หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/108
    เล่ม ๒๑   พายุ - ภักดี      ลำดับที่ ๓๙๕๔ - ๔๑๐๗      ๒๑/ ๑๓๑๘๑ - ๑๓๘๕๒
                ๓๙๕๔. พายุ  คือ ลมที่พัดแรง ส่วนมากมักจะเกิดในขณะที่เป็นลมแรง พัดเรียบเข้าหาบริเวณศูนย์กลางที่มีความกดอากาศต่ำกว่าความกดอากาศในบริเวณโดยรอบมาก เรียกกันว่า "พายุหมุน" แต่ก็มีลมแรงที่ไม่เกี่ยวกับพายุหมุนก็มี เช่น ลมแรงบริเวณพายุ ฝน ฟ้าคะนองและบริเวณด้านหน้าของแนวปะทะอากาศเย็น
                         พายุหมุน มักจะก่อตัวในบริเวณพื้นน้ำที่อุ่น และกว้างใหญ่ ตามข้อตกลงขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้กำหนดให้เรียกชื่อตามขนาดกำลังความเร็วของลม ใกล้บริเวณศูนย์กลางพายุ ซึ่งแบ่งไว้เป็นสามขนาดคือ
                         ๑. พายุดีเปรสชั่น  มีความเร็วลมสูงสุดใกล้บริเวณศูนย์กลางต่ำกว่า ๓๔ นอต หรือ ๖๓ กม.ต่อชั่วโมงเป็นพายุมีกำลังอ่อน
                         ๒. พายุโซนร้อน  มีความเร็วลมรอบบริเวณศูนย์กลางตั้งแต่ ๓๔ นอต หรือ ๖๓ กม.ต่อชั่วโมง แต่ไม่ถึง ๖๔ นอต หรือ ๑๑๘ กม.ต่อชั่วโมง เป็นพายุที่มีกำลังปานกลาง แรงกว่าพายุดีเปรสชั่นที่เรียกว่า พายุโซนร้อน เพราะมีต้นกำเนิดคือ ก่อตัวขึ้นในบริเวณทะเล หรือมหาสมุทรในโซนร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร เมื่อเคลื่อนที่ไปที่เส้นรุ้งสูง ๆ นอกโซนร้อนหรือพายุที่เกิดขึ้นนอกโซนร้อนจะเรียกว่า พายุนอกโซนร้อน
                         ๓. พายุไต้ฝุ่น  มีความเร็วลมรอบบริเวณศูนย์กลางตั้งแต่ ๖๔ นอต หรือ ๑๑๘ กม.ต่อชั่วโมง ไต้ฝุ่นเป็นคำภาษาจีน แปลว่า ลมใหญ่ เป็นพายุที่มีความุรนแรงมากใช้เรียกพายุหมุนที่เกิดในแถบภาคกลาง และภาคตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ รวมทั้งทะเลญี่ปุ่น ทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้และอ่าวไทย พายุเช่นเดียวกันนี้ถ้าเกิดในแถบมหาสมุทรอินเดีย ทะเลอาหรับและอ่าวเบงกอลเรียกว่า พายุไซโคลน ถ้าเกิดในแถบมหาสมุทรแอดแลนติก ทะเลแคริเบียน อ่าวเมกซิโก และภาคตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือเรียกว่า พายุเฮอริเคน เป็นการเรียกชื่อต่างกันตามที่เกิดในประเทศฟิลิปปินส์เรียกว่า บาเกียว ในประเทศออสเตรเลียเรียก วิลลี - วิลลี่ เป็นพายุที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ ๑๐๐ - ๑,๐๐๐ กม.หรือมากกว่านั้น
                          พายุทอร์นาโด  เป็นพายุประจำถิ่นขนาดเล็กมีความรุนแรงมากมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑ - ๓ กม. บริเวณศูนย์กลางมีความกดอากาศต่ำมาก จึงทำให้อากาศรอบนอกที่พัดเข้าหาศูนย์กลางมีความเร็วลมสูงมาก จะเริ่มก่อตัวในระดับสูงจากพื้นดินหลายพันฟุต สังเกตได้จากเมฆที่ม้วนตัวเป็นรูปกรวยหรืองวง ยื่นออกมาจากฐานของเมฆ พายุฟ้าคะนองลงมายังพื้นดิน พายุนี้มีสีเทาหรือสีดำมีเสียงฟ้าคะนองดังมาก เกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ บริเวณของโลก แต่ที่เกิดมากที่สุดคือ บริเวณตอนกลางของสหรัฐอเมริกา และทางตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย
                          พายุฟ้าคะนอง  ซึ่งเกิดจากเมฆคิวมูโลนิมบัส มีทั้งฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ลมกระโชกแรง มีฝนตกหนักและบางครั้งอาจมีลูกเห็บตกลงมาด้วย พายุนี้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น และเกิดเนื่องจากมีอากาศยกตัวขึ้นสู่เบื้องบนอย่างรุนแรงในระยะแรกของการก่อตัวของเมฆ และมีการจมตัวลงของอากาศอย่างรุนแรง พร้อมกับมีน้ำฟ้าตกลงมาในชั้นเจริญเติบโตเต็มที่และชั้นสลายตัวของเมฆ อากาศที่จมตัวลงมาพร้อมกันกับฝนนี้ จะมีอัตราเร่งอันเกิดจากเม็ดฝนที่ตกลงมาช่วย ทำให้อากาศที่เคลื่อนตามลงมาแรงขึ้นและจะมีกำลังแรงมาก เมื่อลงมาใกล้พื้นดิน เมื่อลงมาสู่พื้นดินก็จะยังคงพัดแรงไปรอบ ๆ เป็นระยะไกล ๆ ได้
                          พายุฝุ่น  เกิดขึ้นจากการยกตัวของกระแสอากาศขึ้นสู่เบื้องบน และมวลอากาศที่อยู่ข้างเคียงเคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่ มีสาเหตุเกิดเนื่องจากแผ่นดินที่ร้อนจัด เช่น บริเวณที่เป็นทะเลทราย ทำให้อากาศที่อยู่เหนือขึ้นไปมีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีน้ำหนักเบากว่าอากาศรอบ ๆ บริเวณมาก จึงเกิดการยกตัวของอากาศร้อนนั้น และอากาศที่เย็นกว่ารอบนอก จะพัดเข้ามาแทนที่ มีกำลังแรงขนาดพายุได้ และจะพัดเอาฝุ่นผงลอยตัวขึ้นไปในบรรยากาศ ตามทางที่พายุฝนผ่านไปได้ ฝุ่นในอากาศรวมตัวกันมีบริเวณสูงขึ้น ครามคละคลุ้งมืดดำของฝุ่นหมุนวนเป็นความชัน สูงถึงประมาณ ๓๐ เมตร หมุนตัวผ่านไปยังบริเวณต่าง ๆ อย่างไม่มีทิศทางแน่นอน เมื่อความรุนแรงลดน้อยลงฝุ่นจะจมตัวลง และส่วนที่ยังคลุคลุ้งอยู่จะมีลักษณะคล้ายหมอก
                        พายุหมุน ลูกสำคัญ ๆ ที่ก่อความเสียหายแก่ประเทศไทยเป็นอย่างมากมีดังนี้
                        ในเดือนกันยาน พ.ศ.๒๔๘๕ พายุหมุนโซนร้อนเข้าสู่ประเทศไทย โดยผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจำนวนสองลูกติดต่อกัน เป็นผลให้มีฝนตกหนักหลายแห่ง ในบริเวณตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไป ทำให้เกิดอุทกภัยทั่วไป โดยเฉพาะภาคกลางมีระดับน้ำสูงมาก และน้ำได้ท่วมเป็นระยเวลานานรวมเดือน
                        ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๕ มีพายุหมุนโซนร้อนสองลูก เคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทยเกิดน้ำท่วม และพายุแรง แต่ความเสียหายมันดีกว่าปี พ.ศ.๒๔๘๕
                        ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๕ มีพายุหมุนโซนร้อนชื่อ ฮาเรียต ได้ก่อตัวขึ้นในแหลมญวน แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย และขึ้นฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย บริเวณแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราชแล้วผ่านไปสู่อ่าวอันดามันแล้วเคลื่อนตัวลงไปยังอ่าวเบงกอล พายุลูกนี้สร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยมาก มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑,๐๐๐ คน บ้านเรือนปรักหักถึงประมาณ ๔๐,๐๐๐ หลัง รวมค่าเสียหายประมาณ ๑๒๐ ล้านบาท          ๒๑/ ๑๓๑๘๑
                ๓๙๕๕. พาราณสี  เป็นชื่อเมืองหนึ่งในประเทศอินเดียตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา รัฐอุตรประเทศเป็นเมืองทางศาสนาที่สำคัญที่สุดของผู้นับถือศาสนาฮินดู ตามตำนานเทพนิยามของอินเดียกล่าวว่า พระวิษณุได้สร้างเมืองพาราณสีขึ้นตามคำสวดอ้อนวอนของฤาษีเจ็ดตน
                        ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงเมืองพาราณสีว่า เป็นนครหลวงของแคว้นกาสี
                        ออรังเซบ กษัตริย์ราชวงศ์โมกุล ซึ่งครองอินเดียระหว่างปี พ.ศ.๒๑๙๓ - ๒๒๕๐ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองนี้เป็นมุฮัมมะคะปัด เมื่ออรังเซบสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไม่มีใครเรียกชื่อนี้อีก
                        ตามทรรศนะของนักประวัติศาสตร์อายุเมืองพาราณสีอาจนับย้อนหลังไปได้ไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ ปี กล่าวได้ว่าเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ที่ยังคงต้องอยู่จนถึงปัจจุบัน ในสมัยที่พวกอารยันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามลุ่มน้ำในอินเดียภาคเหนือ พาราณสีเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองอยู่แล้ว กษัตริย์ราชวงศ์ต่าง ๆ ได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นครองราชย์ในเมืองพาราณสี สืบต่อมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ก่อนสิ้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ กษัตริย์ราชวงศ์ปาฐัญ ได้เป็นผู้ครองนครนี้ต่อจากนั้น ก็เป็นราชวงศ์โมกุล และในที่สุดก็อยู่ใต้ปกครองของอังกฤษ
                        อำนาจของราชวงศ์โมกุลเสื่อมลง และสิ้นสุดไปในที่สุด ในปี พ.ศ.๒๔๐๑ เมืองพาราณสีกลับมีมหาราชฮินดูเป็นผู้ปกครองสืบต่อมาอีกหลายองค์ องค์สุดท้ายมีพระชนมชีพอยู่ถึงปี พ.ศ.๒๕๒๗
                        เชื่อกันว่าความสำคัญทางด้านศาสนาและปรัชญาของเมืองพาราณสีมีมาก่อนยุคสงครามมหาภารตะ ซึ่งมีขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๘๕๗  เป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านการศึกษาคัมภีร์พระเวท และภาษาสันสฤต ที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่ง ของอินเดียในสมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมื่ออิทธิพลของกษัตริย์มุสลิม แผ่ขยายไปทั่วอินเดีย การศึกษาพระเวท และภาษาสันสกฤตที่เมืองพาราณสี เสื่อมถอยลงจนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ จึงได้มีการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่
                    ในบรรดาเทวาลัยของเมืองพาราณสรี ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ แห่งนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ เทวาลัยวิศวนาถ ที่สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๖  เทวาลัยนี้ได้ถูกพวกมุสลิมโมกุล ทำลายหลายครั้ง และก็มีการสร้างขึ้นใหม่ ครั้งสุดท้ายกษัตริย์ออรังเซบ ได้สั่งให้ทำลายเมื่อปี พ.ศ.๒๒๑๒ แล้วให้สร้างสุเหร่าขึ้นแทนที่ เรียกว่า สุเหร่าออรังเซบ
                    ชาวฮินดูถือว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ การได้อาบน้ำในแม่น้ำคงคาที่เมืองพาราณสี เชื่อกันว่าเป็นมหากุศล หากตายลงและศพได้เผาที่ท่าน้ำเมืองพาราณสี จะทำให้วิญญาณเข้าถึงความหลุดพ้น หรือโมกษะ
                    พาราณสียังเป็นเมืองสำคัญของพุทธศาสนิกชน สังเวชนียสถานแห่งหนึ่งในสี่แห่งของพุทธศาสนาคือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ก็อยู่ที่พาราณสี ปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๘๐ กม. โบราณวัตถุที่สำคัญของพระพุทธศาสนาที่สารนาถคือ ธัมเมทสถูป ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงให้สร้างขึ้นตรงที่เข้าใจว่า เป็นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร  มีเสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก ฯ เป็นเครื่องหมายว่า สถานที่นี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก      ๒๑/ ๑๓๑๙๑
                ๓๙๕๖. พาราพิน  หมายถึง ของแข็งประเภทหนึ่ง ลักษณะคล้ายขี้ผึ้งสีขาว หรือไม่มีสีเป็นของแข็ง โปร่งแสง ณ อุณหภูมิธรรมดา ไม่มีกลิ่นไม่มีรส เมื่อสัมผัสจะรู้สึกลื่น ๆ มีผู้ผลิตสารนี้ออกเป็นสินค้าครั้งแรกจากหินน้ำมัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ ปัจจุบันการผลิตสารนี้เป็นอุตสาหกรรม โดยกรรมวิธีต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมดิบ ประเภทพารัพพินิก
                        ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการสังเคราะห์ขี้ผึ้งพาราพินขึ้น ได้มีความบริสุทธิ์กว่าที่ได้จากน้ำมันปิโตรเลียม และนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมผลิตขี้ผึ้ง ขัดพื้นสำหรับใช้งานหนัก อุตสาหรรมผลิตผ้า และกระดาษกันน้ำ อุตสาหกรรมย้อมหนัง ทำยากันสนิมและอื่น ๆ อีกมาก
                        น้ำมันพาราพิน หรือน้ำมันก๊าดเป็นน้ำมันใสไม่มีสีหรือสีเหลืองจาง ๆ ไม่สะสมเป็นน้ำ มีผู้ผลิตออกมาเป็นสินค้าครั้งแรก เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๓ ใช้เป็นเชื้อเพลิงเป็นทินเนอร์สำหรับสีทา เป็นส่วนผสมในยาฆ่าแมลง เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นและจรวด          ๒๑/ ๑๓๒๐๑
                ๓๙๕๗. พาลจันทร์  หมายถึง พระจันทร์ข้างขึ้นอ่อน ๆ หรือพระจันทร์เสี้ยว มีลักษณะโค้งบางเรียวงาม ส่วนโค้งเรียวที่สุดของพระจันทร์เรียกว่า จันทรกลา เมื่อรวมได้ทั้งหมด ๑๖ จันทรกลาก็จะเป็นพระจันทร์เต็มดวงเรียกว่า สมบูรณ์จันทร์ และถ้าจันทร์กลานับได้แปดส่วน ก็จะเป็นพระจันทร์ครึ่งซีกเรียกว่า อรรถจันทร์
                        พาลจันทร์หรือพระจันทร์เสี้ยวเป็นปิ่นปักพระโมลีของพระศิวะ ทำให้ได้รับฉายานามว่า จันทรเศขร แปลว่าผู้มีปิ่นปักผมคือพระจันทร์          ๒๑/ ๑๓๒๐๗
                ๓๙๕๘. พิกุล  เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๘ - ๑๕ เมตร เรือนยอดแน่นทึบ แตกกิ่งต่ำ ใบมนรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปหอก ออกเรียงสลับเวียนกันบนกิ่ง ดอกสีขาวแผ่กว้างเป็นพุ่มกลมปนเหลือง กลิ่นหอมแรง ออกเป็นกระจุก ๒ - ๖ ดอก ตามง่ามใบและตามยอด ผลรูปไข่หรือกลมรี ๆ
                        พิกุลมีดอกเป็นระยะ ๆ ตลอดปี นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและให้ร่มเงา
                        พิกุลใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง หรือน้ำตาลแกมแดงเข้มเสี้ยนตรง เนื้อละเอียดมากและสม่ำเสมอ หนักเหนียว เลื่อยไสกบ ตกแต่งง่าย ขัดชักเงาได้ดีใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ เช่น ทำเสา รอด ตง ทำด้ามเครื่องมือ ไม้เท้า ด้ามร่มและเครื่องเรือน เปลือกใช้ต้มเอาน้ำอมเป็นยากลั้วล้างปากรักษาโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟัน เป็นยาคุมธาตุ ดอกนิยมใช้อบร่ำเสื้อผ้า ดอกแห้งใช้ป่นทำเป็นยานัตถ์ใช้เป็นยารักษาไข้ ปวดหัว เจ็บคอ ไหล่และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย แก้ร้อนใน          ๒๑/ ๑๓๒๑๐
                ๓๙๕๙. พิกุลทอง - เรื่อง  เป็นชื่อบทละครนอกเรื่องหนึ่งในเรื่องมีตัวละครชื่อนางพิกุลทองเป็นธิดาท้าวสันนุราช นางมีคุณสมบัติพิเศษคือมีผมหอม และเวลานางเอ่ยปากพูดจะมีดอกพิกุลร่วงออกจากปาก ต่อมาได้แต่งงานกับพระพิชัยวงศ์กุฎโอรสของพระสังข์ศิลป์ไชยมีลูกสองคนคือ เจ้ารัก และเจ้ายม           ๒๑/ ๑๓๒๑๑
                ๓๙๖๐. พิคริก - กรด  เป็นสารประกอบอินทรีย์ชนิดหนึ่งมีผู้สังเคราะห์ขึ้นได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๔ สารนี้เป็นกรดแก่ลักษณะเป็นผลึกสีเหลือง
                        เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๒ เริ่มใช้กรดนี้เป็นสีย้อมใช้ย้อมเส็นไหมให้เป็นสีเหลือง โดยที่กรดนี้สามารถระเบิดได้อย่างรุนแรงจึงได้มีการใช้กรดนี้เป็นดินระเบิด แต่เนื่องจากเป็นกรดแก่จึงกัดกรอบผิวโลหะของลูกปืนได้ง่าย และระเบิดได้ง่ายมาก เมื่อกระทบกระเทือนอย่างแรง เหตุนี้เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การใช้สารนี้เป็นดินระเบิด
                        กรดพิคริกยังมีสมบัติเป็นยาระเงับเชื้อ และยาสมานได้อีกด้วยจึงนำมาใช้ประโยชน์ในทางเภสัชกรรม โดยนำไปทำเป็นยาขี้ผึ้ง และทำเป็นสารละลายสำหรับใช้ทาภายนอก          ๒๑/ ๑๓๒๑๓
                ๓๙๖๑. พิฆาต - เรือ  เป็นเรือรบประเภทหลักที่มีความสำคัญต่อการรบทางเรือ เรือประเภทนี้สร้างขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เรียกว่า เรือพิฆาตตอร์ปิโดในสมัยแรก เป็นเรือที่มีขนาดใหญ่กว่าเรือตอร์ปิโด และมีความเร็วสูงกว่า ปืนใหญ่มีขนาดใหญ่กว่า ในสมัยแรกมีระวางขับน้ำประมาณ ๓๐๐ ตัน ความเร็ว ๒๕ - ๒๗ นอต
                       ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ.๒๔๕๗ - ๒๔๖๑) เรือนี้ได้ขยายขนาดขึ้นไปจนถึง ๑,๐๐๐ ตันเศษ ความเร็ว ๓๐ - ๓๕ นอต ชื่อของเรือรบประเภทนี้เป็นเรือพิฆาต
                       ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับครั้งที่สอง เรือพิฆาตที่สร้างขึ้นมีระวางขับน้ำ ๑,๓๐๐ - ๒,๕๐๐ ตัน ความเร็ว ๓๒ - ๔๐ นอต
                        หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสามารถนำเอาอาวุธนำวิถีมาติดตั้งในเรือพิฆาตได้ จึงเลิกใช้อาวุธตอร์ปิโดในเรือพิฆาต ปัจจุบันเรือพิฆาตมีระวางขับน้ำ ๔,๐๐๐ - ๙,๐๐๐ ตัน ความเร็วสูงสุด ๓๐ นอต ติดตั้งอาวุธนำวิถีสำหรับยิงเรือบนพื้นน้ำ และต่อสู้อากาศยานติดตั้งเครื่องมือค้นหาข้าศึกทั้งสามภาคพื้น และติดตั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำ
                        ประเทศไทยมีเรือรบในแม่น้ำที่เรียกว่า เรือพิฆาต ใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ กองทัพเรือได้สั่งสร้างเรือตอร์ปิโดดิสทรอยเยอร์หนึ่งลำ เรือตอร์ปิโดสามลำจากประเทศญี่ปุ่น เรือพิฆาตตอร์ปิโด้ขึ้นระวางประจำการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ ได้รับพระราชทานชื่อว่า เสือทะยานชล มีระวางขับน้ำ ๓๘๕ ตัน ยาวประมาณ ๗๐ เมตร ความเร็ว ๒๘ นอต
                        ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ สหรัฐอเมริกาได้ให้กองทัพเรือยืมเรือพิฆาตคุ้มกัน สร้างสมัยสงครามโลกครั้งที่สองได้ขึ้นระวาง และได้รับพระราชทานชื่อว่าปิ่นเกล้า มีระวางขับน้ำ ๑,๒๔๐ ตัน ความเร็ว ๑๙.๕ นอต เรือลำนี้ได้รับโอนเป็นของกองทัพเรือ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ และยังคงประจำการต่อมาโดยจัดอยู่ในประเภทเรือฟรีเกต          ๒๑/ ๑๓๒๑๕
                ๓๙๖๒. พิจิตร  จังหวัดภาคกลางมีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.พิษณุโลก ทิศตะวันออกจด จ.เพชรบูรณ์ ทิศใต้จด จ.นครสวรรค์ และจ.กำแพงเพชร ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา มีห้วยหนองคลองบึงมาก ทางตะวันตก และตะวันออกเป็นที่ดอนมีป่าไม้กระยาเลย
                        จ.พิจิตรเป็นเมืองโบราณในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระยาโคตรบองสร้าง ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเรียกสระหลวง บางแห่งเรียกโอฆบุรี ตัวเมืองเก่าตั้งอยู่ที่แม่น้ำน่านเดิม ซึ่งปัจจุบันเรียกแม่น้ำพิจิตร หรือแม่น้ำเมืองเก่า ในสมัยสุโขทัยเป็นเมืองขึ้นชั้นใน เมื่ออำนาจทางสุโขทัยเสื่อมลงตกเป็นอาณาเขตกรุงศรีอยุธยา เมืองพิจิตรจึงเป็นหัวเมืองชั้นนอกขึ้นเมืองพิษณุโลก
                        เมืองนี้มีสิ่งสำคัญคือ เมืองพิจิตรเก่า เมืองบ่าง บึงไชยบวน บึงสัพงาย บึงสีไฟ เขารูปช้างและวัดท่าหลวง          ๒๑/ ๑๓๒๒๑
                ๓๙๖๓. พิชัย  อำเภอขึ้น จ.อุตรดิตถ์ ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มใช้ทำนา ตอนตะวันตกเป็นที่ดอนมีป่าไม้และภูเขา มีที่ราบใช้ทำไร่บ้าง ตอนตะวันตกเป็นป่าไม้เบญจพรรณ
                        เมืองพิชัยเป็นเมืองเก่า ตัวเมืองเดิมอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งซ้าย พงศาวดารเหนือกล่าวว่า เจ้าไวยปักษาสร้างเมืองพิชัย ในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐบ่งไว้ว่า ได้เริ่มก่อสร้างกำแพงเมืองพิชัย เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๓
                        ในปี พ.ศ.๒๑๒๗ สมเด็จพระนเรศวร ฯ เสด็จขึ้นไปขับไล่พม่า พระยาพิชัยประมาทตั้งแข็งเมือง จึงถูกปราบ และให้ประหารชีวิต แล้วกวาดต้อนคนจากเมืองเหนือมากรุงศรีอยุธยา
                       ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อเวลาไปตีเมืองสวางคบุรีคราวปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง น่าจะเสด็จขึ้นไปทางเมืองพิชัย พอถึงคราวเสด็จยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ครั้งแรก โปรดให้ประชุมทัพที่เมืองพิชัย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๕ พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย เจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปช่วยพระยาพิชัย ยกออกตีกระหนาบพม่าก็แตกพ่ายไป ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๖ โปสุพลาแม่ทัพพม่ายกตีเมืองพิชัยอีก พระยาพิชัยนำทหารเข้าตลุมบอนไล่ฟันพม่าจนดาบหัก จึงเลื่องลือเรียกกันว่า พระยาพิชัยดาบหัก
                        เมืองพิชัยคงทิ้งร้างอยู่อีกพักหนึ่งจนถึงรัชกาลที่สาม เมื่อปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์ โปรดให้ล้มแว่วแคว้นศรีสัตนาคนหุตเสียแบ่งเอาดินแดนบางส่วนมาขึ้นแก่เมืองพิชัย แดนเมืองพิชัยจึงไปจดแม่น้ำโขง ทั้งมีหน้าที่ตรวจตรารักษาการณ์ไปจนถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองหลวงพระบางด้วย ฉะนั้นของถึงรัชกาลที่สี่จึงโปรดให้ยกเป็นเมืองโท
                        ในรัชกาลที่ห้า เมื่อโปรดให้กองทัพขึ้นไปปราบฮ่อ ก็ได้ประชุมทัพฝ่ายเหนือที่เมืองพิชัย เมื่อดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตกเป็นของฝรั่งเศส จึงรวมกับหัวเมืองอื่นตั้งมณฑลพิษณุโลก ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ โปรดให้ย้ายที่ว่าการเมืองพิชัยไปตั้งที่เมืองอุตรดิตถ์เรียกว่า เมืองพิชัยเหมือนกัน ต่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ จึงเปลี่ยนเรียกเมืองอุตรดิตถ์ ส่วนชื่อเมืองพิชัยเอาไปเรียกเมืองพิชัยเก่า ต่อมายุบเป็นอำเภอ          ๒๑/ ๑๓๒๒๓
                ๓๙๖๔. พิชัยญาติ - เจ้าพระยา  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๘ สอบไล่ได้เป็นเนติบัญฑิตชั้นที่หนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้เป็นผู้พิพากษษศาลแพ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ได้เป็นข้าหลวงจัดการที่ดินนา และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเมธีนฤปการ ได้เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และเป็นข้าหลวงพิเศษจัดการที่นา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ เป็นอธิบดีศาลแพ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระเมธีนฤปกร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ได้เป็นกรรมการศาลฎีกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยากฤติกานุกรณ์กิจ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ ได้เป็นมหาอำมาตย์ตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ เป็นองคมนตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ เป็นมหาอำมาตย์โท เมื่อปี พ.ศ.ได้เป็นอธิบดีศาลฎีกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพิชัยญาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ ...ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้เป็นประธานสภาผู้แทน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖          ๒๑/ ๑๓๒๒๖
                ๓๙๖๕. พิชัยญาติการาม - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหารตั้งอยู่ริมคลองบ้านสมเด็จ ต.ตลาดแขก เขตคลองสาน กรุงเทพ ฯ
                        วัดนี้เดิมเป็นวัดร้างไม่ทราบชื่อวัด ครั้งถึงปี พ.ศ.๒๓๘๔ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีพิพัฒ ฯ ได้สร้างวัดนี้ขึ้นใหม่ทั้งวัดแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง และได้รับพระราชทานนามว่าวัดพระยาญาติดารามถึงรัชกาลที่สี่ทรงเปลี่ยนนามวัดใหม่เป็นวัดพิชัยญาติดาราม ๒๑/ ๑๓๒๓๐
                ๓๙๖๖. พิชัยดาบหัก - พระยา  ในปี พ.ศ.๒๓๑๖ โปสุพลาได้ยกทัพเข้าตีเมืองพิชัยเป็นครั้งที่สอง พระยาพิชัยได้สร้างเกียรติประวัติอันเป็นแบบอย่างที่สมควรยกย่อง  ท่านได้ไล่ฟันทหารพม่าแตกยับเยิน จนดาบที่ถืออยู่หักดังที่สมญาว่า พระยาพิชัยดาบหัก
                        พระยาพิชัยดาบหักได้ประกอบวีรกรรมกล้าหาญนี้ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ อันเป็นแบบอย่างที่สมควรยกย่องไว้ให้ประชาชนชาวไทย พึงจดจำสืบต่อมา ท่านได้ไล่ฟันทหารพม่าข้าศึกแตกยับเยิน จนดาบที่ท่านถืออยู่หัก ดังที่มีสมญานามว่า " พระยาพิชัยดาบหัก " ปัจจุบันรูปปั้นของท่านได้ประดิษฐานอย่างตระหง่านสง่างาม หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์        ๒๑/ ๑๓๒๓๔
                ๓๙๖๗. พิชัยนุราช - พระ  เป็นชื่อตัวละครนอก เรื่องมณีพิชัยเป็นพระบิดาของพระมณีพิชัย มีนางยอพระกลิ่น ซึ่งเป็นธิดาของพระอินทรกับนางเกศินีเป็นคู่ครอง พระเจ้ากรุงจีนต้องการพระมณีพิชัยเป็นเขย แต่ติดที่พระมณีพิชัยมีคู่ครองแล้ว          ๒๑/ ๑๓๒๓๗
                ๓๙๖๘. พิชัยสงคราม - ตำรา  เป็นตำราว่าด้วยวิธีการเอาชนะข้าศึกในสงคราม ซึ่งนักปราชญ์ทางทหารสมัยโบราณ ได้แต่งขึ้นจากประสบการณ์ และจากการทดลอง เพื่อให้แม่ทัพนายกองใช้ศึกษา และเป็นคู่มือในการอำนวยการรบให้หน่วยทหารมีชัยชนะแก่ข้าศึก
                        ประเทศต่าง ๆ มีตำราพิชัยสงครามเท่าที่หาได้ในปัจจุบันคือ
                       ตำราพิชัยสงครามฮินดูโบราณ  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ นายร้อยเอกยีอี เยรินีนายทหารชาวอิตาลี ภายหลังได้เป็นนายพันเอกพระสารสาสน์พลขันธ์ ได้เรียบเรียงตำราพิชัยสงครามฮินดูโบราณขึ้น อ้างว่าเก่าแก่มีอายุถึง ๒,๕๐๐ ปี คือ คัมภีร์ นีติศาสตร์ไม่ทราบผู้แต่งกับคัมภีร์นิติประกาศิกา แต่งโดยไวคัมปายัน อาจารย์สอนวิชาทหารกรุงตักสิลา และได้นำเรื่องราวจากเรื่องนางนพมาศ ราชาธิราชและพระราชพงศาวดารมาอธิบายประกอบ          ๒๑/ ๑๓๒๓๗
                       ตำราพิชัยสงครามจีน  นักปราชญ์จีนได้แต่งตำราพิชัยสงครามไว้ในสมัยต่าง ๆ มากมาย ที่ยังมีต้นฉบับครบถ้วนรวมเจ็ดฉบับ แต่ที่สำคัญและดีเด่นมีอยู่สองฉบับคือ ตำราพิชัยของซุนวู หรือตำราพิชัยสงครามสิบสามบท แต่งขึ้นปี พ.ศ.๔๓ เป็นปรัชญาในการป้องกันประเทศ และรวมเอาวิถีการดำรงชีวิตในชั้นเชิงที่แยบคาย ซึ่งไม่มีในตำราอื่น ๆ จึงถือกันว่าเป็นตำราพิชัยสงครามที่สมบูรณ์ยอดเยี่ยมที่สุด โดยได้กล่าวถึงการวางแผนสงคราม การดำเนินสงคราม ยุทโธบาย ความตื้นลึกหนาบาง การสัปยุทธ์ชิงชัย นานาวิการ การเดินทัพ ลักษณะพื้นภูมิ นวภูมิ พิฆาติด้วยเพลิงและการใช้จารกรรม
                       ตำราพิชัยสงครามพม่า  มีอยู่สองฉบับในหอสมุดแห่งชาติแปลเป็นภาษาไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๑ เนื้อหามีเรื่องการจัดบ้านเมืองให้พร้อมรบ สาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองสงบสุข และเกิดยุคเข็ญ สาเหตุที่จะเกิดสงคราม การหาข่าวข้าศึก บุคคลและตระกูลที่หายาก ลักษณะของผู้ที่จะเป็นแม่ทัพ ลักษณะที่จะชนะสงคราม การจัดขบวนรุก ตั้งรับและถอย ฤกษ์ยามต่าง ๆ ในสงคราม
                       ตำราพิชัยสงครามไทย  พระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๑ สมเด็จพระรามาธิบดี ๒ (พ.ศ.๒๐๔๑ - ๒๐๗๒) "แรกให้ทำตำราพิชัยสงคราม" โดยโปรดให้นำเอาตำราพิชัยสงคราม ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายฉบับมาชำระ และเรียบเรียงให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นหมู่เหล่า แล้วคัดเป็นฉบับหลวง ครั้นกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง ต้นฉบับที่มีบริบูรณ์เช่นฉบับหอหลวง ก็เลยสูญเหลือแต่ฉบับที่มีผู้คัดลอกไว้ได้แห่งละเล็กละน้อย มักเป็นตำราที่แต่งใหม่ในปลายสมัยอยุธยาเป็นพื้น
                      สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่หนึ่งและที่สอง ได้มีการคัดลอกตำราพิชัยสงครามฉบับปลีกของปลายสมัยอยุธยาซึ่งเหลืออยู่ได้หลายสิบเล่มสมุดไทย โดยยังคงรักษาคำร้อยกรองของเดิมไว้ครบถ้วน
                      ในปี พ.ศ.๒๓๖๘ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กรมพระราชวังสถานมงคลได้ให้ชำระตำราพิชัยสงครามให้ถูกต้องครบถ้วน ได้เชิญพระตำรับพิชัยสงครามจากข้างที่ (ฉบับหลวง) มาชำระสอบสวนถึง ๑๔ เล่มสมุดไทย เมื่อชำระเสร็จแล้วได้คัดลงสมุดไทยได้สิบเล่ม (สองชุด) ถือเป็นตำราพิชัยสงครามฉบับสุดท้ายที่ชำระอย่างสมบูรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์
                      ในรัชกาลที่สี่ ได้ทรงเริ่มปฏิรูปกองทัพไทยเข้าสู่แบบตะวันตก
                      ในรัชกาลที่ห้า ทางการทหารได้ใช้ตำรายุทธศาสตร์แทนตำราพิชัยสงคราม ผู้เป็นเจ้าของตำราพิชัยสงคราม จึงนำมามอบให้ หรือขายให้หอสมุดแห่งชาติ เป็นจำนวนมาก ตามบัญชีมีอยู่ ๒๑๙ เล่ม ส่วนมากเป็นคำร้อยกรองแบบฉันท์ โคลง กลอน และร่ายบ้าง แต่งเป็นคำร้อยแก้วบ้าง
                      เมื่อดูจากตำราเดิมจะแบ่งออกเป็นสามแผนก คือว่าด้วยเหตุแห่งสงครามว่าด้วยอุบายสงคราม และว่าด้วยยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ส่วนการถือนิมิตฤกษ์ยามและเลขยันต์อาถรรพศาสตร์ก็จะมีมาบ้างแล้วแต่โบราณมาเชื่อถือแก่กล้าขึ้นในตอนปลายสมัยอยุธยา          ๒๑/ ๑๓๒๓๗

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch