออกเป็นสองแถวห่างกัน แถวซ้ายสองคน แถวขวาสองคน เดินตามกันมา ยืนประจำเป็นสี่มุมของที่ตั้งกลอง คนตีฆ้องโหม่ง ออกมายืนหลังที่ตั้งขาหยั่งฆ้องโหม่ง ทุกคนถวายคำนับ
                        เริ่มแสดง คนตีฆ้องนั่งลงตีฆ้องโหม่งรัว เพื่อให้เตรียมตัว แล้วตีฆ้องสองที คนตีกลองทั้งสี่คุกเข่าซ้ายลง ตีฆ้องอีกสองที คนตีกลองคุกเข้าขวาลง ตีฆ้องสองที คนตีกลองวางไม้ตีกลองลงข้าง ๆ ตัว และพนมมือตีฆ้องสองที คนตีกลองถวายบังคมครั้งที่หนึ่ง ตีฆ้องสองที คนตีกลองถวายบังคมครั้งที่สอง ตีฆ้องสองที คนตีกลองถวายบังคมครั้งที่สาม ตีฆ้องสองที จับไม้ตีกลองที่วาง ตีฆ้องสองที ตั้งขาขวาขึ้น ตีฆ้องสองที ลุกขึ้นยืน คนตีฆ้องตีรัวให้สัญญาณ และบอกชื่อท่าว่า เทพนม  แล้วตีฆ้องสองที
                        เมื่อจบท่าเทพนมแล้ว คนตีฆ้องจะเริ่มตีรัว และบอกชื่อท่าต่อๆ ไป โดยปฎิบัติอย่างเดียวกันทุก ๆ ท่า           ๒๔/๑๕๒๗๗
                ๔๕๔๓. โม่จื้อ หรือม่อจื้อ  (พ.ศ.๗๓ - ๑๕๒)  เป็นนักปรัชญาคนหนึ่งของจีน ปรัชญาของโม่จื้อ บางอย่างขัดแย้งอย่างรุนแรงกับคำสอนของขงจื้อ ท่านได้ประณามพิธีรีตองทุกชนิด การดนตรี การเลี้ยงดูกันอย่างฟุ่มเฟือย และที่สำคัญที่สุดคือ การทำสงครามรุกรานผู้อื่น โม่จื้อเชื่อว่า ความคิดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการกระทำที่สอดคล้องกัน เป็นสิ่งจำเป็น ประชาชนจะต้องเชื่อผู้นำ และผู้นำจะต้องปฎิบัติตามเจตจำนงค์ของฟ้า (สวรรค์)           ๒๔/๑๕๒๘๖
                ๔๕๔๔. โมรา - นาง  เป็นชื่อตัวละครนาง ในเรื่องจันทโครบ กำเนิดของนางโมรา เกิดจากการเสกขนนกยูง ในผอบแก้วของพระฤาษี อาจารย์ของพระจันทโครบ ซึ่งมีความประสงค์อยากให้นางงามสมกับลูกศิษย์ เมื่อฤาษีมอบผอบวิเศษ แก่พระจันทโครบก็ได้บอกว่า ให้เปิดเมื่อถึงบ้านเมือง จะได้ครอบครองกัน แต่เมื่อพระจันทโครบไม่เชื่ออาจารย์ ไปเปิดผอบที่กลางป่า ผลปรากฎว่า เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น นางโมราก็แสดงความชั่วร้ายในจิตใจคือ คิดร้ายต่อสามีเป็นเหตุให้จันทโครบตาย ตัวนางเองก็ตกเป็นเมียโจร ในที่สุดร้อนถึงพระอินทร์จึงสาปให้นางโมรา เป็นชะนี ให้นางชะนีไม่มีคู่ ถ้าอยากได้คู่ก็ได้สมสู่กับค่าง อันนางโมรานี้ เป็นตัวอย่างของหญิงเลว เพื่อสอนให้ภิกษุเลิกฝักใฝ่ในสตรี          ๒๔/๑๕๒๙๑
                ๔๕๔๕. โมลิบตีนัม  เป็นธาตุลำดับที่ ๔๒ คำนี้ได้มาจากภาษากรีก ซึ่งแปลว่า ตะกั่ว เพราะว่าเนื้อโลหะของธาตุนี้ มีลักษณะอ่อนคล้ายตะกั่ว นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน สามารถสกัดแยกธาตุนี้ออกมาเป็นอิสระได้สำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕
                        ในธรรมชาติธาตุนี้ไม่มีปรากฎอยู่ในภาวะอิสระ แต่จะรวมอยู่กับธาตุอื่น เป็นสารประกอบและอยู่ในลักษณะเป็นแร่ ธาตุนี้เป็นโลหะ ลักษณะเป็นของแข็งสีเทาเงิน เป็นตัวนำความร้อนได้สูงมาก เนื้อโลหะมีความยืดหยุ่นสูง ละลายได้ในกรดดินประสิว เจือจาง และในกรดกัดทอง
                        โลหะนี้มีประโยชน์มากในอุตสาหกรรม เช่นใช้ในงานประเภทพลังงานนิวเคลียร์ จรวดนำวิถี ทำชิ้นส่วนของอากาศยาน ใช้ทำฉากในหลอดอีเล็คทรอนิก ใช้เจือกับเหล็กหรือกับเหล็ก และโลหะอื่นให้เป็นโลหะเจือ สำหรับใช้ทำเครื่องมือต่าง ๆ โลหะเจือดังกล่าวจะมีความแข็งแกร่ง ทนทานต่อการสึกหรอได้สูง ทนความร้อนได้ดี         ๒๔/๑๕๒๙๒
                ๔๕๔๖. โมเสส  เป็นผู้รวบรวมชาวฮิบรูขึ้นเป็นชาติอิสราเอล เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งภายหลังเรียกกันว่า ชาวยิว ชีวิตของโมเสส ก็เป็นเช่นเดียวกับผู้ก่อตั้งชาติโบราณทั้งหลายคือ เต็มไปด้วยตำนาน ซึ่งส่วนมากบันทึกอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล ตอนแรก ๆ
                        ตามคัมภีร์ไบเบิล โมเสสถือกำเนิดจากตระกูลเลงีของเผ่าฮีบรูโบราณ บิดาชื่อ อัมรัม มารดาชื่อ โยเคเบด พี่สาวชื่อ มีเรียม พี่ชายชื่อ อาโรน ขณะที่โมเสสถือกำเนิดเป็นระยะเวลาที่ชาวฮับรูหลายเผ่าตกเป็นทาสของชาวอียิปต์โบราณ รวมทั้งเผ่าเลวีด้วย ฟาโรห์กษัตริย์ของอียิปต์ จึงทรงแก้ปัญหาโดยออกกฎหมายให้ฆ่าทารกเพศชายที่เกิดใหม่ บิดามารดาของโมเสส ไม่ยอมฆ่าลูกของตนเอง จึงคิดเสี่ยงทายเอาทารกใส่ตะกร้าที่ยาชัน แล้วปล่อยให้ลอยไปตามแม่น้ำโนล์ พี่สาวเดินตามดู ตะกร้าทารกลอยไปติดอยู่หน้าวังของฟาโรห์ พระราชธิดาพบเข้าจึงรับไปเลี้ยงเป็นโอรส ให้นามว่า โมเสส แปลว่า ผู้ที่ถูกฉุดขึ้นจากแม่น้ำ
                        โมเสสเติบโตในฐานะเจ้าชายอียิปต์ ภายหลังรู้ว่าตนเป็นชาวยิวก็รู้สึกสับสน เพราะไม่สามารถจะช่วยชนเชื้อสายเดียวกัน ให้พ้นจากการเป็นทาสได้ วันหนึ่งโมเสสเห็นผู้คุมทาสทำทารุณต่อทาสยิว จึงฆ่าผู้คุมคนนั้นเสีย แล้วหนีภัยไปอยู่ต่างแดน ได้ลูกสาวหัวหน้าเผ่ามีเดียน เป็นภรรยา เกิดบุตรสองคน
                        พระยาห์เวห์ หรือพระยะโฮวา ได้แสดงองค์ให้โมเสสประจักษ์ ได้ยินเสียงสั่งให้ไปเป็นผู้นำชาวอิสราเอล
                        โมเสส ออกเดินทางไปเฝ้าฟาโรห์ของอียิปต์ โดยมีอาโรนพี่ชายเป็นที่ปรึกษา ได้ขอร้องให้ปล่อยชาวอิสราเอลเป็นอิสระ ครั้นฟาโรห์ไม่ยอมโมเสส ก็ขู่ว่าจะเกิดเหตุร้ายต่าง ๆ และเหตุร้ายก็ได้เกิดขึ้นจริง แต่ฟาโรห์ก็ยังไม่ยอมปล่อยชาวอิสราเอล แต่ในที่สุดที่ยอมปล่อยเมื่อถูกขู่ว่าบุตรคนหัวปีทุกคน จะต้องตายในคืนเดียวกัน และโอรสของฟาโรห์ก็อยู่ในข่ายด้วย ชาวอิสราเอลจึงต้องเดินทางไปแสวงหาแผ่นดินใหม่ เพื่อตั้งรกรากดินแดนที่มุ่งหวังนี้คือ ดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งมีกษัตริย์ครอบครองเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ อยู่หลายองค์อย่างเป็นอิสระต่อกัน
                        โมเสสต้องใช้เวลาอบรมฝูงชนถึง ๔๐ ปี ในทะเลทราย เมื่อฟาโรห์ปล่อยชาวอิสราเอลไปแล้วเกิดเสียดาย สั่งให้ทหารออกติดตามไปทันกันที่ทะเลแดง โมเสสก็สั่งให้ทะเลแดงแยกตัวออก ในนามของพระยาห์เวห์ ให้ชาวอิสราเอลเดินผ่านไปจนพ้นหมดทุกคน แล้วน้ำก็รวมตัวกันใหม่ เป็นเหตุให้กองทัพอิยิปต์ถูกน้ำทะเลท่วมจมน้ำตายหมด
                        โมเสส ประกาศกฎหมายในนามของพระยาห์เวห์ โดยประกาศว่า พระยาห์เวห์ประทาน บัญญัติสิบประการ ให้ขณะขึ้นไปบำเพ็ญภาวนาบนภูเขาซีโน เมื่อมีการฝ่าฝืนโมเสสก็ลงโทษเป็นตัวอย่างในนามของพระยาห์เวห์ เมื่อมีความทุกข์ โมเสสก็รับผิดชอบแก้ปัญหาให้ทุกอย่าง ในนามของพระยาห์เวห์ จนกระทั่งจะเข้ารบชิงชัยในดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นที่ตั้งชาติใหม่ ก็ชี้แจงว่าเป็นดินแดนที่พระยาห์เวห์ ได้สัญญาไว้กับบรรพบุรุษว่า จะให้เป็นกรรมสิทธิ์ของชาวอิสราเอล ซึ่งเรียกว่า คานาอัน  หรือดินแดนที่พระเจ้าสัญญาว่า จะให้อันได้แก่ ดินแดนปาเลสไตน์ ในปัจจุบัน           ๒๔/๑๕๒๙๕
                ๔๕๔๗. โมหะหมัด  (ดู มะหะหมัด  - ลำดับที่ ๔๓๑๔)         ๒๔/๑๕๒๙๙
                ๔๕๔๘. โมกา  มีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า แร่กลีบหิน โมกาเป็นแร่ที่รู้จักกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว แต่เพิ่งจะเริ่มนำมาใช้ประโยชน์กันมากขึ้น และจริงจังในช่วงหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๔ โดยนำมาใช้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอีเล็กทรอนิกส์ สมบัติที่สำคัญคือ มีสมบัติเป็นฉนวนความร้อน ความต้านทานไฟฟ้า โดยเฉพาะสมบัติทางไดอิเล็กทริก               ๒๔/๑๕๒๙๙
                ๔๕๔๙. ไม้กางเขน  (ดู กางเขน - ลำดับที่ ...)         ๒๔/๑๕๓๐๕
                ๔๕๕๐. ไม้ดัด  เป็นต้นไม้ที่นำมาปลูกในกระถาง หรือปลูกลงดินแล้วตัดกิ่งก้าน และตัดแต่งใบให้เป็นพุ่ม หรือดัดให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ  ตามแต่ต้องการ
                        การทำไม้ดัด และการเล่นไม้ดัดในหมู่คนไทยจัดเป็นศิลปะประยุกต์อย่างหนึ่ง สันนิษฐานว่า คงจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว การทำไม้ดัด แต่ก่อนนั้นนักเล่นนิยมนำไม้ มะสัง มะขาม ข่อย ชา โมก มาทำไม้ดัดที่นิยมมากคือ ไม้ตะโก             ๒๔/๑๕๓๐๕
                ๔๕๕๑. ไม้ตะพด  คือ ไม้ถืออย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ชายสมัยก่อนนิยมถือประจำมือ เพื่อประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ เช่น ใช้ถือเป็นเครื่องป้องกันตัว ใช้คุมวัวควายไปเลี้ยง ฯลฯ ไม้ตะพดมีลักษณะเป็นไม้ท่อนกลม ยาว ๘๐ - ๑๐๐ ซม. นิยมใช้ไม้ไผ่เปร็งทำไม้ตะพด โดยเลือกไม้ที่แก่จัด มีข้อดี เนื้อแน่นตัน เพราะต้องการน้ำหนักของไม้ด้วย
                        ไม้ตะพด แบบพื้นบ้านมักเป็นไม้เกลี้ยงไม่มีลวดลาย มักใช้ด้ายดิบทำเป็นบ่วงขนาดพอดี คล้องข้อมือผู้ที่ถือตรงส่วนปลายไม้ ส่วนไม้ตะพดที่ใช้ถืออวดประกวดกันนั้น มักจะได้รับการตกแต่งให้งาม ทั้งทำลวดลายและประดับด้วยสิ่งมีค่าต่าง ๆ จนเป็นของมีราคาค่างวด กล่าวคือ เลี่ยมปลายด้วยเงินบ้าง นาค บ้าง
                        สมัยก่อนขึ้นชื่อว่าลูกผู้ชายแล้ว ต้องมีไม้ตะพดไว้ถือประจำมือทุกคน แทนการถือดาบ เนื่องจากสมัยก่อนถือว่าดาบเป็นอาวุธร้ายแรง ชาวบ้านจะถือดาบออกไปนอกเขตบ้านเรือนของตน หรือถือดาบเปลือยฝักในที่สาธารณะ โดยไม่มีเหตุผลอันควรไม่ได้ สมัยต่อมาคนที่อยู่ในเมืองหลวง และหัวเมืองใหญ่ตั้งข้อรังเกียจ พวกผู้ชายถือไม้ตะพดติดมือว่า เป็นพวกนักเลงหัวไม้ พวกผู้ชายตามเมืองใหญ่จึงเปลี่ยนไปนิยมถือไม้แทนถือไม้ตะพด ไม่ถือนี้เป็นไม้เท้าที่สั่งจากต่างประเทศเข้ามาขาย         ๒๔/๑๕๓๑๙
                ๔๕๕๒. ไมยราบ  เป็นชื่อพรรณไม้หลายชนิด ในประเทศไทยมีสามชนิดได้แก่
                         ๑. ไมยราบเลื้อย  เป็นไม้พุ่ม กิ่งก้านอ่อน เลื้อยทอดยาวได้ถึงหนึ่งเมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยมมีขนาดเล็ก ทั้งสี่ด้านของลำต้นมีหนามแหลมโค้ง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ ช่อดอกเดี่ยวหรือคู่เกิดตามง่ามของก้านใบรวม ช่อดอกคล้ายดอกกระถินสีชมพู อมม่วง ประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ รวมกันเป็นกระจุก ฝักรวมอยู่เป็นกระจุก รูปขอบขนานโค้งเล็กน้อย
                         ๒. ไมยราบต้น  มีชื่ออื่น ๆ คือ ไมยราบน้ำ ไมยราบยักษ์ เป็นไม้พุ่มสูงได้ถึง ๔ เมตร แตกกิ่งก้านสาขา มีหนามแหลมสั้น ขึ้นห่าง ๆ ทั่วลำต้น ใบประกอบแบบขนนก สองชั้น ช่อดอกประกอบด้วยก้านช่อดอกออกเป็นคู่ ในซอกใบที่อยู่ตรงใบที่ใกล้ยอด ช่อดอกเป็นกระจุกกลมคล้ายดอกกระถิน สีชมพู ปนม่วง ประกอบด้วยดอกย่อยเล็ก ๆ จำนวนมาก ผลเป็นฝักติดเป็นกระจุก ฝักค่อนข้างแบน รูปขอบขนานแกมรูปแถบ
                          ๓. ไมยราบ  เป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว หรือหลายฤดู มักเลื้อยทอดไปตามดินสูงได้ถึง ๑ เมตร ใบประกอบเกือบคล้ายแบบนิ้วมือ ใบประกอบมีสองคู่ ช่อดอกมีก้านดอกรวม ออกเดี่ยวหรือออกเป็นคู่ในซอกใบ ปลายก้านเป็นดอกกระจุก คล้ายดอกกระถิน สีชมพู อมม่วง ฝักมีเป็นจำนวนมาก อยู่ติดกันเป็นกระจุก รูปขอบขนาน          ๒๔/๑๕๓๒๕
     
     

     

                ๔๕๕๓. ย พยัญชนะตัวที่ ๓๔  ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ รูปของไทย  เป็นตัวสะกดแม่ เกย
                        รูปอักษร ย ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ นับเป็นตัวอักษรไทยที่คงลักษณะของตัวอักษรสมัยพ่อขุนรามคำแหงไว้มากที่สุดรูปหนึ่ง
                        อักษร ย ออกเสียง โดยใช้แผ่นลิ้นส่วนหน้าแตะเพดานปากด้านบน เป็นเสียงกึ่งสระและเสียงก้อง ซึ่งมีลักษณะผสมของพยัญชนะและสระผสมกัน อักษร ย ใช้เป็นทั้งพยัญชนะต้น และตัวสะกดในภาษาไทย          ๒๔/๑๕๓๒๘
                ๔๕๕๔. ยกกระบัตร  (ดูที่ พลาธิการ - ลำดับที่.๓๘๘๘)          ๒๔/๑๕๓๒๙
                ๔๕๕๕. ยชุรเวท  พระเวทของพราหมณ์คือ ความรู้เกี่ยวกับสูตรที่ว่าด้วยการประกอบ ยัญ (การเซ่น การบูชา) หรือความรู้ที่เกี่ยวกับการบวงสรวง ยชุรเวทมีสองสาขาคือ
                        ๑. ศกลยชุรเวท คือ ยชุรเวทขาว มีบทสวดเป็นระเบียบ และมีคำอธิบายกฎเกณฑ์ ของการประกอบยัญ ไม่ปะปนหรือคละไปกับบทสวด
                        ๒. กฤษณยชุรเวท คือ ยชุรเวทดำ มีความไม่เป็นระเบียบคือ มีบทสวดรวมกันกับคำอธิบาย หรือข้อแนะนำเกี่ยวกับยัญวิธี              ๒๔/๑๕๓๒๙
                ๔๕๕๖. ยนต์ - เครื่อง  เป็นเครื่องกลที่เปลี่ยนพลังงานความร้อน เป็นพลังงานกล เครื่องยนต์โดยทั่วไปแบ่งเป็นสองประเภทคือ
                        ๑. ประเภทเผาไหม้ภายนอก  ใช้เชื้อเพลิงที่เผาไหม้ในเตา หรือเครื่องปฎิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งให้ความร้อนผ่านอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน ไปสู่ของไหลทำงานอยู่ภายในเครื่องยนต์ ความร้อนถูกถ่ายเผาผนังเตา หรือหม้อไอน้ำเข้าสู่ของไหลทำงาน
                        ๒. ประเภทเผาไหม้ภายใน  ใช้เชื้อเพลิงเผาไหม้กับอากาศภายในเครื่องยนต์  แก๊สร้อนที่เป็นผลผลิตจากการเผาไหม้เป็นของไหล ทำงานในเครื่องยนต์ ที่นิยมใช้กันมากคือ
                                ๒.๑  เครื่องยนต์แกโชลีน หรือเบนซิน จากเครื่องยนต์จุดระเบิด มีหลักการทำงานตามวัฎจักรออตโต  เชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องยนต์ชนิดนี้ ตามปรกติเป็นไฮโดรคาร์บอน อิ่มตัวเหลว ที่มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันได้แก่ แกโซลีน เบนซิน และปิตรอล เชื้อเพลิงอื่นอาจนำมาใช้กับเครื่องยนต์นี้ได้แก่ แก๊สปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีวี แก๊สโปรดิวเซอร์ ที่ประกอบด้วย คาร์บอนมอนนอกไซด์ และไฮโดรเจน แอลกอฮอล์ แกโซฮอล หรือ แอลกอแก๊ส ที่ประกอบด้วย แกโซลีน ผสมกับแอลกอฮอล์
                                ๒.๒  เครื่องยนต์ดีเซล  หรือเครื่องยนต์อัดระเบิด โดยใช้อากาศอัดด้วยความดันสูงกว่าเครื่องยนต์แกโซลีน เป็นผลให้อุณหภูมิของอากาศอัดสูงกว่าอุณหภูมิติดไฟของเชื้อเพลิง เมื่อพ่นน้ำมันดีเซลผ่านหัวฉีด เข้าไปผสมกับอากาศที่อัดก็จะทำให้ติดไฟ และระเบิดเองโดยไม่ต้องใช้หัวเทียน เครื่องยนต์ดีเซลจึงทำงานได้ประสิทธิภาพสูงกว่า เครื่องยนต์แกโซลีน เมื่อคิดต่อหน่วยความร้อนที่ใช้ป้อนเข้า
                                ๒.๓  เครื่องยนต์กังหันแก๊ส  อากาศที่ถูกอัดให้มีความดันสูงด้วยเครื่องอัด ถูกส่งเข้าห้องเผาไหม้ที่มีเชื้อเพลิงฉีดเข้ามา แก๊สร้อนที่เป็นผลจากการเผาไหม้ถูกป้อนเข้าถังหับแก๊ส แก๊สจะขยายตัวทำให้กังหันหมุน แล้วไอเสียจะออกจากถุงกังหันด้วยอุณหภูมิ และความดันต่ำลง เชื้อเพลิงที่ใช้อาจเป็นน้ำมันเคโรซีน ดีเซล หรือแก๊สธรรมชาติก็ได้         ๒๔/๑๕๓๓๓
                ๔๕๕๗. ยม  แม่น้ำ ยอดน้ำเกิดจากลำน้ำเล็ก ๆ หลายสาขาจากภูเขาสันปันน้ำ และดอยภูรังกา ใน อ.ปง จ.พะเยา ไหลลงทางทิศใต้ ผ่าน จ.แพร่ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร จ.นครสวรรค์ ไปร่วมแม่น้ำน่านที่หน้าวัดพระธาตุ บ้ายเกยชัย อ.ชุมแสง ยาว ๗๐๐ กม.  หน้าแล้งตอนเหนือน้ำแห้ง ตอนใต้มีน้ำแต่น้อยเรือเดินไม่สะดวก มีแก่งอยู่หลายแก่ง         ๒๔/๑๕๓๓๗
                ๔๕๕๘. ยมกปาฎิหารย์  มีบทนิยามว่า "ปาฎิหารย์ที่แสดงเป็นคู่ ๆ เป็นปาฎิหารย์ที่พระพุทธเจ้า ทรงกระทำที่ต้นมะม่วง ทรงบันดาลให้ท่อน้ำท่อไฟ ออกจากส่วนของพระกายเป็นคู่ ๆ กัน "
                        มูลเหตุที่พระพุทธเจ้าจะทรงแสดงยมกปาฎิหารย์ เพราะพระพุทธองค์ทรงตำหนิพระสาวกที่แสดงอุตริมนุสธรรม ด้วยเหตุที่ไม่สมควร และได้ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้พระสาวกแสดงปาฎิหารย์ไว้ พวกเดียรถีย์จึงถือโอกาสนี้ประกาศว่า พวกตนจะแสดงปาฎิหารย์บ้าง เป็นสาเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องทรงแสดงยมกปาฎิหารย์ด้วยพระองค์เอง           ๒๔/๑๕๓๓๘
                ๔๕๕๙. ยมุนา หรื ยมนา  เป็นชื่อแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งในจำนวนแม่น้ำใหญ่ห้าสาย แม่น้ำมุนา มีต้นน้ำเกิดจากภูเขาหิมาลัยตอนเหนือของอินเดีย ไหลลงทางใต้ผ่านเมืองมัสซูรี เดหะราดูน มูซีฟฟาร์นคร เดลี มถุนา และอัครา จากนั้นไหลไปทางทิศตะวันออกผ่านเมืองกานปูร์ แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเมืองฟาเตปูร์ ไปรวมกับแม่น้ำคงคา ที่เมืองอัลลาฮาบาด ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองโกสัมพี แม่น้ำนี้ยาว ๑,๓๘๕ กม. ปัจจุบันเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ชุมนา          ๒๔/๑๕๓๔๔
                ๔๕๖๐. ยวน  เป็นชื่อเรียกชาวไทยล้านนาไทย มีบทนิยามว่า "ชื่อชนชาติกรีก , ชาวอินเดีย เรียกเพี้ยนมาจากคำ ไอโอเนีย ; เรียกชาวไทยทางล้านนาว่า ไทยยวน ,เพี้ยนเป็น เยาวนะ โยน หรือโยน ก็มี"
                        คำว่า ยวน เป็นชื่อที่คนในถิ่นใกล้เคียงโดยรอบ เรียกมาแต่ดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่หนึ่ง ชนชาติอ้ายลาว (ไทย) ได้มาตั้งแคว้นขึ้น ในท้องที่ของยวนหรือกะเหรี่ยงนี้ เมืองใหญ่ ๆ คือ เมืองเล็ม เชียงรุ้ง เชียงตุง และเชียงแสน ตามตำนานท้องถิ่นชนชาติอ้ายลาวได้สู้รบสลัดแอกกะเหรี่ยงได้ และได้เป็นใหญ่ขึ้น ตั้งแต่นั้นมาก็เลยสวมชื่อยวน หรือกระเหรี่ยง อยู่ในแดนนั้น พวกพม่ายังคงเรียกดินแดนตะวันออกของแม่น้ำสาละวินว่า ยวน และเรียกพวกชาน ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในแคว้นยวนนี้ว่า  ยวนชาน (หรือไทย) เมืองยวนเหล่านี้ ยังคงเป็นเมืองของคนไทยอยู่ และคำว่า ยวน ก็ยังคงใช้อยู่ในถิ่นเหล่านี้
                        สมัยอยุธยา ชาวไทยในอยุธยาเรียกชาวไทยในล้านนาไทยว่า ยวน ดังปรากฎในลิลิตยวนพ่าย          ๒๔/๑๕๓๔๕
                ๔๕๖๑. ยวนซีไข  (พ.ศ.๒๔๐๒ - ๒๔๕๙)  เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ในสมัยราชวงศ์ชิง หรือแมนจู (พ.ศ.๒๑๘๗ - ๒๔๔๕)  เคยสนับสนุนพระนางซูสีให้กำจัดจักรพรรดิ์กวางสู และทำลายการปฎิรูปประเทศ ๑๐๐ วัน (พ.ศ.๒๔๔๑)  ซึ่งเป็นการปฎิรูปประเทศให้ทันสมัยได้สำเร็จ ยวนซีไขได้เป็นประธานาธิบดีคนที่สองของประเทศจีน ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ สืบต่อจากซุนยัดเซน เขาลดอำนาจพรรคการเมือง ยุบสภา ตั้งตนเป็นผู้เผด็จการในปี พ.ศ.๒๔๕๗ และประกาศตั้งตนเป็น จักรพรรดิ์ ในปี พ.ศ.๒๔๕๘          ๒๔/๑๕๓๔๗
                ๔๕๖๒.  ยวนพ่าย  เป็นวรรณคดีชิ้นเอกของไทยสมัยอยุธยา เรียกกันว่า ยวนพ่ายโคลงดั้น แต่บางทีก็เรียกว่า ลิลิตยวนพ่าย กระบวนการแต่งและภาษาที่ใช้มีความวิจิตรบรรจงเป็นเลิศ แสดงให้เห็นว่าผู้แต่งเป็นผู้ที่มีความรู้สูง
                        คำว่า ยวน ที่ปรากฎในเรื่องนี้ หมายถึง โยนก อันเป็นชื่อเรียกคนที่อยู่ในแคว้นล้านนา มาแต่โบราณ
                        เนื้อเรื่องยวนพ่าย โดยย่อกล่าวถึงสงครามระหว่างไทยกับล้านนา เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๔ พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ยกทัพมาตีเมืองชากังราวของไทยได้แล้ว เลยมาตีเมืองสุโขทัยแต่ตีไม่ได้ จึงยกทัพกลับ ได้มีการสู้รบกันอีกหลายครั้งจนถึงปี พ.ศ.๒๐๑๘ พระเจ้าติโลกราช ได้แต่งทูตมาขอหย่าศึก และขอเป็นไมตรีกับไทย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยอมรับเป็นไมตรีด้วย การสงครามยวนพ่ายก็ยุติลง          ๒๔/๑๕๓๕๖
                ๔๕๖๓. ยโสวรมันที่หนึ่ง ,พระเจ้า  (พ.ศ.๑๔๓๒ - ๑๔๕๓)  เป็นกษัตริย์ที่สำคัญองค์หนึ่งของขอม ทรงเป็นทั้งกษัตริย์นักรบและนักก่อสร้าง ได้ขยายเขตแดนของขอมให้กว้างใหญ่ไพศาล และสร้างกรุงยโศธรงปุระ ให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ รวมทั้งสร้างศาสนสถานต่าง ๆ อีกมาก เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร นอกจากนั้น ยังให้ตัดถนนยาว ๑๖ กม. ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สู่บริเวณที่พระองค์มีแผนการก่อสร้างราชธานีใหม่ ปัจจุบันเรียกว่า กลุ่มเมืองพระนคร                ๒๔/๑๕๓๗๒
                ๔๕๖๔. ยโสธร จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือ จด จ.นครพนม และ จ.ร้อยเอ็ด ทิศตะวันออก จด จ.อุบลราชธานี ทิศใต้ จด จ.ศรีษะเกษ ทิศตะวันตก จด จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศทางตอนเหนือมีภูเขาขนาดเล็ก สลับซับซ้อนกันหลายจุดและเป็นป่าทึบ ส่วนมากเป็นป่าสงวน ทางตอนตะวันตก และตอนตะวันออก ส่วนมากเป็นที่ราบและมีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ทางตอนใต้เป็นที่ราบลุ่มมีหนองบึง
                        จ.ยโสธร  เดิมเป็นหมู่บ้าน เรียกว่า บ.สิงห์ท่า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๕๗ ได้ยกฐานะเป็นเมืองยโสธร มีฐานะเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓ รวมเข้าอยู่ในบริเวณอุบลราชธานี แล้วแยกเป็นสองอำเภอ เรียก อำเภออุทัยยโสธร และอำเภอประจิม ยโสธร ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๐ ยุบลงเพื่อจัดตั้ง จ.อุบลราชธานี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ย้าย อ.อุทัยยโสธร ไปตั้งที่ ต.ลุมพุก และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.คำเขื่อนแก้ว ส่วน อ.ประจิม ยโสธรตั้งอยู่ในตัวเมืองที่ ต.ในเมือง แล้วเปลี่ยนเป็น อ.ยโสธร ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ถึงปี พ.ศ.๒๕๑๕ ยกฐานะเป็น จ.ยโสธร
                        สิ่งสำคัญในจังหวัดนี้มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุคือ ธาตุก่องข้าวน้อย ที่ ต.ตาดทอง อ.เมือง เจดีย์วัดมหาธาตุ เชื่อกันว่าบรรจุของพระอานนท์อยู่ที่วัดมหาธาตุ อ.เมือง ฯ พระนอนภูถ้ำพระ ต.กุดเชียงหมี อ.เลิงนกทา           ๒๔/๑๕๓๗๖
               ๔๕๖๕. ยโสธรา เป็นพระนามหนึ่งของพระชายาเจ้าชายสิทธัตถะคือ พระพุทธเจ้าสมณโคดม ก่อนเสด็จออกผนวช พระนางเป็นพระธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งโกลิยวงศ์ ในนครเทวทหะกับพระนางอมิตา พระกนิษฐภคินี ของพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา
                        เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีได้ พระนางยโสธราพร้อมด้วยศากยกุมารีจำนวนมาก ได้ออกผนวชตาม พระนางปฎิบัติสมณธรรมด้วยความเพียร ในที่สุดก็ทรงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ สามารถระลึกชาติได้หนึ่งอสงขัย กับแสนกัป พระนางปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๗๘ พรรษา           ๒๔/๑๕๓๗๗
                ๔๕๖๖. ยอ - เครื่องมือจับสัตว์  เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ประเภทหนึ่งมีสามชนิดคือ
                         ๑. ยอยก  เป็นยอที่ติดตั้งอยู่กับที่มีขนาดเล็ก พบทั่วไปทุกภาคมีส่วนประกอบคือ
                                ๑.๑  ตาข่ายยอ  ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า มีขนาดแตกต่างกันไป โดยทั่วไปมีขนาด ๑ - ๑.๕ เมตร มีเชือกคร่าว สำหรับยึดผืนตาข่ายโดยรอบ ที่มุมทั้งสี่จะทิ้งปลายเชือกคร่าวไว้สำหรับผูกกับแขนยอ
                                ๑.๒  แขนยอ  ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียวจากโคนไปหาปลายยาว ๑.๕ เมตร จำนวนสี่อัน
                                ๑.๓  ที่ยึดแขนยอ  ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ตัดเป็นท่อน พอดีตาไม้ให้เหลือที่เป็นตา ปิดปากกระบอกไว้ทั้งสองข้าง จำนวนสองท่อน
                                ๑.๔  ด้ามยอ ทำด้วยไม้ไผ่ หรือไม้รวกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางพอดีกับมือ ยาว ๒ - ๒.๕ เมตร ตอนปลายด้ามผูกโยงกับเชือกที่ร้อยติดอยู่กับภายนอกที่ยึดแขนยอ          ๒๔/๑๕๓๘๐
                 ๔๕๖๗. ยอ - ต้น  เป็นไม้พุ่มและไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับระนาบกัน ดอกเล็กสีขาวออกเป็นกระจุกเบี้ยว ๆ ตามง่ามใบ ผลแก่เนื้อนุ่มผิวขรุขระ สีขาวหมุ่น หรือขาวเหลือง ใบอ่อนใช้ปรุงอาหาร ผลสุกใช้ทำยาได้          ๒๔/๑๕๓๘๘
                ๔๕๖๘. ยอดฟ้า พระ หรือ พระแก้วฟ้า  (พ.ศ.๒๐๘๘ - ๒๐๙๑)  พระยอดฟ้าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๘๘ - ๒๐๙๑ นับเป็นรัชกาลที่ ๑๔ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระไชยราชา ที่ประสูติจากท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอก ในปี พ.ศ.๒๐๗๘ ครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๑ พรรษา โดยมีท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้สำเร็จราชการ ต่อมาขุนวรวงศาธิราชและพวกได้กำจัดพระยอดฟ้า โดยนำไปปลงพระชนม์ ที่วัดโคกพระยา เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ ขณะพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา              ๒๔/๑๕๓๘๘
               ๔๕๖๙. ยะไข่   ยะไข่ หรืออาระกัน  เป็นชื่อรัฐหนึ่งของประเทศพม่า ในอดีตก่อนปี พ.ศ.๒๓๒๗ ซึ่งเป็นปีที่พม่าผนวกยะไข่ไว้ในอำนาจ ยะไข่เป็นอาณาจักรอิสระ และมีประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับแคว้นเบงกอล อาณาจักรพม่า และมอญ มาเป็นเวลาอันยาวนาน
                    รัฐยะไข่ ตั้งอยู่สุดแดนทางทิศตะวันตกของประเทศพม่า หรืออยู่ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอล มีพื้นที่ประมาณ ๓๖,๗๐๐ ตร.กม. และมีฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกยาวประมาณ ๕๖๐ กม. ทางทิศตะวันออกของรัฐยะไข่ มีเทือกเขายะไข่ หรืออาระกันโยมา ซึ่งมีความสูง ๓,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ฟุต ทอดตัวจากเหนือลงใต้ เป็นดุจกำแพงที่กั้นรัฐยะไข่ไว้จากดินแดน ส่วนใหญ่ของพม่า ในอดีตการติดต่อทางบก ระหว่างยะไข่กับพม่าเกือบจะกระทำไม่ได้เลย นอกจากผ่านช่องเขาสองช่องคือ ช่องเขาอัน ที่ใช้ออกไปสู่เขตมินบู และช่องเขาตาวกุบ ใช้ออกไปสู่เมืองแปร เหตุนี้ยะไข่จึงมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ที่แยกต่างหากจากพม่าเป็นส่วนใหญ่ เมืองสำคัญคือ เมืองอัคยับ ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ มาตั้งแต่อังกฤษเข้ายึดครองรัฐยะไข่ได้ในปี พ.ศ.๒๓๖๙
                    ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวยะไข่ บางส่วนเป็นชาวอินเดีย และบังคลาเทศ ชาวยะไข่เป็นเชื้อสายเดียวกับชาวพม่า ภาษาที่ใช้พูดก็เป็นภาษาพม่า ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา และส่วนน้อยนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ชาวยะไข่มุสลิมเหล่านี้เรียกว่า โรฮิงยา ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมากจากชาวอินเดียมุสลิมในเบงกอล ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือของยะไข่ในเขตมลายู ส่วนชาวยะไข่ที่นับถือพระพุทธศาสนา อยู่กันมากทางภาคใต้
                    นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ชนเชื้อสายพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัฐยะไข่ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ก่อนหน้านั้น บริเวณรัฐยะไข่เป็นถิ่นที่อยู่ของพวกอินเดีย ที่มาจากฝั่งตะวันตกของอ่าวเบงกอล ราชวงศ์ที่ปกครองบริเวณนี้ก็เป็นราชวงศ์อินเดีย นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า พระพุทธศาสนาได้แพร่เข้าสู่รัฐยะไข่ ก่อนดินแดนอื่น ๆ ในพม่าจะเห็นได้จากพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของยะไข่คือ พระมหามุนี อายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๘ - ๙  ก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ ๑๕ บริเวณรัฐยะไข่มักถูกพวกไทยใหญ่ พม่า และเบงกอล บุกปล้นสดมภ์อยู่เสมอ จนกระทั่งพม่าได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานได้อย่างถาวร
                    ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ พระเจ้าอนิรุทธ์ แห่งอาณาจักรพุกามของพม่า ได้เข้ามาปราบปรามยะไข่ ทำให้ยะไข่ต้องอยู่ใต้อำนาจของพุกามเรื่อยมา จนพุกามถูกกองทัพมองโกลโจมตีในปี พ.ศ.๑๘๓๐ ยะไข่เป็นอิสระอยู่ได้ระยะหนึ่ง ก็ต้องเผชิญกับการรุกรานของแคว้นเบงกอล อาณาจักรพม่า และมอญ สลับกันไป ในปี พ.ศ.๑๙๔๗ พม่าได้เข้ามามีอิทธิพลในยะไข่อีก อาณาจักรยะไข่จึงขอความช่วยเหลือจากเบงกอล กษัตริย์ยะไข่ต้องทรงยินยอมมีนามแบบอิสลามต่อท้ายพระนาม ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ยะไข่มีเมืองหลวงชื่อ มยาวอุ และยืนยาวต่อมาถึงปี พ.ศ.๒๓๒๗
                    ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ยะไข่ต้องเผชิญกับความวุ่นวายภายใน กษัตริย์ส่วนใหญ่ถูกปลงพระชนม์ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.๒๐๗๔ - ๒๐๙๖ ยะไข่มีกษัตริย์ที่มีความสามารถพระนามว่า มินบิน สามารถเป็นอิสระจากเบงกอล และการรุกรานจากพม่า ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาค้าขายกับยะไข่ พระเจ้ามินบินจัดให้มีกองทหารรับจ้างโปร์ตุเกส ในบางครั้งกองกำลังผสมของยะไข่ และโปร์ตุเกส ได้บุกรุกเข้าไปจนถึงลุ่มน้ำคงคา จนได้รับสมญานามว่า ภัยสยองแห่งลุ่มน้ำคงคา
                    ยะไข่ ได้ใช้กองกำลังรับจ้างโปร์ตุเกส เข้าทำลายเมืองหงสาวดี และยึดเมืองสิเรียมของพม่าไว้ได้ ในปี พ.ศ.๒๑๔๒ และยินยอมให้ชาวโปร์ตุเกสชื่อ ฟิลิป เดอ บริโด เป็นเจ้าเมืองสิเรียม
                    ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ รัชสมัยพระเจ้าสันทธรรม (พ.ศ.๒๑๙๕ - ๒๒๒๗) ยะไข่ได้ทำสงครามกับเบงกอล ราชวงศ์มุกัล สามารถยึดเมืองจิตตะกอง และเมืองเดียนกา  ได้ในปี พ.ศ.๒๒๐๙ หลังจากนั้น ยะไข่ได้อ่อนแอลงมาก และพม่ายึดยะไข่ได้ในปี พ.ศ.๒๓๒๗ พระเจ้าสะมะดา พระราชวงศ์และชาวยะไข่ ราว ๒๐,๐๐๐ คน ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย พระมหามุนี ถูกนำไปประดิษฐานที่อังวะ ชาวยะไข่เป็นจำนวนมากได้หนีไปอยู่ในเขตแคว้นเบงกอล โดยเฉพาะที่เมืองจิตตะกอง
                    อังกฤษได้ประกาศสงครามกับพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗ เรียกว่า สงครามอังกฤษ - พม่า ครั้งที่หนึ่ง พม่าต้องยกแคว้นยะไข่ ตะนาวศรี อัสสัม และมณีปุระ ให้อังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๙๕ ได้เกิดสงครามอังกฤษ - พม่า ครั้งที่สอง พม่าแพ้ต้องเสียแคว้นพะโค ให้อังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๕ อังกฤษได้รวมแคว้นยะไข่ ตะนาวศรี และพะโค เข้าเป็นหน่วยปกครองเดียวกัน เรียกว่า พม่าของอังกฤษ โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ต่อมาเมื่ออังกฤษยึดครองพม่าได้หมดในปี พ.ศ.๒๔๒๘ อังกฤษกำหนดให้ยะไข่เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่า
                     นโยบายของอังกฤษก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างชาวยะไข่ ที่นับถือพระพุทธศาสนากับที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เป็นปัญหา อังกฤษจัดให้ชาวอินเดียเข้ามาอยู่ในพม่าเป็นจำนวนมากเป็นเหตุให้ชาวมุสลิมในพม่ามีมากขึ้น รวมทั้งยะไข่ด้วย มุสลิมในยะไข่อยู่กันหนาแน่นทางภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในเขตมายู
                    เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง พรรคการเมืองของพม่าที่มีนายพลอองซานเป็นผู้นำ ได้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ อังกฤษสัญญาว่าจะปล่อยพม่าเป็นอิสระ พรรคการเมืองนี้มีนโยบายสนับสนุนชาวพุทธในยะไข่ ทำให้ชาวมุสลิมไม่พอใจเกิดการปะทะกันระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมในยะไข่ พวกโรฮิงยา บางส่วนเรียกร้องให้นำยะไข่เหนือไปรวมกับปากีสถาน (ปัจจุบันคือ บังกลาเทศ)  แต่รัฐบาลปากีสถานไม่ยอมสนับสนุน เพราะเกรงจะมีปัญหากับพม่า  พวกโรฮิงยา ส่วนหนึ่งได้จัดตั้งกองกำลังขึ้น เพื่อก่อกวนเจ้าหน้าที่รัฐบาล และชาวพุทธ กองกำลังนี้เรียกว่า มูจาฮีด (นักรบในสงครามศักดิ์สิทธิ์)
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙ๆ เกิดกบฎขึ้นในยะไข่ภาคใต้ ผู้นำกบฎเคยเป็นผู้นำกองกำลังยะไข่ต่อต้านญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมาก่อน ฝ่ายกบฎมีจุดมุ่งหมายจะแยกรัฐยะไข่ ให้เป็นอิสระทั้งจากอังกฤษและจากพม่า ฝ่ายกบฎได้รับความร่วมมือจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ฝ่ายที่เรียกว่า ธงแดง ฝ่ายพม่าปราบกบฎได้ในปีเดียวกัน โดยจับหัวหน้าได้ แต่ฝ่ายกบฎยังคงต่อสู้กับรัฐบาลต่อไป
                    ในปี พ.ศ.๒๔๙๑  พม่าได้รับเอกราชและได้เกิดการจลาจลขึ้นทั่วประเทศ เพราะเกิดจากกลุ่มชนหลายฝ่าย การก่อความวุ่นวายของพวกมูจาฮีดในยะไข่ภาคเหนือ ได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นกบฎ พวกมูจาฮีดไม่พอใจรัฐบาลพม่า ที่ไม่ยอมให้พวกมุสลิมจากยะไข่ ที่ลี้ภัยเข้าไปในอินเดียกลับเข้ามา และยังยึดที่ดินของชาวมุสิลมเหล่านั้นไป ให้ชาวยะไข่ที่เป็นชาวพุทธ พวกกบฎยะไข ่และพวกมูจาฮีด ตกลงที่จะแบ่งยะไข่ออกเป็นสองส่วนคือ ภาคเหนือเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมุสลิม และภาคใต้ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวพุทธ พวกมูจาฮีดสามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ ในเขตมลายูได้ยกเว้นเมืองอัดยับ ต่อมารัฐบาลพม่าโดยกองทัพพม่าสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ทำให้พวกมูจาฮีดในยะไข่หยุดการเคลื่อนไหวไประยะหนึ่ง แต่ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ก็ก่อการกบฎอีกในเขตมลายู แต่ถูกรัฐบาลพม่าปราบได้ พวกมูจาฮีดยังคงปฎิบัติการก่อกวนรัฐบาล และลักลอบนำสินค้าเถื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลักลอบนำข้าวไปขายในปากีสถาน รวมทั้งมีส่วนลอบนำชาวมุสลิมจากจิตตะกอง เข้ามาอยู่ในยะไข่ด้วย
                    รัฐธรรมนูญพม่าฉบับปี พ.ศ.๒๔๙๐ กำหนดให้ยะไข่เป็นส่วนหนึ่งของพม่าอย่างแท้จริง โดยมีฐานะเป็นภาค แต่ยินยอมให้ดินแดนชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เช่น ไทยใหญ่ คะฉิ่น ฉิ่น และกะเหรี่ยง มีฐานะเป็นรัฐ ที่สามารถปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง และมีสิทธิ์ที่จะแยกตัวออกจากพม่าได้ในอนาคต ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๓  อูนุ นายกรัฐมนตรีพม่าในขณะนั้น มีนโยบายที่จะจัดให้ดินแดนยะไข่ และมอญ เป็นรัฐตามคำสัญญาที่ให้ไว้ในสมัยหาเสียงเลือกตั้ง พวกโรฮิงยาได้เรียกร้องให้แยกเขตมลายูออก ขึ้นโดยตรงต่อรัฐบาลกลาง เพราะไม่ต้องการอยู่ใต้การบริหารของรัฐยะไข่ในอนาคต ด้วยเกรงว่าจะทำให้มุสลิมต้องอยู่ใต้การควบคุมของชาวยะไข่ ที่เป็นชาวพุทธ อูนุยอมผ่อนปรนตามข้อเรียกร้อง เพราะในร่างกฎมายจัดตั้งรัฐยะไข่ เขตมลายูถูกแยกไว้ต่างหาก แต่อูนุไม่สามารถตั้งรัฐยะไข่ และมอญได้สำเร็จ เพราะพรรคฝ่ายค้านต่อต้านนโยบายนี้ และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๕ นายพลเนวิน ได้ทำการปฎิวัติล้มรัฐบาลอูนุ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ เพื่อป้องกันการแตกสลายของสหภาพพม่า อันเนื่องมาจากความต้องการเป็นอิสรภาพของพวกชนกลุ่มน้อย สภาปฎิวัติได้ยกเลิกหลักการให้อำนาจปกครองตนเอง และอภิสิทธิ์ต่าง ๆ  แก่ชนกลุ่มน้อย ตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหภาพพม่า ยะไข่เป็นรัฐเช่นเดียวกับรัฐของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ อีกหกรัฐ ส่วนดินแดนที่อยู่ของชาวพม่าแท้ แบ่งออกเป็นภาคมีอยู่เจ็ดภาค ชนกลุ่มน้อยในยะไข่ไม่พอใจ จึงดำเนินการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของพวกตนต่อไป โดยตั้งพรรคปลดแอกยะไข่ ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๗ รัฐบาลพม่าสืบทราบได้ว่า ขบวนการปลดแอกรัฐยะไข่ได้รับการช่วยเหลือจากบังคลาเทศ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเกิดความตึงเครียดขึ้น รัฐบาลพม่าเริ่มทำการกวาดล้างชาวมุสลิมที่รัฐบาลถือว่า เป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองในรัฐยะไข่เป็นการใหญ่
                    ในปี พ.ศ.๒๕๒๑  พวกมุสลิมจากรัฐยะไข่ได้หนีเข้าไปในบังกลาเทศ เป็นจำนวนถึงสองแสนคน รัฐบาลบังกลาเทศกล่าวหาว่ารัฐบาลพม่าผลักดันให้ชาวมุสลิมเหล่านี้ ให้ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และเรียกร้องให้พม่ารับกลับคืนไป แต่พม่ากล่าวว่า ชาวมุสลิมดังกล่าวเป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดอีกครั้ง ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๔ - ๒๕๓๕  เมื่อพวกโรฮิงยา กล่าวหาว่าทหารพม่าทำทารุณกรรมต่อพวกตน เป็นเหตุให้พวกโรฮิงยา ประมาณสามแสนคน ต้องลี้ภัยไปอยู่ในบังกลาเทศ         ๒๔/๑๕๓๙๐
                ๔๕๗๐. ยะรัง  อำเภอ ขึ้น จ.ปัตตานี ภูมิประเทศตอนกลางและตอนใต้ เป็นที่ราบลุ่ม ตอนเหนือเป็นที่ดอน มีภูเขาเล็ก ๆ และมีที่ราบลุ่มบ้าง พลเมืองเป็นชายไทยอิสลามเกือบทั้งหมด ทำนา ทำสวนยางพารา และสวนผลไม้          ๒๔/๑๕๔๐๐
                ๔๕๗๑. ยะลา  จังหวัดภาคใต้ ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย มีอาณาเขตทางทิศเหนือจด จ.ปัตตานี ทิศตะวันออกจด จ.นราธิวาส ทิศใต้จดประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตกจด จ.สงขลา และประเทศมาเลเซีย ภูมิประเทศทางใต้ และทางตะวันตกเป็นที่สูง มีป่าทึบตามแนวพรมแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียเป็นเทือกเขาสูงติดต่อกัน   เกือบตลอด ทางเหนือและทางตะวันออกเป็นที่ราบ พลเมืองเป็นไทยอิสลามรวมสี่ในห้า นอกนั้นเป็นไทยและจีน
                    จ.ยะลา เป็นคำเรียกตามเสียงของพวกมลายูทางไทรบุรีและปีนัง แปลว่าแห เพราะที่ ต.ยะลา ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองเก่ามีเขาลูกหนึ่งสัญฐานคล้ายจอมแห ส่วนเสียงชาวพื้นเมืองจังหวัดนี้ว่ายาลอ แปลว่า แห เหมือนกัน
                    จ.ยะลา เดิมเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของ จ.ปัตตานี ได้แยกตั้งเป็นเมืองหนึ่งต่างหากในรัชกาลที่หนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๔ คราวแยกเป็นเมืองปัตตานีเป็นบริเวณเจ็ดหัวเมือง มีพระยาเมืองปกครองขึ้นเมืองสงขลา ต่อมาถึงรัชกาลที่ห้า เมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ได้ยุบเมืองรามันรวมเข้ากับเมืองยะลาขึ้นมณฑลปัตตานี
                    จ.ยะลา มีพระพุทธไสยาสน์อยู่ในถ้าพระนอนที่เขาวัดถ้ำ ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง น้ำตกที่ฮาลา อ.เบตง บ่อน้ำร้อนที่ ต.เบตง ถ้าประดิษฐานพระพุทธรูปแบบจีนที่ ต.ถ้ำทะลุ         ๒๔/๑๕๔๐๐
                ๔๕๗๒. ยะหริ่ง  อำเภอขึ้น จ.ปัตตานี มีอาณาเขตทางทิศเหนือตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มและเป็นชายทะเล พลเมืองเป็นไทยอิสลาม โดยมากทำนา ทำสวนมะพร้าว ทำประมง ทำนาเกลือ          ๒๔/๑๕๔๐๒
                ๔๕๗๓. ยะหริ่ง - เมือง  เป็นเมืองหนึ่งในหัวเมืองภาคใต้ทั้งเจ็ด ซึ่งประกอบด้วยเมืองปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง สะแอะ สายบุรี หนองจิก และรามัน เมืองเหล่านี้เดิมเป็นเมืองปัตตานีเพียงเมืองเดียว และขึ้นกับไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา
                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้า ฯ ให้แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็นเจ็ดเมืองให้ขึ้นกับเมืองสงขลา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเป็นมณฑลปัตตานี เมืองยะหริ่งได้รวมเข้ากับเมืองปัตตานีและมีฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับ จ.ปัตตานีมาจนปัจจุบัน          ๒๔/๑๕๔๐๒
                ๔๕๗๔. ยะหา  อำเภอขึ้น จ.ยะลา มีอาณาเขตทางทิศใต้จดประเทศมาเลเซียภูมิประเทศเป็นที่ดอนมีป่าและภุเขาตลอดที่ราบลุ่มมีน้อย พลเมืองส่วนใหญ่เป็นไทยอิสลาม ทำสวนยางพารา สวนผลไม้          ๒๔/๑๕๔๑๐
                ๔๕๗๕. ยะโฮวา  เป็นคำใช้เรียกพระเจ้าของชาวยิวโบราณก่อนสมัยพระเยซู โดยแปลจากภาษาอังกฤษ ซึ่งเพี้ยนมาจากภาษาฮีบรู ว่า ยาห์เวห์ ชาวยิวเชื่อว่าพระเจ้าเองได้เปิดเผยให้กับโมเซส เมื่อมอบหมายให้เป็นผู้นำชาวอิสราเอลออกจากประเทศอียิปต์ไปสู่อิสรภาพ เราคือยาห์เวห์ ยาห์เวห์เคยมีผู้แปลว่าผู้เป็นอยู่ แต่รุ่นหลังมีความเห็นตรงกันว่าควรแปลว่า ผู้ทำให้เป็นอยู่ ชาวยิวจะใช้คำยาห์เวห์กับพระเจ้าผู้สร้างที่ตนนับถืออยู่เท่านั้น ส่วนผู้เป็นใหญ่ในเอกภาพในคำสอนของศาสนาต่าง ๆ รวมทั้งในศาสนาของตนด้วยจะใช้คำว่าเอโลฮิม ดังนั้น บางครั้งก็เรียกรวมว่า ยาห์เวห์โอเลฮิม
                    ชาวยิวเชื่อว่ายาห์เวห์ของตนเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง รวมทั้งมนุษย์ด้วย เฉพาะมนุษย์นั้นได้สร้างขึ้นในลักษณะพิเศษ เพื่อดูแลและใช้สอยสิ่งสร้างอื่น ๆ ใครจงรักภักดีต่อพระองค์ก็เป็นบริวารของพระองค์ แต่ปรากฎว่ามนุษย์ส่วนมากนับถือโอเลฮิมอย่างผิด ๆ ในหลายรูปแบบ โอเลฮิมในลักษณะที่ถูกต้องก็คือ พระเจ้าที่ได้เปิดเผยตนเองแก่ชาวอิสราเอล โดยให้นามโดยเฉพาะว่า ยาห์เวห์ พระองค์เลือกชาติอิสราเอลให้เป็นชาติเลือกสรรของพระองค์ เพื่อรักษาการนับถือพระเจ้าอย่างถูกต้องไว้คือพระเจ้ามีองค์เดียว รักและหวังดีต่อมนุษย์มีดำริจะให้เมสซีอาห์เกิดขึ้นจากชนชาวอิสราเอลเพื่อกอบกู้มนุษยชาติจากความหายนะ
                    ชาวคริสต์เชื่อว่าพระเยซูคือ เมสซีอาห์ที่ชาวยิวเชื่อว่ายาห์เวย์จะส่งมาโปรดโลกและเชื่อว่าพระเยซูมิใช่มนุษย์ธรรมดา แต่เป็นพระบุตรของพระบิดาในตรีเอกภาพ จึงถือว่าพระเยซูคือพระคริสต์และเรียกว่าเป็นพระเจ้าด้วย         ๒๔/๑๕๔๑๑


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch