๓๗๐๘. แผนผัง หมายถึง รูปลายเส้นที่เขียนขึ้น เพื่อแสดงรูปร่างลักษณะขนาด ขอบเขต พร้อมรายละเอียดแห่งส่วนต่าง ๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รูปที่เรียกว่าเป็นแผนผัง จะต้องมีคุณลักษณะสำคัญ โดยเฉพาะในประการสำคัญสองประการ คือ
ประการแรก แผนผังต้องแสดงขอบเขตและขนาดด้วยมาตราส่วนหรือวัดตรวจสอบได้
ประการที่สอง แผนผังต้องเป็นรูปลายเส้นที่คมชัดเจนโดยแต่ละเส้นต้องมีขนาด และน้ำหนักเท่ากันทุกส่วนตลอดเส้น ๑๙/ ๑๒๓๘๐
๓๗๐๙. แผ้ว - เสือ เสือแผ้วเป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียกกันมานานแล้ว บางคนเรียกเสือไฟว่าเสือแผ้ว จัดเป็นเสือขนาดเล็กมีขนาดสูงเท่าสุนัขบ้าน แต่ขายาวกว่า มีสีขนตามลำตัวเป็นสีน้ำตาลแดง ไม่มีลาย นอกจากที่หน้าซึ่งมีลายดำ ๆ ขาว ๆ อย่างแมวป่าอื่น ๆ ปลายหางสีดำ ชอบจับสัตว์เล็ก ๆ ตามพื้นเดินกินเป็นอาหารตกลูกตามโพรงต้นไม้ที่ล้มอยู่กับพื้น ๑๙/ ๑๒๓๘๙
๓๗๑๐. ไผ่ เป็นพันธุ์ไม้จำพวกเดียวกับหญ้า เดิมนักพฤกษศาสตร์จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับหญ้า
ไม้ไผ่ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ในเขตร้อนในประเทศไทยมีอยู่ ๑๒ สกุล ๔๑ ชนิด ไผ่ขึ้นเป็นกอ ลำต้นส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า ส่วนที่พ้นดินตั้งตรง ลำต้นมักจะกลวงมีข้อ และปล้อง ผิวแข็ง
ไม้ไผ่มีประโยชน์ใช้สร้างที่พักอาศัยและทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้หลายอย่าง หน่ออ่อนเรียกว่าหน่อไม้ใช้เป็นอาหารบริโภค ๑๙/ ๑๒๓๘๙
ฝ
๓๗๑๑. ฝ. เป็นพยัญชนะตัวที่ ๒๙ ของพยัญชนะไทย นับเป็นพวกอักษรสูง เป็นตัวที่สี่ของวรรคที่ห้า ตั้งขึ้นเพื่อให้พอแก่การใช้สำเนียงในภาษาไทย เช่น ฝน ฝัน ใฝ่ และไม่มีใช้เป็นตัวสะกดในคำไทย จัดเป็นพวกอโฆษะ คือมีเสียงไม่พ้อง ๑๙/ ๑๒๓๙๑
๓๗๑๒. ฝน เป็นหยาดน้ำฟ้าชนิดหนึ่งที่รวมตัวกัน มีขนาดใหญ่ขึ้นจนมีน้ำหนักมากกว่าแรงต้านทานของกระแสอากาศที่ไหลขึ้น จึงตกลงมาเป็นเม็ดเล็ก ๆ ส่วนมากจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ มม.ขึ้นไป ตามธรรมดาเส้นผ่าศูนย์กลางของเม็ดฝนมีค่าประมาณ ๒ มม. ๑๙/ ๑๒๓๙๑
๓๗๑๓. ฝนแสนห่า เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง เป็นไม้เถาขนาดใหญ่ใบออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ รูปใบยาวรีปลายใบแหลม ดอกเล็กมาก ออกเป็นช่อตามซอกใบสีเหลืองอ่อนกลิ่นหอม ผลเล็กลูกกลมมีเมล็ดสองเมล็ด
ฝนแสนห่าเป็นพืชสมุนไพรใช้เป็นยาขับเหงื่อและแก้ไข้ทั้งปวง เนื้อไม้กินเป็นยาขับเหงื่ออย่างแรง กินแล้วทำให้รู้สึกหนาว ๑๙/ ๑๒๔๐๐
๓๗๑๔. ฝรั่ง ๑ - มัน อยู่ในวงศ์เดียวกับพริก มะเขือ มะเขือเทศ และยาสูบในประเทศไทยปลูกมานานตามภูเขาในภาคเหนือ
มันฝรั่งเป็นพืชล้มลุก ลำต้นสูง ๔๕ - ๗๕ ซม. ใบ เป็นใบประกอบลักษณะรูปรี ปลายแหลม ดอก มีกลีบดอกห้ากลีบ ภายในมีเกสรตัวผู้ห้าอัน เกสรตัวเมียหนึ่งอัน สีของดอกขึ้นอยู่กับพันธุ์ หัวมันฝรั่งเกิดจากลำต้นใต้ดินขยายใหญ่ขึ้น มันฝรั่งมีตาเกิดบนหัวใช้ขยายพันธุ์ได้ ๑๙/ ๑๒๔๐๐
๓๗๑๕. ฝรั่ง ๒ - ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง ๓ - ๘ เมตร มักแตกกิ่งก้านสาขามาก เนื้อไม้เหนียว ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามกันมีกลิ่นฉุน ดอกออกเดี่ยวหรือเป็นช่อสั้น ๆ ๒ - ๓ ดอก ตามง่ามใบ ผลกลมรูปไข่กลาย ๆ เนื้อนุ่มสีขาว รสหวานอมเปรี้ยว ๑๙/ ๑๒๔๐๑
๓๗๑๖. ฝรั่ง ๓ เป็นคำที่คนไทยมักเรียกชนต่างชาติผิวขาวที่มาจากทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และออสเตรเลียว่า "ฝรั่ง" มีบทนิยามว่า "ชนชาติผิวขาว, ชื่อไม้ต้นชนิดหนึ่งผลกินได้, เป็นคำประกอบชื่อของสิ่งของบางอย่างที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะคล้ายของไทย เช่น ขนมฝรั่ง ละมุดฝรั่ง มันฝรั่ง ผักบุ้งฝรั่ง แตงฝรั่ง ชื่อเพลงพวกหนึ่งขึ้นต้นด้วยคำฝรั่ง เช่น ฝรั่งดวง ฝรั่งรำเท้า..." ๑๙/ ๑๒๔๐๓
๓๗๑๗. ฝรั่งมังฆ้อง ๑ ในแง่ของวรรณคดีเป็นพระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์หนึ่ง ปรากฏพระนามในพงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้แปลและเรียบเรียงขึ้น เป็นกษัตริย์คู่สงครามกับกษัตริย์มอญ คือ พวกเจ้าราชาธิราช ตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองอังวะ เป็นราชบุตรของพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา
หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าราชาธิราชได้สองปี พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๕ พระราชบุตรชื่อมังสูสีขึ้นครองราชย์ต่อมาทรงพระนามว่า พระเจ้าฝรั่งมังศรี ๑๙/ ๑๒๔๐๙
๓๗๑๘. ฝรั่งมังฆ้อง ๒ ในแง่ประวัติศาสตร์เป็นกษัตริย์พม่าที่ได้ทำสงครามกับพระเจ้าราชาธิราชแห่งอาณาจักรมอญหรือหงสาวดี
ตามหนังสือประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศาสตราจารย์ ดี.ยี.อี ฮอลล์ ว่ามีกษัตริย์พม่าที่ครองกรุงอังวะทรงพระนามว่า พระเจ้ามังฆ้องสองพระองค์ องค์แรกครองกรุงอังวะ พ.ศ.๑๙๔๔ - ๑๙๖๕ องค์ที่สองครองราชย์ พ.ศ.๒๐๒๔ - ๒๐๔๕ ๑๙/ ๑๒๔๑๒
๓๗๑๙. ฝรั่งเศส เป็นสาธารณรัฐตั้งอยู่ในภาคตะวันตกของทวีปยุโรปด้านเหนือ ติดกับช่องแคบอังกฤษทางตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับเบลเยี่ยม และลักเซมเบอร์กทางตะวันออก ติดต่อกับประเทศเยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี ทางด้านใต้ติดกับทะเลเมดิเตอเรเนียน ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ติดกับสเปน และทางด้านตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก มีพื้นที่ ๕๔๓,๙๖๕ ตารางกม.
ชาวฝรั่งเศสเป็นชนผิวขาวเผ่าคอเคซอยด์ กลุ่มแอลไพน์ และบางส่วน โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส เป็นกลุ่มเมดิเตอเรเนียน ส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก
คนไทยรู้จักชาวฝรั่งเศสในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) ในปี พ.ศ.๒๒๐๕ บาทหลวงเดอ ลามอตต์ลัง แบรต์ บิชอบ แห่งเบริตได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา และได้ตั้งศูนย์คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก หรือศาสนาคริสตัง โดยอาศัยคณะบาทหลวงของบิชอบผู้นี้เป็นสื่อกลาง กรุงศรีอยุธยาได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์ ฯ โปรดให้แต่งคณะทูตไทยรวมสี่ครั้งไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๘๖ - ๒๒๕๘ ฝ่ายพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ทรงแต่งตั้งทูตมาเจริญทางราชไมตรี บาทหลวงของฝรั่งเศสได้เผยแพร่ศาสนาของตนสืบต่อมา ถึงสมัยรัตรโกสินทร์
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ได้ฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ โดยมี นายเดอ มองติญยี เป็นราชทูตฝรั่งเศส มาลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์ และการเดินเรือกับประเทศไทยซึ่งเป็นสนธิสัญญาแบบเบาริง สนธิสัญญาฉบับนี้ได้รับการแก้ไข เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ ปัจจุบันไทยกับฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ตามสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์ และการเดินเรือ พ.ศง๒๔๘๐ ซึ่งมีลักษณะเป็นสนธิสัญญาเสมอภาค
ฝรั่งเศสได้มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับตั้งแต่พระเจ้าฮุกส์คาเปต์ ทรงตั้งราชวงศ์ครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศส ระหว่างปี พ.ศ.๑๕๓๐ - ๑๕๓๙ ซึ่งมีอาณาเขตแดนระหว่างเซน กับแม่น้ำลัวร์ โดยอาศัยกรุงปารีสและเมืองออร์เลียงส์ เป็นศูนย์กลางสืบต่อมา จนถึงรัชสมัยพระเจ้าฟิลิปที่หนึ่ง (พ.ศ.๑๖๐๓ - ๑๖๕๑) พระราชอำนาจของกษัตริย์ได้แผ่ออกไปทั่วทั้งราชอาณาจักร โดยได้อาศัยรัฐสภาเป็นกำลังสำคัญของพระองค์ พระเจ้าฟิลิปที่สี่ (พ.ศ.๑๘๒๘ - ๑๘๕๑) ทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๑๘๔๕ สมาชิกประกอบด้วย ผู้แทนคณะบาทหลวง ผู้แทนขุนนาง และผู้แทนสามัญชน
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ลัวส์ (พ.ศ.๑๘๗๑ - ๒๐๔๑) ได้ขับไล่อังกฤษให้สละดินแดนทั้งหมดในฝรั่งเศส เนื่องจากได้ชัยชนะในการสงครามร้อยปี (พ.ศ.๑๘๘๑ - ๑๙๙๘) ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๓๑ ราชวงศ์บูร์บองได้ครองฝรั่งเศส มีพระเจ้าอังรีที่สี่ เป็นปฐมกษัตริย์ มีการสืบสันตติวงศ์ต่อมาได้แก่ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ (พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๘๖) พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๑๘๖ - ๒๒๕๘) พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ (พ.ศ.๒๒๕๘ - ๒๓๑๗) และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (พ.ศ.๒๓๑๗ - ๒๓๓๕) ซึ่งประสบเคราะห์กรรมถูกพวกก่อการปฎิวัติครั้งใหญ่ จับไปสำเร็จโทษในกรุงปารีส
พวกปฎิวัติได้ประกาศตั้งฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐครั้งที่หนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๓๓๕ แต่พระเจ้านโปเลียนที่หนึ่ง แห่งราชวงศ์โบนาปาร์ต ทรงฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตย ตั้งฝรั่งเศสเป็นจักรวรรดิ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๗ ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๓๕๗ พระเจ้านโปเลียนพ่ายแพ้หมดอำนาจในการสงครามกับฝ่ายสหพันธมิตร ซึ่งมีอังกฤษ ปรุสเซีย ออสเตรีย และรุสเซีย เป็นกำลังส่วนใหญ่ เจ้านายแห่งราชวงศ์บูร์บอง กลับมาครองฝรั่งเศสอีกครั้ง ภายใต้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (พ.ศ.๒๓๕๗ - ๒๓๖๗) พระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๗๑) และพระเจ้าหลุยส์ฟิลิป (พ.ศ.๒๓๗๓ - ๒๓๙๑) ล้วนแต่เป็นกษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ
ราชวงศ์บูร์บอง สิ้นสุดลงเมื่อเกิดการปฎิวัติในปี พ.ศ.๒๓๙๑ มีผลให้ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐครั้งที่สอง อยู่ได้เพียงสี่ปี (พ.ศ.๒๓๙๑ - ๒๓๙๕) แล้ว เจ้าชายหลุยส์นโปเลียน เมื่อครั้งเป็นประธานาธิบดี ได้เปลี่ยนฐานะฝรั่งเศสเป็นจักรวรรดิ์ครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.๒๓๙๕ แต่ก็ต้องสลายตัวลงด้วยความปราชัยของพระเจ้านโปเลียนที่สาม ในการสงครามกับประเทศปรุสเซีย ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ ปรุสเซียได้กลายเป็นจักรวรรดิ์เยอรมัน ส่วนประเทศฝรั่งเศสได้เปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐครั้งที่สาม ในปี พ.ศ.๒๔๑๔
สาธารณรัฐฝรั่งเศสครั้งที่สาม มอบอำนาจนิติบัญญัติให้แก่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อำนาจบริหารมอบให้แก่ประธานาธิบดี โดยมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้ ฝรั่งเศสขณะนั้นเป็นมหาอำนาจ ได้ชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ในระยะแรกของสงคราม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ และต่อมาได้ขยายตัวเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสยอมจำนนต่อเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ กองทัพเยอรมันได้ยึดครองภาคเหนือ และภาคตะวันตกของฝรั่งเศส จอมพล อังรี ฟิลิปป์ เปแดง ประมุขฝรั่งเศสจัดตั้งรัฐบาล ณ เมืองวิชี และนายพล ชาร์ล เดอโกล จัดตั้งขบวนการฝรั่งเศสเสรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๗ กรุงปารีสได้กลับมาอยู่ใต้การปกครองของคณะบริหารของ นายพล เดอโกล
รัฐบาลฝรั่งเศสของ นายพล ชาร์ล เดอโกล ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญตั้งฝรั่งเศส เป็นสาธารณรัฐครั้งที่สี่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ และใช้ต่อมาถึงปี พ.ศ.๒๕๐๑ จึงได้มีการเสนอรัฐธรรมนูญแบบประธานาธิบดี ให้ราษฎรออกเสียงลงประชามติ มีผลทำให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนมาเป็นสาธารณรัฐครั้งที่ห้า ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๑ มาจนถึงปัจจุบัน ๑๙/ ๑๒๔๑๗
๓๗๒๐. ฝอยทอง ๑ เป็นไม้เลื้อยพวกกาฝาก ลำต้นเป็นเส้นกลมเล็ก ๆ สีเหลืองคล้ายฝอยทอง เลื้อยพาดพันอยู่บนพืชอื่นเป็นกลุ่ม ๆ ไม่มีใบ ส่วนที่เป็นรากเห็นเป็นปุ่มเล็ก ๆ ฝังลงไปในลำต้นของพืชที่ขึ้นอยู่ เพื่อดูดน้ำและอาหาร ดอกเล็กออกเป็นช่อสีขาว ผลรูปกลม ๑๙/ ๑๒๔๒๗
๓๗๒๑. ฝอยทอง ๒ เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง ที่ชาวโปร์ตุเกสสมัยอยุธยาได้ประดิษฐขึ้นทำด้วยไข่ กับน้ำตาลทรายผสมกันตีจนได้ที่แล้ว นำมาโรยน้ำเชื่อมที่ละลายแล้ว ตั้งไฟให้เดือดจนสุดท้ายได้เป็นขนมมีเส้นสีเหลือง ๑๙/ ๑๒๔๒๘
๓๗๒๒. ฝักแค เป็นสายชนวนกลมหรือแบน มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน ๑ ซม. ความยาวแล้วแต่ที่ต้องการ ทำด้วยกระดาษสาหรือกระดาษข่อย นำมาห่อหุ้มถ่านผสมอย่างเดียวกับดินปืน เมื่อถูกไฟจะเกิดแรงอัดดัน ทำให้ระเบิดเป็นไฟลุกพรึบขึ้น วิ่งไปตามสายจึงเรียกว่า สายฝักแค ใช้เป็นชนวนในการจุดดอกไม้เพลิงต่าง ๆ
การทำฝักแค ใช้ในราชการนั้น แต่เดิมเป็นหน้าที่การงานอยู่ในพวกช่างสิบหมู่ ต่อมาในรัชกาลที่ห้าได้มีการปรับปรุงราชการกระทรวงทบวงกรม บางหน่วยในกรมช่างสิบหมู่ ก็หมดหน้าที่ไป พวกที่มีฝีมือในการทำดอกไม้ไฟได้ไปประกอบอาชีพทำดอกไม้ไฟต่าง ๆ จำหน่ายที่เรียกว่า ตำบลบ้านดอกไม้ (ไฟ) ใกล้วัดสระเกศ แถวบริเวณฝั่งคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพ ฯ
ส่วนมากการจุดดอกไม้เพลิง จะมีในงานฉลองสมโภชหรือจุดถวายเป็นพุทธบูชา และในการฌาปนกิจศพ ชนวนฝักแคใช้เป็นสายชนวน ล่ามติดต่อจากพุ่มดอกไม้เพลิง
ถ้าการจุดดอกไม้เพลิงเป็นพระราชพิธีของหลวง คันชนวนดังกล่าวนี้เรียกว่า คันทรง ตอนต้นที่ทรงถือหุ้มผ้าขาว ในการเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ผู้ที่มิได้มีฐานะเป็นพระราชวงศ์ แต่ได้รับหีบทองหรือโกศแปดเหลี่ยมประกอบศพ จะทรงจุดฝักแคซึ่งเป็นสายชนวนล่ามโยงมาจากเชื้อขนวนเพลิงที่วางไว้ที่กองพื้นฐานเผา หรือจิตกาธานที่ตั้งรองรับหีบโกศศพ โดยตั้งเสาฐานติดตัวพญานาค และเชื้อชนวนอุดอยู่ในปากพญานาค ห่างจากตัวเมรุ ๒๐ - ๓๐ เมตร
๓๗๒๓. ฝักบัว ๑ - ฝี เป็นฝีที่เกิดจากการอักเสบของรูขุมขน แล้วลุกลามลงไปในชั้นใต้ผิวหนัง เกิดเป็นหนองคั่งอยู่ในชั้นใต้ผิวหนัง กินอาณาเขตกว้างขวาง ผิวหนังที่คลุมข้างบนจะเปื่อยยุ่ย ทำให้แตก หนองทะลุผ่านผิวหนังออกมาหลาย ๆ รู แต่ละรูจะมีหนองสีเขียวหรือเหลืองปนเลือดไหลออกมาคลุมอยู่ ทำให้เห็นลักษณะของฝีชนิดนี้เหมือนกับฝักบัว ๑๙/ ๑๒๔๓๑
๓๗๒๔. ฝักบัว ๒ เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเจ้าและน้ำตาล ทอดในน้ำมันร้อน ๆ มีลักษณะเป็นแผ่นแบนยาวและกลม ตรงกลางขนมจะนูนและนุ่ม ตรงริมมีขอบขึ้นเล็กน้อย ลักษณะคล้ายฝักบัว
ขนมฝักบัว เป็นขนมหวานของคนไทยทุกภาค โดยเฉพาะภาคใต้ใช้ขนมฝักบัวนี้ในงานประเพณีทำบุญเดือนสิบ ซึ่งถือว่าเป็นขนมที่นิยมของบรรพบุรุษแต่โบราณ ๑๙/ ๑๒๔๓๒
๓๗๒๕. ฝัน มีบทนิยามว่า "การเห็นเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อหลับ โดยปริยายหมายถึงการนึกเห็นในขณะที่ตื่นอยู่ ซึ่งไม่อาจเป็นจริงได้ เห็นเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อหลับ, นึกเห็น, นึกเห็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้"
ความฝันคือ เรื่องหรือภาพหรือนิมิต ซึ่งได้ปรากฎเห็นในเวลาหลับและปรากฎแก่ใจหรือจิตโดยตรง กล่าววอีกนัยหนึ่งคือกิริยาที่คนหยั่งลงสู่ความหลับ แล้วเห็นภาพที่มาปรากฎทางใจ ๑๙/ ๑๒๔๓๓
๓๗๒๖. ฝากบำเรอ คำนี้มีปรากฎอยู่ในกฎหมายเก่าลักษณะผัวเมียคู่กับคำหลบฝาก"
จากข้อความตามกฎหมายเก่าลักษณะผัวเมียนี้เป็นเรื่องรับใช้งานคือชายสู่ขอหญิงแล้วก็ดี หรือไม่ได้สู่ขอก็ดี ชายเข้าไปอาสารับใช้การงานในบ้านหญิงเรียกว่า หลบฝาก ถ้าชายหญิงได้เสียกันเองในระหว่างที่ชายเข้าไปอาสารับใช้การงานในบ้านผู้ปกครองอย่างนี้เรียกว่า ฝากบำเรอ ๑๙/ ๑๒๔๔๐
๓๗๒๗. ฝาง ๑ อำเภอขึ้น จ.เชียงใหม่ มีอาณาเขตทางทิศตะวันตกจดประเทศพม่า มีทิวเขาแดนลาวเป็นเขาปันเขตแดน ภูมิประเทศมีภูเขาล้อมทั้งสี่ด้าน มีที่ราบอยู่ตอนกลาง เหมาะแก่การทำนา ส่วนที่เป็นภูเขามีประโยชน์ในการทำป่าขอนสัก ในอำเภอนี้มีบ่อน้ำมัน ซึ่งสำรวจแล้วว่าเป็นน้ำมันขี้โล้ กลั่นเป็นน้ำมันเบนซินได้
อ.ฝาง เคยเป็นเมือง แล้วยุบเป็น อ.เมืองฝาง ขึ้น จ.เชียงราย แล้วโอนไปขึ้น จ.เชียงใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ฝาง ๑๙/ ๑๒๔๔๔
๓๗๒๘. ฝาง ๒ เป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เป็นไม้ต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่ม มักจะสูงไม่เกิน ๑๐ เมตร มีหนามแหลมแข็งโค้งอยู่ทั่วไป ตามลำต้นและกิ่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ผลเป็นฝักแบนรูปขอบขนานเนื้อไม้สีเหลืองส้ม แข็ง ละเอียด ปานกลาง ตกแต่งชักเงาได้ดี ใช้ทำเครื่องเรือนได้ แก่นไม้ฝางมีสารสีแดง ใช้เป็นสีใส่อาหาร เครื่องดื่มและยา เพื่อให้มีสีแดง เช่น ยาอุทัย และยังใช้เป็นสีย้อมผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ต่าง ๆ เนื้อไม้ยังใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคเกิดจากเสมหะดี โลหิตออกทางทวารหนักและทวารเบา ขับหนอง เป็นยาบำรุงโลหิตสตรี และเป็นยาขับฤดูอย่างแรง ๑๙/ ๑๒๔๔๔
๓๗๒๙. ฝาด ๑ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ขึ้นอยู่ตามป่าเลนน้ำเค็ม ฝาดแดงมีรากช่วยในการค้ำจุนลำต้น และแลกเปลี่ยนแก๊ส โผล่ขึ้นมาพ้นที่เลน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับรอบกิ่งแบบบันไดเวียน ดอกเล็กสีแดง ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง ผลรูปยาว
ฝาดขาวไม่มีรากเหมือนฝาดแดง ดอกสีขาวออกเป็นช่อสั้น ๆ ที่ซอกใบ ๑๙/ ๑๒๔๔๖
๓๗๓๐. ฝาด ๒ เป็นรสหนึ่งในหลายรส รสฝาดในทางการแพทย์มักหมายถึง รสอันเกิดจากแทนนิน ซึ่งเป็นแก่นยา หรือสารสำคัญได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืช ใช้เป็นยาห้ามเลือด เฉพาะในการแต่งแผลไฟไหม้ ใช้เป็นยาแก้พิษในรายท้องเดิน และรายที่มีการอักเสบของลำไส้อย่างเรื้อรัง (ดูแทนนิน - ลำดับที่ ...ประกอบด้วย)
ทางการแพทย์แผนโบราณ มีการใช้รสฝาด เพื่อจุดปรนะสงค์หลายประการคือ
๑. ใช้เพื่อต้องการฤทธิ์สมานแผล
๒. ใช้เป็นยาดิบพิษและใช้แก้ไข้
๓. ใช้เป็นยาหอม ยาชูกำลัง
๔. ใช้ช่วยในทางธาตุ
๕. ใช้เป็นยาแก้ในทางปัสสาวะ
๖. ใช้เป็นยาระบาย ยาถ่าย
๗. ใช้เป็นยาที่แก้ในทางโลหิตและน้ำเหลือง
๘. ใช้เป็นยาเบ็ดเตล็ด ๑๙/ ๑๒๔๔๘
๓๗๓๑. ฝาแฝด (ดูแฝด ๑ - ลำดับที่ ...) ๑๙/ ๑๒๔๕๐
๓๗๓๒. ฝาย เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับทดน้ำ ในทางน้ำซึ่งมียอดน้ำของตัวเอง เพื่อส่งไปใช้เพาะปลูกในโครงการเหมือง ฝาย ซึ่งเป็นชื่อมาแต่เดิมในภาคเหนือ ปัจจุบันมีชื่อว่า "โครงการทดและส่งน้ำ"
งานในโครงการทดและส่งน้ำ แบ่งออกได้เป็นสองส่วนคือ หัวงานกับระบบการส่งน้ำ
หัวงาน คือ สิ่งที่สร้างกั้นทางน้ำ สำหรับทดน้ำ เวลาที่มีน้ำมาน้อย ระดับน้ำต่ำให้สูงขึ้นเท่าที่ต้องการ เพื่อที่จะส่งน้ำไปสู่พื้นดินได้เร็วขึ้นได้แก่ เขื่อนทดน้ำ หรือฝาย และหมายรวมถึง
สิ่งสร้างขึ้นเพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะส่งเข้าคลองส่งน้ ซึ่งภาคเหนือเรียก เหมือง ได้แก่ ประตูปากคลองส่งน้ำสายใหญ่
ระบบการส่งน้ำ คือ งานที่นำน้ำไปส่งให้พื้นที่เพาะปลูกในโครงการ ได้แก่ คลองส่งน้ำ คลองส่งน้ำที่ขุดน้ำจากเหนือเขื่อนทดน้ำเรียก คลองส่งน้ำสายใหญ่ หรือเหมืองสายใหญ่ กับอาจมีคลองซอย และคลองแยกซอย และมีสิ่งก่อสร้าง เพื่อควบคุมน้ำ ตามคลองส่งน้ำตักผ่านทางน้ำสายอื่น และทางคมนาคม ตลอดจนมีคูน้ำจากคลองส่งน้ำ เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกต่อไป
ฝายแตกต่างกับเขื่อนทดน้ำคือ ฝาย เป็นทำนบเตี้ย ๆ สูงเท่ากับระดับน้ำที่ต้องการทดขึ้น ซึ่งเรียกว่า ระดับน้ำเก็บกัก ไม่มีช่องระบายปิด เปิดเป็นสิ่งขัดขวางทางน้ำอย่างถาวร โดยให้น้ำที่เหลือจากความต้องการท้นขึ้น แล้วไหลข้ามลินฝายไป ส่วนเขื่อนทดน้ำมีช่องระบายปิดเปิดให้น้ำไหลผ่านไปได้
โครงการเหมืองฝายนี้ คนไทยในภาคเหนือได้จัดสร้างขึ้นใช้มานานแล้ว ปรากฎว่าในรัชสมัยพ่อขุนเม็งราย ฯ มีอำนาจในลุ่มน้ำปิงนั้น กิจการนี้ได้เจริญแพร่หลายแล้ว ถึงกับมีกล่าวไว้ในมังรายศาสตร์ ซึ่งตราขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๙ เช่น "ทำฝายเอาน้ำใส่นา" ๑๙/ ๑๒๔๕๐
๓๗๓๓. ฝ้าย เป็นไม้ยืนต้น หรือไม่ล้มลุก ซึ่งแตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่ม สูงประมาณ ๐.๖ - ๓.๐ เมตร ใบเดี่ยว ขอบใบหยักเว้า เป็นแฉกตื้น ๆ ๓ - ๕ แฉก ดอกคล้ายดอกชบา สีเหลืองซีด หรือเหลืองเข้ม ผลฝ้ายเรียกว่า สมอฝ้าย มี ๓ - ๕ พู เมื่อแก่จะแตกภายในมีเมล็ดสีดำ ซึ่งมีเส้นใยสีขาวเป็นปุย ปกคลุมทั้งเมล็ด
ฝ้าย เจริญเติบโตได้ทั้งในดินที่ค่อนข้างเป็นกรด จนถึงดินที่เป็นด่างอ่อนๆ ชอบที่ดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินเหนียวปนทราย และระบายน้ำได้ดี ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ต้นที่ปลูกจากเมล็ด จะเก็บผลจริงได้ใน ๑๑๐ - ๑๒๐ วัน โดยเก็บเมื่อสมอแตก ปุยฟูเต็มที่แล้วนำไปผึ่งให้แห้งสนิท แล้วนำไปหีบแยกปุยฝ้ายออกจากเมล็ด เส้นใยที่ได้มีสองชนิดคือ เส้นใยยาวใช้ทำด้วยและผ้า ส่วนเส้นใยสั้น ๆ นำไปใช้ทำผ้าห่ม พรม และเบาะ เส้นใยยาวที่นำไปหีบ จะนำไปอัดให้แน่นเป็นลูก เรียกว่า เบลฝ้าย โดยใช้เครื่องอัดเบล ฝ้ายที่อัดเป็นเบล สำหรับส่งขายต่างประเทศ จะมีน้ำหนัก ๒๒๓.๓ กก. ( ๕๐๐ ปอนด์) รวมทั้งน้ำหนักผ้าหุ้มและเหล็กรีดเบล ด้วย
เมล็ดฝ้าย นำมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันพืช โดยสกัดได้น้ำมันเมล็ดฝ้าย ซึ่งเมื่อผ่านการสกัดใสแล้ว จะมีสีเหลืองอ่อน ๆ ไม่มีกลิ่น มีกรดไขมัน ไม่อิ่มตัว ร้อยละ ๖๖ - ๘๐ และกรดไขมันอิ่มตัวร้อยละ ๑๙ - ๓๓ น้ำมันชนิดนี้มีคุณภาพดี ใช้เป็นน้ำมันประกอบอาหาร น้ำมันสกัดเนยเทียม และสบู่ กากที่เหลือเมื่อสกัดสารพิษออกแล้ว ใช้เป็นอาหารสัตว์และทำปุ๋ย ๑๙/ ๑๒๔๖๕