หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/90
    ๓๔๕๘. ปัจจันตประเทศ  คือ ประเทศปลายเขตแดนหรือหัวเมืองชั้นนอก ดังในหนังสือพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า ชมพูทวีปนั้นแบ่งออกเป็นสองจังหวัด ร่วมในเรียกว่า มัชฌิมประเทศ แปลว่าประเทศกลาง ภายนอกเรียกว่า ปัจจันตประเทศ แปลว่าประเทศชายแดน ครั้งพุทธกาล มัชฌิมชนบทกำหนดไว้ในทิศบูรพา ภายในแต่มหาสาลนคร เข้ามาในทิศอาคเนย์ ภายในแต่แม่น้ำสัลลวดี เข้ามาในทิศทักษิณ ภายในแต่เสตกัณณนิคม เข้ามาในทิศปัจจิม ภายในแต่ถูนคาม เข้ามาในทิศอุดร ภายในแต่ภูเขาอสีรธชะเข้ามา         ๑๘/ ๑๑๕๘๐
                ๓๔๕๙. ปัจจัย  (ดูจตุปัจจัย - ลำดับที่ ๑๒๗๕)         ๑๘/ ๑๑๕๘๔
                ๓๔๖๐. ปัจจุทธรณ์  แปลว่า ยกเลิกของเดิมที่มีอยู่ การถอนคืน การถอนอธิษฐาน เป็นธรรมเนียมของพระภิกษุ บริขารของใช้ประจำสำหรับตัว ต้องมีพระพุทธานุญาติพิเศษไว้ จะมีได้จำกัดจำนวน หรือจะมีได้โดยกำหนดจำนวนอย่างไร ต้อง อธิษฐานไว้ตามจำนวนที่ได้รับพระพุทธานุญาตไว้นั้น เมื่อสิ่งนั้นชำรุดเสียหายใช้ไม่ได้ จะหาใหม่แทน ก่อนที่จะเอาของใหม่เข้าแทนที่ต้องถอนของเดิมออกก่อน ที่ถอนของเดิมของนั้นเรียกว่า ปัจจุทธรณ์ มีข้อกำหนดว่าสิ่งที่จะต้องทำปัจจุทธรณ์นั้น จะต้องไม่ซ้ำกับของเก่าคือ มีอยู่จะทำอีกไม่ได้ หรือยังไม่มีอยู่ก่อนแล้วจะทำปัจจุทธรณ์ก็ไม่ได้         ๑๘/ ๑๑๕๘๔
                ๓๔๖๑. ปัจเจกพุทธ  เป็นพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เฉพาะตัว มิได้สั่งสอนผู้ใด และตรัสรู้ในกาลว่างพระศาสนา ต้องบำเพ็ญพุทธการธรรม นับตั้งแต่ตั้งความปรารถนา แล้วนานถึงสองอสงไขยกับแสนกัป
                        พุทธการธรรมได้แก่ บารมี ๑๐ สติปัฏฐานสี่  สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละหน้า โพชฌงค์เจ็ด มรรคมีองค์แปด         ๑๘/ ๑๑๕๘๕
                ๓๔๖๒. ปัจเจกสมาทาน  มีบทนิยามว่า "การสมาทานศีลที่ลาสิกขาบท "เรียกว่า ปัจเจก สมาทาน ถ้าสมาทานรวมท้าย เช่นว่า พุทธ ปญฺญตฺตํ อุโปสถํ สมาทิยามิ หรือ อฏฺฐสีลานิ สมาทิยามิ เรียกว่า เอกัชฌสมาทาน" คือ การสมาทานรวมยอด
                        ปัจเจกสมาทาน คือ การสมาทานศีลแยกเฉพาะที่ละสิกขาบทเท่านั้น         ๑๘/ ๑๑๕๘๖
                ๓๔๖๓. ปัญจศัพย์  (ดูเบญจศัพย์ - ลำดับที่. ๓๒๒๒..)         ๑๘/ ๑๑๕๘๘
                ๓๔๖๔. ปัญจตันตระ  เป็นหนังสือประชุมนิทานโบราณในภาษาสันสกฤตมีห้าเล่ม หรือห้าภาค แสดงถึงวิธีสอนคนสมัยโน้นให้เด็กรู้วิชาความรู้ต่าง ๆ ตามนิติประเพณี และให้มีความฉลาดเท่าทันกลวิธีเล่ห์เหลียม นิทานเรื่องหนึ่ง ๆ ย่อมมีเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวโยงกันเป็นแบบนิทานซ้อนนิทาน โดยส่วนใหญ่ยกอุทาหรณ์ของสัตว์ต่างชนิดต่างนิสัยขึ้นมาประกอบเป็นเรื่อง มีการเจรจาโต้ตอบ หรือคิดต่อสัมพันธ์กันจนในที่สุดสรุปเป็นของสิ่งสอนให้จดจำไว้ วิธีนี้มีทำนองคล้ายคลึงกันกับนิทานอีสปของชาติโยนก ซึ่งปรากฏแพร่หลายมาก่อนประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ
                        คัมภีร์ปัญจตันตระนี้คาดกันว่า มีอายุเริ่มแรกระหว่างพุทธศัตวรรษที่ ๘ กับ ๙ หลังจากนั้นอีกราว ๔๐๐ ปี จึงได้รวบรวมเป็นชุด มีผู้นิยมเล่าสู่กันฟังแพร่หลาย
                        เมื่อปรากฏในภาษาสันสกฤตจนนิยมกันทั่วไปแล้ว ต่อมาระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓ กับ ๑๔ ได้มีผู้แปลออกเป็นภาษาซีเรีย ภาษาอาหรับ และภาษาอิหร่านโบราณที่เรียกว่า ปาหลวี โดยพระบัญชาของกษัตริย์เนาษีรวาน และว่ากันว่าปัญจตันตระฉบับที่มีอยู่ปัจจุบันก็ได้ถ่ายทอดอีกชั้นจากฉบับของอิหร่านเก่านี่เอง ต่อจากนั้นอีกมาเป็นเวลาร้อย ๆ ปี ก็กลายเป็นต้นเค้าของเรื่องนิทานอาหรับราตรี (ที่เซอร์ริชาร์ด เอฟ.เบอร์ตัน แปลออกเป็นภาษาอังกฤษคู่กันกับคัมภีร์กามสูตรของอินเดีย) ของนิทานบันเทิงทศวาร บอกกาจจิโอของนิทานเรื่องทศมนตรีและของเรื่องหิโตปเทศ         ๑๘/ ๑๑๕๘๘
                ๓๔๖๕. ปัญจนที หรือปัญจมหานที  คือ แม่น้ำใหญ่ห้าสายในประเทศอินเดียตอนเหนือที่เรียกว่า มัธยมประเทศในสมัยพทุธกาล แม่น้ำดังกล่าวได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำอจิรวดี  แม่น้ำสรภู และแม่น้ำมหี          ๑๘/ ๑๑๕๙๐
                ๓๔๖๖. ปัญจวัคคีย์  (ดูเบญจวัคคีย์ - ลำดับที่ ๓๒๓๑)         ๑๘/ ๑๑๕๙๐
                ๓๔๖๗. ปัญจอันตรธาน  แปลว่าความสุขไป ลับไป เสื่อมสิ้นห้าประการ หมายเอาความสูญไปเสื่อมไปแห่งพระพุทธศาสนา วิธีอันตรธานมีอยู่ห้าประการคือ
                        ๑. ความเสื่อมสูญแห่งพระปริยัติ
                        ๒. ความเสื่อมสูญแห่งการปฏิบัติ
                        ๓. ความเสื่อมสูญแห่งการตรัสรู้มรรคผล
                        ๔. ความเสื่อมสูญแห่งเพศสมณะ
                        ๕. ความเสื่อมสูญแห่งธาตุ
                        พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อพระปริยัติคือ พระไตรปิฎกยังต้องดำรงอยู่ตราบใด ศาสนาก็ชื่อว่ายังดำรงอยู่ตราบนั้น เมื่อพระปริยัติเสื่อมถอยน้อยผู้เล่าเรียนแล้วกาลใด พระศาสนาก็ชื่อว่าเสื่อมในกาลนั้น
                        พระปริยัติคือ พระไตรปิฎก ผู้มีปรีชาชาญได้สดับพระปริยัติแล้วจึงยังปฏิบัติทั้งปวงและปฏิเวธธรรมให้บริบูรณ์ได้ เมื่อพระปริยัติยังดำรงอยู่ตราบ่ใด ศาสนาก็ชื่อว่ายังดำรงอยู่ตราบนั้น ครั้นกาลล่วงไปพระปริยัติหาผู้เล่าเรียนมิได้แล้ว มีตั้งแต่จะเสื่อมทรุดลงไป พระภิกษุทั้งหลายไม่อาจทรงไว้ซึ่งอัตถรสได้ก็จะทรงไว้ได้แต่บาลีสิ่งเดียว เมื่อพระไตรปิฎกจะเสื่อมนั้น พระอภิธรรมเสื่อมก่อน โดยเสื่อมลงมาแต่ยอด คือ คัมภีร์พระมหาปัฏฐาน เมื่อพระสุตตันตปิฎกจะเสื่อมนั้น ก็เสื่อมแต่ยอดลงมา คัมภีร์อังคุตรนิกายเสื่อมก่อน เมื่อคัมภีร์ทีฆนิกายเสื่อมแล้ว พระสุตตันตปิฎกก็จัดว่าเสื่อม ในกาลครั้งนั้นพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ทรงไว้ซึ่งชาดกและพระวินัย ต่อมาเมื่อชาดกเสื่อมจะเสื่อมที่มหาเวสสันดรชาดกก่อน พระภิกษุทั้งหลายก็ทรงไว้ซึ่งพระวินัยอย่างเดียว เมื่อพระวินัยจะเสื่อมนั้นคัมภีร์บริวารจะเสื่อมก่อน
                        ข้อที่ว่าความเสื่อมสูญระหว่างการปฏิบัติมีอธิบายว่า เมื่อพระภิกษุทั้งหลายไม่สามารถยังฌาน และวิปัสนา และมรรคผลให้เกิดขึ้นได้ ก็รักษาอยู่แต่พระจตุปาริสุทธิศีลสิ่งเดียว นานไปก็เบื่อหน่ายด้วยดำริว่า เราทั้งหลายจะประกอบกิจสักเท่าใดก็ไม่อาจสำเร็จมรรคผลได้ ก็คลายจากความเพียร ก็ย่ำยีล่วงเกินของอาบัติเล็กน้อย ต่อมาก็มิได้อาลัย ล่วงอาบัติอันใหญ่ คืออาบัติปาจิตตีย์ อาบัติถุลลัจจัย ต่อนานไปก็สำรวมรักษาไว้แต่ครุอาบัติ คือ สังฆาทิเสสและปาราชิก กาลใดหาภิกษุซึ่งจะสำรวมรักษาปาราชิกสิกขาบทไม่ได้แล้ว กาลนั้นจัดได้ชื่อว่า ปฏิบัติธรรมอันตรธาน
                        ข้อที่ว่าเสื่อมสูญแห่งการตรัสรู้มรรคผล กาลใดหาพระโสดาบันบุคคลมิได้ กาลนั้นก็ชื่อว่าอธิคมสัทธรรมอันดรธานแล้ว
                        ข้อที่ว่าความเสื่อมสูญแห่งเพศสมณะ กาลใดที่มีผู้ดำริว่า จะประโยชน์อันใดด้วยผ้ากาสาวพัสตร์อันผูกพันในมือและที่คอแล้วนำผ้ากาสวพัสตร์ทิ้งไป กาลนั้นสมณะเพศก็ได้ชื่อว่าเสื่อมสูญสิ้น
                        ข้อที่ว่าความเสื่อมสูญแห่งธาตุ หมายเอาพระบรมธาตุเจ้านิพพาน นิพพานในที่นี้มีสามประการคือ กิเลสปรินิพพาน ขันธปรินิพพาน และธาตุปรินิพพาน พระบรมสารีริกธาตุ อันประดิษฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ นั้น ครั้นเมื่อมิได้เครื่องสรรพปูชนียภัณฑ์แล้วก็เสด็จไปสู่ที่ อันประกอบด้วยเครื่องสักการบูชา ถ้ามีบุคคลบูชาอยู่ในประเทศใดแล้ว ก็เสด็จไปสู่ประเทศนั้น ด้วยกำลังอธิษฐานแห่งองค์พระผู้มีพระภาคเจ้า  ครั้นกาลล่วงไปที่ทั้งหลาย ทั้งปวงปราศจากเครื่องสักการบูชาแล้ว พระบรมธาตุก็จะมาสโมสรสันนิบาตเข้ากัน แล้วจะเสด็จไปสู่พระมหาเจดีย์อันใหญ่ในลังกาทวีป แล้วเสด็จไปสู่ราชายตนเจดีย์นาคทวีป แล้วเสด็จไปสู่โพธิบัลลังก์ พระบรมธาตุ ครั้นประชุมพร้อมกัน กระทำอาการเป็นพระพุทธรูปปรากฏเหมือนดังองค์พระสุคต อันเสด็จประดิษฐานเหนือรัตนบัลลังก์ใต้ควงไม้พระมหาโพธิ์ จะกระทำพระปาฎิหาริย์ มีอาการดุจดังยมกปาฎิหาริย์ ฝูงเทพทั้งหลายในหมื่นจักรวาล จะพากันมาสโมสรสันนิบาตพร้อมเพรียงกัน ในลำดับนั้นเดโชธาตุก็ดั้งขึ้น แต่พระสรีรธาตุเผาผลาญพุงพ้นขึ้นไปถึงพรหมโลก พระบรมธาตุแสดงซึ่งเตโชพลอานุภาพแล้วก็แสดงนิพพาน         ๑๘/ ๑๑๕๙๐
                ๓๔๖๘. ปัญจอำมฤต หรือปัญจามฤต  หมายถึง อาหารทิพย์ห้าอย่างได้แก่ นมโคสด นมเปรี้ยว เนย น้ำผึ้ง และน้ำตาล
                        ในความหมายอื่นหมายถึงธาตุทั้งห้า และยังหมายถึงยาชนิดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยสมุนไพรห้าชนิด         ๑๘/ ๑๑๕๙๗
                ๓๔๖๙. ปัญจาป - แคว้น   ดินแดนทางตะวันตกของอินเดียและทางเหนือของปากีสถาน มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำและบางส่วนเป็นเทือกเขาหิมาลัย ชื่อแคว้นนี้ในภาษาฮินดูแปลว่าแม่น้ำห้าสาย ซึ่งเป็นแคว้นของแม่น้ำสินธุ ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัยผ่านแคว้นปัญจาป ไปทางทิศใต้ออกสู่ทะเลอาหรับในภาคใต้ของปากีสถาน
                        แคว้นปัญจาปมีความสำคัญทางด้านการเมือง และยุทธศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากมีที่ตั้งควบคุมเส้นทางการติดต่อระหว่างช่องเขาไคเบอร์ กับลุ่มแม่น้ำคงคา ในสมัยก่อนเมื่อมีชนชาติต่าง ๆ บุกรุกเข้ามาทางตอนเหนือของอินเดียจะต้องผ่านดินแดนส่วนนี้ก่อนที่จะเข้าไปถึงลุ่มแม่น้ำคงคาได้ จึงเป็นบริเวณที่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นเวลาช้านานแล้ว มีอาณาจักรต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามามีอำนาจปกครอง เช่น ในพุทธศตวรรษที่ ๓ เคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช และในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๓ ตกอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรมุสลิม เป็นต้น
                        เมื่ออังกฤษเข้ามามีอำนาจทางการเมืองในอินเดียได้รวมเอาแคว้นปัญจาปเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบริติชอินเดียในปี พ.ศ.๑๓๙๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๐ เมื่ออินเดียและปากีสถาน ได้รับเอกราชจากอังกฤษ แคว้นปัญจาปก็แบ่งออกเป็นสองส่วน โดยภาคตะวันออกรวมเข้ากับอินเดีย ส่วนภาคตะวันตกรวมเข้ากับปากีสถาน ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาความแตกต่างด้านศาสนาของประชากร คือ ในภาคตะวันออกประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูและชาวซิก ส่วนในภาคตะวันตก ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม แต่ก็ยังมีประชากรต่างศาสนาเหลือตกค้างอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย และได้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ในแคว้นปัญจาปทั้งสองส่วน จนถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวายในที่สุดได้มีการ เดินทางอพยพข้ามพรมแดนของประชากรที่นับถือศาสนาฮินดู และศาสนาซิกจากปัญจาปตะวันตกไปยังปัญจาปตะวันออก ปรากฏว่าจำนวนผู้เดินทางอพยพข้ามพรมแดนดังกล่าวมีถึงกว่า ๙ ล้านคน นับเป็นการเดินทางอพยพครั้งยิ่งใหญ่ ที่มีมูลเหตุมาจากความแตกต่างในด้านศาสนาในสมัยปัจจุบัน
                        แคว้นปัญจาปตะวันออกซึ่งรวมเข้ากับอินเดียมีพื้นที่ประมาณ ๕๐,๓๐๐ ตาราง กม. ส่วนแคว้นปัญจาปตะวันตก ซึ่งรวมเข้ากับปากีสถานมีพื้นที่ประมาณ ๗๐๖,๔๐๐ ตาราง กม.            ๑๘/ ๑๑๕๙๘
                ๓๔๗๐. ปัญจาป - ภาษา เป็นภาษากับสาขาหนึ่งของอินเดียใช้กันอยู่ในแคว้นปัญจาป เป็นภาษาสำคัญภาษาหนึ่งในจำนวนภาษาใหญ่ ๑๔ ภาษาที่ระบุในรัฐธรรมนูญของอินเดีย ภาษานี้ใช้ในหมู่ชนมากกว่า ๓๕ ล้านคนในอินเดีย ภาคตะวันตกเฉียงเหนือรวมทั้งปากีสถาน มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาอินเดียตะวันตก และภาษาอูรดู เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาษานี้มักจะใช้โดยเฉพาะในหมู่พวกซิก และใช้เป็นภาษาในคัมภีร์ของชาวซิกด้วย         ๑๘/ ๑๑๕๙๙
                ๓๔๗๑. ปัญญา ๑  ปัจจุบันในวงการแพทย์มีความหมายต่างกันสองแบบคือ
                        ๑. ปัญญา หมายถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย ความฉลาด หรือเชาวน์ปัญญา ประสบการณ์ การเรียนรู้และสภาพของจิตใจ
                        ๒. ปัญญา หมายถึง เชาวน์ปัญญาหรือความฉลาดซึ่งส่งโดยหลักกว้าง ๆ หมายถึง
                            ก. ความสามารถทางด้านความคิดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบุคคลิกภาพ
                            ข. เป็นความสามารถหลาย ๆ ด้านรวมกันไปจำเพาะเจาะจงไปในแง่ใดแง่หนึ่ง
                            ค. เป็นสิ่งที่มีมาแต่กำเนิด และเพิ่มพูนจากพัฒนาการในวัยเด็ก
                        เชาวน์ปัญญาเป็นสิ่งที่มาแต่กำเนิด และเพิ่มขึ้นตามอายุ แต่เมื่อถึงอายุ ๑๖ ปีแล้ว เชาวน์ปัญญาจะเปลี่ยนไปได้น้อยมาก เชาว์ปัญญาจะลดลงเมื่อวัยชรา เชาวน์ปัญญาเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม        ๑๘/ ๑๑๖๐๐
                ๓๔๗๒. ปัญญา ๒  สภาวะธรรมอย่างหนึ่ง  ซึ่งเป็นคุณธรรมอันละเอียดสุขุมประณีตที่สุด ทางพระพุทธศาสนากำหนดเป็นหลักที่จะต้องศึกษาให้รู้ให้เข้าใจเรียก ปัญญาสิกขา รวมกับคุณธรรมหลักอีกสองข้อ คือ สีลสิกขา  จิตสิกขา รวมเข้ากับปัญญาเป็นสาม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสามนี้เป็นหลักต้องศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ มีบทนิยามว่า "ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ความฉลาดเกิดแต่การเรียนและคิด" คุณธรรม คือ ปัญญานี้เป็นคุณธรรมชั้นสูงสุดทั้งคติโลก และคติธรรม
                        เมื่อว่าโดยปรมัตถธรรม ปัญญามีการตรัสรู้สภาวธรรมเป็นลักษณะมีอันขจัดความมืด คือ โมหะอันปกปิดสภาวธรรมทั้งหลาย เป็นรส คือ เป็นกิจมีความหายหลงเป็นปัจจุปัฏฐาน คือเป็นเครื่องปรากฎ หรือเป็นผลมีสมาธิเป็นปทัฏฐาน
                        ปัญญานี้ว่าโดยลักษณะคือ ความตรัสรู้สภาวธรรมรู้จริงตามเป็นจริง เมื่อกล่าวโดยจำแนกก็จำแนกออกได้เป็นหลายอย่าง เช่น แบ่งออกเป็นสองคือ เป็นโลกิยปัญญา และเป็นโลกุตรปัญญา แบ่งออกเป็นสามเป็นจินตามยปัญญา สุตมยปัญญา และภาวนามยปัญญา         ๑๘/ ๑๑๖๐๗
                ๓๔๗๓. ปัญญาสชาดก  คือประชุมนิทานเก่าแก่ที่เล่ากันในเมืองไทยแต่โบราณ ๕๐ เรื่อง พระภิกษุชาวเชียงใหม่รวบรวมแต่งเป็นชาดกไว้ในภาษาบาลี เมื่อราวปี พ.ศ.๒๐๐๐ - ๒๒๐๐ อันเป็นสมัยที่พระภิกษุสงฆ์ชาวประเทศนี้ พากันไปเล่าเรียนมาแต่ลังกาทวีป มีความรู้ภาษาบาลีแตกฉาน แต่งเป็นทำนองจดบันทึกแสดงเป็นประวัติ เช่น คัมภีร์ชินกาลมาลี เป็นต้น ตามอย่างเรื่องมหาวงศ์พงศาวดารลังกาบ้าง แต่งเป็นชาดก เช่น เรื่องปัญญาสชาดกนี้เอาอย่างนิบาตชาดกบ้าง
                        หนังสือปัญญาสชาดกนั้ต้นฉบับเดิมเป็นคัมภีร์ลาน จำนวนรวม ๕๐ ผูกด้วยกันมีอยู่แต่ในประเทศไทย เมืองหลวงพระบาง และกรุงกัมพูชาที่อื่นหามีไม่ มีเรื่องราวปรากฏเคยได้ฉบับไปถึงเมืองพม่าครั้งหนึ่ง พม่าเรียกว่า เชียงใหม่ปัณณาส แต่พระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์หนึ่งดำรัสว่า เป็นหนังสือปลอมพระพุทธพจน์ไม่ยอมรับนับถือ         ๑๘/ ๑๑๖๑๔
                ๓๔๗๔. ปัดรังควาน  คือการทำพิธีขับไล่ผีให้ออกไป เมื่อว่าตามลักษณะของการกระทำก็คือ ทำเป็นเคล็ดตามพิธีที่เชื่อกันว่า จะแก้ และป้องกันผีได้
                        เรื่องปัดรังควานนี้แต่เดิมว่า จะใช้เฉพาะเกี่ยวกับเรื่องของช้าง ต่อมาได้ขยายออกไปถึงเรื่องการทำพิธีขับไล่ผีดังกล่าว ยิ่งกว่านั้นยังได้ขยายออกไป ถึงเรื่องของการทำพิธีขับไล่หรือขจัดอุบาทว์ เสนียดจัญไร          ๑๘/ ๑๑๖๑๗
                ๓๔๗๕. ปัตตานี  จังหวัดภาคใต้ ตั้งศาลากลางที่ ต.สะมารัง  อ.เมือง ฯ ฝั่งซ้ายแม่น้ำปัตตานีห่างปากน้ำราว ๒ กม. ทิศเหนือและทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ทิศใต้จด จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ทิศตะวันตกจด จ.สงขลา ภูมิประเทศตอนเหนือและตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม ตอนใต้และตะวันตกเป็นที่ดอน มีเขาเล็ก ๆ เตี้ย ๆ มาก พลเมืองส่วนมากเป็นไทยอิสลาม ทำนา ทำสวนยางพารา เลี้ยงสัตว์และทำประมง สินค้ามีข้าว ยางพารา มะพร้าวแห้ง โค กระบือ ไก่ เป็ด ปลาสด ปลาเค็ม และแร่ดีบุก
                         จ.ปัตตานีเรียกกันว่า เมืองตานีบ้าง เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งในแหลมมลายู มีเรื่องกล่าวกันว่า เป็นเมืองผู้หญิงสร้าง ในสมัยเมื่อไทยแผ่อาณาเขตลงไป ถึงปลายแหลมมลายูนั้น จ.ปัตตานีก็ขึ้นแก่ไทยเป็นเมืองประเทศราช ส่งบรรณาการเป็นคราว ๆ เช่นเดียวกับเมืองมะละกา เมืองปัตตานีนี้ ใช้วิธีปกครองโดยสตรีในวงศ์ตระกูลเจ้าเมือง ซึ่งมีอายุสูงพ้นเขตที่จะมีบุตรได้แล้วเป็นนางพระยาว่า ราชการเมืองเป็นประเพณีสืบมา ดังเช่นในเกาะสุมาตราบางแห่งและ ใช้ประเพณีนี้ตลอดมาในสมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่คราวใดกรุงศรีอยุธยาอ่อนอำนาจลงเมืองปัตตานีก็งดส่งบรรณาการแสดงอาการกระด้างกระเดื่อง เช่นในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองในปี พ.ศ.๒๑๗๕ นางพระยาปัตตานีถือโอกาสงดส่งบรรณาการแสดงความกระด้างกระเดื่อง จึงโปรดให้กองทัพกรุงออกไปปราบถึงสองครั้งก็ยังปราบไม่ได้ เตรียมกองทัพจะไปปราบอีก แต่พวกฮอลันดาแนะนำนางพระยาให้อ่อนน้อมเสีย เมืองปัตตานีจึงกลับเป็นของไทยดังเก่า
                        ครั้นเมื่อเสียกรุงแก่พม่า เมื่อปี ค.ศ. ๒๓๑๐ พระยาปัตตานีถือโอกาสปลีกตัวจากไทยอีกจนถึง พ.ศ.๒๓๒๙ เมื่อเสร็จศึกพระจ้าปะดุงในรัชกาลที่หนึ่งแล้ว กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้เสด็จยกทัพหลวงไปขับไล่พม่าทางแหลมมลายูไปหมดแล้ว มีพระบัณฑูรออกไป ให้บรรดาหัวเมืองมลายูที่เคยขึ้นแก่ไทย มาอ่อนน้อมดังเดิม พระยาปัตตานีขัดแข็ง ต้องให้กองทัพไปปราบปรามจึงได้เมืองปัตตานีคืน และชะรอยจะตั้งผู้เป็นเชื่อพระวงศ์ของพระยาปัตตานีให้เป็นเจ้าเมือง แต่เจ้าเมืองคนใหม่ไม่ซื่อสัตย์ เพราะปรากฏว่าในปี พ.ศ.๒๓๓๒ พระยาปัตตานี้ได้ไปชักชวนองเชียงสือ ซึ่งเป็นพระเจ้าเวียดนามยาลองจะให้มาตีหัวเมืองในพระราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงโปรดให้กองทัพไปตีหัวเมืองปัตตานีอีกครั้งหนึ่ง แล้วถอดเจ้าเมืองเก่าเสีย ตั้งข้าราชการไทยเป็นเจ้าเมืองแทน ต่อมาในรัชกาลที่สอง  พม่าคิดจะยกทัพมาตีไทยอีก ได้ให้ไปชักชวนหัวเมืองมลายูที่ขึ้นแก่ไทยให้ก่อการกบฎขึ้น แต่เจ้าเมืองปัตตานีเป็นคนไทยจึงปราบปรามไว้ได้ แต่นั้นต่อมาจึงโปรดเกล้า ฯ ให้แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็นเจ็ดหัวเมือง คือ ปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง ระแงะ ราห์มัน สายบุรี และหนองจิก มีพระยาเมืองปกครองขึ้นต่อเมืองสงขลา มาจนถึงรัชกาลที่ห้าโปรดให้จัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล แต่บางเมืองที่มีเชื้อสายเจ้านายเก่า ๆ ปกครองอยู่ เช่นหัวเมืองในภาคพายัพบ้าง ภาคอีสานบ้าง ปักษ์ใต้บ้าง ได้จัดการปกครองเป็นบริเวณ โดยรวมกลุ่มเมืองเล็ก ๆ เข้าเป็นบริเวณดั้งเชื้อสายเจ้านายเก่า ๆ ในบริเวณนั้น ๆ เป็นผู้ครองเมือง และตั้งข้าหลวงประจำจังหวัด เป็นผู้ทำงานแทนผู้ครองเมือง แต่เมืองปัตตานีที่แยกออกเป็นเจ็ดหัวเมือง ก็ได้จัดการปกครองเป็นบริเวณ เสียกว่าบริเวณเจ็ดหัวเมือง ตั้งข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณตำแหน่งหนึ่ง ขึ้นต่อข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาถึงปี พ.ศ.๒๔๔๙ จึงได้ตั้งบริเวณเจ็ดหัวเมือง เป็นมณฑลปัตตานี ให้ข้าหลวงใหญ่เป็นสมุหเทศาภิบาล ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และให้มีจังหวัดเพียงสี่จังหวัด คือรวมเมืองปัตตานี เมืองหนองจิก และเมืองยะหริ่งเข้าเป็นเมืองปัตตานี รวมเมืองยะลากับเมืองราห์มันเข้าเป็นเมืองยะลา ส่วนเมืองระแงะกับเมืองสายบุรีคงอยู่ตามเดิม จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๕ จึงยุบเมืองสายบุรีเป็นเมืองตะลุบันขึ้น จ.ปัตตานี และแบ่งท้องที่ไปขึ้น จ.นราธิวาส (เมืองระแงะเดิม) บ้าง ตัวเมืองปัตตานีเดิมตั้งอยู่ที่บ้านมะนา ซึ่งปัจจุบันเป็น ต.บานาขึ้น อ.สะบารัง (อ.เมืองปัจจุบัน)         ๑๘/ ๑๑๖๑๙
                ๓๔๗๖. ปัถวี  เป็นชื่อเขาใน จ.กาญจนบุรี และ จ.อุทัยธานี เขาจ.กาญจนบุรีมีสองลูก ลูกหนึ่งอยู่ใน ต.พนมทวน  อ.พนมทวน สูง ๒๐๖ เมตร อีกลูกหนึ่งอยู่ใน ต.หนองบัว และ ต.จรเข้เผือก อ.เมืองกาญจนบุรี สูง ๓๖๓ เมตร เขาใน ต.หนองกระทุม อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี สูง ๒๕๓ เมตร มีถ้ำที่น่าชมหลายแห่งมีพระพุทธบาทจำลอง         ๑๘/ ๑๑๖๒๓
                ๓๔๗๗. ปัทมปุราณะ หรือปาทมปุราณะ  เป็นชื่อคัมภีร์ปุราณะคัมภีร์หนึ่งในจำนวนมหาปุราณะ ๑๘ คัมภีร์ คัมภีร์เล่มนี้เป็นผลงานของพราหมณ์นิกายไวยณพ ซึ่งนับถือพระวิษณุ หรือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด คัมภีร์ปัทมปุราณะมีความยาวถึง ๕๕,๐๐๐ โศลก และมีที่มาเป็นสองทาง คือ ทางหนึ่งเป็นฉบับเทวนาครี ที่ตีพิมพ์แล้วในปัจจุบัน กับอีกทางหนึ่งเป็นฉบับที่เก่ากว่า เรียกว่า ฉบับเบงคลี ซึ่งเป็นเอกสารตัวเขียน ยังไม่มีการตีพิมพ์ ฉบับตีพิมพ์อันเป็นฉบับรุ่นหลังนั้น แบ่งเนื้อความออกเป็นตอน ๆ เรียกว่า ขัณฑ์ รวมทั้งสิ้นหกขัณฑ์
                        บทสุดท้ายของปุราณะเล่มนี้ พยายามเน้นให้ผู้อ่านเห็น และคล้อยตามว่า พระวิษณุเป็นเทพเจ้าสูงสุดจริง ๆ แม้พระศิวะก็ไม่อาจเทียบได้ นอกจากนี้ผู้แต่งยังสร้างเรื่องข่มเทพเจ้าสูงสุดอีกสององค์ คือ พระพรหมกับพระอิศวร         ๑๘/ ๑๑๖๒๓
                ๓๔๗๘. ปัทมสมภพ (ครุปัทมสมภพ)  เป็นโอรสกษัตริย์ชาวชมพูทวีปในแคว้นเล็ก ๆ แคว้นหนึ่งเป็นนักบวชลื่อนามในนิกายพุทธตันตระ เป็นผู้ประกาศการนับถือลัทธิมนตรยาน หรือวัชรยาน เดินทางเข้าสู่ประเทศทิเบต ตามคำเชิญของกษัตริย์ประเทศนั้น เมื่อปี พ.ศ.๑๒๙๐ ร่วมกับกษัตริย์ทิเบตสร้างวัดซามเยขึ้นในปี พ.ศ.๑๒๙๒ ประกาศลัทธิมนตรยาน และให้กำเนิดนักบวชลามะขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศนั้น
                        ปัทมสมภพศึกษาแตกฉานในลัทธิโยคาจารของนาคารชุน ปรมาจารย์มหายานแห่งมหาวิทยาลัยนาลันทา เชี่ยวชาญชำนาญพระเวทและมนตรา มีฤทธิ์เชิงวิชาการ
                        ประชาชนชาวทิเบตพากันนับถือ ยกย่องคุรุปัทมสมภพเหมือนเป็นพระพุทธองค์หนึ่งมีรูปบูชาอยู่ภายในวัดทิเบตแทบทุกวัด รูปบูชานั้นมีชื่อเรืยกตามคติศรัทธาของชาวทิเบตว่า "พระผู้มีรูปกายแปดรูป ผู้ควรแก่การบูชา"         ๑๘/ ๑๑๖๒๙
                ๓๔๗๙. ปั้นจั่น  เป็นเครื่องมือใช้ยกของหนักจากที่แห่งหนึ่ง ซึ่งอาจยกได้ทั้งแนวยืน และแนวนอน
                        ปั้นจั่นแบบเสา นิยมใช้ในการเคลื่อนย้ายของในระบบหมุนรอบตัว
                        ในกรณีที่ต้องยกของเคลื่อนที่เป็นระยะไกลจะต้องใช้ปั้นจั่นชนิดตัวฉากกับเสาเป็นแบบคานยื่น         ๑๘/ ๑๑๖๓๕
                ๓๔๘๐. ปันจุเหร็ด  เป็นเครื่องสวมประดับศีรษะตัวละครอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับชฎา แต่ไม่มียอด สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสืบทราบว่า ปันจุเหร็ดนี้เป็นของที่มีผู้ประดิษฐ์ขึ้นสำหรับใช้แต่งตัวละครหลวงในรัชกาลที่สอง เดิมทีเดียวสำหรับแต่งปันหยีกับอุณากรรณในละครเรื่องอิเหนาเท่านั้น         ๑๘/ ๑๑๖๓๘
                ๓๔๘๑. ปันเชนลามะ  เป็นชื่อเรียกตำแหน่งลามะชั้นสูงอีกตำแหน่งหนึ่ง ของระบบการปกครองคณะสงฆ์ฝ่ายพุทธตันตรยาน (นิกายลามะ) ในประเทศทิเบต มีสำนักอยู่ ณ มหาวิหารดาษิ ในมณฑลชิกัดเส เป็นประธานสงฆ์ลามะฝ่ายตะวันตก จำกัดอยู่ในปริมฑลที่กำหนดไม่เกี่ยวกับทางอาณาจักร จึงเป็นที่สองรองจากตำแหน่งดาไลลามะ ซึ่งเป็นผู้ปกครองทั้งฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักร
                        ความเป็นมาของตำแหน่งปันเชนลามะคือ สมัยเมื่อเจงกิสข่านชาวมองโกลแผ่อำนาจครอบครองดินแดนจีน และทิเบตไว้ได้ในปี พ.ศ.๑๘๔๙ นั้น ทรงเลื่อมใสพุทธศาสนาลัทธิมนตรยาน จึงสนับสนุนพระสงฆ์ลามะให้มีฐานะมั่นคงขึ้นมาตลอด มาจนถึงสมัยจักรพรรดิกุบไลข่าน จักรพรรดิ์มองโกลใช้ศาสนาให้เป็นประโยชน์ในการปกครองทิเบต  จึงยกย่องประมุขสงฆ์ให้อำนาจ เป็นผู้ปกครองแผ่นดินด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ดาไลลามะจึงดำรงตำแหน่งราชาธิบดีและมหาสังฆราชในคราวเดียวกันแต่นั้นมา
                        ครั้งจีนมีอำนาจเหนือทิเบต จักรพรรดิ์จีนได้ดำเนินรัฐประศาสโนบายเหมือนที่จักรพรรดิ์มองโกลกระทำมา มีการยกย่องประมุขสงฆ์ทิเบตขึ้นเป็นองค์ดาไลลามะ อนุญาตให้สร้างมหาวิหารหรือวังใหญ่ คือ โปตละ ณ กรุงลาซา อันเป็นเมืองหลวงขึ้นเป็นที่ประทับ
                        ส่วนตำแหน่งปันเชนลามะเกิดขึ้น เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๘๐ เป็นประมุขสงฆ์ฝ่ายตะวันตก ครั้นมีอิสระแยกอำนาจการปกครองออกจากฝ่ายเมืองหลวง  แล้วเห็นว่าประธานสงฆ์ลามะทางเมืองหลวง อ้างตนเองเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอวตารลงมาได้ สงฆ์ลามะฝ่ายตะวันตก จึงออกกำหนดว่าประธานนิกายสงฆ์ฝ่ายตนคือ พระอมิตาพุทธอวตาร มาเกิด
                    นับแต่ปันเชนลามะ อ้างดังกล่าวข้างต้น สงฆ์ลามะนิกายอื่นที่แยกตัวไปต่างก็อ้างว่า ประธานสงฆ์นิกายตน คือ อวตารของพระโพธิสัตว์แต่ละองค์ และศาสนาจารย์คนสำคัญแต่ละคนอวตารลงมาเกิดทั้งสิ้น         ๑๘/ ๑๑๖๓๙
                ๓๔๘๒. ปันหยี ๑  เป็นคำชวา แปลว่า ธง เป็นยศแม่ทัพของชวาโบราณ เพราะเป็นหัวหน้าคุมไพร่พลจำนวนมาก โดยมีธงนำทัพเป็นสำคัญ ในยุคที่ชวาระส่ำระสาย เพราะแพ้พวกศรีวิชัยวงศ์ไศเลนทรจากสุมาตรา พวกระเด่นหรือผู้มีศักดิ์ตระกูลสูง ที่เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธมักปลอมตัวแปลงชื่อเป็นปันหยี พาไพร่พลไปเที่ยวรุกรบเมืองต่าง ๆ ปันหยีผู้เรื่องอำนาจในยุคนั้นคือ อิเหนา ยุพราชเมืองกุเรปัน ได้เป็นกษัตริย์ชวาในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ปรากฎพระนามในศิลาจารึกว่า กาเมศวร ประวัติของพระองค์
    มีผู้เล่าสืบทอดต่อ ๆ กันมาจนกลายเป็นนิทาน เรียกชื่อรวม ๆ ว่า นิทานปันหยี และอิเหนา        ๑๘/ ๑๑๖๔๒
                ๓๔๘๓. ปันหยี ๒ - เกาะ  เป็นเกาะตั้งอยู่ในอ่าวพังงา ตรงปากแม่น้ำพังงาทางด้านมหาสมุทรอินเดีย เกาะปันหยีขึ้นอยู่กับ อ.เมืองพังงา เป็นภูเขาหินที่โผล่เป็นแท่งสูงขึ้นมาจากทะเล ไม่มีที่ราบเลยชาวบ้านต้องปลูกบ้านลงไปในทะเล ชาวเกาะปันหยีส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพเป็นชาวประมง         ๑๘/ ๑๑๖๔๘
                ๓๔๘๔. ปัพพาชนียกรรม  (ดู บัพพาชนียกรรม - ลำดับที่ ๓๐๔๕)         ๑๘/ ๑๑๖๔๘
                ๓๔๘๕. ปัลลพ หรือปัลลวะ - ราชวงศ์  ราชวงศ์นี้มีอำนาจขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย มีเมืองกาญจีปุรัม เป็นราชธานี เรื่องราวราชวงศ์นี้เริ่มด้วยจารึกบนแผ่นทองแดงสามหลัก ใช้ภาษาปรากฤต และเป็นของพระเจ้าสุกันทวรมัน พระองค์ทรงอยู่ในสกุลภารททวาชะ ในขณะนั้นดินแดนของราชวงศ์นี้ ได้แผ่ขยายขึ้นไปถึงแม่น้ำกฤษณา ทางภาคเหนือและทะเลอาหรับทางทิศตะวันตก ระยะเวลาของพระเจ้าสกันทวรมัน อาจอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๙ ราชวงศ์นี้ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์
                        เรื่องราวของราชวงศ์นี้ มากระจ่างขึ้นราวปี พ.ศ.๑๑๑๘ พระเจ้าสิงหริษณุ ได้แผ่อำนาจขึ้นไปจนถึงแม่น้ำกรวิร โอรสของพระองค์ทรงพระนามว่า พระเจ้ามเหนทรวรมัน ที่หนึ่ง ทั้งสององค์มีภาพสลักอยู่ในถ้ำวราหะที่มามัลลปุรัม ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย ครองราชย์อยู่ระหว่างปี พ.ศ.๑๑๔๓ - ๑๑๗๓ ทรงนับถือศาสนาไชนะ (เชน) อยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่ต่อมาก็หันมานับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย แผ่อำนาจไปถึงเหนือแม่น้ำกฤษณา
                        ต่อมาราชวงศ์นี้ได้ต่อสู้กับราชวงศ์จาลุกยะ ทางภาคใต้ของประเทศอินเดีย และครองดินแดนอยู่ทางทิศเหนือของราชวงศ์ปัลลวะ ในปลายรัชกาลของพระเจ้าปรเมศวรมันที่สอง ราชวงศ์จะลุกยะได้เข้ายึดราชธานีของราชวงศ์ปัลลวะได้
                        ต่อมา ราชวงศ์ราชย์ถึง พ.ศ.๑๓๓๘ ทรงสร้างและบูรณะเทวาลัยโบราณ และสร้างเทวาลัยใหม่ขึ้นอีกหลายแห่ง
                        พระเจ้าพันติวรมัน (ราว พ.ศ.๑๓๓๘ - ๑๓๘๘)  ต้องต่อสู้กับราชวงศ์ปาณฑยะ และราชวงศ์ราษฎรกูฎะ
                        ต่อมาราชวงศ์ปัลลวะ ต้องต่อสู้กับราชวงศ์โจฬะ ในปี พ.ศ.๑๔๔๐ แพ้พระเจ้าอาทิตย์ที่หนึ่ง แห่งราชวงศ์โจฬะ อำนาจของราชวงศ์ปัลลวะ ก็เป็นอันสุดสิ้นลง         ๑๘/ ๑๑๖๔๘
                ๓๔๘๖. ปัว  อำเภอขึ้น จ.น่าน มีอาณาเขตทางด้านทิศตะวันออก จดประเทศลาว ภูมิประเทศทางตะวันออก ส่วนมากเป็นภูเขาและป่า ทางตะวันตกเป็นที่ราบ
                        อ.ปัว เดิมเป็นหัวเมืองเอกที่พ่อเมืองปกครองขึ้น จ.น่าน จัดการปกครองเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ ครั้งแรตั้งที่ว่าการที่บ้านแหลง ใน ต.สถาน ภายหลังจึงไปตั้งที่บ้านปรางค์ ใน ต.ปัว           ๑๘/ ๑๑๖๕๒
                ๓๔๘๗. ปา - เมือง  อาณาจักรปา ตั้งอยู่ตอนปลายแม่น้ำแยซี ซึ่งอาจจะเป็นดินแดนมณฑลเสฉวนก็ได้
                        นครปา เป็นอาณาจักรเดิมของไท อาจมีได้ในสมัยราชวงศ์เหี่ย ระหว่าง ๑๗๐๐ - ๒๐๐๐ ปี ก่อนพุทธกาล
                        ชาวสยาม เป็นสาขาหนึ่งของชาวไทย ซึ่งแต่ก่อนอาศัยอยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำแยซี ในเนื้อที่ค่อนข้างเล็ก ซึ่งทุกวันนี้เป็นมณฑลเสฉวน ในภาคตะวันตกของจีน         ๑๘/ ๑๑๖๕๓
               ๓๔๘๘. ป่า  หมายถึง ที่ดินกว้างใหญ่ มีหมู่ไม้นานาพรรณ รวมถึงหญ้าต่าง ๆ ขึ้นอยู่เป็นปึกแผ่น หรืออีกนัยหนึ่ง ป่าคือ ที่อยู่ร่วมของพืชและสัตว์ รวมกันอยู่อย่างป่าดง
                        พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔ (๑) "ป่า" หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน
                        ในประเทศไทย ป่าซึ่งเจริญเติบโตตามธรรมชาติ มีลักษณะและชนิดไม้เป็นเครื่องชี้ภาวะเอกลักษณ์ ดำรงสภาพดุลยลักษณ์แห่งธรรมชาติ แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ประเภทที่ผลัดใบ กับประเภทที่ไม่ผลัดใบ         ๑๘/ ๑๑๖๕๖
                ๓๔๘๙. ปาก  เป็นอวัยวะที่อยู่ส่วนล่างของใบหน้า มีลักษณะเป็นช่อง ด้านหลังมีช่องทางติดต่อกับส่วนต้นของหลอดอาหาร ด้านบนหรือหลังคาประกอบด้วยเพดานแข็งและเพดานอ่อน ด้านล่างหรือพื้นของช่องปาก ประกอบด้วยลิ้น บริเวณใต้ลิ้น และขากรรไกรล่าง
                       ผนังของช่องปาก บุด้วยเยื่อเมือก มีต่อม ๆ เมือกเล็ก ๆ จำนวนมาก ต่อมเหล่านี้หลั่งน้ำเมือก ทำให้ปากชุ่มชื้น ร่วมกับน้ำลาย ซึ่งหลังจากต่อมน้ำลาย
                        ในปากมีอวัยวะที่สำคัญหลายอย่าง ตั้งแต่ฟัน ลิ้น ต่อมน้ำลาย ทอมซิล          ๑๘/ ๑๑๖๕๘
                ๓๔๙๐. ปากกว้าง - นก  หรือพญานกปากกว้าง นกในวงศ์นี้มีแพร่หลายในเอเชีย แอฟริกา ออสเตรเลีย และยุโรป รูปร่างป้อม ๆ มีสีสดใส มีปากที่กว้างแบนมาก ตรงโคนปากปลายปีกมน บางชนิดหางค่อนข้างสั้น ชอบอยู่ตามป่าดง ชอบกินแมลง บางชนิดมักไปกันเป็นฝูง ทำรังห้อยยาว ๆ ตรงปลายกิ่งไม้ ทั่วโลกมีอยู่ ๑๔ ชนิด มีในประเทศไทย ๗ ชนิด         ๑๘/ ๑๑๖๖๐

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch