หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/130
    ๔๔๑๕. เมาะตะมะ  เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมอญ ตั้งอยู่บนปากน้ำบนฝั่งเหนือของแม่น้ำสาละวิน มอญได้ตั้งตัวเป็นอิสระในรัชสมัยเจ้าฟ้ารั่ว เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๐ ราชวงศ์เจ้าฟ้ารั่ว ซึ่งเรียกกันว่า ราชวงศ์หงสาวดีหรือไทยใหญ่ - ตะเลง ราชวงศ์นี้ได้ปกครองอาณาจักรมอญ มาจนถึงปี พ.ศ.๒๐๘๒ มีกษัตริย์ปกครองต่อมา ๑๙ องค์ พญาอู่ ซึ่งครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๖ - ๑๙๒๘ ได้ย้ายราชธานีจากเมืองเมาะตะมะไปตั้งที่กรุงหงสาวดี พระเจ้าราชาธิราชได้ทำศึกกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง
    อยู่นานปีและพระเจ้าสการวุตพีเป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย
                    ในปี พ.ศ.๒๐๖๒ โปร์ตุเกสตั้งสถานีการค้าขึ้นที่เมืองเมาะตะมะ ยังผลให้การค้าขายของมอญได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเหตุประการหนึ่ง ที่พระเจ้าแผ่นดินพม่าโจมตีอาณาจักรมอญ และทำได้สำเร็จได้เป็นพระเจ้าหงสาวดีคือพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ หลังจากล้อมเมืองเมาะตะมะอยู่เจ็ดเดือน การลงโทษมอญอย่างรุนแรงของพม่าต่อมอญ ทำให้มอญที่อยู่เมืองมะละแหม่ง และเขตใกล้เคียงยอมจำนนโดยดี
                    พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ใช้เมืองเมาะตะมะเป็นที่ชุมนุมกองทัพ ที่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา เพราะว่าทางคมนาคมระหว่างเมืองมอญกับเมืองไทย มีทางหลวงสำหรับไปมาแต่โบราณสองทาง รวมกันที่เมืองเมาะตะมะ โดยอาศัยทางสายเหนือ กองทัพพม่าสามารถรุกเข้าประเทศไทยทางด่านแม่ละเมา อันเป็นทางเข้าสู่เมืองเหนือ ตลอดจนถึงเมืองเชียงใหม่ ทางสายสองลงไปทางใต้เข้าสู่ด่านพระเจดีย์สามองค์ และเมืองกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และชานกรุงศรีอยุธยา
                   กองทัพพม่าได้รวมพลที่เมืองเมาะตะมะหลายครั้ง เช่น เมื่อครั้งตีเมืองเชียนคราน ในปี พ.ศ.๒๐๘๑ ในการสงครามครั้งสมเด็จพระศรีสุริโยทัยขาดคอช้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ และในการสงครามครั้งพม่าขอช้างเผือก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖
                    ภายหลังสงครามยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงริเริ่มโจมตีพม่าในปี พ.ศ.๒๑๓๗ และได้หัวเมืองมอญ ด้วยเหตุนี้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ตั้งแต่เมืองเมาะตะมะ ตลอดมาจนจดเขตแดนไทย ก็มาเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยาหมดทุกเมือง ต่อมาปี พ.ศ.๒๑๔๒ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงยกทัพไปตีกรุงหุงสาวดีก็ได้เสด็จผ่านเมืองเมาะตะมะ
                    ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑)  ไทยได้ทำสงครามกับพม่าในปี พ.ศ.๒๒๐๗ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก)  เป็นแม่ทัพยกไปตีพม่า จนถึงเมืองพุกาม กองทัพไทยได้กองทหารเกณฑ์ของมอญ มารวมชุมนุมกันที่เมืองเมาะตะมะ
                    เมืองเมาะตะมะได้กลับไปเป็นของพม่าในรัชสมัยพระเจ้าอลองพญา (พ.ศ.๒๒๙๕ - ๒๓๐๓)  และเป็นเมืองที่กองทัพพม่า ได้ชุมนุมพลครั้งพระเจ้าปดุงยกทัพมาตีเมืองไทย ในการสงครามเก้าทัพ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘         ๒๓/๑๕๐๑๓
                ๔๔๑๖. เมาะลำเลิง  มีชื่อเรียกได้สามชื่อคือ มะละแหม่ง ตามที่ถอดจากภาษาอังกฤษ มรแบน และเมาะลำเลิง ตามภาษามอญ เมืองนี้ตั้งอยู่บนฝั่งใต้ของแม่น้ำสาละวิน เยื้องกับเมืองเมาะตะมะ และเป็นเมืองท่าใหญ่แห่งหนึ่งของพม่าในปัจจุบัน
                    ในปี พ.ศ.๒๑๓๗ พระยาพะโรเจ้าเมืองเมาะลำเลิง ซึ่งมีผู้คนพลเมืองเป็นมอญได้มาเข้ากับไทย เจ้าเมืองเมาะตะมะทราบเรื่อง จะเอาเจ้าเมืองเมาะลำเลิงไปชำระโทษ แต่เจ้าเมืองเมาะลำเลิง จึงได้รวบรวมกำลัง แล้วกระทำแข็งเมือง และแต่งทูตมาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวร ฯ พร้อมกับขอพระราชทานกองทัพ ไปช่วยรักษาเมืองเมาะลำเลิงไว้ สมเด็จพระนเรศวร ฯ จึงมีรับสั่งให้พระยาศรีไศลคุมกองทัพไปช่วยเมืองเมาะลำเลิง  ปรากฎว่าพวกมอญตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้สมัครใจเข้ากับกองทัพไทยเป็นอันมาก จนพวกพม่าที่รักษาเมืองเมาะตะมะต้องทิ้งเมืองหนีไป พระเจ้านันทบุเรงให้พระเจ้าตองอูยกทัพไปปราบพวกมอญ แต่ก็แพ้กลับไป เป็นผลให้หัวเมืองมอญทุกเมือง เปลี่ยนมาเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยา
                    ในปี พ.ศ.๒๑๔๓ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้โปรดให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพไปตั้งอยู่ที่เมืองเมาะลำเลิง เพื่อสะสมสเบียงอาหาร และจัดหากำลังทางเรือจากเมืองทวาย จากนั้นสมเด็จพระนเรศวร ฯ ยกทัพไปถึงเมืองหงสาวดีและรุกต่อไปจนถึงเมืองตองอู
                    เมื่อพม่าปราชัยในสงครามครั้งที่หนึ่ง และต้องทำสัญญาปันดาโย เพื่อยุติสงครามในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เมืองเมาะลำเลิง ได้กลายไปเป็นดินแดนในปกครองของอังกฤษ         ๒๓/๑๕๐๑๖
                ๔๔๑๗. เมี้ยน - ปลา  เป็นชื่อที่ใช้เรียกปลาจวด ซึ่งเป็นปลาทะเลมีอยู่หลายชนิด มีลำตัวเรียวยาว แบนข้าง หัวค่อนข้างแหลม ปากกว้าง เคยมีรายงานพบว่า มีลำตัวยาวประมาณ ๑.๕๐ เมตร มีน้ำหนักกว่า ๓๐ กก. ชอบอาศัยตามพื้นท้องทะเลลักษณะเป็นโคลน หรือโคลนปนทราบในน้ำค่อนข้างลึก         หน้า ๑๕๐๑๘
                ๔๔๑๘. เมือง ๑ - นาย  เป็นชื่อตัวละครในหนังสือเรื่อง พลเมืองดีของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย  มาลากูล)  เดิมเคยใช้เป็นหนังสืออ่านของนักเรียน เพื่อใช้เป็นหลักจรรยาให้ความรู้รอบตัวเพาะความฉลาด และปลูกความประพฤติอันดีแก่พลเมืองทั่วไป         ๒๓/๑๕๐๒๒
                ๔๔๑๙. เมือง ๒  หมายถึง เขตท้องที่ซึ่งรวมอำเภอหลาย ๆ อำเภอเข้าเป็นเขตการปกครองอันเดียวกัน ซึ่งในเวลานี้เรียกว่า จังหวัด อันเป็นเขตท้องที่ของราชการบริหารส่วนภูมิภาค ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ประเทศไทยได้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ ส่วนคำว่าเมืองให้คงใช้สำหรับเรียกตำบล ที่ประชาชนได้เคยเรียกว่า เมืองมาแล้วแต่เดิมเท่านั้น         ๒๓/๑๕๐๒๔
                ๔๔๒๐. เมืองกระบี่  อำเภอขึ้น จ.กระบี่ มีอาณาเขตทิศใต้ และทิศตะวันตก ตกทะเลในช่องมะละกา ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ราบสูงมีภูเขาและป่าสูง ตอนกลางเป็นที่ราบต่ำ มีหนองน้ำใหญ่ชื่อ หนองทะเล
                    อ.เมืองกระบี่ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ปากน้ำ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองกระบี่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         ๒๓/๑๕๐๒๕
                ๔๔๒๑. เมืองกาญจนบุรี  อำเภอขึ้น จ.กาญจนบุรี ภูมิประเทศทางทิศใต้ และทิศตะวันออก เป็นที่ราบลุ่มมีป่า และภูเขาบ้าง ทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก เป็นที่ราบสูง มีป่าไม้ ภูเขาสูง ห้วย หนอง ลำธาร บึง โกรก เนิน ทั่ว ๆ ไป
                    อ.เมืองกาญจนบุรี เดิมชื่อ อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๒๖
                ๔๔๒๒. เมืองกาฬสินธุ์  อำเภอขึ้น จ.กาฬสินธุ์ ภูมิประเทศเป็นโคก ป่าโปร่ง เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.หลุบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ภายหลังยุบ จ.กาฬสินธุ์ ไปรวม จ.มหาสารคาม เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองกาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ เมือแยกตั้ง จ.กาฬสินธุ์ขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ก็คงเรียก อ.เมืองกาฬสินธุ์         ๒๓/๑๕๐๒๖
                ๔๔๒๓. เมืองกำแพงเพชร  อำเภอขึ้น จ.กำแพงเพชร ภูมิประเทศทางทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูก ทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกเป็นที่ดอนมีป่า และภูเขา
                    อ.เมืองกำแพงเพชรเดิมชื่อ อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           หน้า ๑๕๐๒๗
                ๔๔๒๔. เมืองขอนแก่น  อำเภอขึ้น จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงมีทุ่ง และป่าโปร่งเป็นส่วนมาก
                    อ.เมืองขอนแก่น เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พระลับ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         ๒๓/๑๕๐๒๗
                ๔๔๒๕. เมืองจันทบุรี  อำเภอขึ้น จ.จันทบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นป่าโปร่งตอนกลาง และตอนใต้เป็นที่ลุ่ม ทำนาได้ทั่ว ๆ ไป ทางทิศตะวันออกเป็นที่ดอน มีสวนยางพาราและสวนผลไม้มาก ทางทิศตะวันตกเป็นที่ทราย และดินแดง
                    อ.เมืองจันทบุรี เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองจันทบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๒๘
                ๔๔๒๖. เมืองฉะเชิงเทรา  อำเภอขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา ภูมิประเทศเป็นที่ราบ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐         ๒๓/๑๕๐๒๙
                ๔๔๒๗. เมืองชลบุรี  อำเภอขึ้น จ.ชลบุรี มีอาณาเขตทางทิศตะวันตก ตกทะเลในอ่าวไทยภูมิประเทศตอนใต้มีป่าและภูเขามาก ตอนเหนือเป็นที่ลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง นอกนั้นเป็นที่ราบสูง เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางปลาสร้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองชลบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑   ๒๓/๑๕๐๒๙
                ๔๔๒๘. เมืองชัยนาท  อำเภอขึ้น จ.ชัยนาท ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นป่าและภูเขา ตอนกลางเป็นที่ดอน ตอนตะวันออก ตะวันตกและตอนใต้เป็นที่ราบ
                    อ.เมืองชัยนาทเดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองชัยนาท เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         ๒๓/๑๕๐๒๐
                ๔๔๒๙. เมืองชัยภูมิ  อำเภอขึ้น จ.ชัยภูมิ ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ราบสูง มีป่าและภูเขา ตอนใต้เป็นที่ราบ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนเป็น อ.เมืองชัยภูมิ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐         ๒๓/๑๕๐๓๐
                ๔๔๓๐. เมืองชุมพร  อำเภอขึ้น จ.ชุมพร มีอาณาเขตทางทิศตะวันออก ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา
                    อ.เมืองชุมพร เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่าตะเภา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองชุมพร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑    ๒๓/๑๕๐๓๑
                ๔๔๓๑. เมืองเชียงราย  อำเภอขึ้น จ.เชียงราย ภูมิประเทศตอนกลาง และตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม ตอนเหนือเป็นหมู่เขาเตี้ย ๆ
                    อ.เมืองเชียงราย  เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองเชียงราย ปี พ.ศ.๒๔๖๐          ๒๓/๑๕๐๓๑
                ๔๔๓๒. เมืองเชียงใหม่  อำเภอขึ้น จ.เชียงใหม่ ภูมิประเทศเป็นเนินเขามีที่ราบพอทำนาได้บ้าง เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐         ๒๓/๑๕๐๓๒
                ๔๔๓๓. เมืองตรัง อำเภอขึ้น จ.ตรัง ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มในตอนกลางระหว่างลุ่มแม่น้ำตรัง ทางทิศตะวันออกเป็นป่า และภูเขา
                    อ.เมืองตรัง เดิมเรียกว่า อ.บางรัก เมื่อย้ายศาลากลางจังหวัดมาตั้งที่ ต.ทับเที่ยง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ทับเที่ยง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองตรัง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         ๒๓/๑๕๐๓๒
                ๔๔๓๔. เมืองตราด  อำเภอขึ้น จ.ตราด มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกจดประเทศกัมพูชามีทิวเขาบรรทัดคั่นเป็นเขต ทางทิศใต้ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา มีที่ราบพอทำไร่นาได้บ้าง
                    เมื่อแรกตั้งอำเภอได้ตั้งที่ว่าการที่ ต.บางพระ เรียกว่า อ.เมือง ครั้น จ.ตราดตกไปอยู่ในความยึดครองของฝรั่งเศส อำเภอนี้ก็ตกไปด้วย และได้คืนมาเป็นของไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางพระ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองตราด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         ๒๓/๑๕๐๓๓
                ๔๔๓๕. เมืองตาก อำเภอขึ้น จ.ตาก ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบสูงมีดงใหญ่ มีภูเขาเป็นหย่อม ๆ ตอนกลางตามลุ่มแม่น้ำปิง เป็นที่ราบมีลำธารไหลผ่านหลายสาย ทางทิศตะวันตกเป็นที่ดอน มีภูเขาตั้งเรียงรายซับซ้อนหลายชั้นคล้ายกำแพง
                   อ.ตากเดิมเรียก อ.เมืองเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ระแหง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองตาก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑        ๒๓/๑๕๐๓๔
                ๔๔๓๖. เมืองนครนายก  อำเภอขึ้นจ.นครนายก ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอนเป็นป่าและภูเขา ตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ราบทำนาได้ทั่วไป
                   อ.เมืองนครนายกเดิมเรียกว่า อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.วังกระโจม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนครนายก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑        ๒๓/๑๕๐๓๔
                ๔๔๓๗. เมืองนครปฐม  อำเภอขึ้น จ.นครปฐม ภูมิประเทศทางทิศเหนือเป็นที่ดอน ทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตกค่อนข้างดอน ทางทิศใต้เป็นที่ราบลุ่มทำนาได้เกือบตลอด
                    อ.เมืองนครปฐมเดิมอยู่รวมกับศาลากลางจังหวัดเรียกว่า อ.พระปฐม แล้วย้ายไปตั้งทางทิศตะวันตกของศาลากลาง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ เปลื่ยนชื่อเป็น อ.เมือง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนครปฐม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๓๕
                ๔๔๓๘. เมืองนครพนม  อำเภอขึ้น จ.นครพนม มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกแม่น้ำโขง ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง และมีป่าโปร่งมาก
                    อ.เมืองนครพนม เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.หนองบึก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนครพนม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๓๖
                ๔๔๓๙. เมืองนครราชสีมา  อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๓๖
                ๔๔๔๐. เมืองนครศรีธรรมราช  อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบ ตอนตะวันตกเป็นที่ราบสูงมีภูเขา ตอนตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มลาดต่ำไปสู่ทะเลเหมาะแก่การทำนา
                    อ.เมืองนครศรีธรรมราชเดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๓๗
                ๔๔๔๑. เมืองนครสวรรค์  อำเภอขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศเป็นที่ราบทั่ว ๆ ไปเป็นย่านแม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน ไหลมาจบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา
                    อ.เมืองนครสวรรค์ เดิมเรียก อ.เมืองแล้วเปลี่ยนเป็น อ.ปากน้ำโพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนครสวรรค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         ๒๓/๑๕๐๓๗
                ๔๔๔๒. เมืองนนทบุรี  อำเภอขึ้น จ.นนทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา
                    อ.เมืองนนทบุรี เดิมตั้งอยู่ที่ ต.ตลาดขวัญ เรียก อ.ตลาดขวัญ ครั้นย้ายศาลากลางจังหวัดมาตั้งที่ ต.สวนใหญ่ อ.เมืองนนทบุรีก็ย้ายตามมาด้วย และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.นนทบุรี ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนนทบุรี           ๒๓/๑๕๐๓๘
                ๔๔๔๓. เมืองนราธิวาส  อำเภอขึ้น จ.นราธิวาส มีอาณาเขตทิศทางทิศเหนือ และทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม
                    อ.เมืองนราธิวาส เดิมขึ้นเมืองสายบุรี เรียกชื่อ อ.บางนรา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ โอนมาขึ้นเมืองระแงะ ครั้นยุบเมืองระแงะไปตั้งเป็นเมืองบางนรา คือ เมืองนราธิวาสแล้ว อ.บางนรา จึงเป็น อ.เมือง แล้วกลับเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางนราอีก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๓๙
                ๔๔๔๔. เมืองน่าน  อำเภอขึ้น จ.น่าน ภูมิประเทศตอนกลาง ตอนใต้และตอนตะวันตกเป็นที่ลุ่ม ทำนา ทำสวนเป็นส่วนมาก ที่เป็นป่าและภูเขาทำไร่นา ตอนเหนือและตอนตะวันออกเป็นป่าและภูเขา ทำไร่เป็นส่วนมาก
                    อ.เมืองน่าน เดิมเรียก อ.เมืองเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองน่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๓๙
                ๔๔๔๕. เมืองบุรีรัมย์  อำเภอขึ้น จ.บุรีรัมย์ ภูมิประเทศเป็นที่ดอน โดยมากมีที่วางทำการเพาะปลูกได้ประมาณสองในห้าส่วน
                    อ.เมืองบุรีรัมย์ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองบุรีรัมย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๔๐
                ๔๔๔๖. เมืองปทุมธานี  อำเภอขึ้น จ.ปทุมธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เหมาะแก่การทำนา ทำสวน
                    อ.เมืองปทุมธานี เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางกระดี่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๔๐
                ๔๔๔๗. เมืองประจวบคีรีขันธ์  อำเภอขึ้น จ.ประจวบคีรีขันธ์มีอาณาเขตทางด้านทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ทางด้านทิศตะวันตกจดประเทศพม่า ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ตามชายทะเลมีภูเขาประปรายทั่ว ๆ ไป นอกนั้นเป็นป่าและภูเขา
                    อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ ขึ้น จ.เพชรบุรี  ตั้งที่ว่าการที่ ต.กุยใต้ (ที่ตั้งเมืองกุยเก่า) ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๑ จึงย้ายอำเภอมาตั้งที่อ่าวเกาะหลัก ครั้นปี พ.ศ.๒๔๔๙ ตั้ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยังใช้ชื่อเดิมถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เกาะหลัก แล้วกลับเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๔๑
                ๔๔๔๘. เมืองปราจีนบุรี  อำเภอขึ้น จ.ปราจีนบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอนตอนกลาง และตอนใต้เป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา
                    อ.เมืองปราจีนบุรี เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองปราจีนบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๔๑
                ๔๔๔๙. เมืองปัตตานี  อำเภอขึ้น จ.ปัตตานี มีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มทั่ว ๆ ไป
                    อ.เมืองปัตตานี เดิมเรียก อ.เมือง ตั้งที่ว่าการอยู่ที่ ต.อาเนาะรู ต่อมาย้ายที่ว่าการมาตั้งที่ ต.สะบารัง เปลี่ยนชื่อตามตำบลที่ตั้ง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๔๒
                ๔๔๕๐. เมืองพะเยา  อำเภอขึ้น จ.พะเยา ภูมิประเทศมีเขาล้อมสามด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันตก ในระหว่างกลางเป็นที่ราบ และเป็นเนินทางเหนือเป็นที่ราบ
                    อ.เมืองพะเยาเป็นเมืองโบราณสมัยเดียวกับกรุงสุโขทัยมีเจ้าผู้ครองเมืองชื่อ พญางำเมือง ภายหลังยุบเป็น อ.เมืองพะเยา เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พะเยา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ในอำเภอนี้มีหนองน้ำใหญ่เรียกว่า กว๊านพะเยา           ๒๓/๑๕๐๔๒
                ๔๔๕๑. เมืองพังงา  อำเภอขึ้น จ.พังงา ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอน มีป่าและภูเขา ตอนใต้เป็นที่ราบและเป็นหมู่เกาะ
                    อ.เมืองพังงานเดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท้ายช้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองพังงา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๔๓
                ๔๔๕๒. เมืองพัทลุง  อำเภอขึ้น จ.พัทลุง มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลสาบพัทลุง ทิศตะวันตกจดทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเขตกับ จ.ตรัง ภูมิประเทศทางทิศตะวันตกพื้นที่สูง เพราะจดทิวเขานครศรีธรรมราช แล้วค่อยลาดมาทางตะวันออกจนจดทะเลสาบ ตอนเชิงเขาเป็นป่าสูงตอนกลางเป็นที่ราบทำนาทำสวน ตอนใต้ทะเลบางแห่งเป็นที่ราบ บางแห่งเป็นพรุ ทำนา ทำสวนไม่ได้
                    อ.เมืองพัทลุง เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ลำปำ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.คูหาสวรรค์ ตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองพัทลุง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๔๔
                ๔๔๕๓. เมืองพิจิตร  อำเภอขึ้น จ.พิจิตร ภูมิประเทศโดยมากเป็นที่ลุ่มมีป่าและภูเขาบ้าง
                    อ.เมืองพิจิตร เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่าหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองพิจิตร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๔๕
                ๔๔๕๔. เมืองพิษณุโลก  อำเภอขึ้น จ.พิษณุโลก ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มตลอด เหมาะแก่การเพาะปลูก
                    อ.เมืองพิษณุโลก เดิมชื่อ อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๔๕
                ๔๔๕๕. เมืองเพชรบุรี  อำเภอขึ้น จ.เพชรบุรี มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศทางด้านตะวันตกเป็นที่ดอนมีต้นตาลโตนดมาก นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่มทั่ว ๆ ไป
                    อ.เมืองเพชรบุรี เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.คลองกระแชง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๔๕
                ๔๔๕๖. เมืองเพชรบูรณ์  อำเภอขึ้น จ.เพชรบูรณ์ ภูมิประเทศโดยมากเป็นที่ราบ มีภูเขากั้นทางด้านตะวันออก และตะวันตก แถบใกล้ภูเขาเป็นเนินและเป็นทุ่งทั่วไป ตอนท้องทุ่งน้ำท่วมตามฤดูกาล ทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นป่า
                    อ.เมืองเพชรบูรณ์ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองเพชรบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๔๖
                ๔๔๕๗. เมืองแพร่  อำเภอขึ้น จ.แพร่ ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบดอน รอบนอกมีภูเขา ป่าไม้สักและไม้กระยาเลย
                    เมืองแพร่ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองแพร่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๔๖
                ๔๔๕๘. เมืองภูเก็ต  อำเภอขึ้น จ.ภูเก็ต มีอาณาเขตทางทิศตะวันออก และทิศใต้ตกทะเลในช่องมะละกาทิศตะวันตก ตกทะเลอันดามัน ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ๆ ต่ำ ๆ มีอ่างและแหลมมากแห่ง
                    อ.เมืองภูเก็ต เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ทุ่งคา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๔๗
                ๔๔๕๙. เมืองมหาสารคาม  อำเภอขึ้น จ.มหาสารคาม ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มโดยมาก ตอนใต้เป็นที่ดอน มีดินปนทราบ มีป่าไม้เป็นหย่อม ๆ
                    อ.เมืองมหาสารคาม เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ตลาด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๔๗
                ๔๔๖๐. เมืองมุกดาหาร  อำเภอขึ้น จ.มุกดาหาร มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกแม่น้ำโขง ภูมิประเทศตอนริมแม่น้ำโขงเป็นที่ราบต่ำ นอกนั้นเป็นดงใหญ่คือดงบัวอี่
                    อ.เมืองมุกดาร เดิมเป็นเมืองตั้งอยู่ริมห้วยมุกซึ่งไหลลงแม่น้ำโขง จึงชื่อว่า เมืองมุกดาหาร ยุบเป็นอำเภอในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เป็นท่าค้าขายติดต่อกับส่วนเขตของประเทศลาว เป็นชุมทางรถยนต์มาจาก จ.นครพนม และจ.อุบลราชธานี มีที่เที่ยวตากอากาศ คือ ภูมะโน และภูหินข้น           ๒๓/๑๕๐๔๘
                ๔๔๖๑. เมืองแม่ฮ่องสอน  อำเภอขึ้น จ.แม่ฮ่องสอน มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกจดประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นภูเขาโดยมากมีที่ราบทำนาได้บ้าง ตามลุ่มแม่น้ำสะงา ลำน้ำแม่ฮ่องสอน ลำน้ำแม่ระมาด
                    อ.เมืองแม่ฮ่องสอนเดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ม่วยต่อ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๔๘
                ๔๔๖๒. อ.เมืองยะลา  อำเภอขึ้น จ.ยะลา ภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา ชาวพื้นเมืองเป็นไทยอิสลาม
                    อ.เมืองยะลา เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.สะเตง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองยะลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๔๙
                ๔๔๖๓. เมืองร้อยเอ็ด  อำเภอขึ้น จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๕๐
                ๔๔๖๔. เมืองระนอง  อำเภอขึ้น จ.ระนอง มีอาณาเขตทางทิศตะวันตก ตกแม่น้ำกระบุรี และทะเลอันดามัน ทางด้านทะเลมีเกาะมาก
                    อ.เมืองระนอง เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เขานิเวศน์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองระนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๕๑
                ๔๔๖๕. เมืองระยอง  อำเภอขึ้น จ.ระยอง มีอาณาเขตทางทิศใต้ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นที่สูงมีภูเขาบ้าง ตอนกลางเป็นที่ราบต่ำ บางแห่งเป็นที่ลุ่มทำนาได้
                    อ.เมืองระยอง มีเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อครั้งยังเป็นพระยาตาก (สิน) ยกกำลังมาถึงเมืองระยอง คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง มาพักอยู่ที่โบสถ์วัดลุ่ม
                    อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่าประดู่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองระยอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๕๑
                ๔๔๖๖. เมืองราชบุรี  อำเภอขึ้น จ.ราชบุรี ภูมิประเทศทางทิศตะวันตกเป็นป่าและภูเขา นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่ม
                    อ.เมืองราชบุรี เดิมตั้งอยู่ที่ ต.ธรรมเสนได้ย้ายมาที่ ต.หน้าเมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐    ๒๓/๑๕๐๕๒
                ๔๔๖๗. เมืองลพบุรี  อำเภอขึ้น จ.ลพบุรี ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเป็นที่ดอนมีภูเขา และป่าดง นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่ม           ๒๓/๑๕๐๕๒
                ๔๔๖๘. เมืองลำปาง  อำเภอขึ้น จ.ลำปาง ภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองลำปาง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๕๓
                ๔๔๖๙. เมืองลำพูน  อำเภอขึ้น จ.ลำพูน ภูมิประเทศโดยมากเป็นที่ราบต่ำ ทำนาได้ดี ทางทิศตะวันออกมีที่ดอนบ้างมีทุ่งนาและป่าเขาบ้าง
                    อ.เมืองลำพูน เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองลำพูน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๕๔
                ๔๔๗๐. เมืองเลย  อำเภอขึ้น จ.เลย ภูมิประเทศทางทิศเหนือ และทิศใต้เป็นที่ราบลุ่มโดยมาก ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีป่าและภูเขามาก
                    อำเภอนี้ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.กุดป่อง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองเลย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๕๔
                ๔๔๗๑. เมืองศรีษะเกษ  อำเภอขึ้น จ.ศรีษะเกษ ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง อำเภอนี้เดิมเป็นเมืองเล่ากันว่า พระยาแกรก เมืองพนมเปญ เดินทางไปเวียงจันทน์ได้ผ่านมาทางอำเภอนี้ และไปได้ชายาที่เวียงจันทน์คนหนึ่งชื่อศรี อยู่ด้วยกันจนมีครรภ์ พระยาแกรกจึงกลับไปพนมเปญ ศรีคอยอยู่นนาน ไม่เห็นพระยาแกรกกลับก็ออกจากเวียงจันทน์ จะตามไปเมืองพนมเปญไปถึงบ้านสระกำแพง (ต.กำแพง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีษะเกษ) นางก็คลอดบุตร จึงใช้น้ำในสระกำแพงชำระล้างมลทินของบุตร และสระผมของตน ภายหลังตั้งเมืองขึ้นที่ใกล้สระนั้นจึงให้ชื่อว่าศรีษะเกษ ได้ยุบลงเป็นอำเภอในรัชกาลที่ห้า           ๒๓/๑๕๐๕๕
                ๔๔๗๒. เมืองสกลนคร  อำเภอขึ้น จ.สกลนคร ภูมิประเทศทางตอนเหนือ และตะวันออกเป็นที่ราบโดยมาก ตอนใต้และตะวันตกเป็นป่าและภูเขา
                    ในอำเภอนี้มีโบราณสถานคือพระธาตุเชิงชุม อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พระธาตุเชิงชุม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสกลนคร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๕๕
                ๔๔๗๓. เมืองสงขลา  อำเภอขึ้น จ.สงขลา มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศยาวเรียงไปตามฝั่งทะเล ตอนใต้เป็นที่ราบ ตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่ม อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสงขลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๕๖
                ๔๔๗๔. เมืองสตูล  อำเภอขึ้น จ.สตูล มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกและทิศใต้บางตอนจดประเทศมาเลเซีย ทางทิศใต้บางตอนและทิศตะวันตก ตกทะเลในช่องแคบมะละกา ภูมิประเทศส่วนมากเป็นป่าและภูเขา ตอนกลางและตอนใต้มีที่ราบพอเพาะปลูกได้บ้าง
                    อำเภอนี้ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บำบัง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสตูล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๕๗
                ๔๔๗๕. เมืองสมุทรปราการ  อำเภอขึ้น จ.เมืองสมุทรปราการ มีอาณาเขตทางทิศใต้ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศทางตอนเหนือ และตอนกลางเป็นที่ราบต่ำทำการเพาะปลูกได้
                    อำเภอนี้ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.สมุทรปราการ ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสมุทรปราการ           ๒๓/๑๕๐๕๗
                ๔๔๗๖. เมืองสมุทรสงคราม อำเภอขึ้น จ.สมุทรสงคราม มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกและทิศใต้ บางส่วนตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำลงไปโดยลำดับ จากเหนือไปใต้เหมาะแก่การทำสวน
                    อำเภอนี้มีวัดบ้านแหลม ซึ่งมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลม อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านปรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ให้ตรงกับตำบลที่ตั้งที่ว่าการ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ ต.แม่กลอง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อ.แม่กลอง และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสมุทรสงคราม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๕๘
                ๔๔๗๗. เมืองสมุทรสาคร  อำเภอขึ้น จ.สมุทรสาคร มีอาณาเขตทางทิศใต้ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ตอนเหนือเป็นทุ่งนา ตอนริมทะเลเป็นสวน และป่าไม้โกงก่าง
                    อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสมุทรสาคร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           ๒๓/๑๕๐๖๐
                ๔๔๗๘. เมืองสรวง  อำเภอขึ้น จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม อำเภอนี้แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ขึ้น อ.สุวรรณภูมิ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒           ๒๓/๑๕๐๖๐
                ๔๔๗๙. เมืองสระบุรี  อำเภอขึ้น จ.สระบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่สูงเขินเป็นส่วนมาก ตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเป็นป่าและภูเขา
                    อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ปากเพรียว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการ ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากคลองเพรียวถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น จ.เมืองสระบุรี             ๒๓/๑๕๐๖๑
                ๔๔๘๐. เมืองสิงห์บุรี  อำเภอขึ้น จ.สระบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มทำนาได้ทั่วไป
                    อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางพุทรา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสิงห์บุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๖๑
                ๔๔๘๑. เมืองสุโขทัย  อำเภอขึ้น จ.สุโขทัย ภูมิประเทศตอนเหนือ ตอนตะวันออกตอนใต้ และตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม ตอนตะวันตกเป็นที่ดอนมีภูเขาและป่าไม้
                    อำเภอนี้มีซากเมือง วิหาร สถูป เจดีย์ และเทวาลัยของโบราณครั้งสุโขทัยเป็นราชธานีอยู่ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.สุโขทัย แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๖๒
                ๔๔๘๒. เมืองสุพรรณบุรี  อำเภอขึ้น จ.สุพรรณบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบทำนาได้ทั่วไป
                    อำเภอนี้ในสมัยอยุธยาเป็นทางเดินผ่านของกองทัพพม่า ซึ่งยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ และเป็นสนามรบระหว่างไทยกับพม่า เมื่อไทยยกมารับทัพพม่าเป็นสถานที่ ซึ่งไทยใช้เป็นที่ประชุมพลในการรบ โดยมากไปประชุมพลที่วัดชุมพล ซึ่งบัดนี้เป็นวัดร้าง
                    อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่าพี่เลี้ยง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น จ.เมืองสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๓/๑๕๐๖๒

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch