หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/100
    เล่ม ๒๐ ฝาเรือน - พานทอง         ลำดับที่ ๓๗๓๔ - ๓๙๕๓  ๒๐/ ๑๒๕๐๙ - ๑๓๑๗๙
                ๓๗๓๔.  ฝาเรือน  เป็นเครื่องกั้นรอบตัวเรือน หรือในตัวเรือน ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้มีชื่อเรียกตามวัสดุที่ใช้ทำ ตามหน้าที่ใช้สอยและเทคนิคการสร้างที่แตกต่างกัน บางทีในแต่ละถิ่นเรียกไม่เหมือนกันก็มี ฝาเรือนไทยมีชื่อเรียกกันมากมายหลายอย่าง พอจัดประเภทได้ดังนี้
                          จำแนกตามลักษณะของเรือน  มีฝาเรือนเครื่องผูก และฝาเรือน เครื่องสับ
                          ๑. ฝาเรือนเครื่องผูก  เรือนเครื่องผูก เป็นเรือนขนาดย่อม ปลูกใช้ชั่วคราว วัสดุมุงเป็นพืชที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น คา จาก ตองตึง ฝาเรือนเครื่องผูก จึงใช้วัสดุประเภทเดียวกัน ส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่ขัด หรือสานในลักษณะต่าง ๆ ฝาอย่างนี้ภาคเหนือเรียก ฝาไม้บั่ว ภาคใต้ เรียก ฝาจาก
                          ๒. ฝาเรือนครื่องสับ หรือฝากระดาน  ภาคเหนือเรียก ฝาไม้เแป้น ภาคใต้เรียก ฝาไม้ดาน เป็นฝาเรือนที่ใช้ไม้จริงประกอบเป็นส่วนใหญ่ ฝาเรือนเครื่องสับนี้แยกประเภทออกไปได้มาก ตามวิธีการก่อสร้างที่ต่างกัน
                          จำแนกตามหน้าที่ใช้สอย
                          ๓.ฝาประจำห้อง หรือฝาด้านแป หรือฝาด้านรี หรือฝาขนาน เป็นฝาด้านข้างของตัวเรือน ซึ่งมีธรรมเนียมต้องยกขึ้นตั้งก่อนฝาด้านอื่น มักประกอบด้วยแผ่นฝา และช่องหน้าต่าง
                          ๔. ฝาหุ้มกลอง หรือฝาด้านขื่อ เป็นฝาด้านสกัดของตัวเรือน มักประกอบด้วยแผ่นฝา และช่องหน้าต่าง ฝาสกัดแผ่นหลังของตัวเรือนทางภาคเหนือ เรียกว่า ฝาก้นตุ
                          ๕. ฝาประจัน หรือฝากั้นห้อง เป็นฝาด้านขื่อที่กันแบ่งห้องกลางเรือน มักประกอบด้วยแผ่นฝาและช่องประตู
                          ๖. ฝาเสี้ยว   เป็นฝาปิดหัวท้ายระเบียงของเรือนไทยภาคกลาง หน้าต่างที่ฝาเสี้ยวนิยมทำกรอบเช็ดหน้า เป็นรูปกรอบแปดเหลี่ยม หรือกรอบโค้งด้านบนก็มี
                          ๗. ฝาหน้าถัง  เป็นฝาที่เปิดได้โล่งเต็มหน้าถัง คือ ขนาดกว้างของห้อง โดยทำเป็นกรอบราง รอบตัวใส่ไม้กระดานตามแนวตั้งทีละแผ่น
                          ๘. ฝาหับเผย  เป็นฝาที่เกิดทั้งแผง แล้วใช้ไม้ค้ำยันไว้
                          ๙. ฝาเฟี้ยม  เป็นวิวัฒนาการของฝาเรือนหน้าถัง ในสมัยต่อมา แทนการใช้บานเลื่อนแต่ละแผ่นประกอบเป็นฝา ได้เปลี่ยนมาติดบานพับโลหะ แต่ละบานฝาเข้าด้วยกัน อาจพับไปมาได้เป็นฉากพับ
                          ๑๐. ฝาเกล็ด  เป็นแผ่นฝาที่มีกรอบแบ่งเป็นช่อง ข้างในช่องกรอบ แทนที่จะกรุด้วยแผ่นกระดาน กลับใส่เกล็ดไม้จริง หรือใบปรี ตามแนวนอน เพื่อให้ฝาโปร่งระบายอากาศได้
                          ๑๑. ฝาไหล  นิยมทำกันเฉพาะภาคกลางตอนบน และภาคเหนือ ลักษณะเป็นฝากระดานตีตั้งช่อง ภายในมีรางไม้ วางฝากระดานช่องเว้นช่องอีกชุดหนึ่ง เลื่อนไหลไปมาได้เพื่อให้แสงและอากาศเข้ามากหรือน้อยได้ตามความต้องการ
                          จำแนกตามเทคนิคการสร้าง
                          ๑๒. ฝากรุ  โครงฝาอาจใช้ไม้ไผ่หรือไม้จริงก็มี ถ้าไม่ได้กรุด้วยไม้กระดานแล้วจะเรียกว่า ฝากรุ ฝาที่กรุด้วยแผงไม้ไผ่ลายขัดอย่างที่เรียกว่า ลำแพน ก็เรียกว่า ฝาลำแพน ถ้ากรุด้วยวัสดุอย่างอื่น เช่น จาก หรือใบตาล โดยมีโครงสร้างเป็นไม้ไผ่เรียกว่า ฝากระแชงอ่อน
                          ๑๓. ฝาลายอำ  เป็นชื่อฝาเรือนภาคเหนือที่ทำจากผิวไผ่ขัด ลายก้างปลา
                          ๑๔. ฝาลายตาน  ใช้ผิวไผ่ขัดลายขัดธรรมดา หรือลายสอง
                          ๑๕. ฝาขัดแตะ  ใช้ไม้รวกหรือไม้ไผ่ผ่าซีก เป็นตัวนอนขัดขึ้นลงตามแนวตั้งด้วยไม้ไผ่ซีกที่เล็กกว่า ฝาชนิดนี้โปร่งอากาศ จึงนิยมใช้ทำฝาเรือนครัว
                          ๑๖. ฝาขัดแตะพอกดิน  เป็นฝาขัดแตะที่พอก หรือฉาบดินเหนียวผสมฟาง หรือมูลวัว มูลควาย ใช้กับน้ำได้นิยมใช้ทำฝายุ้งข้าวทั่วไป
                          ๑๗. ฝาปะกน  (ดู ปะกน - ลำดับที่...)
                          ๑๘. ฝาปะกนเจียด หรือฝาปะกนลูกฟัก  หรือฝาลูกฟักกระดานเจียด ลักษณะเหมือนฝาปะกน แต่มีลูกปะกนเจียดริมที่สี่ด้าน เผ้ลลงเข้าหาลูกตั้งและลูกคั่น คงปล่อยผิวหน้าตอนกลางให้เรียบตามเดิม
                          ๑๙. ฝาลูกฟัก  ลักษณะเหมือนฝาสายบัว แต่พื้นที่ระหว่างลูกตั้งกว้างกว่า ตัวลูกฟักเจียดเผ้ล หรือไม่เจียดก็ได้
                          ๒๐. ฝาสายบัว  ลักษณะเหมือนฝาปะกน แต่ช่วงกลางมีแต่ลูกตั้ง ไม่มีลูกนอนหรือลูกเซ็น
                          ๒๑. ฝาสำหรวด  ลักษณะเหมือนฝาสายบัว ที่มีลูกปะกนในช่องขนาบข้าง หน้าต่างทำด้วยไม้ไผ่ ฝาสำหรวดเท่ากันหลายอย่างสุดแต่จะทำกัน
                          ๒๒. ฝาแป้นหลั่ง  เป็นชื่อฝาเรือน ทางภาคเหนือซึ่งประกอบด้วยกระดานแผ่นใหญ่ เรียงตามตั้งตลอดทั้งฝา
                          ๒๓. ฝาตาก  เป็นชื่อฝาเรือนทางภาคเหนือแถบหนึ่ง ซึ่งแบะออกด้านบน จากเสาเอนไปตามแนวเท้าแขน ทั้งกระแบะ
                          ๒๔. ฝาแม่ม่าย  เป็นฝาเรือนด้านขนาน ซึ่งไม่มีบานประตู มีแต่กรอบเช็ดหน้า มีช่องประตูเปิดกว้างกว่าช่องประตูปกติ
                          ๒๕. ฝาเชี่ยน  เป็นฝาเรือนด้านขนานซึ่งไม่มีบานประตู และกรอบเช็ดหน้า มีแผ่นฝากว้างช่วงปะกนเดียว ด้านข้างปล่อยเป็นเสาลอย
                          ๒๖. ฝาทางจาก  ใช้จากทั้งทางฉีก ฉีกออกจากกันเป็นสองซีก นำมากรุเป็นฝา บางท้องที่เรียกว่า ขัดแตะมอญ
                          ๒๗. ฝาทางระกำ  ใช้ทางระกำ ซึ่งริดใบออกให้หมด เอามากรุเป็นลูกตั้ง ผูกติดกันให้มั่นกับไม้คร่าวฝา เรียงลำดับไปคล้ายลูกระนาด
                          ๒๘. ฝาหอยโข่ง  ทำด้วยไม้ไผ่กรุจากสำเร็จเป็นแผง ๆ
                          ๒๙. ฝาฟาก  ใช้ไม่ไผ่ทั้งลำ นำมาสับเป็นฟากแผ่ออกเป็นแผ่น นำมากรุทำเป็นฝาโดยลำดับ ผืนฟากตั้งขึ้นแล้วผูกติดกับไม้คร่าว ที่อยู่ด้านหลังในตัวเรือนกับมีไม้ขนาบหลังฟากที่อยู่ด้านนอก
                          ๓๐. ฝาเหลว  เป็นฝาเรือนเครื่องผูกแบบหนึ่งของพวกโซ่ง ทำด้วยซี่ไม้ไผ่ขัดเป็นตา รูปสี่เหลี่ยมขนาดกำปั่นลอดได้ ใช้กรุภายในตัวเรือน
                          ๓๑. ฝาสอด  มีโครงสร้างคล้ายฝาหอยโข่ง ต่างแต่ว่าใช้ใบตาลอ่อนสอดลงไปในช่อง ระหว่างลูกนายฝาแทนใบจาก เป็นฝาเรือนในชนบททางภาคใต้เป็นส่วนมาก
                          ๓๒. ฝาทางมะพร้าว  ลักษณะของแบบและการวิธีการกรุ โดยลำดับทางมะพร้าวเข้าเป็นฝา เหมือนกันกับฝาทางจาก
                ๓๗๓๕. ฝิ่น ๑  เป็นพืชล้มลุก มียางขาว ช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตจากเมล็ด จนเป็นต้นให้ดอกให้ผลและตาย ใช้เวลาประมาณหนึ่งปี ใบเป็นใบเดี่ยว ส่วนใหญ่เรียงตัวแบบสลับข้อละหนึ่งใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดใหญ่ ๕ - ๘ ซม. มีหลายสี เช่น ขาว ชมพู แดง และม่วง ผลค่อนข้างกลมปลายสอบเล็กน้อย เมล็ดเล็กมีจำนวนมากมาย มีสีต่าง ๆ กัน
                        ฝิ่น เริ่มปลูกครั้งแรกทางเมดิเตอเรเนียน แล้วจึงแพร่มาทางอิหร่าน อินเดีย จีน และตลอดเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากยางฝิ่นมีสารที่มีฤทธิ์เสพย์ติด จึงจัดว่าฝิ่นเป็นพืชเสพย์ติดตามกฎหมาย การปลูกฝิ่นและมีฝิ่นไว้ในครอบครอง จึงเป็นการผิดกฎหมาย มีองค์การควบคุมยาเสพย์ติด ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ ทำหน้าที่ควบคุมการปลูกฝิ่นของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ มีบางประเทศได้รับอนุมัติให้ปลูกฝิ่นได้ เช่น ตุรกี และยูโกสลาเวีย
                        ต้นฝิ่นที่ปลูกจากเมล็ด จะเริ่มออกดอกเมื่ออายุประมาณหกเดือน และเจริญเป็นผลอ่อนในระยะหนึ่งถึงสองเดือนต่อมา การกรีดยางฝิ่นต้องกรีดจากผลอ่อน น้ำยางที่กรีดออกมาทีแรกมีสีขาว เมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวขึ้น และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนเทา เรียกว่า ฝิ่นดิบ มีรสขม ในยางฝิ่นมีสารประกอบประเภทอัลคาลอยด์เกือบ ๒๕ ชนิด ที่สำคัญคือ มอร์ฟีน โคเดอีน และปาปาเวอรีน ซึ่งมีสรรพคุณในการเป็นยารักษาโรคถ้าใช้อย่างถูกต้อง มอร์ฟีน เป็นยาแก้ปวดที่ดีมาก และเป็นยานอนหลับ ปาปาเวอรีน เป็นยาแก้ปวดเมื่อย ทำให้กล้ามเนื้อคลาย ส่วนโคเคอีน ใช้ระงับอาการไอ แอลคาลอยด์ทั้งสามชนิดนี้ ต่างมีฤทธิ์เสพย์ติดแต่มอร์ฟีนมีฤทธิ์แรงที่สุด ผลของการเสพติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้มีอาการซึม ตาลาย การเห็นภาพต่าง ๆ ผิดปรกติ ระบบประสาทถูกทำลาย ขาดความรู้สึกตัว และอาจถึงแก่ความตาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา
                        เมล็ดฝิ่นไม่มีฤทธิ์เสพติด นำมาบดและใช้ประกอบอาหารอ่อนสำหรับเด็กและคนชรา เป็นอาหารที่มีประโยชน์เนื่องจากมีทั้งคาร์โบไฮเดรท โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ น้ำมันจากเมล็ดฝิ่นใช้ผสมสี ทำน้ำมันชักเงา หรือเติมไอโอดีนแล้วทำเป็นยารักษาโรคคอพอก
                ๓๗๓๖. ฝิ่น ๒  เป็นผลิตผลที่ได้จากต้นฝิ่น เมื่อกรีดผลอ่อนของต้นฝิ่น จะได้น้ำยางสีขาว ซึ่งจะกลายเป็นสีน้ำตาล เมื่อทิ้งให้แห้งแข็ง หากนำมาเคี้ยวจะได้สารข้นเหนียวหนืดสีน้ำตาล เรียกกันทั่วไปว่าฝิ่น นำไปใช้สูบได้ เป็นยาเสพติดอย่างแรง
                        ฝิ่นประกอบด้วยสารอินทรีย์ประเภทอัลคาลอยด์มากกว่า ๒๐ ชนิด ทั้งมีสารประเภทโปรตีน พืช น้ำตาล เกลือ สะเตียรอยด์พืชปนอยู่ด้วย
                        ปัจจุบันได้มีการนำมอร์ฟีนในฝิ่นมาใช้สังเคราะห์เฮโรอีน ซึ่งเป็นยาเสพติดอย่างแรง และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพ
                        ฝิ่นเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เช่นในรัชกาลที่สาม (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๔) โปรด ฯ ให้โรงพิมพ์หมอบรัดเล พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่น ๙,๐๐๐ ฉบับ
                        ชาวจีนรู้จักการทำยางจากต้นฝิ่น เป็นฝิ่นมาตั้งแต่โบราณกาล ต้นฝิ่นเป็นที่รู้จักกันในประเทศจีนมาเป็นเวลาอย่างน้อย ๑๒ ศตวรรษ ใช้ประโยชน์เป็นยามาเป็นเวลา ๙ ศตวรรษ และการปราบฝิ่นของจีนเป็นสาเหตุข้อหนึ่งที่จีนต้องทำสงครามฝิ่นกับอังกฤษ
                        การปลูกฝิ่นได้กระจายมาทางภาคใต้ของจีน สู่ภาคเหนือของไทยการค้าฝิ่น และการสูบฝิ่น ก็กระทำกันได้ตามสนธิสัญญาแบบเบาริง ที่ไทยได้ลงนามกับประเทศตะวันตกหลายประเทศในรัชกาลที่สี่
                        ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๗ ให้เลิกการเสพฝิ่น และยกเลิกการจำหน่ายฝิ่นทั่วราชอาณาจักร        ๒๐/ ๑๒๕๒๗
                ๓๗๓๗. ฝิ่นแคลิฟอร์เนีย  เป็นไม้ประดับชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับฝิ่น เป็นดอกไม้ประจำมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายฤดูกาล ต้นสูง ๓๐ - ๔๖ ซม. มีน้ำยางใส ๆ อยู่ในลำต้น ใบเดี่ยวสีเขียวอมเทาและมีนวล ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ - ๘ ซม. สีเหลืองอ่อนหรือสีส้ม ตรงโคนกลีบสีแดงเข้ม ดอกตูม ปลายแหลม ผลรูปร่างเรียวยาว ขนาดยาว ๘ - ๑๐.๕ ซม. ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชาวอินเดียแดงในรัฐแคลิฟอร์เนียใช้ใบบริโภคเป็นผัก โดยวิธีต้มหรือย่าง         ๒๐/ ๑๒๕๓๖
                ๓๗๓๘. ฝิ่นน้ำ  เป็นพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความสวยงามทั้งดอกและใบ เนื่องจากลักษณะดอกคล้ายฝิ่น จึงเรียกกันว่าฝิ่นน้ำ ลักษณะคล้ายบัวต้นเล็ก ๆ มีลำต้นทอดยาวไปตามน้ำ และแตกรากที่ข้อเป็นระยะ ๆ ใบส่วนใหญ่จะลอยน้ำ แผ่นใบรูปไข่ค่อนข้างกว้างหรือกลม ผิวใบด้านบนเกลี้ยง สีเขียวเป็นมัน ฐานใบเว้าคล้ายรูปหัวใจ ก้านใบยาว ใบและดอกเจริญออกมาจากข้อ ตรงซอกของแผ่นใบประดับ ดอกสีเหลืองสด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ ซม.        ๒๐/ ๑๒๕๓๗

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch