หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/94
    ๓๕๖๙. ปีนัง - เกาะ  มีอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะหมาก เป็นเกาะเล็กๆ อยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันตก ของคาบสมุทรมลายูไปประมาณ ๕ กม. และอยู่ที่ตอนเหนือสุดของช่องแคบมะละกา เป็นส่วนหนึ่งของรัฐปีนัง ซึ่งเป็รัฐหนึ่งของมาเลเซีย มีขนาดยาวประมาณ ๒๔ กม. กว้างประมาณ ๑๕ กม. พื้นที่ประมาณ ๒๘๐ ตาราง กม.
                        ลักษณะภูมิประเทศ เป็นเนินเขามีที่ราบชายฝั่งแคบ ๆ ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
                        เกาะปีนัง เป็นเมืองท่าที่สำคัญของประเทศมาเลเซีย มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ บริษัทอิสต์ อินเดีย จึงมาจับจองเกาะนี้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ ในปี พ.ศ.๒๓๓๔ อังกฤษได้ปกครองเกาะปีนังอย่างเป็นทางการ โดยทำสัญญากับสุลต่านแห่งรัฐไทรบุรี ในปี พ.ศ.๒๓๔๓ อังกฤษได้ผนวกดินแดนส่วนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่เข้ากับเกาะปีนังด้วย ถึงปี พ.ศ.๒๓๖๙ มีการรวมปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ เข้าด้วยกันมีชื่อว่า สเตรตส์เซตเติลเมนต์ และดินแดนส่วนนี้ได้รวมเข้ากับสหพันธรัฐมลายู ในปี พ.ศ.๒๔๙๑
                        เมื่ออังกฤษเข้าปกครองปีนัง ในตอนแรกเรียกชื่อเกาะนี้ว่า เกาะพรินซ์ ออฟ เวลส์ มาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๑๐ เกาะปีนังมั่งคั่งร่ำรวยจากการค้ามาก มีผู้อพยพเข้าไปตั้งหลักแหล่ง มีพวกจีน อินเดีย สุมาตรา และพม่า พลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ซึ่งทำการค้า พวกมลายูเป็นชาวนากับชาวประมง          ๑๙/ ๑๑๙๒๓
                ๓๕๗๐. ปีบ - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ ๒๐ - ๒๕ เมตร ลำต้นตั้งตรงและกิ่งก้านมักจะทอดลง ใบเป็นใบประกอบซึ่งมีใบย่อยเล็กหลาย ๆ ใบ ดอกออกตามปลายกิ่งเป็นช่อ และห้อยลงกลิ่นหอมเย็น และบานกลางคืน ตอนเช้าร่วงหล่นอยู่ที่โคนต้น ฝักแบนหัวท้ายแหลม ขนาด ๒ x ๓๐ ซม. เมล็ดแบนปีกบางปลิวได้ไกล ออกดอกเดือนมกราคมถึง มีนาคม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือชำ จากลำต้นใต้ดิน ชำโดยการปักชำกิ่ง หรือการตอน
                        ปีบ เป็นไม้ถิ่นเอเชียเขตร้อนโตเร็ว นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้อาจจะใช้ทำเครื่องเรือนได้ ดอกใช้ผสมกับยาสูบมวนบุหรี่ ทำให้ชุ่มคอและมีกลิ่นหอม อาจจะใช้สูบแก้หืดได้ รากใช้ประกอบยาไทย บำรุงปอด และรักษาวัณโรค         ๑๙/ ๑๑๙๒๓
                ๓๕๗๑. ปี่พาทย์  เป็นชื่อวงดนตรีไทยอย่างหนึ่ง ที่ประกอบด้วยเครื่องเป่า คือ ปี่ ผสมกับเครื่องตี อันได้แก่ ระนาด และฆ้องชนิดต่างๆ กับเครื่องทำจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ตะโพน กลองทัพ กลองแขก และกลองสองหน้า  เป็นต้น
                        วงปี่พาทย์ มีอยู่หลายชนิดและหลายชนิด เช่น วงปี่พาทย์ธรรมดา (ปี่พาทย์ไทย)  วงปี่พาทย์นางหงส์ วงปี่พาทย์มอญ และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เป็นต้น ส่วนขนาดนั้นก็มักแบ่งออกเป็นวงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่
                        วงปี่พาทย์ธรรมดา หรือปี่พาทย์ไทย นั้น คงมีปี่พาทย์เครื่องห้า มาแต่สมัยสุโขทัยซึ่งประกอบด้วย ปี่ หนึ่งเลา ระนาด (เอก)  หนึ่งราง ฆ้องวง (ใหญ่)  หนึ่งวง ตะโพน หนึ่งใบ และกลองทัด หนึ่งลูก
                        สมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อได้มีการสร้างเครื่องปี่พาทย์ เพิ่มเติมขึ้น แล้วจึงได้เกิดมีปี่พาทย์เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ขึ้น ปี่พาทย์เครื่องคู่นั้น ประกอบด้วยเครื่องที่ทำทำนองเป็นคู่ คือ ปี่คู่หนึ่ง (ปี่นอก, ปี่ใน)  ระนาดคู่หนึ่ง (ระนาดเอก และทุ้ม )  ฆ้องวงคู่หนึ่ง (ฆ้องวงใหญ่ และเล็ก)  ส่วนเครื่องทำจังหวะนั้น ประกอบด้วยกลองทัดคู่หนึ่ง (ลูกเสียงสูง เรียกว่า ตัวผู้ ลูกเสียงต่ำเรียกว่า ตัวเมีย)  ตะโพนหนึ่งลูก ฉิ่งหนึ่งคู่ ฉาบเล็ก และฉาบใหญ่ อย่างละหนึ่งคู่ โหม่ง หนึ่งใบ กลองสองหน้า (บางทีใช้กลองแขกหนึ่งคู่แทน)
                        ปี่พาทย์ เครื่องคู่นี้มีบรรเลงกันแพร่หลาย มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สาม ครั้นถึงรัชกาลที่สี่ได้มีการคิดสร้างระนาดทอง (ระนาดเอกเหล็ก) และระนาดทุ้มเหล็ก ขึ้นอีก จึงได้มีการเติมระนาดทั้งสองชนิดนี้เข้าไปในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ เลยกลายเป็นปี่พาทย์เครื่องใหญ่ไป
                        ส่วนวงปี่พาทย์มอญ  นั้นแต่เดิมเป็นของชาวรามัญนำเข้ามา ของเดิมมีเพียงปี่มอญ ฆ้องมอญ ฉิ่ง ฉาบ ตะโพนมอญ และเปิงมาง เท่านั้น วงปี่พาทย์ดังกล่าว มีสำเนียงเศร้า ๆ เย็น ๆ เหมาะแก่การบรรเลงในงานศพ
                        สำหรับวงปี่พาทย์นางหงส์  ก็ใช้บรรเลงในงานศพเช่นกัน และใช้กันมาก่อน แต่ปัจจุบันไม่ค่อยพบแล้ว วงปี่พาทย์นางหงส์ แบ่งออกเป็นสามขนาด เช่นเดียวกับปี่พาทย์ไทย
                        ส่วนวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ นั้น เป็นวงพิเศษที่สมเด็จ ฯ กรมพระยานริศรานิวัดติวงศ์ ทรงปรับปรุงขึ้นใหม่ สำหรับใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์เท่านั้น ท่านต้องการให้มีน้ำเสียงไพเราะนุ่มนวล และฟังเย็นหูจึงได้ตัดเอา เครื่องดนตรีประเภทที่มีเสียงแหลม และเสียงอึกทึกครึกโครมออกเสีย คงเหลือไว้แต่เครื่องบรรเลงที่มีเสียงเย็นนุ่มหู ฟังไพเราะเท่านั้น        ๑๙/ ๑๑๙๒๕
                ๓๕๗๒. ปีศาจ, ปิศาจ  ปลา   เป็นปลากระดูกอ่อนพวกหนึ่ง มีชื่ออื่นคือ ปลาราหู หรือปลากระเบนราหู อยู่ในทะเลเขตร้อน และเขตอบอุ่น ชอบอยู่ในน้ำค่อนข้างลึก ตัวไม่ใหญ่มาก ขนาดครีบหูที่แผ่ออกไปประมาณ ๖๐ ซม. ส่วนชนิดที่พบในทะเลเขตอบอุ่น จะมีขนาดใหญ่โตมาก ขนาดกว้างของครีบหู ที่แผ่ออกไปกว้างถึง ๖.๗ เมตร         ๑๙/ ๑๑๙๓๐
                ๓๕๗๓. ปึ่ง - แมลง   (ดู ปั่ง - ลำดับที่ ๓๑๖๙)        ๑๙/ ๑๑๙๓๒
                ๓๕๗๔. ปุณเถระ - พระ   เป็นพระเถระองค์หนึ่ง มีประวัติว่า มีกฎุมพีคนหนึ่งชื่อ ปุณณะ อยู่ในแคว้นสุนาปรันตปะ ได้นำสินค้าไปขายต่างเมือง ไปถึงกรุงสาวัตถีได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า แล้วเกิดศรัทธาอยากจะบวช จึงขอบวชในสำนักของพระพุทธองค์ เมื่อได้บวชแล้วก็มุ่งหน้าต่อพระกรรมฐาน แต่พระกรรมฐานไม่ปรากฎแก่ท่าน จึงประสงค์จะกลับไปยังแคว้นสุนาปรันตปะ จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอโอวาทตามสมควรแก่ตน
                        พระพุทธเจ้าได้ประทานโอวาท แล้วตรัสถามพระปุณณะว่า ชนชาวสุนาปรันตปะ ดุร้าย ถ้าพวกเขาด่าเธอ ขู่เธอ จะมีอุบายที่จะแก้ไขอย่างไร
                        พระปุณณะ ทูลว่า จะคิดในข้อนั้นว่า พวกเขาช่างดี ที่ไม่ประหาร
                        พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อไปว่า ถ้าพวกเขาจะช่วยกันทุบตีเธอ จะมีอุบายอย่างไร
                        พระปุณณะ ทูลว่า ถ้าพวกเขาจะฆ่าเราเสีย ก็จะคิดว่ามีพวกสาวกของพระพุทธเจ้าเช่นด้วยเรานี้อึดอัด ระอา เบื่อหน่ายเกลียดร่างกาย และชีวิต บางคนต้องเที่ยวหาศัสตรามาฆ่าตัวให้ตายไป บางคนก็หาวิธีตายด้วยวิธีอื่น ๆ แต่ตัวของเราไม่ต้องอย่างนั้นเลย
                        พระพุทธเจ้าจึงประทานสาธุการว่า ดีแล้ว เธอมีความสงบ มีความข่มใจ เธอไปยังสุนาปรันตปะ ได้
                        พระปุณณะ ได้เดินทางไปยังแคว้นสุนาปรันตปะ จำพรรษาอยู่ใน มกุฬการาม ได้บรรลุ วิชชาสาม ภายในพรรษานั้นเอง ดำรงชีวิตเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน แล้วนิพพาน ณ แคว้น นั้น           ๑๙/ ๑๑๙๓๓
                ๓๕๗๕. ปุณทาสี  เป็นคนรับใช้ของผู้มั่งมี ในบาลีมีข้อที่ควรสังเกตอยู่อย่างหนึ่งคือ คนรับใช้ที่เรียกกันว่า ทาส หรือ ทาสี ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงชื่อ ปุณ ทั้งนั้น ผู้ชายชื่อ ปุณณะ ผู้หญิงชื่อ ปุณณา แต่ละคนปฎิบัติเคร่งครัดในหน้าที่ของตน
                        ในที่นี้ จะกล่าวถึง นางปุณทาสี คนรับใช้ของราชคหเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งนางรับข้าวเปลือกมาตำมากไปหน่อย ซ้อมอยู่ทั้งวันยังไม่หมด ต้องจุดไฟสว่างซ้อมอยู่จนกลางคืน สมัยนั้น พระทัพมัลบุตร รับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปูลาดเสนาสนะในสงฆ์ฟังธรรม ตามไฟสว่างไม่ได้จำวัด ต่างคนต่างก็เดินไปมา จึงกำหนดใจว่าเราถูกความยากจนทรมาน จึงไม่หลังในเวลานี้ ส่วนพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายเหล่านี้จำวัดไม่ได้ เพราะอะไร
                        ครั้นรุ่งขึ้นเช้านางทำขนมแป้งปิ้งไฟ ตั้งใจจะกินที่ทางไปท่าน้ำ ระหว่างทางได้พบพระพุทธเจ้า จึงถวาย ฯ นมแป้งนั้น แล้วกราบทูลว่า ขอธรรมที่พระองค์ทรงเห็นแล้วจงสำเร็จแก่ตนด้วยเถิด พระพุทธองค์อนุโมทนาว่า ขอความปรารถนาของนางจงสำเร็จทุกประการเถิด ฝ่ายทางปุณทาสีก็คิดว่า พระพุทธองค์ทรงรับขนมของเรา แต่คงจะไม่เสวย พระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตของนางจึงทรงทำภัตกิจ พอเสวยเสร็จก็ตรัสเรียกนางมาตรัสถามว่า เธอว่าอะไรสาวกของเรา นางทูลว่าตนเองไม่ได้นอนเพราะความยากจนของตนทรมานตนเอง แต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่จำวัดเพราะอะไร
                        พระพุทธองค์จึงจรัสว่า สาวกของเราไม่ได้จำวัดเพราะประกอบความเพียรในการตื่นอยู่ เมื่อประกอบความเพียรเช่นนั้น ศึกษาไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา น้อมใจเข้าหานิพพาน อาสวะทั้งหลายย่อมถึงซึ่งความสิ้นไป พอเทศน์จบ นางปุณทาสีได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา        ๑๙/ ๑๑๙๓๕
                ๓๕๗๖. ปุ๋ย  คือสารอินทรีย์หรืออนินทรีย์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือทำขึ้นก็ตาม สำหรับใช้เป็นธาตุอาหารแก่พืชได้ไม่ว่าโดยวิธีใด หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดิน เพื่อบำรุงความเติบโตแก่พืช
                        ปุ๋ยแบ่งออกเป็นสองประเภทคือปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์     ๑๙/ ๑๑๙๓๘
                ๓๕๗๗. ปุราณกัสสป  เป็นชื่อรวมชฎิลสามคนพี่น้องเป็นเผ่าพงศ์กัสสปโคตร ผู้เป็นพี่ใหญ่ชื่อว่า อุรุเวลกัสสป ผู้เป็นน้องคนที่สองชื่อนทีกัสสป ผู้เป็นน้องคนที่สามชื่อ คยากัสสป อาศัยอยู่ในอุรุเวลาประเทศ ชฎิลผู้พี่ใหญ่มีบริวาร ๕๐๐ คน ตั้งอาศรมอยู่ ณ บริเวณตำบลอุรุเวลา ต้นทางของแม่น้ำเนรัญชรา ชฎิลผู้น้องคนที่สองมีบริวาร ๓๐๐ คน สร้างอาศรมอยู่บริเวณคุ้งแม่น้ำเนรัญชรา ชฎิลผู้เป็นน้องคนที่สามมีบริวาร ๒๐๐ คน สร้างอาศรมอยู่ปลายแหลมสุดใต้ลงไปในแม่น้ำ
                        พระพุทธองค์ประทับอยู่ทรมานปุราณกัสสป ณ ที่นั้นประมาณสองเดือน ต้องทรงแสดงปาฎิหาริย์ด้วยวิธีต่าง ๆ มากมายหลายวิธี อุรุเวลกัสสปหัวหน้าใหญ่จึงยอม แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท พร้อมทั้งบริวารแล้วลอยบริขารชฎิล และเครื่องบำเรอพรตตามลัทธิของชฎิล พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสมบทให้ เมื่อบริขารของพวกอุรุเวลกัสสปลอยไปตามน้ำถึงอาศรมนทีกัสสป นทีกัสสปเห็นเข้าก็ตกใจคิดว่าเกิดอันตรายแก่พี่ชายจึงชวนกันรีบมา เมื่อเห็นพี่ชาย และบริวารประพฤติพรหมจรรย์ และบอกว่าดี จึงพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าขอประพฤติพรหมจรรย์ในพระองค์ พระพุทธองค์ก็ประทานเอหิภิกขุอุปสมบทให้ คยากัสสปก็ทำนองเดียวกัน
                        หลังจากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จพร้อมด้วยภิกษุชฎิลทั้งหมดไปประทับ ณ ตำบลคยาสีสะ ทรงแสดงอาทิตยปริยายสูตร แก่ภิกษุปุราณชฎิลทั้งหมดนั้น จนทำให้บรรลุพระอรหันเป็นพระอรหันต์สิ้นทั้งหมด        ๑๙/ ๑๑๙๔๐
                ๓๕๗๘. ปุราณะ  เป็นคัมภีร์ประเภทหนึ่งของผู้นับถือลัทธิฮินดู แต่งเป็นคำประพันธ์ ร้อยกรองแบบโศลก บางทีได้รับยกย่องว่าเป็นพระเวท คัมภีร์ที่ห้าของศาสนานั้น ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ ใช้สำหรับสวดฟังแล้วได้บุญ คัมภีร์นี้เป็นเรื่องทำนองตำนานที่เล่าสืบกันมา เป็นเรื่องของเผ่าพันธ์มนุษย์ วงศ์กษัตริย์ ฤาษี ลัทธิ วิทยาธร คนธรรพ์ ทวยเทพ และอสูร ตลอดจนสัตว์ในนิยายเช่นครุฑ นาค หงส์ ราชสีห์ ฯลฯ และย้อนขึ้นไปถึงเรื่องการสร้างโลก นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่รวมของเรื่องปลีกย่อยนานาประการ เช่นเรื่องดาราศาสตร์ ปรัชญา ภูมิศาสตร์ เพชรนิลจินดา ฯลฯ จนดูราวกับว่าเป็นสารานุกรมแห่งความรู้ทั้งมวล
                        การแต่งคัมภีร์นี้ใช้เวลานาน บางเล่มใช้เวลามากกว่าร้อยปี แต่โดยนประเพณีนิยมที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณ กล่าวกันว่าฤาษีวยาส หรือกฤษณไทวปายน เป็นผู้รจนาแต่ผู้เดียว ทั้งสิบแปดคัมภีร์ เมื่อแต่งเสร็จได้มอบให้ลูกศิษย์คนหนึ่งนำไปสวดเผยแพร่แก่คนทั่วไป จนเป็นที่รู้จักและท่องจำกันได้แพร่หลาย ในสมัยต่อมา
                        คัมภีร์ปราณะเล่มเก่าแก่ที่สุดคงจะแต่งก่อนพุทธกาลเล็กน้อย และเล่มหลังสุดแต่งไม่เกินคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ คัมภีร์ปุราณาสิบแปดเล่ม มีดังนี้
                        ๑. พรหมปุราณะ เป็นเล่มแรกสุด จึงมีอีกชื่อว่า อาทิปุราณะ หรือปุราณะ เล่มแรกมีความยาว ๒๕,๐๐๐ โศลก กล่าวถึงพระพรหม แสดงคำสอนแก่พระทักษประชาบดี มีเนื้อเรื่องตอนหนึ่งแสดงเทวประวัติ
                        ๒. พรหมาณฑปุราณะ มีความยาว ๑๒,๐๐๐ โศลก กล่าวถึงความเป็นมาของจักรวาล ตามคำบอกเล่าของพระพรหม
                        ๓. พรหมไววรรตปุราณะ มีความยาว ๑๘,๐๐๐ โศลก บรรยายคำสอนของพระนารทฤาษี ซึ่งแสดงแก่สาวรรณิกปุราณะ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องการสร้างจักรวาล
                        ๔. มารกัณฑยปุราณะ มีความยาว ๙,๐๐๐ โศลก มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระอินทร์ พระสูรย และพระอัคคี อย่างละเอียด
                        ๕. ภุริษยปุราณะ มีความยาว ๑๔,๐๐๐ โศลก กล่าวถึงเรื่องอันจะเกิดมีในอนาคต เป็นคำกล่าวของพระสูรยะต่อพระมนูผู้เป็นมนุษย์ และกษัตริย์องค์แรกของโลก
                        ๖. วามนปุราณะ มีความยาว ๑๐,๐๐๐ โศลก มีเนื้อหาสาระคล้ายคลึงกับวราหปุราณะมากที่สุด กล่าวถึงอวตารปางต่าง ๆ ของพระวิษณุ ตั้งแต่ปางเป็นวามนะเรื่อยมาถึงอวตารปางสุดท้าย
                        ๗. วิษณุปุราณะ  มีความยาว ๒๓,๐๐๐ โศลก จัดว่าเป็นปุราณะที่สำคัญเล่มหนึ่ง เนื้อเรื่องส่วนใหญ่พรรณาถึงอวตารทั้งสิบสมัย (ปาง) ของวิษณุ โดยเหตุที่เล่มนี้เป็นคัมภีร์เก่าแก่ และมีค่าสูงสุดจึงได้ชื่อว่าเป็น ปุราณรัตนะ
                        ๘. ภาควตปุราณะ  มีความยาว ๑๘,๐๐๐ โศลก เป็นปุราณะที่มีความแพร่หลายมากที่สุด และเป็นที่จับจิตใจของบรรดาไวษณพ (ผู้นับถือพระวิษณุเป็นเทพสูงสุด) มากที่สุด คัมภีร์เล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ของอินเดียวแทบทุกภาษา
                        ๙. นารทียปุราณะ  มีความยาว ๒๕,๐๐๐ โศลก เป็นเรื่องที่พระนารทฤาษี เล่าแก่สนัตกุมาร เกี่ยวกับธรรมทั้งหลายในพฤหัตกัป
                        ๑๐. ครุฑปุราณะ  มีความยาว ๘,๐๐๐ โศลก เป็นเรื่องราวที่พระวิษณุทรงสั่งสอนแก่ครุฑ มีเรื่องดาราศาสตร์ อายุรศาสตร์ ไวยากรณ์ และเรื่องกำเนิดของเพชร รวมฟังคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ ครึ่งหลังแสดงความคิดทางปรัชญาว่า ชีวิตหลังความตาย
                        ๑๑. ปัทมปุราณะ  มีความยาว ๒๕,๐๐๐ โศลก เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็นหกตอน นอกจากเนื้อเรื่องจะบรรยายถึงความสำคัญของเดือนต่าง ๆ แล้ว ยังมีเรื่องแทรกที่สำคัญคือ เรื่องศกุนตลา กับเรื่องพระราม
                        ๑๒. วราหะปุราณะ  มีความยาว ๑๔,๐๐๐ โศลก กล่าวถึงพระวิษณุอวตารปางที่สาม เป็นวราหะ (หมู) เพื่อปราบอสูรร้าย และบรรยายเกี่ยวกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ อันมีชื่อเสียง
                        ๑๓. วายุปุราณะ  มีความยาว ๑๔,๐๐๐ โศลก พระวายุ เป็นผู้เล่ามีข้อความสดุดีพระเกียรติคุณ ของพระศิวะเป็นส่วนใหญ่
                        ๑๔. ลิงคปุราณะ  มีความยาว ๑๒,๐๐๐ โศลก บรรยายถึงคำสอนของพระศิวะผู้สถิตอยู่ในรูปของลิงคะ (เครื่องหมายเพศชาย)  และยังกล่าวถึง พระศิวะในรูปแบบอื่น ๆ อีก ๒๘ รูป
                        ๑๕. สกันทปุราณะ  มีความยาว ๘๔,๐๐๐ โศลก พระสกันทะ (โอรสพระศิวะ)  เป็นผู้เล่ามีเนื้อหาว่าด้วยการต่อสู้ระหว่าง พระสกันทะกุมาร กับ ตารกาสูร
                        ๑๖. อัคนิปุราณะ  มีความยาว ๑๒,๐๐๐ โศลก เป็นเรื่องราวอันทรงคุณค่าทางศิลปวิทยาการสาขาต่าง ๆ ที่เทพเจ้าอัคคี เล่าแก่พระวสิษพรหมฤาษี เช่น ดาราศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ รัตนศาสตร์ กาพยะลังการนาฎกะ (วิชาการละคร การตกแต่งคำ และกาพย์กลอน) และอื่น ๆ มีกล่าวถึง อวตารสองปางของพระวิษณุคือ รามจันทราวตาร และกฤษณาวตาร
                        ๑๗. มัตยปุราณะ  มีความยาว ๑๓,๐๐๐ โศลก  เป็นเรื่องที่มตสยะ (ปลา)  หรือพระวิษณุ อวตารปางที่หนึ่ง เล่าให้พระมนูปฐมกษัตริย์ของมนุษย์ฟัง และยังมีเรื่องอื่น ๆ ประกอบอีกมาก เช่น เรื่องของพระไชนมตะ (ศาสนาเชน)  พุทธมตะ (ศาสนาพุทธ)  นาฎยศาสตร์ และอานธรราชวงศ์ (เรื่องราวของกษัตริย์ ในแคว้นอานธระทางภาคใต้ของอินเดีย) ฯลฯ
                        ๑๘. กูรมปุราณะ  มีความยาว ๘,๐๐๐ โศลก เป็นเรื่องราวของพระวิษณุ สมัยอวตารเป็นกูรมะ (เต่า)  เป็นผู้เล่าที่บาดาลเกี่ยวกับอินทรยุมน์ และกล่าวถึงภูมิศาสตร์ของโลกโบราณว่า ประกอบด้วยทวีปทั้งเจ็ด มหาสมุทรทั้งเจ็ด และดินแดนภารตะ (อินเดีย)  ตั้งอยู่ท่ามกลางทวีปทั้งหลาย มีชื่อว่า ชมพูทวีป            ๑๙/ ๑๑๙๔๒
                ๓๕๗๙. ปุโรหิต  เป็นตำแหน่งหัวหน้าพราหมณ์ ผู้เป็นประธาน หรือผู้อำนวยการในการทำยัญพิธี ในราชสำนักของกษัตริย์ ในแว่นแคว้นต่าง ๆ ของอินเดียและประเทศต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาพราหมณ์
                        ตำแหน่งปุโรหิต ถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายพราหมณ์ มีอำนาจและอิทธิพลเคียงคู่กับตำแหน่งกษัตริย์ ในอินเดียมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของประวัติศาสตร์ ของชนชาติอารยันอินเดีย มีหลักฐานอ้างถึงในคัมภีร์พระเวท ประมาณ ๓,๕๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี มาแล้ว และถือกันว่าเป็นตำแหน่งที่มีมาในแดนสวรรค์ และโลกมนุษย์ ตั้งแต่สมัยเริ่มแรกคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุด ของศาสนาพราหมณ์คือ คัมภีร์ฤคเวท กล่าวถึงพระเจ้ารุ่นแรกสององค์คือ พระอัคนี กับพระพฤหัสบดี ว่าเป็นเทวปุโรหิตของทวยเทพทั้งหลาย
                        อำนาจและหน้าที่ของปุโรหิต โดยหลักใหญ่มีอยู่สองประการคือ ประการแรกในยามที่บ้านเมืองสงบ ปราศจากสงคราม ปุโรหิตมีหน้าที่เป็นประธานในการทำพิธีต่างๆ เพื่อพระราชา เพราะทวยเทพย่อมไม่รับเครื่องสังเวยจากพระราชาผู้ไม่มีปุโรหิต ประการที่สอง ในยามศึกสงคราม ปุโรหิตช่วยเหลือพระราชาในการพิธีทำลายล้างข้าศึก และนำชัยชนะมาสู่แว่นแคว้นของตน
                        ปุโรหิตต้องเป็นพราหมณ์ที่เรียนจบ และมีความเชี่ยวชาญในคัมภีร์พระเวททั้งสี่ อันได้แก่ คัมภีร์ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอถรรพเวท ซึ่งโดยปรกติพราหมณ์ทั่วไป ย่อมเลือกเรียนคัมภีร์พระเวทเล่มใดเล่มหนึ่ง         ๑๙/ ๑๑๙๕๑
                ๓๕๘๐. ปู  เป็นสัตว์ที่มีกระดองปกคลุมลำตัว และมีก้ามเป็นอาวุธป้องกันตัว ปูมีสิบขา ก้ามปูก็เป็นขาคู่หนึ่ง สัตว์ที่มีสิบขานี้ ก็ยังมีพวกกุ้ง และจักจั่นทะเล
                        ปูทั่วโลก มีมากกว่าพันชนิดมีขนาดแตกต่างกัน หลายชนิดอาศัยอยู่ในทะเล มีน้อยชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด บางชนิดอาศัยหากินบนบก
                        ปูส่วนมากกินเนื้อสัตว์ที่เน่าเปื่อย และสัตว์เป็น ๆ บางชนิดกินพวกสาหร่ายสีเขียว        ๑๙/ ๑๑๙๕๗
                ๓๕๘๑. ปูจ๋า  เป็นชื่อรายการอาหารใช้เนื้อปูปรุงตำรับหนึ่ง เมื่อปรุงแล้วบรรจุไว้ในกระดองปูม้า หรือกระดองปูทะเลแล้วจึงนึ่งให้สุก         ๑๙/ ๑๑๙๖๑
                ๓๕๘๒. ปูจาก  ปูแป้น หรือปูแปะ ก็เรียก เป็นปูน้ำเค็มอาศัยอยู่ตามชายทะเล หาดโคลนหรือป่าชายเลน ตามปากแม่น้ำนิยมเอาไปทำเป็นปูเค็ม เช่นเดียวกับปูเเสม         ๑๙/ ๑๑๙๖๒
                ๓๕๘๓. ปู่เจ้า ๑  เป็นชื่อเทพเจ้าประจำภูเขาใหญ่แห่งหนึ่ง ในป่าใกล้เมืองสอง ซึ่งเป็นเมืองของพระเพื่อน พระแพง ในเรื่องพระลอ มีนามเต็มว่า "ปู่เจ้าสมิงพราย"        ๑๙/ ๑๑๙๖๖
                ๓๕๘๔. ปู่เจ้า ๒  เป็นชื่อแหลมใน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี อยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะเตาหม้อ แหลมปู่เจ้าก็เรียก มีศาลบรรจุพระอัฐิของกรมหลวงชุมพร ฯ ที่ยอดเขาบนแหลมนี้มีกระโจมไฟ สูงทั้งกระโจมไฟ ๑๖๘ เมตร        ๑๙/ ๑๑๙๖๗
                ๓๕๘๕. ปูชนีย - แปลว่า น่านับถือ น่าบูชา ควรบูชา สิ่งที่น่าบูชา ที่ควรบูชานั้นมีสามอย่างคือ  บุคคลที่ควรบูชา เรียกว่า ปูชนียบุคคล วัตถุที่น่าบูชาเรียกว่า ปูชนียวัตถุ สถานที่ที่ควรบูชา เรียกว่า ปูชนียสถาน        ๑๙/ ๑๑๙๖๘
                ๓๕๘๖. ปูด - นก  เรียกเต็มว่า นกกะปูด         ๑๙/ ๑๑๙๖๙
                ๓๕๘๗. ปูทะเล  เป็นปูวงศ์เดียวกับปูม้า อาศัยอยู่ในทะเลโดยเฉพาะตามหาดโคลนที่เป็นป่าโกงกาง หรือป่าแสม ปูทะเลเป็นชื่อที่ใช้เรียกโดยทั่วไป ชื่อตามท้องถิ่นเรียกตามลักษณะ หรือสีส้น เช่น ปูทองโหลง ปูทองหลาง ปูทองแดง ปูทองดำ ปูขาว ปูสีน้ำตาล ปูดำ ปูเขียว แม่กระแชง และปูหนามเตย ปูกะเทย เป็นต้น         ๑๙/ ๑๑๙๖๙
                ๓๕๘๘. ปูน ๑ - เถาวัลย์  เป็นไม้เถาเลื้อย ใบขนาด ๙ - ๑๒ x ๕ - ๗ ซม. เป็นรูปหัวใจ มีมือจับเพื่อพยุงลำต้น ช่อดอกมีก้านขอบยาว ยาว ๕ - ๑๐ ซม. แยกออกเป็น ๓ - ๕ ช่อ จากจุดเดียวกัน หรือแตกตามข้อของลำต้น ดอกมีก้านสั้น และออกจากจุดเดียวกัน ผลเป็นฐานแคบ แต่ปลายกว้างคล้ายรูปลูกข่าง ผลเป็นช่อคล้ายผลองุ่น
                        เถาวัลย์ปูน มีสรรพคุณทางยา ใบสดใช้ผสมกับปูนใช้พอกแผลสด ส่วนเถาใช้เข้ายา เป็นยาขับปัสสาวะ หรือขับเสมหะ        ๑๙/ ๑๑๙๗๔
                ๓๕๘๙. ปูน ๒  คือ สิ่งที่ได้จากการเผาหินปูน หรือเผาสารที่มีเนื้อสารเกือบทั้งหมดเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต เช่น เปลือกหอย หินปะการัง เปลือกไข่ ให้สลายตัว วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปูนเป็นอุตสาหกรรมก็คือ หินปูน ซึ่งมีหลายชนิด โดยปรกติจะเป็นหินสีขาว มีปรากฎอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ และอาจปรากฎอยู่ในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น หินอ่อน ดินสอพอง ชอล์ก  การที่เรียกว่า "หินปูน" มาแต่โบราณก็เพราะว่าคนสมัยก่อนรู้จักนำหินชนิดนี้มาเผาทำปูนขาวเพื่อใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างต่าง ๆ หินปูนมีเนื้อสารส่วนใหญ่เป็นแคลเซียมคาร์บอเนต
                        ในปัจจุบันการผลิตปูนเป็นอุตสาหกรรม ก็ยังคงใช้วิธีนำหินปูนมาเผาให้ร้อนจัดจนเนื้อสารสลายตัว ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ใช้กันมาแต่สมัยโบราณ      ๑๙/ ๑๑๙๗๕
                ๓๕๙๐. ปูนา ๑  เป็นปูน้ำจืด ขุดรูอยู่ตามท้องทุ่งท้องนา หรือในที่น้ำขังชื้นแฉะ ออกมาให้เห็นตอนต้นฤดูฝน ชาวบ้านนำปูนามาเป็นอาหาร ปูนาเป็นศัตรูต่อการทำนาข้าวมาก เพราะชอบกัดกินต้นข้าว ต้นกล้า           ๑๙/ ๑๑๙๗๘
                ๓๕๙๑. ปูนา ๒  เป็นเมืองใหญ่ลำดับสาม ในรัฐมหาราษฎร์ของประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ด้านในของฆาต (ภูเขา) ด้านตะวันตก ที่แม่น้ำมุทากับแม่น้ำมุลา ไหลมาบรรจบกัน
                        ปูนา มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการปกครองของพวกมราฐะ ซึ่งมีอำนาจปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศอินเดีย ระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ภายหลังที่ราชวงศ์มุฆัล สิ้นอำนาจลงในประเทศอินเดีย พวกมราฐะตกอยู่ในอำนาจของอังกฤษโดยสิ้นเชิง ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ อังกฤษใช้เมืองนี้เป็นที่ทำการรัฐบาลแคว้นบอมเบย์ ในฤดูร้อน           ๑๙/ ๑๑๙๘๔
                ๓๕๙๒. ปูป่า  เป็นปูน้ำจืดชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ตามเนินดินตามชายป่า ขุดรูลึก ๑ - ๑.๕๐ เมตร โดยเฉพาะตามริมน้ำ พบในบริเวณป่าเขาแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี จ.กาญจนบุรี และ อ.หล่มสัก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์
                        ปูป่า มีลักษณะคล้ายปูแป้ง โดยทั่วไปมีขนาดใหญ่ กว้าง ๔๓ มม. ยาว ๓๒ มม. หนา ๒๒ มม.  ชาวบ้านบางรายนำมาเผากิน         ๑๙/ ๑๑๙๘๖
                ๓๕๙๓. ปูแป้ง  เป็นปูน้ำจืดชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ตามชายป่าริมน้ำ ขุดรูลึกประมาณ ๑ - ๑.๕๐ เมตร มีรายงานพบอยู่แห่งเดียวที่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี รูปร่างคล้ายปูนา         หนา ๑๑๙๘๙
                ๓๕๙๔. ปูม้า  อาศัยอยู่ในทะเล ชาวไทยนิยมนำมาประกอบอาหารหลายชนิด ปูม้ามีลักษณะกระดองสะดุดตา โดยเฉพาะหนามข้างกระดอง ซึ่งยื่นแหลมยาวไปทั้งสองข้าง และมีกระดองสีต่าง ๆ กัน ตั้งแต่สีเขียวถึงสีน้ำเงิน แต่มีจุดขาวประทั่วไป        ๑๙/ ๑๑๙๙๒
                ๓๕๙๕. ปูแสม  รู้จักกันทั่วไปอีกชื่อหนึ่งว่า ปูเค็ม อาศัยอยู่ในป่าชายเลนในระดับน้ำขึ้นลง ขุดรูอยู่ตามรากต้นโกงกาง กระดองเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ด้านกว้างมากกว่าด้านยาวเล็กน้อย มีกลุ่มขนสั้น ๆ กระจายอยู่บนกระดอง ๆ มีสีน้ำตาล ถึงสีม่วง        ๑๙/ ๑๑๙๙๖
                ๓๕๙๖. เป้ง - ต้น  เป็นพืชพวกปาล์ม ลำต้นตรง มีหน่อเกิดที่โคนต้น ใบเป็นใบประกอบ แบบขนนก ใบยอ่ยอยู่ที่ตรงโคน ใบเปลี่ยนเป็นหนามแข็ง โคนก้านใบเป็นเส้นใยแผ่เป็นกาบซ้อนกัน เป้งแยกเพศกันอยู่คนละต้น ดอกออกที่ซอกใบเป็นช่อใหญ่ ดอกย่อยเกิดห่าง ๆ กัน ผลมีเนื้อนุ่ม และมีเมล็ดหนึ่งเมล็ด
                        เป้ง ในไทยมีอยู่สามชนิดคือ เป้งบก หรือปุ่งเป้ง เป้งดอย และเป้งทะเล        ๑๙/ ๑๒๐๐๑
                ๓๕๙๗. เป็ด ๑  เป็นสัตว์ปีกชนิดหนึ่ง ปากแบน ตีนแบนเป็นแผ่น ขนาดเล็กกว่าห่าน ว่ายน้ำได้ มีหลายสี เลี้ยงเพื่อการบริโภคเนื้อ และไข่ มีหลายชนิด คือเป็ดนครปฐม เป็ดปากน้ำ เป็ดปักกิ่ง เป็ดกากีแคมเบลล์ เป็ดแมนดาริน เป็ดเทศหรือเป็ดมัสโควี เป็ดโป๊ยฉ่าย        ๑๙/ ๑๒๒๐๑
                ๓๕๙๘. เป็ด ๒ - เรือ  เป็นเรือลูกมาด และเสริมกาบ หัวแบนท้ายแบน กลางป่อง ดูรูปร่างเหมือนเป็ด จึงเรียกว่า เรือเป็ด ตามปรกติใช้แจว แต่ถ้ามีลมก็สามารถใช้แล่นใบได้ หางเสือติดประจำอยู่ท้ายเรือ ในยามจอดพักถอดออกได้
                        เรือเป็ดมีส่วนคล้ายคลึงกับเรือแบบอาหรับผสมอินเดีย นอกจากที่ท้ายเรือเป็ดแหลมไม่ตัดป้านเหมือนกับเรือแบบอาหรับผสมอินเดีย      ๑๙/ ๑๒๐๐๕
                ๓๕๙๙. เป็ด ๓ - ผัก  เป็นไม้ล้มลุกข้ามฤดู ลักษณะต้นเกลี้ยง ใบเปลี่ยนได้หลายรูป และหลายขนาด ตั้งแต่ใบแคบแหลม ถึงใบรูปไข่ ขนาด ๐.๗๕ - ๖๕ x ๐.๒๕ ซม. ดอกออกเป็นกระจุกกลม
                        ผักเป็ด เป็นพืชที่ขึ้นได้ทั่วไปตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึง ๑,๒๕๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มักขึ้นตามทุ่งนา ผลแห้งเล็กมักจะลอยตามน้ำ       ๑๙/ ๑๒๐๐๗
                ๓๖๐๐. เป็ดก่า - นก  (ดูเป็ดน้ำ - ลำดับที่ ๓๔๐๑)          ๑๙/ ๑๒๐๐๗
                ๓๖๐๑. เป็ดคับแค - นก  (ดูเป็ดน้ำ - ลำดับที่ ๓๔๐๑)          ๑๙/ที่  ๑๒๐๐๘
                ๓๖๐๒. เป็ดน้อย  เป็นชื่อตัวละครหนึ่งในเรื่องราชาธิราช  บิดาชื่อสมิงเลิกพร้า  เป็นเจ้าเมืองมองมะละ เป็ดน้อยนับเป็นพระญาติของพระเจ้าราชาธิราช เป็นคนมีน้ำใจกล้าหาญ และมีอาวุธพิเศษ คือ ดาบโพรงแก้ว เมื่อพระเจ้าราชาธิราชยกกองทัพมาตีเมืองมองมะละ เป็ดน้อยขออาสาชนช้างกับพระเจ้าราชาธิราช ผลปรากฏว่าช้างทรงของพระเจ้าราชาธิราช เสียทีเป็ดน้อยก็ชักดาบโพรงแก้วออกจะฟันแต่ด้วยบุญบารมีของพระเจ้าราชาธิราช เป็ดน้อยไม่สามารถชักดาบออกจากฝักได้ ได้แต่ฟาดดาบทั้งฝักไปถูกพระพักตร์พระเจ้าราชาธิราชแตกไปหน่อยหนึ่ง แล้วพระเจ้าราชาธิราชก็เอาชนะเป็ดน้อยได้และเก็บดาบโพรงแก้วไวเป็นพระแสงต้น   ส่วนเป็ดน้อยนั้นเห็นว่าตนได้ทำการอาจหาญเกินเลยไปจึงขอลาตาย          ๑๙/ ๑๒๐๐๘
                ๓๖๐๓. เป็ดน้ำ - นก  เป็นนกที่มีลักษณะปาก และตีนคล้ายเป็ดบ้าน ว่ายน้ำดำน้ำได้เก่งบินแข็งชอบหากินพืชแะสัตว์ในน้ำ ตามบึงหนอง และท้องนาที่น้ำท่วมถึงบางครั้งลงไปหากิน  หรือลอยอยู่ตามชายทะเล บางชนิดหากินพืชบนพื้นดิน  ชอบอยู่และหากินกันรวมกันเป็นฝูง  แต่งพอถึงฤดูผสมพันธุ์ก็แยกพวกกัน ไปยังที่ที่ของตัวเคยทำรังส่วนมากทำรังใกล้ๆน้ำ  มีหลายชนิดบินย้ายถิ่นตามฤดูกาลได้ไกลๆ
                        เป็ดน้ำทั่วโลกมี  ๑๔๗ ชนิด เคยพบในประเทศไทยถึง ๑๖ ชนิด เป็ดน้ำแบ่งเป็นพวกๆ ด้วยวิธีหากินของพวกมัน  คือ
                            ก. พวกนกเป็ดน้ำที่หากินตามผิวน้ำ  มีเป็ดทอมหรือเป็ดหางแหลม เป็ดปีกเขียว นกเป็ดเทา เป็ดแกดวาล เป็ดปากสั้น เป็ดลาย และเป็ดปากพลั่ว
                            ข. พวกเป็ดน้ำที่ชอบดำน้ำหากิน  มีเป็ดดำหลังขาว เป็ดดำหัวสีน้ำตาล เป็ดดำหัวดำ เป็ดเปีย
                            ค. พวกเป็ดน้ำที่ทำรังในโพรงไม้สูง  มีนกเป็ดแดง นกเป็ดคับแค นกเป็ดพม่า เป็ดหงษ์ เป็ดก่า          ๑๙/  ๑๒๐๐๙
                ๓๖๐๔. เป็ดผี ๑   เป็นชื่อที่ใช้เรียกตั๊กแตนหนวดยาวกลุ่มหนึ่งซึ่งทำเสียงหวิดหวิวในเวลากลางคืน          ๑๙/ ๑๒๐๑๕
                ๓๖๐๕. เป็ดผี ๒ - นก  เป็นนกที่ดูเผิน ๆ คล้ายเป็ดน้ำ แต่มีปากแหลมไม่เเบนเหมือนนกเป็ดน้ำทั่วไป มีขนาดเล็กเท่ากำปั้นของคนผู้ใหญ่ หางสั้นมาก ตีนไม่แบนอย่างตีนเป็ด นิ้วตีนแบนเป็นพาย แต่ละนิ้วแยกจากกัน มีทั่วโลก ๑๘ ชนิด แต่มีชนิดเดียวในประเทศไทย ทำรังวางไข่บนจอกแหนที่ลอยอยู่เหนือน้ำ พบตามบึง สระ และทุ่งนาที่น้ำท่วมทั่วไป          ๑๙/ ๑๒๐๑๘
                ๓๖๐๖. เป็ดหงษ์ - นก  (ดูเป็ดน้ำ - ลำดับที่ ๓๔๐๑)          ๑๙/ ๑๒๐๑๘
                ๓๖๐๗. เปรตพลี  (ดูพลี - ลำดับที่...)          ๑๙/ ๑๒๐๑๘

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch