|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/95
๓๖๐๘. เปรต ในคติของศาสนาพราหมณ์ และพระพุทธศาสนานั้นมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน จะต่างกันก็แต่ในเรื่องความเชื่อถือแต่ละฝายกล่าวไว้เท่านั้น มีข้อรวมกันอยู่ที่ว่า ผู้ตายไปแล้วไปเกิดในคตินั้น ๆ คอยรับผลทานของผู้ทำบุญอุทิศส่งไปให้
พวกพราหมณ์เชื่อว่าคนที่ตายไปแล้วนั้น ย่อมไปเกิดในคตินั้น ๆ คอยรับผลทานที่ลูกหลานทำบุญเลี้ยง พราหมณ์ผู้เป็นปฏิคาหกของเขาแล้วอุทิศผลส่งไปให้ ซึ่งเรียกว่าทำ พิธีศราทธ์ ส่วนในคติของพระพุทธศาสนาก็กล่าวว่า เปรต หมายถึง ผู้ตายไปเกิดในอบายภูมิ คือ แดนทุกข์คอยบริโภคผลทานที่ทายกทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ ผู้เป็นปฏิคาหกแล้วอุทิศผลส่งไปให้ซึ่งเรียกว่า ทำบุญทักษิณานุประทาน ๑๙/ ๑๒๐๑๘
๓๖๐๙. เปรสไบทีเรียน ได้รากศัพท์จากภาษกรีก แปลว่า ผู้อาวุโส หมายถึง ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนด์ ลัทธิเปรสไบทีเรียน ผู้ใช้ชื่อลัทธิเช่นนี้เป็นคนแรก ได้แก่ จอห์น น็อกซ์ (ค.ศ.๑๕๑๓ - ๑๕๗๒ หรือ พ.ศ.๒๐๕๖ - ๒๑๑๕) นักปฎิรูปศาสนาคริสต์ชาวสก๊อตที่ใช้คำนี้ เพราะจอห์น น็อกซ์ ต้องการชักชวนชาวคริสต์แบบดั้งเดิมที่สุด คือ ระหว่างคริสต์คตวรรษที่หนึ่ง (พุทธศตวรรษที่หก)
ผู้ค้นคิดจริง ๆ คือ จอห์น แคลวิน (พ.ศ.๒๐๕๒ - ๒๑๐๗) ชาวฝรั่งเศส ผู้ปฎิรูปคริสต์ศาสนาในสวิสเซอร์แลนด์ แคลรินชี้ให้เห็นว่าสมัยแรกของคริสต์จักร คริสต์ชนทุกคนมีเสรีภาพในการเข้าในพระคัมภีร์ ไม่มีคณะบาดหลวงคอยชี้ขาด ครั้นคริสต์จักรพัฒนาการปกครองไปเป็นระบบบาดหลวง โดยมีสันตปาปาเป็นประมุข ปัญหาความยุ่งยากเกี่ยวกับการปกครองก็เกิดขึ้นเป็นลำดับ แคลวินเห็นว่าควรมีการปกครองโดยคณะกรรมการ ซึ่งคริสต์ชนแต่ละกลุ่มเลือกกันขึ้นมาเอง
คริสต์จักรเปรสไบทีเรียนได้ส่งมิชชันนารีเข้ามาในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๓ ที่นับว่าสำคัญได้แก่ หมอบรัดเล ศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวาร์ ศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน ศาสนาจารย์แมค ฟาร์แลนด์ได้สร้างสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง เช่น รร.กรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โรงเรียนปรินซ์รอแยลวิทยาลัย และวิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวาร์ ซึ่งพัฒนาเป็นวิทยาลัยพายัพ เป็นต้น ได้สร้างโรงพยาบาลที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาลมิชชัน และโรงพยาบาลโรคเรื้อน ที่เชียงใหม่ ขณะนี้สมาชิกและกิจการทั้งหมดในประเทศไทย สังกัดอยู่ในสภาพระคริสต์แห่งประเทศไทย ๑๙/ ๑๒๐๒๗
๓๖๑๐. เปราะ เป็นไม้ล้มลุกที่ไม่มีลำต้นแต่มีเหง้าและรากที่ค่อนข้างอวบน้ำจำนวนมากอยู่ใต้ต้น เหง้าและรากเหล่านี้มีอายุยาวนาน ก้านใบอวบน้ำและมักจะซ้อนอยู่ใต้ดิน ใบโผล่เหนือดินและแบนราบไปบนดิน ใบกลางรีหรือรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมี ๖ - ๘ ดอก ผลมีสามช่องภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ
เปราะ ใช้ทำยากลั้วคอ ทำยาแก้ไอและขับลม ใบและเหง้าใช้ประกอบอาหาร ๑๙/ ๑๒๐๓๑
๓๖๑๑. เปรียง เป็นไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ซึ่งมักจะเรียกควบลักษณะของไม้เลื้อยว่า เถาวัลย์เปรียง เป็นไม้เลื้อยที่มีเถาใหญ่โตแข็งแรง เถามักจะเรียบ และมีจุดสีน้ำตาลอ่อนกระจายอยู่ทั่วไป เถาวัลย์เปรียงมักจะชอบขึ้นปกคลุมพุ่มไม้อื่น ๆ พบมากตามชายป่า ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อย ๖ - ๘ คู่ ช่อดอกประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ ดอกมีลักษณะเหมือนดอกถั่วช่อหนึ่งยาง ๒๐ - ๓๐ ซม. ดอกสีม่วงอ่อน มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ผลเป็นฝัก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ๑๙/ ๑๒๐๓๒
๓๖๑๒. เปรียญ เป็นระดับความรู้ทางพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทย มีหลักสูตรกำหนดเป็นชั้น ๆ ผู้สอบได้ตามหลักสูตรที่กำหนดนั้นเรียกว่า เปรียญ มีสามชั้น เรียกเปรียญตรี เปรียญโท และเปรียญเอก จัดเป็นประโยคมีเก้าประโยค เรียกรวมยอดว่า เปรียญบาลี ใช้อักษรย่อว่า ปบ. ต่อมาตั้งหลักสูตรนักธรรมขึ้น ต้องสอบนักธรรมเป็นบุพภาคแล้วถึงสอบบาลีตามเรียกผู้สอบได้ว่า เปรียญธรรม ใช้อักษรย่อว่า ป.ธ. ปัจจุบันมีแต่เปรียญธรรม
พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลีมาแต่เดิม ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปถึงนานาประเทศที่ใช้ภาษาอื่น จึงเกิดความคิดแตกต่างกัน ประเทศข้างเหนือมีทิเบตและจีน เป็นต้น แปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีไปเป็นภาษาของตน ครั้นพระไตรปิฎกเดิมไม่มีใครเล่าเรียน ก็เลยสูญสิ้นหลักที่จะสอบสวนพระธรรมวินัยให้ถ่องแท้ ลัทธิพระศาสนาในประเทศฝ่ายเหนือนั้นก็ผันแปรวิปลาสไป ส่วนประเทศทางข้างใต้มีลังกาทวีป เป็นต้น ตลอดมาถึงไทย พม่า มอญ ลาว และเขมร เหล่านี้คิดเห็นมาแต่เดิมว่า ถ้าแปลพระไตรปิฎกไปเป็นภาษาอื่น ทิ้งภาษาเดิมเสียแล้ว พระธรรมวินัยก็คงคลาดเคลื่อน จึงรักษาลัทธิของพระพุทธสาวกยั่งยืนสืบมาได้ ดังนั้นการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจึงต้องเล่าเรียนภาษาบาลี
เพราะเหตุดังกล่าว พระราชาธิบดีผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภกตั้งแต่โบราณมาจึงทรงทำนุบำรุงการเล่าเรียน พระปริยัติธรรม และทรงยกย่องพระภิกษุสามเณร ที่เรียนรู้ให้มีฐานันดรพระราชทานราชูปถัมภ์ต่าง ๆ จึงเกิดมีวิธีสอนพระปริยัติธรรม เมื่อปรากฎว่าพระภิกษุสามเณรรูปใดรอบรู้ถึงที่กำหนดก็ทรงยกย่องให้เป็นมหาบาเรียน
เพราะการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเป็นการเล่าเรียนทั้งภาษาบาลี และคัมภีร์พระไตรปิฎก การสอบความรู้ผู้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม จึงสอบทั้งความรู้ภาษาบาลี และความรู้คัมภีร์พระไตรปิฎกด้วย มีหลักสูตรตั้งไว้ ได้ความว่าครั้งสมัยอยุธยา กำหหนดไว้เป็นสามระดับ คือ เปรียญตรี แปลคัมภีร์พระวินัยปิฎกทั้งบาลี และอรรถกถาตามแต่จะกำหนด เปรียญโท แปลคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกทั้งบาลี และอรรถกถาตามแต่จะกำหนด เปรียญเอก แปลคัมภีร์พระอภิธรรมปฎิกทั้งบาลี และอรรถกถาตามแต่จะกำหนด มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่สองได้แก้ไขปรับปรุงใหม่แบ่งระดับทั้งสามเป็นระดับละสามประโยค รวมเป็นเก้าประโยค คือ
ประโยคที่ ๑ - ๓ สอบคัมภีร์พระธรรมบทต้องสอบได้ในคราวเดียวกันทั้งสามประโยค จึงนับว่าเปรียญชั้นจัตวา หรือเปรียญสามัญ
ประโยคที่ ๔ สอบคัมภีร์มังคลัตถทีปนีขั้นต้น สอบได้นับเป็นเปรียญตรี
ประโยคที่ ๕ สอบคัมภีร์มุตถวินัย วินิจฉัยสังคหะ ต่อมาเปลี่ยนเป็นคัมภีร์สารัตถสังคหะสอบได้นับเป็นเปรียญโท
ประโยคที่ ๖ สอบคัมภีร์มังคลัตถทีปนีขั้นปลาย สอบได้คงเป็นเปรียญโทอยู่
ประโยคที่ ๗ สอบคัมภีร์ปฐมสมันตปาสาทิกา สอบได้เป็นเปรียญเอกสามัญ
ประโยคที่ ๘ สอบคัมภีร์วิสุทธิมรรค สอบได้นับเป็นเปรียญเอกมัชฌิมา
ประโยคที่ ๙ สอบคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ สอบได้นับเป็นเปรียญเอกชั้นเอกอุดม
ปัจจุบันระบบเก่านี้เลิกหมดมานานแล้ว คณะสงฆ์ได้แบ่งการศึกษาออกเป็นสองแผนก คือแผนกนักธรรมและแผนกบาลี เมื่อสอบได้ตามหลักสูตร ตั้งแต่สามประโยคขึ้นไปจึงเรียกว่าเป็นเปรียญ ๑๙/ ๑๒๐๓๒
๓๖๑๓. เปล้า ๑ เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นสูง ๑๐ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปร่างใบเป็นใบป้อมค่อนข้างยาว ขนาด ๑๔.๒๙ x ๘.๑๐ ซม. ดอกแยกเพศมีก้านสั้น ๆ ดอกเกิดบนก้านรวมยาวเป็นช่อ ๆ ดอกตัวเมียมักอยู่ที่โคนช่อ ดอกตัวผู้อยู่ที่ส่วนปลาย ผลเป็นสามพู เมื่อแก่แตกเป็นสามช่องแต่ละช่องมีหนึ่งเมล็ด
เปล้า ใช้ทำยาโดยใช้ใบ และรากตำพอกแผล, ฝี หรือแช่น้ำอาบ ๑๙/ ๑๒๐๔๙
๓๖๑๔. เปล้า ๒ - นก นกพวกนี้โดยมากมักมีสีเขียว ชอบอยู่เป็นฝูงใหญ่ ๆ มักชอบลงกินเกลือ และกรวดทรายตามดินโป่ง เสียงร้อง ๆ ส่วนมากเป็นเสียง "คูคู" มีอยู่หลายชนิดคือนกเขาเปล้าหางเข็ม ภาคเหนือ นกเปล้าหางเข็มหัวปีกแดง นกเปล้าหางพลั่ว นกเปล้าท้องขาว นกเขาเปล้าธรรมดา นกเปล้าหน้าเหลือง นกเปล้าแดง นกเปล้าเล็กหัวเทา นกเปล้าคอสีม่วง นกเปล้าอกสีม่วงน้ำตาล นกเปล้าใหญ่ปักษ์ใต้ นกเปล้าขาเหลือง นกเปล้าหน้าแดง ๑๙/ ๑๒๐๕๐
๓๖๑๕. เปลี่ยวดำ เป็นชื่อโรคอย่างหนึ่ง ซึ่งแพทย์แผนโบราณกล่าวว่า เกิดจากทางที่ร่างกายถูกความเย็นจัดอยู่นาน
อาการเหมือนกับอาการของตะคริว แต่รุนแรงกว่า ผู้ป่วยมีสีหน้าเขียวคล้ำเพราะหายใจไม่สะดวก มีอาการหอบรู้สึก อึดอัดในท้อง เพราะมีลมคั่งอยู่ในลำใส้ ปวดท้องแบบลำใส้ถูกบิด และปวดเมื่อยตามลำตัว
การรักษาแพทย์แผนโบราณให้ผู้ป่วยกินยาที่ให้ความร้อนแก่ร่างกายประกอบด้วย พริกไทย ดีปลี และขิง เป็นต้น ส่วนแพทย์แผนปัจจุบัน จะให้การรักษาตามอาการ ๑๙/ ๑๒๐๕๓
๓๖๑๖ เปิงมาง เป็นชื่อกลองชนิดหนึ่งที่ใช้กันอยู่วงปีพาทย์มอญมาตั้งแต่เดิม ตัวกลองทำด้วยไม้จริง รูปร่างเป็นทรงกระบอก แต่ป่องกลางเล็กน้อย เข้าใจว่าคนไทยได้นำเอามากลองเปิงมางเข้ามาใช้ตั้งแต่สมัยสมัยอยุธยาแล้ว
เดิมที่เดียวท่านใช้เปิงมางสำหรับตีนำกลองชนะในกระบวนพระพยุหยาตรา หรือไม่ก็ใช้ตีประโคมในงานพระบรมศพ หรือพระศพเจ้านายต่างๆ ต่อมาได้นำมาใช้ในวงปีพาทย์สำหรับตีจัดจังหวะกับตะโพน ๑๙/ ๑๒๐๕๔
๓๖๑๗ เปิดโลก หมายถึง การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหารย์ เผยโลกทั้งสามโลกให้เห็นถึงกันหมด คราวเมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์มายังมนุษย์โลกที่เมืองสังกัสนคร ต่อมาไทยอาศัย พระพุทธจริยาควาวนั้นจึงนิยมสร้างพระพุทธรูปขึ้นปางหนึ่งเรียกว่า ปางเปิดโลก พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระกิริยาบถยึน ห้อยพระหัตต์ทั้งสองปรกติเหมือนปางประทับยึน แต่แบพระหัตถ์ทั้งสองแบไปข้างหน้าเป็นกิริยาเปิด ๑๙/ ๑๒๐๕๘
๓๖๑๘. เปีย ๑ เป็นคำเรียกผมที่ปล่อยให้ยาวพอสมควรแล้วถักไข้วกันเป็นเปียห้อยยาวลงทางเบื้องหลังศีรษะ และห้อยลงทั้งสองข้างใบหูก็มี
คตินิยมในการไว้ผมเปีย เป็นคติเก่าแก่นิยมกันในหมู่ชนชาวเอเซียหลายชาติด้วยกัน การไว้เปียที่ปรากฏ หลักฐานเก่าแก่ มีปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในที่ฝังศพแห่งหนึ่งในประเทศอียิปต์ เขียนเมื่อประมาณ ๑๐๓๗ - ๕๔๒ ปีก่อนพุทธกาล มีภาพทั้งเด็กผู้ชาย และเด็กผู้หญิงไว้ผมเปียบนกระหม่อม และโกนผมรอบกระหม่อมทิ้ง กับมีภาพผู้หญิงสาวไว้ผมยาว และถักเปียทั้งเป็นสายรอบศีรษะและถักเป็นเส้นเดียวห้อยยาวลงด้านหลัง
ชนชาวจีนก็เป็นชาติเก่าแก่ที่นิยมไว้ผมเปีย เป็นประเพณีแต่เดิมที่นิยมไว้กันในหมู่ชาวฮั่น และชนชาวมองโกลเผ่าหนึ่ง ต่อมาพวกแมนจูได้เลียนแบบการไว้เปียไปจากชาวฮั่น แต่นิยมโกนผมทางด้านหน้าศีรษะขึ้นไปทางกลางกระหม่อม ๑๙/ ๑๒๐๖๕
๓๖๑๙. เปีย ๒ - ขนม เป็นขนมของจีนชนิดหนึ่งมีเเป้งเป็นชั้น ๆ มีไส้ข้างใน มีผู้เล่าว่าสมัยก่อนที่จีนยังไว้ผมเปีย แล้วทำขนมนี้ขึ้นมาคนทั่วไปจึงเรียกว่า ขนมเปีย ซึ่งปัจจุบัน คือ ขนมเปี๊ยะนั่นเอง ๑๙/ ๑๒๐๖๗
๓๖๒๐. เปียโน เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งในประเภทเครื่องคีย์บอร์ด เครื่องดนตรีประเภทนี้มีแถวลิ่มนิ้ว (คีย์บอร์ด) สำหรับให้ผู้บรรเลงสัมผัสให้เกิดเสียง เสียงที่เกิดขึ้นนั้นมีต้นกำเนิดจากแหล่งสองแหล่งที่แตกต่างกัน คืออย่างหนึ่ง เมื่อผู้บรรเลงกดลิ่มนิ้ว (คีย์) ลงไปก็จะมีเครื่องกลไกไปบังคับลม ให้ดันแทรกผ่านลิ้นทำให้เกิดเสียงขึ้น เครื่องดนตรีประเภทนี้ได้แก่ ออร์แกน, ฮาร์มอเนียม และแอกคอร์เดียน เป็นต้น
อีกอย่างหนึ่งเมื่อผู้บรรเลงกดลิ่มนิ้วลงไปก็จะมีเครื่องกลไกไปกระทบสายที่ขึงตึงทำให้เกิดเสียงขึ้นมา เครื่องดนตรีประเภทนี้ได้แก่ คลาวิคอร์ด ฮาร์ปสิคอร์ด และเปียโน เป็นต้น
ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ได้มีผู้ดัดแปลงฮาร์ปสิคอร์ดหลังหนึ่งเป็นเปียโนหลังแรกของโลกขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๒
ระบบการเกิดเสียงของเปียโนจัดเป็นแบบกลไกลูกค้อน คือเมื่อผู้บรรเลงเคาะนิ้วลงบนลิ่มนิ้วของเปียโน ลูกค้อนที่เชื่อมโยงด้วยกลไกจากลิ่มนิ้ว จะกระดกไปเคาะเส้นลวดทำให้เกิดเสียง แล้วกระดกกลับมาอยู่ที่เดิม ทำให้เกิดเสียงเป็นไปอย่างอิสระ และเสียงก็ยังดังกังวานอยู่ เมื่อต้องการให้เสียงกังวานหยุด ก็เอานิ้วออกจากลิ่มนิ้ว ทำให้แคมเปอร์ (ชิ้นระงับเสียง) ซึ่งเป็นกลไกอยู่ภายใน จะกระดกไปประกบสายไม่ให้สั่นเสียงกังวานนั้น ก็จะเงียบลงทันที
ปัจจุบันเปียโนมาตรฐานมี ๘๘ ลิ่มนิ้ว มีกระเดื่องเหยียบสองอัน อันซ้ายเมื่อเหยียบจะทำให้เสียงเบาลง อันขวาเมื่อเหยียบจะทำให้เสียงดังกระหึ่มและมีกังวานยาวขึ้น ปัจจุบันมีหลายบริษัทผู้ผลิตเปียโนได้เพิ่มกระเดื่องเหยียบอีกหนึ่งอันคือ อันกลาง เมื่อเหยียบจะทำให้เสียงของตัวโน๊ตเฉพาะที่ต้องการดังกังวานยาว
กล่าวโดยทั่วไปเปียโนปัจจุบันมีอยู่สองระบบคือ
อัพไรต์เปียโน เป็นเปียโนที่เส้นลวดตั้งฉากกับพื้น ส่วนมากเป็นเปียโนที่ใช้บรรเลงกันตามบ้าน การวางเปียโนชนิดนี้นิยมให้ด้านหลังของเปียโนติดกับฝา หรือผนังห้อง
แกรนด์เปียโน เป็นเปียโนที่เส้นลวดขนานกับพื้น มีหลายขนาดด้วยกัน
เปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุดในบรรดาเครื่องดนตรีทั้งหลาย สามารถบรรเลงเพลงได้ทุกชนิด ทุกประเภท เหมาะที่จะใช้บรรเลงเดี่ยว สามารถเล่นรวมกับเครื่องดนตรีต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เหมาะที่สุดเป็นเครื่องมือสอนทฤษฎีวิชาดนตรี นักประพันธ์เพลงแทบทุกคน ใช้เปียโนเป็นเครื่องมือในการประพันธ์เพลง ๑๙/ ๑๒๐๖๙
๓๖๒๑. เปี้ยว - ปู ปูลมก็เรียก เป็นปูน้ำเค็มชนิดหนึ่งของอาศัยอยู่ตามหาดทรายชายทะเลเป็นปูวงศ์เดียวกับปูก้านดาบ ขุดรูอยู่ในระดับน้ำขึ้นเต็ม ที่ในประเทศไทยพบมีอยู่ทุกจังหวัดชายทะเล ๑๙/ ๑๒๐๗๙
๓๖๒๒. แป้ง ๑ เป็นอินทรีย์จำพวกคาร์โบไฮเดรตประเภทโพลีแซกคาไรต์ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพืชสีเขียว แหล่งกำเนิดสำคัญของแป้งได้แก่ ข้าวชนิดต่าง ๆ และเผือก มัน ถั่ว กลอย แป้งเป็นอาหารหลักสำคัญประเภทหนึ่งของมนุษย์และสัตว์ ในธรรมชาติที่มีสะสมอยู่เป็นจำนวนมากในพืชจะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีขาว รูปทรงกลม หรือ รูปไข่หรือรูปเลนส์นูนหรือรูปอื่นได้
องค์ประกอบหลักของแป้งได้แก่ กลูโคสชนิดแอลฟา ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตพวกน้ำตาลประเภทโมโนแซกคาไรด์คือ กลูโคสหลาย ๆ โมเลกุลเชื่อมโยงกันเป็นโมเลกุลใหญ่
เมื่อบริโคอาหารประเภทแป้งเข้าไปจะเกิดการย่อยแป้งให้แปรสภาพเป็นสารอื่น ปฎิกิริยาในการย่อยแป้งจะเกิดขึ้นหลายขั้นตอน และสลับซับซ้อนมาก การย่อยผลสุดท้ายเป็นกลูโคส ซึ่งผนังลำไส้ดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป คือ นำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานแห่งหนึ่งของร่างกาย และสร้างสารต่าง ๆ ที่ร่างกายต้องการ เช่น ร่างกายนำกลูโคสไปสร้างไกลโคเจน แล้วเก็บสะสมไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อ ร่างกายเก็บไกลโคเจนไว้เป็นอาหารสำรองเพื่อนำมาใช้ในยามจำเป็น นอกจากนี้ยังใช้ไปสร้างไขมันกรดนิวคลีอิกและอื่น ๆ อีกมาก
แป้งเป็นสารที่มีประโยชน์อย่างยิ่งทั้งในด้านโภชนาการและอุตสาหกรรม ๑๙/ ๑๒๐๘๓
๓๖๒๓. แป้ง ๒ ในด้านโภชนาการใช้เป็นอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพวกธัญพืช พืชประเภทหัวจะมีการสะสมแป้งไว้มาก แป้งต่างชนิดกันจะมีส่วนประกอบต่างกัน โดยทั่วไปแป้งจะมีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตมากที่สุด รองลงมาคือ โปรตีน ไขมัน เซลลูโลส วิตามิน สารสี และเอนไซม์ ความชื้นหรือน้ำ แป้งชนิดต่าง ๆ ที่นำมาใช้ประกอบอาหารและขนมหวานของไทยมีหลายอย่างเช่น แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว แป้งถั่วเขียว แป้งมันสำปะหลัง และแป้งสาลี เป็นต้น ๑๙/ ๑๒๐๘๘
๓๖๒๔. แป้น - ปลา มีอยู่ด้วยกันมากชนิด มีชื่อเรียกตามลักษณะ และขนาดของตัวปลา ปลาแป้นอยู่รวมเป็นฝูง ลูกปลามักหากินอยู่ผิวน้ำ ปลาแป้นเป็นปลาทะเลอยู่ในทะเลเขตร้อน ลำตัวสั้นแบบรูปไข่ ตัวแบนข้าง ปากปลายืดหดได้มาก ๑๙/ ๑๒๐๘๙
๓๖๒๕. แปบ ๑ - ปลา มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เป็นปลาน้ำจืด มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นแตกต่างกันไป ชอบอยู่ในที่มีน้ำไหล มีขนาดแตกต่างกันไปแต่ละชนิด
ปลาแปบจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลาซิว หรือปลาหมู เป็นต้น แต่อยู่ต่างวงศ์ย่อยกัน ลักษณะสำคัญของปลาแปบคือ มีลำตัวค่อนข้างยาว ตัวแบนข้างมาก ๑๙/ ๑๒๐๙๑
๓๖๒๖. แปบ ๒ - ถั่ว (ดูถั่ว - ลำดับที่ ๒๓๘๕ ว่าด้วยถั่วแปบ) ๑๙/ ๑๒๐๙๓
๓๖๒๗. แปลงชาติ เป็นการเปลี่ยนแปลงสัญชาติของบุคคลจากสัญชาติเดิมที่ถืออยู่ไปเป็นอีกสัญชาติหนึ่ง
การกำหนดเงื่อนไขในการขอแปลงชาติของคนต่างด้าวนั้นเป็นสิทธิของแต่ละประเทศตามนโยบายภายในของตน กฎหมายระหว่างประเทศ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง ก็แต่เป็นแนว ประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักจะให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหาร แต่มีบางประเทศให้อำนาจดังกล่าวแก่ศาลยุติธรรม โดยให้ฝ่ายบ้านเมือง (อัยการ) เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายตรงข้ามเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน
การแปลงชาติตามกฎหมายไทยมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ชื่อว่า พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๑๗ เป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องอนุญาต ให้พระดิฐการภักดีผู้มีชื่อแต่กำเนิดว่า เซเลสตีน มาเรีย ซาเวีย แปลงชาติเป็นไทย
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ จึงได้มีกฎหมายแปลงชาติใช้กับบุคคลทั่ว ๆ ไป ชื่อว่า พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๓๐ มีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขต่าง ๆ สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของนานาอารยประเทศ ต่อมาได้มี พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ พ.ร.บ.ดังกล่าวทั้งสองฉบับได้ถูกยกเลิกไป โดย พ.ร.บ.สัญชาติพ.ศ.๒๔๙๕ ๑๙/ ๑๒๐๙๓
๓๖๒๘. โป เป็นชื่อการพนันมีอยู่สองอย่างคือ โปกำและโปปั่น
โปกำ มีวิธีเล่นคือ เจ้ามือเอาเบี้ย โดยมากเป็นเบี้ยจั่นกองไว้ข้างหน้าโดยให้ลูกค้าเห็นกองเบี้ยนั้น เพื่อล่อให้คาดคะเนแต้มแล้วเอาถ้วยครอบ กวาดเบี้ยที่ไม่ครอบไปหมดออกไปกองไว้ข้างหนึ่ง เมื่อลูกค้าแทงเสร็จเจ้ามือจะเปิดถ้วยออกแล้วใช้ไม้เขี่ยเบี้ยนั้นออกทีละสี่เบี้ย จนกว่าจะหมดเบี้ยในกอง เรียกว่า แจงเบี้ย ถ้าแจงครั้งสุดท้ายเหลือเบี้ยอยู่เท่าไรถือว่าโปออกประตูนั้น ถ้าเหลือสี่เบี้ย เรียกว่า ออกครบ
ที่เรียกว่า โปกำนั้น เพราะมีวิธีเล่นเช่นเดียวกับถั่ว แต่ใช้วิธีแทงเช่นเดียวกับ โปปั่น จึงถือว่าโปกำเป็นทำนองพันทางระหว่างถั่วกับโป
โปปั่น มีวิธีเล่น คือ มีทองเหลืองรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งเรียกว่า "โป" มีฝาครอบปิดเหมือนกับกล่องที่ตัวโปมีช่องสี่เหลี่ยมพอใส่ลิ้นโปลงโปเต็มพอดี ไม่ให้ลิ้นโปพลิกได้ ลิ้นโปมีรูปร่างเหมือนลูกบาศก์สลักทั้งหกด้าน ทาสีขาวซีกหนึ่ง สีแดงซีกหนึ่งเหมือนกันทั้งหกด้าน เจ้ามือเอาลิ้นใส่ลงไปในโปไม่ให้คนแทงเห็น ปิดฝาโปแล้วตั้งให้แทง ก่อนแทงยอมให้คนแทงปั่นโปไปตามใจชอบจนตกลงกันว่า จะตั้งตลับโปให้ด้านไหน ตรงกับแต้มไหนแล้วจึงเปิด ถ้าลิ้นโปซักขวาตรงกับช่องแต้มไหนก็นับว่าโปออกแต้มนั้น มีประตูแทงสี่ประตู เช่นเดียวกับโปกำ
การเล่นโปเป็นของจีนคิดขึ้นเล่นในเมืองจีนก่อน เมื่อจีนเดินทางไปค้าขายยังต่างประเทศก็นำเอาการเล่นโปไปเล่นในประเทศนั้น ๆ การเล่นโปในประเทศไทยได้เริ่มมีขึ้นในรัชกาลที่สอง หรือที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ปัจจุบันโปกำ และโปปั่นจัดอยู่ในบัญชี ก. ทาง พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.๒๔๗๘ ๑๙/ ๑๒๐๙๙
๓๖๒๙. โป่ง ๑ เป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นแหล่งของเกลือโซเดียม และแคลเซียม ที่สัตว์ประเภทกินพืชกินเข้าไปแล้วมีประโยชน์ในการเจริญเติบโต และเสริมสร้างกระดูก โป่งแยกออกเป็นสองประเภท คือ
โป่งน้ำ ได้แก่ บริเวณแอ่งน้ำเล็ก ๆ ที่ลุ่มหรือบริเวณน้ำซับที่มีเกลือสะสมอยู่ในบริเวณสูง อาจเป็นเพราะเกลือโซเดียม ซึ่งสามารถละลายน้ำได้ดี
โป่งดิน ได้แก่ บริเวณพื้นดินที่เป็นพื้นที่แคบที่มีปริมาณเกลือโซเดียม และเกลือแคลเซียมสูง ๑๙/ ๑๒๑๐๗
๓๖๓๐. โป่ง ๒ - ผี ตามคติชาวบ้านทั่ว ๆ ไปว่า เป็นผีที่อยู่ตามป่าที่มีดินโป่ง พวกพรานที่ไปนั่งโป่งหรือนั่งห้างคอยดักยิงสัตว์ป่าที่มากินดินโป่งรู้จักดี บางทีผีโป่งนี้แปลงเป็นสัตว์มาลวงพราน หรือคนนั่งห้างด้วย ๑๙/ ๑๒๑๐๘
๓๖๓๑. โป่งข่าม - แก้ว เป็นคำที่ใช้เรียกรัตนชาติตระกูลควอร์ตซ์ เดิมที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันว่าเป็นแก้วธรรมชาติ ซึ่งได้มาจากเมืองเถิน ถือกันว่าเป็นของขลังแคล้วคลาดภยันตราย และนำโชคดีมาให้
โป่งข่าม ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแก้วใสโปร่งตา หรือโปร่งแสง ภายในอาจมีลวดลายสีสันสวยงามต่าง ๆ กัน เมื่อเจียรไนแล้ว จะทำให้ปรากฎเป็นรูปวิวทิวทัศน์สวยงาม แก้วโป่งข่ามเป็นที่รู้จักกันมานานกว่าร้อยปีแล้ว ชาวเถินเรียกกันว่า แก้วเมืองเถิน ต่อมาเรียกว่า แก้งแม่แก่งบ้าง แก้วโป่งข่ามบ้าง ๑๙/ ๑๒๑๑๒
๓๖๓๒. โป่งน้ำร้อน อำเภอขึ้น จ.กาญจนบุรี มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกจดประเทศกัมพูชา ภูมิประเทศด้านตะวันตก และใต้เป็นภูเขา ด้านเหนือและด้านตะวันออกเป็นป่าและเขา มีกลุ่มชนเรียกว่า ชอง อยู่ในอำเภอนี้
อ.โป่งน้ำร้อนเดิมเป็นกิ่งอำเภอ เรียก กิ่ง อ.ท่าหลวง ขึ้น อ.ท่าหลวง เปลี่ยนเป็น กิ่ง อ.กัมพุช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น กิ่ง อ.โป่งน้ำร้อน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ ๑๙/ ๑๒๑๑๗
๓๖๓๓. โป๊บ ชาวไทยคริสต์เรียกว่า "สันตะปาปา" หมายถึงประมุขของคริสต์จักรนิกายโรมันคาทอลิก เดิมเรียกกันว่า บิชอปแห่งกรุงโรม ฝ่ายนิกายโรมันคาทอลิกถือว่า ตำแหน่งนี้สืบทอดมาจากปีเตอร์ จึงเป็นตำแหน่งประมุขของคริสต์จักรสืบต่อเรื่อยมา แต่ฝ่ายนิกายโปรเตสแตนต์ และนิกายออร์โทดอกซ์ถือว่า ตำแหน่งของปีเตอร์ถ่ายทอดไม่ได้ บิชอปแห่งกรุงโรม จึงเป็นตำแหน่งเสมอกับตำแหน่งบิชอปของเมืองอื่น ๆ (ดูปีเตอร์ - ลำดับที่ ๓๕๔๐)
วิธีเลือกสันตะปาปาแต่เดิมเลือกโดยเสียงสนับสนุนของคริสต์ชนในกรุงโรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๐๙๘ (ค.ศ.๕๕๕) ต้องได้รับการอนุมัติจากจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันตะวันออก ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๓๖๗ ต้องได้รับอนุมัติจากจักรพรรดิ์แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ตำแหน่งสันตะปาปา กลายเป็นตำแหน่งช่วงชิงกันระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ ของอิตาลี ในปี พ.ศ.๑๕๘๙ สันตะปาปาเคลเมนต์ที่สอง จึงตกลงกับจักรพรรดิเฮนรีที่สาม แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ว่า ต่างฝ่ายต่างต้องได้รับการอนุมัติจากกัน ในปี พ.ศ.๑๗๒๒ สันตะปาปาอะเล็กซานเดอร์ที่สาม กำหนดให้คาร์ดินัลเท่านั้นมีสิทธิออกเสียงเลือกสันตะปาปา โดยมีเสียงนิยมไม่น้อยกว่าสองในสามของผู้ออกเสียง และจะเลือกคริสต์ชนคนใด
ก็ได้ เคยปรากฏว่าในปี พ.ศ.๑๗๔๗ เลือกได้ฆราวาสคือ จอห์นที่สิบเก้า เมื่อได้คะแนนเสียงครบแล้วประธานการเลือกจะถามความสมัครใจว่าจะรับตำแหน่งหรือไม่ เมื่อตอบว่าข้าพเจ้ารับก็ถือว่าเป็นพระสันตะปาปาทันที
อำนาจของสันตะปาปาก็คือ แต่งตั้งสมณศักดิ์ทุกระดับ ลงพระนามาภิไธยในเอกสารสำคัญ ๆ และแต่งตั้งสมณฑูต เป็นต้น
สมณศักดิ์รองจากสันตะปาปาคือ คาร์ดินัล ปัจจุบันมี ๑๒๐ รูป มีสิทธิและหน้าที่เลือกสันตะปาปาองค์ต่อไป และมีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจที่สันตะปาปามอบหมายให้
อาร์ชบิชอป เป็นตำแหน่งบิชอปของคณะบาทหลวงในเมืองใหญ่หรือเมืองที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ
บิชอป เป็นประมุขของคณะบาทหลวง (ดูบิชอป - ลำดับที่ ๓๑๓๗ ประกอบ) ๑๙/ ๑๒๑๑๘
๓๖๓๔. โปมะยุง่วน เป็นชาวพม่าที่ได้รับแต่งตั้งจากพระจ้ามังระแห่งกรุงอังวะให้ไปครองเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าครั้งที่สองไม่นานนัก
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ทรงยกกองทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสรรคบุรี พวกเจ้าพระฝางหนีไปพึ่งพม่าที่เมืองเชียงใหม่ โปมะยุง่วนเห็นเป็นโอกาส จึงยกกองทัพลงมาตีเมืองสวรรคโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๓ ฝ่ายไทยรักษาเมืองไว้ได้ และตีกระหนาบกองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป
สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เมื่อทรงทราบข่าวศึกก็ยกทัพขึ้นไปช่วย แต่เมื่อเสด็จไปถึงกลางทางทรงทราบว่า พวกเจ้าเมืองภาคเหนือช่วยกันตีพม่าแตกกลับไปแล้ว จึงทรงตัดสินพระทัยยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่เสียเลย เมื่อตอนต้นปี พ.ศ.๒๓๑๔ โดยกองทัพไทยตั้งประชุม พลที่เมืองพิชัย รวบรวมไพร่พลได้ประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน เจ้าพระยาสุรสีห์ ฯ เป็นแม่ทัพหน้าคุมพลหัวเมืองเหนือยกขึ้นไป พวกเมืองเหนือในอาณาจักรล้านนาไทยได้มาสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายไทย โปมะยุง่วนตั้งรับอยู่ในเมืองเชียงใหม่ กองทัพไทยมีกำลัง และเสบียงไม่เพียงพอต้องถอยทัพกลับพระนครหลังจากล้อมเชียงใหม่อยู่เก้าวัน โปมะยุง่วนถือโอกาสส่งกองทัพเข้าตามตีแต่ถูกทัพไทยตีกอบหนีไป
สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ได้ทรงยกทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้งในปีพ.ศ.๒๓๑๙ โดยเกณฑ์ทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ ๒๐,๐๐๐ คน ไปรวมกำลังที่บ้านระแหง แขวงเมืองตากและเกณฑ์กำลังพลจากกรุงธนบุรีและหัวเมืองชั้นใน ๑๕,๐๐๐ คน เป็นกองทัพหลวงไปประชุมทัพที่เมืองระแหง โดยยกไปทางเรือแล้วโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ คุมกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระองค์คุมทัพหลวงคงตั้งอยู่ที่เมืองตาก เพื่อคอยฟังข่าวการเคลื่อนทัพของพม่า ที่เมืองเมาะตะมะและเมื่อได้ทรงสั่งการให้กองทัพไปตั้งรับพม่าที่บริเวณลำน้ำไทรโยคแล้ว กับให้อีกส่วนหนึ่งคอยสกัดกั้นกองทัพพม่าที่จะเข้ามาทางเมืองตาก แล้วพระองค์ก็ทรงยกกองทัพหลวงขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่
กองทัพไทยเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ตั้งตามรอบเมือง ๓๔ ค่าย ชักปีกกา ตลอดกันถึงสามด้านเหลือเฉพาะทางด้านเหนือที่ยังลงค่ายไม่เสร็จตลอดด้าน พวกเมืองเชียงใหม่ที่หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าและที่อยู่ในตัวเมืองก็พากันเล็ดลอดมาเข้ากับกองทัพไทยจนมีจำนวนเพิ่มถึง ๕๐,๐๐๐ คน
กองทัพไทยตีค่ายพม่าด้านใต้ ด้านตะวันตกและด้านตะวันออกได้ โปมะยุง่วนและโปสุพลาต้องทิ้งเมืองเชียงใหม่ออกไปทางประตูช้างเผือกทางด้านเหนือ กรุงธนบุรีจึงได้เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองลำปาง เมืองแพร่และเมืองน่าน เข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขตไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๑๗ เป็นต้นมา
ในปี พ.ศ.๒๓๑๘ อะแซหวุ่นกี้มีคำสั่งให้โปมะยุง่วน และโปสุพลาที่คอยหนีไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสน ให้ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ในฤดูฝน เพื่อเตรียมเรือรบ เรือลำเลียง รวมทั้งเสบียงอาหารส่งมายังกองทัพอะแซหวุ่นกี้ที่จะเข้ามาตีเมืองไทยในต้นฤดูแล้ง แต่ต้องถอยกลับไปเชียงแสน เมื่อทราบว่ากองทัพไทยยกขึ้นไปป้องกันเมืองเชียงใหม่
ในปี พ.ศ.๒๓๑๘ พระเจ้าจิงกูจา ราชโอรสพระเจ้ามังระขึ้นครองราชย์ต้องการได้แว่นแคว้นล้านนาไทย ๕๗ หัวเมืองไว้ในอำนาจ จึงแต่งกองทัพมาสมทบ กับกองทัพของโปมะยุง่วนที่เมืองเชียงแสน เข้าตีเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๑๓๑๙ เจ้าเมืองเชียงใหม่ต้องทิ้งเมืองอพยพผู้คนมายังเมืองสรรคโลก เจ้าพระยาสุรสีห์คุมกองทัพเมืองเหนือ ไปสมทบกับพระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง ยกไปตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า โปมะยุง่วนต้องถอยทัพกลับไปเมืองเชียงแสนอีก
ในปี พ.ศ.๒๓๓๐ พระเจ้าปดุงยกกองทัพใหญ่มาปราบปรามหัวเมืองประเทศราชทางเหนือคือ เมืองเชียงรุ้ง และเมืองเชียงตุง โปมะยุง่วนคุมกำลังจากเมืองเชียงแสน มาช่วยตีเมืองฝางด้วย เมื่อตีได้แล้วก็กลับมาเมืองเชียงแสน แต่ถูกเจ้าเมืองต่าง ๆ ในแว่นแค้นล้านนา รวมกำลังเข้าขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน และถูกจับตัวได้ที่เมืองเชียงรายแล้วถูกส่งตัวมายังกรุงเทพ ฯ รัชกาลที่หนึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ซักถามโปมะยุง่วนเกี่ยวกับข้อราชการต่าง ๆ ภายหลังได้รวบรวมเป็นเรื่องเรียกว่า "คำให้การชาวอังวะ" หรือ "คำให้การมะยิหวุ่น" ๑๙/ ๑๒๑๒๐
๓๖๓๕. โป๊ยเซียน เป็นไม้พุ่ม บางครั้งคล้ายเลื้อย มีหนามตามลำต้นทั่วไป และแตกกิ่งก้านสาขา อาจสูงหรือยาวได้ ๑ - ๓ เมตร ใบออกรอบลำต้น และมักจะอยู่ที่ปลายยอด ลักษณะใบเป็นรูปไข่กลับ ดอกเป็นกระจุกเล็ก ๆ อยู่ภายในกาบรองดอก มีสีขาว ชมพู ส้ม แดง ช่อดอกมักจะออกตรงข้าม และมีก้านช่อดอกรวมยาวมาก ๑๙/ ๑๒๑๒๙
๓๖๓๖. โปรดเกศเชษฐาราม - วัด เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของคลองวัดหลวง ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ชาวบ้านเรียกว่า วัดปากคลอง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๕ พระยาเพชรพิไชยเป็นผู้สร้าง ๑๙/ ๑๒๑๓๐
|
Update : 27/5/2554
|
|