หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/97

    ๓๖๕๒. ผลิตกรรม  หมายถึง กระบวนการของกิจกรรม ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดสินค้าเศรษฐกิจ โดยการใช้ปัจจัยการผลิต เพื่อบำบัดความต้องการของมนุษย์
                        ความหมายของผลิตกรรมสำหรับการจัดองค์กรทางธุรกิจ อาจจะใช้ในความหมายที่แคบกว่าในทางเศรษฐศาสตร์ อาจจะหมายถึงเฉพาะการผลิตที่เกี่ยวกับกสารเปลี่ยนรรูปสินค้าและบริการเท่านั้น      ๑๙/ ๑๒๑๙๓
                ๓๖๕๓. ผลึก ๑ - แก้ว  ๑. แร่ควอตซ์ หรือหินเขี้ยวหนุมานที่มีลักษณะเป็นแท่งผลึกรูปหกเหลี่ยม บางครั้งอาจพบปลายแหลมทั้งสองข้าง
                        ๒. ก. แก้วเจียระไน แก้วที่มีคุณสมบัติพิเศษ และมีการเจียระไนเป็นเหลี่ยมมุมแบบผลึก ใช้ทำเครื่องประดับ หรือเครื่องใช้
                           ข. ความใสแบบแก้วหรือกระจก ซึ่งแร่หลายชนิดมีคุณสมบัติดังกล่าวได้
                        ๓. แก้วหรือกระจกใส ที่ใช้ปิดหน้าปัดนาฬิกาข้อมือหรือนาฬิกาทั่ว ๆ ไป
                        ๔. สารแข็งที่มีลักษณะเป็นรูปทรงเรขาคณิต หรือมีสมมาตร
                        ๕. วัตถุที่เกิดโดยการแข็งตัวในสภาวะที่เหมาะสมของธาตุทางเคมี เป็นสารประกอบและของผสม ที่มีเนื้อเดียวกันและมีการจัดตัวภายในอะตอมที่เป็นระเบียบซ้ำ ๆ กัน จนทำให้วัตถุนั้นมีผิวหน้าต่าง ๆ เป็นระนาบเรียบ ให้เห็นได้จากภายนอก
                        ๖. วัตถุที่มีเนื้อใสเหมือนน้ำสะอาด มีลักษณะเป็นผลึกโปร่งใส ไม่มีสี         ๑๙/ ๑๒๒๐๑
                ๓๖๕๔. ผลึก ๒  เป็นชื่อเมืองในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ เดิมเมืองผลึกมีสัมพันธภาพกับเมืองลังกา เพราะนางสุวรรณมาลีธิดาท้าวสิลราช ผู้ครองเมืองผลึกเป็นคู่หมั้นของอุศเรน โอรสของเจ้าลังกา แต่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่ได้สมรสกัน และสัมพันธภาพระหว่างเมืองทั้งสองได้สิ้นสุดลง เมื่อพระอภัยมณีได้เป็นกษัตริย์ครองเมืองผลึกสืบต่อจากท้าวสิลราช และได้นางสุวรรณมาลีเป็นมเหสี
                        เมื่อพระอภัยมณีออกผนวชที่เขาสิงคุตร สินสมุทรโอรสพระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร ก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่สืบต่อมา        ๑๙/ ๑๓๒๐๕
                ๓๖๕๕. ผัก ๑  เป็นคำทั่วไปที่ใช้เรียกพืชบางชนิด ส่วนมากมีขนาดใหญ่ บางชนิดอาจบริโภคเป็นอาหารเช่น ผักกาด ผักคะน้า ผักบุ้ง บางชนิดอาจใช้เป็นสมุนไพรได้ด้วยเช่น ผักแพ้วและผักปรังเป็นต้น ผักบางชนิดเป็นวัชพืชเช่น ผักเบี้ย ผักโจมหิน ผักปราบ เป็นต้น        ๑๙/ ๑๒๒๐๗
                ๓๖๕๖. ผัก ๒  พืชบางชนิดที่นำมาใช้บริโภคเป็นอาหารประเภทให้วิตามิน และเกลือแร่เป็นสำคัญ บางทีเรียกพืชผักอาจใช้ใบดอก ผล ลำต้น ราก หรือใช้ทั้งหมดก็ได้        ๑๙/ ๑๒๒๐๘
                ๓๖๕๗. ผักชี  (ดูชี ๒ - ลำดับที่ ๑๗๕๐)        ๑๙/ ๑๒๒๐๘
                ๓๖๕๘. ผักตบ  เป็นพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์เช่นเดียวกับผักตบชวา มีส่วนที่คล้ายกันตรงที่เป็นกก เป็นกอในน้ำจืดเท่านั้น
                        ผักตบมีเหตุที่เจริญดี และแตกแขนงได้ฝังอยู่ใต้ดิน ใบรูปร่างคล้ายหัวลูกศร แต่ค่อนข้างกว้าง ก้านใบยาว ไม่โป่งพองเป็นกระเปาะเหมือนผักตบชวา ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตรงกลาง ๆ ก้านใบ มีใบประดับสีเขียวเป็นกาบหุ้มอยู่ ดอกสีน้ำเงินหรือสีฟ้าแกมน้ำเงิน        ๑๙/ ๑๒๒๐๘
                ๓๖๕๙. ผักตบชวา  เป็นพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ อายุหลายฤดู ต้นสูง ๑๐ - ๑๕ ซม. แตกหน่อใหม่อย่างรวดเร็ว รากฝอยออกเป็นกระจุกตรงโคนต้น แตกแขนงมากมาย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนเป็นเกลียวรอบต้น แผ่นใบรูปร่างค่อนข้างกลม กว้าง ๕ - ๑๕ ซม. และยาวใกล้เคียงกัน ดอกออกเป็นช่อ ที่ยอดช่อละ ๕ - ๑๐ ดอก สีม่วง           ๑๙/ ๑๒๒๐๘
                ๓๖๖๐.  ผักบุ้งฝรั่ง  เป็นไม้ประดับชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นกึ่งไม้พุ่มและไม้เลื้อย ต้นโตเต็มที่สุดได้ถึง ๓ เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ หรือรูปหัวใจ ขนาดกว้าว ๔ - ๑๗ ซม. ยาว ๖ - ๒๕ ซม. ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด และตรงซอกใบลักษณะคล้ายดอกผักบุ้ง แต่มีขนาดใหญ่กว่า สีชมพูอ่อนเกือบขาว ผลรูปไข่ สีน้ำตาลอ่อน        ๑๙/ ๑๒๒๑๐
                ๓๖๖๑. ผักไห่  อำเภอ ขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ทำนาเป็นพื้น อำเภอนี้มีปลาชุม มีชื่อว่าเป็นปลาดี
                        อ.ผักไห่ สมัยอยุธยาแบ่งการปกครองออกเป็นแขวง ๆ ผักไห่ เป็นแขวงหนึ่งเรียกว่า แขวงขุนเสนา สมัยรัตนโกสินทร์เปลี่ยนเป็นแขวงเสนา ต่อมาในรัชกาลที่สาม ได้แยกออกเป็นแขวงเสนาใหญ่ และแขวงเสนาน้อย ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ แยกแขวงเสนาใหญ่ตอนเหนือเป็น อ.เสนาใหญ่ ตอนใต้เป็น อ.เสนากลาง และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ผักไห่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙        ๑๙/ ๑๒๒๑๑
                ๓๖๖๒. ผัน - บัว  เป็นชื่อบัวชนิดหนึ่งใบ และดอกคล้ายบัวสาย แต่ดอกเล็กกว่า มีสีม่วงครามอ่อน ดอกบานตอนกลางวัน         ๑๙/ ๑๒๒๑๒
                ๓๖๖๓. ผ้า  มีบทนิยามว่า "วัสดุที่เกิดจากการใช้เส้นใย และ / หรือ เส้นด้ายมาทำเป็นผืนไม่กำหนดขนาด โดยการทอ ถัก อัด และอื่น ๆ ซึ่งมีความหนาและเหนียวพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้"
                        ผ้ามีมากมายหลายชนิด และมีการเรียกชื่อของผ้าต่าง ๆ นานา เช่น จำแนกตามชนิดของเส้นใยที่ใช้ทำ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าลินิน ผ้าขนสัตว์ ฯลฯ จำแนกตามกรรมวิธีที่ทำ ได้แก่ ผ้าทอ ผ้าถัก ผ้าอัด ผ้าย้อม ผ้าพิมพ์ ฯลฯ จำแนกตามแหล่งที่ทำผ้า  ได้แก่ ผ้าป่านสวิส ผ้าเกาะยอ ผ้าแพรจีน ผ้าพุมเรียง ฯลฯ จำแนกตามประเภทการใช้งาน ได้แก่ ผ้าตัดเสื้อ ผ้าห่ม ผ้าม่าน ผ้ามุ้ง ผ้าเตนท์ ฯลฯ จำแนกตามลักษณะของเนื้อผ้า สีสันและลวดลาย ได้แก่ ผ้าลายสอง ผ้าขาว ผ้าหนังไก่ ผ้าตาข่าย ฯลฯ และจำแนกตามชื่อ หรือดัดแปลงจากชื่อภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ผ้าจอร์เจีย ผ้าชีฟอง ผ้าเสิร์จ ผ้าสาลู ผ้ายีน ฯลฯ
                        มนุษย์รู้จักการทำผ้า และใช้ผ้ามานานนับพันปี จากตำนานของจีนกล่าวว่า เมื่อประมาณ ๒,๑๙๗ ปี ก่อนพุทธศักราช ในสมัยจักรพรรดิ์ฮ่องตี้ ของจีน พระนางลิหลิง ผู้เป็นมเหสีเป็นผู้ริเริ่มการเลี้ยงไหม และประดิษฐ์เครื่องทอผ้าไหม ราวปี ๑๙๕๗ ก่อนพุทธศักราช บันทึกทางศาสนาของอินเดีย ได้อ้างถึงผ้าไหมที่มีสี และผ้ายกลายทอง หลักฐานในหลุมศพเบนิ - ฮาซาน ของอิยิปต์โบราณ เป็นภาพเขียนแสดงถึงการทอผ้าแบบต่าง ๆ ในราว ๑๙๕๗ ปีก่อน พ.ศ.
                        ในประเทศไทยพบหลักฐานว่า คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์รู้จักทอผ้าใช้แล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปี คือ ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ถึงยุคโลหะ ดังเช่นที่ได้ค้นพบแวดินเผา ที่ใช้สำหรับปั่นเส้นด้าย เข็มเย็บผ้าทำจากกระดูกสัตว์ พบที่บ้านเก่า อ.เมือง ฯ จ.กาญจนบุรี หินทุบผ้าเปลือกไม้ พบที่ จ.ชุมพร และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพบร่องรอยของเศษผ้าฝ้าย และผ้าไหม ติดอยู่กับกำไล และขวานสำริด ที่บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เป็นต้น        ๑๙/ ๑๒๒๑๒
                ๓๖๖๔. ผาก  เป็นพันธุ์ไม้ประเภทไม้ไผ่ ที่พบในประเทศไทยมีสามชนิด ผากเป็นไม้ไผ่ที่พบขึ้นทั่วไปในประเทศไทย พบมากทางภาคใต้ ลักษณะเป็นกอ สูงเต็มที่ได้ถึง ๑๒ เมตร ลำต้นกลมไม่มีหนาม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ - ๑๐ ซม. สามารถดัดโค้งได้ง่าย จึงนิยมใช้ทำตะกร้า กระจาด กระด้ง ตะแกรง นอกจากนั้น ยังใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกระดาษด้วย        ๑๙/ ๑๒๒๒๔
                ๓๖๖๕. ผากอง ๑ - พระยา  เป็นกษัตริย์ไทยเมืองน่าน เมืองพลัว (อ.ปัง) สมัยสุโขทัย พระยาผากอง (ผู้ปู่) ครองเมือง ปี พ.ศ.๑๘๖๓ - ๑๘๙๒ และพระยาผากอง (ผู้หลาน) ครองเมือง พ.ศ.๑๙๐๔ - ๑๙๒๙)
                        จารึกหลักที่ ๘ (ประมาณ พ.ศ.๑๙๑๑) ได้กล่าวถึง อาณาเขตของสุโขทัย สมัยพระเจ้าลิไท ว่าจดกับอาณาเขตของเจ้าพระยาผากอง เจ้าเมืองน่าน เมืองพลัว และตามจารึกหลักที่ ๙ พระเจ้าลิไทย ยกไปตีเมืองแพร่ได้ในปี พ.ศ.๑๙๐๒ - ๑๙๐๓ พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ได้กล่าวถึงเรื่องท้าวผาคอง มาช่วยสุโขทัยรบกับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง ที่เมืองชากังราว (กำแพงเพชร) เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๑ และทัพท้าวผาคองแตก จับได้ตัวท้าวพระยา และเสนาขุนหมื่น ครั้งนั้นมาก
                        จารึกหลักที่ ๖๔ (พ.ศ.๑๙๓๕) ได้กล่าวถึงเมืองน่าน เมืองพลัว เมืองแพร่ และเมืองงาว ว่าอยู่ในอาณาเขตของกษัตริย์น่าน
                        พระยาผากองมาสร้างเมืองน่าน ที่เวียงกุมบ้านห้วยไค้ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๙ และเจ้าผาแสง ครองเมือง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๐๒ ในฐานะเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ต่อจากนั้น เชียงใหม่ส่งคนมาครองเมืองน่าน         ๑๙/ ๑๒๒๒๔
                ๓๖๖๖. ผากอง ๒ - เมือง  (ดู เขลางคนคร - ลำดับที่ ๗๙๐)        ๑๙/ ๑๒๒๒๖
                ๓๖๖๗. ผ้าขี้ริ้ว ๑ - งู  เป็นงูที่อยู่ในสกุลเดียวกับงูงวงช้าง แต่งูงวงช้างอาศัยอยู่ในน้ำจืด ส่วนงูผ้าขี้ริ้ว อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม และน้ำกร่อย ที่ค่อนข้างเค็มจัด มีชุกชุมตามทะเลโคลน และตามปากน้ำ ที่ติดต่อกับทะเล เลื้อยหากินตามผิวพื้นโคลนทรายใต้น้ำ เป็นงูไม่มีพิษ เหตุที่ชื่อว่า งูผ้าขี้ริ้ว เพราะพื้นตัวเป็นสีเทาหม่น มีลายสีน้ำเงินเข้ม หรือเทาดำ ทำให้ดูคล้ายตัวสกปรก        ๑๙/ ๑๒๒๒๖

                ๓๖๖๘. ผ้าขี้ริ้ว ๒  คือ กระเพาะส่วนหนึ่งของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ได้แก่ โค กระบือ แพะ แกะ เมื่อลูกสัตว์แรกเกิดมีระบบกระเพาะคล้ายสัตว์กระเพาะเดียว แต่พอลูกสัตว์เริ่มหัดกินหญ้ากระเพาะส่วนหน้าจะค่อย ๆ ขยายตัวเปลี่ยนแปลงแบ่งออกเป็นสี่ส่วนด้วยกัน มีชื่อเรียกตามลำดับ คือ
                        ๑.กระเพาะผ้าขี้ริ้ว  ๒.กระเพาะรังผึ้ง  ๓.กระเพาะสามกลีบ  ๔.กระเพาะแท้  กระเพาะผ้าขี้ริ้วผนังด้านในมีลักษระเป็นขุย เป็นกระเพาะขนาดใหญ่ที่สุดอาจจะได้ ๑๐๐ - ๑๒๐ ลิตร มีผนังกระเพาะแข็งแรง ใช้เป็นกระเพาะสำคัญในการย่อยอาหารพวกพืช โดยการหมักบูด ในขณะสัตว์ยังเล็ก กระเพาะนี้มีขนาดเล็กมาก และใช้งานไม่ได้ กระเพาะแรกของลูกสัตว์ จะขยายโตอย่างรวดเร็วจนลูกสัตว์มีอายุ ๔ - ๖ สัปดาห์ จึงจะพอทำการย่อยหญ้าได้บ้าง และจะใช้ย่อยหญ้าได้สมบูรณ์ เมื่ออายุ ๔ เดือนขึ้นไป กระเพาะนี้ไม่มีน้ำย่อย หรือเอนไซน์ของตัวเอง ฉะนั้นการย่อยและการเปลี่ยนแปลงอาหารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระเพาะนี้จึงเป็นการหมักบูดอันเป็นการทำงานของจุลินทรีย์          ๑๙/ ๑๒๒๒๗
                ๓๖๖๙. ผ่าด้าม  เป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งพบขึ้นทั่ว ๆ ไปตามป่าโปร่ง รูปร่างลักษณะคล้ายต้นพุด เป็นไม้พุ่มและไม้ต้นขนาดเล็ก ใบออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ รูปไข่ กลีบดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่สีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอม กลีบดอกตอนโคนเชื่อมกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นกลีบห้ากลีบ ผลรูปไข่ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. มีสันตามความยาวของผลห้าสัน   ๑๙/ที่  ๑๒๒๒๙
                ๓๖๗๐.  ผ้าดิบ  มีคำนิยามว่า "ผ้าทอ หรือผ้าถักที่ตัดออกจากเครื่องยังไม่ตกแต่ง" เดิมก่อนที่คนไทยจะมีเครื่องจักรทอผ้า การทอผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม ทำโดยใช้หูกหรือกี่ ทอด้วยมือทั้งสิ้น คำว่า ผ้าดิบ มีความหมายแคบเฉพาะหมายถึง ผ้าฝ้ายที่ทอจากฝ้ายดิบ ด้วยเครื่องทอมือดังกล่าว แล้วตัดออกมาใช้โดยไม่มีการต้มฟอก หรือตกแต่งใด ๆ          ๑๙/ ๑๒๒๓๐
                ๓๖๗๑. ผาติกรรม  มีบทนิยามว่า "การทำให้เจริญ ใช้ในวินัยว่าการจำหน่ายครุภัณฑ์ เพื่อประโยชน์สงฆ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาของเลวแลกของที่ดีกว่า ให้แก่สงฆ์เป็นการทดแทนที่ตนทำของสงฆ์ชำรุดไปบ้าง รื้อของที่ไม่ดีออกเสียทำให้ใหม่ดีกว่าของเก่า เช่น เอาที่วัดไปทำอย่างอื่นแล้วสร้างวัดถวายใหม่เป็นการชดใช้"
                        คำผาติกรรมนี้เป็นภาษาพระวินัยต้นเหตุเรื่องนี้มีมาในบาลีเสนาสนะขันธกะ จุลวรรค พระวินัยปิฎก ความว่า สมัยหนึ่งผ้าต่างชนิดมีจำนวนมากมาย มีผู้ถวายเป็นบริขารประจำเสนาสนะ พระสงฆ์ใช้ไม่ทันทั้งห้ามแจกด้วย ปล่อยไว้ก็จะทำให้ศรัทธาของทายกตกไปทั้งของก็อาจจะเสียหาย พระพุทธเจ้าโปรดให้ประชุมสงฆ์ ทรงอนุญาตให้แลกเปลี่ยนได้ด้วยวิธีผาติกรรม
                        ผาติกรรมนั้นสงฆ์เป็นผู้ทำ บุคคลทำไม่ได้ จะทำได้แต่ในนามของสงฆ์ของนั้นก็ต้องเป็นของสงฆ์ สงฆ์ก็ต้องทำเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์          ๑๙/ ๑๒๒๓๑
                ๓๖๗๒. ผ้าป่า  มีบทนิยามไว้ว่า "ผ้า (พร้อมทั้งเครื่องบริขารถ้ามี) ที่นำไปวางทอดไว้เสมือนว่า เป็นผ้าที่ทิ้งอยู่ในป่า เพื่อให้พระชักเอาไปเป็นทำนองผ้าบังสุกุล มักทำเป็นปรกติต่อท้ายทอดกฐินเรียกว่าทอดผ้าป่า"
                        ผ้าที่เรียกว่า "ผ้าป่า" นั้นมีเค้าเรื่องพอที่จะถือได้จากคัมภีร์จีวรขันธกะ มหาวรรค พระวินัยปิฎก
                        ผ้าป่าคือผ้าที่ชาวบ้านห่อศพไปทิ้งหรือผ้าที่ชาวบ้านนำไปทิ้งไว้ในป่าช้าหรือตามกองขยะ พระภิกษุไปพบพิจารณาดูว่าเจ้าของทิ้งแล้ว ถือเอาผ้านั้น ๆ มาทำจีวรผืนใดผืนนั้น เรียกว่าผ้าป่า แต่ปัจจุบันนี้ผ้าป่าเป็นชื่อของทานวัตถุหรือไทยทานหรือไทยธรรม คือยกผ้าเป็นประธาน มีของบริวารตามกำลังศรัทธา จะเป็นอาหารบิณฑบาตคาวหวานก็ได้ ผลไม้ก้ได้ เป็นกัปปิยวัตถุที่เรียกกันว่าของแห้งสำหรับใช้ในวันต่อไปก็ได้ จะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับวัด โรงเรียน โรงพยาบาลก็ได้ กัปปิยภัณฑ์หรือปัจจัยคือเงินสำหรับถวายพระภิกษุสงฆ์และที่ถวายเป็นส่วนกลางของเรื่องนั้น ๆ เมื่อถึงวันกำหนดจึงพร้อมกันนำผ้าป่าไปเรียกว่าแห่ผ้าป่า เมื่อถึงที่ที่กำหนดไว้ก็นำผ้าป่าไปวางไว้ในที่ที่สมควร อาราธนาพระภิกษุสามเณรมาประชุมพร้อมกัน ผู้เป็นประธานในงานนั้นชักชวนผู้มาร่วมทั้งหมดถวายผ้าป่าพร้อมกัน เมื่อพระสงฆ์ชักผ้าป่าอนุโมทนา เจ้าการพร้อมทั้งประชาชนทั้งหมดรับอนุโมทนาแล้วเป็นเสร็จพิธี       ๑๙/ ๑๒๒๓๑
                ๓๖๗๓. ผาเผือก (ดูไกรลาส - ลำดัที่ ๖๗๙)          ๑๙/ ๑๒๒๓๘
                ๓๖๗๔. ผาเมือง - พ่อขุน  เป็นพระสหายของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และเป็นโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถม ราชวงศ์พ่อขุนนาวนำถมครองเมืองเชลียง (สวรรคโลกเก่า)  อยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๗๖๒ มีอาณาเขตครอบคลุมไปถึงเมืองฉอด ลำพูน เชียงแสนและพะเยา ต่อมาได้เมืองสุโขทัยเพิ่มขึ้น
                        พ่อขุนผาเมืองได้ไปครองเมืองราด ส่วนพระยาคำแหงพระรามผู้เป็นพระอนุชาได้ไปครองเมืองสระหลวงสองแคว (พิษณุโลก)  พ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนบางกลางหาวได้ร่วมมือกันตีเมืองต่าง ๆ รอบสุโขทัย ซึ่งขอมสบาดโขลญลำพงครองอยู่ได้ พ่อขุนบางกลางหาวยึดเมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลกเก่า)  พ่อขุนผาเมืองยึดเมืองสุโขทัยได้แล้ว ยกให้แก่พ่อขุนบางกลางหาว (ประมาณปี พ.ศ.๑๗๘๑ - ๑๗๙๒)  และอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นกษัตริย์
                        จากข้อความในจารึกหลักที่สองเมืองราด อยู่ในกลุ่มเดียวกับเมืองสระคา และเมืองลุมบาจาย (เมืองหล่มเก่า)  อยู่บริเวณแควป่าสัก          ๑๙/  ๑๒๒๓๘
                ๓๖๗๕. ผาลาเพียงไหล่  เป็นชื่อท่ารำไทยท่าหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในการรำเพลงช้า คือ การรำที่เป็นแบบฝึกหัดรำเบี้องต้น
                        การรำตามตำรานี้เรียกกันในวงการนาฏศิลป์ว่า "รำแม่บท" และเรียกตำราของเก่าที่มีสิบแปดคำกลอนว่า "แม่บทใหญ่" เรียกกลอนในเรื่องรามเกียรต์ตอน พระนารายณ์ปราบนนทุกว่า "แม่บทเล็ก"          ๑๙/ ๑๒๒๔๐
                ๓๖๗๖. ผาสายเส้า  (ดูตรีกุฏ - ลำดับที่ ๒๑๑๑)          ๑๙/ ๑๒๒๔๒
                ๓๖๗๗. ผาหอม  (ดูคันธมาทน์ - ลำดับที่ ๑๐๑๔)          ๑๙/ ๑๒๒๔๒
                ๓๖๗๘. ผ้าห้อยคอ  เป็นผ้าที่เจ้าสาวนำมาให้เจ้าบ่าวนุ่งผลัดในพิธีแต่งงานสมัยโบราณ คือ นำมาให้นุ่งผลัดตอนที่ทำพิธีซัดน้ำ (สาดน้ำ) ที่เรือนหอจนเสร็จแล้ว และนำเอามาให้นุ่งผลัดตอนที่เจ้าบ่าวนอนเฝ้าหออีกหนหนึ่ง เจ้าบ่าวต้องให้ของชำร่วยเพื่อเป็นรางวัลแก่ผู้นำมา          ๑๙/ ๑๒๒๔๒
                ๓๖๗๙. ผ้าไหว้  เป็นผ้าที่ฝ่ายชายหรือฝ่ายเจ้าบ่าวนำไปไหว้ผีปู ย่า ตา ยายและพ่อแม่ของฝ่ายหญิง หรือฝ่ายเจ้าสาว เพื่อแสดงความเคารพ และขอให้อยู่เย็นเป็นสุขในเวลาแต่งงาน ตามปรกติมีสามสำรับ          ๑๙/ ๑๒๒๔๕
                ๓๖๘๐. ผำ  เป็นชื่อของพืชชนิดหนึ่งที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ เป็นพืชที่มีดอกเล็กที่สุด มีใบเลี้ยงใบเดียว คนไทยภาคกลางเรียกว่า ไข่น้ำ หรือไข่แหน          ๑๙/ ๑๒๒๔๘
                ๓๖๘๑. ผี ๑  มีบทนิยามว่า "สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจปรากฏเหมือมีตัวตนได้ อาจให้คุณหรือให้โทษได้ มีทั้งดีทั้งร้าย เช่น ผีปู่ย่าตายาย ผีเรือน ผีห่า เรียกคนที่ตายแล้วว่า ผี...."
                        เรื่องผีเป็นคติความเชื่อครั้งดั้งเดิมของมนุษย์ระยะเริ่มแรก ที่จะคลี่คลายมาเป็นศาสนา เมื่อเกิดมีศาสนาขึ้นเชื่อกันว่าผีคือ วิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว ไปเกิดอยู่ในพวกโอปปาติกกำเนิด ซึ่งเกิดผุดขึ้นเป็นรูปร่าง และมีชีวิตอีกประเภทหนึ่งในทันทีทันใด พวกผีสางนางไม้ เทวดา พรหม ตลอดทั้งพวกเปรต และพวกอบายภูมิอื่น ๆ ทั้งหมด ทางพระพุทธศาสนารวมเรียกว่า พวกโอปปาติกะ ผู้ที่ตายไปเกิดเป็นโอปปาติกะนั้นถือว่าเป็นชีวิตที่เกิดใหม่ เกิดขึ้นด้วยอำนาจของวิญญาณ ด้วยอำนาจการปรุงแต่งของกรรม การเกิดแบบนี้ไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ ไม่ต้องอาศัยธรรมชาติ ไม่ต้องอาศัยอาหารอย่างมนุษย์และสัตว์          ๑๙/ ๑๒๒๔๙
                ๓๖๘๒. ผี ๒ - หนู  หนูผีบ้านเป็นสัตว์เล็ก ๆ สัตว์ในวงศ์นี้มีในโลกถึง ๒๔ สกุล แยกออกได้เป็น ๒๙๐ ชนิด ในไทยมี ๙ ชนิด แต่ที่รู้จักกันดีทั่วไปก็เฉพาะแต่หนูผีบ้าน ซึ่งเป็นหนูผีที่มีขนาดใหญ่กว่าชนิดอื่น ๆ ส่วนนอกนั้นเป็นหนูผีชนิดเล็ก ๆ อีก ๗ ชนิด ไม่ค่อยมีใครสนใจและมักเรียกรวม ๆ กันว่า หนูผีป่า
                        หนูผีทุกชนิด มีฟันแบบสัตว์กินแมลงไม่มีฟันแทะอย่างหนูทั่วไป          ๑๙/ ๑๒๒๕๓
                ๓๖๘๓. ผีตองเหลือง  เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่จวนจะสูญพันธุ์ พบในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย คือ จังหวัดน่าน เชียงราย และเชียงใหม่ ผีตองเหลืองเรียกตนเองว่า มราบรี ชื่อแปลว่า คนป่า
                        การที่เรียกว่า ผีตองเหลือง เพราะชอบอาศัยอยู่แต่ในป่า และไม่ยอมปรากฏตัวให้เห็น นอกจากจำเป็นต้องเข้ามาแลกของใช้ ที่พักนิยมสร้างด้วยใบไม้สดเป็นเพิงกันฝน และน้ำค้าง พอใบไม้แห้งเปลี่ยนเป็นสีเหลืองก็จะพากันย้ายที่อยู่
                        ภาษาของผีตองเหลืองเป็นภาษาออสโตรเอเชียติกในกลุ่มมอญ - เขมร ซึ่งคล้ายกับภาษาลาว ไทยเหนือ แม้ว ว้า และขมุ          ๑๙/ ๑๒๒๕๔
                ๓๖๘๔. ผีตากผ้าอ้อม  เป็นปรากฏการณ์ของแสงแดดที่เห็นเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะทางทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำของบางวัน แสงที่เห็นจะมีสีส้มแดงเป็นส่วนหนึ่ง ของแสงสีขาวที่ถูกโมเลกุลของอากาศ แยกออกเป็นหลายสีแล้วแผ่กระจายไปในทิศทางต่าง ๆ แสงที่มีความยาวคลื่นสั้น เช่น แสงสีน้ำเงินจะแผ่กระจายสู่ท้องฟ้ามาก จึงทำให้ฟ้ามีสีน้ำเงิน แต่แสงที่มีคลื่นยาว เช่น แสงสีแดงจะถูกบรรยากาศทำให้แผ่กระจายน้อยจึงสองมาเข้าตา โดยเฉพาะขณะดวงอาทิตย์ อยู่ใกล้ขอบฟ้าจึงเห็นดวงอาทิตย์มีสีแดง เมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้าเล็กน้อย แสงสีแดงจะยังส่องมาทิศทางเดิม คือ เกือบจะเป็นแนวเดียวกับแสงแดดส่องมาที่โลก แสงสีแดงส่วนนี้เองที่สะท้อนมาเข้าตาอีกต่อหนึ่ง โดยฝุ่นละอองและโมเลกุลของอากาศที่อยู่ทางทิศตะวันตก ปรากฏเป็น "ผีตากผ้าอ้อม" ซึ่งจะเห็นอยู่ได้นานประมาณครึ่งชั่วโมง ชื่อเรียกอย่างอื่น คือ แสงโพ้ลเพ้ล แสงพลบค่ำ หรือแสงสนธยา          ๑๙/ ๑๒๒๖๒
                ๓๖๘๕. ผีบุญ  มีบทนิยามว่า "ผู้อวดคุณวิเศษว่าผีฤทธิ์ทำได้ต่าง ๆ อย่างผีสางเทวดาให้คนหลงเชื่อ"
                        ผีบุญที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ ผีบุญ ซึ่งเกิดขึ้นในมณฑลอีสานเป็นการใหญ่โต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ถึงกับกลายเป็นขบถขึ้น มีคนเข้าเป็นสมัครพรรคพวกมากขึ้นโดยลำดับ เมื่อผู้ที่ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษเห็นว่า มีคนนับถือกลัวเกรงมาก ก็เลยแสดงตนเป็นท้าวพระยาธรรมิกราช ที่จะมาดับยุคเข็ญตามคำพยากรณ์ ยกกำลังจะเข้ายึดเมืองอุบลราชธานีแต่ถูกทางการปราบปรามลงได้          ๑๙/ ๑๒๒๖๓
                ๓๖๘๖. ผีปันน้ำ  ทิวเขาผีปันน้ำได้ชื่อนี้เพราะเป็นสันปันน้ำที่แบ่งน้ำไหลแยกกันไปสองทาง ทางหนึ่งไปสู่อ่าวเจ้าพระยาอีกทางหนึ่งไปสู่อ่าวแม่โขง เขาย่อย ๆ หลายทิวประกอบขึ้นเป็นทิวเขาผีปันน้ำของแม่ปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งเป็นแควของแม่น้ำเจ้าพระยา ทิวเขาทั้งทิวครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมด ของตอนกลางของภาคเหนือในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทางตะวันตกของทิวเขานี้เป็นทิวเขา ซึ่งเรียงตัวกันตามแนวเส้นแวง ยอดเขาที่สำคัญคือ เขา (ดอย)  ขุนออน เขา (ดอย)  ผาโจ้ และเขา (ดอย)  ขุนตา  เขา (ดอย)  ขุนตาล เป็นภูเขาหินแกรนิต ซึ่งตั้งขวางเส้นทางรถไฟสายเหนือ ทำให้ต้องเจาะลอดสันเขาทางใต้ของทิวเขานี้
                        ทิวเขาผีปันน้ำเริ่มจากทิวเขาแดนลาว ตอนแบ่งเขตแดนประเทศไทยกับประเทศพม่า เริ่มจากทางทิศตะวันออกของช่องกิ่วผาวอก ห่าง ๒ กม. เป็นทิวยาวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ผ่านถนนสายเชียงใหม่ - ฝาง ตรงที่สูงที่สุดในถนนสายนี้ เรียกว่า ปางหัวโต รวมทิวเขาผีปันน้ำยาว ๔๑๒ กม.           ๑๙/ ๑๒๒๗๓
                ๓๖๘๗. ผีเรือน  หมายถึง ผีพ่อแม่ ปู ย่า ตา ยาย หรือผีบรรพบุรุษที่สิงอยู่ในเรือน เป็นผีไม่มีศาลหรือหอเป็นเฉพาะ มักถือกันว่าผีเรือนนั้นสิงอยู่ที่เสาเอกของเรือน ถ้าเป็นเรือนมีเสาดั้ง คือ เสากลางด้านสกัดก็ถือว่าสิงอยู่ที่เสานั้น          ๑๙/ ๑๒๒๗๙
                ๓๖๘๘. ผีเสื้อ ๑ - แมลง  เป็นแมลงที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เมื่อเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยจะมีปีกสองคู่ ปีกทั้งสองมีลักษณะเป็นไผ่บาง ปากของผีเสื้อบางชนิดเล็กมากจนแทบมองไม่เห็น เพราะไม่จำเป็นต้องกินอาหาร เมื่อโตเต็มที่แล้ว ตาโตเห็นได้ชัด มีการเจริญเติบโตเป็นสี่ขั้นตอน คือ แม่ผีเสื้อออกไข่ ไข่จะฟักเป็นตัวหนอน เมื่อพ้นระยะเป็นตัวหนอนก็จะเข้าดักแด้ เมื่อถึงกำหนดจึงจะฟักตัวออกจากดักแด้กลายเป็นตัวโตเต็มวัยคือตัวผีเสื้อ
                        ผีเสื้อมีเป็นชนิดต่าง ๆ ประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ชนิด จัดเป็นอันดับที่ใหญ่เป็นที่สองของพวกแมลงด้วยกัน ประกอบด้วย ผีเสื้อกลางวัน และผีเสื้อกลางคืน ซึ่งมีมากกว่าผีเสื้อกลางวันหลายเท่าตัว          ๑๙/ ๑๒๒๘๑
                ๓๖๘๙. ผีเสื้อ ๒ - ปลา  เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกปลาทะเลหลายชนิดที่มีลักษณะลำตัวกว้างค่อนข้างสั้น สีสันและลวดลายสดใสสวยงามคล้ายผีเสื้อ ปลาผีเสื้อจัดอยู่ในวงศ์ต่าง ๆ ถึงสามวงศ์ด้วยกัน บางชนิดมีชื่อเสริมต่อท้ายว่าผีเสื้อ เพื่อบ่งบอกลักษณะพิเศษเฉพาะตัวลงไปอีก          ๑๙/ ๑๒๒๘๕
                ๓๖๙๐. ผีเสื้อน้ำ  หมายถึง พวกยักษ์ พวกรากษสที่สิงอยู่ในน้ำ มีหน้าที่รักษาน้ำที่ตนสิงอยู่          ๑๙/ ๑๒๒๘๙


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch