หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/92
    ๓๕๑๗. ปาณฑพ   เป็นชื่อเรียกกษัตริย์ห้าองค์ที่เป็นโอรสของท้าวปาณฑุ กษัตริย์จันทรวงศ์ ผู้ครองราชย์ ณ กรุงหัสตินาปุระ ทั้งห้าองค์ดังกล่าวได้แก่ ยุธิษฐิระ ภีมะ อรชุน นกุล และสหเทพ ทั้งห้าองค์ประสูติแต่พระมเหสีสององค์คือ พระนางกุมตี เป็นพระมารดาของยุธิษฐิระ ภีมะและอรชุน พระนางมัทรี เป็นพระมารดาของ นกุล และสหเทพ
                        เรื่องของปาณฑพ มีอยู่ว่าในยุคต้นของชมพูทวีปภาคเหนือ กษัตริย์จันทรวงศ์ ครองราชย์ ณ กรุงหัสตินาปุระ (เมืองช้าง)  เหนือฝั่งแม่น้ำคงคา (ประมาณ ๙๑๐ กม. ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครเดลลี เริ่มแต่มหาฤาษีอัตร มาจนถึงราชาธิบดีองค์หนึ่งคือ ท้าวภารตะ ซึ่งภายหลังคำ ภารตะ นี้กลายเป็นนามของประเทศอินเดีย โอรสของท้าวทุษยันต์ กับพระนางศกุนตลา ถัดลงมาอีกหลายชั่วกษัตริย์ถึงรัชสมัยกษัตริย์ทรงธรรม ลือพระนามองค์หนึ่งคือ พระเจ้าศานตนุ พระปัยยิกา ของกษัตริย์ปาณฑพ และโกรพ
                        ต่อมาเจ้าปาณฑพ ได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ชื่อ ปาณฑวปรัสถ์ (ต่อมาเรียกว่า อินทรปรัสถ์ คือ บริเวณโดยรอบกรุงเดลีเก่า ในปัจจุบัน)
                        ด้วยเหตุนี้ ราชอาณาจักรหัสตินาปุระ จึงแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ฝ่ายกุรุ มีทุรโยชน์ เป็นหัวหน้า เลือกเอามณฑลต่าง ๆ ทางภาคตะวันออก (หัสตินาปุระ เดิม) ไว้เป็นสิทธิของตน ฝ่ายปาณฑพมียุธิษฐิระ เป็นหัวหน้าได้มณฑลตะวันตก อันทุรกันดาร เป็นทะเลทราย สร้างเมืองหลวงอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา
                        ต่อมาได้เกิดการสงครามกันระหว่างกษัตริย์ปาณฑพ กับกษัตริย์โกรพ ณ ทุ่งกุรุเกษตร ฝ่ายปาณฑพเป็นฝ่ายชนะ หลังจากการรบกันได้ ๑๘ วัน ทั้งนี้ด้วยคำเตือนสติอรชุนของกฤษณะ ผู้เป็นพระญาติ และทำหน้าที่เป็นสารถีให้อรชุน เรื่องราวดังกล่าวปรากฎอยู่ในคัมภีร์ภควัทคีตา หัวใจปรัชญาของชนชมพูทวีป มาแต่โบราณกาล
                        ต่อแต่นั้น ปาณฑพทั้งห้า พร้อมพระชายาและพระชนนี ก็พากันเสด็จกลับกรุงอินทรปรัสถ์ ยกพระเชษฐาองค์ใหญ่ขึ้นครองราชย์ ประกาศรวมกรุงหัสตินาปุระ กับกรุงอินทรปรัสถ์ เข้าเป็นแผ่นดินเดียวกัน         ๑๘/ ๑๑๗๒๕
                ๓๕๑๘. ปาณฑุรงค์ หรือปาณฑุรังค์  เป็นนามหนึ่งของพระกฤษณะ อวตารปางที่แปดของพระนารายณ์ ในอาเซียอาคเนย์ เป็นชื่อเมืองซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ผันรัง ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลทางภาคใต้ของประเทศเวียดนาม เคยเป็นราชธานีของอาณาจักรจัมปา ซึ่งชาวเมืองคือ ชาวจามเป็นเชื้อชาติมลายู หรืออินโดนิเซีย และได้รับอารยธรรมจากอินเดีย เมืองนี้ได้เป็นราชธานีของอาณาจักรจัมปา ตั้งแต่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๓  ในระยะนี้กองทัพเรือของชวาได้เข้ามาปล้นสะดม อาณาจักรจัมปา และทำลายเทวาลัยที่สำคัญลง ต่อมาในปี พ.ศ.๑๓๔๖ พระราชาจาม ซึ่งครองราชย์อยู่ที่เมืองปาณฑุรังค์ ได้ส่งกองทัพเข้าไปรุกรานดินแดน ทางตอนใต้ของประเทศจีน และส่งกองทัพไปโจมตีอาณาจักรขอม ในตอนต้นรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่สอง
                        ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรขอม ราว (พ.ศ.๑๗๒๔ - ราว ๑๗๖๐)   กองทัพขอมได้เข้าโจมตีอาณาจักรจัมปา และเจ้าชายจัมปาทรงนามว่า วิทยานันทนะ ซึ่งเข้ามารับราชการอยู่กับพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ก็ได้ปกครองดินแดนทางภาคใต้ของอาณาจักรจัมปา โดยมีเมืองปาณฑุรังค์ เป็นราชธานี ทรงพระนามว่า สุรยวรรมเทพ ต่อมาได้รวบรวมอาณาจักรจัมปาภาคเหนือเข้าไว้ และประกาศเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่อาณาจักรขอมอีก ต่อมาในปี พ.ศ.๑๗๔๖ พระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ได้ส่งกองทัพขอมมาปราบปรามได้ ต่อจากนั้น อาณาจักรจัมปาก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๗๔๖ - ๑๗๖๓ แต่หลังจากนั้น อาณาจักรจัมปาก็กลับเป็นอิสระใหม่ และยังคงมีราชธานีอยู่ที่เมืองวิชัย (บิญดิญ) ทางทิศเหนือของเมืองปาณฑุรังค์ ต่อมาในปี พ.ศ.๑๗๙๒ เจ้าชายหริเทพ แห่งสกัญวิชัย ได้ยกทัพมาตีเมืองปาณฑุรงค์
                         ต่อจากนี้ เมืองปาณฑุรังค์ ก็ไม่ปรากฎชื่อในเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ของอาณาจักรจัมปาจนกองทัพญวน เข้าโจมตีทำลายอาณาจักรจัมปาลงได้ในปี พ.ศ.๒๐๑๔         ๑๘/ ๑๑๗๓๕
                ๓๕๑๙. ปาณินี  เป็นนักปราชญ์อักษรศาสตร์ ผู้สร้างศิลปศาสตร์ทางภาษาสันสกฤต ซึ่งพวกพราหมณ์ถือเป็นภาษาเทวดา อันเป็นมูลฐานของภาษากลุ่มอารยันทั้งหมด ปาณินี เป็นผู้รจนาตำราไวยากรณ์ภาษาสันสกฤต ชื่อ ปาณินียัม
                        ตามประวัติ ปาณินี เกิดในตระกูลพราหมณ์ ชาวบ้านศาลาตูร แคว้นคันธาระ ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำสินธุ เกิดเมื่อ ๕๗ ปี ก่อน พ.ศ. ก็มี เมื่อปี พ.ศ.๑๔๓ ก็มี
                        นักปราชญ์ภาษาสันสกฤต อ้างว่า ก่อนมีตำราปาณินียัม มีตำราภาษาสันสกฤตอื่นอยู่บ้างแล้ว         ๑๘/ ๑๑๗๓๗
                ๓๕๒๐. ปาด  เป็นสัตว์สะเทินน้ำ สะเทินบก พวกเดียวกับกบ และเขียด แต่พวกนี้ชอบอยู่ตามต้นไม้ มีขนาดเล็ก ขาหลังยาว หัวกว้างกว่ายาว นิ้วตัน ตรงปลายมีตุ่ม ใช้สำหรับเกาะต้นไม้ ใต้ลำคอ และใต้ท้องมักมีเมือกเหนียว ช่วยยึดตัวกับพื้น หรือใบไม้ที่เกาะ สีตัวเขียว แต่มักเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ดำหรือเหลืองได้ ระหว่างโคนนิ้วมีหนังยึดติดกันเป็นแผ่น ทำให้ใช้ว่ายน้ำได้ด้วย         ๑๘/ ๑๑๗๓๙
                ๓๕๒๑. ปาดังเบซาร์  เป็นชื่อสถานีรถไฟสายใต้ใน อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นสถานีชายแดนประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่นอกเขตแดนไทยระยะ ๖๕๐ เมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ ตามทางรถไฟสายใต้ ๙๙๐ กม.           ๑๘/ ๑๑๗๓๙
                ๓๕๒๒. ป่าแดด  อำเภอขึ้น จ. เชียงราย ภูมิประเทศมีภูเขาล้อมอยู่ทั้งสี่ด้าน
                        อ.ป่าแดด แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ขึ้น อ.พาน ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘         ๑๘/ ๑๑๗๓๙
                ๓๕๒๓. ปาติโมกข์  เป็นคัมภีร์ที่รวมพระวินัยของพระภิกษุสงฆ์ ข้อปฎิบัติที่เป็นสำคัญมีพระพุทธานุญาต ให้พระสงฆ์สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
                        สิกขาบทมาในพระปาติโมกข์มี ๑๕๐ ถ้วน เป็นปราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ นิสสัคคัยปาจิตตีย์ ๓๐ สุทธิกปาจิตตีย์ ๙๒ ปาฎิเทสนียะ ๔ อธิกรณสมถะ ๗ แต่ในพระปาติโมกข์ที่สวดกันอยู่ และในคัมภีร์วิภังค์ แห่งสิกขาบท แสดงว่ามี ๒๒๗ สิกขาบทคือ เติม อนิยต ๒ เสนียวัตร ๗๕ เข้าไปด้วย
                        สิกขาบท ที่มาในพระปาติโมกข์นั้น ปรับอาบัติแก่พระภิกษุผู้ละเมิดไว้ครบทุกชื่อ โดยตรงสี่คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ อันต่างโดย นิสสัคคีย์ และสุทธิกะ และปาฏิเทสนิยะ โดยอ้อมสามคือ ถุลลัจจัย ทุกกฏ ทุพภาษิต         ๑๘/ ๑๑๗๔๐
                ๓๕๒๔. ป่าติ้ว  อำเภอ ขึ้น จ.ยโสธร ภูมิประเทศเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ มีป่าโปร่งทั่วไป ด้านใต้เป็นที่ราบลุ่ม
                        อ.ป่าติ้ว แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ ขึ้น อ.คำเขื่อนแก้ว ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒         ๑๘/ ๑๑๗๔๒
                ๓๕๒๕. ปาทาน  เป็นชื่อชนชาติที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง ในประเทศอัฟกานิสถานเชื่อกันว่า คงจะสืบเชื้อสายมาจากชนชาติอินโดอารยัน มีนิสัยบึกบึนทรหด และเป็นนักรบที่เก่ากล้า ชอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ นับถือศาสนาอิสลาม ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ชาวปาทานได้รวบรวมกำลังต่อต้านอำนาจปกครองของเปอร์เซีย และได้สถาปนาประเทศอัฟกานิสถานขึ้น ปัจจุบันประชากรประเทศอัฟกานิสถาน ประมาณร้อยละ ๖๐ เป็นชนชาติปาทานนี้          ๑๘/ ๑๑๗๔๒
                ๓๕๒๖. ปาน  เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ที่เกิดจากการที่มีการรวมกลุ่มของเซลล์ ซึ่งเจริญและแบ่งตัวผิดปรกติ เกิดขึ้นในระยะที่อยู่ในครรภ์
                        ส่วนมากจะพบปานตั้งแต่แรกคลอด มีส่วนน้อยที่พบเริ่มเกิดในวัยเด็ก หรือวัยรุ่น ปานจะขยายขึ้นหลังคลอด ตามการเจริญเติบโตของเด็ก เมื่อถึงระยะหนึ่งจะหยุดขยาย และอาจจะค่อย ๆ เล็กลง หรือคงสภาพเดิมติดตัวไปตลอดชีวิต          ๑๘/ ๑๑๗๔๒
                ๓๕๒๗. ป่าน ๑  เป็นเส้นใยที่จากพืชบางชนิด และนำมาใช้ทำด้าย เชือก ผ้า กระดาษ และผลิตภัณฑ์สิ่งทอต่าง ๆ จำแนกได้สองประเภทคือ
                        ก. ป่านประเภทเส้นใยละเอียด สม่ำเสมอ อ่อนนุ่ม แต่เหนียว และทนทาน มีเลื่อมมันเงางาม คล้ายเส้นไหม เมื่อนำไปทอผ้าจะได้ผ้าเนื้อละเอียดงดงาม ป่านประเภทนี้ได้แก่ ลินิน และป่านรามี ซึ่งมีความเหนียวกว่าฝ้ายถึงแปดเท่า
                        ข. ป่านประเภทใยค่อนข้างหยาบ และยืดหยุ่นได้น้อย ใช้ทำเชือก สิ่งทอหยาบ ๆ และลูกขัด สำหรับขัดโลหะต่าง ๆ ให้เป็นเงางาม ได้แก่ ป่านมนิลา และป่านศรนารายณ์         ๑๘/ ๑๑๗๔๔
                ๓๕๒๘. ป่าน ๒  ผ้าเนื้อละเอียดและค่อนข้างบาง ที่ทอจากเส้นใยพืชบางชนิด เช่น ผ้าป่านทอจากเส้นใยของฝ้าย ผ้าป่านลินิน จากเส้นใยของป่านลินิน และผ่าป่านรามี หรือป่านรานี จากเส้นใยของป่านรามี         ๑๘/ ๑๑๗๔๕
                ๓๕๒๙. ปานดง  (ดู ประดง - ลำดับที่ ๓๓๓๑)         ๑๘/ ๑๑๗๔๕
                ๓๕๓๐. ปานะ  น้ำสำหรับดื่ม หมายเอาเฉพาะน้ำดื่มที่จัดเป็นเภสัชของพระภิกษุ และสามเณรเรียกว่า "น้ำปานะ" หรือ น้ำอัฐบาน เพราะเดิมทำด้วยผลไม้แปดชนิด พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเป็นยามกาลิก สำหรับพระภิกษุและสามเณร ให้ฉันได้ชั่วคราวคือ วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ต่อมาถึงแม้จะทำด้วยของอื่น ก็เรียกว่า น้ำอัฐบาน
                        น้ำผลไม้แปดอย่าง ได้แก่ น้ำมะม่วง น้ำชมพู่ หรือน้ำลูกหว้า น้ำกล้วยมีเมล็ด น้ำมะซาง น้ำลูกจันทน์  หรือน้ำองุ่น น้ำเหง้าบัว และน้ำมะปราง หรือน้ำลิ้นจี่          ๑๘/ ๑๑๗๔๕
                ๓๕๓๑. ปานามา ๑ - ประเทศ  ตั้งอยู่ตรงส่วนใต้สุดของทวีปอเมริกาเหนือ มีคลองปานามาตัดผ่าน แบ่งประเทศออกเป็นสองส่วน นอกจากบนแผ่นดินใหญ่แล้ว ยังประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ทางด้านทะเลแคริบเบียน และด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ประเทศปานามา มีรูปร่างทอดยาวจากตะวันตก ไปทางตะวันออก ด้านเหนือติดต่อกับทะเลแคริบเบียน ด้านตะวันออกติดต่อกับประเทศโคลัมเบีย ทางใต้ติดต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก ด้านตะวันตกติดต่อกับประเทศคอสตาริกา มีพื้นที่ ๗๔,๔๗๐ ตาราง กม. ด้านยาวจากตะวันออกถึงตะวันตก ประมาณ ๗๒๐ กม.  ด้านกว้างระหว่าง ๕๐ - ๑๘๐ กม.
                        ส่วนใหญ่ของปานามาเป็นภูเขา ทางตะวันตกเป็นส่วนของภูเขาทาลามานดา ทางตะวันออกของเมืองโคลอน เป็นภูเขาซานปลาสส์ ต่อไปเป็นภูเขาแซร์ราเนียเดล ดาเรียน ระหว่างภูเขาทาลามานดา กับภูเขาซานบาสส์ เป็นคลองปานามา
                        นักสำรวจชาวสเปน เป็นผู้เดินทางมาถึงชายฝั่งของปานามา ทางด้านทะเลแคริบเบียน เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๔ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๔๕  โคลัมบัสมาถึงปี พ.ศ.๒๐๕๒ สเปนประกาศว่า ปานามาเป็นอาณานิคมของสเปน ปี พ.ศ.๒๐๕๖ มีผู้เดินทางข้ามคอคอด มาพบมหาสมุทรแปซิฟิก
                        ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๐๘๕ - ๒๒๘๒ ปานามา มีฐานะเป็นมณฑลหนึ่งของเปรู จากปี พ.ศ.๒๒๘๒ - ๒๓๕๒ เป็นมณฑลหนึ่งของนิวเกรนาดา เมื่อเกรนาดาเป็นเอกราช เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๒ ปานามาเปลี่ยนเป็นมณฑลหนึ่งของโคลัมเบียอยู่ และได้เป็นเอกราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖         ๑๘/  ๑๑๗๔๗
                ๓๕๓๒. ปานามา ๒ - คลอง  เป็นคลองที่ขุดผ่านคอคอดปานามา เชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก ยาวประมาณ ๘๐ กม. เปิดให้เรือผ่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ใช้เวลาเดินเรือ ๘ ชม. ปานามายินยอมให้สหรัฐอเมริกามีอำนาจในการปกครองเขตคลองคือ บริเวณสองฝั่งของคลองกว้าง ๑๖ กม.
                        ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ปานามากับสหรัฐอเมริกาได้ทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ เกี่ยวกับคลองปานามา สหรัฐจ่ายค่าเช่าคลองให้ปานามาเพิ่มขึ้นเป็นปีละ ๑,๙๓๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ ต่อจากนั้นมา ปานามาเริ่มเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกา คืนคลองปานามาให้ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ เกิดการจลาจลวุ่นวายในเขตคลอง ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๐ - ๒๕๑๓ สหรัฐอเมริกาเสนอให้มีการทำสนธิสัญญากันใหม่หลายครั้ง แต่ปานามาไม่ยอมรับ
                        ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ สหรัฐอเมริกากับปานามาได้ทำสนธิสัญญากันสองฉบับ ฉบับที่หนึ่ง จะมีการโอนคลองปานามาให้แก่ปานามา ระหว่างนี้ปานามาจะได้ค่าเช่าคลองเพิ่มขึ้นเป็นปีละสิบล้านเหรียญสหรัฐ และสหรัฐอเมริกาจะถอนทหารทั้งหมดออกจากเขตคลอง ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ ฉบับที่สอง จะมีการประกันความเป็นกลางของคลองปานามา         ๑๘/ ๑๑๗๔๑
                ๓๕๓๓. ปาปวน  คือ ชาวพื้นเมืองของเกาะนิวกินี และหมู่เกาะใกล้เคียง พวกปาปวนจัดอยู่ในกลุ่มนิโกร พวกที่อยู่แถบชายฝั่งมีรูปร่างสูงปานกลาง พวกที่อยู่แถบภูเขาตอนกลางเกาะจะเตี้ยมาก ผิวสีมีตั้งแต่สีน้ำตาลแก่ จนถึงขาวปนแดง
                        พวกปาปวน ส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูก เพื่อยังชีพ พวกที่อยู่แถบชายฝั่งจะเป็นชาวประมง และล่าสัตว์          ๑๘/ ๑๑๗๕๓
                ๓๕๓๔. ปาปิรัส - กระดาษ  ปาปิรัส เป็นชื่อของกระดาษชนิดหนึ่ง ซึ่งเริ่มใช้กันมาแล้ว ตั้งแต่ประมาณ ๒๕๐๐ ปีก่อนพุทธกาล ในสมัยโบราณกระดาษชนิดนี้ทำจากต้นกกชนิดหนึ่ง ซึ่งงอกงามอุดมอยู่ตามลุ่มแม่น้ำไนล์ ประเทศอิยิปต์
                        ในการผลิตจำหน่ายนั้น มักจะผลิตเป็นม้วน แต่ละม้วนประกอบด้วยกระดาษประมาณ ๒๐ แผ่น กว้างไม่เกิน ๒๕.๔ ซม. ทาแป้งเปียกให้ยาวต่อเนื่องกัน เป็นความยาวประมาณ ๑๔ เมตร ในสมัยนั้น การติดต่อสื่อสารด้วยหนังสือ การบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ การประกาศทางราชการ การบันทึกทางวิชาการ ทางศาสนา ทางศาล ทางสถาปัตยกรรม แผนผัง คำพยากรณ์ และการติดต่อทางการทูต ก็ใช้กระดาษปาปิรัส ทั้งสิ้น
                        บรรดาม้วนกระดาษปาปิรัสที่ค้นพบแล้วนั้น ปรากฎว่าอักขระที่บันทึกนั้น เป็นอักขระโบราณสมัยต่าง ๆ ของอิยิปต์ก็มี เป็นอักขระโบราณในภาษากรีก ละติน อาระบิก ฮิบรู และซีเรีย ก็มี
                        ความนิยมใช้กระดาษปาปิรัสได้เริ่มเสื่อมลง ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการผลิตกระดาษจากวัสดุอื่นได้ มีหลักฐานว่า ชาวอิยิปต์ได้เริ่มผลิตกระดาษ ซึ่งทำจากฝ้ายได้ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๑๔๔           ๑๘/ ๑๑๗๕๔
                ๓๕๓๕. ป่าโมก  อำเภอ ขึ้น จ.อ่างทอง ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำนา มีป่าละเมาะบ้าง
                        ป่าโมก เป็นตำบลที่พม่าเคยเดินทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา และเคยเป็นสนามรบระหว่างกองทัพของสมเด็จพระนเรศวร ฯ กับทัพหน้าของพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๘
                        อำเภอนี้ มีปูชนียวัตถุสำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ อยู่ที่วัดป่าโมก ยาวประมาณ ๒๒ เมตร วัดป่าโมก ก่อนสถาปนาเรียก วัดตลาด         ๑๘/ ๑๑๗๕๗
                ๓๕๓๖. ปาย ๑  อำเภอ ขึ้น จ.แม่ฮ่องสอน มีอาณาเขตทิศเหนือจดประเทศพม่า  ภูมิประเทศเป็นป่า ภูเขา และลำห้วยคละกัน
                        อ.ปาย ชาวบ้านเรียก อ.เมืองปาย เพราะแต่เดิมเป็นเมือง ที่เรียกว่า เมืองปาย เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปาย          ๑๘/ ๑๑๗๕๘
                ๓๕๓๗. ปาย ๒  - แม่น้ำ  เกิดจากลำห้วยหลายสาย ซึ่งมียอดน้ำอยู่บริเวณทิวเขาถนนธงชัย ร่วมกับทิวเขาแดนลาวในเขต อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ไหลลงทางใต้ผ่าน อ.ปาย แล้ววกไปทางทิศตะวันตก เข้าเขต อ.เมืองแม่ฮ่องสอน วกลงทางทิศใต้ แล้วไปทางทิศตะวันตก ผ่านแนวพรมแดนประเทศไทยกับประเทศพม่า ตรงช่องทางที่ชื่อว่า ช่องน้ำเพียงดิน ในเขต อ.เมืองแม่ฮ่องสอน  แล้วไหลเข้าเขตประเทศพม่า ไปลงแม่น้ำคง (สาละวิน) ยาว ๑๙๐ กม. (อยู่ในเขตประเทศไทย ๑๕๐ กม.)        ๑๘/ ๑๑๗๕๙
                ๓๕๓๘. ปายาส - ข้าว  มีบทนิยามว่า "ข้าวชนิดหนึ่งที่หุงเจือด้วยน้ำนม และน้ำตาล ,ข้าวเปียกเจือนม" ข้าวปายาสนี้ บางทีก็เรียกว่า ข้าวมธุปายาส
                        ประเทศไทยมีประเพณีกวนข้าวปายาส และทำยาคูกันในกลางเดือนสิบ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่เรียกว่า กวนข้าวปายาส เรียกว่า กวนข้าวทิพย์         ๑๘/ ๑๑๗๕๙
                ๓๕๓๙. ปาราชิก  เป็นชื่ออาบัติ หมวดหนึ่งในพระวินัยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตั้งเป็นพระพุทธบัญญัติเป็นสิกขาบทไว้ เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหาย และวางโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด ด้วยปรับอาบัติหนักตามสิกขาบทนั้น ๆ  เมื่อภิกษุละเมิดคือ ต้องเข้าแล้ว ต้องขาดจากความเป็นภิกษุ บวชอีกไม่ได้ มีอยู่สี่ข้อ หรือสี่สิกขาบทคือ เสพเมถุน ลักทรัพย์ ฆ่ามนุษย์ และอวดอุตริมนุสธรรม
                        อาบัติปาราชิกนี้ ภิกษุผู้ต้องอาบัติคือ ล่วงละเมิดแล้ว นอกจากขาดจากความเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังห้ามมรรคผล ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพานด้วย นอกจากนี้ เมื่อมารับบรรพชาอุปสมบทอีก โดยปิดบังอำพราง หรือไม่ละการแต่งกายอย่างบรรพชิต ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ในสมัยก่อนถือเป็นโทษถึงประหารชีวิต แล้วให้ริบราช บาตร ขับเฆี่ยน ตีโบยญาติโยมอย่างหนัก เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป หรือไม่เมื่อกลับมาเป็นฆราวาส ยังสักหมายโทษ และนัยว่าให้เป็นตะพุ่นคือ คนที่ถูกเกณฑ์ให้เกี่ยวหญ้าเลี้ยงช้าง เรียกว่า ตะพุ่นหญ้าช้าง          ๑๘/ ๑๑๗๖๖
                ๓๕๔๐. ปาริชาติ  เป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง กล่าวถึงในวรรณคดีหลายเล่มว่า เป็นพันธุ์ไม้ในสวรรค์ ผู้ใดได้กลิ่นหอมของดอกไม้ชนิดนี้แล้ว จะสามารถระลึกชาติได้ ในไตรภูมิพระร่วงตอนหนึ่ง บรรยายว่า ต้นปาริชาติคือ ต้นทองหลางขนาดใหญ่ ซึ่งนาน ๆ จะออกดอกสักครั้งหนึ่ง และเมื่อออกดอกจะออกสะพรั่ง พร้อมกันทั้งต้นสีของดอกสดใสเจิดจ้า เห็นได้ในระยะไกลเช่นเดียวกับกลิ่นหอมของดอก         ๑๘/ ๑๑๗๗๑
                ๓๕๔๑. ปาล์ม  เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว วงศ์ปาล์มเป็นวงศ์ใหญ่ และเป็นพันธุ์ไม้ที่ให้ประโยชน์แก่มนุษย์อย่างมาก คำว่า ปาล์ม ไม่ใช่ภาษาไทย พันธุ์ไม้อื่น ๆ ที่รู้จักกัน นอกจากมีคำว่า ปาล์ม แล้วมักจะมีชื่อว่า หมาก และต่อท้ายด้วยลักษณะอื่น ๆ เช่น หมากเขียว หมากเหลือง หมากสามเหลี่ยม หรืออาจจะเรียกเป็น ตาล บ้าง เช่น ตาลโตนด ตาลแสด นอกจากนั้น ยังรวมถึงพืชที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ ที่อยู่ในวงศ์นี้ เช่น มะพร้าว หวาย ระกำ ลาน สาคู ชิด เป็นต้น
                        ลักษณะโดยทั่วไป ปาล์ม เป็นต้นไม้ที่ลำต้นสูง ไม่มีกิ่งก้าน บางชนิดมีลำต้นใต้ดิน หรือมีลำต้นเลื้อยเป็นเถา บางชนิดอาจแตกกอใบมีทั้งใบเดี่ยว และใบประกอบ ส่วนใหญ่เป็นใบประกอบซึ่งแยกได้เป็นสองลักษณะคือ รูปพัด เช่น ใบตาน ใบตาล หรือใบรูปขนนก เช่น ใบหมาก ใบมะพร้าว ลักษณะดอกมีทั้งที่สมบูรณ์เพศ หรือแยกเพศ ดอกประกอบด้วยกลีบนอกสามกลีบ กลีบในสามกลีบผลมีเมล็ดเดี่ยว มีหลายลักษณะ ตาลทะเลมีผลใหญ่ที่สุด มีน้ำหนักถึง ๑๕ - ๒๐ กก.
                        การขยายปาล์ม ใช้วิธีเพาะเมล็ด และแยกหน่อจากต้นเดิม         ๑๘/ ๑๑๗๗๒
                ๓๕๔๒. ปาลิไลยก์  เป็นชื่อป่าชัฎแห่งหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จหลีกไปประทับอยู่ลำพังพระองค์เดียว มีพญาช้างปาลิไลยก์ รักษาจึงได้ชื่อว่า ป่า "รักขิตวัน" มีเรื่องเล่าว่า
                        ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ในเมืองโกสัมพี ทรงปรารภถึงภิกษุมากรูปด้วยกัน เป็นผู้ว่ายาก วิวาทกัน ไม่อยู่ในพระพุทธโอวาท ประพฤติตามใจตัวด้วยอำนาจทิฐิมานะ แต่ภิกษุพวกนั้นก็ไม่เอื้อเฟื้อ ยังวิวาทกัน พระพุทธองค์จึงเสด็จไปอยู่ลำพังพระองค์เดียว ในราวไพรรักขิตวัน
                        สมัยนั้น มีพญาช้างเผือกตัวหนึ่งชื่อ ปาลิไลยก์ เกิดเบื่อหน่ายบริวารทั้งหลาย อยากจะอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง ครั้นเดินเที่ยวมาในชัฏป่าใหญ่ ถึงที่ประทับของพระพุทธเจ้า มีความเลื่อมใสจึงเดินเข้ามาใกล้ หมอบถวายบังคมพร้อมกับมอบกายถวายชีวิต รับเป็นภาระอยู่อุปัฏฐาก
                        วันหนึ่ง พญาลิงตัวหนึ่ง เห็นพญาช้างปฎิบัติพระพุทธเจ้าก็พอใจ เกิดมีกุศลจิตคิดจะเข้าไปปฎิบัติพระพุทธเจ้าบ้าง จึงนำรวงผึ้งไปถวายพระพุทธเจ้า  ครั้นเห็นพระพุทธเจ้าเสวยน้ำผึ้งที่ตนถวายก็ดีใจ แสดงความยินดีจนตกจากต้นไม้ ถึงแก่ความตายได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
                        ครั้นออกพรรษาแล้ว บรรดาตระกูลเศรษฐีคฤหบดี ในนครสาวัตถี มี อนาถบิณฑิกเศรษฐี และมหาอุบาสิกาวิสาขา เป็นต้น ได้ส่งข่าวมาถวายพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก ขอให้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดา ให้เสด็จไปนครสาวัตถี บรรดาพระภิกษุตามชนบทต่าง ๆ ก็พากันไปหาพระอานนท์ ขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้ามีความว่า
                        ถ้าบุคคลใดได้สหายที่มีความรู้ รักษาตัวได้ มีปัญญารักจะอยู่ร่วมกับคนดี เป็นเพื่อนร่วมทางเขาก็ควรจะยินดี มีสติย่ำยีอันตรายรอบ ๆ ข้างทั้งปวงเสียแล้ว เที่ยวไปกับสหายผู้นั้น ถ้าหากไม่ได้สหายเช่นนั้น ก็ควรทำตนดังพระราชา ที่ทรงละแว่นแคว้นเสด็จเที่ยวไปแต่ลำพังองค์เดียว... การเที่ยวไปคนเดียวดีกว่า เพราะคนพาลเป็นสหายไม่ได้ และไม่ควรกระทำบาป ควรจะเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระภิกษุเหล่านั้นก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
                        เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงเขตแดนหมู่บ้าน พระพุทธเจ้าได้ทรงบอกให้ช้างปาลิไลยก์ว่า ตั้งแต่ตรงนี้ไปไม่ใช่ดินแดนของช้างปาลิไลยก์ เป็นที่อยู่ของมนุษย์มีอันตราย ช้างปาลิไลยก์เสียใจ พอพระพุทธเจ้าเสด็จลับสายตาไป ช้างปาลิไลยก์ก็หัวใจวายล้มลงตาย ณ ที่นั้น ด้วยกุศลแห่งความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ก็ได้บังเกิดเป็นเทพบุตร ในสวรรค์มีนามว่า ปาลิไลยกเทพบุตร
                        อาศัยพระพุทธจริยาดังกล่าวนี้ จึงนิยมสร้างพระพุทธรูปปางหนึ่งขึ้นเรียกว่า พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ หรือปางป่าเลไลยก์ พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในท่าอิริยาบทนั่งบนก้อนศิลา ห้อยพระบาททั้งสอง พระหัตถ์ซ้ายคว่ำวางบนพระชานุ (เข่า) ซ้าย พระหัตถ์ขวาหงายวางบนพระชานุขวา         ๑๘/ ๑๑๗๗๓
                ๓๕๔๓. ปาเลมบัง  เป็นเมืองหลวงของมณฑลสุมาตีรา เซลาตัน (สุมาตราใต้) ในภาคใต้ของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนิเซีย เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของสุมาตรา ในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ปาเลมบังเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งพลเมืองนับถือศาสนาฮินดู หลังจากนั้น ก็เป็นเมืองสำคัญของแคว้นปาเลมบัง มีสุลต่านเป็นประมุข เมื่อปี พ.ศ.๒๑๖๐ บริษัท อิสต์อินเดีย มาตั้งสถานีการค้าที่นี่ และในปี พ.ศ.๒๒๐๒ ได้สร้างป้อมขึ้นด้วย อังกฤษเคยเข้ายึดครองปาเลมบัง อยู่สองระยะคือ ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๕๔ - ๒๓๕๗ กับ พ.ศ.๒๓๖๑ - ๒๓๖๔
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๐๘ ฮอลันดา ได้ล้มเลิกระบบปกครองแบบมีสุลต่านเป็นประมุข ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเข้ายึดครองสุมาตราใต้ ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๑ - ๒๔๙๓ ปาเลมบัง เป็นเมืองหลวงของมณฑลสุมาตราใต้ ถึงปี พ.ศ.๒๔๙๓ มณฑลสุมาตราใต้ ถูกรวมเข้ากับประเทศอินโดนิเซีย         ๑๘/ ๑๑๗๘๐
                ๓๕๔๔. ปาว - ลำน้ำ  รับน้ำจากหนองหาน กุมภวาปี ซึ่งเป็นที่รวมของน้ำจากห้วยไพจาน ห้วยสามพาด ห้วยน้ำฆ้อง และห้วยกองสี ใน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ไหลลงทางทิศใต้ เข้าหนองหมัด แล้วไหลลงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยาว ๒๒๒ กม.          ๑๘/ ๑๑๗๘๑
                ๓๕๔๕. ปาวา  เป็นนครหลวงของแคว้นมัลละ ในอินเดียสมัยพุทธกาล เป็นเมืองศูนย์กลางของพวกนิครนถ์ นิครนถ์ นาฏบุตร ผู้เป็นศาสดาของลัทธินิครนถ์ ได้ดับขันธ์ ณ เมืองปาวา นี้
                        เมืองปาวา เป็นที่ตั้งของสวนมะม่วงของนายจุนทะ ที่พระพุทธเจ้าประทับ ก่อนเสด็จไปเมืองกุสินารา         ๑๘/ ๑๑๗๘๑
                ๓๕๔๖. ปาสเตอร์, หลุยส์  เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้รับความนิยมยกย่องเป็นอย่างสูงไปทั่วโลก ในผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านจุลชีววิทยา และถือว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรก ที่เริ่มต้นบุกเบิกทางวิทยาศาสตร์สาขานี้
                        ปาสเตอร์ เกิด เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๕ จบการศึกษาขั้นปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๓ แล้วทำหน้าที่เป็นครูในวิทยาลัยเมืองเบอซองซง ที่จบมา และสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาดุษฎีบัณฑิต ทางวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๐ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นศาตราจารย์ทางเคมี ในมหาวิทยาลัยสตราบูร์ก จนถึงปี พ.ศ.๒๓๙๗ และได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันต่าง ๆ อีกหลายตำแหน่ง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการคนแรก ของสถาบันปาสเตอร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑
                        ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของปาสเตอร์มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคือ  ผลงานด้านจุลวิทยา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก ต่ออุตสาหกรรม และมวลมนุษย์
                        ในปี พ.ศ.๒๔๒๐ ปาสเตอร์ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นโรคระบาดร้ายแรงในสัตว์ ผลสำเร็จในการวิจัยในเรื่องนี้ เป็นการเปิดศักราชของวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน นับแต่นั้นก็ได้มีการนำวิธีการนี้ มาใช้กันอย่างแพร่หลายตราบเท่าทุกวันนี้ เพื่อวัคซีนสำหรับฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันแก่คนและสัตว์ เพื่อป้องกันการติดโรค การปลูกฝี เพื่อป้องก้นการติดโรคฝีดาษ ก็อาศัยวิธีการเดียวกันนี้
                        ในปี พ.ศ.๒๔๒๕ ปาสเตอร์ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ สามารถนำเชื้อโรคชนิดนี้มาทำเป็นวัคซีนใช้ฉีดสุนัข เป็นการป้องกันโรคชนิดนี้ได้ และฉีดให้กับคนที่ถูกสุนัขกัดได้ ผลสำเร็จในการค้นพบเกี่ยวกับการป้องกันการติดโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้ชื่อเสียงของปาสเตอร์แพร่หลายไปทั่วโลก         ๑๘/ ๑๑๗๘๓
                ๓๕๔๗. ป่าสัก - แม่น้ำ  ยอดน้ำเกิดจากเขา (ภู) ขวาง ใน อ.ด่านซ้าย จ.เลย แล้วไหลลงทางทิศใต้ เข้าเขต จ.เพชรบูรณ์ จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา ไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ป้อมเพชร อ.พระนครศรีอยุธยา ยาว ๕๗๐ กม.         ๑๘/ ๑๑๗๙๐
                ๓๕๔๘. ปาหัง  เป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ที่มุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทรมลายู หรือมาเลเซียตะวันตก พื้นที่ตอนในเป็นภูเขาสูงประมาณ ๒,๑๕๐ เมตร ทำให้มีความทุรกันดาร แนวพรมแดนด้านตะวันตกของรัฐปาหังคือ แนวสันเขาของเทือกเขาตะวันตกในคาบสมุทรมลายู มีแม่น้ำปาหัง ซึ่งยาวประมาณ ๔๕๐ กม. และแม่น้ำสาขา ใช้เดินเรือขนาดเล็กได้ ส่วนใหญ่ของรัฐปาหัง ปกคลุมไปด้วยป่าทึบ ที่บริเวณชายฝั่งมีประชาชนตั้งหลักแหล่งอยู่หนาแน่น ประชาชนประกอบอาชีพการประมง ทำสวนยางพารา ทำเหมืองดีบุก
                        สังคมในรัฐปาหัง เป็นพหุสังคม พลเมืองส่วนใหญ่กว่าร้อยละ ๕๕ เป็นชาวมลายู นับถือศาสนาอิสลาม ทำนาเป็นอาชีพ และทำการประมง ชาวจีนมีอยู่ประมาณร้อยละ ๓๕ จะอยู่ในตัวเมืองเป็นพ่อค้า นายเหมือง เจ้าของสวนยาง และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ พลเมืองที่เหลือเป็นพวกทมิฬ ซึ่งเป็นคนงานในสวยยาง กับมีพวกพื้นเมืองคือ พวกซาไก           ๑๘/ ๑๑๗๙๑
                ๓๕๔๙. ปิกโคโล  เป็นเครื่องดนตรีประเภทขลุ่ย แต่เป็นขลุ่ยผิวขนาดเล็กมาก ยาวประมาณ ๓๒ ซม. เท่านั้น ผิดกับขลุ่ยผิวธรรมดา ที่เรียกว่า ออร์เคสทรัลฟลุต ซึ่งยาวประมาณ ๖๗ ซม.
                        ขณะนี้เครื่องดนตรีประเภทขลุ่ยที่ใช้อยู่ในวงดุริยางค์ ก็มีแต่ปิกโคโล ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงแหลมที่สุด ในวงดุริยางค์ ขลุ่ยประเภทเป่านอน มีเสียงแหลมอยู่แล้ว แต่ปิกโคโล กลับมีระดับเสียงสูงขึ้นไปกว่านั้นอีก หนึ่งคู่แปด
                        กล่าวกันว่า ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดของโลกอย่างหนึ่ง ขลุ่ยสมัยดั้งเดิมใช้เป่าทางตั้ง ไม่ได้ใช้เป่าทางนอน เหมือนขลุ่ยสมัยนี้
                        โน๊ต สำหรับขลุ่ยปิกโคโลนั้น เขียนอยู่ในระดับเดียวกันกับของออร์เคสตราฟลุตคือ อยู่ในคู่แปดเดียวกัน แต่เวลาเล่นจริงเสียงของปิกโคโล จะดังสูงขึ้นไปอีกเท่าตัว
                        ขลุ่ยทั้งสองชนิดนี้ แต่เดิมทำด้วยไม้ แต่ปัจจุบันทำด้วยโลหะแทน         ๑๘/ ๑๑๗๙๒
                ๓๕๕๐. ปิง - แม่น้ำ ยอดน้ำเกิดจากเขาไม่มีชื่อ สูง ๑,๘๒๔ เมตร เหนือเขา (ดอย) ถ้วย ประมาณ ๘ กม.ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ไหลลงทางทิศใต้ ผ่าน อ.เชียงดาว อ.แม่แตง อ.แม่ริม อ.เมือง ฯ อ.หางดง อ.สารภี อ.สันป่าตอง แล้วไหลผ่าน จ.ลำพูน ผ่าน อ.เมือง และ อ.ป่าซาง จากนั้น ไหลเข้าเขต จ.เชียงใหม่ ในเขต อ.จอมทอง อ.ฮอด เข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล แล้วเข้า อ.ดอยเต่า เข้าสู่ จ.ตาก ที่ อ.สามเงา เข้าสู่ จ.ลำพูน ที่ อ.ลี้ เข้าสู่ จ.ตาก ที่ อ.สามเงา เป็นที่ตั้งเขื่อนภูมิพล ผ่าน จ.กำแพงเพชร จ.นครสวรรค์ มาบรรจบกับแม่น้ำน่าน ระหว่าง ต.ปากน้ำโพ กับ ต.แควใหญ่ ยาว ๗๑๕ กม. จากนั้นเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา        ๑๘/ ๑๑๗๙๕

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch