|
|
สารานุกรมไทยฉบับย่อ/91
๓๔๙๑. ปากกา เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบกับหมึก เพื่อใช้ขีดเขียน ใช้กันมาแต่โบราณกาล แต่ในสมัยแรก ๆ มิได้ใช้ใน้ำหมึก ตัวปากกาทำด้วยเหล็ก สำหรับใช้ขีดเขียน บนแผ่นศิลา แต่ถ้าบนแผ่นดินเหนียว หรือบนแผ่นขี้ผึ้ง ตัวปากกาทำด้วยโลหะ ปลายข้างหนึ่งแหลมสำหรับขีดเขียน อีกปลายหนึ่งมีลักษณะแบน สำหรับใช้ลบรอย และใช้ทำให้ผิวของแผ่นดินเหนียว หรือแผ่นขี้ผึ้งเรียบราบ ต่อมาใช้ต้นกก นำมาปาดปลายให้มีลักษณะคล้ายปากนก และจุ่มน้ำหมึกเพื่อขีดเขียน ดังที่ได้พบในอียิปต์ อาร์เมเนีย ในสมัยนั้น เมืองไคโร และเมืองอะเล็กซานเดรีย เป็นแหล่งสำคัญในการผลิตปากกาชนิดนี้ออกจำหน่าย โดยใช้ต้นกกแถบอ่าวเปอร์เซียมาหมกใต้กองมูลสัตว์เป็นเวลาหลาย ๆ เดือน จนต้นกกมีสีดำ และผิวแข็ง จึงนำมาปาดปลาย และส่งจำหน่าย ปากกาชนิดนี้ใช้จุ้มหมึก และขีดเขียนบนกระดาษปาปิรัส
ต่อมาเมื่อชาวจีนสามารถทำกระดาษสำหรับใช้เขียนหนังสือและส่งออกจำหน่ายไปได้ถึงทวีปยุโรป ปรากฎว่าปากกาที่ทำด้วยต้นกกไม่เหมาะสม ที่จะใช้เขียนบนกระดาษดังกล่าว จึงได้เปลี่ยนมาใช้ก้านขนห่านแทน โดยนำก้านขนห่านมาหมกทรายร้อน ๆ จนก้านขนห่านแห้งสนิท แล้วนำไปจุ่มลงในสารละลายของสารส้ม หรือสารละลายของกรดไนตริก แล้วนำไปปาดปลายใช้เป็นปากกาได้ น้ำหมึกส่วนใหญ่ทำจากเขม่าผสมน้ำและกาว
ในปี พ.ศ.๒๓๔๖ ได้เริ่มมีปากกาทำด้วยโลหะออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ตัวปากกาเสียบติดกับด้ามไม้ ในระยะแรกมีราคาแพงมาก เพราะทำด้วยมือ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๗๓ จึงทำด้วยเครื่องจักร
ในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ได้มีผู้ประดิษฐ์ปากกาชนิดใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก คือเป็นปากกาชนิดที่มีหลอดสำหรับบรรจุหมึกได้ในตัว เรียกปากกาหมึกซึม
ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้มีผู้จดทะเบียนสิทธิบัตรแนวความคิดในการประดิษฐ์ปากกาชนิดใหม่โดยใช้ลูกกลมเล็ก ๆ ซึ่งหมุนได้รอบตัวเป็นปลายปากกา เป็นต้นกำเนิดของปากกาลูกลื่น ซึ่งได้มีการประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในอเมริกาใต้ ในปี พ.ศ.๒๔๘๖
๓๔๙๒. ปากเกร็ด อำเภอขึ้น จ.นนทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในอำเภอนี้มีประตูน้ำอยู่ที่ตอนปลายคลองพระอุดม สร้างเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ๑๘/ ๑๑๖๖๕
๓๔๙๓. ปากขอ - พยาธิ พยาธิปากขอมีทั้งชนิดที่อยู่ในคนและในสัตว์ ทำให้คนและสัตว์มีร่างกายทรุดโทรมและเป็นบ่อเกิดของโรคอื่นได้ง่าย มักพบในเขตร้อนและเขตอบอุ่น เขตหนาวมีน้อย
ลักษณะของตัวพยาธิคือตัวสดมีสีครีมแกมชมพู ยาว ๑๑ มม. กว้าง ๐.๕ มม. ที่ปากมีอวัยวะสำหรับดูดเกาะกับลำไส้เล็กของคน เมื่อพยาธิปากขอผสมพันธุ์กันในลำไส้เล็กแล้วจะเกิดไข่ ซึ่งตัวเมียออกไข่ประมาณวันละ ๙,๐๐๐ ฟองขึ้นไป ไข่ที่ออกมากับอุจจาระใหม่ ๆ มักมีเซลล์ จากนั้นจะแบ่งตัวเกิดเป็นตัวอ่อน ระยะแรกจะหากินอยู่ในพื้นดินประมาณสามวัน แล้วลอกคราบเป็นตัวอ่อนระยะที่สอง ซึ่งมีขนาดยาว ๕๐๐ - ๖๐๐ ไมครอน ต่อมาอีก ๒ - ๕ วัน จะกลายเป็นตัวอ่อนระยะที่สามอยู่ในดิน ที่ชื้อแฉะได้หลายสัปดาห์ ถ้าน้ำท่วมตัวอ่อนนี้จะตาย
ตามปรกติตัววอ่อนระยะที่สามจะเข้าสู่คนได้โดยการไชผ่านผิวหนัง เข้าสู่กระแสเลือดไปปอด ผุ้ป่วยกลืนพยาธิแล้วพยาธิจะเกาะอยู่ที่ผนังลำไส้เล็ก ถ้าคนกินตัวอ่อนระยะที่สาม ตัวอ่อนอาจไชยผ่านเยื่อบุในปากเข้าสู่กระแสเลือด ทำอันตรายต่อผู้นั้นได้ แต่ถ้าตัวอ่อนถูกกลืนลงกระเพาะ มันจะตายเพราะถูกน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ๑๘/ ๑๑๖๖๕
๓๔๙๔. ปากควาย - หญ้า เป็นหญ้าทางเขตร้อน พบทั่วไปในเมืองไทย ส่วนใหญ่ของลำต้นแผ่ทอดนอนไปบนดินได้ไกล ๆ เนื่องจากตรงที่ข้อติดดินมีราก และมีแขนงใหม่เกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ ส่วนลำต้นที่ชูตั้งตรงสูงประมาณ ๔๐ ซม. แผ่นใบเรียวยาว ๕ - ๓๐ ซม. กว้าง ๐.๔ - ๐.๙ ซม.ปลายแหลม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ก้านช่อยาว ๑๐ - ๑๕ ซม. ช่อยาว ๔ ซม. ช่อดอกย่อยประกอบด้วยดอกขนาดเล็ก ๓ - ๔ ดอก ผลขนาดเล็กจึงมักเรียกกันว่าเมล็ด รูปกลม ขนาดประมาณ ๑ มม. ๑๘/ ๑๑๖๖๘
๓๔๙๕. ปากจั่น - คลอง ยอดน้ำเกิดจากเขาปลายคลองทรายอ่อน ในระหว่าง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร กับ อ.กระบุรี จ.ระนอง ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปบรรจบแม่น้ำกระบุรีฝั่งซ้าย ที่บ้านปากจั่นใน ต.ปากจั่น อ.กระบุรี ยาว ๓๕ กม. กว้าง ๑๐ เมตร มีน้ำตลอดปี ตอนยอดน้ำเรียกว่าคลองจั่น ยาว ๒๗ กม. ต่อไปเรียกคลองปากจั่น ยาว ๘ กม. ๑๘/ ๑๑๖๖๙
๓๔๙๖. ปากจิ้งจก - งู หรืองูหัวจิ้งจก หรืองูเขียวหัวจิ้งจก เป็นงูขนาดเล็ก ราวเท่านิ้วมือ แต่ยาวราว ๑ - ๑.๓๐ เมตร มีชุกชุมทางภาคใต้ ตัวสีเขียว ปลายหางสีแดงคล้ำ ออกหากินเวลากลางวัน เป็นงูที่มีพิษอ่อน ๑๘/ ๑๑๖๗๐
๓๔๙๗. ปากชม อำเภอขึ้น จ.เลย มีอาณาเขตทางเหนือจดประเทศลาว ภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน
อ.ปากชม แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ ขึ้น อ.เชียงคาน ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ๑๘/ ๑๑๖๗๐
๓๔๙๘. ปากช่อง อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศใต้ เป็นที่ราบต่ำ มีภูเขาป่าดงทึบ ทางทิศตะวันออก และตะวันตกมีภูเขาเป็นที่ดอน และมีป่าบ้าง
ที่ ต.ปากช่อง ในอำเภอนี้แต่เดิมเป็นชวากป่า มีช่องทางเดินจากภาคอีสานเข้าดงพญาเย็นลงมา อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยเดินเท้าหรือใช้สัตว์พาหนะเท่านั้น เกวียนเดินไม่ได้ ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๒ จึงได้มีรถไฟเดินระหว่างกรุงเทพ ฯ กับนครราชสีมา ก็มีผู้คนไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ปากทางที่จะเข้าดงพญาเย็น จึงเรียกว่า บ้านปากช่อง และได้มีสถานีรถไฟขึ้น ต่อมาได้มีราษฎรไปอยู่มากขึ้นเป็นลำดับ ทางราชการจึงได้ตั้งกิ่งอำเภอขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ขึ้น อ.สี่คิ้ว และยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ๑๘/ ๑๑๖๗๑
๓๔๙๙ ปากซ่อม - นก เป็นนกย้ายถิ่นพวกหนึ่งที่มีปากยาวมากและตรง ปลายปากทู่ ๆ และมีหนังซึ่งมีต่อมประสาทมาก สำหรับใช้ทิ่มสักลงในดินโคลน เพื่อหาไส้เดือนและสัตว์เล็กอื่น ๆ ในดินโคลนกิน ชอบหากินกลางคืน และตอนเช้า - เย็น
นกปากซ่อม ผสมพันธุ์ทำรังในประเทศแถบหนาวเหนือเช่นไซบีเรีย ประเทศจีนแล้วบินย้ายถิ่นเข้ามาในวประเทศไทย และประเทศในโซนร้อนในฤดูฝน พอถึงปลายฤดูหนาวหรือต้นฤดูร้อน ก็จะพากันบินย้ายถิ่นไปหากิน และผสมพันธุ์ในประเทศหนาวแถบเหนือต่อไป นกปากซ่อมในไทยมีหกชนิด ๑๘/ ๑๑๖๗๑
๓๕๐๐. ปากแตร - ปลา เป็นปลาทะเล หากินอยู่ตามชายฝั่งของทะเลเขตร้อน ยาวประมาณ ๓๐ - ๔๐ ซม. พบอยู่ในแถบฝั่งทะเลตะวันออกของทวีปแอฟริกา ในมหาสมุทรอินเดีย ตลอดน่านน้ำย่านอินโดแปซิฟิก ๑๘/ ๑๑๖๗๔
๓๕๐๑. ปากใต้ - ปลา เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก มีถิ่นอาศัยอยู่ทุกภาคของประเทศ ชอบอยู่ในลำธารน้ำไหล รูปร่างลำตัวเพรียวยาว มีปากอยู่ด้านล่างของหัว มีลักษณะเป็นปากดูด ๑๘/ ๑๑๖๗๕
๓๕๐๒. ปากท่อ อำเภอ ขึ้น จ.ราชบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือและตอนกลาง เป็นที่ดอนทางทิศตะวันตก และทิศใต้ เป็นป่าโปร่งมีภูเขา ทางทิศตะวันออกเป็นที่ลุ่ม
อ.ปากท่อ เดิมเรียกว่า อ.ท่านัด วัดประดู่ ตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙ ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓ ย้ายที่ว่าการไปตั้งที่ ต.วัดเพลง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.แม่น้ำอ้อม ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๖ โอนไปขึ้น จ.สมุทรสงคราม แล้วโอนกลับ จ.ราชบุรี ในปีต่อมา มาตั้งที่ว่าการที่ ต.ปากท่อ ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๘ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ปากท่อ ส่วนที่ตั้งอำเภอเดิม เรียกว่า กิ่ง อ.วัดเพลง ๑๘/ ๑๑๖๗๘
๓๕๐๓. ปากนกกระจอก เป็นชื่อโรคที่เกิดจากการขาดวิตามินบี มีลักษณะจำเพาะคือ มีการอักเสบบริเวณมุมปากทั้งสองข้าง เมื่อหายแล้วจะเหลือแผลเป็นบาง ๆ ๑๘/ ๑๑๖๗๘
๓๕๐๔. ปากเป็ด ๑ - หอย เป็นสัตว์ทะเล มีชื่ออื่นคือ หอยราก เป็นหอยสองกาบ สีเขียว รูปร่างยาวรี คล้ายปากเป็ด ปลายด้านล่างซึ่งใช้เป็นส่วนยึดติดกับพื้น ติดอยู่กับก้านหรือราก มีลักษณะค่อนข้างแหลม มักอยู่ในบริเวณหาดโคลนที่มีทรายปน พบในย่านมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก น่านน้ำในอ่าวไทย
หอยปากเป็ด เป็นที่นิยมบริโภคในหมู่ชาวบ้านแถบชายทะเล ๑๘/ ๑๑๖๘๐
๓๕๐๕. ปากเป็ด ๒ - ปี่ เป็นคำที่ใช้เรียก ปี่คลาริเนตของฝรั่ง ที่คนสมัยก่อนเรียกกัน
ปี่ปากเป็ด ใช้บรรเลงผสมอยู่ในวงดนตรีฝรั่งได้หลายอย่าง เช่น ในวงดุริยางค์ ทำหน้าที่ต่าง ๆ แล้วแต่ผู้ประพันธ์เพลง หรือเรียบเรียงเสียงประสานจะกำหนด หรืออาจอยู่ในวงคัพภดนตรีก็ได้ โดยเฉพาะที่บรรเลงแตรวงในเมืองไทยสมัยก่อน ซึ่งบรรเลงทั้งเพลงไทย และเพลงฝรั่ง มักจะผสมปี่ปากเป็ดกับขลุ่ยฝรั่งเข้าไปด้วย ซึ่งทำให้แตรวงนั้นกลายเป็นวงโยธวาทิตไป แต่ก็ยังเรียกว่า แตรวง เมื่อบรรเลงเพลงไทย ผู้ปรับทำนองเพลงมักจะให้ปี่ปากเป็ด ดำเนินทำนองตามแบบของระนาดเอกกลาย ๆ ๑๘/ ๑๑๖๘๓
๓๕๐๖. ปากพนัง อำเภอ ขึ้น จ.นครศรีธรรมราช มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันออก ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำ เหมาะแก่การทำนา
อ.ปากพนัง ก่อนปี พ.ศ.๒๔๓๖ จัดการปกครองเป็นหลายแขวง หัวหน้าแขวงเรียก "เภอ" แต่พลเมืองมักเรียกว่า ที่ ต่อมาได้รวมแขวงต่าง ๆ เป็นอำเภอเรียกว่า อำเภอเบี้ยซัด ตั้งที่ว่าการที่ปากแพรก ภายหลังได้ย้ายมาตั้งที่แขวงเบี้ยซัดเดิม และเปลี่ยนชื่อเป็น ปากพนัง ๑๘/ ๑๑๖๘๔
๓๕๐๗. ปากพลี อำเภอ ขึ้น จ.นครนายก ภูมิประเทศทางทิศเหนือ และตะวันออก ตลอดลงมาทางตอนกลาง เป็นที่สูงมีภูเขาและป่า เป็นเนิน และแอ่ง โดยทั่วไปที่สูงค่อย ๆ ลาดลงมาทางใต้และตะวันตก หน้าแล้งกันดารน้ำ
อ.ปากพลี เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๕๗ ตั้งที่ว่าการที่บ้านไร่ ต.เกาะโพธิ เรียก อ.บุ่งไร่ ต่อมาย้ายไปตั้งที่บ้านท่าแดง ต.ปากพลี เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เขาใหญ่ ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๙ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ปากพลี เคยโอนไปขึ้น จ.ปราจีนบุรี ครั้งยุบเมืองนครนายก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ ต่อมาได้ตั้ง จ.นครนายก ขึ้นใหม่อีก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ จึงได้โอนกลับมาขึ้น จ.นครนายก ตามเดิม ๑๘/ ๑๑๖๘๕
๓๕๐๘. ปากพยูน อำเภอ ขึ้น จ.พัทลุง ภูมิประเทศทางทิศตะวันตกเป็นเทือกเขา มีป่าไม้ใหญ่ ตอนเหนือและตอนใต้ เป็นที่ลุ่มทำนาได้ ทางตะวันออก ตกทะเลสาบ
ในอำเภอนี้ มีเจดีย์โบราณที่วัดบางแก้ว แบบพระบรมธาตุ ใน จ.นครศรีธรรมราช สูง ๓๒ เมตร ในวัดมีเศียรพระพุทธรูปศิลา เป็นของโบราณ มีเขาสำคัญคือ เขาเขียว และเป็นย่านกลางที่เรือออกจากพัทลุง และระโนดไปสงขลาต้องผ่าน ๑๘/ ๑๑๖๘๕
๓๕๐๙. ปากเรือ มีบทนิยามว่า "ดาดฟ้าเรือ" ในด้านการค้าขายกับต่างประเทศ ค่าปากเรือนั้น อาจเรียกได้ว่า เป็นภาษีชนิดหนึ่ง ที่เก็บจากเรือที่มาค้าขายในสมัยอยุธยา สืบต่อมาถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ
เรือที่มาค้าขาย ณ กรุงศรีอยุธยา ต้องเสียภาษีศุลกากร นายเดอ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ในตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ระบุว่าภาษีศุลกากร มีอยู่สองอย่างคือ
๑. จังกอบเรือสินค้า เป็นอัตราคิดตามขนาดความยาวของเรือวาละบาท ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้เพิ่มพิกัดขนาดปากเรือขึ้น เรือลำใดปากกว้างหกศอก ถึงเรือนั้นจะยาวไม่ถึงหกวา ก็เก็บลำละหกบาท จังกอบเรือนี้ตรวจเก็บที่ด่านขนอน ตั้งแต่เมืองชัยนาทลงมา
๒. จังกอบสินค้าเก็บทั้งสินค้าขาเข้า ขาออก หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่า วิธีเก็บภาษีขาเข้าเก็บไม่เสมอกัน ถ้าเป็นเมืองที่มีพระราชไมตรี และไปมาค้าขายไม่ขาดกันแล้ว เก็บภาษีตามราคาสินค้าขาเข้าร้อยชักสาม ค่าปากเรือกว้างตั้งแต่สี่วา ขึ้นไปเก็บวาละสิบสองบาท ถ้าเป็นเมืองอื่นเก็บภาษีสินค้าในอัตราร้อยละห้า ค่าปากเรือวาละยี่สิบบาท
ค่าปากเรือ หรือภาษีปากเรือ รัฐบาลไทยได้เลิกเก็บภายหลังการลงนามในสนธิสัญยา ทางไมตรีและพาณิชย์กับ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ ซึ่งระบุว่า คนในบังคับอังกฤา จะต้องเสียภาษีศุลกากรในอัตราร้อยชักสาม และเสียศุลกากรขาออก ตามพิกัดอันกำหนดตายตัวในภาคผนวก ต่อท้ายสนธิสัญญา
๓๕๑๐. ปากห่าง - นก เป็นนกขนาดใหญ่ ยาวจากปลายปากถึงปลายหาง ๖๔ ซม. เป็นนกสีขาว เว้นที่ปลายปีกและหางเป็นสีดำ มีปากบนกับปากล่างต่างหากจากกัน ที่ตรงกลางปาก ทำให้คาบหอยโข่งได้แน่น นกนี้บินย้ายถิ่นไปทางตะวันออกและตะวันตก ระหว่างประเทศอินเดีย ปากีสถาน ไทย และกัมพูชา ตามฤดูกาล ตามธรรมดาจะพากันทยอยบินย้ายถิ่นไปประเทศอินเดียในราวเดือนพฤษภาคม และบินย้ายถิ่นจากอินเดียถึงประเทศไทยในราวต้นเดือนพฤศจิกายน เมื่อบินมาถึงประเทศไทยแล้ว จะหยุดพักสักหนึ่งสัปดาห์ แล้วจึงลงมือเลือกคู่ แล้วพากันทำรัง ในรังหนึ่ง ๆ จะวางไข่วันละหนึ่งฟองจนครบเต็มที่สี่ฟอง แล้วจึงฟักไข่ต่อไป ระหว่างที่ทำรัง วางไข่ และกกไข่ เลี้ยงลูกอ่อนนั้น จะผลัดกันไปหากินและเฝ้ารัง
นกนี้ชอบเที่ยวเดินเอาปากงมหาหอยโข่งในทุ่งนาที่น้ำท่วม ราว ๑๘ - ๒๐ ชม. ๑๘/ ๑๑๖๙๒
๓๕๑๑. ปาง ๑ ในวรรณคดีสันสกฤต คำว่า "ปาง" คือการปรากฎองค์ของพระผู้เป็นเจ้า หรือเทพเจ้าบางองค์ ในลักษณะรูปร่างที่ผิดไปจากเดิม แบ่งออกเป็นสองชนิดคือ
๑. ปรากฎองค์ชั่วคราว เพื่อกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามวาระและโอกาสเช่น พระศิวะ ปางเป็นอโฆรไภรวะ แสดงถึงการปรากฎองค์ในแบบดุร้ายน่ากลัว
๒. ปรากฎองค์โดยการแบ่งภาคไปเกิดเป็นบุคคลต่าง ๆ และดำรงชีวิตอยู่ตราบเท่าชีวิตของบุคคลนั้น โดยลักษณะดังกล่าวนี้คำว่าปาง ย่อมใช้ควบคู่กับคำว่า "อวตาร" (การแบ่งภาคไปเกิด) เช่น พระนารายณ์อวตารเป็นพระกฤษณะ เป็นต้น ๑๘/ ๑๑๖๙๓
๓๕๑๒. ปาง ๒ - พระ ในทางพระพุทธศาสนา คำว่าปาง หมายความว่าครั้งคราวหรือสมัยแห่งพระพุทธจริยาทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ปรากฎในสมัยหนึ่ง ๆ เมื่อทรงพระชนม์อยู่
พระพุทธจริยาตอนหนึ่ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ปรากฎในสมัยหนึ่ง ๆ นั้น ประมวลเข้าเป็นสามส่วนหรือสามประการคือ
๑. ส่วนอัตตัตถจริยา คือพระพุทธจริยาในเวลาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อความตรัสรู้ นับแต่แรกเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ จนถึงเวลาตรัสรู้ และเวลาเสวยวิมุติสุข อันเป็นเวลาหกปี ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระองค์โดยเฉพาะ
๒. ส่วนญาตัตถจริยา คือพระพุทธจริยาในเวลาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พระประยูรญาติ โดยเฉพาะ
๓. ส่วนโลกัตถจริยา คือพระพุทธจริยาในเวลาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนทั่วไป ตลอดเทวดา พรหม ยักษ์ ที่สุดจนสัตว์เดรัจฉาน ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก รวมทั้งการแสดงธรรม การบัญญัติพระวินัยแก่พระสงฆ์สาวก เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนา
การสร้างพระพุทธรูปต่าง ๆ ตามพระพุทธจริยานั้น ๆ เริ่มสร้างขึ้นครั้งแรกในแคว้นคันธารราฎร์ เมื่อปี พ.ศ.๖๖๘ โดยช่างฝีมือชาวโยนก ซึ่งเป็นเชื้อสายกรีก ครั้นเข้าถึงพระพุทธศาสนาแล้วคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้นสักการะบูชา บางท่านกล่าวว่าเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๖๖๒ - ๗๐๖ และนับเป็นฝีมือช่างกรีกโรมัน อนุโลมตามคัมภีร์มหาปุริสลักษณะหลายข้อ
พระพุทธรูปที่สร้างในแคว้นคันธารราษฎร์ครั้งนั้นมีอยู่เพียง ๒ - ๓ ปางคือปรางตรัสเทศนาธรรมจักกัปวัตนสูตร ปางมารวิชัย และปางกระทำยมกปาฎิหารย์
ครั้นต่อมางานสร้างพระพุทธรูปางต่าง ๆ ตามพระพุทธจริยาคราวหนึ่ง ๆ ก็เพิ่มขึ้นตามยุคตามคราว
พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ในประเทศไทยได้สร้างมาแล้วรวมเจ็ดสมัยด้วยกันคือ สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ (บางตำรามีสมัยอู่ทองด้วย)
สมัยทวารวดี เท่าที่พบมีปางเทศนา ปางสมาธิ ปางมารวิชัย ปางมหาปฎิหาริย์ ปางปรินิพพาน ปางบรรทม ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ปางประทานอภัย ปางประทานพร และปางโปรดสัตว์
สมัยศรีวิชัย เท่าที่พบมีปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางนาคปรก ปางปรินิพพาน ปางประทานอภัย และปางเสด็จจากดาวดึงส์
สมัยลพบุรี เท่าที่พบมีปางนาคปรก ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางปรินิพพาน ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ปางประทานอภัย
สมัยเชียงแสน เท่าที่พบมีปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางอุ้มบาตร ปางประดิษฐานรอยพระบาท ปางไสยา ปางนั่ง
ห้อยพระบาท ปางลีลา ปางเปิดโลก ปางประทับยืน และปางถวายเนตร
สมัยสุโขทัย เท่าที่พบมีปางไสยา ปางลีลา ปางประทานอภัย ปางมารวิชัย ปางถวายเนตร ปางสมาธิ ปางประทานพร และปางประทับยืน
สมัยอยุธยา เท่าที่พบมีปางไสยา ปางมารวิชัย ปางประทานอภัย ปางป่าเลไลยก์ ปางลีลา และปางประทับยืน
สมัยรัตนโกสินทร์ เท่าที่พบมีปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางประทานอภัย ปางไสยา ปางขอฝน
ในปัจจุบันสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นสมัยที่มีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ สมบูรณ์ที่สุด พอประมวลได้มีถึง ๖๖ ปางด้วยกัน ๑๘/ ๑๑๖๙๖
๓๕๑๓. ป้าง เป็นชื่อโรคอย่างหนึ่งที่แพทย์แผนโบราณบัญญัติขึ้น สำหรับอาการไข้คลุมเครือ เรื้อรัง ซึ่งมักจับเป็นเวลาคือตอนหัวน้ำขึ้น คนไข้รู้สักหนาวเล็กน้อย แต่ไม่มีอาการสั่น นอกจากนี้ก็มีพุงโต เพราะม้ามโตและตับโต
ไข้ป้างนี้ ตรงกับชื่อโรคทางแผนปัจจุบันคือ โรคไข้จับสั่นเรื้อรัง ๑๘/ ๑๑๗๑๐
๓๕๑๔. ปาจิตตีย์ เป็นชื่ออาบัติกองหนึ่ง ในเจ็ดกองของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา คำนี้แปลว่า การละเมิดอันยังกุศลให้ตก เป็นได้ทั้งชื่ออาบัติ และชื่อสิกขาบท ท่านแบ่งไว้เป็นสองหมวด เรียกว่า นิสสัคคัยปาจิตตีย์ พวกหนึ่ง สุทธิก ปาจิตตีย์ พวกหนึ่ง
นิสสัคคัยปาจิตตีย์ หมายความว่า ต้องอาบัติชื่อนี้ เพราะมีวัตถุเป็นตัวการคือ ทำให้สละสิ่งของคือ สิ่งใดเป็นเหตุจึงต้องอาบัติ ทำให้สละสิ่งนั้น เป็นชื่อแห่งสิกขาบท แปลว่า ปรับโทษ ชื่อ นิสสัคคัยปาจิตตีย์ เวลาจะแสดงอาบัติต้องสละสิ่งนั้นก่อน จึงจะแสดงโทษนั้นได้ เช่น ต้องอาบัติเพราะทรงอดิเรกจีวรเกิน ๑๐ วัน เวลาแสดงอาบัตินี้ ต้องสละอดิเรกจีวรที่ทรงไว้เกิน ๑๐ วันนั้นก่อน จึงแสดงอาบัตินั้นได้
สุทธิกปาจิตตีย์ คือ ปาจิตตีย์ล้วน ไม่มีสิ่งของอันเป็นเหตุให้ต้องอาบัติคือ ทำผิดอย่างใดตรงกับที่ห้าม ก็ต้องอาบัตินี้ เวลาแสดงอาบัติก็สารภาพตรง ๆ ตามที่ผิด เช่น ต้องอาบัติเพราะพูดเท็จ ก็สารภาพตามตรงว่าพูดเท็จ ๑๘/ ๑๑๗๑๒
๓๕๑๕. ป่าซาง อำเภอ ขึ้น จ.ลำพูน ภูมิประเทศตอนเหนือ และตอนกลางเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา ตอนใต้เป็นที่ดอนและป่า มีเนินสูงบ้าง
อ.ป่าซาง เดิมชื่อ อ.ปากบ่อง เพราะแควลำน้ำแม่ทากับแควลำน้ำแม่กวง ไหลมาร่วมกันแล้วทะลุออกที่แม่น้ำปิง ตรงบ้านปากบ่อง มาเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ป่าซาง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ ๑๘/ ๑๑๗๑๓
๓๕๑๖. ปาฎลีบุตร เป็นชื่อมหานครสำคัญเกี่ยวพันกับประวัติพระพุทธศาสนา ปรากฎเรื่องเนื่องในประวัติศาสตร์ชมพูทวีปเป็นอันมาก โดยเป็นเมืองหน้าด่านเป็นศูนย์การค้าตั้งอยู่ใกล้ฝั่งคงคา ทางตะวันออกค่อนข้างเหนือของชมพูทวีป เป็นที่ประทับของมหาราชจันทรคุปต์ และพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่สอง
แต่เดิมมา ปาฎลีบุตรเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อ ปาฏลิคาม เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรู โอรสพระเจ้าพิมพิสาร ครองนครราชคฤห์ ก่อนพุทธปรินิพพานแปดปี ทรงตั้งเมืองปาฏลีคาม ไว้เป็นเมืองหน้าด่าน เพื่อป้องกันการรุกรานจากกษัตริย์แคว้นวัชชี และหมายเป็นที่ยกพลข้ามแม่น้ำคงคา ไปรบกับกษัตริย์แคว้นวัชชีด้วย พระพุทธเจ้าก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานไม่นาน เคยเสด็จถึงปาฏลีคามครั้งหนึ่ง และทรงมีพระพุทธทำนายไว้ว่า ต่อไป ณ สถานที่นี้จะเป็นนครใหญ่ รุ่งโรจน์ไพศาลกว่านครใดในชมพูทวีป
จดหมายเหตุหลวงจีนฟาเหียนบันทึกไว้ เมื่อปี พ.ศ.๙๗๒ ว่า เมืองนั้นตั้งอยู่ตรงที่แม่น้ำห้าสายมาร่วมกันใจกลางชมพูทวีปคือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำโคครา แม่น้ำวัปตี แม่น้ำคัณฑก และแม่น้ำโสณะ เรือแพบรรทุกสินค้าที่ไปมาจำต้องผ่าน ปาฏลีคามจึงเจริญเติบโตเป็นเมืองสำคัญอย่างรวดเร็ว ต้องด้วยพุทธทำนาย
สิ้นสมัยพระเจ้าอชาตศัตรู พระราชนัดดา พระนามว่า อุทายิน ทรงย้ายเมืองหลวงจากนครราชคฤห์ ลงมาตั้งอยู่ที่ปาฏลีคาม แล้วยกขึ้นเป็นราชธานีมีนามว่า ปาฏลีบุตร
ประวัตินครปาฏลีบุตร หายไปกว่าร้อยปี มาปรากฎในวรรณคดีอินเดีย และประวัติการสืบพระพุทธศาสนาของหลวงจีนอีกสองรูปคือ หลวงจีนฟาเหียน และหลวงจีนถังจัมจั๋ง เมื่อปี พ.ศ.กว่า ๑,๐๐๐ ปี อีกหนึ่งรูป ประวัติที่ปรากฎในวรรณคดีอินเดียคือ ประวัติเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๐ พรรณาไว้บางตอนว่า
ปาฏลีบุตร เป็นนครอันไพศาลประตูโดยรอบกำแพงนครถึง ๖๔ ประตู เปิดไว้เพื่อการสัญจรไปมาตลอดวัน ตลอดคืน มีป้อมคูและหอรบ ตั้งอยู่โดยรอบสัก ๕๗๐ แห่ง เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ เป็นที่ชุมนุมของพ่อค้าบรรทุกโคต่าง มาจากทุกทิศ สรรพสินค้ามาจากอาระเบีย อ่าวเปอร์เซีย สิงหฬ กาลิงคะ โกศล วิทาภา วัชรการู แถบภูเขาเจโทตก เมืองสัตยบุตร บังกาลอร์ เมืองสัตยมังคลัม ทิเบต กัษมีระ พาราณสี สินธุ สุวรรณคีรี ดาลทา ทัลลา จิปติ กามรูป มหิสมณฑล (อัสสัม) อังคะ (แคว้นเบงกอล) หิมาลัย วินธัย เกราลา (ใต้สุดของชมพูทวีป) เนปาล บัณฑยะ ผู้ใดปรารถนาสิ่งใด จะไม่ได้ไปจากกรุงปาฏลีบุตร นั้นเป็นไม่มี
ปาฏลีบุตรรุ่งเรืองอยู่นาน มาสิ้นความรุ่งเรืองเมื่อสิ้นวงศ์โมริยะ ถึงสมัยเมื่อกษัตริย์มุสลิม เข้ารุกรานชมพูทวีป นครนี้ก็เหลือแต่ซาก เมื่อพวกมุสลิมเข้ามาตีอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.๑๗๔๓ ได้ตัดทอนเลิกพระพุทธศาสนาขาดไม่มีเหลือในประเทศอินเดีย ชื่อและที่ตั้งเมืองปาฏลีบุตร อยู่แห่งใดไม่มีใครรู้
หลวงจีนฟาเหียน บันทึกพรรณาความไว้ว่า "เมื่อได้ข้ามแม่น้ำ(คงคา) ต่อไปทางทิศใต้ ๑ โยชน์ (๔๐๐ เส้น) ก็ไปถึงนครปาฏลีบุตร ในราชอาณาจักรมคธ ตรงกึ่งกลางนครเป็นที่ตั้งพระราชวัง และท้องพระโรงยังมีทรากให้เห็นอยู่ตามกำแพงและประตูทั้งหลาย ก่อสร้างด้วยแผ่นศิลา ยังมีลวดลายสลักระบายเป็นศิลปะวิจิตรงดงาม ยากที่มนุษย์ในโลก (ปัจจุบัน) จะทำด้วยฝีมือให้สำเร็จเช่นนี้ได้ ฯลฯ พราหมณ์ราชสวามี ได้ช่วยเผยแผ่ธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างไพศาล ป้องกันมิให้เจ้าลัทธิอื่นมาขัดขวาง การปฎิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ได้ ฯลฯ เขตแขวงของแคว้นมคธ กว้างใหญ่ไพศาลกว่าอาณาจักรทั้งหลายในมัชฌิมประเทศ ฯลฯ ทุกปีในวันแปดค่ำ เดือนยี่ ประชาชนทำการสมโภชแห่แหน พระพุทธปฎิมากันครั้งหนึ่ง"
ในรัชสมัยพระเจ้าอโศก ฯ ได้สร้างพระสถูปใหม่ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีขนาดใหญ่เป็นประธานอยู่หนึ่งองค์ ฯลฯ ที่เสาศิลาจารึกสูงหกศอก มีข้อความจารึกว่า ทรงอุทิศถวายชมพูทวีปให้เป็น (ที่สัปปายะ) ของพระภิกษุสงฆ์ทั่วจาตุรทิศ ฯลฯ "
พระถังซัมจั๋ง เดินทางไปสืบพระศาสนายังชมพูทวีป ถึงนครปาฏลีบุตรได้พรรณามหานครนี้ไว้ว่า "เดินทางไปทางทิศใต้ ข้ามแม่น้ำคงคาแล้วถึงแคว้นมคธ ซึ่งมีอาณาเขตโดยรอบประมาณ ๕,๐๐๐ ลี้ พลเมืองนิยมการศึกษา และการปฏิบัติธรรม อยู่ในสัมมาปฎิบัติ มีอารามกว่า ๕๐ แห่ง พระภิกษุสงฆ์ประมาณหนึ่งหมื่นรูป โดยมากเป็นฝ่ายมหายาน ทางทิศใต้ของแม่น้ำเป็นเมืองเก่า มีเขตโดยรอบ ๗๐ ลี้เศษ ถึงแม้จะเป็นเมืองร้าง แต่ก็ยังมีช่องเสมาบนยอดกำแพงปรากฎอยู่"
"พระราชวังเก่าตั้งอยู่ทางด้านเหนือของแม่น้ำคงคา เป็นเมืองน้อยๆ มีราษฎรประมาณ ๑,๐๐๐ ครัวเรือน ด้านเหนือพระราชวังมีเสาศิลาสูง เป็นที่หมายแห่งเรือนยอดที่พระเจ้าอโศกโปรดให้สร้างขึ้น" ปัจจุบันปาฏลีบุตร คือ เมืองปัตนะ นครหลวงแคว้นพิหาร อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เส้นทางคมนาคมประมาณ ๔๘๐ กม. จากกัลกัตตา ๑๘/ ๑๑๗๑๔
|
Update : 27/5/2554
|
|