หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/89
    ๓๔๑๙. ปล้ำ - มวย  เป็นกีฬาอย่างหนึ่ง ที่นิยมเล่นกันมาเป็นเวลาช้านาน นิยมเล่นกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก จากหลักฐานที่มีอยู่เชื่อว่า กีฬามวยปล้ำได้นิยมเล่นกันในหมู่ชาวอิยิปต์ อย่างน้อยเป็นเวลา ๒๔๕๐ ปี ก่อนพุทธกาลมาแล้ว และในสมัยกรีกโบราณก็ได้มีการเล่น และแข่งขันมวยปล้ำนี้เช่นเดียวกัน เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ มวยปล้ำนี้ก็มีการเล่นในหมู่ชาวโรมัน ตามหลักฐานเชื่อว่า มีการเล่นมวยปล้ำในญี่ปุ่น มาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๕๒๐ อินเดียก็นิยมเล่นมวยปล้ำเช่นกัน ในยุโรปก็นิยมเล่นกีฬานี้อย่างกว้างขวาง
                        มวยปล้ำเป็นกีฬาที่ต่อสู้ และแข่งขันด้วยท่ามือเปล่าบนเบาะที่กำหนดให้ เป็นเวทีของการเล่นหรือแข่งขัน ในระหว่างผู้เล่นสองคน วิธีการเล่น และกติกาที่ใช้แต่ละแห่ง อาจจะแตกต่างกันไปบ้าง        ๑๘/ ๑๑๔๓๗
                ๓๔๒๐. ปลิง  เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ดูดเลือดเป็นอาหาร ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำจืด ในทะเลมีอยู่บ้าง ตัวกลมยาวเรียวลงไปทางด้านหัว หรือเป็นรูปไข่แบน ลำตัวแบ่งเป็นปล้องชัดเจนประมาณ ๓๔ - ๓๕ ปล้อง แต่ละปล้องมีรอยแบ่งเป็นปล้องย่อย เนื่องจากมีการยึดหดตัวได้ดี มีสีคล้ำ ตัวยาวประมาณ ๑ - ๕ ซม.  แล้วแต่ชนิดที่ปลายสุดทั้งสองด้านมีปุ่มดูด ด้านละอัน อันหน้าอยู่รอบปากทำหน้าที่ดูดเลือด อันที่อยู่ด้านท้ายของตัว มีขนาดใหญ่กว่าอันหน้า ใช้ในการยึดเกาะและการเคลื่อนที่
                        ปลิง มีการดำรงชีวิตเป็นแบบกึ่งปรสิต หากได้อาหารเต็มที่จะสามารถอยู่โดยลำพังได้ เป็นเวลาหลายเดือน เพราะมีกระเพาะสำหรับเก็บกักอาหาร ในน้ำลายของปลิง มีสารไฮรูดีนที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัวขณะที่ปลิงกำลังดูดเลือดอยู่
                        ในสมัยโบราณแพทย์ใช้ปลิงน้ำจืดบางชนิด ช่วยในการรักษาคนไข้โดยให้ปลิงดูดเลือด ตรงบริเวณที่เจ็บปวดออก เพราะเชื่อกันว่าเป็นการเอาเลือดเสียออกไปจากตัว
                        ปลิง มีหลายชนิด เช่น ปลิงควาย ปลิงเข้ม อยู่ตามลำคลอง หนอง บึง ห้วย ส่วนใหญ่ดูดเลือดจากสัตว์น้ำ เช่น เต่า ปลา และวัว ควาย หรือคนที่ลงไปในแหล่งที่ปลิงอาศัยอยู่ ปลิงที่อาศัยในทะเลมีเพียง ๑ - ๓ ชนิด โดยดูดเลือดจากปลาจำพวกฉลาม และกระเบน         ๑๘/ ๑๑๔๔๒
                ๓๔๒๑. ปลุกตัว  คือ การนั่งสมาธิ แล้วบริกรรมคาถาเพื่อให้อยู่ยงคงกระพันชาตรี เวลาออกรบทัพจับศึก หรือต่อสู้กับศัตรู การนั่งเข้าสมาธิแล้วบริกรรมคาถานั้นคือ การนั่ง ภาวนาสำรวมใจท่องบ่นอักขระ หรือข้อความที่ผูกขึ้นถือว่า มีอำนาจลึกลับอยู่ในนั้น เมื่อนำมาใช้ตามลัทธิที่มีกำหนดไว้ ก็เกิดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์สามารถใช้เป็นประโยชน์ในการป้องกัน ปัดเป่าให้แคล้วคลาด หรือทนทานต่อศัสตราวุธ หรือมีฤทธิ์ด้วยประการต่าง ๆ
                 ๓๔๒๒. ปลุกผี  กล่าวกันว่า เป็นการปลุกคนตายให้ลุกหรือปรากฎกายขึ้นมา เพื่อลนที่ใต้คางเอาน้ำมันไปทำเสน่ห์ ยาแฝดต่าง ๆ และคนตายที่เรียกว่า ผี นั้นต้องเป็นผู้หญิงที่ตายทั้งกลมคือ ตายพร้อมกับลูกในท้อง และเป็นการตายผิดธรรมดา ที่เรียกว่า ตายโหง ความประสงค์ก็เพื่อจะเอาลูกในท้องที่ตายพร้อมกับแม่ ไปลนที่ใต้คางเอาน้ำมันมาทำเสน่ห์ยาแฝดต่าง ๆ        ๑๘/ ๑๑๔๕๑
                ๓๔๒๓. ปลุกเสก  คือ การเสกวัตถุ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ขลัง หรือให้กล้าแข็ง เป็นลัทธิปฎิบัติด้วยวิธีนำเอาอักขระ หรือข้อความที่ผูกขึ้นซึ่งเรียกว่า คาถาอาคมมาทำการปลุกเสก เสก นั้น ภาษาโบราณว่า ถ่ม หรือพ่น คือ ทำให้คาถาอาคมแทรกซึมลงไปในสิ่งที่ประสงค์ ให้เกิดความขลัง        ๑๘/ ๑๑๔๕๘
                ๓๔๒๔. ป่วง  คือ ความเจ็บไข้อย่างหนึ่งที่ปรากฎในคัมภีร์แพทย์โบราณ อาการโดยทั่วไปได้แก่  ท้องเดิน อาเจียน กระวนกระวาย  ริมฝีปากซีดเขียว  ขอบตาซีด  เสียงแหบ  หาวเรอ หายใจเบาเร็ว มือเท้าซีดเหี่ยว ฯลฯ ทั้งนี้เพราะผิดสำแดงจากอาหารเป็นพิษ
                        ในตำราโบราณ จำแนกป่วงตามอาการของผู้ป่วยเป็นแปดประการ คือ
                        ๑. ป่วงงู  ผู้ป่วยมีอาการอาเจียนบ่อยไม่หยุด ตาปรอย บิดตัวอยู่เสมอ เพราะปวดท้อง ผู้ป่วยมักตาย หรือไม่ก็มีอาการเป็น หรือตายเท่ากัน
                        ๒. ป่วงลิง  ผู้ป่วยมีอาการหนาว คางสั่น แน่หน้าอก ริมฝีปากซีดเขียว ขอบตาซีด มีอาเจียนเป็นสำคัญ เอามือกอดอกมีท่าทางเหมือนลิง อาการจะอยู่จะไปเท่ากัน
                        ๓. ป่วงลม  มีอาการเสียดที่สีข้าง ท้องเดินไม่มาก แน่นจุกอก อาเจียนเป็นน้ำลาย รู้สึกร้อนและกระวนกระวาย
                        ๔. ป่วงศิลา  เริ่มด้วยอาการอาเจียน แล้วทวีความรุนแรงขึ้น มักอาเจียนเป็นลมเปล่า ๆ ปวดเมื่อยที่ข้อ รู้สึกเสียดแทงที่หน้าอก มือเท้าบวม ไม่รู้รสอาหาร พูดเสียงเบาและพูดไม่ชัด อาการเป็นพัก ๆ ดูคล้ายกับผีเข้าคือ เป็น ๆ หาย ๆ
                        ๕. ป่วงลูกนก  มีอาการหนาวสั่น ขนลุกชันคล้ายลูกนกเปียกฝน ปวดท้อง ท้องลั่นโครกคราก หาวเรอ หายใจไม่สะดวกจนถึงหอบ อาการเป็นตายเท่ากัน
                        ๖. ป่วงเลือด  มีอาการหนาว หอบ เหนื่อย เพ้อ เซื่องซึม ตาซึม ตัวเหลือง ถ้ารักษาไม่หายจะตายในเจ็ดวัน
                        ๗. ป่วงน้ำ  มีอาการท้องเดิน และอาเจียนอย่างรุนแรง ผิวหนังซีดเซียว รู้สึกหนาว แต่ตัวอุ่น ตัวเหลืองและตาเหลือง (ดีซ่าน)  ทำให้ตายได้อย่างรวดเร็ว
                        ๘. ป่วงโกฐ  มีอาการอาเจียน ร้อนทั้งลำคอ มือและเท้าเหี่ยวซีด เหงื่อเหนียว รู้สึกหนาวแบบเป็นเหน็บ เจ็บมือและเล็บเท้ามีสีเขียวคล้ำ
                        ไข้ป่วง ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หมายถึง โรคทางเดินอาหารที่เกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น มีการอักเสบ หรือมีการติดเชื้อของกระเพาะอาหารและลำไส้ อาหารเป็นพิษ ลำไส้อักเสบ อหิวาตกโรค ฯลฯ        ๑๘/ ๑๑๔๕๙
                ๓๔๒๕. ปวเรศวริยาลงกรณ์  เป็นพระราชทินนามของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์หนึ่งคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ หรือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์ที่แปด แห่งกรุงรัตนโกสินทร และทรงเป็นพระมหาสมณเจ้าพระองค์ที่สอง พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ใหญ่องค์หนึ่งของไทย
                        พระองค์ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๒ ทรงผนวชเป็นสามเณรมาตั้งแต่ในรัชกาลที่สอง อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในรัชกาลที่สาม และได้เป็นพระราชาคณะในรัชกาลที่สี่ ได้ทรงรับสถาปนาเป็น กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ฯ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๖ ทรงได้รับสถาปนาเลื่อนพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ปี พ.ศ.๒๔๒๔ ได้ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษก เป็น กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ฯ
                        ในการทรงสถาปนาขึ้นเป็น "กรมสมเด็จพระ" ครั้งนี้มีเจ้ากรมเป็น พระยาปวเรศวิรยาลงกรณ์ เพราะฉะนั้น ตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ห้า ต่อมา จึงให้ออกพระนามว่า สมเด็จ ฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  ทรงเป็นสมเด็จพระมหาสังฆปรินายก ทั่งทั้งพระราชอาณาเขต พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ พระชนมายุได้ ๘๔ พรรษา ต่อมาในรัชกาลที่หก ได้ทรงสถาปนาพระนามเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔
                        พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างพระกริ่งขึ้นในประเทศเป็นพระองค์แรก เรียกกันต่อมาว่า "พระกริ่งปวเรศ"  นอกจากนั้น พระองค์ได้ทรงนิพนธ์วรรณกรรมไว้หลายเรื่องด้วยกัน ทั้งที่เป็นประวัติศาสตร์ พระธรรมเทศนา และตำรายา พระองค์ทรงเชี่ยวชาญในภาษาบาลี โหราศาสตร์ ภาษาขอมโบราณ ถึงกับได้ทรงแปลศิลาจารึกเมืองสุโขทัย ไว้เป็นประจักษ์พยาน        ๑๘/ ๑๑๔๖๒
                ๓๔๒๖. ปวารณา  มีบทนิยามว่า "ยอมให้ใช้, ยอมให้ขอ, ยอมให้ว่ากล่าว, ยอมให้ตักเตือน"
                        ในพระวินัย พระพุทธบัญญัติ กำหนดวิธีปฎิบัติไว้ว่า ในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด ที่เต็มสามเดือน แต่วันเข้าพรรษา มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษาถ้วยไตรมาส ทำปวารณาแทนอุโบสถ
                        วันปวารณา นั้น โดยปรกติเป็นวันขึ้น สิบห้าค่ำ เรียกว่า วัน "ปัณรสี" ถ้าสงฆ์ไม่ปวารณาในวันนั้น เลื่อนวันปวารณาออกไปอีกปักษ์หนึ่ง ก็จะเป็นวันแรม สิบสี่ค่ำ เรียกว่าวัน "จาตุทสี" หรือปรองดองเข้ากันได้ ในวันนั้นก็จะพึงเป็นวันสามัคคี จึงได้วันเป็นสามเหมือนอุโบสถ ในญัตติกล่าวเพียงว่า "ในวันนี้ เป็นวันปวารณา" เพ่งเอาวันปรกติ
                        จำนวนภิกษุผู้ประชุมห้ารูปเป็นอย่างน้อย จึงทำปวารณาเป็นการสงฆ์ได้มีจำนวนมากกว่าอุโบสถหนึ่งรูป ถ้าสามรูป สองรูป พึงทำปวารณาเป็นคณะ รูปเดียวพึงอธิษฐานเป็นการบุคคล        ๑๘/ ๑๑๔๖๕
                ๓๔๒๗. ปศุสัตว์  มีบทนิยามคำ "ปศุ" ว่า "สัตว์เลี้ยงสำหรับใช้แรงงานเช่นช้าง ม้า วัว ควาย บางทีก็รวมถึงสัตว์เลี้ยงที่ใช้เป็นอาหารด้วย เช่น แพะ แกะ หมู มักใช้ประกอบคำสัตว์ว่า ปศุสัตว์"
                        กล่าวอีกนัยหนึ่งปศุสัตว์หมายถึงสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศคือโค กระบือ สุกร เป็ด ไก่ ส่วนสัตว์อื่น ๆ เช่น แพะ แกะ ห่าน ไก่งวง และกระต่าย ก็จัดเป็นปศุสัตว์เช่นเดียวกัน หรือกล่าวอย่างกว้าง ๆ ปศุสัตว์หมายถึงสัตว์เศรษฐกิจที่มนุษย์นำมาเลี้ยงเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลาย ๆ อย่าง มีใช้งานและเป็นอาหารเป็นต้น        ๑๘/ ๑๑๔๖๙
                ๓๔๒๘.  ปศุสัตว์ ๒  เป็นชื่อกรม ขึ้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับปศุสัตว์ หน่วยงานนี้ได้รับการสถาปนาขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ ขณะนั้นใช้ชื่อว่า กรมปศุสัตว์ และสัตว์พาหนะ เปลี่ยนชื่อเป็น กรมปศุสัตว์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖    ๑๘/ ๑๑๔๗๕
                ๓๔๒๙. ปเสนชิต (ดูปเสนทิ - ลำดับที่ ๓๔๓๐)        ๑๘/ ๑๑๔๗๕
                ๓๔๓๐. ปเสนทิ ราชาธิราชแห่งแคว้นโกศลและแคว้นกาสีเรียกกันว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นพุทธมามกะ และเป็นศาสนูปถัมภกในหมู่ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ฝ่ายอุตรนิกายหรือมหายาน นิยมเรียกว่า ปเสนชิต พระองค์เมื่อยังเป็นพระกุมารได้เสด็จไปทรงศึกษาศิลปวิทยาการในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ กรุงตักศิลา เมื่อจบการศึกษาแล้วเสด็จกลับกรุงสาวัตถีนครของตน แล้วได้แสดงศิลปวิทยาที่ได้ศึกษามาให้พระชนกชนนี และหมู่ญาติได้ทอดพระเนตร พระชนกโปรดปรานได้อภิเษกในราชสมบัติเป็นพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นราชาธิราชแห่งแคว้นทั้งสองคือ แคว้นโกศลกับแคว้นกาสี
                        ครั้งหนึ่งพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุจำนวนมากโคจรไปยังบ้านนางวิสาขาบ้าง บ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐีบ้าง เพื่อรับบิณฑบาตรบ้าง เพื่อฉันภัตตาหารบ้าง เป็นต้น พระองค์จึงจัดภัตตาหารเพื่อภิกษุเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีพระภิกษุมา มาแต่พระอานนท์รูปเดียว จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าถวายพระพรว่า สาวกของพระพุทธองค์ไม่มีความคุ้นเคยกับพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงไม่พากันไป แล้วทรงประกาศเหตุที่ควรเข้าไป และเหตุที่ไม่ควรเข้าไป โปรดภิกษุทั้งหลาย โดยนัยแห่งพระสูตร มีใจความถึงตระกูล ประกอบด้วยองค์เก้า ที่ภิกษุยังไม่เข้าไป ก็ไม่ควรจะเข้าไป เข้าไปแล้วก็ไม่ควรนั่งใกล้ และตระกูลประกอบด้วยองค์เก้า ภิกษุยังไม่เข้าไปก็ควรจะเข้าไป เข้าไปแล้วก็คววรจะนั่งใกล้
                        พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทรงทราบแล้วจึงทรงหารือกับเสนามาตย์วราชปุโรหิตจารย์ เห็นพร้อมกันว่าถ้าได้เจ้าหญิงสกุลศากยะมาอยู่ในราชสำนักโกศลสักองค์หนึ่ง ก็จะสำเร็จประโยชน์ จึงส่งทูตไปยังราชสำนักศากยะ พระเจ้ามหานามราช ราชาแห่งกบิลพัสดุ์ตกลงถวายเจ้าหญิงวาสภขัตติยา พระราชธิดาในพระเจ้ามหานามเอง พระเจ้าปเสนทิโกศล โปปรดให้อภิเษกไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี พระเณรก็มีความรู้สึกว่าราชวงศ์ทั้งสองเป็นพระญาติกัน จึงให้ความคุ้นเคยสนิทสนมเป็นอย่างดี
                        ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทูลขอเศรษฐีจากพระเจ้าพิมพิสารให้มาอยู่ที่กรุงสาวัตถี พระเจ้าพิมพิสารก็พระราชทานธนญชัยเศรษฐีผู้อาสาไปให้ ระหว่างเดินทางไปยังกรุงสาวัตถีมาถึงที่แห่งหนึ่งเป็นที่พักสบายดี ธนญชัยเศรษฐีจึงขอตั้งถิ่นฐาน ณ ที่นั้น จึงให้สร้างเมืองขึ้น พระราชทานชื่อเมืองว่า เมืองสาเกต
                        กาลต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศล กับชาวเมืองผลัดกันมาถวายภัตตาหารพระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ ถึงฝ่ายละหกครั้ง ชาวเมืองพยามหาของดี และประนีตถวายทาน พระเจ้าปเสนทิโกศลสู้ไม่ได้ พระนางมัลลิกาเทวีจึงอาสาจัดทานกิริยาอย่างมโหฬารเรียกว่า อสทิสทาน แปลว่าทานที่หาผู้เสมอมิได้ และกล่าวกันว่าในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งก็จะมีอสทิสทาน เพียงครั้งเดียววเท่านั้น
                        กาลต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลถูกทีฆการายนะอำมาตย์ผู้ใหญ่ ลอบนำเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์พร้อมด้วยเสนามาตย์ ราชบริพารกับกองทัพใหญ่ไปอภิเษกวิฑูฑภราชกุมารในราชสมบัติ พระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระสนมคนหนึ่งได้เดินทางไปกรุงราชคฤห์ เพื่อขอกองทัพพระเจ้ากรุงมคธ และทรงชวนพระราชนัดดาให้มาช่วยรบกับเจ้าวิฑูฑภกุมาร แต่ทรงสิ้นพระชนม์ขณะรออยู่นอกเมืองราชคฤห์        ๑๘/ ๑๑๔๗๕
                ๓๔๓๑. ปอ ๑  เปลือกไม้หรือเส้นใยในส่วนของเปลือกไม้ที่ลอกออกจากต้นไม้บางชนิดใช้ทำเชือก สิ่งผูกมัดแทนเชือก และสิ่งทอต่าง ๆ เส้นใยในส่วนเปลือกไม้เหล่านี้มีความเหนียว อ่อนนุ่มและยึดหยุ่นได้ดี เส้นใยชนิดที่ค่อนข้างหยาบ หรือมีเลื่อมมันน้อย มักจะนำไปใช้ทำเชือกกระสอบ และพรมชนิดที่เส้นใยค่อนข้างละเอียด ใช้ทำแห อวน ฉนวนหุ้มสายเคเบิล กระดาษ ผ้า ทอเนื้อหบาย ๆ
                        ปอมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้แก่ ปอกระเจา และปอแก้ว        ๑๘/ ๑๑๔๘๔
                ๓๔๓๒. ปอ ๒  แมลงประเภทหนึ่ง ซึ่งมีขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ มีปากแบบกัดกินใหญ่ หนวดสั้นเล็กมองคล้ายขน ตาโตใหญ่สองข้าง มองดูเต็มหัว ที่อกมีปีกสองคู่ มีลักษณะยาวบางใส อาจมีสีต่าง ๆ ดูสวยงามมาก มีชุกชุมในเขตร้อน
                        แมลงปอกินแมลงต่าง ๆ ทุกชนิดที่สามารถจับได้เป็นอาหาร รวมทั้งยุงและเหลือบ การผสมพันธุ์เกิดขึ้นในขณะบิน ตัวเมียจะวางไข่ในน้ำ และตัวอ่อนที่ออกมาจะอาศัยอยู่ในน้ำ คนไทยนิยมเรียกตัวอ่อนของแมลงปอว่าอ้ายโม่ง ชื่อเดียวกับดักแด้ของลูกน้ำยุง        ๑๘/ ๑๑๔๘๕
                ๓๔๓๓. ปอด  เป็นอวัยวะอยู่ภายในทรวงอก ผนังอกมีลักษณะคล้ายกรง ทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันอวัยวะภายในที่สำคัญคือ หัวใจและปอด นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ต้านทานแรงหดตัวจากความยึดหยุ่นของปอดกันไม่ให้ปอดแฟบได้ อวัยวะในทรวงอกจะแยกจากอวัยวะในช่องท้องได้โดยอาศัยแผ่นกล้ามเนื้อบาง ๆ ที่เรียกว่ากระบังลม
                        ปอดซ้ายและขวา แยกจากกันโดยมีแผ่นกั้น แผ่นนี้ยื่นจากกระดูกสันอกทางด้านหน้าถึงกระดูกสันหลัง ปอดมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ เบานุ่ม และยืดหยุ่นได้ ประกอบด้วย         ๑๘/ ๑๑๔๘๘
                ๓๔๓๔. ปอดบวม  เป็นโรคของปอด (ถุงลม หลอดลมเล็ก และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของปอด)  เกิดขึ้นเนื่องจากมีการอักเสบอย่างปัจจุบัน หรือมีการอักเสบอย่างเรื้อรัง เชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุของการอักเสบมีหลายชนิด ปอดบวมอาจเกิดเป็นหย่อม ๆ หรือเป็นทั้งกลีบ
                        ในปัจจุบัน ยาปฎิชีวนะมีประสิทธิภาพสูง ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยโรคปอดบวมลดลง กลายเป็นโรคไม่รุนแรง
                        ภูมิคุ้มกันของโรคนี้ ถ้าเกิดจากเชื้อบัคเตรี จะมีภูมิคุ้มกันอยู่เพียง ๒ - ๓ สัปดาห์ ส่วนที่เป็นจากเชื้อไวรัส จะเกิดภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานเป็นปี          ๑๘/ ๑๑๕๑๐
                ๓๔๓๕. ปอนด์  เป็นมาตราชั่งน้ำหนักซึ่งมีกำเนิดในประเทศอังกฤษ ใช้สืบกันมาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่หนึ่ง (วิชิตราช) (พ.ศ.๑๖๐๙ - ๑๖๓๐)  เมื่อชาวอังกฤษอพยพไปตั้งอาณานิคมโพ้นทะเล เช่น อเมริกา และแคนาดา ก็ได้นิยมใช้น้ำหนักเป็นปอนด์ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเทียบกับมาตราเมตริก น้ำหนัก ๑ กก. เท่ากับประมาณ ๒.๒ ปอนด์
                        ปอนด์เป็นเงินตราอังกฤษ ในชั้นแรกทำเป็นเหรียญทองคำเรียกว่า ซอฟเวอริน ๑ เหรียญซอฟเวอริน เท่ากับ ๑ ปอนด์สเตอลิง
                        ก่อนปี ค.ศ.๒๕๑๔  มาตราเงินอังกฤษ แบ่งออกเป็น ดังนี้
                            ๔  ฟาร์ทิง        เท่ากับ        ๑ เพนนี             ๑๒ เพนนี     เท่ากับ   ๑ ชิลลิง
                            ๒๐  ชิลลิง        เท่ากับ        ๑ ปอนด์             และ  ๑ กินนี       เท่ากับ      ๒๑ ชิลลิง
                        ในปี พ.ศ.๒๕๑๔  อังกฤษได้ปรับปรุงแบ่งเป็นปอนด์เป็นเหรียญปลีกเสียใหม่ โดยกำหนด ๑ ปอนด์ เท่ากับ ๑๐๐ เพนซ์ ส่วนธนบัตรอังกฤษนั้น มีใช้ราคา ๑ ปอนด์ ๕ ปอนด์ ๑๐ ปอนด์ และ ๒๐ ปอนด์
                        คำว่า ปอนด์ เป็นเงินตรา ที่นิยมใช้บางประเทศ เช่น อิยิปต์ อิสราเอล และซูดาน เป็นต้น           ๑๘/ ๑๑๕๑๒
                ๓๔๓๖. ปอบ - ผี  เป็นผีอย่างหนึ่ง เชื่อกันว่าสิงอยู่ในตัวคน แล้วกินตับไตไส้พุง คนและสัตว์จนหมดแล้วออกไป คนและสัตว์นั้นก็ตาย เป็นผีจำพวกสิงอยู่กับคนที่ยังมีชีวิต เรียกคนที่ผีปอบสิงอยู่นั้นว่า คนผู้เป็นเจ้าของเรียกตัวปอบ ที่สิงอยู่ว่าผีที่คนเลี้ยง
                        อาการที่ผีปอบเข้าสิง จะแสดงอาการผิดปรกติออกมา เช่น ร้องไห้ หัวเราะ หรือเอะอะ โวยวาย
                        เชื่อกันว่าผีปอบ เป็นผีสืบต่อตกทอดมาจากบิดามารดา โดยที่บิดามารดาเป็นมาก่อนแล้วตายไป เมื่อเจ้าของตายไปผีปอบ ก็จะอาศัยสิงอยู่กับบุตรหลานของผู้ตายต่อไป ของคนที่ถูกผีเข้าเรียกว่า พิธีแหก ซึ่งผีกลัวมาก หรือการไล่ผีปอบคือ หมอผีใช้เสกไพล หรือมีดขีดไปตามร่างกาย         ๑๘/ ๑๑๕๑๓
                ๓๔๓๗. ป้อม - ปลา  เป็นปลากลุ่มเดียวกับปลาแมว เป็นปลาขนาดกลาง เมื่อโตเต็มที่ยาวราว ๒๐ ซม.   หากินใกล้ฝั่ง อยู่เป็นฝูงใหญ่ในทะเลเขตร้อน ย่านอินโดแปซิฟิก นิยมนำมาบรรจุกระป๋อง หรือใช้หมักทำน้ำปลา         ๑๘/ ๑๑๕๑๘
                ๓๔๓๘. ป้อม  เป็นสิ่งปลูกสร้างในลักษณะหอสูง มีทั้งที่ทำหลังคาคลุม และไม่มีหลังคาคลุม มักปลูกขึ้นตามมุมค่ายหรือกำแพง หรือระหว่างย่านแต่ละด้านของค่ายหรือกำแพง โดยทิ้งระยะห่างกันพอสมควร
                        ในประเทศไทย มีการสร้างป้อมขึ้นมาใช้เป็นที่มั่น หรือหอรบสำหรับต่อสู้กับข้าศึกศัตรู ตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยได้แบบอย่างการสร้างป้อม มาจากป้อมปราการต่อสู้ปืนไฟของโปร์ตุเกส
                        ส่วนใหญ่ป้อมในสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ มักมีรูปแบบโครงสร้าง องค์ประกอบและการตกแต่งไม่แตกต่างกันมากนัก ตัวป้อมมีโครงสร้างเป็นเขื่อนก่ออิฐขึ้นเป็นคันขอบล้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยม ห้าเหลี่ยมหรือหกเหลี่ยม ปลายเขื่อนถือปูนเป็นลวดบัวแบบก้านตองสองเส้น พื้นหน้ากระดานระหว่างลวดบัวทั้งคู่ เจาะเป็นช่องรูปกากบาท เว้นระยะห่างเท่า ๆ กัน บนหลังเขื่อนก่อเป็นใบบัวตัวคน
                        ด้านหลังเขื่อนกันเป็นรูปป้อม นิยมถมดินสูงขึ้นเสมอระดับลวดบัวชั้นต้น แล้วปรับพื้นเรียบปูกระเบื้องดินเผา หรือปูอิฐตาแดง พื้นบนหลังป้อมชั้นนี้เรียกว่า ชาน ป้อมมีขนาดกว้างโดยรอบ พอตั้งเป็นปืนใหญ่โบราณได้ ตรงกลางป้อมบางแห่งก่อเป็นป้อมซ้อนขึ้นอีกชั้นหนึ่ง แต่ขนาดย่อมกว่าพื้นป้อมชั้นนี้มักปูด้วยกระดาน ทำบันไดพาดขึ้นภายในตัวป้อม มีประตูเข้าไปในป้อม อยู่ทางด้านหลัง
                        ป้อมชนิดที่ทำเป็นป้อมซ้อนกันสองชั้น มักทำหลังคาคลุมตัวป้อมชั้นบน เป็นทรงกระโจมรูปหกเหลี่ยม มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ด้านหลังป้อมจะทำบันได เป็นเครื่องก่อติดกับตัวป้อมเป็นทางขึ้นป้อม         ๑๘/ ๑๑๕๑๙
                ๓๔๓๙. ป้อมปราบศัตรูพ่าย  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ ย้ายมาตั้งที่ว่าการ อ.นางเลิ้งเดิม ซึ่งยุบรวมกับอำเภอนี้ เปลี่ยนเป็นเขต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖         ๑๘/ ๑๑๕๓๑
                ๓๔๔๐. ปะกน - ฝา  เป็นชื่อฝาเรือนไทยเดิมของภาคกลางชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ทางสถาปัตยกรรมทั้งรูปทรง โครงสร้าง และองค์ประกอบ เป็นฝาที่ปรุงด้วยไม้จริง ประกอบเป็นฝาที่สมบูรณ์แล้ว จึงนำเข้าติดตั้ง การประกอบจะประกอบเป็นแผงหรือด้านแป จะแบ่งเป็นสองแผง หรือกระแบะหนึ่งแผงจะมีความกว้างเท่ากับหนึ่งช่วงเสาของความยาวตัวเรือน หรือด้านแปจะแบ่งเป็นสองแผงในด้านกว้าง และด้านขื่อ และเป็นแผงเดียวเท่ากับความกว้างสำหรับฝาประจันห้อง
                        ฝาเรือนแแต่ละตำแหน่ง จะเรียกชื่อต่างกันคือ ด้านความยาวของตัวเรือนเรียกฝาประจำห้อง ด้านความกว้างเรียกฝาหุ้มกลอง หรืออุดหน้ากลอง ฝากั้นห้องเรียกฝาประจันห้อง ฝาตรงระเบียงซึ่งต้องทำให้มีความลาดของหลังคาระเบียงเรียกฝาเสี้ยว ส่วนฝาที่ชานเรือนเรียกฝาชาน ฝาแต่ละแผงจะประกอบด้วยกรอบฝาสี่ด้าน
                        ในการประกอบฝา ประกอบติดตั้งกับตัวเรือน ช่างจะยกฝาประจำห้องทั้งสองด้าน ติดตั้งก่อน แล้วจึงยกฝาหุ้มกลอง ฝาประจันห้องขึ้นประกอบแล้ว จึงตอกยึดด้วยตะปูจีน
                        ฝาเรือนไทยเดิมภาคกลางที่ชื่อประกนนี้ เรือนไทยชั้นดี นิยมทำกันมาก และเป็นฝาเรือนชนิดเดียวที่นิยมกันทุกท้องถิ่นในภาคกลาง ฝาประกนแบ่งออกตามลักษณะการทำเป็นสองชนิดคือ ฝาปะกนชนิดลูกฝักธรรมดา และชนิดลูกพ้อ กระดานดูน คำว่าปะกนก็คือ การกระทำโดยการแบ่งความกว้างของฝาตรงส่วนกลาง ทางแนวตั้งด้วยไม้ลูกตั้งเป็นช่อง ๆ และแบ่งช่องตามแนวนอนด้วยลูกนอน ลูกนอนของแต่ละช่อง ลูกตั้งจะอยู่ในตำแหน่งสลับยักเยื้องกัน ทั้งลูกตั้งและลูกนอนจะมีความกว้างประมาณ ๑๐ ซม.       ๑๘/ ๑๑๕๓๑
                ๓๔๔๑. ปะขาว  มีบทนิยามว่า "ชายผู้จำศีลนุ่งขาวห่มขาว ลักษณะนามว่ารูป (โบ) ตำแหน่งข้าราชการชั้นขุนหมื่นพวกหนึ่งคู่กับประแดง"
                        ในที่นี้จะกล่าวแต่เฉพาะความหมายแรก ส่วนใหญ่จะเป็นคนผู้ชาย มีอายุกลางคนล่วงไปแล้ว จำศีล (ส่วนมากศีลแปด) นุ่งขาวห่มขาว ทำกิจช่วยการวัด อยู่วัดก็มี อยู่บ้านก็มี คนทั้งหลายเรียกว่าปะขาวทั้งนั้น แม้ที่ปรากฎในเรื่องพงศาวดาร และเรื่องเล่ากันมาว่า พระอินทร์แปลงเป็นปะขาวมาช่วยกิจการวัดและอื่น ๆ         ๑๘/ ๑๑๕๓๘
                ๓๔๔๒. ปะดุง (ดูปดุง  ลำดับที่ ๓๒๘๙)       ๑๘/ ๑๑๕๔๑
                ๓๔๔๓. ปะทิว  อำเภอขึ้น จ.ชุมพร มีอาณาเขตทางด้านตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศทางแถบชายทะเลเป็นที่ราบ ทางเหนือและตะวันตกเป็นที่ดอน มีภูเขา      ๑๘/ ๑๑๕๔๑
                ๓๔๔๔. ปะทุน  แมลงซึ่งเรียกกันสับสนมาก บางท้องถิ่นเรียกแมลงปอว่าตัวปะทุนหรือแมลงปะทุน
                         แมลงอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกเรียกว่า แมลงปะทุน ก็คือตัวเต็มวัยของแมลงช้าง เพราะแมลงพวกนี้มีมากมายหลายชนิด มีรูปร่างลักษณะคล้ายแมลงปอมาก ๆ          ๑๘/ ๑๑๕๔๑
                ๓๔๔๕. ปะบุก - งู  มีชื่อเต็มว่ากะปะบุก งูกะปะเป็นงูพิษ หัวเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายจมูกแหลม ตัวอ้วนสั้นและสามารถทำตัวแบนได้ มีเขี้ยวพิษยาวโง้ง พิษทำลายทางระบบโลหิต ออกหากินเวลากลางคืน
                         งูกะปะ เมื่อยังเป็นลูกตัวเล็ก ๆ จะมีหางสีขาว เมื่อตัวโตเต็มที่มีสีน้ำตาลแดงจะเรียกว่า กะปะไฟ ส่วนตัวที่มีสีน้ำตาลเทาหรือน้ำตาลคล้ำเรียกว่า กะปะบุก       ๑๘/ ๑๑๕๔๓
                ๓๔๔๖. ปะลิส  เป็นรัฐที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาสิบเอ็ดรัฐ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ที่มุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายู
    ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลอันดามัน บนทางรถไฟสายตะวันตกที่เชื่อมประเทศไทยกับสิงคโปร์
                        รัฐปะลิส เดิมเป็นส่วนหนือของรัฐไทยบุรี และอยู่ในปกครองของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ ได้มีการทำสัญญา ระหว่างไทยกับอังกฤษ ไทยต้องยกส่วนการปกครองรัฐปะลิสให้แก่อังกฤษ อังกฤษได้จัดให้รัฐปะลิสมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งของมลายู และอยู่ในความคุ้มครองของอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ มีฐานะเป็นรัฐหนึ่งของสหพันธรัฐมลายา ในปีพ.ศ.๒๕๐๖ เป็นรัฐหนึ่งของสหพันธ์มาเลเซีย        ๑๘/ ๑๑๕๔๓
                ๓๔๔๗. ปะเลง  (ดูประเลง - ลำดับที่ ๓๓๖๔)        ๑๘/ ๑๑๕๔๔
                ๓๔๔๘. ปะเหลียน  อำเภอขึ้น  จ.ตรัง มีอาณาเขตด้านใต้ และด้านตะวันตก ตกทะเลในช่องแคบมะละกา ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอน มีภูเขาและป่า ตอนใต้เป็นที่ลุ่มริมทะเล
                         อ.ปะเหลียน เดิมเป็นเมือง เรียกว่า เมืองปะเหลียน ในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ  เป็นเมืองจัตวาขึ้น จ.พัทลุง ตัวเมืองตั้งอยู่ที่ ต.ปะเหลียน แล้วเลื่อนมาตั้งที่ ต.ท่าพระ  ภายหลังยุบเป็นอำเภอขึ้น จ.ตรัง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ แล้วย้ายมาตั้งที่ ต.หยงสตา ย้ายจาก ต.หยงสตาไปตั้งที่ ต.สุโละ ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.หยงสตา ถึงปีพ.ศ. ๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ปะเหลียน            ๑๘/ ๑๑๕๔๔
                ๓๔๔๙. ปักขคณนา หรือปักษคณนา  แปลว่า การนับปักษ์ หมายถึง วิธีคำนวณดิถี ตามปักษ์ ส่วนคำว่า ปักข์ หรือปักษ์ นับมีบทนิยามว่า "ปีก , ฝ่าย,ข้างกึ่งของเดือน จันทรคติ คือ เดือนหนึ่งมีสองปักษ์ ข้างขึ้นเรียก ศุกลปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายขาว หมายเอาแสงเดือนสว่าง) ข้างแรม เรียก กาฬปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายดำ หมายเอาเดือนมืด)"
                        เรื่องปักขคณนา ปรากฏว่ามีมาแล้วแต่ครั้งพุทธกาล ในคัมภีร์มหาวรรค พระวินัย ตอนอุบสถขันธ์ ข้อหนึ่ง มีพระพุทธานุญาตไว้มีความว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ท่านทั้งหลายประชุมกันกล่าวธรรมในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และดิถีที่ ๘ แห่งปักษ์"          ๑๘/ ๑๑๕๔๕
                ๓๔๕๐. ปักธงชัย  อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมาภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มตอนตะวันตกและใต้เป็นภูเขาและป่า
                        อ.ปักธงชัย เดิมเป็นเมืองเรียกว่า เมืองปัก แล้วยุบเป็นอำเภอ         ๑๘/  ๑๑๕๖๐
                ๓๔๕๑. ปักปันแขตแดน  หมายถึง การกำหนดแนวพรมแดนระหว่างประเทศที่มีแนวเขตแดนติดกัน หรือการทำเครื่องหมายกำหนด แนวแห่งพรมแดนระหว่างประเทศขึ้น ให้เป็นที่แน่นอนบนแผนที่ หรือการเครื่องหมายไว้ในภูมิประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งตามแนวพรมแดน หลักการสำคัญของการกำหนด แนวพรมแดนอยู่ที่ความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งจะปรากฏออกมาในรูปของหนังสือสัญญาต้องเป็นสนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลง บันทึกวาจา ฯลฯ ซึ่งมีสิทธิและประโยชน์ที่บ่งไว้ในหนังสือสัญญาดังกล่าว โดยนัยระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศ และจะเป็นเครื่องยืนยันว่า คู่สัญญาจะเคารพต่อเอกราชอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนต่อกัน แนวพรมแดนตามความนิยมปัจจุบัน จะต้องมีการกำหนด หรือการปักปันตามกฎหมาย แห่งกฎหมายระหว่างประเทศ และมีหลัก แดนปักไว้ให้เห็นเด่นชัดเป็นที่แน่นอน ตามหลักนิยมระหว่างประเทศนั้น การกำหนดแนวพรมแดน หรือการเปลี่ยนแปลงแนวพรมแดนที่กำหนดไว้แล้วจะกระทำกันด้วยความตกลง หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเรียกว่า การกำหนดเขตแดน ข้อความในสัญญากำหนดเขตแดนระยะแนวเขตแดนไว้ อย่างกว้าง หลังจากนั้นคณะกรรมการร่วมระหว่างประเทศว่าด้วยการปักหลักเขต ซึ่งจะรวมกันตามทอดข้อความสำคัญ ลงไปในภูมิประเทศจริง ซึ่งเรียกว่า การปักปันเขตแดน หรือแนวพรมแดน
                         การกำหนดเขตแดนบนพื้นดินแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะ คือ
                            ๑. กำหนดโดยอาศัยลักษณะภูมิประเทศ ได้แก่ ภูเขา (สันปันน้ำ) ทางน้ำ (รองน้ำลึก) ทะเลสาบ ช่องแคบ อ่าว หนอง บึง ป่าไม้ ฯลฯ
                            ๒. กำหนดขึ้นเองแถบแนวเส้นรุ้ง เส้นแวง หรือกำหนดด้วยแนวตรงที่จุด เป็นง่ามมุมกับแนวเส้นตั้งทั้งสองนั้น แนวเขตแดนนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า "แนวพรมแดนเส้นตรง" หรือแนวพรมแดนเชิงภูมิศาสตร์
                        การกำหนดแขตแดนในทะเลนั้น ตามความนิยมในสมัยเดิมนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๓ เป็นต้นมาได้กำหนดความกว้างของทะเล อาณาเขตห่างจากฝั่งทะเลเพียง ๔๘.๒๗๕ กม. (๓ ไมล์ทะเล) เท่านั้น โดยถือกฎลูกปืนใหญ่เป็นสำคัญ เพราะปืนใหญ่รักษาฝั่งในสมัยนั้นมีขีดความสามารถยิงไกลสุดได้เพียง ๔๘.๒๗๕ กม. แต่ในปัจจุบันหลายประเทศได้พยายามที่จะขยายทะเลอาณาเขตของตนออกไปอีก ดังเช่นประเทศในลาติน  อเมริกาได้ขยายทะเลอาณาเขตออกเป็น ๒๐๐ ไมล์ และในปัจจุบันหลายประเทศกำลังขยายทะเลอาณาเขตออกไปเป็น ๒๐๐ ไมล์บ้าง ถ้าหากประเทศต่าง ๆ กระทำเช่นนี้แล้ว ทะเลหลวงก็จะลดพื้นที่เหลือเพียงร้อยละยี่สิบเท่านั้น เพื่อเป็นการขจัดปัญหาดังกล่าว ทางองค์การสหประชาชาติจึงได้เปิดประชุมในปี พ.ศ.๒๕๐๑ และ พ.ศ.๒๕๐๓ ผลการประชุมครั้งนั้นทำให้เกิดอนุสัญญารวมสี่ฉบับคือ
                            ๑. อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง
                            ๒. อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง
                            ๓. อนุสัญญาว่าด้วยการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีชีวิตในทะเลหลวง
                            ๔. อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป
                            ในด้านอธิปไตยของรัฐเหนือพื้นดิน และน่านน้ำอาณาเขตที่เรียกว่า "ระหว่างอากาศ" ขึ้น ความตกลงในอนุสัญญาว่าด้วยการเดินอากาศเฉพาะเวลาสงบ ซึ่งได้ลงนามเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้รับรองอธิปไตยเหนือพื้นดิน ตลอดจนเหนือน่านน้ำอาณาเขตโดยไม่จำกัด ในขณะเดียวกันรัฐเจ้าของอธิปไตยก็ยินยอมให้เครื่องบินมีเสรีภาพในการเดินทางผ่านโดยบริสุทธิ์เหนือดินแดนและน่านน้ำอาณาเขตในเวลาสงบได้
                            สาเหตุของความขัดแย้งเรื่องดินแดนอาจแบ่งออกได้เป็นห้าประการ คือ
                            ๑. จากการเรียกร้องขอดินแดนคืน
                            ๒. ปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย
                            ๓. การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ
                            ๔. การช่วงชิงอิทธิพลการแผ่ขยายสิทธิความเป็นเจ้า และการแสวงหาผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจ
                            ๕. การละเมิด และการรุกล้ำพรมแดนทางบก ทางทะเลและทางอากาศ
                            รัฐและแนวพรมแดนจะตองมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น จะแยกออกจากกันมิได้เป็นอันขาด เพราะว่าเส้นเขตแดนเป็นส่วยสำคัญยิ่ง ในการแสดงอำนาจอธิปไตยของรัฐ         ๑๘/ ๑๑๕๖๐
                ๓๔๕๒. ปักเป้า ๑ - ปลาเป็นปลาที่มีลักษณะพิเศษ คือ สามารถพองตัวให้ใหญ่ขึ้น และทำให้ลอยน้ำได้เป็นการป้องกันศัตรูที่จะมาทำร้าย
                        ปลาปักเป้าพบทั่วไปในน่านน้ำเขตอบอุ่นทั้งในน้ำจืด และน้ำเค็มเป็นปลาที่มีความอดทนลักษณะทั่วไปมีลำตัวสันเกือบจะเป็นทรงกลม ผิวหนังมีหนามเล็ก ๆ ปกคลุมบางส่วนของลำตัวฟันเ ชื่อมติดกันเป็นแบบจงอยปากนก
                        ปักเป้าอีกวงศ์หนึ่ง เรียกปักเป้าหนามทุเรียน เป็นพวกที่มีหนามยาวแหลมคมอยู่รอบตัว เมื่อเวลาพองตัวจะดูคล้ายทุเรียน มีฟันเชื่อมติดกันเป็นแผ่น ไม่มีครีบทอง มีครีบหูขนาดใหญ่คล้ายพัด ครีบหางกลมมน พบในน่านน้ำไทยสองสกุล         ๑๘/ ๑๑๕๖๙
                ๓๔๕๓. ปักเป้า ๒  เป็นชื่อว่าวชนิดหนึ่งมีหางยาวคู่กับว่าวจุฬา (ดูว่าว - ลำดับที่....)         ๑๘/ ๑๑๕๗๒
                ๓๔๕๔. ปักษ์ใต้  เป็นคำที่ใช้เรียกดินแดนภาคใต้ของประเทศไทย ประกอบด้วย ๑๔ จังหวัด ด้วยกันนับตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปทางใต้
                        คำว่า ปักษ์ แปลว่า ฝ่าย  ข้าง และภาค ดังนั้นปักษ์ใต้ก็แปลว่า ปักใต้  ฝ่ายใต้ ข้างใต้ และภาคใต้ แต่โบราณดินแดนดังกล่าวนี้เรียก ปากใต้ คู่กับคำว่า ฝ่ายเหนือ เข้าใจว่าเพิ่งมาเรียก ปักษ์ใต้ในรัชกาลที่ห้า
                        ครั้งในโบราณกาลดินแดนปักษ์ใต้เหล่านี้ บางเมืองเป็นอาณาจักรศรีวิชัย เช่น เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองไชยา เป็นต้น
                        ในสมัยที่จัดรูปการปกครองเป็นจตุสดมภ์ ดินแดนปักษ์ใต้แบ่งเป็นเมืองคือจังหวัด ทุกวันนี้เมืองต่าง ๆ ในปักษ์ใต้ขึ้นแก่สมุหพระกลาโหม ตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ห้าก่อนปี พ.ศ.๒๔๓๕ เปลี่ยนมาจัดรูปการปกครองเป็นรูปกระทรวง ทบวง กรม มีกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ เมืองหรือจังหวัดต่าง ๆ ทางปักษ์ใต้ก็มารวมขึ้นกระทรวงมหาดไทยเช่นเดียวกับเมืองหรือจังหวัดในภาคอื่น ๆ
                        ต่อมาในสมัยที่กระทรวงมหาดไทยจัดระเบียบการปกครองเป็นรูปมณฑลเทศาภิบาล ชื่อเริ่มในปี พ.ศ.๒๔๓๗ เมืองหรือจังหวัด รวมทั้งประเทศราชทางภาคใต้ของไทย ก็ได้มีการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น รวมห้ามณฑลด้วยก้น คือ มณฑลภูเก็ต มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลชุมพร หรือมณฑลสุราษฎร์ธานี มณฑลไทรบุรี และมณฑลปัตตานี         ๑๘/ ๑๑๕๗๒
                ๓๔๕๕. ปักษีปกรณัม  เป็นหนังสือรวมนิทานโบราณเล่มหนึ่ง มีมาแต่สมัยอยุธยา เป็นหนังสือรุ่นเดียวกับชุมนุมนิทานโบราณเรื่องอื่น ๆ ที่ได้ชื่อว่า ปกรณัม ก็เพราะว่าเป็นคัมภีร์โบราณที่รวบรวมเรื่องต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ในทางสั่งสอนธรรม หรือคติธรรม
                        เฉพาะปักษีปกรณัม หรือคัมภีร์รวมนิทานเกี่ยวกับนก ไม่ปรากฎผู้แต่ง เนื้อเรื่องกล่าวถึงฝูงนกทั้งหลายมาประชุมกันในสมัยดึกดำบรรพ์ เพื่อเลือกหัวหน้าของตน มีการเสนอชื่อและคัดค้านกัน พร้อมทั้งเล่านิทานประกอบในทำนองให้คติธรรมในด้านต่าง ๆ แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ สุดท้ายต้องไปเชิญพญาครุฑ ผู้มิได้เข้าประชุมให้มาเป็นพระราชาของตน
                        นิทานแทรกในปักษีปกรณัม ซึ่งถือว่าเป็นส่วนประกอบอันสำคัญที่สุดของคัมภีร์นี้มีอยู่ ๒๔ เรื่อง           ๑๘/ ๑๑๕๗๓
                ๓๔๕๖. ปักหลัก  เป็นชื่อนกสองชนิด คือนกกินปลาปักหลัก หรือนกกระเต็นปักหลักกับนกเหยี่ยวปักหลัก หรือเหยี่ยวขาว
                         นกกินปลา (กระเตน)  ปักหลักเป็นนกกินปลาขนาดกลาง ขนสีขาว ลายสีดำและมีหงอนสั้น ๆ ที่ท้ายทอย ปากยาวสีดำ บินหากินบนแม่น้ำลำคลอง หนองบึง เมื่อเห็นปลาเล็ก ในน้ำก็จะบินกระผือปีกถี่อยู่ที่เดียวในอากาศ ชาวบ้านจึงชอบเรียกว่า นกระเต็นปักหลัก เมื่อเห็นเหยื่อชัดเจนกจะทิ้งตัวตรงดิ่งลงไปโฉบคาบปลานั้นขึ้นมา นกกระเต็นปักหลักจะทำรังเป็นรูลึกเข้าไปในริมตลิ่งที่ชัน ๆ ทำให้สัตว์ร้ายเข้าไปลักไข่หรือกินลูกของมันไม่ได้
                         เหยี่ยวปักหลัก หรือเหยี่ยวขาว  เป็นเหยี่ยวขนาดกลาง ขนบนตัวสีเทาใต้ท้องขาว มีแถบดำยาวพาดไหล่ ปลายหางดำ ชอบกินหนูเล็ก ๆ และตั๊กแตนตามท้องนา เวลาบินไปเห็นเหยื่อนมันจะบินปักหลักอยู่ที่เดียวในอากาศ พอแน่ใจก็โอบลงไปจับเหยื่อกิน         ๑๘/ ๑๑๕๗๗
                ๓๔๕๗. ปัง - ขนม  เป็นอาหารต่างข้าวของชาวยุโรป ทำด้วยแป้งสาลีเป็นก้อนแล้วอบ เรียกขนมปัง อาหารหวานของชาวยุโรปทำด้วยแป้ง และไข่ บางชนิดก็ใส่น้ำตาล เรียกว่า ขนมปังเค็ม ขนมปังหวาน ขนมปังกรอง
                        ขนมปังได้ชื่อว่าเป็นผลิตผลเพื่อยังชีวิตมานานตั้งแต่สมัยคัมภีร์ไบเบิล         ๑๘/ ๑๑๕๗๗

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch